ตูน—โชติกา คำวงศ์ปิน หรือที่ทุกคนรู้จักเธอในชื่อ Stoondio เป็นศิลปินอีกคนที่ยืนหยัดในซีนอินดี้มาหลายยุค ตั้งแต่ DIY ถึง Fat Radio จนมาถึงยุค T-POP ตอนนี้ แม้จะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนศิลปินคนอื่นในยุคเดียวกัน แต่ความ low key นี้ทุกคนกลับต้องเคยฟังเพลงของเธอซักครั้งจากที่ไหนซักแห่ง โดยไม่ต้องรอให้ชาร์ตเพลงไหน ๆ มาวัดความอบอุ่นในเสียงกีตาร์และคุณค่าเพลงที่จริงใจของเธอว่าจะต้องถูกใจใครรึเปล่า เพราะตัวตูนเองก็ยังคงตั้งใจทำเพลงใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ในฐานะศิลปินที่ยังชอบฟังเพลงที่ตัวเองทำอยู่
วันนี้ Transmission เราพูดคุยกับ ตูน ถึงภาพสะท้อนของการทำงานมาหลายสิบปี ผ่านมุมมองอันเรียบง่ายของการศิลปินในยุคนี้ที่ต้องรับมือกับกระแสสังคมที่เปลี่ยนไปและความคาดหวังของตัวเอง รวมถึงแนวคิดและนิยามความรักที่ไม่เหมือนใคร ที่ทำให้เนื้อเพลงของ Stoondio ยังทำงานกับต่อมน้ำตาของใครหลายคนที่ชอบฟังเพลงมาได้ตลอด
เพิ่งปล่อยสองเพลงล่าสุด Blue Valentine และ ปิดตา
Blue Valentine กับ ปิดตา เป็นสองเพลงที่ปล่อยล่าสุด แต่จริง ๆ เราเป็นคนเขียนเพลงเร็ว ตอนไหนที่มี motivation ปุ๊บ จะเขียนออกมาเป็นชุดเลย สองเพลงนี้ก็อยู่ในช่วงเดียวกับอีก 8 เพลงที่ปล่อยก่อนหน้านี้ เช่น Highway หรือ How Have You Been? มันเป็นจังหวะปล่อยซิงเกิลแล้วเพลง Blue Valentine ก็เหมาะกับช่วงวาเลนไทน์เนอะ ปิดตา ก็เป็นความต่อเนื่องของความสัมพันธ์แบบ Blue Valentine เหมือนกัน รู้สึกว่าดนตรีอะไรงี้เราก็เดินออกนอกความสามารถตัวเองในเชิงดนตรีเยอะเหมือนกัน หลังเพลงแรกเลยลองเขยิบหูคนฟังกับความสามารถเราในเพลง ปิดตา ออกมา เลยเป็นสองเพลงที่วางไว้ด้วยกัน
MV เองก็เหมือนมีความเป็นซีรีส์เดียวกัน
เพราะเป็นทีมเดียวกัน บรีฟเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน MV ก็ถูกคิดมาด้วยความ low budget ถ้าเราจะทำงานแบบนี้(งานเพลง)ต่อแล้วต้องมี MV แบบที่คนอื่นเขามีต้องทำยังไง เราต้องวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับชื่อเสียงเรา คงไม่มีตังไปทุ่มทุนแบบคนอื่น ขาข้างหนึ่งของเราทำวงการโฆษณามาก่อน การเป็นครีเอทีฟก็ได้เจอเครื่องมือที่มันทำแบบนั้นแบบนี้ก็ได้ ลดงบจะเป็นยังไง เลยได้ทักษะตรงนั้นมา วงเราอาจจะไม่เหมาะกับการลงทุนขนาดนั้น ต่อรองไม่ได้ด้วยมัน(โปรดักชั่น)มีราคาของมัน เลยย่อยให้แต่ละเพลงมันมีช็อตเดียว มีความเป็น cinematic แบบ one shot ก็เลือกโมเม้นให้เหมาะกับเพลง เรียกว่า Lyric Video ละกัน ทุกอย่างเกิดขึ้นในวันเดียวแต่เราถ่ายมาทั้งหมด 4 วีดีโอ มันก็ดูเป็น Stoondio ดีนะ (ยิ้ม) Stoondio ก็ไม่ได้เป็นสไตล์หรอกค่ะ สไตล์มันมาจากความ low budget เสมอ ตั้งแต่ bedroom studio ตั้งแต่ 13 ปีที่แล้ว แค่อยากถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดแต่ไม่มีทุน ไม่มีทุนฉันจะไม่มีสิทธิ์ถ่ายทอดหรอ ไม่ ก็แค่หาทาง ก็เลยออกมาเป็นแบบที่ทุกคนเห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็น Stoondio แล้วต้อง low budget ทุกอย่างนะ (หัวเราะ)
“เดินออกนอกความสามารถตัวเอง” ขยายความประโยคนี้หน่อย
ด้วยพื้นฐานเราเป็นคนทักษะทางดนตรีไม่ได้เยอะ เป็นคนชอบฟังเพลงเหมือนคนทั่วไปแล้วก็เล่นเครื่องดนตรีอย่างที่คนอื่นเล่นได้ แต่เราดันมีแถมมาอีกก้อนหนึ่งคือพอแต่งเพลงได้ ไอ้ความเล่นอยู่หน้าคณะอาจไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ เราดันบันทึกสิ่งที่ตัวเองเล่นผสมผสานกับเรื่องที่ตัวเองอยากพูดออกมาได้ เราก็ไม่คิดหรอกว่าจะอยู่มาเท่านี้ วันนั้นเราทำโดย motivation แบบเด็ก ๆ พอทำมาเรื่อย ๆ ก็กลายเป็นว่าคนที่ชอบมันก็ไม่ใช่แค่เรา คนอื่นก็เห็นความสามารถเรา แต่พอไม่ได้เรียนดนตรีมันก็ไม่มีการพัฒนา เหมือนมวยวัดอะค่ะ ไม่ได้มีทฤษฎีพื้นฐานที่นักดนตรีเขามี ทำมา 3 ปีมันเริ่มเหมือนเดิมเราก็รู้สึกเอง สุดท้ายเราคือคนฟังคนแรกของเพลงเราปะ เรายังคอมเมนต์คนอื่นได้เลยว่าน่าเบื่อแล้วว่ะ อันนี้เบสิกไป เราก็มีสิทธิ์คอมเมนต์ตัวเอง แค่นี้มันไม่คุ้มค่าที่จะฟังละในมุมของเรา เราไม่อยากใช้คำว่าสไตล์ให้เรายึดติดอยู่ที่เดิม ประมาณปีที่ 5-6 ก็เริ่มรู้ละว่าความสามารถเราสุดแค่นี้ อาจจะต้องฟังเพลงเพิ่มขึ้น เรียนรู้การเล่นกีตาร์เบสิก เปลี่ยนวิธีแต่งเพลงมากขึ้น เอาเพื่อนแบ็กอัพที่มีทักษะที่ดีกว่าเรามากขึ้น เราบอกให้เขาลองเล่นในแบบที่เราอธิบาย ไม่ใช่ภาษานักดนตรีด้วยนะ แต่สื่อสารกันรู้เรื่องว่าเราต้องการอะไร จนรายละเอียดดนตรีเพิ่มขึ้น
เราว่า Common Sense (อัลบั้มใหม่ที่กำลังจะปล่อย) ก็เป็นอัลบั้มที่เต็มอิ่มมาก รายละเอียดดนตรีเล่นยากสุดแหละ ตัวเรายังงงเลยว่าทำไมเราใช้คอร์ดแบบนี้ มันคือการฟังที่เพิ่มขึ้น มีทีมแบ็กอัพที่เข้าใจมากขึ้นว่าดนตรีที่ซับซ้อนขึ้นแต่ฟังง่ายคืออะไร แต่อัลบั้มนี้ไม่หลุดความเป็นเราเลย กลับรู้สึกว่าเป็นอัลบั้มที่เราไม่ยึดติดกับสไตล์ด้วยซ้ำ Highway หรือ Blue Valentine ก็ไม่เหมือน ปิดตา เลย ในรายละเอียดของดนตรีเราปล่อยให้เพลงมันเป็นของมันเลย เดี๋ยวเพลงต่อไปจะมี r&b ด้วย เราชอบ r&b ชอบเพลง soul เมนสตรีมก็ฟัง อินดี้ lo-fi ก็ฟัง อัลบั้มนี้คือแกงโฮะ (ยิ้ม) เอาจริงปะ บางทีคนฟังไม่รู้สึกขนาดนั้น เขาฟังที่เนื้อเพลงกับเสียง เราทำอะไรที่หลุดไปยังไงเราว่ามันไม่หลุดความเป็น Stoondio เพราะมันถูกไม้เสียบลูกชิ้นขนาดใหญ่คือเนื้อเพลงกับเสียงเราเนี่ยแหละ เราเลยไม่ค่อยกลัว
ทุกคนจะได้ฟังอัลบั้ม Common Sense เมื่อไหร่
คิดว่าปลายปีนี้ รอติดตามกัน แต่อีกสองซิงเกิลที่ถ่าย MV ไว้แล้วกำลังจะทยอยปล่อยเร็ว ๆ นี้
เพลงอกหักพี่เยอะมาก ไปเอาเรื่องราวมาจากไหน
เพลงรักก็เยอะนะ (The COSMOS: แต่เพลงรักพี่ไม่ดังเท่าเพลงอกหัก) ใช่ (หัวเราะ) พยายามขุนหลายรอบละ คงต้องเปลี่ยนชื่อวงใหม่แล้วไม่ใช้เสียงเราร้อง เสียงเราถูกจดจำไปแล้วว่า อีนี่ต้องเจออะไรความเจ็บปวดมาและกำลังรักษาใจตัวเอง ย่านเสียงเนี่ย แต่เพลงอกหักเยอะจริง ในเพลงของเรารวม ๆ แล้วไม่ใช่การปลอบใจ แต่เป็นการบอกว่า มึงเลิกบ้า (หัวเราะ) จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องพี่หรอก แต่เป็นคนชอบสังเกต พี่เป็นคนเปลี่ยนแฟนไม่เยอะ ชีวิตพี่ราบเรียบ (หัวเราะ) เครียดที่สุดคือปัญหาที่บ้าน ซึ่งเราก็ผ่านพ้นมาได้และกลายเป็น EP Coming of Age ด้วยเรื่องที่เราเจอ แต่เราสนุกกับการสังเกตเรื่องราวคนอื่น ชอบอ่านกระทู้พันทิพ ชอบดูเวลาคนทะเลาะกันบนอินเทอร์เน็ตแล้วเราเข้าไปอ่านคอมเมนต์ แล้วคิดต่อไปเองว่าจะมองสถานการณ์ตรงนี้ยังไง กับคนรอบข้างก็มีคนเล่าให้ฟังบ้าง เรายอมรับนะเหมือนจะอวยตัวเอง แต่เราเป็นคนคิดเร็วมาก พอมีคนมาเล่าให้ฟังก็จะได้ประโยคนี้ขึ้นมา แล้วก็ได้เป็นเพลงเลยอะ มันเลยเหมือนเราเพลงอกหักเยอะ แต่เราเหมือนเป็นคนถอดความเก่ง นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกโชคดีที่ได้มา เราเลยมีเพลงเยอะ แต่เรื่องเราไม่เยอะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้มีแต่หาร้านใหม่ ๆ กินกับแฟน (หัวเราะ)
แล้วนิยามความรักของพี่ตูนเป็นยังไง
คำนี้ยาก เราเป็นคนเชื่อว่าความรักคือความไม่แปลกปลอมในชีวิต ความปกติอะ secure เด็ก ๆ อาจจะมองว่าสิ่งนี้คือสิ่งพิเศษ แต่เราอยู่กับความพิเศษอย่างนี้ไม่ได้ตลอด หลัง ๆ เริ่มชอบความปกติ วันนี้เราตื่นมาหายใจได้ ไม่เจ็บคอ ไม่เป็นกรดไหลย้อน ไม่มีอาการที่เราเคยรู้สึกผิดปกติ ไม่รู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่รู้สึกระแวงแฟน ไม่รู้สึกกังวลเรื่องพ่อแม่มากเกินไป ไม่รู้สึกว่ายอดวิวเพลงกูจะเป็นยังไง มันร้อนรน มันผิดปกติ ถ้าวันไหนตื่นขึ้นมาแล้วเรารู้สึกระแวง เราคงรับไม่ได้ ทำไมเราไม่รู้สึกว่าพ่อแม่จะไม่เป็นพ่อแม่เรา เพราะเรารู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เราก็อยากให้คนที่เรารักเขาจริง ๆ รู้สึกแบบนี้กับเรา
เราอยากเห็นว่าทุกอย่างมันมีความกลาง ๆ มีความ เออ มันก็เป็นอย่างที่มันเป็นไป เนี่ยคือความรักสำหรับเรา มันคือ love มันจะเรียกว่าปรารถนาดีมั้ยนะ มันคือพื้นฐานที่คนเราจะไม่เกิดโทษซึ่งกันและกัน เราว่าโลกใบนี้ก็รักเราที่ไม่สร้างสถานการณ์เหี้ย ๆ ให้เราแก้ปัญหาทุกวัน (หัวเราะ) กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้มองเรื่องแค่นี้ก็พอละ ตอนเด็ก ๆ ก็อาจจะไม่ได้ตอบแบบนี้ ตอนนั้นเราก็ต้องการเอนเนอร์จี้ (หัวเราะ) ต้องการอะไรกรี๊ด ๆ เราเกลียดช่วงโปรโมชั่นที่สุดละ วางแผนต้องแกล้งโฉบไปใกล้ ๆ ที่ทำงาน แวะไปรับทั้งที่ไม่ได้ใกล้มึงเลยยยย (หัวเราะ) รีบ ๆ เป็นแฟนกันเถอะจะได้อยู่กันแบบยั่งยืน เธอ วันนี้เรากินถูก ๆ ได้มั้ย กินแพงไม่ไหว (หัวเราะ)
ด้วยความที่พี่ตูนเป็นคนหลากหลายทางเพศด้วย เลยสื่อออกมาผ่านเพลงด้วยรึเปล่า
อาจจะเป็นไปได้ เอาจริง จะหลากหลายหรือไม่หลากหลาย เราโชคดีที่โตมาแล้วไม่เจอเรื่อง sexist (การเหยียดเพศ) ที่เป็นเราเลย เราโชคดีที่มีพ่อแม่เฉย ๆ เขาให้ความปกติกับเรา พ่อแม่ไม่เคยแสดงออกเลยว่าสิ่งที่เราเป็นผิดปกติ เราอยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีใครปฎิบัติกับเราว่าการที่เราชอบผู้หญิงเป็นเรื่องที่ผิด เราอยู่มหาลัยที่ไม่มีใครมานั่งสนใจเรื่องนี้ เราเลยมีมุมมองความรักที่มันไม่ได้เกี่ยวกับเพศชายหญิง บ้านเรายังไม่มีสิทธิ equal marriage สิ่งที่เราเห็นในรักเพศเดียวกันอาจจะไม่ได้มีสัญลักษณ์ปลายทางเป็นวันแต่งงาน เราไม่ได้มีวันแต่งงานอยู่ในหัวเลย เพลงของเราออกมาเลยมีความ neutral (กลาง ๆ) เหมือนเราไม่ได้บูชาสัญลักษณ์การแต่งงาน เราบูชาการที่ยังอยู่ร่วมกันแบบเรารักของเราไปเงียบ ๆ เราเลยบูชาความปกติ การที่ไม่มีอะไรผิดปกติคือวิเศษมากแล้ว เราไม่มีอารมณ์แบบ “อีก 2 ปีจะแต่งงาน” สมรสเท่าเทียมเราคิดอยู่อย่างเดียวคือ benefit (สิทธิ์ที่พึงได้) ที่มันควรจะได้ในฐานะมนุษย์ เราไม่ได้รู้สึกว่าจะทำให้เรากับแฟนรักกันมากขึ้น ไม่เกี่ยวกันเลย มันเป็นเรื่องของใจกับใจ มากกว่าพิธีกรรม มากกว่าสัญลักษณ์ของภาพที่คนวัดกัน วันแต่งงานมันเป็นสิ่งที่ดีนะ มันสร้างความพิเศษ สร้างอีเว้นต์ สร้างออแกไนซ์ต่าง ๆ แต่เราไม่ได้มีภาพนั้นในหัว เลยไม่เคยเขียนเพลงให้มีสัญลักษณ์ของความพิเศษมาก
เห็นประกาศทางการว่าเป็นศิลปินในสังกัดทีม AMAS. อย่างรู้ว่าพวกเขาเข้ามาช่วยยังไงบ้าง
เขามาช่วยวางแผนแหละ ถึงเราจะเป็นคนกลุ่มแรกของโลกที่เล่น Facebook แต่ยุคนั้นมันก็ผ่านไปแล้วแหละ ตอนนี้เป็นยุคของคอนเทนต์แบบอื่น นักดนตรีคืองานที่ two-way communicated เราไม่ได้ทำเพื่อให้เราอยู่ของเราคนเดียว เราก็แคร์ผู้ฟัง บางทีเราก็มีพลังจากฟีดแบ็ก จะบอกว่าไม่แคร์หรอก เราเป็นเรา 100% เป็นไปไม่ได้ ของพวกนี้มันคือการสื่อสารร่วมกันของคนทำกับคนฟัง เราว่าเราไม่ค่อยเข้าใจวิธีการตลาดของยุคนี้แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะทำแบบไหนให้เพลงของเราไปเจอคนที่น่าจะชอบเพลงเรา ก็จะมีน้อง ๆ มาช่วยเราวางแผน เราจะได้มีเวลาอยู่กับเพลงที่เราออกแบบได้เต็มที่ น้อง ๆ ก็ไปคุยกับคนฟัง หาวิธีที่จะให้คนฟังมาเจอเรา ตูนคงหมดยุคที่จะโพสต์ลงโซเชียลให้คนมากดไลค์ละ เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง
พอถึงจุดหนึ่งเวลาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว กลายเป็นว่าตูนไม่ได้รู้สึกว่าเราเก่งทุกอย่างนะ เฮ้ย เราถนัดบางเรื่อง บางเรื่องให้คนอื่นเขาทำ แล้วก็ดีซะอีกที่ได้ปล่อยเป็นซิงเกิลก็เกิดความสม่ำเสมอแบบนี้ เราก็เรียนรู้ไปกับโลกที่มันหมุนเร็ว บางทีเราก็ขี้เกียจจะหมุนตามโลกนะ (หัวเราะ) โลกหมุนไป เราแต่งเพลง มนุษย์ก็ยังชอบฟังเพลง ก็รอให้โลกหมุนเพลงเราไปเจอคนฟังเอง
มีหนักใจบ้างไหม ที่เราจะต่อไม่ติดกับเด็กรุ่นใหม่
มันก็รู้สึกนะแล้วก็กังวลเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้ามองในแบบพื้นผิวทั่วไปมันก็เป็นเรื่องที่ทำเพลงออกมา มีคนฟัง ศิลปินอยู่ได้ แต่เรามองในภาพกว้าง ตูนไม่ได้มองว่า Stoondio เท่ากับ ตูน—โชติกา เขาก็มีตัวของเขา ตัวตูนก็ต้องดำรงชีพ มีเรื่องอื่นต้องทำ จะนั่งจะเป็นจะตายกับสิ่งที่มันไม่มีเหมือนเดิมในฐานะ Stoondio ไม่ได้ มันไม่เป็นผู้ใหญ่ในมุมเรา เพราะเรามีสิ่งอื่นในชีวิตที่ต้องจัดการ วันนี้มีคนสนใจชอบเพลงแบบเราก็ดี วันนี้ไม่มีก็ไม่แปลก ศิลปินระดับโลก Beyoncé หรือ Mariah Carey ยังมีช่วงที่หายไป ต้นไม้เก่าตายไปต้นไม้ใหม่มันก็ขึ้นมา Stoondio มัน low key มาตลอด มันจะมีคนที่ชอบมันแต่ก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่เปิดปุ๊บหันมาฟัง เพลงเราต้องฟังสามสี่รอบอะ ถึงจะ “เฮ้ยยยย” มันทำงานช้า มันเป็นยาซึม เราเข้าใจธรรมชาติของมัน ซึ่งเราจัดการกับตัวเองเรียบร้อยแล้วว่าเราเข้าใจที่มันเป็นแบบนี้ เราก็จะมีเอเรียของเราว่าประมาณนี้เรารับได้ ทุกวันนี้เรายังทำเพลงเพราะเราคือคนฟังเพลงเราคนแรก เรายังอยากฟังเพลงเราอยู่ คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจเพลงเรา ไม่แปลก เพราะโตมาคนละแบบ ความคิดคนละเรื่อง ย่านเสียงที่เขาชอบคนละย่าน ไปยัดเยียดให้เขาก็ไม่ถูกต้อง แต่เราเชื่อว่ามันจะมี มีน้องคนหนึ่งชื่อน้องจีนอายุ 18-19 ชอบมาดู Stoondio เออ มันก็ยังมีอยู่นะ
แต่กลุ่มที่โตมากับตูน วันนั้นเราเด็ก ภาระค่าใช้จ่ายเราไม่มากสิ่งที่สนใจในชีวิตยังไม่เยอะ เขาชอบเราคือเรื่องใหญ่ของเขาในวันนั้น วันนี้เราโตมาด้วยกันต่างคนต่าง 30 กว่า วันนี้เขาจะไปสนใจเรื่องอื่นก็ไม่แปลกเลย เราว่ามันเรื่องปกติมากที่สิ่งที่เราทำมันจะไม่ได้เป็นที่สนใจ แต่สิ่งที่จะเสียไม่ได้ คือเสียความเป็นตัวเราเองจากสิ่งที่คนอื่นไม่ได้สนใจเราไม่ได้ ไม่งั้นเราจะกลายเป็นคนที่เสีย self-esteem เพราะไม่มีใครสนใจงานของฉันเลยหรอ ไม่ได้ มันคือการปรับตัว
กว่าจะขีดเส้นให้ตัวเองได้ชัดขนาดนี้ ใช้เวลานานแค่ไหน
ไม่ง่ายเลย (ยิ้ม) ใช้คำว่าทนมั้ย มันคือความไม่หยุดทำ Stoondio ละกัน บางทีเราก็ไม่อยากทำแล้วอะ น้อยใจไม่มีคนฟัง มีอยู่นะ แต่พอมองลึกลงไปอีก นี่เราทำเพราะหวังให้คนมาฟังเรา ทำไมความรู้สึกแรกที่เราสนุกที่ได้ทำมันหายไปไหน เหมือนตบกระโหลกอะ บรีฟตัวเองหน่อยว่าจริง ๆ เราทำอะไรอยู่วะ เราทำมา 12-13 ปีละ จนทุกวันนี้ไม่ต้อง make sure ละ พร้อมที่จะทำก็ทำ ไม่พร้อมที่จะไม่ทำ เพราะตูนวางแผนไว้แล้วถ้าไม่ได้มีชื่อเสียงตรงนี้ เรามีรายได้ทางอื่น เรามีคุณค่าในตัวเองทางด้านอื่น เราแฮปปี้ Stoondio เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทุกอย่าง ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้ มันจะไม่ใช่ซีนของเราไปตลอด ประมาณอัลบั้ม Plural เราเริ่มรู้ละว่าความสนใจจะเป็นวงจรประมาณนี้ สิ่งที่เราทำได้คือปรับตัวและวางแผน
แต่ถ้ามาถามเราตอนอายุ 20 กว่า เราก็อาจจะตอบเหมือนศิลปินคนอื่นนะ เพราะว่าสถานการณ์ไม่ได้พาเรามาเจอเรื่องจริงแบบเนี่ย มันมีอยู่สองเวย์คือถ้าไม่ปรับตัวก็ต่อต้าน แต่เราเลือกปรับตัว ตอนเด็ก ๆ ก็เคยต่อต้านนะ ปากแจ๋วไปหน่อย (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เลิกบ้าละ ได้หมดจ้า กูเลย low key อยู่แบบนี้ไง (หัวเราะ)
จากตอนที่เริ่มทำเพลงจนถึงวันนี้ ซีนดนตรีเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
สำหรับตูนรู้สึกว่ามันดีขึ้นเรื่อย ๆ นะ เรามีโซเชียลในมือตัวเองเราไม่ต้องผ่านคิวเรเตอร์เหมือนยุคก่อนที่เราจะทำเพลง เราเป็นยุคแรกของโลกเลยที่ใช้ Facebook มีเพลงก็โพสต์เลย เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากซีดีเทปมาออนไลน์ เราเป็นยุคแรกเราได้ประโยชน์จากยุคนั้นไปแล้ว ตอนนี้ความหลากหลายมันเกิดขึ้นมโหฬาร ทุกคนมีอิสระในช่องทางของตัวเอง แต่มันก็มีด้านลบอยู่ ตอนนี้เหมือนฟองสบู่เหมือนกัน ทุกคนมีข้าวของออกมา แต่การรับรู้ของมนุษย์มีเท่าเดิม เรามี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ช่วงอายุที่คนจะฟังเพลงใหม่ ๆ มีเท่าเดิมแต่ข้อมูลเพิ่มขึ้น แล้วสิ่งที่คนรุ่นนี้สนใจไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิง มันยังมีเรื่องสังคม ใช้เวลาไปกับเรื่องนู่นนี่นั่นเยอะ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทำเพลงคือระยะเวลาที่คนจะรับรู้ถึงเพลงเพลงหนึ่งมันอาจจะช้าลง ถ้าไม่ได้เปรี้ยงปร้างจริง ๆ อันนี้คิดเองนะ (หัวเราะ) กูฟังเพลงใหม่ ๆ ไม่ทันแล้ว จะดูหนังเรื่องนี้ อ้าว ออกจากโรงไปแล้วหรอ
ดูเป็นคนมองโลกในแง่ดีมาก
เรามองให้มันเป็นความจริงมากกว่า เราจะอยู่ในโลกนี้โดยไม่จำเป็นต้องไปด่าไปว่าอะไรใครถ้าเราเสียประโยชน์ เราไม่จำเป็นต้องไปพูดไม่ดีหรือกล่าวร้ายเพราะวันหนึ่งเราอาจจะได้ประโยชร์จากอะไรซักอย่างมากกว่าคนอื่น มันจะมีช่วงเวลาที่เป็นของเราและไม่ใช่ของเรา
ความจริงที่พี่ตูนเลือกจะสื่อสารในเพลงของตัวเอง
ยิ่งแก่ยิ่งไม่อยากตัดสินใจ ตอนเด็ก ๆ เราตัดสินใจบางเรื่องบางครั้งได้เด็ดขาดกว่า ตอนเด็ก ๆ เรากะฟัดกะเฟียดมองทุกอย่างเป็นขาวกับดำหมด พอโตมา เชี่ย กลายเป็นว่าเราเริ่มเห็นสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น สิ่งที่เราต้องทำคือการชะลอการตัดสินใจบางอย่าง บางสถานการณ์ก็ทำให้เรารู้ว่าการใส่ความคิดเราลงไปก็ไม่ถูกต้อง แต่การชะลอของเราต้องชัดเจนนะ บางเรื่องก็ ignorant ไม่ได้
สมัยล็อกดาวน์เราไม่อยู่นิ่งเลย เราเอาเพจเราไปด่าโน่นนี่นั่นเต็มเลยเว้ย มันมากตอนนั้น พี่เลยได้เล่นงานพวกนักกิจกรรมเพื่อสังคมเยอะ เรารู้สึกว่าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้ เหมือนเรามี voice ที่มีคนตาม ถ้ามันมีสถานการณ์ที่มันไม่ make sense แล้วเรามีสิทธิ์มีเสียงโดยเฉพาะในเรื่องที่เราสันทัด เช่น equal marriage เราจะพูด เพราะถ้าไม่ใช่คนอย่างเราพูดแล้วเราจะเป็น ignorant หรอ นอกจากเรื่องเพลงเราก็ชอบเรื่องขับเคลื่อนสังคมก็เลยอยากจะใช้ voice ให้ถูกที่
บ้านเรากำลังจะมีสมรสเท่าเทียม แต่ในอุตสาหกรรมกลับไม่ค่อยเห็นคนหลากหลายทางเพศเป็นศิลปินเยอะเท่าประเทศอื่น ในมุมมองตูนคิดว่าแปลกไหม
เราว่ามันไม่เกี่ยวกัน คนไทยค่อนข้างจะหัวก้าวหน้าและชื่นชอบที่ความสามารถมากกว่า เราทำงานกับ Gen Z ด้วยเราก็จะชอบถามเลยว่ารู้จัก Stoondio ปะ เด็กนั่งงงไม่รู้จักออะ ทำไมอา พี่แก่หรอ (หัวเราะ) เราก็ถามว่าแต่ละคนฟังอะไร เลยทำให้เรายิ่งเข้าใจและไม่โทษใคร เพราะมันมีแต่ความหลากหลาย น้องคนแรกชอบเกาหลีมาก มันสนุกมันได้เต้น ก็เอาเทรนด์ทวิตมาเล่าให้ฟัง อีกคนฟังเพลงเก่าตามพ่อแม่ เกาหลีไม่รู้จัก อินดี้รู้บ้าง อีกสองคนรู้จัก Stoondio แบบผิวเผิน ก็ดูคอนเสิร์ตอินดี้คอนเสิร์ตแมส ก็เลยถามเขาว่าเขาวางแผนการไปดูคอนเสิร์ตยังไงก็ได้ความรู้เยอะมาก ขนาดเจนเดียวกันยังฟังไม่เหมือนกันเลย มันไม่มี World Famous แบบสมัยก่อนแล้ว ต้องหาแฟนของตัวเองให้เจอ หาฐานแฟนที่เราสบายใจให้เจอ เราก็ได้ความรู้ตรงนี้จากน้อง ๆ มา
ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับว่าเขาปิดกั้น LGBT อยู่ที่ว่าเขาชอบเสียงนั่นมากพอมั้ย ถ้าเราไปมองว่าเพราะเราเป็นแบบนี้เลยอยากให้สนับสนุนเรา ความปกติของ LGBT จะไม่เกิดขึ้น ยิ่งเราต้องการให้มันปกติก็เข้าไปแข่งขันตามมาตรฐานปกติ ไม่ต้องพูดให้เป็นประเด็น เหมือนสมัยก่อนเราจะเชียร์วงหญิงล้วนเยอะมาก ยิ่งทำแบบนั้นยิ่งทำให้ความเท่าเทียมไม่เกิด ก็จะเกิดการเปรียบเทียบกันเอง สู้ให้ความหลากหลายมันคละ ๆ กันไป เราเชียร์ให้ LGBT เข้ามาในซีนเยอะขึ้น แต่ไม่เชียร์ให้ PR ให้มันเป็น genre เพราะเราอยากโตด้วยความสามารถไม่ใช่โตด้วยเพศสภาพ พี่กลับรู้สึกว่าไทยอีกที่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าและเปิดใจเรื่องนี้ ในสายบันเทิงมีคนหลากหลายทางเพศเยอะมาก ใน Tiktok ตรึม ช่างแต่งหน้าอะไรงี้ เลยจากเราไปกิโลเดียว มาเลเซียก็ไม่ได้แล้วมั้ย เรามี พัด Zweed ‘n’ Roll, Silvy, พีพีบิวกิ้น ดังจะตาย ไทยดีมากละ ที่เหลือคือความสามารถของทุกคนกับการวางตัว
ฝากอะไรถึงแฟนเพลงที่ฟัง Stoondio มาจนถึงทุกวันนี้
ไม่มีอะไรนอกจากคำว่าขอบคุณละกัน ถ้าเรายังอยู่ในชีวิตเขาในรูปแบบของเพลงได้ รู้สึกเป็นเกียรติมาก ติดตามกันได้ในแบบที่ไม่บังคับกันละกัน ถึงจะโพสต์นู่นนี่นั่นเยอะหน่อย ขายของเยอะหน่อย อย่าถือสา (หัวเราะ) นี่ก็ประกอบอาชีพสุจริต แต่เราคิดว่าแฟน ๆ เข้าใจ (ยิ้ม)
ติดตามโซเชียลมีเดีย ความเคลื่อนไหวและฟังเพลงใหม่ของ Stoondio ก่อนใคร ที่ Facebook และ Instagram
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา