Yonlapa กับอัลบั้ม Lingering Gloaming ที่ถ่ายทอดตัวตนและความรักในเสียงดนตรีของพวกเขาอย่างจริงใจ

by McKee
1.1K views
YONLAPA Lingering Gloaming เชียงใหม่ interview

จากเพลง Let Me Go จนถึง EP First Trip ทุกคนต่างตกหลุมรักดนตรีอันนุ่มนวลของ YONLAPA ที่เหมือนทิ้งทุกอย่างเพื่อสตาร์ทรถและเหยียบคันเร่งออกไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในเส้นทางดนตรี แต่ผ่านไปเพียงแค่ 3 ปี พวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นศิลปินแถวหน้าของซีนนอกกระแสไทยได้อย่างงดงาม พร้อมทัวร์ต่างประเทศของตัวเอง พวกเขาจึงถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดลงไปในอัลบั้มใหม่ล่าสุด ที่ฉีกแนวดนตรีเดิม ๆ ไปเลยด้วยความร็อก และสไตล์ดนตรีเฉพาะตัวที่พวกเขาอยากถ่ายทอดออกมา

Transmission วันนี้ เราอยู่กับ YONLAPA ชวนนั่งคุยกันถึงอัลบั้มใหม่ล่าสุดของพวกเขาอย่าง Lingering Gloaming ถึงการทำงานที่เข้มข้นในอัลบั้มนี้ เบื้องหลังสนุก ๆ มากมาย ซีนดนตรีเชียงใหม่ที่ทุกคนเป็นห่วง และคอนเสิร์ตใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

สมาชิก YONLAPA
น้อยหน่า—ยลภา เพียรพนัสสัก (ร้องนำ, กีตาร์)
กันย์—อานุภาพ เฟยลุง (กีตาร์, ซินธิไซเซอร์)
นาวิน—นาวิน รักในศิล (เบส)
ฟิวชี่—ชลันธร สุนทรพิทักษ์ (กลอง)

น้อยหน่า: หน่าคิดว่าเหมือนอัลบั้มนี้แนวเพลงมันจะต่างจาก EP นิดหนึ่ง คอนเซปต์ก็อยากให้มันคาบเกี่ยวระหว่างกลางวันกำลังจะเข้าไปสู่กลางคืน เลยใช้คำว่า Gloaming ส่วนคำว่า Lingering อยากให้เอามาบวกกันแล้ว เหมือนเรากำลังเอื่อย ๆ กำลังเสพบรรยากาศของช่วงเวลานี้อย่างค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป มันลิ้งค์กับเพลงในอัลบั้มนี้ด้วย มันมีทั้งเพลงที่สว่างและเพลงที่มืดไปเลย เลยเลือกใช้คอนเซปต์นี้และชื่ออัลบั้มนี้

น้อยหน่า: ก่อนที่เราจะทำอัลบั้มนี้ เรามีแพลนจะปล่อยอัลบั้มในปีหน้านะ เคยนั่งคุยกันเรื่องเพลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่พอมาทำเพลงกันจริง ๆ ก็หลุดไปเลย ไม่ได้ตีกรอบว่าต้องทำแนวนั้นแนวนี้นะ ก็ดูไปแต่ละเพลงเลย บางเพลงก็อาจเป็นพี่นาทำเป็นหลัก ถ้าเพลงไหนซาวด์พิเศษหน่อยก็เป็นกันต์ ก็จะแบ่ง ๆ กันไปว่าเพลงนี้ควรจะเป็นแบบไหน เรามองเป็นแต่ละเพลง ๆ ไม่ได้มองภาพรวมขนาดนั้น เราแจมกันในห้องซ้อม เพลงนี้ท่อนแยกเป็นยังงี้ดีมั้ย เป็นคอร์ดที่มืดลงดีมั้ย ตกลงกันในห้องซ้อมแล้วลองแจมกันเลยว่าเวิร์คมั้ย สำหรับหน่าจะดูเรื่องเนื้อเพลงมากกว่า มีความโตขึ้นในเรื่องเนื้อหา พยายามเล่าอะไรที่มันลงลึกในชีวิตมากขึ้น แต่ถ้าเรื่องซาวด์จะเป็นกันต์กับเพื่อน ๆ ในวง

ฟิวชี่: ส่วนมากเป็นแจม มีแค่บางเพลงที่เราขึ้นจากโปรแกรม แต่สุดท้ายก็จบด้วยการแจมอยู่ดี วงเราไม่สามารถทำงานกับคอมแล้วจบงานได้ เรามีคอนเซปต์แบบคร่าว ๆ จริง ๆ พอเราทำไปทีละเพลงก็เหมือนค่อย ๆ ซุมเข้าไป พอมีเพลงที่เสร็จแล้วเราก็จะมาคุยกันว่า อยากได้เพลงฟีลประมาณนี้อีกมั้ย จังหวะแบบนี้อะไรเงี่ย คิดไว้คร่าว ๆ แต่มันอาจจะไม่มาตามบรีฟก็ได้ แต่เรามีคิดไว้ว่าอยากได้เพลงเร็วประมาณนี้ ก็ให้เป็นหัวข้อกว้าง ๆ ไว้แล้วดูว่าจะออกมาเป็นยังไง

น้อยหน่า: พอทำเสร็จเราก็นั่งคุยกัน ให้พูดชื่อเพลงแรกถึงเพลงสุดท้ายตามอารมณ์เรา เหมือนเวลาเราเรียงลิสต์เพลงตอนไปเล่นเลย อยากให้มันเริ่มด้วยอารมณ์แบบไหน ให้มันค่อย ๆ ขึ้นเป็นเวฟขึ้นมา แล้วก็อยาก down ตามอารมณ์ของพวกเราเลยที่อยากจะดีไซน์ให้คนฟังทั้งอัลบั้ม ได้เข้าใจว่าเรารู้สึกยังไง

ฟิวชี่: ตอนเรียงเรานั่งฟังกันเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง แล้วก็วางว่าเพลงนี้ต่อเพลงไหนดี จะเว้นแต่ละเพลงกี่วิดี

กันต์: ไม่ฟังเลยครับ ถ้าฟังก็จะไปจำเขามา ช่วงนั้นแทบจะไม่ฟังเพลงเลย ไม่งั้นมันจะจำมา ซาวด์นี้จะดีไซน์ร่วมกับ พี่พัด—บริพัตร FOLK9 เพราะเขาเป็นคนมิกซ์มาสเตอร์ให้ ว่าแบบนี้ดีมั้ย ไม่ได้มีเรฟขนาดนั้น

น้อยหน่า: มันจะลั่นไปเหมือนเพลงคนอื่นจริง ๆ หน่าก็ไม่ได้ฟังเลย ไมได้คุณกันว่าจะเป็นแนวนั้นแนวนี้ด้วยค่ะ ตามสบายเลย หน่ารู้สึกว่าทำแบบนี้มันน่าจะเกิดสิ่งใหม่กว่าไปตีกรอบให้มัน เอาป๊อปแบบนี้ เมโลดี้แบบนี้ดีมั้ย ทำตามเมโลดี้ในหัวเราดีกว่า (หัวเราะ)

ฟิวชี่: ผมชอบตอนทำเพลง Sunday Gloaming โครงแรกมามันเป็นเพลงนิ่ง ๆ ตอนเรามาแจมกันมันมีจุดที่ เออ เราลงแบบนี้มั้ย ตั้งใจให้เพลงมันกวน ๆ หน่อย ทั้งที่มู๊ดมันมาเพราะ ๆ เลย แต่เราช่วยกันใส่ลูกเล่นลงไปนิด ๆ ผมชอบวิธีเรียบเรียงของเพลงนี้

น้อยหน่า: หน่าชอบ Sail away, away ค่ะ ทางคอร์ดมันเหมือนเรากำลังนั่งรถอยู่ แล้วมันกำลังเคลื่อนที่ไปเร็ว ๆ ตอนทำหน่าคิดคอร์ดกับพี่นา แต่ละคอร์ดหน่ารู้สึกว่ามันพุ่งดี ตอนท่อนหลังด้วย ฟิวกับพี่นาใส่อีกจังหวะมา ทำให้เพลงเท่ขึ้นมาก ถ้าเป็นขั้นตอนการทำชอบเพลงนี้ที่สุด

กันต์: คิดว่าเพลง I’m Just Like That เป็นการทำงานที่แปลกที่สุดละ เป็นเพลงเดียวที่เริ่มหน้าคอมแล้วจบที่หน้าคอมเลย มีการไปแจมกันดูว่ามันเล่นสดได้มั้ย จำได้ว่าแป็ปเดียว ไม่ได้คิดอะไรเยอะ มันจบภายในวันสองวัน คิดว่าไวดี พี่หน่าเขามีริทึ่มกับคอร์ดมาแล้ว บอกให้พี่เขาอัดเข้าไปเลยเลยอัดเข้าไปเลยเป็นเดโม อัดร้อง อัดกีตาร์แล้วมาเขียนกลองต่อ อีกวันมาอัดกีตาร์ลองเล่นริฟฟ์ดู ไม่ได้กะจะเอาจริงจัง มันก็ดูกวน ๆ ไปหน่อย พอฟังกับแบนด์รวมกันแล้วมันโอเคนี่หว่า พออยู่ในอัลบั้มนี้ได้

ฟิวชี่: มันก็ยังอยู่บนคอนเซปต์ของการแจมอยู่ แต่เป็นการแจมกันบนคอม เราอัดเข้าไปทีละแทร็ก พอฟังแล้วใครอยากใส่อะไรก็จะอัดเติมเข้าไป

นาวิน: ถ้าชอบที่สุด ก็ Sail away, away เหมือนหน่า ด้วยทางคอร์ดกับลูกเล่นตอนสุดท้ายกับฟิวอะครับ มันได้ทำอะไรที่วงยังไม่เคยทำ เอาจังหวะเอาอะไรที่เราแจมกันในห้องซ้อมเล่น ๆ มาใส่ในเพลงนี้ ถ้าเสียงเบสคงยกให้เพลงแรกครับ I don’t reconize you ผมรู้สึกว่าคอร์ดมันเปลี่ยนเร็ว มันใส่เบสยากมาก แต่พอทำได้แล้วมันสะใจ (หัวเราะ) เหมือนอัพเลเวล

ฟิวชี่: ผมจำได้แต่เพลงที่เร็วที่สุด

น้อยหน่า: I don’t reconize you ก็ยากนะ ตอนแรกมันมีสองคอร์ดที่ทำมาแล้วหน่าไม่รู้จะทำยังไงซักที มันต่อไม่ได้ซักที ตอนแรกเราจะเอาจังหวะใหม่เลยด้วยซ้ำ เราจะไม่เอากลองที่ฟิวขึ้น แต่สุดท้ายก็ได้เอากลับมาทำเหมือนเดิม

นาวิน: บางทีมันก็ค้างเพราะผมใส่เบสไม่ได้ซักทีเนี่ยแหละ (หัวเราะ)

ฟิวชี่: ตอนแรกพี่หน่าให้การบ้านมา เอาเพลงอะไรซักอย่างมาเปิด กรูฟกลองมันจะมี ghost note มีนู่นนี่เยอะ ๆ อยากได้กลองฟีลประมาณนี้ ก็ขึ้นมาจากตรงนั้น กรูฟกลองตอน intro

ฟิวชี่: มีบ้างครับ พวกเสียงคีย์บอร์ดอะไรงี้ ตอนอยู่ในขั้นเพลงมารวมกันแล้วเนอะ แต่เราฟังแล้วมันขาดอะไรซักอย่าง พอเรารู้สึกแบบนี้พี่พัดก็เข้ามาเติมเครื่องปรุงให้เราได้ มันทำแบบนี้มาใส่ได้นะ มันมีหลาย ๆ ครั้งที่เราไม่รู้ว่าเสียงนี้ทำยังไง พี่พัดจะเข้ามาช่วยส่วนนี้ด้วย

กันต์: มันมี easter egg อีกอย่างนึงของอัลบั้มนี้คือ เพลง My Apologies มันเกิดจากความซนของพี่พัด เขาไปบิด BPM ของเพลง Hers ลงมาจน tempo กับ pitch ของเสียงมันต่ำกว่าเดิม พอเราได้ฟังครั้งแรก “พี่ทำเหี้ยไรวะเนี่ย ไอ้สัด โคตรดีเลย” (ทุกคนหัวเราะ) มันคือเพลงเดียวกันหรอ วงก็ชอบเลย ไปให้พี่หน่าเขียนเนื้อมาใหม่

ฟิวชี่: สิ่งที่เราอัดเพิ่มเข้าไปมีแค่ร้องกับกีตาร์ จำได้ตอนจะปิดงานแล้วพี่พัดบ่นเพลงนี้สุดแล้ว เหมือนทำโปรเจกต์นี้แล้วทำให้คอมไม่ปกติ มันรวนบ่อย มิกซ์ยากมากเพลงนี้ หมายถึงต้องสู้กับคอมตัวเอง (ทุกคนหัวเราะ) เดี๋ยวก็รี เดี๋ยวก็แฮ็ง

กันต์: ใช่ เรื่องเล่นสดเนี่ยเป็นอะไรที่คิดยากสุด ๆ เพราะว่ามันต่ำเกินกว่าเครื่องดนตรีทั่วไป มันอาจจะต้องไปจูน หรือกีตาร์ต้องเปลี่ยนไปเล่นบาลิโทนที่สายมันจะใหญ่กว่าเดิม เราจะได้ชิฟดาวน์คีย์มันลงมาให้เป็นเสียงต่ำมาก ๆ ซึ่งกีตาร์หกสายมันทำได้ แต่ถ้าเราลงต่ำสายหย่อนเกินไปสายมันจะย้วยจนเราจับหรือดีดแล้วมันจะเพี้ยน ๆ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการตอนไปโชว์ก็เปลี่ยนเป็นอีกคีย์หนึ่ง เป็นคีย์ที่มีความลึกอยู่ แต่ไม่เท่ากับในแทร็กจริง ๆ

ฟิวชี่: ตอนทำเพลงนี้เสร็จใหม่ ๆ ผมยังพูดไว้เลยว่า เพลงนี้ขอไม่เอาไปเล่นสดได้มั้ย รู้สึกว่ามันเล่นจริงไม่ได้ แต่ตอนไปทัวร์มาก็เอาไปเล่นก็ดี

กันต์: แน่นอนครับ คิดว่าเพลงนี้คงไม่เล่นพร่ำเพื่อ ถ้าอยากฟังต้องมาเจอกัน ก่อนเราจะเล่นเพลงนี้เราต้องเก็บกีตาร์กับเบสลงไปจูนสายใหม่ ถ้าไม่ใช่โชว์ของตัวเองอาจจะทำให้เสียเวลาเหมือนกันครับ คิดว่าแล้วแต่โอกาสว่าไปเล่นที่ไหน

น้อยหน่า: ประทับใจเหมือนเดิมเลยค่ะ เอเชียร์ทัวร์ปีที่สองละ พี่ ๆ แฟนคลับคนดูก็อนจอยกับโชว์ที่เราตั้งใจทำมา เจอคนเดิม ๆ ก็มี แฟนคลับใหม่ ๆ ก็มี ถึงแม้เราจะปล่อยอัลบั้มไป เพลงมันอาจจะยังไม่ติดหูหรือไม่มีเวลาให้คนฟังฟังเยอะขนาดนั้น แต่ทุกคนก็เอนจอยกับโ๙ว์ของเรา แฮปปี้ทุกครั้งที่ได้ไปทัวร์ต่างประเทศ

น้อยหน่า: เราเร่งทำเพลงกันหนักมากจริง ๆ ปีที่แล้ว ด้วยความที่เราต้องไปแจมกัน ต้องรื้อแล้วรื้ออีกแต่ละเพลง ทำโชว์อีก น้อง ๆ พี่ ๆ ในวงกว่าจะซ้อมกว่าจะรันกัน อยากให้มันดีที่สุดเวลาไปทัวร์ อยากให้เขาประทับใจ ถ้าจะคิดว่าลำบากก็ไม่ขนาดนั้น สนุกมากกว่า เหมือนเติมพลัง มันอยากทำอยู่แล้ว

น้อยหน่า: หน่าว่าเดี๋ยวนี้มีหลายวงที่ได้ไปต่างประเทศนะคะ ไม่รู้จะแนะนำอะไร (หัวเราะ) หน่าเห็นวงเมทัลวงอะไรเขาก็ได้ไปทัวร์ตามสายของเขา ความนิยมของเพลงมันใช้ได้มาทุกยุค ไม่ใช่ว่าต้องป๊อปแล้วถึงจะได้ไป แฟนคลับของแต่ละแนวเพลงมันมีอยู่ทุกประเทศ ทำเพลงอย่างที่เป็นตัวเองมากที่สุด ทำให้มันมีคุณภาพ ให้มันเพราะในแบบของเรา ถ้ามันดียังไงก็ต้องมีคนฟังและจะได้ไปทัวร์ต่างประเทศแน่นอน

ฟิวชี่: ผมว่าแล้วแต่แนวทางวงด้วย ทุกวงที่ไปทัวร์ต่างประเทศตอนนี้รูปแบบการทัวร์ก็ต่างกัน ผมก็ไม่รู้ว่ามีวิธีตายตัวยังไง บางวงเพลงดังมาก ๆ ก็ได้ไป

น้อยหน่า: หน่าคิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้เลยในเชียงใหม่ตอนนี้ หน่ามองว่ามันเป็นเรื่องของการเมืองเลยค่ะ เขาผูกขาดความเจริญไว้อยู่ที่กรุงเทพอย่างเดียว เชียงใหม่ไม่มีบุคลากร ไม่มีสถานที่ มีการเมืองที่ดีพอจะทำให้สร้างคอมมูนิตี้ของดนตรีหรือศิลปะให้มันเจริญขึ้น มีเงินหมุนเวียนในนั้นได้มากเท่ากับกรุงเทพ ถ้าใครจะทำวงเพื่อหากินกับมันจริง ๆ ก็ต้องเข้ามากรุงเทพ มันอาจจะยากนิดนึงถ้าต้องอยู่เชียงใหม่ พวกเราเองก็ยังมีข้อจำกัดมากกว่าวงในกรุงเทพ มีค่าเดินทาง ไปไหนก็ต้องมีค่านั่นนี่บวกไปอีก Livehouse ก็ไม่มีในเชียงใหม่ มีวงรุ่นน้องที่ตั้งใจทำเพลงก็จะได้เล่นแค่ในร้านเหล้าที่คนเขาอาจจะไม่ได้แคร์เรื่องดนตรีมากขนาดนั้น หลัง ๆ ก็เริ่มมีเยอะละค่ะ หลายร้านเริ่มให้วงอินดี้ในเชียงใหม่มาเล่น มีซีนมากขึ้น แต่ถ้าถามเรื่องผู้ใหญ่ที่จะมาพัฒนาเรื่องการเมืองเชียงใหม่ เขาน่าจะยังมองไม่เห็นความสำคัญของศิลปะกับดนตรีหรือกีฬา ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากขนาดนั้นในเชียงใหม่

ฟิวชี่: มันก็เริ่มมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาแล้วนะ บางเวนิวเขาก็มีงานนู่นนี่บ่อย ๆ สุดท้ายก็มีพื้นที่มาโชว์นะ แต่ไม่ได้เพิ่มคุณค่าขนาดนั้น พอเอาวงมาเล่นแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ทำให้เกิดการสนับสนุนต่อเนื่องอะไรขนาดนั้น เอาดนตรีมาเป็นส่วนประกอบเฉย ๆ

ฟิวชี่: ถ้าสมมติคิดในมุมของวงหน้าใหม่อยากหาพื้นที่เล่น ถ้ามีคนชอบเรามากขึ้น แล้วเขาจะอยากสนับสนุนเรา ก็เอาตัวเองไปเจอเขาบ่อย ๆ ไม่ได้ มันมีแต่ร้านเหล้า แต่ละที่ก็มีวงเล่นอยู่แล้วแถมร้านนี้ต้องเล่นเพลงแบบนี้เท่านั้น โดนล็อกไปหมด มันไม่มีพื้นที่ที่เราจะแสดงอะไรก็ได้ งานแบบนั้นก็ต้องเป็นงานที่จัดกันเอง แล้วคนดูก็มีแต่เพื่อน ๆ กันเอง มันก็จะเป็นวงแคบมาก ไม่สามารถขยายให้คนดูทั่วไปเข้ามาในคอมมูได้ ถ้าพูดเรื่องนี้มันน่าจะต้องแก้ตั้งแต่วัฒนธรรมคนดูเลย มีคอนเสิร์ตของวงนี้ถ้าอยู่กรุงเทพเรียกค่าบัตรได้เยอะ แต่ถ้ามาจัดที่เชียงใหม่บัตรราคาเท่ากัน เขาจะมองว่าแพง เพราะปกติเราดูฟรี จุดนี้ผมว่ายาก

ฟิวชี่: สำหรับผมผมเห็นบุคลากรดนตรีทั้งหลายพยายามผลักดันเรื่องนี้กันมาก ๆ แต่มันก็เป็นเรื่องในหมู่นักดนตรี มันยังผลักดันให้ไปถึงคนฟังไม่ได้ขนาดนั้น คนที่จะมาทำตรงนี้ก็ต้องมีทุนเยอะมาก ๆ เพื่อเปิดที่อะไรแบบนี้ขึ้นมา ก็มีมากขึ้นนะครับ แต่ผมรู้สึกว่ามันยังอยู่ที่เดิม เหมือนเราตัวเล้กนิดเดียวจะไปเข็นอะไรใหญ่ ๆ ก็คงไม่ไป

น้อยหน่า: เวลามากรุงเทพก็ยังมี Livehouse มีลิโด้ที่ผลัดเปลี่ยนวงอินดี้หน้าใหม่กับวงเก่าไปเรื่อย ๆ ให้โอกาสกันเรื่อย ๆ พอมันไม่มีโอกาสบุคลากรก็ไม่มีประสบการณ์ ความสามารถที่มีก็ไม่ได้ใช้ มันก็เลยอยู่ที่เดิม มันเลยวนอยู่อย่างนี้ ถึงเขาจะมีความกระตือรือร้นน้า ได้ไปทัวร์ต่างประเทศแล้วล่ะ แต่พอกลับมาอยู่เชียงใหม่มันก็ไม่ได้โตขึ้น ขนาดนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมที่เชียงใหม่ไม่ได้เอื้อต่อดนตรีกับศิลปะจริง ๆ ในเชียงใหม่ไม่มีทีมอย่าง The COSMOS หรือกลุ่มที่มานั่งทำงานวงอินดี้ด้วยกัน มาเบรนสตอร์มกันว่าเราจะจัดงานโชว์ยังไงให้มันเท่ มีบุคลากรจากหลาย ๆ ศาสตร์มาช่วยกัน แต่ในเชียงใหม่มันหายากมากเลย

ฟิวชี่: คำว่านายทุนเข้ามา สุดท้ายเขาก็ไม่ได้มองในแง่งานศิลปะขนาดนั้น เขาลงทุนเพื่อรอได้กำไรกลับมา ตอนแรกเขาอาจจะมีไฟทำอะไรแบบนั้นก็ได้ เจอความเชียงใหม่จริง ๆ เขาก็จะ เชี่ย แบบนี้กูอยู่ไม่ได้แน่นอน ก็จะเป็นเหมือนเดิม หลายร้านที่ผมเห็นก็จะเป็นฟิวนี้ครับ ร้านเท่ ๆ เพลงฉีก ๆ ไปเลย ก็ต้องหากลุ่มลุกค้า เขาก็จะพบว่ากลุ่มลูกค้าของเขาน้องมาก ถ้าไม่เปลี่ยนกลับมาก็ต้องเจ๊ง พวกผมไปเล่นก็ต้องเล่นเพลง cover แต่ละร้านก็มีลิสต์เดิม ๆ คุณต้องเล่นเพลงนี้ ๆ นะ เอาเพลงแปลก ๆ ร้านก็เริ่มมองวงละ เผลอ ๆ คร่าวหน้าวงนี้เด้งละ ก็ไม่ได้มาเล่นละ

ผมเสียดายเรื่องนี้มากเลย นักดนตรีวงเล่นเก่ง ๆ ในเชียงใหม่เยอะมาก แต่เขาไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก เราไม่รู้ถึงการมีอยู่ของเขาด้วยซ้ำ เพราะเราไม่เคยดู ในออนไลน์ก็ไม่เคยมาขึ้นที่เรา

กันต์: แต่ผมรู้สึกว่าสิบปีก่อนมันไม่ได้เป็นแบบนี้นะ สิบปีก่อนซีนอินดี้อันเดอร์กราวแม่งมันกว่านี้เยอะเลย ยุค No Signal Approve แรก ๆ พวกพี่นะ Polycat ตอนนั้นยังทำ Ska Ranger อยู่ ตอนนั้นเคยไปเป็นร้านเหล้า จัดงาน No Signal คนเยอะชิปหาย แล้วคนโคตรมันอะ ไม่รู้เป็นพวกเดียวกันหรือคนอื่นมาเที่ยว แค่รู้สึกว่าคอมมูนิตี้มันใหญ่กว่าตอนนี้ เขาดูแข็งแกร่งกว่าตอนนี้เยอะ

ฟิวชี่: พอเวลาผ่านไปมันเป็นเจนใหม่อะ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ฟังแบบนี้แล้ว มีกระแสเพลงที่มันเปลี่ยนไป ยุคนั้นผมรู้สึกว่ามันโต ผมคิดเหมือนพี่กันต์ว่ามันโตมาก แต่คนเจนนั้นเขาคงแก่แล้ว ไปทำงานที่อื่นบ้าง คงไม่ได้อินอะไรแล้ว

นาวิน: ไม่งั้นก็ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพหมด

น้อยหน่า: คนที่อยู่เชียงใหม่ก็เหมือนเท่าเดิม (หัวเราะ) ย้ายมากรุงเทพดีกว่าถ้ามีแพชชั่นอยากเป็นนักดนตรีจริง ๆ อยากให้มันขายได้ในแบบของตัวเอง

น้อยหน่า: หน่าอาจไม่ได้คิดละเอียดขนาดนั้น ในความรู้สึกหน่ายากให้มี Livehouse ซักแห่งหนึ่งขึ้นมาจริง ๆ ที่ใคร วงอะไร เด็กหรือผู้หญิง วงอะไรก็มาเล่นได้ ไม่ต้องกังวลว่าเพลงจะขายได้หรือไม่ได้ มาเล่นแล้วก็ขายบัตรดู ถ้าวันนี้ไม่มีอะไรทำก็ชวนกันมาดูว่าวันนี้มีวงอะไรมาเล่น เปิดใจดู ช่วยกันผลักดัน ช่วยกันสร้างคอมมูนิตี้ให้การซื้อบัตรดูดนตรีให้เหมือนจ่ายเงินไปกินหมูกะทะอะ (ฟิวชี่: เหมือนเราไปดูหนังอะ) อยากให้เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตเขามากขึ้น มันต้องได้รับการสนับสนุนจากคนบริหารจริง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งก็เป็นคนแก่ รถแดงเพิ่งมีบาร์โค๊ดให้สแกนอะ (หัวเราะ) จะไปหวังอะไร

กันต์: แต่ว่ามันมีนะคนที่ทำสิ่งนี้ คิดแบบที่พี่หน่าพุดเป๊ะเลย แต่เขาไม่รู้จะทำยังไงให้คนมันมา ให้วงอยู่ได้ ให้เขาอยู่ได้ด้วย เขาทำละ เอาวงอะไรไม่รู้มาเล่น ขายบัตรแล้วไม่มีคนมาดู

น้อยหน่า: มาเก็ตติ้งมันไม่ได้ อย่างวงหน่าไม่มีค่ายใช่มั้ยคะ ก็ต้องทำกันเอง วิ่งหาสื่อกับคอนเน็กชั่น เป็นเรื่องที่ยุ่งเหมือนทำเพลงเหมือนกันเบื้องหลังตรงนี้ เพราะที่เชียงใหม่ไม่มีใครซัพพอร์ตตรงนี้ให้เราจริง ๆ ต้องหาเองขยันเอง ไม่ทำก็ไม่ได้

ฟิวชี่: พออยู่เชียงใหม่มันเจอคอนเน็กชั่นได้ยากกว่า สมมติเฟสติวัลใหญ่ ๆ ที่จัดในกรุงเทพเขาไม่มีทางรู้จักเชียงใหม่เพราะไม่ดัง ถ้าเป็นวงกรุงเทพมีความเป็นเพื่อนเขายังแนะนำกันต่อได้ว่าน่าสนใจยังไง แต่วงเชียงใหม่ไม่ได้มีเพื่อนเยอะขนาดนั้น รู้จักแต่วงที่เราเคยเล่นด้วย แต่สำหรับวงหน้าใหม่ก็คงไม่มีทางได้โชว์จริง ๆ จะขอเขาไปเล่นก็ยากเพราะเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร

น้อยหน่า: มันเป็นเรื่องการเมืองเลยด้วยซ้ำไป การเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพมันยากจังเลย ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินไป ถ้ามีรถไฟความเร็วสูงอะไรเงี่ย คนจากที่ต่าง ๆ น่าจะแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น คนกรุงเทพมาดูคอนเสิร์ตที่เชียงใหม่ได้ง่ายจัง วงเชียงใหม่ลงไปเล่นกรุงเทพได้ ทุกอย่างจะคอนเน็กกันมากขึ้นถ้าการเมืองมันดีจริง ๆ ทุกอย่างมันน่าจะเจริญได้มากขึ้น ไม่ได้ขึ้นเป็นจุด ๆ แบบนี้ ในชีวิตหน่าในอายุนี้ก็คิดว่ามันคงดีกว่านี้ไม่ได้มากหรอกค่ะ วงก็ไปขายต่างประเทศน่าจะดีกับวงมากกว่า กว่าจะรอให้ความเจริญไปถึงเชียงใหม่หน่าคงจะแก่แล้ว (หัวเราะ)

น้อยหน่า: หน่าตอบไม่ได้เหมือนกันว่าอนาคตจะเป็นยังไง หรือคนอื่นคิดยังไง แต่ว่าตอนนี้หน่าก็ยังโอเคอยู่ พอได้อยู่ แล้วหน่าก็ไม่รู้ว่าการอยู่ค่ายในกรุงเทพมันจะเป็นยังไง หน่ากลัวด้วยซ้ำไป กลัวมันจะมีผลต่อผลงาน ถ้าวันหนึ่งเราทำความเข้าใจกันได้ก็ค่อยว่ากัน

น้อยหน่า: หน่าอยากทำเพลงต่อเลย ช่วงนี้หน่าก็แต่งเพลงเรื่อย ๆ มีไอเดียอะไรก็สะสมแล้วส่งต่อให้เพื่อนในวง

นาวิน: ยิ่งไปทัวร์ไปเห็นวงโน่นวงนี่ ยิ่งพลังกว่าเดิม ไปเจอวงอะไรใหม่ ๆ แล้วรู้สึกได้รับพลังกลับมา ก็อยากมาทำเพลง

น้อยหน่า: เพลงมันก็เป็นแนวที่แตกต่างจากที่เคยทำมา แต่หน่าชอบฟังพวกบีทอะไรยังงี้อยู่แล้ว ชอบร้องฮัมอยู่อย่างงี้ โอกาสโคตรดี อยากทำ ๆ มันเป็นโปรเจกต์ของเฟสติวัลที่วงได้ไปเล่นงาน EPOCHS เมือง Karuizawa เขาให้โอกาสหน่าได้ร้องกับเพลงที่ STUTS ทำไว้ เหมือนงานนั้นเป็นของ Space Shower น่ะค่ะ เราก็ได้เห็นว่า โอ้โห ดนตรีมันกว้างมากเลย ทุกครั้งที่วงได้ไปทัวร์ญี่ปุ่นก็จะได้เห็นวงแปลก ๆ เยอะมาก ดนตรีแบบนี้ก็เป็นไปได้เนอะ มันสนุก ไปเรียนรู้อะไรแบบนั้นมาก็มีพลังกลับมา เราได้ทำร้ายกรอบอะไรบางอย่างในความคิดตัวเอง

ฟิวชี่: ทุกเพลงที่เราทำมาจะเล่นหมดแน่นอน

น้อยหน่า: เพราะมีอยู่แค่นั้นแหละ (ทุกคนหัวเราะ)

ฟิวชี่: ทุกครั้งที่เราไปทัวร์มาก็อาจจะเล่นทุกเพลงไม่ได้ น่าจะเป็นโชว์ยาวที่สุดในชีวิตผมเลย ที่เล่นดนตรีครั้งนึงแล้วโชว์ยาวกว่า 90 นาที ยิ่งงานนี้น่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไรอีกเยอะเลย

น้อยหน่า: ลองฟังดูค่ะ ใครเคยฟังพวกเราจาก EP แล้ว อัลบั้มนี้น่าจะเป็นอัลบั้มนี้น่าจะเป็นตัวตนของเราสี่คนแล้ว เราใส่อะไรหลาย ๆ อย่างลงไป มันแตกต่างจากอัลบั้มก่อนแน่นอน พวกเราชอบอัลบั้มนี้กันมาก ๆ อยากให้ลองฟังดูค่ะ พวกเราสนุกกับมันมากในแต่ละเพลงที่ทำออกมา สำหรับหน่ามันเป็นอัลบั้มที่พิเศษค่ะ นี่ก็ชอบเอง (หัวเราะ)

กันต์: อยากให้ลองฟังเพราะเราตั้งใจทำกันจริง ๆ ตั้งใจกันมาก ๆ ไม่ได้ทำเพราะอยากให้มันเสร็จ ๆ ไปอะไรเงี่ย ผมชอบทุกเพลงนะ


Seen Scene Space presents YONLAPA : LINGERING GLOAMING CONCERT คอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มล่าสุดที่ขนเพลงจากอัลบั้มใหม่มาโชว์แบบจัดเต็มซึ่งอาจไม่ได้เห็นเซ็ตนี้ที่ไหนอีกแล้ว เจอกัน 13 มกราคม 2567 ที่ Lido Connect ซื้อบัตรเลยที่ Ticketmelon

และติดตามความเคลื่อนไหวของวงได้ที่ Facebook และ Instagram

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy