ในบทสัมภาษณ์ที่แล้ว เราได้ Christian Savill มือกีตาร์จาก Slowdive ตอบคำถามเราเกี่ยวกับอัลบั้ม ‘Everything is Alive’ แต่หนนี้เราได้รับเกียรติจาก Nick Chaplin (เบส) และ Simon Scott (กลอง) ที่เพิ่งจะหายจากเจ็ตแล็กไม่กี่วัน มาร่วมพูดคุยกับเราก่อนที่จะเริ่มโชว์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ชั่วโมง พลางจิบไวน์ขาวในแก้วกระดาษ (ชอบมาก) เกี่ยวกับบรรยากาศการทำเพลงพร้อมฝากคำแนะนำดี ๆ ให้วงดนตรีชูเกซ (รวมถึงแนวอื่น ๆ) กันด้วย
รู้สึกยังไงที่ได้กลับมาเล่นที่ไทยอีกครั้ง
นิค: เรารู้สึกดีเสมอครับที่ได้ไปเล่นในทุกที่ สำหรับไทยแล้วเรามีความทรงจำที่ดีเสมอมาครับ เพียงแค่ว่ายังไม่ค่อยได้ไปที่อื่นนอกจากกรุงเทพ ฯ นี่เป็นรอบที่สองแล้วเนอะ แต่ส่วนตัวผมชอบอาหาร ชอบบรรยากาศ ชอบเสียงจอแจ ความโกลาหลของที่นี่ครับ แล้วก็คนดูเยี่ยมยอดเสมอ ผมตื่นเต้นมาก ๆ รับที่จะได้เล่นโชว์ในคืนนี้
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าอะไรที่เป็นโมเมนต์ที่ดีที่สุดตอนทำอัลบั้มนี้
ไซมอน: เราต้องติดแหงกอยู่ด้วยกันที่ Courtyard ซึ่งเป็นเหมือนบ้านทางจิตวิญญาณของพวกเราไปแล้วครับ เราทำอัลบั้ม ‘Just For a Day’, ‘Souvlaki’, ‘Pygmalion,’ self-titled แล้วก็หลาย ๆ เพลงของชุดล่าสุดที่นี่ ซึ่งนั่นคือส่วนที่ดีที่สุดสำหรับผมครับ นีล (Neil Halstead ร้องนำ กีตาร์) จะมีเดโม่มาให้พวกเราฟัง แล้วถ้าเราคิดว่า ‘เอ้ย นี่น่าจะเป็นเพลงที่ดีได้’ ก็จะเริ่มทำเพลงกันจากตรงนั้น ระดมไอเดียทำนองจนได้ที่แล้วนีลก็จะเอาส่วนนั้นกลับไปทำต่อที่บ้านเขาที่คอร์นวอล ก่อนจะเอากลับมาให้พวกเราฟัง แล้วคริสเตียนจะเขียนไลน์ขึ้นมาหลาย ๆ เลเยอร์ แล้วเราก็จะเริ่มอัดกัน ซึ่งก็ทำแบบนี้กันอยู่บ่อย ๆ ครับ ซึ่งรู้สึกที่ดีเสมอครับที่ได้ไป Courtyard Studios ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Sutton Courtenay ในอ็อกซฟอร์ด เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของพวกเราเลย
นิค: สำหรับผม เรามีช่วงเวลาสนุก ๆ ที่ Chapel Studios ด้วยครับ เราเลือกไปสตูดิโอที่ใหม่ซึ่งตอนนั้นเขาเปิดให้ศิลปินสามารถพักที่นั่นได้ด้วย แล้วภรรยาของเจ้าของสตูดิโอก็จะทำกับข้าวให้เรากินทุกวัน เราไม่เคยมีประสบการณ์อะไรแบบนี้เลย ส่วนใหญ่ก็จะไป ๆ มา ๆ ไม่พร้อมกันแล้วก็แยกย้ายกันกลับ แต่รอบนี้เราติดแหงกอยู่ด้วยกัน 5 คนไปไหนไม่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรอยู่รอบ ๆ นั้นเลย เราเลยต้องสิงกันที่นั่น แต่สนุกครับ ผมยังคิดเลยว่าอยากจะทำอะไรแบบนี้บ่อย ๆ เพราะแวดล้อมมันค่อนข้างบังคับให้เราต้องอยู่กันแบบเป็นกลุ่มก้อน คุณไม่สามารถที่จะ ‘อุ๊ย ต้องกลับบ้านละ’ ต้องอยู่กันที่นี่ครับ ดีมากเลย ผมชอบมาก ๆ
แบบนี้ทำให้คุณรู้สึกเหมือนตอนที่วงอยู่ด้วยกันเมื่อ 30 ปีก่อนหรือเปล่า
นิค: ครับ ช่วงอัดเพลงแหละนะ ตอนเรายังเด็กกว่านี้เราก็นอนบนพื้น หลับบนโซฟากันได้ แต่พอโตขึ้นเราก็จะอยากนอนที่ดี ๆ หน่อย ห้องนอนที่สบาย ๆ เป็ดสัดเป็นส่วน ที่มันมีพื้นที่ไม่ต้องอุดอู้กันทุกวันมากกว่าน่ะครับ ตอนเราอายุ 20-21 เราก็ขลุกอยู่ด้วยกันในสตูดิโอนั่นแหละ แต่พอกลับมาเจอกันตอน 2014 เรายังไม่ได้มาใช้เวลาร่วมกันถึงขนาดตอนทำอัลบั้มล่าสุดนี้
เพลงไหนที่จบยากที่สุดตอนอัด
นิค: เราทำทุกอย่างเสร็จเร็วมากครับ เพราะพวกเรามันเจ๋ง (หัวเราะ)
ไซมอน: ตอบดี ชอบ ๆ เออ การมิกซ์ใช้เวลามากครับ ผมว่านีลพยายามจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ความที่เขาใกล้ชิดกับมันมากเกินไปจนเกิดความรู้สึกว่า ‘นี่คือลูกของชั้น’ สุดท้ายเราเลยได้ Shawn Everett จากแอลเอมามิกซ์ให้ทั้งหมด คือความที่นีลอยากลงมือทำด้วยตัวเองมันเป็นเพราะเขารัก หวงแหน แล้วก็อยากปกป้อง Slowdive มาก ๆ สำหรับเราเขาเป็นนักดนตรีที่เก่ง ทำเพลงได้ดี แต่เราก็อยากได้มุมมองอะไรใหม่ ๆ ด้วยเหมือนกัน แต่ในจุดนั้นเราก็ต้องรอนานเหมือนกันเพราะชอว์นเขาต้องทำ The Killers, Interpol, War On Drugs, Kanye ไปด้วย แต่เราก็แบบ ‘โอเค รอได้’ ซึ่งกว่าจะเสร็จก็นะ…
นิค: ครับ ผมว่าเพลงอย่าง ‘shanty’ กับ ‘chained to a cloud’ พวกนี้เขียนเสร็จเป็นเพลงแรก ๆ เลย มาก่อนทุกเพลงมาก ๆ แต่ว่าเพลง ‘chained to a cloud’ ผ่านการโดนเปลี่ยนอะไรเยอะมากจนกลายเป็นว่า เป็นเพลงที่เสร็จเกือบสุดท้าย แล้วมันก็ไม่มีอะไรคล้ายเดิมจากที่มันเคยเป็นเลย นั่นแหละครับ ก็มีเพลงที่ใช้เวลานานกับมันเป็นพิเศษ แต่ก็มีเพลงอย่าง ‘prayer remembered’ ที่จบได้เร็ว แล้วก็เขียนออกมาในเวลาสั้นมาก ๆ ซึ่งก็น่าจะปกตินะ ทุกอัลบั้มเรามีเพลงที่เอาไปปรับจนใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเอามารวมกับเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มได้
ไซมอน: ใช่ อย่างชุดนั้น ‘Slomo’ ก็เป็นเพลงสุดท้าย
แล้วการที่ทำให้ซาวด์ซินธ์โดดเด่นขึ้นในอัลบั้มนี้ทำให้การเล่นสดของ Slowdive มีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
นิค: เราเพิ่มคีย์บอร์ด เพิ่มแซมพ์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนเป็นอีกวงนึงนะ เราก็ยังเป็นกีตาร์แบนด์อยู่เหมือนเดิม
ไซมอน: แน่นอน ผมว่าทุกคนใช้ซินธ์อยู่แล้ว แต่สื่อหลายเจ้าชอบพูดว่า ‘Slowdive ไปทางโมดูลาร์ซะแล้ว’ บางทีมันก็แค่เสริมให้อัลบั้มนั้นสมบูรณ์ขึ้นครับ แค่นั้นจริง ๆ หรือบางคนก็พูดว่า ‘Slowdive ทำเพลงอิเล็กทรอนิกว่ะ’ คือมันมีเทคโนโลยีในเพลงของเราอยู่ตลอด มันมีลูปและดรัมแมชชีนอยู่เสมอ ใน ‘Souvlaki’ ก็มีอะไรพวกนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘Pygmalion’ ที่น่าจะใกล้เคียงกับคำว่าอิเล็กทรอนิกที่สุด แต่นั่นแหละครับ สำหรับผม Slowdive ก็ยังเป็นกีตาร์แบนด์ การได้ยินเสียงซินธ์ในเพลงของเราไม่ได้ทำให้เรากลายเป็น Depeche Mode
นิค: แย่หน่อยนะ (หัวเราะ) แต่พวกเรามีใส่แซมพ์ลงไปหนึ่งแทร็คในแค่เพลงเดียว แค่นั้นจริง ๆ (ไซมอน: กลองสแนร์อันเดียวเลย) จริง ๆ เราจะไปในเวย์แซมพ์จัด ๆ อิเล็กทรอนิกจัด ๆ กว่านี้ก็ได้ แต่ตอนนี้เราอยากให้การเล่นสดของทุกเพลงเหมือนกับที่เราทำในอัลบั้มเพื่อที่ว่าเราสามารถใช้ซาวด์จากที่เรามีอยู่แล้ว แต่อันที่จริงการเล่นสดของเราก็ค่อนข้างจะไม่เหมือนกับเพลงในอัลบั้มมาแต่ไหนแต่ไรนะ การเล่นสดของเรามีเอเนอร์จี้กว่ามาก ๆ คนดูยุคนั้นยังเดินมาบอกเราเองเลยว่า ‘โห นึกว่าจะเป็นวงเงียบ ๆ น่าเบื่อ ๆ แต่จริง ๆ แล้วเพลงพวกคุณค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว’ หวังว่าตอนนี้เราก็ยังน่าสนใจสำหรับพวกคุณอยู่นะ
ก็ยังน่าสนใจอยู่! คุณแทบจะมีแฟนเพลงที่เด็กลงด้วยซ้ำ บางคนอาจจะไม่คิดว่า Slowdive คือวงจาก 90 บางทีนึกว่าเป็นวงรุ่นเดียวกับเขา
นิค: ประหลาดดีครับที่คุณเห็นว่ามีกลุ่มเด็ก ๆ มาออกันข้างหน้า ซึ่งพวกเขามาจากเพลงฮิตที่เจอใน TikTok หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ซึ่งบางทีนั่นก็ทำให้เราสงสัยเหมือนกัน เพราะปกติเราไม่เล่น ‘When the Sun Hits’ ถ้ายังไม่ถึงท้าย ๆ โชว์ แล้วก็คิดว่าเด็กพวกนี้คิดยังไงกับโชว์เมื่อหนึ่งชั่วโมงที่แล้วกันนะ แบบ ‘เขาชอบเพลงเรามั้ยนะ’ หรือเขาอาจจะคิดว่า ‘กูซื้อบัตรมาดูอะไรเนี่ย’ แต่พวกเขาก็ดูจะชอบกันนะครับ
ไซมอน: พวกเรามีเรื่องเล็ก ๆ มาเล่าครับ พรุ่งนี้เราจะไปเล่นที่สิงคโปร์แล้วก็จะมีแฟนเพลงที่อายุน้อยที่สุดมาดูเรา เธออายุ 11 ปี เป็นหลานสาวของเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันกับผม เธอชอบ Slowdive มากแล้วก็ได้รับอนุญาตให้มาดูคอนเสิร์ตแล้ว อายุ 11 อะ ลองนึกดูว่าแฟนเพลงของเราอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ในขณะที่เราแก่ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อไปนะ
นิค: ใช่มะ เราจะเป็นเหมือน The Rolling Stones กันแล้วรึเปล่า
เริ่มคุยกันเรื่องอัลบั้มใหม่แล้วหรือยัง
ไซมอน: ยังเร็วไปครับ ตอนเราอัดเพลงกันช่วงโควิด เราต้องเจอกับการโดนสตูดิโอแคนเซิล อะ ไม่เป็นไรจองสตูใหม่ หรือบางทีก็ได้สลอตแค่วีคเดียวแทนที่จะเป็นสองวีคติด เพราะอย่างนั้นมันเลยกินเวลาไป 3 ปี ซึ่งอันที่จริงมันก็ปกติของเราเวลาทำอัลบั้มนั่นแหละ (นิค: เราช้าอะ ไม่เคยเร็วกันอยู่ละ) ก็ใช่ คือเราไม่ได้เขียนเพลงไปด้วยในระหว่างทัวร์ คือเหมือนเรามีเพลงอยู่ในสต๊อกที่ใช้ไปได้อีกหลายปี แล้วเราก็จะเอาเพลงพวกนั้นกลับมาทำ อย่างเพลงที่ไม่ได้ปล่อยใน EP ปี 1991 อะไรแบบนี้ เราจะใช้วิธีนี้มากกว่าเขียนอะไรขึ้นมาใหม่ จริง ๆ ก็ไม่ควรจะทำงานกันแบบนี้รึเปล่านะ
นิค: คงยังไม่ทำครับ เราจะพักกันหลังจากกิจกรรมของอัลบั้มนี้เสร็จ ทุกคนก็จะกลับไปใช้ชีวิตปกติของตัวเอง แต่เดี๋ยวก็จะมีวันนึงที่นีลพูดขึ้นมาว่า ‘เฮ้ย มาทำอัลบั้มใหม่กันดีมั้ย’ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นคือเมื่อไหร่ ดังนั้นตอนนี้ก็สนุกกับมันให้เต็มที่ครับ
วงชูเกซรุ่นใหม่ ๆ ชอบทำซาวด์ออกมาแล้วเหมือนวงที่พวกเขาชอบ อย่าง Slowdive เอง My Bloody Valentines หรือ Lush คุณมีคำแนะนำให้พวกเขาสร้างซาวด์ในแบบของตัวเองได้ยังไงบ้าง
ไซมอน: ก็อย่างที่คุณเพิ่งพูดไปเลย หาซาวด์ของตัวเองโดยไม่พยายามก๊อปพวกเราหรือ My Bloody Valentines หรือ Cocteau Twins แต่มันก็มี… พวกเราได้ดูวงเล่นเปิดให้ตอนทัวร์อยู่บ่อย ๆ นะ แล้วเราก็รู้สึกโชคดีมาก ๆ ที่ได้ดู มีวง Deary จากลอนดอน พวกเขาเจ๋งมาก คุณจะได้ยินทั้ง Slowdive แล้วก็ Cocteau Twins ในเพลง แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะ ยังมี Saint Etienne กับ Massive Attack ด้วย
นิค: ของแบบนี้มันต้องใช้เวลาแหละเนอะ ผมคิดว่าถ้าคุณเป็นวงใหม่แกะกล่องเลย ยังไงคุณก็จะซาวด์เหมือนวงที่คุณชอบนั่นแหละ แต่ถ้าคุณมีประสบการณ์มากขึ้น ได้ยินอะไรใหม่ ๆ หรือเริ่มเคยชินกับการเล่นและอัดเพลงของตัวเองแล้ว คุณอาจจะเริ่มมีลายเซ็นของตัวเองก็ได้
ทำไมถึงเลือก Telever มาเล่นเปิด
นิค: อย่างบางทีก็ไม่ได้ตั้งใจนะ เราจะเลือกวงรุ่นใหม่ ๆ ที่อาจจะต้องการการผลักดันอีกนิด ซึ่งเราก็อยากให้โอกาสเขาได้เล่น แต่วงเหล่านั้นต้องมีความเชื่อมโยงกับพวกเราในเชิงดนตรีด้วย ซึ่งในแคมเปญของอัลบั้มนี้ก็เป็นไปได้สวยทีเดียว เรามี Whitelands ซึ่งเป็นวงใหม่ที่อายุน้อยมาก ๆ อยู่ค่าย Sonic Cathedral ที่เราค่อนข้างสนิท (ไซมอน: ยังเรียนมหาลัยกันอยู่เลย) แล้วก็ Pale Blue Eyes ที่โตขึ้นมาหน่อย แต่ก็นั่นแหละ เด็กกว่าพวกเรามากอยู่ดี หลาย ๆ วงเขาก็เด็กกว่าวงเราทั้งนั้น ส่วนตอนที่เรามาทัวร์เอเชีย เราก็ได้รับรายชื่อศิลปินที่เขาส่งมาให้เลือก เราก็ลองทำความรู้จักพวกเขาใน Spotify ดูว่าเขาเป็นใคร เพลงเป็นแบบไหน แล้วใครที่ดูเหมาะจะมาอยู่ในโชว์เราแล้วเราชอบ เราก็เลือกคนนั้น
ไซมอน: เราช่วยดันให้พวกเขาได้เล่นเปิดให้เรา ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนขาวผู้ยิ่งใหญ่มาโปรดวงชูเกซรุ่นใหม่หรืออะไรแบบนั้น แล้วเราก็หวังว่าพวกเขาจะไม่มองเราเป็นแบบนั้น แต่เป็นโอกาสที่จะให้วงเล็ก ๆ ที่ปกติเล่นแต่งานเล็ก ๆ ได้เล่นตอนหน้าคนดูจำนวนมาก ซึ่งเราก็เคยเป็นหนึ่งในวงเหล่านั้น (นิค: ซึ่งมันเป็นแต้มต่อให้พวกเรามากเลยนะตอนยุค 90 น่ะ) มันเป็นเหมือน learning curve ที่ท้าทายมาก ๆ ด้วยเพราะเรามีเวลาหนึ่งชั่วโมง ต้นเซ็ตเราอาจจะซาวด์เหมือน The Smashing Pumpkins แต่มันจะฟังดูแปลก ๆ เอานะ ไหนลองปรับดูหน่อย เหมือนเราค่อย ๆ พัฒนาจากอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ แล้วมันก็เป็นเหมือนการตอบแทนที่พวกเขาฟังเพลงของเราด้วยน่ะครับ
นิค: จำไม่ค่อยได้ครับเพราะค่อนข้างนานมาแล้ว แต่ปกติคือโปรโมเตอร์จะส่งลิสต์วงมาให้เรา ไม่ก็บางทีใครสักคนในวงเรามีคอนแท็กของวงในเมืองนั้น ๆ หรือประเทศนั้น ๆ แต่ของที่ไทย เราได้รับรายชื่อมา 4 วง ซึ่งเราชอบหมดเลย แต่เราสนใจ Telever… ออกเสียงว่า เทเลเวอร์ใช่มั้ย? เราชอบซาวด์ แล้วก็ลองอ่านเกี่ยวกับพวกเขานิดหน่อยว่าเป็นใครมาจากไหน จำไม่ได้เป๊ะ ๆ นะครับว่าทำไมเพราะมีหลายวงมาก ๆ ที่เราต้องเลือกมาเล่นด้วยตลอดทั้งทัวร์ แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นด้วยตรงกันตลอดนะครับ ไม่ใช่ว่าเราทั้ง 5 คนเห็นพ้องกันว่า ‘ต้องวงนี้แหละ!’ แต่แค่รู้สึกว่ามีความน่าสนใจ แล้วก็เป็นตัวเลือกที่ดีครับ
อ่านต่อ
คุยกับ Slowdive เกี่ยวกับอัลบั้มล่าสุดและ Sold Out โชว์ที่กำลังจะมาถึง
อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ