Julian Cary ถ่ายทอดการรับรู้และเข้าใจในวัฏจักรชีวิต ผ่านงานอิมเพรสชันนิสม์ ‘Still Life For Small Ensemble And String Sextet’

by Montipa Virojpan
354 views

Writer: Montipa Virojpan

“ไหนจูลองเทสต์เสียงหน่อย”

“…ฮาโหล พันพรื้อ พีพี่แหล่หน่องน้อง”

จูเลี่ยน แครีย์ หรือ ‘จู’ ที่เพื่อน ๆ พี่น้องในวงการเพลงเรียกจนติดปาก เป็นศิลปินวัย 25  ปีจากเดนเวอร์ โคลาราโด ที่มาอยู่เมืองไทยหลายปีจนพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยคล่องปรื๋อ เขาเป็นครูสอนแจ๊สที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความสามารถโดดเด่นของเขาบวกกับอัธยาศัยเฮฮาทำให้ที่ผ่านมาจูเลี่ยนได้เป็นบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกซ้อมขับร้อง เสียงประสาน ไปจนถึงเรียบเรียงดนตรีให้กับศิลปินชื่อดังทั่วฟ้าเมืองไทยทั้ง เบิร์ด ธงไชย MILLI บิวกิ้น และยังทำเพลงประกอบภาพยนตร์ที่โปรดิวซ์โดยหว่องการ์ไวเรื่อง ‘One For the Road’ ของ บาส—นัฐวุฒิ พูนพิริยะ มาแล้ว

จูเลี่ยน แครีย์

ตอนนี้จูเลี่ยนกำลังเรียนปริญญาโทสาขาสังคีตวิจัยและพัฒนา แขนงการประพันธ์ดนตรีและเทคโนโลยี (Composition and Music Technology) ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเขาเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่อง ‘Impressionism in Music’

“ถ้าให้วาดรูปบ้านแบบ Realism (สัจนิยม) ทุกคนจะมองเห็นเหมือนกันว่าเป็นบ้านหลังหนึ่ง แต่ถ้าเป็นอิมเพรสชันนิสม์มันจะต้องเป็นการมองว่า บ้านนี้สำคัญสำหรับเรายังไง เป็นบ้านที่อยู่ตอนเพิ่งแต่งงานกับภรรยาไหม หรือเป็นบ้านที่อยู่ตอนคุณตาเสีย ซึ่งสองประสบการณ์จะทำให้เราจะมองบ้านหลังนั้นคนละแบบ สีหรือเส้นที่ใช้ตอนวาดมันเหมือนโดนบิดด้วยอารมณ์และความทรงจำ ดนตรีอิมเพรสชันนิสม์เองก็เหมือนกัน ต้องใช้ประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกที่นักประพันธ์เพลงมีในการมองสิ่งนั้น ๆ ณ เวลานั้น ถ่ายทอดออกมาเป็นเสียง แล้วพอมีชื่อเพลงหรือชื่อผลงานนั้น แค่คำนั้นคำเดียวหรือประโยคเดียว มันอาจช่วยให้คนอื่นเห็นภาพ อย่างเช่นเราทำเพลงร็อก เฮฟวี่ ดาร์ก ๆ แต่ตั้งชื่อเพลงนั้นว่า ‘บ้าน’ คนฟังอาจจะเดาได้ว่าที่บ้านเราเป็นยังไง ก็จะค่อนข้าง Subjective เพราะแต่ละคนก็มีประสบการณ์การรับรู้ที่ต่างกัน

“ถ้าทำเพลงเกี่ยวกับก้อนเมฆ สัจนิยมก็คงเอาลักษณะของก้อนเมฆมาเล่าเป็นเพลงตรง ๆ เมฆแบบไหน ตอนเช้า กลางคืน หรือตอนเย็น ฝนตกหรือเปล่า หิมะตกไหม แต่ถ้าทำเป็นอิมเพรสชันนิสม์ เราต้องมองว่าเมฆพวกนั้นทำให้เรารู้สึกประมาณไหน แล้วเราก็ต้องทำเพลงให้มีสีของความรู้สึกนั้น อย่างในเพลง ‘Nuages’ ของ Debussy เป็นอิมเพรสชันนิสม์ชื่อดังที่สุดในโลกดนตรี ‘Nuage’ แปลว่าก้อนเมฆ มันมีสัมภาษณ์หรือจดหมายที่ Debussy ส่งให้ Editor ของเขา โดยเล่าเกี่ยวกับเพลงนี้ว่า วันหนึ่งเขาเดินข้ามสะพานนึงที่ฝรั่งเศส พูดถึงเรือ เสียงหวูด สีของก้อนเมฆ สีของท้องฟ้าตอนนั้น พอฟังเพลงแล้วพอหลับตาก็เห็นเหมือนที่เขาบรรยายเลย ไม่รู้ว่าเพราะว่ามีชื่อเพลงด้วยหรือเปล่านะ ภาพก้อนเมฆสูง ๆ เหมือนพายุกำลังเข้า แล้วมันจะมีเครื่องโอโบแทนเสียงหวูดเรือ แต่เล่นเป็นทำนองปกตินะ ไม่ใช่แค่เอาเสียงมาหรือเลียนแบบเสียงโอโบให้เหมือนของจริง ไม่งั้นจะเป็นเหมือนซาวด์ดีไซน์เฉย ๆ”

และวันที่ 5 มีนาคม เวลา 17.00 – 18.30 น. จะมีการบรรยายประกอบการแสดงของเขาเอง (Lecture Recital) จัดขึ้นที่ GalileOasis ราชเทวี กับงานประพันธ์ที่มีชื่อว่า ‘Still Life for Small Ensemble and String Sextet’ จูเลี่ยนได้หยิบยกเอาความรู้สึกนึกคิดที่ได้จากการตกผลึกเรื่องราวในชีวิต ตีความออกมาเป็นดนตรีอิมเพรสชันนิสม์ความยาว 25 นาที โดยจะแบ่งออกเป็น 3 องก์ ไล่เรียงไปตามช่วงชีวิตต่าง ๆ ของเขาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เราเลยลองถามที่มาที่ไปว่าทำไมถึงเลือกเรื่องที่ซับซ้อนและส่วนตัวขนาดนี้ มาส่งเป็น Recital สำหรับหัวข้อที่อธิบายให้เป็นรูปธรรมได้ยากกว่าเดิมอีก

“เรามีแรงบันดาลใจเยอะ อัลบั้มแรกก็ทำเพลงเกี่ยวกับบทกวีที่ชอบมาก หรือช่วงนี้ฟังอัลบั้มล่าสุดของ Kendrick Lamar วันละรอบ มันดีเกินอะ แต่ก็รู้สึกว่าถ้าเราตามหาแรงบันดาลใจจากข้างนอกตลอดเวลา บางทีอาจจะหาไม่เจอ แต่ถ้าได้ตั้งใจคนึงถึงชีวิตของตัวเองสักหน่อย คือชีวิตของทุกคนอาจจะไม่น่าเอามาทำสารคดี มันอาจจะไม่ได้ Popular หรือ Commercial ขนาดนั้น ลองคิดดี ๆ จะมีหลายเรื่องที่น่าเล่า

จูเลี่ยน แครีย์

“ในสองปีที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้นึกถึงชีวิตตัวเองตั้งแต่เริ่มจำความได้ เป็นเด็กธรรมดาคนนึง อยู่บ้านที่มีแต่คนร้องเพลง เราก็มีปัญหาของเรา มีท้อแท้บ้าง มีประสบการณ์ไม่ดีค่อนข้างเยอะ แต่ในขณะเดียวกันในชีวิตก็ต้องมีประสบการณ์ดี ๆ เหมือนกัน พอนึกออกจริง ๆ มันมีสามช่วงใหญ่ ๆ ในชีวิต มีช่วงที่อยู่บ้าน ช่วงออกจากบ้านไปเรียน เรียนจบ แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แล้วก็จินตนาการไปถึงช่วงหลังจากนั้นว่าซาวด์ของชีวิตจูจะเป็นยังไง แต่ละช่วงมันก็จะมีสุนทรียะ เฉด หรือเสียงของช่วงนั้น ๆ โดยใช้ Reference จากเพลงที่เคยฟังตอนเด็ก เพลงที่ทำในช่วงนี้ แล้วก็พยายามหาเสียงที่ยังไม่ลอยเข้าหู

“จริง ๆ หัวข้อไม่ต้องยากขนาดนี้อะ (หัวเราะ) แต่พอเป็นอิมเพรสชันนิสม์แล้วให้ทำเพลงเกี่ยวกับธรรมชาติ หรือสวนหน้าบ้าน มันก็รู้สึกส่วนตัวไม่พอเพราะมันไม่ใช่เรื่องที่นึกถึงบ่อยที่สุด รู้สึกว่ามันต้องมี Privilege อยู่นิดนึงถ้าจะเดินสวนแล้วรู้สึกว่านี่คือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตอะนะ อาจจะถึงวันนั้นก็ได้ แต่ตอนนี้ ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยก็อยากทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับตัวเอง และคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผมและศิลปินอื่น ๆ บนโลกนี้คือนึกถึงความตายบ้าง ผมอยากให้ผู้ฟังได้มีอีกประสบการณ์นึง ถ้าเปิดเผยให้ทุกคนรู้ว่าเราเป็นใครทั้งหมด มันไม่ใช่สุนทรียะของศิลปะแล้วอะ หรือเล่นเพื่อขายเขาจะได้แค่สิ่งที่เขาอยากฟัง อะไรที่ฟังง่าย อะไรที่ค่อนข้างแฮปปี้ ถ้าเป็นเพลงเศร้าก็ต้องเป็นเพลงเศร้าในแบบของทุกคน มันมีเยอะมาก แต่นาน ๆ ทีจะมีใครพูดถึงความตายล้วน ๆ ผมสนใจเรื่องนี้มานานแล้วเลยคิดว่าเอามาเล่าสักหน่อยดีกว่า แล้วก็ชวนคนอื่นมาคิดด้วย

“เมื่อก่อน ผู้ดีที่มีออฟฟิศในบ้าน เขาจะเอากระโหลกคนมาวางบนโต๊ะ เป็นเครื่องประดับโต๊ะเฉย ๆ ทำไม เพื่อให้เขาไม่ลืมความตาย พอบางทีพอโฟกัสแต่ที่งานของเรา งานดี เงินเดือนสูง เราสบาย อาจจะทำให้ลืมว่าเราต้องตายทั้งที่มันเป็นเรื่องจริงที่สุดสำหรับทุกคน ความตายไม่ใช่เรื่องแย่หรือน่ากลัวขนาดนั้น ซึ่งถ้าตั้งใจคิดเรื่องนี้บ่อย ๆ อาจจะช่วยกำหนดทิศทางชีวิตของแต่ละคน แล้วมันจะเปลี่ยนลำดับความสำคัญในชีวิตของเราได้”

ใช้เวลาประพันธ์นานไหม

“โอมายก้าด น่าจะ 7 เดือนถึงเกือบ ๆ ปี เพราะไม่ได้ทำเวอร์ชันเดียวสมบูรณ์จบ มีหลายเวอร์ชันที่รู้สึกว่าดีมาก เพราะมาก แต่ภาพไม่ชัด หรือว่าภาพมันชัดเกิน ซึ่งเพลงนี้มันมีหลายเวอร์ชันที่รู้สึกว่าเบลอไม่พอ ใครฟังจะรู้เลยว่าจูฟังอะไรตอนเด็ก อยู่ที่ไหน รู้สึกยังไง อีกเรื่องของอิมเพรสชันนิสม์คือภาพต้องไม่ชัดเกิน สมมติเราวาดแก้วน้ำในสัจนิยม มันก็จะออกมาดูเป็นแก้วน้ำ แต่ในอิมเพรสชันนิสม์เราสามารถบิด ผสม หรือเบลอเส้นที่ทำให้มันดูเป็นแก้วน้ำน้อยลงก็ได้”

ทำไมถึงตั้งชื่อว่า ‘Still Life’

“เพลงนี้มีการเล่นคำเยอะในหัวข้อของแต่ละท่อน ‘Still Life’ (หุ่นนิ่ง) มันคืออะไรสักอย่างที่อยู่ต่อหน้าเรา เช่น รีโมตแอร์ (หยิบรีโมตขึ้นมา) เราต้องวาดรูปรีโมตแอร์ด้วยความสวยของรีโมตแอร์ ณ ตอนนั้น (หัวเราะ) แล้ว Still Life ของชีวิตอันนี้มันยากกว่าเพราะเราต้องมองชีวิตทั้งหมดของใครสักคนให้เป็น Object เดียว ซึ่งรู้สึกว่าพอเป็นการ Study สิ่งหนึ่ง มันเห็นทุกอย่าง ทุกมุมของมัน ทุกสีของมัน รู้สึกว่ามันคล้าย ๆ กับ Still Life มากกว่า Landscape แล้วก็คำว่า ‘Still’ (นิ่ง) มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม เอาเป็นว่า เป็นปรัชญาที่ทำให้จูยังรอดมาถึงทุกวันนี้

“ปกติวัฒนธรรมหลาย ๆ ที่ที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกอะ เราจะเน้นความสุขตลอด เรารู้สึกว่าการตามหาความสุขเนี่ยคือฮาวทูซึมเศร้าอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะความสุขมันอยู่กับเราตลอดไม่ได้ พอมีคนสนิทเสียชีวิต เราจะต้องรับมือกับความรู้สึกบางอย่างที่ไม่ดี ถึงเราจะเข้าใจเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ตายก็ยังเจ็บนะ เพราะคนเรายังมีความรักต่อกัน ถ้าเคยคุยกับเด็กนานกว่า 5 นาทีเราจะรู้เลยว่า โอ้โห โลกมีความสวยอย่างมากมาย แต่ถ้ามองแบบโลกสวยเลยก็ไม่เวิร์ก ถ้ามองแง่ลบ มองว่าโลกเลว ดาร์ก ไม่ดี ต้องมองข้ามสิ่งดีหลาย ๆ อย่างก็ไม่ดีเหมือนกัน แต่ถ้าอยู่ตรงกลาง เราสามารถรับเรื่องไม่ดีกับเรื่องดีได้ แล้วถ้ารับจนชิน เราจะมองว่าไม่มีดีหรือไม่ดี มีแค่ชีวิตที่เป็นวัฏจักรแค่นั้น บางทีมันต้องมีลำดับขั้นตอน มีระเบียบ มีความเลอะเทอะ ความโกลาหลในชีวิต กว่าจะได้ประตูที่อยู่ข้างหลัง จะต้องตัดต้นไม้ใช่ไหม ซึ่งต้นไม้นั้นอาจจะเป็นบ้านของนกหรือสัตว์อื่น ๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิต เลยรู้สึกว่าพอเอาคอนเซ็ปต์และปรัชญาของความนิ่งมาใช้ในชีวิตวันต่อวัน รู้สึกสบายตัวกว่าเดิม เหมือนเคยพูดในสัมภาษณ์อื่นว่าไม่ได้ชอบเมาความสุข เพราะมันทำให้ตาบอด เราไม่ได้เซ็งกับเรื่องไม่ดีจนลุกขึ้นมาไม่ได้ ต้องรับหมดเลยให้ได้ มันคือการใช้ชีวิตแบบ Still”

ทำไมถึงสนใจปรัชญา

“คือสงสัยมาตั้งแต่เด็ก สงสัยเหมือนกับคนอื่นแหละ ก็ที่บ้านน่ะ มีเพื่อนอยู่คนนึงชื่อแดเนียล เป็นมือเปียโนที่เล่นในอัลบั้มล่าสุดของผม ช่วงปิดเทอมเราจะนัดกันทุกวัน กินกาแฟแล้วเล่นโดมิโน คุยเรื่องปรัชญาศาสนาเหมือนคนแก่สองคนเพราะเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว ชอบนั่งอภิปรายกับเพื่อนตั้งแต่เช้าถึงมืดก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน บางทีทะเลาะกันจนแบบ หัวร้อนจริง ๆ อะ จนต้องแยกกันแล้วพรุ่งนี้ค่อยเอาอีกสักรอบนึง (หัวเราะ)”

จูเลี่ยน แครีย์

แดเนียลศาสนาอะไร

“เขาเป็นอีกคนที่น่าสัมภาษณ์มาก (หัวเราะ) ที่บ้านเป็นคริสต์นะ แต่เขาเป็นคนที่เข้าใจหมดเลย ได้ศึกษาเยอะกว่าจูอีก เลยรู้สึกว่าเขาไม่ได้มีศาสนาเดียว จูก็เหมือนกัน มันพูดยาก รู้สึกว่าไม่ได้มีแค่ที่ที่เดียวหรือศาสนาเดียวที่ต้องเป็นแบบที่ที่จูอยู่ โลกมันกว้างไป ถ้ามองจากมุมมองของศาสนาเดียวเราจะได้แค่มิติเดียวของโลก หลัง ๆ ผมเลยอยากจะเข้าใจว่าคนเราทั้งหมดเป็นไง ไม่ใช่ว่าพอรู้แล้วจะขึ้นสวรรค์ไปเจอพระเยซู  ถ้าคิดแบบนั้นมันจะมีอีกหลายอย่างที่มองไม่ค่อยเห็น ตอนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ หลายอย่างมันก็ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว อย่างศาสนาเนี่ย มันยังมีศาสนาในมุมมองของจิตวิทยา จิตวิทยาในมุมมองของปรัชญา ปรัชญาในมุมมองของสุนทรียศาสตร์ด้วย

“แต่คนเราก็ไร้ศาสนาไม่ได้เลย มัน Built-in อยู่แล้ว รู้สึกว่าคนไม่ได้เลือกศาสนาหนึ่งศาสนาเดียวเพราะมีความรู้เยอะ ก็ไม่รู้ว่าจะตามทำไม แต่ตามหาสิ่งนั้นเรื่อย ๆ อยู่ดีเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ พอต้องเลือกศาสนาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ ยิว อิสลาม พุทธ เราแค่เลือกอะไรที่สบายตัว แล้วจะไม่ค่อยตั้งคำถามเกี่ยวกับโลก เพราะเรามี Object ให้โฟกัส หรือไอดอล วงดนตรี มันคือศาสนาหมดเลย คือมันมี Group Identity มีความเชื่อว่า นักร้องคนนี้น่ารักมาก มีสถานที่ให้พบกันอย่างคอนเสิร์ตคือโบสถ์ ศิลปินคนนั้นก็เหมือนเป็นพระเจ้าของศาสนานั้น เพลงของพวกนั้นก็เหมือนเพลงสวดในโบสถ์ที่ทุกคนจับมือร้องด้วยกันได้ อะไรก็ได้ที่สร้างประสบการณ์ให้คนมีร่วมกัน”

เพลงใน ‘Still Life for Small Ensemble and String Sextet’ จะออกมาเป็นรูปแบบไหน

“พูดยาก คือถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นแจ๊ส มันคือการวาดรูป Realist เกินไป รู้สึกว่าภาพจำตอนนี้จูกลายเป็นครูสอนแจ๊สที่ศิลปากร มันก็จริงนะ แต่ผมรู้สึกว่าตัวผมมีมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่สิ่งที่ผมทำ การเป็นนักร้องแจ๊สมันเป็นแค่ความสนใจเดียว โลกของดนตรีมันมีอีกหลาย ๆ อย่าง และผมอยากทำหมดเลย ในปีที่ผ่านมาก็ได้ทำน่าจะหมดแล้ว มันเหลือไม่กี่วงการที่ไม่ได้แตะ แต่รู้สึกว่ายังไงจูก็เป็นจู ‘Still Life’ Subject คือตัวเอง ไม่ได้เป็นแจ๊ส ไม่ได้เป็นป๊อป ไม่ได้เป็นอะไรที่คนอื่นอยากให้เป็น ผมไม่ได้เกิดมาด้วยแจ๊ส เราไม่ได้ฟังแต่แจ๊สตอนนี้ หวังว่าคนที่มาฟังจะได้ยินทุกอย่าง ดนตรีทุกแนวที่ผมเคยชอบในชีวิต จริง ๆ เคยลองเปิดให้ที่บ้านฟังโดยไม่อธิบายว่าท่อนนี้เกี่ยวกับอะไร จนเขาเริ่มพูดออกมาว่าอันนี้ฟังแล้วนึกถึงคุณทวด นึกถึงสุนทรียะของบ้านเราแบบกว้าง ๆ ดนตรีอิมเพรสชันนิสม์มันไม่ได้บังคับให้ใครเห็นภาพอะไร แต่ชวนให้ทุกคนตั้งคำถามมากกว่า”

จูเลี่ยนเคยพูดว่าบริบทของดนตรีในอเมริกากับในไทยต่างกันสิ้นเชิง เลยพยายามทำความเข้าใจว่าคนไทยเสพดนตรีแบบไหน ตอนนี้เข้าใจแล้วหรือยัง

“เริ่มเข้าใจขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราไม่มีทางเข้าใจได้หมด คนเราจะแค่สงสัยว่าทำไมคนไม่ฟังเรา ทำไมคนไม่ค่อยเข้าใจ เลยต้องไปทำอะไรสักอย่างที่ทุกคนชอบพร้อมกัน  ไม่ใช่แค่ว่าศึกษาจากข้างนอก ต้องมาอยู่ข้างในเลย แล้วเราจะเข้าใจอีกวงการนึง เลยเข้าไปอยู่ในวงการฮิปฮอปบ้าง ป๊อปบ้าง แล้วก็ได้เรียนรู้ว่า… ความท้อมันไม่ใช่ส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมไทย ไม่มีอะไรที่ทำให้ทุกคน คนรวย คนจน ต้องไปลำบากอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มีสงคราม ไม่มีภัยธรรมชาติ ไม่มีฤดูอะไรที่ทำให้เราปลูกผัก ผลไม้ ข้าวไม่ได้ แล้วต้องกินแต่สิ่งที่เก็บตุนไว้ ที่นี่จะมีความติดสบาย มันมีหนทางให้เราได้เข้าถึงสิ่งดีตลอด ทะเลอยู่ตรงนี้นะ แม่น้ำอยู่ตรงนี้นะ กินกุ้งได้ 12 เดือน ไม่ต้องเผชิญกับความตายในแบบที่เอ็กซตรีมเหมือนยุโรปหรืออเมริกาในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งมันทำให้การมองมุมมืดในชีวิต หรือการที่เราจะมองอะไรที่ไม่ได้สร้างความบันเทิงให้เราได้เป็นเรื่องยาก”

จูเลี่ยน แครีย์

กำลังจะบอกว่าหลายคนติดกับอะไรที่คุ้นชิน สะดวก ย่อยง่าย?

“ใช่ แล้วความสะดวกมักจะสบาย อย่างถ้าให้เลือกระหว่างทางลัด กับทางที่ยากที่สุด เขาจะเลือกทางลัดตลอด เวลาไปเวิร์กช็อปแล้วมีคนถามว่า ‘เพลงบัลลาด เพลงแจ๊สช้า คอร์ดเยอะ ต้องจำยังไงให้ง่ายที่สุด’ เลยถามกลับว่า ‘แล้วทำไมต้องง่ายด้วยล่ะ’ ถ้าทุกอย่างมันง่าย มึงไม่มีวันพัฒนาแน่นอน ต้องเผชิญกับความยากสักหน่อย”

วงการเพลงอาจจะไม่พัฒนาเลยถ้าคนฟังไม่เปิดใจ

“ความเป็น Individual (ปัจเจก) มันเป็นพื้นฐานของสังคมตะวันตก ถ้าคนไหนคิดยังไง รู้สึกยังไง ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครเห็นด้วยก็จะพูด คือแนวคิดนี้มันดันส่งผลต่อดนตรีด้วยชัดมาก การอิมโพรไวส์ไม่ใช่แค่เล่นยังไงให้คนชอบ แต่มันคือมีเรื่องอะไรสักอย่างที่อยากจะเล่าให้คนฟัง แล้วคนจะมาเพื่อฟังเรื่องนั้น แล้วถ้าใครมาฟังแล้วไม่ชอบ ไม่จำเป็นต้องชอบก็ได้ เรามีสิทธิที่จะไล่เขาออกไปเพราะนี่คือวันที่เราจะเล่าเรื่องของตัวเอง แต่สังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น มันมีหลายอย่างแบบ สุนทรียะของสิ่งต่าง ๆ มันค่อนข้างโดนควบคุมตั้งแต่สมัยก่อนเลย มันจะมีวิธีแสดงออกแบบนึงที่สังคมคิดว่าดีที่สุดสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย หรือดนตรีก็มีซาวด์ซาวด์นึงที่คนคิดว่าสวย แล้วความเป็นปัจเจกในสังคมไทยก็โดนกลบจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นวัฒนธรรมที่เราต้องตามกระแส ตามคนอื่น Go with the flow ศิลปินที่กล้าแสดงออก เป็นคาแร็กเตอร์ตัวเองชัด ๆ หลายคนกำลัง Worldwide ถามว่ามีคนชอบไหมอะ มี แต่ไม่มีใครสักคนที่ไม่โดนด่า ไม่ได้โดนต่างประเทศด่านะ ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย ‘ทำไมแต่งตัวแบบนี้ มันแรดนะ’ มีคำวิจารณ์เยอะแยะที่อยากจะตีให้คาแร็กเตอร์ของเขาเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ ให้สวยสำหรับทุกคน เหมือนคนไทยไม่ค่อยชื่นชมเอ็นดูความเป็นตัวตนของคนอื่นถ้าเขาฉีกออกมา ไม่ได้มองว่ามันสวย แต่จะมองว่ามันแปลก ซึ่งศิลปะมันอยู่ไม่ได้ในสังคมแบบนี้ มันอยู่กับความเชื่อแบบนั้นไม่ได้”

คิดว่าจะดีขึ้นได้บ้างไหม

“ได้นะ แต่มันขึ้นอยู่กับการใช้เสียงของคนที่ปีนไปถึงจุดนั้นได้ ต้องกล้าพูดว่า ‘ไม่ กูเนี่ยเป็นกู กูรู้แล้วว่าผู้หญิงไม่ควรพูดไม่เพราะขนาดนี้ แต่นั่นคือความเชื่อของพวกมึง’ หรือ ‘นี่ผม ชอบฟังแนวนี้ ถึงรู้ว่าคนอื่นไม่ค่อยชอบ ผมอยากทำเพลงที่ผมชอบทำ’ นี่คือไม่ได้ดูถูกใครนะ (หัวเราะ) คนไหนที่เป็น Individual และประสบความสำเร็จ อาจจะพูดให้ชัด อธิบายให้ชัด กล้าพูด กล้าแสดงออก ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่เขาชอบจริง ๆ แล้วทำออกมาเรื่อย ๆ เขาไม่ได้ทำเพลงนี้ให้ถูกใจพวกเธอ พวกเธอควรชอบสิ่งที่เขาเป็น เราพบกันที่ Intersection นั้น อีกอย่างคือไม่มีคนไหนมีสิทธิที่จะ Look down คนอื่น ไม่ว่าจะแต่งตัวยังไง หุ่นแบบไหน ทุกคนต้องหาโอกาสเพื่อชี้ให้เห็นความสวยในความแตกต่าง ศิลปะมันจะรอดถ้าเราทำสิ่งนี้”

เรารู้จักจูเลี่ยนครั้งแรกตอนช่วงล็อกดาวน์โควิดรอบสามในฐานะครูสอนร้องเพลง ตอนนั้นทุกคนในวงการต่างรู้ซึ้งถึงความลำบากและต้องปรับตัวกันหนักหน่วง จูเลี่ยนก็เป็นคนนึงที่สู้และเปิดสอนออนไลน์โดยยอมลดค่าตัวลงมาเพราะอยากช่วยเหลือทุกคน จนถึงทุกวันนี้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ เรากับจูเลี่ยนก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เราพยายามหาโอกาสไปดูเขาร้องเพลงแจ๊สหรือเล่นดนตรีกับ The Photo Sticker Machine บ้าง สถานการณ์อื่น ๆ ก็ดีขึ้นราวกับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตอนนี้จูเลี่ยนมีงานเข้ามามากมาย และชื่อเสียงของเขาก็ไปไกลแบบฉุดไม่อยู่ ซึ่งเราดีใจกับเขามาก ๆ

“เราเคยใช้ชีวิตแบบเงียบ ๆ ช่วงโควิดเดือนเดียว ไม่ทำอะไรเลย แล้วรู้สึกว่าไม่เอาดีกว่า มันยากมากสำหรับทุกคน โปรเจกต์งานใด ๆ ที่มีตอนนี้อะ เพราะว่า มันเป็นความหวังของใครสักคนในอดีต หวังว่าเราจะผ่านเรื่องนี้ไปให้ได้เพื่อที่จะจัดงานนี้ เพื่อที่จะปล่อยอัลบั้มนี้ แล้วถ้าไม่ได้เริ่มผลิตผลงานใหม่ในช่วงโควิด อย่างน้อยความหวังนั้นมันก็ทำให้เขาอยากออกมาทำหลังทุกอย่างเป็นปกติ แต่ถ้าไม่มีความหวัง เราจะไม่มีอัลบั้ม คอนเสิร์ต หรืองานต่าง ๆ เพราะเราจะไม่เชื่อว่ามันมีโลกหลังโควิดอยู่”

สุดท้ายนี้ฝากชวนทุกคนมาดูงานของจูหน่อย

“มาเร็วเท่าที่ได้ เพราะจูไม่รู้เลย ทุกงานเป็นอย่างงี้ ถามว่าจะเอาเก้าอี้กี่อัน ก็บอกไปว่าซัก 70 แหละนะเพราะห้องนั้นมันมี 125 สรุปคนมา 150 คน (หัวเราะ) เหมือนทุกคนว่างพอดี งานนี้ไม่ได้จำกัดจำนวนแต่มาเร็วดีกว่า จะบอกว่า ฝากให้ทุกคนมาด้วยความเปิดใจสำหรับประสบการณ์ใหม่ ถ้าคาดหวังว่าจะได้ยินอะไรสักอย่าง ทิ้งความคาดหวังได้เลย พาเพื่อน ๆ พี่น้อง ลูก ๆ พ่อแม่ตายายมาด้วยนะ แล้วก็ขอให้ทุกคนฟังแล้วได้นึกถึงความนิ่งแทนความสุขสักที”

‘Still Life for Small Ensemble and String Sextet’ จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 17.00-18.30 น. ที่ GalileOasis ราชเทวี หากสนใจเป็นสปอนเซอร์งานนี้ เข้าไปที่ลิงก์นี้ได้เลย: https://forms.gle/2b4m4PhKCc4hHZ6d6

จูเลี่ยน แครีย์

Flower.far เมื่อเมล็ด r&b พันธุ์ไทยเริ่มผลิบานสู่สายตาชาวโลกอย่างงดงาม

‘When The Sky is Not Blue’ อัลบั้มที่ 3 ที่บันทึกการเติบโตในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจของ t_047

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy