คุยกับ H1F4 วงดนตรีที่แหวกขนบด้วยแจ๊สรูปใหม่อย่าง ‘ไร้กฎเกณฑ์’

by Nattha.C
472 views
H1F4 interview

หากจำไม่ผิด เราเคยได้ยินชื่อเสียงของพวกเขาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2019 ปีเดียวกับปีที่ปล่อยอัลบั้ม ‘#1’ ผ่านการแนะนำบนโซเชียลมีเดียแบบปากต่อปากว่าควรหาโอกาสดูสดให้ได้สักครั้ง บวกกับช่วงนั้นวงการเพลงไทยนอกกระแสเริ่มกลับมาคึกคัก หลายวงดนตรีเจ๋ง ๆ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น หนึ่งในลิตส์นั้นคือ H1F4

ปกอัลบั้ม #1 ของ H1F4

เอชวันเอฟโฟร์คือวงดนตรีจากอดีตห้านักศึกษาคณะดุริงยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ชื่นชอบบรรเลงเสียงและหลงใหลในการอิมโพรไวส์ที่ส่วนตัวเราคิดว่าน่าสนใจไม่น้อย ทั้งฝีไม้ลายมือเวลาเพอร์ฟอร์ม และการนำแนวพังค์ เอ็กซ์เพอร์ริเมนทัล โพรเกรสซิฟ ไซเคเดลิกร็อค ไปจนถึงเวิลด์มิวสิคอย่าง Thai-Tradiotional มาประยุกต์ ต่อยอดทักษะบนโครงสร้างแจ๊สที่มีเป็นทุนเดิม ผสานบรรยากาศความเงียบแต่คลุ้มคลั่ง คั่วบดจนได้งานเพลงชนิดแปลกหู

สังเกตจากลูกกรุง “รำวงชมสวรรค์” สุดไพเราะเสนาะหูของกลุ่มขับร้องสุนทราภรณ์ที่ประพันธ์โดย สมศักดิ์ เทพานนท์ และเพลง “แมงมุมลายตัวนั้น” เวอร์ชั่น Sunny Trio & Natt Buntita band สู่ผลงาน “MONG” ซิงเกิ้ลเปิดตัวที่พวกเขาหยิบจับท่วงทำนอง มงแซะมงแซะ…แซะมงตะลุ่มตุ้มมง มาเรียบเรียงใหม่จนเกิดเป็นอาร์ตฟอร์มสุดพิศวง ทำให้ทุกบทเพลงในอัลบั้มเต็มชุดแรกคลับคล้ายคลังเก็บสรรพเสียงซึ่งเชื่อมรอยต่อระหว่างยุคสมัยแห่งเพลงไทยสากลและรสชาติหลากสัมผัสเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

สำหรับใครที่ยังไม่เคยสัมผัสพลังลึกลับจากพวกเขา Transmission จะพาไปทำความรู้จักอีกหนึ่งวงบ้าดีเดือดและค่อนข้างมีฝีมือร้ายกาจในแวดวงอันเดอร์กราวนด์ประจำปีนี้ อะไรคือแรงบันดาลใจที่เป็นเสน่ห์ของดนตรีพันธุ์ทดลองที่พวกเขาอยากเล่าให้ฟัง

H1F4

สมาชิก H1F4
เบนซ์ – รัตนพงษ์ พุ่มลอยฟ้า (เบส)
แฮม – ฐาณิศฐ์ สินธารัตนะ (กีตาร์ไฟฟ้า)
กร – กร วิชิตทรัพยากร (กลองชุด)
กิต – กนกพงศ์ ตันติเสวี (คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์)
เอิร์ม – ธนพัฒน์ อนันตกฤตยาธร (กีตาร์ไฟฟ้า)

ช่วยเล่าขั้นตอนการทำงานคร่าว ๆ ของเพลงแรกจนมาถึงอัลบั้ม #1 ได้ไหมคะ?

เบนซ์ : เริ่มแรกผมจะแต่งพวกคอร์ด อัดเสียงเดโม่เก็บใส่คอมไว้ก่อน และเพื่อความคุ้นชิน ผมจะใช้วิธีเปิดลูปวนไปเรื่อย ๆ ใส่เมโลดี้เข้าไปทีละนิดละหน่อย พอเพลงมันเริ่มได้ที่ประมาณหนึ่งก็ลองหยิบไอเดียของแต่ละคนในช่วงที่ระดมสมองมาจัดวางดู นัดกันเข้าห้องซ้อม แจมกันไปสักพักจนกระทั่งวงคิดว่าโอเคละ จึงค่อยอัดเสียงแบบจริงจัง อย่างเพลง “MONG” ผมไปอัดเสียงที่ The Creative Music Studio ของพี่ซันนี่-รัตนะ วงศ์สรรเสริญครับ ตอนนั้นมีโจทย์ว่าจะทำออกมายังไงให้มีความเป็นไทยกับตะวันตกผสมอยู่ด้วยกัน จนได้ฟัง “แมงมุมลายตัวนั้น” ของวง Sunny Trio & Natt Buntita เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ลองทำเพลงประมาณนี้ออกมา

ส่วนอัลบั้มเต็มก็ใช้วิธีการเดียวกันเลยครับ เพียงไปบันทึกเสียงที่ Flower Dog Studio หรือห้องอัดของแนท Summer Dress แทน แนทเป็นคนมิกซ์และมาสเตอร์เพลงในอัลบั้มนี้ทุกเพลง โดยเราจะเน้นอัดพร้อมกันทุกเพลงเพราะอยากให้มันสดใหม่ คือแอบวาดภาพในหัวไว้ว่าอยากให้ความรู้สึกเหมือนกับการที่เราออกไปเล่นคอนเสิร์ต เลยพยายามอัดรวดเดียวจบภายในวันเดียว บอกตรง ๆ ว่าเหนื่อยมากครับ (หัวเราะ) ยังไงลองไปฟังกันดูครับ

แสดงว่าสมาชิกในวงเองก็ชอบฟังเพลงลูกกรุง-ไทยเดิมด้วยหรือเปล่า?

เบนซ์ : ปกติสมาชิกในวงจะฟังอะไรคล้ายกันอยู่ครับ พวกเราชอบเสียงเครื่องดนตรีเก่า ๆ ซึ่งเพลงไทยเดิมก็จะมีเสียงเครื่องดนตรีประเภทนี้ประกอบอยู่ด้วย ยกตัวอย่าง ระนาด ซอ พิณ ฯลฯ ผมคิดว่าเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ไทยเดิม หมอลำ สามช่ามันอยู่ในสายเลือดคนไทยอยู่แล้ว เพราะเราอาจมักได้ยินจากผู้ใหญ่เปิดตอนเด็ก ๆ และมันมีเสน่ห์ในตัวของมันเองด้วยครับ

กร : ส่วนตัวผมจะได้ยินจากคุณพ่อที่เขาชอบเปิดเพลงสไตล์ลูกทุ่งอะไรพวกนี้ครับ คงได้ซึมซับมาบ้างไม่มากก็น้อย จนได้มีโอกาสมาทำโปรเจกต์ H1F4 แล้วพี่เบนซ์ลองเอาเพลงมงแซะที่รีอะเรนจ์ใหม่มาเล่นให้ฟัง ตัวผมเองก็ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านอะไรเลย ความรู้สึกตอนนั้นถือว่าเปิดโลกมาก ๆ ครับ ต้องกราบขอบคุณพี่เบนซ์ (หัวเราะ)

แฮม : ผมได้ยินผ่านหูมาตั้งแต่เด็กเช่นเดียวกันครับ แต่มีโอกาสได้ลองศึกษาอย่างละเอียดขึ้นถึงที่มาของลูกกรุง ลูกทุ่ง และดนตรีชาติพันธุ์ก็ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงที่ทำงานอัดเสียงตามชุมชน และเคยทดลองทำเพลงกลิ่นอายจากดนตรีในประเทศไทยกับวงขนิษฐา (Kanitha) ก่อนที่จะมาทำวงนี้ครับ

และขอบเขตการนำศิลปะแบบ Tradiotional Form มาประยุกต์ใหม่ ควรกำหนดไหมว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน หรือว่าฟรีฟอร์มไม่ตายตัว?

เบนซ์ : พวกเราไม่ได้กำหนดเลยครับ ถึงข้อนี้ผมจะสับสนตัวเองอยู่บ้าง (หัวเราะ) ช่วงเริ่มใหม่ ๆ วงค่อนข้างไปทางฟรีฟอร์ม แต่พอเล่นไปสักพัก ความรู้สึกมันจะบอกเองว่าควรมากกว่านี้หรือลดน้อยลงมา ทุกอย่างมันควรจะพอดี ไม่โดด ไม่แหกกฎเกินนัก ทำให้เพลงไปในทิศทางเดียวกัน เส้นเรื่องเดียวกันครับ

แฮม : วงเราจะมีโครง / กรอบ / ฟอร์ม ก็คือตัวเพลงที่พี่เบนซ์แต่งมา ซึ่งจะมีส่วนผสมจากดนตรีสไตล์ต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นครับ แม้เล่นกันจนจำเมโลดี้ได้แล้ว แต่บางครั้งพอเล่นด้วยกันจริง ๆ เราจะเน้นการฟังเป็นหลัก เพราะบางทีสมาชิกบางคนก็จะเล่นไปอีกแบบ แตกต่างจากตอนซ้อม เราเลยต้องใช้วิธีฟังเพื่อตอบสนองกับเสียงนั้น ทำให้การอิมโพรไวส์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อวงเราครับ

H1F4

พอเป็นวงที่ใช้รูปแบบการนำเสนอเป็นดนตรีบรรเลงแล้ว ข้อดีหรือความยากง่ายของมันคืออะไร?

กร : ความยากน่าจะเป็นเรื่องในการเล่นโชว์แต่ละครั้งครับ เพราะมันจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่ข้อดีในมุมมองของผมคือมันจะมีความสดใหม่ทุกครั้งเวลาที่ทีมนี้ได้เล่นด้วยกันเสมอ เหมือนกับว่าพวกเราได้พูดคุยกันผ่านเสียงดนตรีที่เราเล่น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ตั้งใจฟังเสียงคนในทีมว่าเล่นอะไรอยู่ด้วยตลอดเวลาครับ

เบนซ์ : ประมาณว่าเราจะได้เล่าเรื่อง บอกความรู้สึกผ่านเครื่องดนตรีนั้นมากขึ้นครับ

เอิร์ม : ผมคิดว่าเรื่องท้าทายที่สุดคือการเล่นและการสื่อสารกันในวง ณ ขณะนั้นว่าเราเล่นออกมาเป็นยังไง บางทีผมอาจจะเล่นล้อกับพี่แฮมหรืออาจจะเล่นไปคนละเรื่องเลย ถ้าเราลองไปทางไหนแล้วมันไม่เวิร์คหรือไม่เข้ากับวงก็ต้องพยายามหาทางอื่นไปต่อ

ความเข้าใจที่มีต่อ ‘Jazz’ ของแต่ละคน

แฮม : จากประวัติเท่าที่ผมทราบมา แจ๊สเป็นดนตรีที่เริ่มต้นจากกรอบทางวัฒนธรรมของคนแอฟริกัน-อเมริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้น 20 ซึ่งสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นเป็นเหมือน Melting Pot หรือหม้อที่หลอมรวมวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลก ทั้งส่วนผสมจากดนตรีแอฟริกัน ยุโรป หรือเพลงมาร์ชเป็นต้น แต่ละยุคของดนตรีแจ๊สก็จะมีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน อย่างยุคสวิงจะเน้นจังหวะสวิงจัด ๆ เพื่อให้เกิดจังหวะที่เต้นรำได้ เอนเตอร์เทนคนดูได้ ซึ่งปัจจุบันกระแสหลักมันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เพลงแจ๊สใหม่ ๆ แทบไม่เล่นจังหวะสวิงกันแล้ว ทำให้การระบุลักษณะเฉพาะของดนตรีแจ๊สเป็นได้ยากพอสมควรครับ ประเด็นเลยอยู่ที่ว่าประวัติศาสตร์และบริบทของแต่ละช่วงเวลามันทำให้เกิดคาแรคเตอร์ทางดนตรีแบบไหน แต่ส่วนตัวก็ยังคิดว่าสกิลการอิมโพรไวส์ยังคงปรากฎในแจ๊สทุกยุคทุกสมัย

เอิร์ม : เรียนตามตรงว่าผมยังไม่สามารถนิยามคำว่าแจ๊ส ได้จริง ๆ หรือแปลว่าอะไร ถ้าให้ผมตอบ ผมคิดว่าคำตอบของพี่แฮมน่าจะเป็นข้อมูลที่ให้นิยามคำว่าแจ๊สได้ครับ

กร : แจ๊สสำหรับผมคือ Improvised Music ไม่มีตีกรอบว่าจะต้องเป็นยังไงแต่ไม่เชิงว่าจะหลุดโลกเกินไปอะไรแบบนี้ครับ

กิต : สำหรับผมคิดว่าแจ๊สเป็นดนตรีที่เกี่ยวข้องกับการอิมโพรไวส์เป็นหลัก โดยอีกมุมหนึ่งมองว่าเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วให้แตกต่างออกไปจากเดิม หรือทำให้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นในความชอบของแต่ละคนอย่างอิสระ

พื้นฐานหรือการมี Strong Foundation สำคัญไหม? หรือในมุมมองของนักดนตรี มีอะไรอยากแนะนำสำหรับคนที่สนใจหัดเล่นใหม่ ๆ หรือเปล่า

เบนซ์ : ควรมีครับ การเล่นดนตรีหลัก ๆ เลยคือจังหวะ (Rhythm) หากเราอยู่กับจังหวะของเพลงได้ก็จะทำให้เพลงนั้นเราเล่นได้อย่างสมบูรณ์ครับ อยากให้ฝึกทุกแนว ฟังทุกแนว อย่าพึ่งไปจำกัดแนวเพลง ลองฝึกไปเรื่อย ๆ ก่อนแล้วเดี๋ยวลายเซ็นต์หรือเอกลักษณ์ในการเล่นดนตรีของเราจะออกมาเองครับ

กร : เห็นด้วยกับสิ่งที่พี่เบนซ์ตอบไปเลยครับ ใดใดก็ตามเรื่องเบสิคมันสำคัญมาก ๆ ไม่ว่าจะเล่นเครื่องดนตรีชนิดไหนก็ตาม แต่ละแนวมันจะมีความพิเศษที่แตกต่างกันออกไปอยู่ครับ

เอิร์ม : พื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในทุก ๆ เรื่องครับ ไม่ว่าเรื่องดนตรีหรืออะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลย เพราะถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจขั้นพื้นฐานแล้วสนใจในเรื่องที่ยากหรือซับซ้อนกว่า สุดท้ายเราอาจจะไม่เข้าใจมันและต้องกลับมาศึกษาใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งผมเคยประสบกับตัวเองแล้วรู้สึกเสียเวลามากครับ

ล่าสุดเราเห็นเพลย์ลิสต์ที่แชร์กับวง JPBS ค้นพบว่ามีวงที่น่าสนใจหลายชื่อเลย ส่วนตัวมีศิลปินคนไหนที่ชื่นชอบจนอยากบอกต่อหรือเปล่า

เบนซ์ : black midi ครับ (มันส์ใน)

กร : Deerhoof สุดยอดวงที่มีครบทุกรสชาติ ตามด้วย Omar Rodriguez Lopez Group, Halo Orbit และ David Bowie’s Black Star album สามชื่อนี้คือแรงบันดาลใจของผมในช่วงแรก ๆ ที่ทำวงกับ H1F4 ครับ

เอิร์ม : Nine Inch Nails ครับ นับเป็นวงแรกที่ทำให้ผมสนใจและสนุกกับการฟังเพลงอิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ

แฮม : Silver Apples เก่าแต่ล้ำเสมอครับ

กิต : Anal Cunt ครับ พวกเขาเป็นวงแนวกรินด์คอร์ (Grindcore) วงหนึ่งที่ผมคิดว่าค่อนข้างมีอิสระมากเป็นพิเศษ

ฝากผลงานทิ้งท้ายพร้อมมุมมองที่มีต่อ Underground Music Scene ในประเทศ ณ ตอนนี้กันหน่อย

เบนซ์ : ผมคิดว่าคนที่ชอบฟังแนวนี้เริ่มมีเยอะขึ้นเช่นเดียวกับนักดนตรีที่ผลิตผลงานแนวนี้ออกมาให้ฟังแล้วครับ ถ้ามีการเข้ามาสนับสนุนจากทางภาครัฐและสื่อ วงการดนตรีไทยหรือแม้แต่ซีนมิวสิคอันเดอร์กราวนด์เองก็จะดีมีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากลได้แน่นอน ยังไงอดใจรออัลบั้มที่สองของพวกเราอีกสักนิดนะครับ กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำเพลงครับผม

กร : ซีดีอัลบั้ม #1 ของพวกเรายังมีให้ทุกคนจับจอง ช่วยกันสนับสนุนอยู่นะครับ สนใจติดต่อทักแชทพวกเรามาได้เลย!

เอิร์ม : ติดตามวง H1F4 ได้ทาง Facebook, Instagram และ Spotify นะครับ

H1F4
+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy