อัปเดตความเคลื่อนไหว ก่อนไปเต็มอิ่มกับคอนเสิร์ตใหญ่ Safeplanet BON VOYAGE The First Arena Concert

by Montipa Virojpan
750 views
Safeplanet BON VOYAGE The First Arena Concert interview

ใกล้จะถึงวันจริงคอนเสิร์ตยักษ์ใหญ่ไซส์อารีน่าครั้งแรกของ Safeplanet วงขวัญใจวัยรุ่นอันดับหนึ่งที่จริง ๆ แล้วก็มีจุดเริ่มต้นไม่ต่างไปจากวงอินดี้เล็ก ๆ ณ ขณะนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่พวกเขายังสร้างสรรค์ผลงานออกมาเรื่อย ๆ ทำให้พวกเขาค่อย ๆ กลายมาเป็นหนึ่งในวงที่ประสบความสำเร็จในลีกศิลปินอิสระ เราจะชวน เอเลี่ยน ดอย และยี่ มาทบทวนความทรงจำและแบ่งปันมุมมองกันว่าอะไรทำให้พวกเขามาถึงจุดนี้ได้

เรามาพบกับเซฟบอยทั้งสามที่สตูดิโอย่านอุดมสุขที่พวกเขาซุ่มซ้อมกันอย่างเข้มข้นเป็นเวลาสัปดาห์นึงเต็ม ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า Safeplanet BON VOYAGE The First Arena Concert ที่ทุกคนจะได้ดูกันนั้นยิ่งใหญ่ ไม่เหมือนโชว์ไหน และประทับใจสมการรอคอยแน่นอน ทั้งสามคนเดินออกมาจากห้องซ้อม ดูค่อนข้างอิดโรยน่าจะทั้งจากการซ้อมและเตรียมคอนเสิร์ต (ใช่! พวกเขาลุยงานด้วยตัวเองแทบทั้งหมด) แต่ก็ยังยิ้มทักทายและเป็นกันเอง ชวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่เคยให้สัมภาษณ์ตอนเรายังเป็นนักเขียนให้สื่ออีกหัวหนึ่ง

เอเลี่ยน ดอย และยี่ Safeplanet

ดีใจด้วยที่บัตรใกล้จะหมดแล้ว

ดอย: ดีใจมาก ๆ ครับเพราะว่าเป็นสเกลคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยได้ทำกันเลยครับ ดีใจที่ทุกคนซื้อบัตรกัน ขอบคุณมาก ๆ ครับ

เอ: เราเคยจัดขนาดเล็กกว่านี้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วที่มนตรีสตูดิโอ ประมาณสองพันคนเขาก็ยังมากัน ครั้งนี้เลยลองเสี่ยงดูว่าถ้ามูฟไปอารีน่าเขาจะมากันไหม ธันเดอร์โดมเป็นเวนิวขนาดกลางที่ไม่เล็กเกินไป ไม่ใหญ่เกินไป ก็ลุ้นพอสมควรแต่สุดท้ายเขาก็มากัน ขายไปได้ห้าพันกว่าใบแล้วครับ ไม่ต้องถึงหกพันก็ถือว่าเยอะแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จในตัวของมันเอง เพราะบัตรไม่ค่อยถูกเท่าไหร่แต่เขาก็ซื้อกัน

ตอนเล่นเฟสติวัลคนเป็นหมื่น แต่รอบนี้ตื่นเต้นกว่า

เอ: เฟสติวัลมันเล่นด้วยกันหลายวง ก็มีแฟนคลับของวงอื่น ๆ ที่มาอยู่ตรงนั้น แต่อันนี้เหมือนเป็นโปรเจกต์เราเดี่ยว ๆ ในฮอลนั้นก็มีแต่คอนเทนต์ของเรา มันก็รู้สึกแบกความกดดันมากกว่าว่ามันจะลื่นไหลไหม มีปัญหาทางเทคนิคอะไรหรือเปล่า กดดันกว่าเฟสติวัลใหญ่ ๆ แน่นอน

ความพร้อมเป็นยังไงบ้าง เห็นว่าจองห้องซ้อมกันเป็นอาทิตย์

ยี่: พร้อมขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะ 80-90% เหลือดีเทลอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ

เอ: นับจากวันที่สัมภาษณ์ก็อีกสองอาทิตย์ น่าจะประมาณนั้น เหลือแค่รอยต่อ transition เปลี่ยนเพลงให้มันสมูธ

ความพิเศษของโชว์ในครั้งนี้

เอ: เป็นโชว์ที่ยาวที่สุดที่เราเคยทำ ประมาณสองชั่วโมงกว่า ๆ (ดอย: เกิดมาไม่เคยเล่นนานขนาดนี้) คอนแรกเรามีแค่อัลบั้มเดียว น่าจะ 12 เพลงเอง อันนี้รวมเป็น 27 เพลง รวม interlude

โชว์นานขนาดนี้ต้องเตรียมความพร้อมร่างกายด้วยไหม

ดอย: ก็พยายามทำตัวให้ฟิตอยู่ครับ แต่ช่วงนี้ก็นอนน้อย จริง ๆ คอนเสิร์ตเราวางแผนกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แล้วมาเริ่ม process จริง ๆ ประมาณเดือนครึ่ง สองเดือน

ยี่: ใช่ เพราะเราเป็นเหมือน show director, music director เองด้วย เหนื่อยหน่อย (ดอย: อร่อยแน่) ลงทุนเยอะมากเกี่ยวกับเรื่องแสง สี เสียง (ดอย: เยอะจริง ไม่รู้จะกำไรหรือเปล่า)

เอ: นี่น่าจะเป็นเดือนที่เรานอนตีสี่ตีห้าทุกวัน เป็นเดือนครึ่งที่ไม่ได้หยุดเลย เราลุยเรื่อง pre-production แล้วก็ post-production เองด้วย เราตั้งใจสุด ๆ นั่งครีเอตไปด้วยกันกับ Saturate Designs คล้าย ๆ ว่าเป็นทีมเดียวกับเรา เราพยายามทำให้วิชวล ไลท์ติ้ง โซนิก เป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย เราพยายามทำประสบการณ์ในโชว์ให้เป็นพาร์ตต่าง ๆ เป็นการเดินทางเป็นบท ๆ ไป โปรดักชันน่าจะใหญ่และดีที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา และมันจะต้องดีมาก ๆ คุ้มค่าบัตร

ดอย: เรื่อง performance รอบนี้เราก็จ้างนักดนตรีจริง ๆ มาเล่น ในเพลงเราจริง ๆ มีรายละเอียดเยอะ คนก็จะได้เห็นเอเลเมนต์นั้น

เอ: เสียงสังเคราะห์ทั้งหมดในออดิโอก็จะเป็นคนเล่น จะมีหลายตำแหน่งที่เพิ่มเข้ามา เพอคัสชัน ซินธิไซเซอร์ เครื่องสาย จัดเต็มครับ

ทำไมตั้งชื่อว่า Bon Yovage

เอ: ‘Bon Voyage’ เป็นแทร็คเปิดในอัลบั้ม ‘Cap, Capo, Cigarettes, and Beer’ ของเรา แล้วเรารู้สึกว่าถ้าเอามาตั้งชื่อคอนเสิร์ตนี้มันก็เหมาะ Bon Voyage มันแปลว่า ‘เดินทางโดยสวัสดิภาพ’ เราก็รู้สึกว่าที่ผ่านมาเราก็เดินทางมาไกลพอสมควร และเป็นการเดินทางที่สนุก คอนเสิร์ตมันเลยเหมือนเป็นการมาร์กแชปเตอร์นี้ไว้ เป็นการสรุปการเดินทางของเราได้ดี เหมือนมาถึง check point นึงแล้วก็เตรียมออกเดินทางไปที่อื่นต่อ เป็นการเดินทางที่ไม่จบไม่สิ้น

อัลบั้มแรกดนตรีค่อนข้างต่างกับชุดสอง ตอนเราพัฒนาให้ซาวด์มาเป็นในลักษณะนี้มีความกังวลว่าแฟนเพลงจะไม่ชอบไหม

เอ: ไม่ค่อยกังวล คิดว่าถ้าเขารับตรงนั้นได้ เขาก็น่าจะย่อยอัลบั้มนี้ได้ง่าย กลัวว่ามันจะง่ายไปด้วยซ้ำ เหมือนพอเรากลับไปฟังเพลงแรก ๆ เลือดอัลเทอร์เนทิฟมันก็แรง ทำเพลงตามใจ ไม่ตามฟอร์แมต อัลบั้มนี้เราตามฟอร์แมตมากขึ้น แต่เราแค่ใส่อย่างอื่นเข้าไปแทน เหมือนเราก็โตขึ้นจากการที่เราชอบทำอะไรซับซ้อน มาทำให้มันเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น ไปเน้นสกิลเรื่องอื่น ไม่ได้เน้นที่คอมโพสิชันที่มันซับซ้อนเหมือนเดิม

เพลงที่แฟน ๆ ชอบเรียกร้องให้เล่นสด

เอ: ‘ระบาย’

ดอย: ‘โอยา’ ด้วยครับ ‘นอนไม่หลับ’ ก็เจอบ่อย เพราะเราไม่ค่อยได้หยิบมาเล่น อย่าง ‘ข้างกาย’ ‘คำตอบ’ ‘ห้องกระจก’ ‘พริบตา’ มันเล่นอยู่แล้ว

ยี่: เอาจริง ๆ เพลงที่คนจะเรียกร้องก็คือเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่น เพราะว่าช่วงหลังเราไปเล่นตามที่ต่าง ๆ เวลามันน้อย เราก็ต้องเลือกเพลงที่คนเขาอยากฟัง ซึ่งบางเพลงเก่า ๆ แฟนเพลงก็อยากฟัง ‘โอยา’ ‘ระบาย’ ‘กล่องดำ’

เอ: เกือบทุกเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่น เขาก็จะชอบกันคนละเพลง ก็ไม่มีอะไรตายตัว บางคนอยากฟังเพลงนั้นเพลงนี้ โชว์นี้ก็เลยจะได้ฟังทุกเพลงแน่นอน

8 ปีที่ผ่านมา วงได้ประสบการณ์หรือเรียนรู้อะไรบ้าง จากการเป็นอินดี้วงเล็ก ๆ จนมาเป็นวงที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ดอย: ผมว่าก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง วิธีการทำเพลงแรก ๆ กว่าจะเสร็จแต่ละเพลงก็นานมาก ๆ เหมือนเราก็พยายามหาตัวเอง หลัง ๆ เริ่มมีประสบกาณ์มากขึ้นก็เหมือนว่าทำอะไรได้เร็วขึ้น แล้วก็เรื่องจัดการ บริหารอะไรในวง ยิ่งทำไปเรื่อย ๆ มันก็เหมือนรู้ว่ามีรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องจัดการ

เอ: ก็คือตั้งแต่เราทำวง เราเรียนรู้แทบจะทุกด้าน ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ไม่ว่าจะวินัย การจัดการ ธุรกิจ outsource ต่าง ๆ ที่เราต้องจ้างเอง ทำเอง เราก็ต้องอาศัยคอนเน็กชันของแต่ละคนเรื่อย ๆ ไปดูดมาเวลาทำงานกับใคร

ยี่: เรียนรู้เยอะจริง ๆ ตอนแรกที่เป็นวงอินดี้เล็ก ๆ ก็เหมือนเรียนรู้การออกไปเล่นด้วยตัวเอง ดูแลตัวเอง แล้วพอไป ๆ เราเริ่มมีทีมงาน ครอบครัวเริ่มขยาย ก็มีเรื่องนู้นเรื่องนี้มา พอมีเรื่องอุปกรณ์เราก็แข่งกับเทคโนโลยีอีก ทุกอย่างมันไม่มีวันหยุด เหมือนต้องไปเรื่อย ๆ ตามโลก ตามขนาดวง เหมือนตอนนี้ดูแลหลายชีวิตด้วยก็ต้องพัฒนาตัวเองตลอด

เอเลี่ยน ดอย และยี่ Safeplanet

หลายวงเกิดใหม่ยุคนี้อยากมีค่ายซัพพอร์ต อะไรทำให้ Safeplanet แน่วแน่ที่จะอยู่ด้วยตัวเองตั้งแต่แรก

ดอย: ตอนแรกเราก็เริ่มมาด้วยตัวเอง ทุกคนก็ปล่อยเพลงใน YouTube แล้วก็เหมือนทำไปทำมาเรื่อย ๆ เหมือนได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้น อะไรที่จัดการเองได้ก็ลุย

เอ: เรามีแพลนมากกว่า ช่วงแรก ๆ เราก็ดื้อ เราค่อนข้างแอนตี้ค่าย เราไม่ค่อยเชื่อผู้ใหญ่ ไม่ค่อยอยากทำอะไรที่เขาให้ทำ อย่างเช่นเดินสาย คุยกับคลื่นวิทยุที่เขาไม่ได้สนใจเราแล้วถามแบบ ‘ทำวงอะไรครับ’ เราไม่ชอบการที่เขาเอาเราไปใส่สลอตนั้น สลอตนี้ไว้เฉย ๆ เราก็จะมีแผนอีกอย่างในหัวเรา รวมถึงเรื่องแนวดนตรีด้วย ทำไปทำมาก็เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาแนะนำมันก็ไม่ได้แย่ แล้ววิธีที่เราใช้ก็อาจจะไม่ได้เวิร์กกับทุกวง แต่มันดันเวิร์กกับเรา มันลงตัวกับคาแร็กเตอร์เพลงเราพอดีมั้ง ตอนแรกเราก็ไม่ได้จะไปทางแมสอยู่แล้ว ก็เลยทำเองได้ ไม่ต้องโปรโมตแบบนั้น พอทำไปทำมาเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าหลัง ๆ มามันเคาะเร็ว มันประชุมแค่สามคน ไม่ต้องเข้าตึก ไม่ต้องพรีเซนต์ ไม่ต้องรอสลอต ถ้าเราสามคนโอเคคือรออาร์ตเวิร์กมาแล้วปล่อยเพลง ก็เลยยังสนุกที่ทำเองอยู่

ได้ศึกษาการทำงานหรือการโปรโมตของค่ายหรือศิลปินคนอื่น ๆ ยังไงบ้าง

เอ: แรก ๆ เราอินดี้จัด ๆ เลยนะ (ดอย: พอเสร็จก็คือจะปล่อยเลย) เราไม่อยากให้คนเห็นหน้าเราด้วยซ้ำนะ เพราะว่าเราอยากให้เพลงมันสร้างคาแร็กเตอร์เราก่อน

ยี่: หลัก ๆ เรามุ่งไปออนไลน์มากกว่า ไม่ค่อยมีไปเดินสายวิทยุ เหมือนไม่ใช่ทางเรา เคยลองทำแล้วก็ไม่เวิร์กด้วย

ดอย: หลัง ๆ เรียนรู้จากคนอื่นบ้างว่าคนอื่นเขาทำอะไร ก็มาปรับใช้บ้าง

เอ: แต่เราก็โชคดี เพื่อน ๆ หรือผู้ใหญ่ในซีนเราก็รู้จัก เราก็ถามเขาเสมอว่าอยู่ค่ายเป็นไง เขาทำอะไร แล้วคิดว่าวิธีไหนถ้าทำกับเราแล้วมันเวิร์ก เราก็ดูดมาทำด้วยเหมือนกัน แต่หลัก ๆ จะเน้น engagement ออนไลน์มากกว่า เอาเพจไปตอบ เอาเพจไปกดไลก์ ช่วงแรก ๆ ที่เราทำวง ศิลปินช่วงนั้นจะไม่ค่อยตอบเมนต์เลย เหมือนทำตัวให้ห่าง ๆ หน่อยมั้ง แต่เราสวนกระแส เราเอาเพจเราไปคุยก็รู้สึกใกล้ชิดกว่า

เป้าหมายการทำวงช่วงแรก ๆ กับตอนนี้ เหมือนหรือต่างกัน

ดอย: ตอนแรกก็แค่อยากมีวง มีผลงานของตัวเอง ตอนนี้ก็ 8 ปีแล้ว ก็อยากจะทำอัลบั้ม 3 ให้มันดีขึ้นจากสอง อัลบั้มแรก สำหรับผมเป้าหมายก็ประมาณนั้น ก็อยากจะเล่นดนตรีต่อไป เหมือนเป็นความฝันตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว ตอนนี้ก็ได้มาทำแล้ว ก็อยากจะยืนระยะให้ได้นาน ๆ แล้วก็ทำงานให้เจ๋งขึ้นได้เรื่อย ๆ

เอ: ผมว่าเป้าหมายไม่ค่อยเปลี่ยน ก็คือคุณภาพดนตรีอันแรก แล้วก็อย่างที่ดอยบอกคือยืนระยะ… ก็คือเป้าหมายเดิมแหละครับ เราพยายามจะเติบโตไปเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่เราอยากเป็น ณ โมเมนต์นั้นว่าเราอินอะไร อยากเป็นอะไร อยากฟังแบบไหน ก็ทำออกมาให้ได้แบบนั้น

ยี่: อยากเป็นวงที่อยู่ได้กับคนทุกเจเนอเรชัน ทำเพลงที่มันไม่มีความรู้สึกว่าเพลงนี้เก่า อยากให้เป็นเพลงที่อยู่ได้ทุกยุคทุกสมัย เป็นเพลงที่เราชอบ

เอ: อยากแก่แล้วรู้สึกว่ายังร้องได้โดยไม่รู้สึกจั๊กจี้ ไม่เขิน อยากใช้ภาษาที่เป็นตัวเอง

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้วงนึงอยู่ได้นาน

เอ: อย่างแรกสุดคือต้องค้นคว้าเยอะ ๆ เราเป็นศิลปินเราจะรู้ว่ามันจะเจอทางตันแทบจะตลอดเวลา ผมว่าที่เขาล้มเลิกกันเพราะเขาหาจุด B ไป C C ไป D ไม่เจอ สุดท้ายคนฟังดนตรีก็รู้ว่ามันสะเปะสะปะ ดูเจตนาออก แต่พอมันจะทะลุไปจุดนึง เราต้องหาให้เจอว่าเราจะไปพัฒนาต่อไปทางไหน สำหรับเราเราเจอนะ เราเนิร์ดกับดนตรีตลอด เรารู้ว่าเราอยากจะทำอะไร แล้วมันก็สนุกเสมอ แต่แน่นอนมันผ่านช่วงที่ ‘แล้วเราจะไปไงต่อ’ มาเหมือนกัน คือช่วงก่อนที่เราจะทำอัลบั้มนี้แหละว่า เราจะกลับไปทำซาวด์เดิมดีไหม หรือจะไปทางไหนดี ตอนช่วงโควิดเราก็ได้คำตอบว่าเราอยากทำอะไร เราเจอเอเลเมนต์ที่เราอยากจะเป็นแล้ว เราว่ามันต้องศึกษาตลอดเวลาถึงจะยืนระยะได้

สปอยล์อัลบั้มใหม่หน่อย

ดอย: เราเพิ่งทำเสร็จไปเพลงนึง ไดเร็กชันอัลบั้มสามก็ยังหากันอยู่ ก็เป็น Safeplanet แหละที่มีเพอร์คัสชัน มีคอรัส แต่ก็อยากทำให้มันโมเดิร์นขึ้น

เอ: โมเดิร์นแบบเก๋า ๆ ช่วงนี้ผมกลับไปฟังพวกเก่า ๆ Dire Straits, Mark Knopfle, Steely Dan อยากรู้วิธีคอมโพสแบบโน้ตน้อยลง เน้นซาวด์มากขึ้น ให้มันน้าขึ้นแบบ Eagles ที่เท่ ๆ หน่อย เอามาทำใหม่ในแบบของเรา เล่นน้อยลง ลดความบ้าคลั่งลง เก๋าขึ้น ทำให้มันคมขึ้น

รู้สึกยังไงที่เราเคยเป็นวงเล็ก ๆ ที่เติบโตมามีคนรักมากมายขนาดนี้

เอ: ดีใจครับ รู้สึกว่าน่าจะตายได้เลย แบบ โอเคแล้ว สบายใจแล้ว รู้สึกดีมากกับปัจจุบัน รู้สึกโชคดีมีแฟนเพลงซัพพอร์ต จังหวะดี แล้วอันที่จริงเราก็ขยันจริง ๆ

ยี่: รู้สึกดีอยู่แล้วล่ะครับที่มีคนชอบ แฟนเพลงทุกคนสำคัญกับเรามาก ๆ ถ้าเราทำเพลงแล้วไม่มีคนซัพพอร์ต ไม่มีคนฟัง ไม่มีใครมาดูคอนเสิร์ต มันก็คงจะไม่มีความหมายขนาดนี้ ก็รู้สึกภูมิใจที่ตัวเองทำได้ มีคนชอบ แล้วก็จะทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อย ๆ

ดอย: ดีใจครับ เพราะมันก็เป็นช่วงเวลานึงที่นานเหมือนกัน รู้สึกขอบคุณทุกคนด้วย เขาที่เป็นแฟนเพลงอยู่กับเรามาตั้งแต่ตอนแรกแล้วทุกวันนี้ก็ยังเป็นแฟนเพลงเราอยู่ แล้วก็มีคนใหม่ ๆ เข้ามาเยอะ ก็รู้สึกว่าเป็นครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้มีใครจากไปไหน

เอ: ต้องขอบคุณมาก ๆ ความที่เราเป็นวงอินดี้ การซัพพอร์ตเราได้ทุกบาททุกสตางค์จริง ๆ มันเข้าเราโดยตรงเลยแทบจะ 100% ด้วยซ้ำ เป้าหมายต่อไปก็คงทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดแหละ ตอนนี้มันดีแล้ว แต่อนาคตก็อยากให้มันดีขึ้น วงก็เก่งขึ้น มีฐานที่แข็งแรงขึ้น สัญญาได้ว่าจะทำให้ดีต่อจากนี้

คิดเห็นยังไงที่วงอินดี้ถูกพูดถึงในเมนสตรีมมากขึ้น อย่างล่าสุดรายการ T-Pop Stage ก็พูดถึง

ดอย: ก็ดีครับ เพราะจริง ๆ วงการดนตรีมันก็ต้องการความหลากหลายอยู่แล้ว ก็ดีใจที่วงแต่ละแนวได้มีพื้นที่ หรือมีโอกาสมากขึ้น ก็ยินดีกับทุกวงด้วย ตอนนี้มันเป็นยุคอินเทอร์เน็ตด้วยแหละ ทุกคนก็มีโอกาสได้แสดงผลงาน ถ้าขายของดีจริงก็จะได้รางวัลไป

เอ: มันเท่าเทียมกันมากขึ้น ดนตรีทุกแบบคือเป็นแมสได้เลย ไม่ว่าจะแดนซ์ บอยแบนด์ หรือ T-pop อินดี้ อัลเทอร์เนทิฟร็อก มันเป็นยุคที่หลากหลายมาก ๆ คนได้เลือกเอง มันไม่เหมือนยุคเราเด็ก ๆ ที่เราโตมากับทีวีหรือวิทยุที่เรามักจะชอบทุกวงที่เขาเปิดให้เราฟัง แต่ยุคนี้เราสามารถคัสตอมเองได้เลยว่าเราอยากฟังแนวไหน

แต่สำหรับวงอินดี้เราว่ามากันไกลมาก เมื่อก่อนมันไม่มีวงอินดี้ทัวร์ร้านเหล้า เราจะอยู่แค่ไลฟ์เฮาส์ เฟสติวัล เล่นงานฟรีเยอะ ช่วงแรก ๆ ที่เราเข้ามาก็เป็นแบบนั้น สมัยที่เราเล่น Play Yard แต่สมัยนี้เราเห็นน้อง ๆ ไปทัวร์ได้นอกประเทศเลย มีที่ให้เขาเสมอ ก็รู้สึกดีที่ได้อยู่ถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนนี้

ดอย: ใช่ แล้วก็บางวงได้ไปต่างประเทศด้วย เดี๋ยวนี้มัน worldwide มากขึ้น ทุกคนมีโอกาสมากขึ้น

เอเลี่ยน ดอย และยี่ Safeplanet

แล้ว Safeplanet อยากไปต่างประเทศบ้างไหม

เอ: อยาก แต่อยากไปด้วยภาษาไทยมากกว่า ก็มีคนติดต่อมาบ้าง ไปเล่นญี่ปุ่น ไต้หวัน แต่ไม่ได้คาดหวังมาก มีแฟนเพลงนิดหน่อย ซึ่งสำหรับเราถือว่ามันดีมากแล้วกับการที่ 3-4 คนที่เข้ามาทักหรือขอถ่ายรูป แต่เราอยากโกอินเตอร์ด้วยภาษาไทยมากกว่า เราว่ามัน exotic ดี เวลาวงญี่ปุ่นมาเล่นที่ไทย เราก็ไม่ได้อยากให้เขาร้องภาษาไทย เราอยากฟังภาษาเขา ก็อาจจะเป็นไปได้ก็ได้ว่าเขาอยากฟังภาษาเรา แต่ก็แน่นอนว่าประเทศเรามันไม่ได้อยู่ในเขตสากล ก็ไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่

ดอย: แต่เพลงภาษาอังกฤษก็อยากมีนะ ในอนาคตก็อาจจะมี เพราะว่าก็อยากลองทำเพราะมันก็น่าสนใจ

เอ: แต่ตอนนี้เรากำลังแฮปปี้กับการอยู่แถว ๆ นี้เหมือนกัน เราได้กลับบ้านนอน ได้กลับมาหาแมวทุกวัน ไม่ต้องเจ็ตแล็ก ก็สนุกดี อยู่กับครอบครัว

สรุปแล้วเรายังมีพื้นที่แบ่งระหว่างอินดี้กับเมนสตรีมไหม เพราะบางวงป๊อปในค่ายบางวง ตอนโปรโมตก็เรียกตัวเองว่าเป็นอินดี้

เอ: คนไทยส่วนใหญ่จะเรียกแบบนั้นมั้ง ไม่รู้เขานิยามคำว่าอินดี้ว่ายังไง หลาย ๆ วงยังโดนเรียกเป็นอินดี้อยู่ อย่าง Polycat ก็ยังโดนเรียกเป็นอินดี้อยู่เลย (The COSMOS: เพราะเขาไม่ได้ทำทำนองแบบไทยป๊อปหรือเปล่า) เป็นไปได้ อะไรที่แปลกไปจากป๊อปไทยเบสิก เขาจะเรียกเป็นอินดี้หมด แต่สำหรับเราวงอินดี้ก็คือวงที่ทำกันเอง จริง ๆ มันไม่มีแนวอินดี้ป๊อปอยู่แล้ว อินดี้ป๊อปคือวงป๊อปที่ทำกันเอง จะเป็นป๊อปแบบแมสก็ได้ นิยามยากเหมือนกันสำหรับที่นี่

การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากเทป ซีดี มาสตรีมมิง ส่งผลกับวงยังไงบ้าง

ยี่: ก็ส่งผลเยอะนะครับ เห็นชัดว่าตอนแรกคนฟังใน YouTube แทบจะทั้งหมดเลย Joox กับ Spotify คนยังฟังไม่เยอะ เมื่อก่อนมี Spotify ก็ไปดูพวกวงต่างชาติ ร้อยล้าน monthly listeners เรางงว่าคนใช้เยอะจริง ๆ หรอวะ สุดท้ายมาไทย พอมันผ่านไปเราก็เห็นว่าคนฟัง Spotify กันเยอะขึ้นจริง ๆ monthly listeners บางวงล้านสองล้านแล้ว จริง ๆ มันก็ดีนะ เหมือนทุกคนมีสื่อในมือ จะเลือกฟังใครก็ได้ ไม่มีใครบังคับให้เราฟังใครได้อีกแล้ว อย่างมากก็แค่เพลย์ลิสต์ที่ traffic เยอะเฉย ๆ แต่จะฟังใครก็เป็นสิทธิ์ของผู้ฟังเลย มันเจ๋ง

ดอย: เราก็โตมากับเทปซีดีเนอะ ในด้านยอดขายเมื่อก่อนศิลปินก็อาจจะได้เงินจากตรงนั้นเยอะ พอตอนนี้มันมีสตรีมมิง ข้อดีของมันคือโอกาสของคนที่จะได้ฟังเพลงเราก็ง่ายขึ้น แชร์กันเร็วขึ้น แต่สำหรับผมก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมาก เดี๋ยวนี้ทุกคนฟังสตรีมมิงกันหมดแล้ว

เอ: เราไม่ได้ขาย physical ได้เยอะ ๆ ด้วยอะ ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันกระทบเรา แต่เราว่ามันดีกับเด็กรุ่นใหม่ ที่เพลงมันถูกแปลงเป็นดิจิทัลแล้วมันทำเงินได้หลายทางมาก ๆ ดาวน์โหลด ริงโทน สตรีมมิง YouTube Spotify แยกหมด หรือใน TikTok กับ Instagram ถ้ามีคนเอาเพลงเราไปใส่ Reels เราก็ได้เงินนะ มันค่อนข้างมีหลายทาง น่าจะได้เยอะกว่า physical ด้วยถ้าไม่ได้ขายได้ล้านแผ่น

ดอย: คนที่เก็บ physical ก็น่าจะเป็นแฟนเพลงจริง ๆ จำนวนนึงครับ หลาย ๆ คนก็ยังคิดถึงฟีลแบบนั้นอยู่ แผ่นเสียง เทป ซีดี แต่ผมว่ามันก็ดีทั้งสองทาง

พูดถึงยอดสตรีม คิดว่าวงอินดี้เล็ก ๆ ที่เกิดใหม่ก็มีความท้าทายตรงนี้ คิดว่าทำยังไงเพลงของเขาถึงจะถูกได้ยิน เพราะอย่างที่บอกว่าผู้ฟังเลือกบริโภคได้มากขึ้น จะมาเริ่มอะไรที่ไม่คุ้นทำไม

เอ: ผมว่าเขาต้องรู้จักตัวเองก่อน เราว่าจะทำเพลงให้มันรู้สึกว่ามันดี ต้องมีหูที่ดีก่อน ฟังแบบเป็นกลาง อย่างเราก็เอาความรู้สึกที่เราชอบเพลงอะไรก็ได้ที่เราฟัง เราฟังแล้วขนลุก รู้สึกดี เรารู้สึกแบบนั้นกับเพลงเราบ้างหรือเปล่า ถ้ามีเซนส์ตรงนั้น มองตัวเองแบบตรงไปตรงมา บางทีมันก็เป็นไปได้ เราเห็นจุดบอดเราไหม คุณภาพดีหรือยัง เมโลดี้ดีหรือยัง ซึ่งมันก็ปัจเจกมาก ๆ ว่ามันดีกับเรา แล้วมันดีกับคนอื่นไหม สุดท้ายก็ต้องลุ้นอีกทีว่าคนจะชอบหรือเปล่า… วิธีจะไปให้คนเห็นมันเหมือนจะง่ายขึ้น แต่มันก็ยากขึ้น เพราะว่าเพลงเต็มไปหมดเลย

ยี่: อะไรที่ทำได้ก็ทำให้หมดอะ

เอ: สุดท้ายต้อง unique นะ ต้องเด่นออกมาให้ได้ มันก็น่าจะเหมือนหลักการทำธุรกิจ ถ้าเราเปิดร้านขายไก่ทอดข้าง KFC เราจะให้เขามากินไก่เราได้ไง มันมีเหตุผลอะไร ทำไมถึงต้องเลือกฟังวงเรา เรามีอะไร ไล่เหตุผลมาทีละข้อได้ไหม เราตอบตัวเองได้หรือเปล่าว่าเพราะอะไร เรามีอะไรที่คนอื่นไม่มีแล้วเขาถึงต้องมาฟัง ถ้าเรามีเมโลดี้ มีริธีม แค่นั้นก็ผ่านแล้ว เราขายได้นี่หว่า ถ้าตอบไม่ได้ก็จะยากหน่อย ต้องถามตัวเองก่อน

สิ่งที่อยากเห็นในซีนตอนนี้

ดอย: อยากเห็นหลังคาได้ไหม? หลังคาตามเฟสติวัล คนทำงานทำงานยากจริง ๆ แดดออกก็ร้อน เวลาฝนตก ทุกอย่างต้องหยุด ไฟอาจจะช็อตก็ได้ โชว์ก็อาจจะต้องชะงัก แต่ถ้าเกิดในวงการดนตรีเรามีมาตรฐาน ผมว่าทุกคนจะแฮปปี้ทั้งคนทำงานเบื้องหลัง ศิลปิน คนดู ผู้จัด ผมว่ามันก็น่าจะ win-win ทุกฝ่าย

เอ: เราก็อยากให้มาตรฐานมันดีขึ้นแหละ ทั้งความปลอดภัย แล้วก็อยากให้มันเอื้อกับทีมงานทุกคน

เอเลี่ยน ดอย และยี่ Safeplanet

เป็นไปได้ไหมว่าเป็นเพราะหลาย ๆ คนวิ่งเข้าหาธุรกิจดนตรีแบบไม่ได้มีความรู้หรือใส่ใจขนาดนั้น

ดอย: อาจจะไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ได้ว่าใครนะครับ เขาอาจจะลงทุนมาให้งานมันเกิดผลกำไรหรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่ด้วยดีเทลพวกนี้ คนในวงการอย่างพวกเราก็จะคุยกันบ่อย ๆ

เอ: เราอยากให้มีเวนิวแบบที่วงเล็ก ๆ ไปเล่นได้มีเยอะขึ้น เพราะว่าเขาก็ต้องค่อย ๆ สร้างคอมมิวนิตี เราว่ามันต้องไปเจอคนแบบที่เราเคยอยู่ Play Yard อยู่หลาย ๆ ที่มา

ยี่: อยากให้ทั้งเวนิวเล็กและใหญ่ใส่ใจอะคูสติก เพราะว่าตอนนี้เวลาคนจะจัดคอนเสิร์ตก็ต้องเป็นสนามกีฬาที่เรื่องเสียงมันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แม้กระทั่งที่ใหญ่ ๆ ซาวด์มันก็ไม่ได้ดีถ้าเทียบกับต่างประเทศที่เขามีอารีนาที่คิดเผื่อเรื่องนี้มาแล้ว แต่ผมก็เข้าใจนะว่ามันเป็นการใช้เงินที่เยอะ

ชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงกันบ้าง อย่างเอก็เพิ่งแต่งงาน

เอ: ก็น่าจะเหมือนเดิมเลยนะ เหมือนปิดแชปเตอร์นึงของวัยรุ่นได้แล้ว ตอนนี้ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความมั่นคงให้ตัวเอง

ยี่: ก็เรื่อย ๆ ครับ จัดคอนเสิร์ตมันเหนื่อยจริง แต่ก็ยังสนุกอยู่ เพราะยังไม่แก่

ดอย: ชีวิตช่วงนี้เข้มข้นครับ ก็เหนื่อยกายแหละเพราะทำคอนเสิร์ต แต่รู้สึกว่าสมองหรือจิตวิญญาณก็ค่อย ๆ โตขึ้นเพราะได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง ได้เล่นเพลงเก่า ๆ ได้กลับไปรู้จักตัวตนเดิม บางอย่างที่ลืมไปแล้ว แล้วก็เหมือนได้เจออะไรใหม่ ๆ มันก็ดีแหละ

สุดท้ายแล้ว ชวนแฟนเพลงมาซื้อบัตรโค้งสุดท้ายหน่อย

ดอย: อยากเชิญชวนทุกคนมาดูนะครับ บัตรเหลือไม่กี่ใบแล้ว นาน ๆ ทีที่วงอินดี้จะได้ขึ้นธันเดอร์โดม พวกเราก็ถวายชีวิตทุกอย่างเท่าที่มี ก็อยากทำให้มันดีที่สุดในทุก ๆ ด้าน ใครว่างก็เรียนเชิญนะครับผม อยากให้มาสัมผัสประสบการณ์นั้นไปด้วยกัน ทั้งแฟนเพลงเก่า แฟนเพลงใหม่ หรือใครที่อยากจะ ว่าง ๆ อยากมาดูดนตรี ผมว่าน่าจะเป็นค่ำคืนที่สุดยอด

ยี่: เรียนเชิญครับ ถ้าใครที่เคยมาดูหรือไม่เคยมาดูครั้งก่อน ๆ ที่พวกเราเล่น ไม่ว่าจะในเฟสติวัลหรือต่างร้าน ครั้งนี้มันจะดีกว่าทุกครั้งแน่นอน ดีที่สุดตั้งแต่เคยมีวงมา แล้วก็อย่าลืมซื้อบัตรนะครับ ตอนนี้เหลือแค่ Standind A ที่แอปพลิเคชันหรือในเว็บไซต์ The Concert นะครับ

ใครยังไม่ตัดสินใจซื้อบัตร รีบตอนนี้ก่อนหมด อดแล้วจะเสียใจ https://www.theconcert.com/concert/2292

Safeplanet BON VOYAGE The First Arena Concert
+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy