เสียงกระซิบจาก FOLK9 ถึงซิงเกิลใหม่ล่าสุด และอัลบั้มใหม่ที่จะพาทุกคนทริปไปในโลกแสนหวาน

by McKee
1.8K views
FOLK9 กระซิบ whispering Rainbow Safari Polycotton interview

อีกหนึ่งวงที่หลายคนเรียกร้องให้มาไทยซักที กับ FOLK9 สังกัดค่าย Parinam Music ที่ล่าสุดเพิ่งปล่อยซิงเกิลใหม่ล่าสุดมาให้ทุกคนหายคิดถึง กับ ‘กระซิบ (Whispering)’ ที่ขยับซาวด์ของตัวเองออกไปทางไซคีเดลิกมากขึ้น พร้อมประกาศทัวร์เอเชียแบบเบิ้ม ๆ แถมแง้มมาว่ากำลังจะมีอัลบั้มใหม่ตามมาอีกด้วย

Transmission วันนี้เราอยู่กับ พัด ป่าน และกราฟ FOLK9 พูดคุยถึงซิงเกิลใหม่ อัลบั้มใหม่ และซาวด์ใหม่ ๆ ที่พวกเขาอยากทำให้ทุกคนสนุกกว่าเดิม

FOLK9 กระซิบ whispering Rainbow Safari Polycotton interview

สมาชิก FOLK9
กราฟ—กฤตภาส สุรินต๊ะ (ร้องนำ, กีตาร์)
พัด—บริพัตร แสงศิริ (ซินธ์)
ป่าน—กรวัฒก์ แสงทวีป (เบส)
โดม—ธันวา แสงซื่อ (กลอง)

อัลบั้ม Chinese Banquet ปล่อยออกมาได้ 5 ปีแล้ว ช่วงที่ผ่านมาแต่ละคนไปทำอะไรกันบ้าง

พัด: หลังจากปล่อยอัลบั้ม Chinese Banquet ไปในปี 2018 เราก็มีปล่อยซิงเกิลที่อยู่ในอัลบั้มแยกออกมา 3-4 ตัวครับ ตามสไตล์วงดนตรีก็มีเล่นโชว์บ้าง พักบ้าง เพราะตอนนั้นกราฟย้ายกลับไปอยู่สัตหีบก็เลยเจอกันยากขึ้น นาน ๆ พวกเราจะเจอกันที ประกอบกับช่วงโควิดที่ไม่ค่อยมีงานเล่นเยอะมาก ผมก็ย้ายกลับไปทำงานฝ่ายโปรดักชั่นเบื้องหลังและทำประจำอยู่ที่ The Matter ปัจจุบันก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์เหมือนเดิม

กราฟ: ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเรียนจบพอดีครับ อย่างที่พัดบอกว่าเราไม่ค่อยได้เจอกันเลย เพราะพอผมเรียนจบก็กลับไปกลับกรุงเทพฯ-สัตหีบเพื่อช่วยธุรกิจที่บ้านจนถึงทุกวันนี้ มีกลับมาเล่นดนตรีบ้าง บวกกับรับงานตัด MV บ้างนิดหน่อย

พัด: เหมือนกราฟเป็น Editor ประจำตาม Live Sessions ต่าง ๆ ผมคิดว่าทุกคนอาจจะเคยผ่านตากับงานกราฟมาบ้าง ลองถามชาว NewEchoes, Crazy Mondae, Parinam Music กันได้ครับ (หัวเราะ)

ป่าน: ผมทำงานสายโปรดักชั่นด้านซาวด์ครับ ช่วงที่ปล่อยอัลบั้ม Chinese Banquet พวกเรามีงานเล่นกันตลอดทั้งปีเลย ตอนโควิดก็ยังมีเล่นเรื่อย ๆ หรือถ้าช่วงไหนพอมีโอกาสก็กลับมาเจอกันตลอด แต่ก็มีแอบไปทำโปรเจกต์อื่นบ้างนิดหน่อยครับ ตอนนี้ทำวง shoegaze, doom metal ชื่อว่า Salad อยู่ด้วย

แล้ว Slow Dance นี่มาได้ยังไง

พัด: ส่วนใหญ่ Process การทำเพลงของ FOLK9 จะเป็นกราฟขึ้นเดโม่มาก่อนครับ รู้สึกช่วงนั้นกราฟมีเดโม่มาให้อันนึง แล้วมันเป็นช่วงหลังโควิดพอดีก็เลยกลับมาทำด้วยกันได้ จริง ๆ ตอนแรกพวกเรากะจะเริ่มทำอัลบั้มใหม่ตั้งแต่ตอนนั้น แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัด เลยออกมาเป็นซิงเกิล Slow Dance แทน แต่เพลงนี้จะไม่อยู๋ในอัลบั้มใหม่ ด้วยซาวด์แตกต่างจาก Chinese Banquet ไปเลย

พูดถึงอัลบั้มใหม่หน่อย

กราฟ: ชื่อ Rainbow Safari Polycotton ครับ

พัด: ต้องเท้าความก่อนว่า ตอนแรกไม่ได้เป็นอัลบั้มที่ไม่ได้วางธีมไว้ เหมือนกับที่ Chinese Banquet ไม่ได้วางธีมตั้งแต่แรก เราจะเน้นไปที่การทำเพลงมาก่อนหรือลองดูมู้ดเพลงก่อนว่า พอเอาเดโม่ทุกอันมารวมกันแล้ว เราเรียงเพลงได้ตั้งแต่เพลงหนึ่งถึงเพลงสุดท้ายเลยไหม หรือจัดวางได้ตั้งแต่แรกเลยใช่ไหม แล้วขยายส่วนนั้นให้เหมือนกับการเรคคอร์ดเดโม่ให้ใกล้เคียงเพลงที่เสร็จสมบูรณ์ที่สุด ก็รู้สึกว่าเออมันมีมู้ดหลัก ๆ ประมาณสองมู้ดในอัลบั้ม ช่วงครึ่งแรกมันจะไซคีเดลิกมาก ๆ ส่วนช่วงครึ่งหลังมันจะซอฟต์ลงหน่อย มีความแอมเบียนต์ อะไรต่าง ๆ เดี๋ยวอาจจะอธิบายต่อไปครับ

เพราะเรารู้สึกกันว่ามันเหมือนทริปเนี่ยแหละ ไซคีเดลิกทริปอะไรประมาณนี้ คือผมมีอัลบั้มนึงชื่อ Music for Psychedelic Therapy ของ Jon Hopkins มันเป็นอัลบั้มแอมเบียนต์นี่แหละ แล้วเรารู้สึกว่าเหมือนอยากให้เพลงที่อยู่ในฟังค์ชั่นเพลงป๊อปแบบนี้ มีเนื้อร้องหรือเล่าเรื่องถึงการไปทริปมา โดยที่ไม่ใช่แค่แอมเบียนต์อย่างเดียว อยากรู้ว่าพอมันมาอยู่ในบริบทเพลงป๊อปมันจะเป็นยังไงได้บ้าง เหมือนเป็น Journey สรุปคือมันเป็น Situation ต่าง ๆ ที่คนนึงจะเจอในระหว่างการทริป แต่ถูกหยิบยกเอามาเล่าในแต่ละเพลงอะไรแบบนี้อ่ะครับ

ป่าน: ซึ่งเนื้อเพลงมันก็มีความสองแง่สามง่ามแทบจะทุกเพลงเลย หรือมันอาจจะ Related กับชีวิตประจำวันก็ได้ เช่นเรื่องความสัมพันธ์อะไรงี้

พัด: อย่างคำว่า “Rainbow” ถ้าคิดในแง่อาร์ตติสอีกหน่อยก็เหมือนเวลาเราเห็นสายรุ้งอ่ะ เพลงมันมีมู้ดที่แบบเปลี่ยนจากมู้ดนึงไปอีกมู้ดนึง เหมือนเราเห็นสายรุ้งจากฝั่งซ้ายไปฝั่งขวา (กราฟ: มันจะเป็นสเต็ป ๆ ไล่ลงไป) ส่วนคำว่า “Safari” ขอสปอยว่าเนื้อเพลงแต่ละเพลงมันมีตัวละครสมมติขึ้นมา มีคุณ Choco Pie มีคนชื่อ Mister Rainbow Guy แล้วรู้สึกว่ามันเหมือนแบบสวนสัตว์เลยเลยมีคำว่า ‘Safari’ มา ตอนแรกมันเป็นคำว่าแฟนตาซี แต่ความรู้สึกมันเป็นสวนสัตว์มากกว่าเลยใช้คำว่าซาฟารีละกัน ส่วนคำว่า “Polycotton” มันเป็นคำที่เสริมเข้ามาให้มันหลุดไปอีกขั้นนึง ถ้าเราใช้คำว่า Rainbow Safari เฉย ๆ มันดูแข็งไปนิดนึงสำหรับคนอ่าน ซึ่งคำว่า Rainbow Safari Polycotton มันมีอยู่จริง ๆ นะ เป็นผ้าโพลีคอตตอนลายม้าลายสีรุ้งอ่ะ ตัววิชวลแค่มองเราก็รู้สึกว่าเข้ากับอัลบั้มดี สรุปก็คือเป็น Situation ต่าง ๆ ที่แต่ละคนเจอเวลาไปทริปหรือไม่ทริปก็ได้ Spoiler Alert นะครับ ปกอัลบั้มทำกับ พีช (@_ph____) คนเดียวกับที่ทำให้วง Soft Pine

มาถึงซิงเกิลแรกที่ปล่อยออกมา กระซิบ (Whispering)

พัด: เพลงนี้เป็นเพลงภาษาไทยครับ ในอัลบั้มนี้จะเพลงไทยอยู่ 2-3 เพลง นอกเหนือจากนั้นจะเป็นเพลงสากลครับ ผมแบ่งเป็นเนื้อหากับดนตรีละกันเนอะ จริง ๆ ที่เลือกปล่อยเพลงนี้ก่อนก็เพราะว่า อย่างแรกเลยมัน Catchy หรืออย่างที่วงมองว่าน่าจะติดหูที่สุด และดนตรีมันเป็น Rhythm ที่อยู่ตรงกลางของอัลบั้ม ระหว่างมู้ดหนึ่งกับมู้ดสอง

พัด: เรื่องเนื้อเพลงอย่างที่ผมบอกว่ามันสองแง่สามง่ามได้ เพลงนี้ในอัลบั้มอาจจะอยู่ประมาณแทร็กที่ 4-5 ครับ แล้วมันเป็น Situation ที่เหมือนเราเริ่มได้ยินเสียงกระซิบ เนื้อเพลงท่อนฮุกมันจะเหมือนการบรรยาย Situation ต่าง ๆ ครับ ยกตัวอย่าง “เสียงกระซิบเบา ๆ แสงอาทิตย์อ่อน ๆ เกิดมาพึ่งเคยได้สัมผัส เสียงกระซิบเบา ๆ แนบเอาไว้ที่ข้างหู เกิดมาพึ่งเคยได้รู้จัก” เสียงใหม่อันนี้ไม่เคยเจอเลย มันเป็น New Experience (กราฟ: เหมือนเป็นประโยคปลายเปิด ที่ใช้ได้กับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่มันค่อย ๆ กระซิบบอกเรา) ซึ่งท่อน Verse มันก็จะเล่าต่อว่าแบบ อย่าให้ใครเข้ามาอ่านความคิด ให้ฉันได้อยู่กับตัวฉันเอง อย่าเข้ามาตอนที่ฉันกำลังใช้สมาธินะ อย่าจ๊ะเอ๋ฉันนะ ฉันตกใจ (หัวเราะ) มันเป็น Situation ที่เรากำลังจะ Experience สิ่งนี้อ่ะครับ แต่ก็เหมือนที่พี่ป่านบอก มันสองแง่สามง่ามกับเรื่องทั่วไปก็ได้

ส่วนของพาร์ทดนตรี ผมขออธิบายว่ามันค่อนข้างอยู่ในมู้ดเดียวกับ Slow Dance ที่มันมีความไซคีเดลิกป๊อปเยอะมาก แต่อาจจะป๊อปกว่าสนุกกว่า ด้วยอิลิเมนท์ที่หยิบมาใช้ต่าง ๆ ในเพลง อย่างในเพลงนี้จะมีเสียง Mellotron มันเป็นคีย์บอร์ดสีขาวอ่ะครับ ถ้าทุกคนเคยฟังเพลง Strawberry Fields Forever ของ The Beatles มันจะมีซาวด์นี้โผล่มาแบบไอคอนนิกมาก และมันจะมีกีตาร์ที่ฮาร์โมนีมันนวดหู ไหลไปพร้อมกับเอฟเฟกต์ดีเลย์เต็มเพลงไปหมด เหมือนเป็นเสียง Echo หรือเสียงกระซิบที่เราได้ยิน (กราฟ: และก็มีเสียงที่ถูกซ่อนไว้) มันสนุกอ่ะครับ โอเคมันเป็นเพลงที่ทั้งฟังง่าย ฟังสบายได้ หรือแบบจะโยกหน่อย ๆ ก็ได้

ป่าน: ผมว่าในพาร์ทดนตรี ถ้าได้ฟังแล้วก็น่าจะพอเข้าใจว่าบีทโดยรวมมันจะเป็นไปในทิศทางไหน อย่างที่บอกมันเป็นตรงกลางของเพลง

กราฟ: ถ้าพูดในส่วนของดนตรีให้มีความเข้าใจง่าย ๆ อัลบั้มนี้มันก็มีความดีไซน์สำหรับการเล่นสดที่สนุกขึ้น อาจจะไม่ได้สนุกแบบมันส์ขนาดนั้น แต่สนุกแบบเต้นกรูฟ ๆ หรือโยกกว่าเซ็ตเดิมแน่นอนครับ ในส่วนของเนื้อหา ผมมองว่ามันเป็นการไปค้นพบสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยเจอ หรือที่เราไม่เชื่อแล้วต้องไปสัมผัสมันเอง เราถึงจะเชื่อ ความรู้สึกมันจะว้าวมาก จริง ๆ ตอนแต่งเพลงนี้คือทุกอย่างมันมาไวมากครับ ทั้งเนื้อเพลงและรูปประโยคมันจะมาแบบ ปุ๊ปปั๊ป หรือไหลมาทีเดียวหมดเลย ตอนบันทึกเสียงก็เลยเอาอันนี้แหละ

แล้วซิงเกิลต่อไปปลายเดือนนี้

พัด: ซิงเกิลที่สองชื่อ Choco Pie ครับ อันนี้เป็น Situation แบบเพียว ๆ เลย อยู่อัลบั้มครึ่งหน้าครับ มันเป็นจังหวะที่กำลังคลิก สนุกเลย เล่าถึงการไปเจอช็อคโกพายพูดได้ นอนอยู่กลางถนน พอเห็นภาพไหมครับ (หัวเราะ) มันตลกอ่ะครับ มันตลกบวม ๆ แบบเป็นเรื่องแฟนตาซีที่เกิดขึ้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ส่วนท่อนเวิร์สก็ร้องว่า “Talking Choco Pie, Sleeping on the floor” ช็อคโกพายชวนเต้นด้วย

การมี เอ็กซ์ Soft Pine เข้ามา ช่วยเติมอะไรในโชว์ของเราบ้าง

พัด: จริง ๆ เอ็กซ์มาเล่นด้วยนานแล้วครับ ตั้งแต่ชุด Chinese Banquet หรือตั้งแต่แรกเลยครับ ผมเล่นกีตาร์ให้ FOLK9 ตั้งแต่อัลบั้ม Chinese Banquet แต่ผมต้องไปเล่นคีย์บอร์ด เพราะผมหาคนเล่นคีย์บอร์ดไม่ได้ ก็เลยเอาเอ็กซ์มาช่วยเล่นกีตาร์ตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าถามว่าเอ็กซ์ช่วยอะไร ช่วยได้เยอะครับ เพราะจริง ๆ พวกผมสมาธิสั้นกันหมดเลย (หัวเราะ) แบบทั้งสี่คนเลยอ่ะ พอได้เอ็กซ์มาบาลานซ์เอเนอจี้ตอนไปโชว์อ่ะ มันจะเป็นงานเป็นการ อย่างการเพอร์ฟอร์มหนึ่งครั้ง เราจะต้องทำอะไรบ้าง เหมือนเอ็กซ์จะมีเซ้นส์คิวเรทเพลย์ลิสต์ที่ดีอะไรประมาณนี้ เวลาเราจะซ้อมเพลงอะไร เอ้ย พี่สลับเป็นเพลงนี้ไหม ช่วยเหมือนเป็นสมาชิกวงเลย

กราฟ: ทั้งในส่วนของการตัดสินใจ เรื่องซาวด์เช็ค หรือเรื่องเซ็ตเพลงว่าจะเล่นอะไรดี

เอ็กซ์ได้มีส่วนร่วมในอัลบั้มใหม่ด้วยรึเปล่า

พัด: จริง ๆ แล้วเอ็กซ์มาช่วยดูแลในแง่โปรดักชั่นด้วยครับ

กราฟ: ฟิลมาอยู่เป็นเพื่อน เพราะพี่ปูม (นายห้าง Parinam Music) สั่งให้เอ็กซ์มาบอก FOLK9 ให้ทำอัลบั้มให้เสร็จครับ (หัวเราะ)

พัด: อัลบั้มนี้ทำแบบสั้นมาก คือเดโม่มาจากกราฟเกือบครบทุกเพลง มีขึ้นใหม่ด้วยกันแค่ครึ่งนึงมั้ง นอกนั้นเป็นเดโม่แล้วเอามาพัฒนาต่อหมดเลย เป็นเดโม่ที่กราฟทำมาตลอด 2 ปีนี้ ตั้งแต่เจอโควิด คือถ้ากราฟมีเวลาว่างทำเก็บ ๆ ไว้แล้วก็ค่อยมาคัดออกเพื่อเรียงเป็นเซ็ตในอัลบั้มนี้ แล้วก็มันเริ่มเกิดขึ้นตอนสงกรานต์ที่ผ่านมา บางอย่างคือเทคเดียว มันมีความดิบแต่ก็ไม่ดิบ เรียกว่ามีเดียมแรร์ละกัน

กราฟก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นไซคีตั้งแต่แรกด้วยหรือเปล่า หรือจริง ๆ ก็คือทริปมาตลอดอยู่แล้ว

พัด: Daily Life กราฟก็ใช้แต่กัญชานี่แหละ อย่างตอน Chinese Banquet คือจริง ๆ มันไซคีกว่านี้เยอะมากเลยพี่ คือทุกคนช่วยตบลง ให้แบบย่อยง่าย ต้องบอกว่ารากเหง้าของกราฟคือเป็นคนไซคีมาตั้งแต่แรกเลย

กราฟ: เราได้เก็บเกี่ยวมันจากช่วงทำเดโม่แหละครับ ก็ได้ตัวเชื้อมันมาแล้วเราก็เอามาทำเดโม่ ปกติผมเป็นคนชอบไซคีเดลิกอยู่แล้วครับ เวลาทำเดโม่หรือทำอะไรก็ชอบติดกลิ่นมันมา

วงกำลังจะได้กลับไปทัวร์เอเชียแล้ว รู้สึกยังไงกันบ้าง

พัด: ถามพี่ป่านดีกว่า เขาปีนหน้าผารอแล้ว

ป่าน: โห เตรียมสนุกเลยครับ ตื่นเต้นนะ เพราะว่าเมืองจีนก็เป็นดินแดนใหม่ที่ไม่ค่อยได้ไปเล่น แถมกำลังจะได้กลับไปไต้หวันด้วย

แอบได้ยินว่ากำลังมีงาน Collaboration กับวงจีนด้วยหรือเปล่า

พัด: เราไม่ได้รู้จักเขามาก่อน เหมือนโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์กึ่ง ๆ Songwriting Camps ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดนะ มันจะมีการจัด Songwriting Camps เพื่อพาศิลปินกับศิลปินในเอเชียมาเจอกัน ทดลองทำเพลงกันดู มันเป็นโปรเจกต์ของ NetEase ที่จีนหรือสตรีมมิงแพลต์ฟอร์มในประเทศเขา ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงทำเดโม แต่คิดว่าเราน่าจะโฟกัสอัลบั้มก่อนอ่ะครับ

เทียบกันระหว่างซีนดนตรีในเอเชีย ยกตัวอย่างไต้หวัน กับซีนดนตรีที่ไทยมันเป็นยังไงในมุมมองของเรา

พัด: เหมือนที่จริง FOLK9 มันเป็นวง Introvert คือคนที่ Extrovert คือพี่ป่าน กับเอ็กซ์ กับผม ถ้าเป็นกราฟกับโดมเล่นเสร็จจะกลับห้อง เท่าที่ผมเคยไปอยู่หรือไปเล่นแล้วก็รู้จักคนไตหวันอ่ะ รู้สึกว่าคนไต้หวันมีความ Energetic กว่าคนไทย ทั้งศิลปินและคนดู ไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดีนะครับ แค่เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ได้รับเลย เอเนอจี้ไม่ได้ล้น แต่กระปรี้กระเปร่าอ่ะครับ และเหมือนคอมมิวนิตี้เล็ก ๆ ของเขา บางกลุ่มมันก็ดูแข็งแรงมาก จริง ๆ ตอนนี้มันก็เริ่มเกิดขึ้นในไทยแบบพี่ ๆ NewEchoes หรือ Crazy Mondae แหละ ผมรู้สึกว่ามันเป็นแก๊งย่อย ๆ แบบนั้นเยอะ เขามีทั้งห้องซ้อม มีสถานที่แฮงค์เอาท์ที่ได้เจอกันแล้วแบบอยู่กับดนตรี

ป่าน: เขามีห้องซ้อมและก็มีสถานที่จัดเป็น Music Festival เล็ก ๆ ของเขาเอง ทั้งที่ตอนนั้นมันก็หลาย Music Festival ที่อื่นในเมืองด้วย เทียบกับไทยแล้วผมรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้นครับ แทบจะใกล้เคียงกันเลย

พัด: อาจจะแค่พอไปไหนมาไหนในเมืองได้ง่ายกว่า ไปเจอคนนู่นคนนี้ได้กว่าจากการเดินทางด้วย รู้สึกว่า เดี๋ยวไปนี้กัน เดี๋ยวไปนู่นต่อ มันแปปเดียวอ่ะครับ ส่วนไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ มันก็ใกล้เคียงคนไทยมากเลย แค่เอเนอจี้ต่างกันเฉย ๆ

แต่เขามีข้อดีที่รัฐบาลเขาน่าจะซัพพอร์ตเยอะมาก

ป่าน: พอได้ยินคำว่ารัฐบาลบ่อย ไม่ว่าจะคุยเรื่องเฟสติวัลหรือเรื่องวงไหนทำอัลบั้มตอนไหน ผมก็มักจะได้ยินผ่าน ๆ เหมือนศิลปินบ้านเขาจะได้รับการสนับสนุนตลอด

พัด: อย่างตอนผมทำ Sundae Records กับเอ็กซ์ก็เคยจัดอีเวนต์ให้ L8ching ศิลปินป๊อปไต้หวัน เขาก็เป็นอีกคนนึงที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแม้กระทั่ง Sunset Rollercoaster เป็นเรื่องที่ดีมากครับ จริง ๆ เขาเริ่มมาก่อนเรามานานแล้ว ดูตรงนี้มันทำอะไรได้เยอะมาก

อยากคอลแลปกับศิลปินไต้หวันคนไหน

กราฟ: Jay Chou (หัวเราะ) โดมเล่นเพลง Jay Chou ได้ครับ

พัด: Jay Chou ละกันเพราะตอนนี้ก็นึกไม่ออก (หัวเราะ) เหมือนวงเรายังรู้จักเพื่อน ๆ ที่ไต้หวันไม่เยอะด้วยแหละครับ เลยน่าจะยังนึกไม่ออกกัน แต่สมมติว่าถ้าได้รู้จักใครก็มีความเป็นไปได้ครับ

ฝากอะไรถึงแฟนเพลงหน่อย

พัด: อัลบั้มใหม่สนุกกว่าเดิมแน่นอนครับ โชว์ก็จะเป็นเซ็ตใหม่เพราะเป็นเพลงในอัลบั้มใหม่ด้วย รับรองว่าสนุกกว่าเดิมแน่นอน

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy