‘KHUN PRA! 東福’ อาจจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่ว่าดนตรีไม่มีพรมแดนจริง ๆ โปรเจกต์คอลแลปส์กันครั้งแรกของ FORD TRIO ฟังก์ไทยหัวใจกรูฟ กับ Mong Tong ดูโอ้สายทดลองจากไต้หวันที่ตามหาซาวด์อันเหนือธรรมชาติไปทั่วเอเชีย พวกเขาช่วยกันก้าวข้ามความเชื่อคร่ำครึและคืนชีวิตให้กับเครื่องดนตรีไทยเหล่านี้ ให้มันได้ทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง
การเข้า Jam Session ครั้งนี้ เหมือนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันกลาย ๆ ผ่านเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากลเพื่อตามหาเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกมัน ทำให้เกิดซาวด์แบบ ‘ไทย-ไท’ ขึ้นมา กลายเป็น 4 เพลงที่ท้าทายขอบเขตของดนตรีหลากหลายแขนงในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
Transmission ครั้งนี้ ทั้งสองวงจึงอยากแชร์ความรู้สึกในการทำ EP นี้กับทุกคน ถึงแรงบันดาลใจและเบื้องหลังความสนุกของ EP นี้ จนคุณอาจจะอุทานออกมาว่า คุณพระ! เลยก็ได้
อัลบั้ม KHUN PRA! 東福 มีคอนเซปต์หรือมีแรงบันดาลใจจากไหน
FORD TRIO: โปรเจคนี้เป็นไอเดียของเจ้าของค่าย (พี่เก่ง) และ Executive producer ของค่าย (พี่เหลิม) โจทย์ของอัลบั้มคุณพระคือ เป็นอัลบั้ม experimental กับวง Mong Tong ซึ่งเป็นงงาน Collab เราก็เลยวางแผนทำงานร่วมกันโดยแบ่งเป็น 2 พาร์ท คือ ฝอดตรีโอ้ขึ้นเพลง 1 และ Mong tong ขึ้น 1 เพลง และส่งทำงานกันแบบออนไลน์ อีกพาร์ทนึงคือ Mong Tong มาที่ไทยเลยจัด Jamming Session โดยเอาเครื่องดนตรีไทยมาด้วย แต่วิธีใช้คือไม่ได้คิดว่ามันเป็นเครื่องดนตรีไทย เรามองแค่ว่ามันทำเสียงอะไรได้บ้าง และ Improvise เล่นมันไปเลย โดยเป็น track แจมเครื่องดนตรีที่เราไม่ได้รู้จักมันเลย รู้แค่ว่ามันทำเสียงอะไรได้บ้าง จากนั้น Mong Tong ก็นำไปประกอบร่างเกิดเป็นเพลงขึ้นมา
Mong Tong: นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้มาโชว์ที่ไทยและได้คอลแลปส์กับศิลปินไทย มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสุด ๆ พวกเราสนุกกับการสำรวจไปทั่วเมืองกรุงเทพ ทั้งสตูดิโอทำเพลงและบรรยากาศ สำหรับเราแล้ว อัลบั้มนี้ได้แรงบันดาลใจอันล้นเหลือมาจากการใช้ชีวิตที่นี่และจากเพื่อนใหม่ ๆ ด้วย
ถ้าต้องแปลชื่ออัลบั้ม KHUN PRA! 東福 ให้แฟนเพลงในประเทศของตัวเองฟัง ทั้งสองวงจะอธิบายยังไง
FORD TRIO: ตอนนั้นเราต้องการคำสั้นๆ ที่สามารถสื่ออารมณ์ได้ ประกอบกับ Mong Tong ชอบเรื่องผีสางนางไม้มากตอนมาไทย ก็เลยได้คำว่า ‘คุณพระช่วย’ มา ซึ่งสื่อถึงความตกใจ เราเลยย่อออกมาเป็น ‘คุณพระ’
Mong Tong: เหมือนที่ชื่อ EP KHUN PRA! 東福 ทำให้เห็นภาพความเป็นไทยและความเป็นจีนแมนดาริน พวกเราก็อยากให้คนฟังได้รับประสบการณ์ผ่านวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันไม่ใช่แค่ผ่านเสียงดนตรี แต่ยังรวมถึงความงดงามของภาษาและการออกเสียง ด้วยการพูดผ่านเสียงในภาษาที่เราคุ้นเคย
จะนิยามแนวดนตรีในอัลบั้มนี้ยังไงดี
FORD TRIO: ก็จะใช้คำว่าเป็น Experimental ก็ได้ครับ โดยที่ FORD TRIO ก็เป็นวง pop แหละ ก็มีทั้งเพลงทดลอง และเพลงร้องที่ผสมกับ Element ของ Mong Tong
Mong Tong: Experimental Thai music, psychedelic funk, ร่วมถึงความเป็น folklore ผสมผสานกับดนตรีร็อก
Track by Track
Alright Alright
FORD TRIO: เราเอาเครื่องดนตรีไทยมาทำเป็น Instument และชื่อเพลงได้มาจากเสียงที่อยู่ห้องแจม ฝอดพูดขึ้นมาตอนแจมเสร็จว่า Alright Alright ประมาณว่าเห้ย พอได้นะเนี่ย!
Mong Tong: ระหว่างที่แจมเพลงแล้วอัดเสียงกันด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ตอนจบเพลงเราได้ยินเสียง “Alright, alright, alright…” ซึ่งลงตัวกับไวบ์ของมันพอดีจึงเลือกคำนี้มาใช้เป็นชื่อเพลง
R.I.P
FORD TRIO: เป็นเพลงที่ฝอดมีไอเดียไลน์กีต้าร์ และเอามาแจมกันในห้องซ้อม และได้ออกมาเป็นเพลงที่ธรรมชาติมากครับ
BNK
FORD TRIO: เป็น Session ที่ 2 ที่เราแจมกันต่อจากเพลงแรก มีจังหวะเร็วขึ้นมาหน่อย ส่วนชื่อเพลงต้องยกให้ Mong Tong เลยเพราะพี่แกเป็นคนตั้ง
Mong Tong: การแจมและการอัดเสียงทั้งหมดเราทำกันที่ Echo Sound Studio, ส่วนชื่อ “BNK” เหมือนเป็นความประทับใจและความหลงใหลที่เรามีต่อกรุงเทพ
WIND
FORD TRIO: เป็นเพลงที่เราเอา Demo ของ Mong tong มาแจมกันในห้อง แล้วก็คลอดออกมาเป็นเพลงนี้ครับ
ในอัลบั้มนี้ก็มีส่วนประกอบของเครื่องดนตรีไทยด้วย เราเลือกกันยังไงว่าจะใช้เครื่องไหน
FORD TRIO: เราได้มีครูดนตรีไทยเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งก็คือน้องแชมป์กับน้องบารมี เราก็ขนเครื่องดนตรีเท่าที่ขนมาได้ และเราก็เลือกจากคาแรกเตอร์ของเสียงครับ
Mong Tong: พวกเราไม่ต้องเลือกเลย เพราะทีมศิลปินขนเครื่องดนตรีไทยมาให้เยอะมาก พวกเขามีแม้กระทั่งเครื่องดนตรีที่เรายังไม่เคยได้ลองเล่น ซึ่งพวกเราดีใจมาก
แล้วถ้า FORD TRIO ต้องไปเล่นเครื่องดนตรีไต้หวันบ้างจะสอนหรืออยากลองเล่นเครื่องไหน
FORD TRIO: อยากเน้นไปที่เครื่องเคาะเพราะง่ายที่จะแจมครับ
Mong Tong: ก็ต้องเป็นวงเป่ยกวนเท่านั้น (Beiguan music เทียบกับไทยจะเหมือนวงมโหรี) วงเป่ยกวนประกอบด้วยเครื่องเคาะหลากหลายแบบ เครื่องเป่า และฆ้อง หวังว่าครั้งหน้าเราจะชวน FORD TRIO มาแจมกันที่ไต้หวันบ้าง
ทั้งสองวงชอบอะไรในตัวอีกวงมากที่สุด
หมอ FORD TRIO: ผมชอบความขยันของสองพี่น้องนี้ แม้มีเวลาไม่มากแต่เขารีดไอเดียกับเวลาที่มีจำกัดได้ดีมากครับ
ฝอด FORD TRIO: ผมชอบความหลงไหลในดนตรี experimental music ของเขาครับ
เจมส์ FORD TRIO: ผมชอบความซื่อสัตย์ในการแสดงสดของพวกเขามากครับ พวกเขาไม่ดื่มด้วย ไม่เหมือนผม
Mong Tong: สำหรับเราแล้ว พวกเราสนุกกันสุด ๆ ที่ได้คอลแลปส์กับ FORD TRIO ฟังก์กรูฟของพวกเขาทั้งคึกครื้นและมีเอกลักษณ์ ไทยฟังก์จากยุค 70 เป็นที่นิยมในฝั่งตะวันตกมากตอนนี้ อดใจไม่ไหวที่อยากให้โลกได้รู้จักวงไทยฟังก์แบบนี้แล้ว
คิดว่าไทยและไต้หวันเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง
FORD TRIO: ผมว่าคนรุ่นใหม่มีความเหมือนกันนะ ดูรักสนุก มีวินัย ใส่ใจการเมืองเหมือนกัน และอาหารก็อร่อยเหมือนกัน
Mong Tong: ใกล้เคียงกัน ทั้งสภาพอากาศ แนวคิดเรื่องอาหาร การจราจร และความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับศาสนา เราถึงรักเมืองไทยและรู้สึกเหมือนที่นี่เป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง
ติดตาม FORD TRIO ได้ที่ Facebook และ Instagram
ติดตาม Mong Tong ได้ที่ Facebook และ Instagram
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา