วิวฟอร์มดูเลเล จิบชา มองดวงจันทร์ ฟังอัลบั้ม ‘am i moon’ ของ View From The Bus Tour ข้างกองไฟ

2.4K views
View From The Bus Tour am I moon เชียงใหม่

ฤดูฝนเดินทางมาแล้ว ในห้วงคำนึงย้อนนึกถึงกลิ่นกรุ่นชาอบอุ่นที่ได้ดื่มรอบกองไฟบนระเบียงบ้าน ดูเลเล โฮมสเตย์ ที่บ้านแม่แดด อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงฤดูร้อนที่แล้วกับเขา เฟนเดอร์—ธนพล จูมคำมูล สมาชิกวงดนตรี Solitude Is Bliss มีโปรเจกต์ส่วนตัวชื่อ View From The Bus Tour ที่ออกอัลบั้มแรก am i moon เมื่อช่วงปลายฤดูหนาวปีก่อน

ฤดูร้อนที่ผ่านมาบทเพลงของวิวฟอร์มฯ เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยวิธีการที่สนุก มีพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น เขายกทีมงานนักดนตรี ช่างภาพ วิดีโอ ขึ้นรถไฟสายอีสาน เพื่อเดินทางไปเล่นดนตรีตามจังหวัดต่างๆ ส่งเสียงเพลง และส่งเสียงว่า หากระบบขนส่งสาธารณะของประเทศเราเจริญขึ้น เราต่างได้เดินทางมากขึ้นเช่นกัน การเดินทางครั้งนี้ถูกบันทึกออกมาเป็นสารคดีสุดมัน หาชมได้ที่ View From The Bus Tour – Southern Esaan Railway Tour 2024

อีกเรื่องในฤดูร้อนที่ผ่านมา วิวฟอร์มฯ ยังเป็นวงเปิดหัวให้กับ ‘My Hometown’ โปรเจกต์ที่เหล่านักดนตรีเชียงใหม่จะได้เล่นในบ้าน ทัวร์ในบ้านให้คนในบ้านและนอกบ้าน ได้ชมได้ฟัง เพื่อผลักดันเรื่องสำคัญอย่างการกระจายอำนาจออกมาจากศูนย์กลาง ด้วยรูปแบบการจัดแสดงคอนเสิร์ตที่มีทั้งกลางวัน กลางคืน เด็กเข้าได้ ผู้ใหญ่หรือชาวต่างชาติเอ็นจอยร่วมกัน ตามสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงร้านเหล้า ผับ บาร์ มองเห็นงานดนตรีที่เป็นไปได้ในแบบอื่นๆ รวมถึงระดมทุนเพื่อมอบค่าแรงตามมาตรฐานให้กับทีมงาน และยังผลิตสื่อ ‘My Hometown Session’ ส่งสารเรื่องราวของ Hometown เชียงใหม่ ผ่านบทสนทนากับเพื่อน ๆ ในแวดวงนักสร้างสรรค์ เป็นต้น

ฤดูฝนปีนี้เดินทางมาถึงแล้ว ผมนึกถึงบทสนทนาในคืนหนึ่งกับเฟนเดอร์ และมีเพื่อนอีกสี่ห้าคนนั่งล้อมกองไฟฟังเพลงอัลบั้ม am i moon ไปด้วยกัน

บรรทัดต่อจากนี้คือ สิ่งที่ทุกคนและดวงจันทร์กลมโต วันนั้นได้ยิน 


I
Dear mind, dear mind reader,
Why are your eyes so blue?
Dear mind, dear mind reader,
Let me know that too.
‘Mind Reader’

เสียงไฟไหม้ฟืน ฝนโปรยลงมาเมื่อหัวค่ำ ระเบียงบ้านชื้นเย็นสบาย แทร็กแรกของอัลบั้ม ‘Mind Reader’ ดังขึ้นและจบลง เฟนเดอร์บอกเล่าถึงเนื้อหาของเพลง

“อัลบั้มนี้เพลงส่วนใหญ่ 70% มาเขียนที่นี่ ตรงกระท่อมข้างล่าง (ชี้นิ้วไป) มาตอนดูเลเลปิดรับแขกพอดี มีสตาฟอีกคนอยู่ด้วยแต่เป็นโควิด ก็เหมือนได้อยู่คนเดียว ทั้งเขียนเนื้อ ได้ Riff กีตาร์ ได้คอร์ดที่นี่หมดเลย

“เนื้อหาพูดถึง การที่เราได้รับความรู้สึกพิเศษจากคนที่พิเศษ ไม่ว่าจะเพื่อน พี่น้อง พ่อแม่ หรือญาติ เรารู้สึกได้รับการมองเห็น และได้รับความเข้าใจ เหมือนเราถูกอ่านใจได้ มองตาเข้าไปก็รู้แล้วว่าเราเป็นยังไง และไม่ตัดสินเราด้วย เรารู้สึก appreciate กับการที่มีใครบางคนมองเข้ามา และสัมผัสได้ถึงความเป็นเรา ทำให้เรากล้าจะเป็นตัวเองในทุกเวอร์ชั่น ทำให้เราปลอดภัยในการมีตัวตนอยู่ขึ้นมาในแบบฉบับของเราเอง 

“พอเราได้รับความรู้สึกแบบนี้ เราก็อยากจะเป็นแบบนั้นได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดเราอยากตอบแทนคนที่มอบความรู้สึกแบบนี้ให้เรา แต่ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ก็ขอให้เราเป็นแบบนั้นให้กับใครคนอื่นที่ผ่านเข้ามา อย่างน้อยเขาผ่านมาและได้รับความรู้สึกเช่นนั้น พอกลับไปใช้ชีวิตของตัวเขาเอง เขาก็น่าจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้นกับชีวิตของเขา อยากดึงเขาออกมาจากหลุม เพราะเขาก็คงตกหลุมได้บ้างเหมือนกัน อยากให้เขาบอกเราบ้าง ให้เราเป็น Receiver บ้าง” 

และบอกเล่าถึงการทำดนตรีว่า “เราได้อะไรจากพี่ ‘เจ—เจตมนต์ มละโยธา’ (Penguin Villa) มาเยอะมาก เช่น เพลงจากค่าย Smallroom และเพลงโฆษณา เช่น 1 2 Call, Orange หรือ ระวังหมดอายุ เพลงประกอบโฆษณายุคนั้นคือดีมากๆ และทำให้เราจดจำได้ยาวนาน 

“เพลงนี้ก็มีความอยาก Replicate ความรู้สึกนี้อีกครั้งหนึ่ง มีอารมณ์แบบซินส์ป็อบ อิเล็กทรอนิกส์ป็อป ยุค 90s ปลายๆ ถึง 2000s ต้นๆ เราเป็นเด็กที่โตมากับอิทธิพลยุคนั้นพอดี มีความรู้สึกที่ทำให้เราสนุกสนาน เป็นกลิ่นที่ถูกจริต และพยายามทำเป็น Lofi ให้ฟังเป็นป็อปกุ๊กกิ๊กๆ ที่โมเดิร์น ขณะเดียวกันก็ Nostalgia นึกถึงเพลงยุคเก่าๆ ใช้เสียงร้องที่มีเสียงแตก เสียงกีตาร์มีเอฟเฟกต์ในฮอลล์ Reverb เย็นๆ ให้ความเป็นฝรั่งเศสนิดหนึ่ง” 

กองไฟสะท้อนกาน้ำร้อนสีเงิน เฟนเดอร์เทน้ำชาแจกจ่ายเพื่อนร่วมวงกองไฟ บทเพลงที่สองชื่อเดียวกับอัลบั้ม ‘am i moon’ ดังขึ้น 

“พระจันทร์กำลังสวย” ใครสักคนในวงแจ้งเตือนเพื่อนๆ 

“ระหว่างฟังเพลง มองพระจันทร์ไปด้วยก็ได้” เฟนเดอร์ตอบรับด้วยรอยยิ้ม 


II
I’ve heard you’ve talk about being apart
I grew from the ground, floated above the air
am i moon
‘am i moon’

“เพลงนี้พูดถึง ‘พระจันทร์’ ในแง่ของสัญญะเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเกินเอื้อม เป็นที่ถวิลหา และเป็นสิ่งเร้นลับ เราคิดเข้าข้างตัวเองว่า ใครบางคนที่เราเฝ้ามองอยู่ เวลาที่เขาถวิลหาถึงบางคนหรือบางสิ่ง นั้นมันใช่เรามั้ย เอ๊ะ พระจันทร์ดวงนั้นของเขาเป็นเราหรือเปล่านะ 

“พระจันทร์ดวงนี้คือหน้าปกอัลบั้ม เป็นรูปพระจันทร์หน้าตาเลิ่กลั่กนิดหนึ่ง เพราะขณะที่คิดจะเข้าข้างตัวเอง เราก็ละอายที่คิดแบบนั้น เลยเขียนเป็นเพลงนี้ขึ้นมา เพื่อจะอธิบายทั้งสิ่งที่เราสงสัยอยู่ข้างใน และระบายความละอายในอารมณ์ด้วย เป็นความโรแมนติไซซ์ เป็นแฟนตาไซซ์ชนิดหนึ่ง 

“เกือบทุกเพลงจะแต่งกับกีตาร์ตัวเดียว และพยายามให้เพลงสามารถสมบูรณ์ได้จากกีตาร์ตัวเดียวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ความรู้สึกต่อพระจันทร์ของแต่ละคนมันจะมีความคล้ายๆ กันอยู่ แต่ในมุมของเราที่ตีความมันออกมาเป็นเสียง เป็นความเวิ้งว้างไกลๆ ลอยๆ สวยงามแต่ก็มีความหลอนๆ บ้างบางครั้ง

“มีโน๊ตที่ให้ความรู้สึกถึงความเย็นยะเยือกในช่วงเวลากลางคืนและมีแสงจันทร์สาดลงมา อิงความรู้สึกนั้น และใช้โน๊ตที่นึกถึงศิลปินยุค 70s เช่น Bred หรือ Don McLean มีความเป็นคันทรี เดินเรื่องด้วยกีตาร์หนึ่งตัว

“ตอนแต่งใช้กีตาร์โปร่ง แต่ตอนอัดตัดสินใจบันทึกเสียงใช้เป็นกีตาร์ไฟฟ้าอยากให้ริฟฟ์กีตาร์ท่อนที่เล่ามามันมีความกังวาลมากขึ้นกว่าที่กีตาร์โปร่งให้ไม่ได้ อัลบั้มนี้ประสานเสียงไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่เพลงนี้มีไลน์ประสานเสียงที่จริงจังในท่อนฮุค ตอนสุดท้ายมีคีย์บอร์ดที่มาช่วยเน้นย้ำความหลอนของพระจันทร์ เป็นความลอยเท้งเต้ง มี Space มีความ Uncertain บางอย่าง ท่อนร้องตอนหลังก็เป็นความท้าทายกับตัวเองว่า จะทำเสียงหลบได้ยาวขนาดไหน มันช่วยเสริมกับฟีลลอยๆ หลอนๆ ด้วย”


 III
“River flow for shivering butterfly
Laying low, apologize for never try
You came along right in the time I’m so weak”
‘Metaphor’

“ดูก้อนเมฆนั่นสิ รูปร่างมันเหมือนอะไรสักอย่าง” ใครอีกคนในวงล้อมกองไฟ ชวนทุกคนคบคิด บทเพลงที่สาม Metaphor เริ่มบรรเลง

เฟนเดอร์เล่าว่า Metaphor แปลว่า ‘การอุปมาอุปไมย’เพลงนี้คล้ายเนื้อหาในเพลง My Reader เป็นความรู้สึกขอบคุณที่เราได้รับการมองเห็น ได้รับการใส่ใจ ถูกมองเห็นตัวตนจากมุมมองของคนอื่นและอยากขอบคุณเขา

“เพลงนี้ชอบเนื้อเพลงทั้งหมด เป็นเพลงที่เราสามารถแตะไปในโซนที่ตัวเองอยากจะแตะมานานแล้วทั้งในแง่คำ เมโลดี้ การเล่นกับกีตาร์ เพลงนี้แต่งกับกีตาร์ตัวเดียวเหมือนเดิม ตอนที่ทำรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจ รู้ว่ามันดีด้วยกีตาร์ตัวเดียวแล้ว แต่ก็พยายามเติมเบสตอนท่อนฮุค ใส่กลองเข้าไป พยายามเล่นกีตาร์เป็นลูปแล้วเสริมให้มีไดนามิคนิดหนึ่ง ใช้วิธีอัดกีตาร์ในเทคเดียว เพื่อให้ได้เสียงกีตาร์สองตัวเล่นพร้อมกัน

“ส่วนเนื้อหาเพลงมันเป็นฟอร์มความรักอย่างหนึ่ง เป็นฟอร์มความรักที่ผมรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก เป็นความรักที่เราอยากจะกลับมารักตัวเอง อยากจะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น อยากทำตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อเป็นคำขอบคุณให้เขา อยากจะเล่าว่าเราได้ถูกกอบกู้ไว้ยังไง รู้สึกแบบไหน แต่ถ้าต้องเล่าเรื่องนี้จริงๆ มันอาจจะหาโอกาสไม่ได้ อาจจะใช้เวลานานหรือใช้หลายหน้ากระดาษเกินไป จึงใช้การอุปมาอุปไมยเล่าถึงความรู้สึบซาบซึ้งตรงนี้”

ฟ้าเพิ่งหมาดฝน น้ำค้างหยาดลงจากใบไม้ ฟืนบางท่อนเกิดความชื้นและปล่อยควันมากกว่าท่อนอื่น เพลงต่อไป ‘ระบำกลางสายฝน’ 


IV
“ก็แค่หยาดฝนโปรยปราย ไม่ทำให้ดอกไม้เฉาตาย
อย่าไปแบกรับอะไรมากมาย ทำใจให้สบาย แล้วเดินออกไป”  
‘ระบำกลางสายฝน’

ในเพลงนี้เฟนเดอร์เปรียบว่า ฝน คือความยากลำบากในบางเวลาของชีวิต อย่างเช่นที่เขาเขียนเพลงนี้ได้ในวัย 17-18 ปี  เป็นช่วงเรียนจบม.6 เขาไม่ได้สอบแอดมิชชั่นตามระบบ เพราะไม่อยากเป็นภาระให้ที่บ้าน เลยเลือกสมัครเข้ารามฯ และไปอยู่กับแม่ ช่วยกันประหยัด แต่การไม่ได้เข้าสังคม ไม่ได้มีเพื่อน สุดท้ายทำให้เขาตัดสินใจซิ่วและย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่ 

ช่วงจบ ม.6 เองก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ได้เริ่มจริงจังกับสิ่งที่เลือกทำ เขาอยากรู้เรื่องการปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ทำสวนหลังบ้าน ติดตรงที่ว่าเขาไม่เคยทำงานเกษตรมาก่อน และยังได้ตัดสินใจปลูกต้นไม้ในฤดูฝน ด้วยความคิดที่ว่า น่าจะมีน้ำเยอะดี จะช่วยให้พืชพรรณอุดมสมบูรณ์เขียวขจี เขาลงแรงเริ่มจากการเพาะต้นกล้าเล็กๆ เมื่อพอมันขึ้นเป็นต้นจิ๋วๆ ความอ่อนแอของต้นกล้า เวลาเจอดินเปียกเกินไปหรือเม็ดฝนที่หนักลงมามันย่อมตาย หรือแม้จะฝังเมล็ดลงลึกไปในดินแค่ไหนก็ยังมีไก่มาจิกกินได้ 

“เริ่มรู้สึกว่าทำไมมันยากจังเลย เกลียดไก่ ก่นด่าฟ้าฝน เวลาเห็นเมฆฝนก็ด่าว่ามันจะมาเหี้ยอะไรทุกวี่ทุกวันวะ ด่าฝนในฤดูฝนคิดดูเถอะ พอเราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองงี่เง่า ก็เริ่มรู้สึกได้ว่า สงสัยชีวิตข้างหน้ามันคงเป็นลูปวนไปแบบนี้ล่ะมั้ง มีความท้าทายเข้ามา เราเอาใจเข้าไปทุ่ม พอผิดหวังเราก็จะเผชิญกับการทุบตีตัวเอง 

“ทีนี้เรารู้สึกเลี่ยงไมไ่ด้ ถ้าหาวิธีรับมือกับมันได้คงดี เลยเขียนเพลงนี้เพื่อให้กำลังใจ ดุนหลังให้ตัวเองออกไปเจอสายฝน ดูว่าจะรับมือยังไง เอ็นจอยกับมันยังไงได้บ้าง”

ลมพัดละอองฝนมาแตะผิว ใครต่อใครรอบกองไฟยังโอบถ้วยเซรามิกที่มีชาอบอุ่นไว้ด้วยสองมือ เฟนเดอร์พักจิบชา และเล่าต่อว่า 

“อัลบั้มนี้เหมือนเป็นความพยายามไปแตะ Nostalgia ของผมเอง แนวเพลงหลากหลายแนว เป็นสากลเก่าที่เคยฟัง เพราะฟังแนวใหม่ไม่เยอะเท่าไหร่ พยายามทำให้ตัวเองรู้สึกถึงวันเก่าๆ ซึ่งมันทำให้เราฟังแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ ทำเพลงให้ตัวเองรู้สึกแบบนั้น คิดว่าถ้าตัวเองรู้สึกกับมันได้ รู้สึกกับมันจริงๆ คนอื่นก็น่าจะรู้สึกได้เหมือนกัน

“เพลงนี้เริ่มที่กีตาร์ตัวเดียวเหมือนกัน เราต้องการวาดภาพด้วยเสียงให้มันออกมารู้สึกถึงฝนให้ได้ รู้สึกถึงความชื้น ฉ่ำ ความเย็น เป็นกีตาร์ที่มีเอฟเฟกต์ Reverb เยอะหน่อย บางท่อนก็มีกิมมิกเป็นเสียงเม็ดฝนค่อยๆ หล่น และตกหนักขึ้นเรื่อยๆ ใส่เสียงคีย์บอร์ดเพิ่มเข้ามา เพราะเราชอบ ‘Napat Snidvongs’ มันจะมีหลายๆ เพลงของเขาที่เป็นเครื่องดนตรีชนิดนี้ เสียงเหมือนออแกน แต่ซาวนด์ฟังแล้วได้ความรู้สึกแบบของเล่น มีความกังวาลคล้ายๆ ซีตาร์ หรือไลน์เบสที่จะมีลีลาในเพลงนี้

“เพลงนี้จบมาเป็นพาร์ต ไม่ได้จบมาทีเดียว ใช้เวลา 10 กว่าปี กว่าจะบันทึกเสียงได้อย่างที่ตั้งใจจริงๆ เพราะเราอยากให้เพลงนี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ แต่รู้ตัวว่าสกิลในตอนนั้นทำไม่ได้ ก็เลยเก็บกั๊กมาโคตรนานเลย จนถึงวันหนึ่ง เรารู้สึกว่า เราทำได้แล้ว ก็ยืมเบส ยืมคีย์บอร์ด ซื้อดัมแมชชีนต่อเพื่อนมา และลองเล่นไปตามภาพที่เราคิดว่าจะทำได้ ด้วยความที่ทำมานาน อาจจะตอบด้วยชั่วโมงบินที่ผ่านมาเยอะแล้ว พอเราหมกหมุ่นกับมันเยอะๆ ทั้งแบบที่ใช้ได้ ใช้ไม่ได้ ที่ทิ้งไปเยอะแยะมากมาย เราจะรู้ว่าอันไหนมันใช่ มันใช้ได้ และเราสามารถทำได้ดีด้วยกำลังเท่าที่มี ณ เวลานี้มั้ย 

“เราโอบอุ้มมันผ่านกาลเวลาต่างๆ นานา เพราะรู้ว่าวันหนึ่งถ้าเราได้บันทึกมันด้วยความพร้อมจริงๆ มันจะตอบสนองเรา ช่วยฟลูฟีลแพชชั่นของเราได้”

View From The Bus Tour am I moon
credit: View From The Bus Tour’s Facebook Page

V
“Stubborn kids teach me different chords,
Sing-a-long, silly dream songs
Don’t get too attached, 
you’re borrowed from another time,
Watch’em still, 
desire, passing by the forest of thoughts.”
‘Stubborn Kids’

“รู้สึกเย็น” หลังเพลงจบ บาเทนเดอร์สาวพูดสั้นๆ

“ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย อิ่มในใจ” เพื่อนผู้มีอาชีพเป็นครูแสดงความเห็นร่วม 

“นอกจากได้รับความเย็นแล้วมันได้ความอบอุ่นจากข้างในออกมา เพราะเราอยู่ในทุกช่วงที่พี่เฟนฯเขียนเพลงที่นี่ หลังจากเขียนเสร็จ ทำอัลบั้มเสร็จ แล้วได้ออกไปทัวร์ด้วยกัน ก็ฟังมาตลอด ไม่เบื่อ มันมีแต่ความสนุก หลายอย่างมันดีสำหรับเราและคนที่ได้ฟัง มันดีมาตั้งแต่ต้น” เพื่อนผู้เป็นนายพราน คนปลูกกาแฟ คนขับรถและเทคนิเชี่ยน บอกเล่าความรู้สึกต่อเพลง

เฟนเดอร์รับช่วงเล่าเรื่องต่อ “เราได้ดูคอนเทนต์สัมภาษณ์ ‘กวางเดียร์ลอง’ หลังจากที่มีเรื่องดราม่า เราไม่ได้ตามมาสักพัก ไม่เคยจะได้มารับรู้อะไรเลย พอเราดูคอนเทนต์วิดีโอนั้นจบ พบว่าประทับใจ ในทัศนคติของเขา มองว่าสิ่งที่เขาทำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะเป็นการถกเถียงอะไรกันต่อไปในหลายๆ มุม แต่เรื่องการใช้ชีวิต เขาเป็นสตรีมเมอร์ เป็นหลายๆ อย่าง และเจอปัญหาที่มันใหญ่มาก โดนทัวร์ลง เป็นประเด็นทางสังคม โดนวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงมากๆ  รู้สึกว่า นี่สิวะเป็นตัวอย่างของเจเนเรชั่น 

“วัยรุ่นส่วนใหญ่ต้องเจอกับขั้วตรงข้าม อาจจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่ดีพอ เป็นซึมเศร้า ฯลฯ รับมือกับปัญหาในชีวิตหรือลิมิตรอบตัวที่กดทับเขาอยู่ได้ลำบาก ก็นึกถึงตัวเองที่เคยเป็นซึมเศร้ามาก่อน เรารู้สึกว่าตัวเองมีความทะเยอทะยานสูง 

“ณ เวลาที่เราเขียนเป็นช่วงที่เริ่มปลดล็อกตัวเอง เริ่มจับจุดการเขียนเพลงได้ พอจับจุดได้ รู้จังหวะของตัวเองแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำตู้มเดียว ขอแค่ทำให้ต่อเนื่อง ไม่ต้องคาดหวังให้มันเยอะจนพิเศษ ทำขั้นต่ำให้ได้แต่ทำให้เป็นประจำไปเรื่อยๆ และผลมันจะประกอบร่างสร้างตัวของมันไปจนเจอความสำเร็จได้

“ทางภาคดนตรีเพลงนี้เราตอบสนองมากับเรื่องเนื้อหาของเพลง คือทำยังไงก็ได้ให้รู้สึกว่ากล่อมเกลาจิตใจปลอบประโลม พยายามให้รู้สึกนึกถึงความปลอดภัยในวัยเด็กที่เราได้รู้สึกเป็นครั้งแรก เสียงคีย์บอร์ดยานๆ เก่าๆ ได้ยินเสียงขลุ่ยสมัยดูรายการเด็กเมื่อก่อน มีเครื่องสายจีน มีท่อนฮุคที่ทุกคนน่าจะจำและร้องไปด้วยกันได้ 

“เขียนจดหมายหาตัวเอง และเขียนถึงคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ในวัยนั้น เพื่อบอกว่า อย่าไปกดดันตัวเองให้มันรีบเกินไปนัก ใจดีกับตัวเองหน่อย และก็เกาะติดขั้นต่ำที่ตัวเองทำได้ และทำแบบนั้นไปเรื่อยๆ 

“เป็นอารมณ์แบบพี่ชวนน้อง มาคุยกันตรงนี้ ตรงกองไฟ เหมือนคืนนี้เลย เรานึกถึงกองไฟไม่ว่าจะที่ดูเลเลหรือเด๊อะโพ (The Poe)  อยู่กันตอนกลางคืนที่ลมล่องๆ ไม่ต้องห่วงอะไร มาอยู่รอบกองไฟนั่งปิ้งมาชเมลโลว มาคุยกัน เราจะทำให้คืนนี้เป็นคืนที่ช่วยกล่อมให้ใจมันสงบมีความอบอุ่น”


VI 
“I love your body
I love your energy
I love your smiley face with the shade of the Sun.”
‘Proper Puppy’

“Proper ที่แปลว่า เป็นเรื่องเป็นราวจริงจัง Puppy ก็มาจาก Poppy Love เป็นความ First Impression กับทุกอย่าง ในนิยามของเพลงคือ Puppy ให้มันจริงจังหน่อย จริงจังบ้าง 

“เพลงนี้พูดถึงเรื่องการ appreciate ภายนอกของผู้คน ในฐานะผู้ชายเรามักจะถูกสอนมาโดยตลอดว่า มองอะไรมองให้ลึกซึ้งไปถึงข้างใน แต่บางทีก็ทำให้เรากดดัน มันกดความรู้สึกของตัวเองเกินไป บางทีการ appreciate เปลือกนอกมันก็ดีและสวยงามของมัน แต่เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องยากในฐานะผู้ชายในสังคม 

“โลกยุคนี้ที่ความ PC ความเซ็กส์ชวลมันละเอียดอ่อนและเรารู้สึกว่าสำหรับผู้ชายมันยากจังเลยที่จะพูดหรือแสดงความรู้สึกอะไรออกมา มันดูน่าเกลียดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในมุมของผู้หญิงเรารู้สึกว่าเขาแสดงความรู้สึกพวกนี้ได้ง่ายกว่า 

“เช่น ผู้หญิงเจอผู้ชายหล่อๆ ก็สามารถพูดเล่นๆ กันได้ว่า อันนี้ผัวสอง แต่ถ้าลองเปลี่ยนเป็นผู้ชายอันนี้เมียสอง ก็กลายเป็นคนละความหมาย เป็นเรื่องเป็นราวได้เลย เรารู้สึกอยากจะพูดถึงความรู้สึกนี้โดยตรงมั้ง แต่ไม่ใช่ไม่กรองก่อนจะพูดนะ แต่หมายถึงว่าเอาความรู้สึกพวกนี้มาพูดแบบจริงจังว่าเรามีความ appreciate เรื่องพวกนี้ เราขอมองว่ามันเป็นความงามอย่างหนึ่งในชีวิตละกัน

“ทางด้านซาวนด์เรารู้สึกอยาก appreciate กับความสวยงาม ความฟ้ากว้าง ฟ้าใส แดดสว่าง ดนตรีมันเลย Up Beat ขึ้นมานิดหน่อย และมีความเหมือนอยู่กลางแจ้ง สดชื่นอยู่กลางแดดในฤดูหนาว เป็นเพลงที่มีกลองจริงจัง เป็นเพลงที่มีส่วนผสมความป็อปที่สุดแล้วของอัลบั้มนี้ มีโซโล่กีตาร์จริงจัง คีย์บอร์ดมีเมโลดี้เยอะ ไหนจะลีลาของกลองอีก เบสก็มีเมโลดี้ของมัน ซาวนด์จะเป็นแบบโลกสดใส”


VII
“But if capitalist cigarettes burn themselves out at last,
Would it be a better day, 
won’t you please say it will be true.”
‘Capitalist Cigarette’

“เราเกิดคำถามว่าทำไมยุคสมัยนี้โรคซึมเศร้ามันถึงเป็นได้เยอะ เป็นกันได้ทุกช่วงวัย ทุกเพศ หานิยามมันมาหลายปี และมาขมวดรวมตอนเขียนอยู่ในกระท่อมที่ดูเลเล วันนั้นหนาวมาก

“พบคำตอบว่ามันคือความสุดโต่งของโลกทุนนิยม ณ ปัจจุบัน มันมาพร้อมกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก การยัดข้อมูลใส่หัวคนแล้วเกิดความอยาก มันไปไกล ทำให้คนเราอยากเยอะเกินไป เคลื่อนไหวอะไรนิดหนึ่งก็อยากต้องการ อยากได้ อยากมีเหมือนคนอื่นเขา เข้าไปไอจีก็ไปเห็นคนเจ๋งๆ โดยไม่รู้ตัว เราจะค่อยๆ รู้สึกว่าเราไม่ค่อยพอใจชีวิตของตัวเองเท่าไหร่ เพราะเกิดข้อเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่นจากภาพสวยๆ เหล่านั้นที่มันเยอะเกินไป

“แล้วมันจะมีวิธีไหนที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นได้กว่านี้ หรืออย่างน้อยที่สุด ทำให้ความทุกข์มันน้อยลงก็ยังดี พบว่ามันมี Solution หนึ่ง คือ ‘รัฐสวัสดิการ’ เป็นเรื่องกระจายอำนาจออกมา และทำให้สาธารณูปโภคกับค่าแรงมันเสมอๆ กัน เท่ากันแบบที่จะเท่ากันได้ อย่างน้อยก็บาลานซ์มันได้บ้าง จะทำให้ Gab ของการเปรียบเทียบความต่างของชีวิตคนในแต่ละพื้นที่ในประเทศเราแคบลง ทำให้คนเปรียบเทียบชีวิตตัวเองน้อยลง อยากได้หรืออยากจะทำอะไรก็ให้มันเป็นความทะเยอทะยานที่สามารถจะตอบสนองได้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ยังต้องปากกัดตีนถีบอยู่ตรงนี้

“เพลงนี้ผสมๆ ความรู้สึกตอนที่อยู่ในกระท่อมนั้นด้วย มันหนาวจนผ้าห่มเย็น คิดว่าจะรอดไปได้มั้ยในคืนนี้จนกว่าจะได้ไปพบแสงตอนเช้า มันสะท้อนกับความรู้สึกตัวเองที่ว่า พาตัวเองมาทนหนาวแบบนี้เพื่อที่จะใช้พลังที่มีอยู่ทั้งหมดมาเขียนเพลง เขียนเพลงเพื่อจะทำให้กูลืมตาอ้าปาก มีเงิน ทำให้ชีวิตมันดีขึ้น รู้สึกเป็นเครื่องจักรอะไรบางอย่าง

“เพลงนี้ชื่อ Capitalist Cigaret ‘บุหรี่นายทุน’ เพลงพูดถึง ถ้าบุหรี่ของนายทุนมันหมดตัวแล้ว เราจะมีแรงหรือมีสิทธิ์ในการกำหนดชีวิตตัวเองได้มากกว่านี้มั้ย หรืออย่างน้อยก็มีความสุขขึ้นมั้ย แล้วเมื่อไหร่มันจะหมด ถ้าหมดแล้วจะมีใครมาการันตีได้มั้ยว่าเราจะโอเคขึ้นได้จริงๆ 

“เรื่องซาวนด์เพลงนี้ตั้งใจให้มีความฝรั่งเศสมาก มีความเลียนเสียงบี้ๆ แบนๆ เหมือนนักร้องยุคเก่าหรือศิลปินที่เคยฟัง เขาจะทำเสียงอะไรประมาณนี้ มี Reverb เสียงกีตาร์เย็นๆ อยู่ในวังวนอะไรสักอย่าง มีเสียงกระซู่ พอนำมารวมเสียงกันให้ความรู้สึกเหมือนมีวงประสานเสียง Chipmunk อยู่ด้านหลัง โหยหวนคอยร่ำร้องกับความเศร้า

“เพลงมันมีความเป็นอินเตอร์มากๆ แต่ตอนท้ายเพลงที่มีเสียงคนขายกับข้าวเข้ามาเป็นกิมมิกที่สะท้อนบริบทของคนไทย คนที่ต้องทำมาหากิน การเดินทางของคนที่เคลื่อนที่ตามรถไฟ เราจะเห็นบริบทของการปากกัดตีนถีบหาเลี้ยงปากท้องของตัวเอง เพื่อหวังว่าวันหนึ่งจะมีชีวิตที่สุขสบายกับเขาบ้าง”

ท่ามกลางบรรยากาศเย็นเยือก สายลมระลอกหนึ่งพัดกลิ่นควันฟืนมาเตะจมูก เพื่อนคนหนึ่งจกยาเส้นมาผสมขี้โยบดหยาบพันกระดาษ คีบฟืนติดไฟมาจุดสูบและส่งต่อ


VIII
“อุดหน้าต่างไว้ อุดประตูไว้ ไม่ให้โลกรั่วเข้ามา
อุดผ้าที่ช่องลม ปิดถมเสียงนานา
ไม่ให้ใครล้ำมาเกินกำแพง
แต่มีอยู่อย่างเดียวที่มีเรี่ยวมีแรง กระแสไฟจากหม้อแปลงส่งเข้ามา”
‘เสาไฟ’

“มหากาฬชีวิต” คือนิยามของเฟนเดอร์ต่อเพลงนี้  

“เสาไฟเป็นเพลงที่กล้ำกลืนมานานพอสมควร เขียนไปแล้ว 5-6 ปี เขียนด้วยความรู้สึกที่เรา Stuggle จากการเป็นซึมเศร้าอยู่ ทั้งมีปัญหากับตัวเองกับโลกภายนอก เริ่มตาสว่างรู้ว่าความเน่าเฟะของการเมือง โครงสร้าง ระบบประเทศว่ามันแย่ขนาดไหน และพาลไปโทษว่าวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดที่เราเป็นแบบนี้เพราะว่าความเหี้ยของคอรัปชั่น เป็นความโกรธที่ว่าทำไมมึงถึงทำให้กูกลายเป็นอย่างนี้ได้วะ 

“เวลาเราเห็นสายไฟ เสาไฟ ฟุตบาธ เห็นรถเมล์เก่าๆ ที่ใช้กันตั้งแต่ยุคพ่อแม่เราเป็นเด็ก รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการคอรัปชั่น เขียนเพลงนี้ขึ้นมาด้วยความรู้สึกโกรธ แต่ไม่รู้ว่าเราจะไปพูด ไปวิพากย์อะไรยังไง เพราะไม่ได้อยู่ในโหมดวิพากย์ เป็นโหมดถลุยน้ำลาย รู้สึกเวทนาตัวเองในแง่ของการใช้ชีวิต โลกเราปิด ขังตัวเอง หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน 

“หลับกลางวันคือพยายามพักผ่อน ไม่มีผ้าม่านก็พยายามเอาผ้าเช็ดตัว เอาเสื้อผ้าไม่ได้ซัก เอาผ้าห่มไมไ่ด้ใช้ไปพาดไว้ตรงราวเพื่อบังแดดให้ได้มากที่สุด ให้ห้องมืด ปิดหน้าต่างกระจก ไม่ให้เสียงข้างนอกเข้ามา เพื่อที่จะทำให้เงียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสียงของหอพักจะลอดผ่านช่องใต้ประตู ก็ต้องเอาผ้าไปอุดไว้ แล้วใช้อากาศเท่าที่มีในห้อง นอนพักผ่อน มันหนักหน่วงสัสๆ เลย 

“เราเลยพรรณาถึงการเวทนาตัวเอง ถึงภาพตัวเองเป็นแบบนั้นลงไปในเพลง เล่าเรื่องความโกรธด้วยภาษาอะไรแบบนั้นไป เราเป็นคนไม่ชอบพูดตรงๆ โต้งๆ หรือถ้าเป็นการพูดแบบพ่นๆ ความรู้สึกที่ไม่ดี แล้วเราต้องรับเอเนจี้แบบนั้นในฐานะผู้ฟังเราก็คงไม่ชอบอะไรแบบนั้น 

“พอนึกถึงเสาไฟมันก็ฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาเดินทางแต่ละครั้ง มองออกไปข้างทางเราจะเห็นเส้นที่มันวิ่งขึ้นลง เครื่องสายหรือเมโลดี้จะเป็นเสียงที่ล้อไปกับลักษณะเสาไฟที่มันไม่ตึง เป็นการเอาภาพที่รู้สึกมาแปลเป็นเมโลดี้อีกทีหนึ่ง หรือเสียงเอื้อนตอนต้นเพลง ก็แสดงถึงความเปล่าเปลี่ยวที่อยู่ข้างใน ณ เวลานั้น ที่แทบจะไม่มีอารมณ์ใดๆ มันเจ็บจนเข้าโหมดป้องกันตัวเองจนกลายเป็นคนเย็นชาไปเลย” 

เฟนเดอร์ฮัมท่อน “นกตัวหนึ่งส่งสายตาคอยจ้องมองฉัน…” และบอกว่า 

“เคยคิดว่านกเป็นใครสักคน คนพิเศษที่มาให้กำลังใจ แต่เพิ่งมาเข้าใจว่านกตัวนั้นคือเราเอง เราที่กลับมาเขียนเพลงในวันที่มันผ่านไปแล้ว และมองกลับไปในฐานะผู้สังเกตุการณ์ คือเราในอนาคตนี่เอง มองแล้วสงสารตัวเอง 

“ดนตรีช่วงหลังสะท้อนให้เห็นว่าเพลงนี้มันเป็นมหากาฬชีวิตจริงๆ เลยอยากจะ Celebate ความระยำตำบอนของชีวิตในประเทศนี้ มีเสียงคล้ายๆ ปี่พาทย์ดังสนั่นและจบด้วยเสียงหม้อแปลงที่ดังค้างไว้ ให้ความรู้สึกเหมือนมีพลังงานที่มันวิ่งผ่านสายไฟ”


IX
“ถามเธอ อยากให้เธอถามใจ ว่าเมื่อใดที่ร่ำไห้ 
พสุธายังเปลี่ยนไปทุกวัน แล้วเหตุใดจะกลับมายิ้มไม่ได้”
‘ลม’

เฟนเดอร์เล่าว่า เดิมทีเพลง ลม นั้นเป็นเพลงที่ พี่เจ Penguin Villa ให้โจทย์มาเมื่อ 5 ปี ก่อน เขาอยากได้เพลงสำหรับไปใช้ในโปรเจกต์กับวง Bennetty ซึ่งเป็นวงที่เอาผู้สูงวัยอายุ 60 – 70 ปีขึ้นไป มาเล่นดนตรีร่วมกัน 

พี่เจอยากให้เฟนเดอร์ลองแต่งเพลง โดยให้จินตนาการว่าเป็นคนแก่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว เห็นการเปลี่ยนแปลงมาเยอะ ใช้ภาษาเก่าๆ พยายามพูดในมุมที่ผ่านวันเวลา เข้าใจอะไรไปเยอะแล้ว แต่สุดท้ายเพลงนี้ไมไ่ด้ใช้ในโปรเจกต์ดังกล่าว และกลายมาเป็นหนึ่งในเพลงของวิวฟอร์มฯ

“เพลงนี้พยายามรีมิกส์เสียงลมกับ Landscape ในเวลากลางวัน ให้รู้สึกถึงภูเขา ต้นไม้ ความกว้าง ความลึก มีซาวนด์เสียงใบไม้ที่โดนลมพัด มีเครื่องสายที่ทำให้รู้สึกถึงความระริ้วลู่ลม อย่างเสียงกระดิ่งทำให้รู้สึกสั่นไหว ความกว้าง ความกังวาล ความที่ธรรมชาติเป็นแบบนั้น มีทั้งดี ร้าย บวกลบ เราเป็นเพียง Receiver หนึ่งที่มารับรู้ Spectrum นี้ในร่างแบบนี้”

เฟนเดอร์เล่าต่อว่า “การที่ต้องเผชิญฝุ่นควัน มันมีทั้งความโกรธ ความเศร้า ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงผูกใจเจ็บเยอะ เดี๋ยวนี้จะตบบ่าแทนการขอบคุณตัวเอง ขอบคุณที่พาตัวเองผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย จะเจอปัญหาอีกก็จะผ่านมันไปได้อีก ขอบคุณที่ใจดีกับตัวเองมากพอที่ทำให้ตัวเองผ่านไปได้”


X
“I love, I love you all the time,
It’s none to name my love.
I love, I love you all the time,
It’s none to name my love.”
‘None to Name My Love’

ผ่านมาจนถึงแทร็คสุดท้ายชื่อว่า None to Name My Love กองไฟมอดลงเป็นสีแดง พ่อครัวประจำบ้านเติมท่อนฟืนแห้งเข้าไป เป่าลมจากปากสองสามที ไฟสว่างมองเห็นแสงจันทร์เจิดจ้าบนฟ้าสีดำไร้เงาเมฆ

“ทำไมเพลงนี้ถึงเป็นเพลงสุดท้าย” ผมถาม

“เพลงนี้มีความเป็น Sing a Song มีความเป็น Good Bye Song เหมือนแบบ เห้ยพวกเรามองร้องเพลงกันอีกสักรอบก่อนจากกันไป เหมือนการย้ำเตือนถึงความมุ่งมั่นที่อยู่ในแก่นแท้ของเราในเรื่องความรัก” เฟนเดอร์ตอบ

“ที่มาของเพลงเกิดมาจากเราเคยอกหัก และเราเป็นซึมเศร้า แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าซึมเศร้ามันเกิดมาจากบาดแผลของเราตอนเด็กที่เรายังไม่สามารถปลดล็อกปัญหาทางจิตใจและหาทางรับมือได้ เรายังใช้ชุดเกราะแบบเดิมที่เราใช้เมื่อตอนเรียน ป้องกันตัวเองไม่ให้ใครมาแกล้งได้

“กลายเป็นว่าพอถึงจุดหนึ่งที่โตขึ้นมา เราเจอวิกฤตบางอย่างและเรารู้สึกว่าเราใช้เครื่องมือเดิมในการป้องกันตัวเองไม่ได้อีกแล้ว ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวด้วย พอมาเจอการอกหักก็เลยพังทลาย  ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเพราะขีวิตเราถูกหล่อหลอมมา เราก็ไปเข้าใจว่าเพราะเราอกหัก เสียคนคนหนึ่งที่อยู่ในความสัมพันธ์ไป เราเลยฉิบหายวายป่วง และเราเข็ดลาบ ปวดร้าว เข็ดเรื่องความรักความสัมพันธ์มากๆ 

“แต่ในความเศร้าโศก ความเจ็บปวด ดันมีความทะเยอทะยานใหม่โผล่ขึ้นมา แบบที่ทำให้เราอยากเข้าใจคำว่ารักจริงๆ ว่ามันคืออะไร มันต้องรู้สึกยังไง เราได้ยินมาเยอะแยะมากมาย รักคือความเมตตา รักคือฟอร์มสูงสุดทั้งวัฒนธรรมเก่าๆ วรรณกรรมหรือว่าศาสนาเองก็จะพูดถึงคำว่ารัก เทิดทูนไว้สูงมากๆ แต่เราไม่เข้าใจว่ามันต้องฝึกตัวเองยังไง 

“ขณะที่พร่ำพรรณาความรู้สึกปวดร้าวพวกนั้น ก็พูดความทะเยอทะยานใหม่ด้วยว่าเราอยากเข้าใจมัน โปรดจงรู้ว่ามันไม่ได้เข็ดและตัดไปได้จริงๆ เราอยากเข้าใจและใช้มันได้ 

“ส่วนหนึ่งก็เขียนขึ้นมาเพื่อให้คนอื่นได้รู้ด้วยว่ารักมันมีอีกหลายฟอร์มมากๆ หาความหมายของตัวเองให้เจอ และการเสียความรักรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในชีวิตไป ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เหลือความรักหรือทุกอย่างจะจบสิ้นลง ความรักมัน Tranform ได้อีกหลายแบบ”

สิ้นเสียงเพลงสุดท้าย พอดีกับที่ชาในกาเหือดแห้ง กองไฟมอดแสง ดวงจันทร์หลบไปหลังเขา ดวงดาวสว่างเต็มฟ้ามืดมิด ทั้งหมดคือเรื่องราวจากอัลบั้ม am i moon ของ View From The Bus Tour เป็นอัลบั้มงานฝีมือ ทักทอเต็มผืนด้วยประสบการณ์หลายฤดูกาลที่ผ่านมาของ ‘เฟนเดอร์’  


ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และฟังเพลงใหม่ของ View From The Bus Tour ก่อนใคร ที่ Facebook และ Instagram

อธิวัฒน์ อุต้น นักเขียน
+ posts

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy