หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็นคอเพลงโพสต์ร็อกไทย คุณอาจเคยได้ยินชื่อของ เจี่ยป้าบ่อสื่อ (Jia Pa Bor Sue) และผลงานมาสเตอร์พีซของพวกเขาอย่าง ‘Rainy Day’ มาบ้าง แต่นั่นคือเรื่องราวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะตอนนี้พวกเขาเปลี่ยนโฉมหน้าสมาชิกเกือบทั้งหมดเพราะต่างคนต่างแยกย้ายไปมีเส้นทางของตัวเอง แต่เจและวินซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นก่อนตั้งยังคงเดินหน้าต่อกับวงดนตรีนี้โดยฟอร์มทีมขึ้นใหม่พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น JPBS รวมไปถึงแนวคิดและวิธีการสร้างเสียงก็แตกต่างตามความสนใจที่เพิ่มเข้ามาวันเวลาที่ผ่านพ้นไป
สมาชิก JPBS
เจ—วัฒนกุลจรัส (กีตาร์)
วิน—ภุมรินทร์ (กลอง)
เหวด—เผือกเทศ (กีตาร์)
ตอง—พรหมมา (เบส)
เนม—เจริญธนนันท์ (ซินธิไซเซอร์)
แซน—พลศร (เพอร์คัสชัน)
‘Rainy Day’ ‘Moondog’ และ ‘4388’ เป็นเหมือนเรื่องเล่าบทแรก ๆ ของพวกเขา ส่วนเรื่องราวบทต่อไปที่ เจ และ วิน เริ่มเขียนขึ้นใหม่มาแล้วสักพักใช้ชื่อว่า JPBS โดยมีเพื่อน ๆ ที่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (SoA+D KMUTT) ได้แก่ เหวด ตอง และแซน ไปจนถึง เนม เพื่อนสมัยประถมของเจที่เคยเล่นดนตรีด้วยกันและแลกเปลี่ยนเรื่องดนตรีกันเป็นประจำอยู่แล้ว จับพลัดจับผลูกลับมาเจออีกครั้งหลังจบมหาลัย มาร่วมแต่งเติมเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้จะยังมีดนตรี instrumental rock ยึดพื้นที่ความสนใจเป็นหลัก แต่ประสบการณ์ก็ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับดนตรีอิเล็กทรอนิกและคลับมิวสิก ที่เจเล่าว่าเขากับเพื่อน ๆ ได้นำเอาวิธีคิดบางอย่างของมันใส่เข้ามาในเพลงด้วย
เจ: เราได้ทดลองวิธีการทำงานและการเขียนเพลงแบบใหม่ ๆ เหมือนเมื่อก่อนเราเล่นโพสต์ร็อก คนมาดูเราก็จะเป็นการก้มหน้าก้มตาฟัง เราอยากเปลี่ยนไวบ์ของโชว์ให้เรารู้สึกเอนจอย หรือไม่ว่ายังไงก็ตามต้องโยกหัวไปด้วย อยากให้รู้สึกเหมือนเพลงในคลับ ทั้งเสียง ทั้ง composition เราอยากให้คนเต้นไปกับเพลงในอัลบั้มนี้ได้
อะไรทำให้คลับซีนเป็นที่สนใจมากขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อนพอพูดถึงปาร์ตี้แล้วคนจะมองในแง่ลบไปหมด
เนม: เหมือนคนเปิดรับมากขึ้น การไปคลับมันต่างกับการไปคอนเสิร์ตไลฟ์เฮาส์ หรือคอนเสิร์ตเมนสตรีมระดับนึงเลย อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่มันไม่ได้เป็นแค่การฟังเพลง มันมี culture ในตัวเองนิดนึง เหมือนคนที่ไปก็อยากส่งต่อ ชวนกันปากต่อปาก
ตอง: จริง ๆ ผมว่ามันก็เหมือนเป็นลูปของแนวดนตรีนะ เมื่อก่อนมันก็มีลูปร็อก หรือช่วงที่ผ่านมาซิตี้ป๊อป ฮิปฮอป อันนี้ก็คงมีช่วงที่เป็นคลับเปลี่ยนผ่านมาอีกครั้ง แล้วด้วยสภาพสังคมสมัยนี้มันจะเปิดรับมากขึ้น ไม่แน่อีกสัก 5 ปีนูเมทัลจะกลับมาอีก
นอกจากอิเล็กทรอนิกแล้ว วงยังแทรกดนตรีที่ดูไม่น่าจะเข้ากันไว้ในเพลง ทั้งดนตรีพระราชพิธี นอยซ์ร็อก และแจ๊ส
เจ: มันไม่เชิงว่าพอได้ยินเพลงเราแล้วจะนึกถึงมันเลย แต่เป็นการที่เราไปหยิบยืมเอเลเมนต์บางอย่างจากพวกนั้น ดึงความรู้สึกบางอย่าง หรือสิ่งที่เรานึกถึงจากเพลงพวกนั้นมาใส่มากกว่า
การที่วงไม่ได้เรียนดนตรีกันมาเลยทำให้การทำเพลง instrumental rock หรือการเล่นสดยากขึ้นไหม
เนม: เนื่องจากว่าเราก็ฟังดนตรี instrumental กันอยู่แล้ว ก็จะพอรู้ว่ามันจะมีพวกโมทิฟหรือเมโลดี้ที่เป็นที่จดจำได้ แต่ละท่อนก็จะมีทำนองหลัก ๆ ของท่อนนั้น ๆ ทำให้เราเรียบเรียงได้ง่ายขึ้น
เจ: แต่กว่าจะเข้ามือก็ค่อนข้างนานทีเดียวเลยครับ รวม ๆ กันน่าจะเข้าปีที่ 2 ของการฝึกซ้อมอัลบั้มนี้
ทำไมถึงต้องเป็น ‘Waiting Room’
เจ: มันเกิดขึ้นประมาณช่วงครึ่งทางของตอนทำเดโม่ เราเล่นเกมที่ชื่อ ‘Limbo’ อยู่แล้วก็เกิดสนใจคำนี้ อยากรู้ว่ามันคืออะไรเลยไปรีเสิร์ช แล้วมันแมตช์กับเสียงที่เราขึ้นโครงเดโม่อยู่พอดี เลยรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์นี้มันสามารถเอามาครอบและทำให้ทุกอย่างแข็งแรงขึ้นได้ เราเลยทำเพลงอีกครึ่งนึงต่อโดยยึดจากหัวข้อนี้จนเสร็จ
โปรเจกต์ ‘Waiting Room’ เหมือนเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ที่ถูกลืมหลายต่อหลายแห่งที่เรียกว่า ‘Limbo’ แล้วก็มีที่ที่นึงเรียกว่า ‘Waiting Room’ โดยมันเชื่อมสถานที่อื่น ๆ เข้าด้วยกันเหมือนเป็น gateway ของการเดินทาง สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่สมมติ แต่อาจจะเป็นที่ที่เรารู้สึกคุ้นเคยเพราะได้ผสมผสานอะไรบางอย่างที่เราเคยพบเห็นเข้าไปในนั้นด้วยเหมือนกัน
โปรเจกต์นี้ก็จะถูกแตกออกเป็นหลายสาขา ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนก็มีความสนใจในอะไรใกล้ ๆ กันนี้อยู่ เราจะมีอัลบั้มชื่อว่า ‘Waiting Room’ จะปล่อยวันเดียวกับที่จะมีการแสดงสด ‘Waiting Room Live’ แล้วก็จะมีทางออนไลน์ชื่อ ‘waitingroom.live’ ให้คนเข้าไปสำรวจ เข้าไปมีประสบการณ์ใน virtual space ที่มันเชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์และเพลง แล้วเราก็มีคอสตูมตอนโชว์ที่มันน่าจะสร้างความรู้สึกบางอย่างในเชิงวิชวลกับ performance ได้ด้วย เราอยากผสมสื่อหลาย ๆ แบบไว้ในโปรเจกต์เดียวกัน เหมือนเป็นการทดลองหาวิธีการนำเสนอดนตรีแบบใหม่ ให้ทั้งคนฟังและคนทำได้เข้าถึงดนตรีในรูปแบบใหม่
เนม: อย่างคอสตูมมันเป็นการทดลองอย่างนึงด้วยว่าเราสามารถนำบริบทในอัลบั้มทำออกมาให้เป็นวิชวลมากขึ้นได้ไหม ปรากฏว่าพอลองแล้ว ผลตอบรับมันออกมาค่อนข้างดี เราเลยคิดว่ามันสามารถทำงานได้อย่างที่เราต้องการจริง ๆ เลยเดเวลอปต่อมาเรื่อย ๆ เราเบื่อที่จะนำเสนอดนตรีในรูปแบบที่เขาทำ ๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา โปรโมตอัลบั้ม รูปแบบการแสดงที่เคยมีมา
โลโก้ดาวแฉกสีดำของ JPBS
เจ: ค่อนข้างไม่มีที่มา ผมเลื่อนผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วเจอรูปนี้ก็คิดว่ามันน่าจะแทนอัลบั้มนี้ได้ตั้งแต่แรก ๆ เลยรู้สึกว่า รูปนี้แหละ และมันดูเป็นดาว เป็นพระอาทิตย์ ดูตู้มต้ามเหมือนเพลงพวกเราด้วย
เนม: หรือเป็นสัญลักษณ์ cult อะไรสักอย่าง
การร่วมงานกับ BANGKOK CITYCITY GALLERY และ DuckUnit
เจ: เริ่มจากที่วงและ BANGKOK CITYCITY GALLERY เป็นเพื่อนกัน แล้วแกเลอรีสนใจที่จะทำโปรเจกต์เกี่ยวกับดนตรี ช่วงนั้นเรากำลังทำเดโม่บันทึกเสียงอัลบั้มนี้กันอยู่ เราเลยส่ง rough mix นี้ให้ฟัง แล้วแกเลอรี่ก็สนใจเลยได้มาร่วมงานกัน ส่วน DuckUnit จะมาสมทบในการทำโชว์เพราะวินกับเหวดก็ทำงานที่ DuckUnit ผมก็เคยทำที่นี่เลยมีความสัมพันธ์เชื่อมกัน คิดว่าน่าจะทำงานด้วยกันได้ดีและน่าจะออกมาน่าสนใจ
คิดว่าอะไรที่ทำให้ JPBS เป็นวง instrumental rock ที่มีแฟนเพลงติดตามเหนียวแน่น
วิน: ความจริงเพลงก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีเยอะ มีไม่กี่เพลง แต่ว่าคนที่ชอบเขาอาจจะเคยดูการเล่นสด แล้วก็น่าจะชอบจากตรงนั้นด้วย
เจ: ผมว่าเพลงเราถูกออกแบบมาสำหรับการนำไปแสดงสดมาก ตอนเขียนเพลงกันก็คิดมาเพื่อให้ดูสดแล้วน่าจะทำงานได้ดีกับคนดู
ได้ยินว่ามีงานนึงที่แฟนเพลงตามเข้าไปหาถึงหลังเวที
เจ: ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาเข้ามาได้ยังไง ทุกคนคิดว่าเขาเป็นทีมงานมาช่วย เพราะเขาก็ช่วยพวกเรายกของ เก็บของทุกอย่างเลย แต่พอรู้ความจริงแล้วรู้สึกว่าน่ากลัวมากเลยครับ
ความรู้สึกตอนที่ได้ไปเล่น Wonderfruit
เจ: รู้สึกตื่นเต้นแล้วก็กดดันประมาณนึงเลยครับ เหมือนเราได้ไปอยู่ในเวทีเดียวกัน งานเดียวกันกับศิลปินระดับโลกที่เราก็ชอบ ก็อยากจะทำให้ดีกว่าที่เคยทำมา เลยทำให้เราดันมาตรฐานตัวเองขึ้นไปได้ด้วย
ภาพรวมของดนตรี instrumental ในไทยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
เจ: คิดว่าช่วงนั้นมันเป็นกระแสที่เริ่มมา เป็นสิ่งใหม่ที่คนก็ตื่นตัวกับสิ่งนี้กัน แต่ว่าพอมันผ่านเวลาไป มันก็อาจจะเฟดไปได้ตามปกติ
วิน: จริง ๆ ตอนที่เราเริ่มมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันมีวง instrumental เยอะกว่าตอนนี้เยอะเลย แต่ปัจจัยที่ทำให้มันหายไปเยอะ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะกลุ่มคนฟัง หรือเพราะตัวศิลปินเองที่เขาจะเลือกทำต่อหรือไม่เลือกทำต่อ อันนี้ผมว่ามันแล้วแต่วง แล้วแต่กระแสด้วย
แซน: มันบิลด์ขึ้นมาถึงจุดพีคจุดนึง แต่มันร่วงลงไปได้ง่ายมาก ๆ ครับ เพราะว่าอะไรที่มันเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ความที่มันเป็นคราฟต์มากก็จะดูช้าไป มันย่อยยากกว่าเพลงทั่วไป มันไม่ได้ใช้แค่หูฟัง มันต้องใช้ประสบการณ์ที่มันสามารถเทียบกับเพลงได้ เพราะการที่ไม่มีเนื้อร้อง มันแล้วแต่คนจะตีความหมายในเพลงนั้น ๆ ซึ่งพอมันมีความฟรีมาก ๆ แล้วโอกาสที่ไม่เข้าใจมันก็เยอะขึ้น คนก็เลย… ทำไมเราไม่เลือกอะไรที่มันย่อยง่ายกว่า ถ้ามีสเต็กกับโจ๊ก ก็เลือกกินโจ๊กไม่ดีกว่าหรอวะ… แต่ก็เหมือนลูกตุ้มอะครับ เดี๋ยวมันก็ไปเดี๋ยวมันก็มา ซึ่งตอนนี้เราก็เป็นหัวลูกตุ้มหรือเปล่าไม่รู้ มันจะแกว่งกลับมาอีก คิดว่าอย่างนั้นมั้ง
แล้วทำไม JPBS ยังทำอยู่
เจ: เรายังไม่เคยมีอัลบั้มกันเลย คิดว่าถึงเวลาละ ต่อให้เทรนด์มันหายไปแล้วแต่ก็ยังอยากทำอะไรแบบนี้อยู่ แล้วคิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปแล้วจากช่วงแรก ๆ ก็เลยอยากลองนำเสนอบางอย่างที่เปลี่ยนไปด้วย
ผู้ชมจะได้ประสบการณ์อะไรจาก Waiting Room Live
แซน: ประสบการณ์ดี ๆ
วิน: คาดหวังให้ผู้ชมได้สัมผัสเสียง ภาพ แล้วก็บรรยากาศไปพร้อม ๆ กันมากกว่าการมาดูคอนเสิร์ตหรือดนตรีสด อยากให้มันเป็นโชว์ที่ดีโชว์นึง
เจ: ทั้งงานนี้และอัลบั้ม พวกเราตั้งใจสุด ๆ ทุ่มเทกันมาก ๆ คิดว่ามันค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเรา อยากนำเสนอสิ่งนี้เพราะมันทั้งใหม่และน่าสนใจ อยากให้คนที่ถามหาสิ่งใหม่ได้ลองมาดู
เนม: อย่างน้อยก็น่าจะใหม่แถว ๆ นี้
เหวด: อยากให้ทุกคนมาดูกันมาก ๆ เราซ้อมกันเป็นเอาเป็นเอาตาย ถวายร่างกาย ถวายชีวิตกันไปแล้ว คิดว่ามันเป็นสิ่งใหม่จริง ๆ เพราะเราเองก็รู้สึกว่าโคตรใหม่แบบไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ที่ไหนเหมือนกัน ก็ลองดูครับ
ตอง: อย่างที่แซนบอกว่าการที่เรามีเพลงไม่มีเนื้อร้องมันอาจจะดูค่อนข้างกว้าง แต่สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่ มันจะมีอะไรบางอย่างที่คนดูจะรู้สึกได้ว่าจากเพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย มันมีสตอรี่อยู่ทั้งหมดเลย มีแสง สี เสียง ครบหมดทุกอย่าง ซึ่งความรู้สึกนี้มันจะไปอยู่ในอัลบั้มเหมือนกัน อยากชวนให้มาดูเพื่อรับรู้ได้ว่าดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้องบางทีมันก็สามารถเล่าเรื่องได้
รับฟังอัลบั้ม Waiting Room ได้ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 18 มีนาคมนี้ทางสตรีมมิง และเตรียมตัวสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของสื่อหลากหลายแขนงได้ที่ Waiting Room Live ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ในวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
บัตรราคา 700 บาท ซื้อบัตรชมการแสดงพร้อมรับซีดีอัลบั้มในราคา 1,200 บาท ซื้อได้ที่ https://www.ticketmelon.com/bangkokcitycitygallery/waiting-room-live
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/events/537001324991860
For Who High วงร็อกเลือดใหม่ ปลดปล่อยอารมณ์เกรี้ยวกราดของวัยรุ่นใน EP แรก ‘The Misfits’
เติบโตอย่างสดใสกับอัลบั้มใหม่ ‘PSSST!’ จาก Daynim
อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ