ยินดีต้อนรับสู่ Helsinki Lambda Club!

814 views

Space Invader รอบนี้ เราขอชวนศิลปินญี่ปุ่นชื่อคุ้น 1) คุ้นจากการที่ Ford Trio ไปร่วมงานด้วยบ่อย ๆ 2) คุ้นว่าเห็นชื่อบนโปสเตอร์ showcase festival ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ 3) คุ้นว่ามีอัลบั้มใหม่ แต่ดันใช้ชื่อเหมือนเป็นชุดแรกWelcome to Helsinki Lambda Club’ (ヘルシンキラムダクラブへようこそ) มาตอบคำถามที่เราสงสัยกันแบบละเอียดยิบ อ่านกันได้ข้างล่างนี้เลย

สมาชิก
ฮาชิโมโต คาโอรุ (กีตาร์, ร้องนำ)
อินาบะ โคได (เบส)
คุมะกะอิ ไทกิ (กีตาร์)

ที่มาของชื่อวง

คาโอรุ: พวกเราอยากให้มีคำว่า ‘Club’ ในชื่อ เหมือน Bombay Bicycle Club หรือ Teenage Fanclub ครับ และเป็นการขยายต่อจากไอเดียที่ว่า เป็นคลับที่ไม่มีอยู่จริง เป็นคลับที่มีอิสระให้ความรู้สึกไม่มีสัญชาติ เลยได้เป็นชื่อนี้ขึ้นมาครับ ถึงตอนนี้จะยังไม่เคยไปเฮลซินกิแต่ซักวันก็อยากลองไปดูครับ 

คิดว่า Helsinki Lambda Club เป็นวงแบบไหน แต่ละคนมีความเหมือนหรือต่างกันยังไง

คาโอรุ: เป็นการรวมตัวของคนที่ชอบเล่นสนุกเหมือนกับผม และทำให้การเล่นด้วยกันสนุกขึ้นโดยมีดนตรีเป็นจุดมุ่งหมายครับ ทุกคนคอยสนับสนุนไอเดียของคนที่สงสัยใคร่รู้อย่างผม และทุกคนก็ชอบไปต่างประเทศเหมือนกันด้วยครับ อย่างไทกิ ค่อนข้างที่จะอยู่กับความเป็นจริง ส่วนโคไดที่อายุน้อยที่สุดเป็นคนที่แสดงออกทางอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาครับ

จากที่ฟังดู แนวเพลงของวงมีทั้งอัลเทอร์เนทิฟร็อก แต่ก็มีผสมจังหวะเร็กเก้ บางทีอาร์ตเวิร์กก็มีความไซเคเดลิก รู้สึกว่ามีการผสมผสานหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เลยอยากรู้ว่าวงได้รับอิทธิพลทางดนตรีมายังไงบ้าง

คาโอรุ: จุดเริ่มต้นที่คิดว่าอยากทำวงขึ้นมาจริง ๆ คือ ตอนอายุ 12 ผมได้ฟังเพลงอย่างเพลงของวง SUM41 ซึ่งเป็นแนวเมโลดิกพังก์ ทำให้พวกองค์ประกอบของ Helsinki จะยังให้ความรู้สึกถึงความไพเราะในสมัยนั้นหลงเหลืออยู่ครับ ส่วนตอนที่ฟอร์มวงจะได้รับอิทธิพลความเป็นการาจร็อกจากวง The Strokes หรือ The Libertines โดยไม่สนว่าจะเป็นตะวันตกหรือตะวันออกมาเป็นหลัก เราอยากเป็นวงที่มีการผสมผสานหลาย ๆ อย่าง เป็นตัวตนที่มีความเป็นอิสระ เหมือนอย่างวง Bombay Bicycle Club ที่เล่าไปก่อนหน้านี้ครับ

ส่วนเหตุผลที่ร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น คือตอนสมัยม.ปลายวงที่ชอบอย่างเช่นวง Kururi, Yurayura Teikoku, Fuji Fabric ที่มีเนื้อเพลงให้อารมณ์และความรู้สึกสบาย ๆ แบบญี่ปุ่น เป็นอิทธิพลที่ทำให้คิดจะเขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นครับ นอกจากวงที่เอ่ยชื่อไปก็ยังชอบฟังเพลงหลากหลายแนวมาตั้งแต่เมื่อก่อนแล้ว คิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ออกมาเป็นดนตรีแบบนี้ครับ

โคได: ตอนม.ต้นอยู่วงเครื่องเป่าแล้วเล่นอัลโตแซ็กโซโฟน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มเล่นดนตรีครับ หลังจากนั้นพอขึ้นม.ปลายก็เริ่มตั้งวงดนตรี และหลังจากเริ่มจับเบสก็เริ่มฟังดนตรีแนวฟังก์ R&B โซล หรือที่เรียกว่า black music หรือ Jamiroquai แนวแอซิดแจ๊สครับ แต่ก็ตั้งแต่เมื่อก่อนแล้วที่จะฟังเพลงโดยไม่สนใจสัญชาติ แนวเพลง แค่ฟังเพลงที่ตัวเองรู้สึกว่าสนุก คิดว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ Helsinki ครับ

ไทกิ: ของผมคือ The Beatles ครับ อย่างแรกเลยคือสมาชิกในวงแต่ละคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองชัดเจนมาก แล้วยังนำดนตรีหลากหลายแนวมาย่อยให้เกิดเป็น output ของตัวเอง รวมถึงรู้สึกชื่นชมการสร้างผลงานที่มีความท้าทาย คิดว่าในบรรดาผลงานของ Helsinki ก็มีหลายชิ้นที่เป็นผลงานที่ได้รับอิทธิพลจาก The Beatles มาครับ

ชื่ออัลบั้มที่ 3 แปลออกมาได้ว่า ‘ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Helsinki Lambda Club’ ฟังดูเหมือนแนะนำให้คนฟังได้รู้จักกับวงกันอีกครั้ง ทำไมถึงใช้เป็นชื่อนี้

คาโอรุ: ก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสไตล์เพลงของพวกเราอยู่บ้างเหมือนกัน แต่หลังจากสะสมประสบการณ์มาระยะนึงจนรู้สึกไม่ฝืนและเป็นอิสระได้แบบนี้ ก็เท่ากับว่าเราเจอสไตล์ที่เป็นพวกเราแล้วครับ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณที่ทำวงมาได้เป็นเวลา 10 ปี จึงพูดว่า ‘ยินดีต้อนรับ’ ครับ

ในอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มเกี่ยวกับอะไร และแต่ละเพลงมีธีมที่เกี่ยวข้องกันยังไงบ้าง

คาโอรุ: ถึง final output ของวงจะเป็นความสนุก การเต้น แต่ผมคิดว่าเพลงในชุดนี้จะพูดถึงความเจ็บปวดที่รู้สึกในชีวิต ความน่าแปลกประหลาดของโลก ปัญหา หรือสิ่งเฉพาะตัวของตัวเองที่เก็บเอาไว้มาผสมอยู่ด้วยครับ แล้วก็หนังที่ได้ดูหลังจากทำอัลบั้มเสร็จคือ ‘Everything Everywhere All At Once’ เป็นหนังที่มีธีมทับซ้อนกับสิ่งที่พวกเราต้องการจะสื่อมาก ทำให้รู้สึกได้รับกำลังใจขึ้นมาด้วยครับ

ในระหว่างที่ทำอัลบั้ม มีการกำหนดธีมก่อนที่จะนำไปสู่การเขียนเนื้อเพลงหรือทิศทางดนตรีไหม

คาโอรุ: จากที่มองย้อนกลับไปถึงผลงานในช่วงนี้ รู้สึกว่าจะมีคอนเซ็ปต์ ‘การเดินทาง’ อยู่เบื้องหลังเสมอเลยครับ ทั้งการเดินทางแบบระยะทาง การเดินทางของเวลา การเดินทางของจิตวิญญาณ ให้ความรู้สึกเหมือนมีการเดินทางผ่านดนตรีอยู่ในทุกเพลงครับ ส่วนทิศทางดนตรีที่ออกมามักจะเป็นสิ่งที่พวกเรากำลังให้ความสนใจในช่วงนั้น หรือถ้าเอาอันนี้กับอันนั้นมาผสมกันน่าจะสนุกดี เป็นการทดลองไอเดียจากความคิดพวกนี้เป็นส่วนใหญ่ครับ

อยากถามสมาชิกแต่ละคนว่าชอบเพลงไหนที่สุดในอัลบั้มนี้ และเพราะอะไร

คาโอรุ: ‘Chandler Bing’ ครับ เป็นเพลงที่ทำให้คิดว่าในที่สุดก็สามารถสร้างเพลงที่แสดงออกถึงมุมมองของโลกที่ Helsinki Lambda Club ต้องการแสดงออกมาตลอดขึ้นมาได้ครับ ความไร้สัญชาติ ความผสมผสานของแนวเพลง และการบาลานซ์ของเนื้อเพลงที่สดใสที่เหมือนจะปิดบังการเปิดเผยตัวตนข้างในออกมา หลังจากที่ทำเพลงนี้เสร็จรู้สึกเหมือนเห็นแนวทางของอัลบั้มขึ้นมามากขึ้นครับ

โคได: รู้สึกชอบ ‘See The Light’ ที่สุดครับ เป็นเพลงที่ได้โครงมาจากระหว่างที่แจมกันตอนที่รวมตัวทำดนตรีกันครับ ความรู้สึกเร่าร้อน ถึงแม้จะแค่นิดเดียวก็อยากทำให้สัมผัสถึงความรู้สึกในบรรยากาศตอนนั้นได้ ตอนที่อัดเพลงเลยเพิ่มความท้าทายด้วยการให้อัดเครื่องดนตรีทุกชิ้นพร้อมกันในรอบเดียว ครั้งเดียว แบบที่ปกติไม่ค่อยทำกันครับ เพลงนี้เลยเป็นเพลงที่เหมาะสมกับการเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มอย่างแท้จริง และเป็นเพลงที่คิดว่าทำให้ตั้งความคาดหวังกับ Helsinki ในหลังจากนี้ได้ครับ ในด้านซาวด์ก็คิดว่าถ้าเป็นการอัดในรอบเดียวน่าจะมีทั้งความตื่นเต้นและบรรยากาศอัดแน่นอยู่ในนั้น และสำหรับการเล่นเบสก็ค่อนข้างถูกใจเลยครับ ระหว่างกลางเพลงในช่วงหลังก็มีการอิมโพรไวส์อยู่ คิดว่าน่าจะแสดงสิ่งที่อยู่ภายในตัวเองทั้งหมดออกมาแล้ว แล้วก็ระหว่างที่เล่นอยู่คิดว่าน่าจะมีความจดจ่อมาก ๆ ด้วยครับ

ไทกิ: ‘Golden Morning’ ครับ เป็นซาวด์ที่หนักที่ไม่เคยมีมาก่อนใน Helsinki เป็นเพลงที่เล่นแล้วรู้สึกตื่นเต้นที่สุดแล้วครับ ส่วนการอัดเพลงก็เป็นครั้งแรกที่อัดรวมทั้งหมดยกเว้นร้องภายในครั้งเดียว ถ้าเป็นการอัดภายในครั้งเดียวจะมีทั้งความตื่นเต้นทั้งกรูฟอัดอยู่ข้างใน ค่อนข้างถูกใจเลยครับ

การร่วมงานกับ Ford Trio นับว่าเป็นการร่วมงานกับศิลปินต่างชาติเป็นครั้งแรกเลยหรือเปล่า ทำไมถึงเลือกวงนี้ และช่วยเล่าถึงความรู้สึกจากการได้ร่วมงานกันหน่อย

คาโอรุ: เป็นการร่วมงานกับศิลปินต่างชาติครั้งแรกเลยครับ ปีที่แล้วได้มีโอกาสร่วมร้องใน ‘เปล่าเลย’ ผลงานของ Ford Trio ตอนนั้นเป็นตอนที่เจอกันครั้งแรก ตั้งแต่เจอกันก็ให้ความรู้สึกที่ดีมาเสมอ มีความประทับใจคือเป็นกลุ่มของคนวัยรุ่นที่ชอบดนตรีและอารมณ์ดีครับ รวมทั้งสต๊าฟก็ต้อนรับเป็นอย่างดี คอยซัพพอร์ตเสมอทำให้สนุกตลอดในช่วงที่อยู่ไทยเลยครับ แน่นอนว่าในระหว่างที่อัดก็รู้สึกตื่นเต้นนะครับ แต่หลังจากอัดก็ไปดื่มต่อกับสมาชิก ก็ได้คุยกันหลาย ๆ เรื่อง ทุกคนรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นลึกมาก ๆ ทั้งตกใจแล้วก็ดีใจเลยครับ และนอกเหนือจากนั้นหลังจากนั้นก็ได้ไปดูพวกเขาซ้อม การแสดงของพวกเขาในตอนนั้นที่มีความผ่อนคลาย ให้ความกรูฟสูง ได้รับอิมแพ็กมาเต็ม ๆ และทำให้รู้สึกชอบพวกเขาขึ้นไปอีก หลังจากนี้ก็คิดว่ายังอยากร่วมงานดนตรีกันต่อไปครับ

ในอัลบั้มนี้มีเพลง ‘A Cold Break’ เป็นเพลงที่ Ford Trio มาร่วมงานด้วย เป็นเพลงที่ทั้งสนุกและมีกิมมิก มีความหลากหลาย และมีความแปลกใหม่ในดนตรีมาก เบื้องหลังที่ทำให้เกิดเพลงนี้คืออะไร

คาโอรุ: ในตอนแรกคือตั้งใจใช้ชิ้นส่วนของเดโม่อย่างอิสระแบบไม่มีอะไรมาเป็น reference ใช้ภาพที่ขึ้นมาในหัวก่อนแล้วค่อยมาปรับใช้ขยายขึ้นจนเห็นเป็นมุมมองของโลกนั้นขึ้นมาเรื่อย ๆ มีครั้งนึงตอนอยู่บนเครื่องบินแล้วฝันถึง Ford Trio เลยคิดมาเล่น ๆ ว่าถ้าระหว่างเพลงมีการเปลี่ยนจังหวะน่าจะน่าสนุก เลยขอความร่วมมือจากวงและส่งดาตาเพลงที่เว้นว่าง 16 ห้องที่เร่งจังหวะขึ้นไว้ให้พวกเขา บอกว่าให้เล่นอะไรก็ได้ในช่องว่างนี้ให้หน่อย ถึงจะเป็นการพูดที่เอาแต่ใจ แต่วงก็สามารถทำออกมาได้เหนือความคาดหมาย รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาและรู้สึกขอบคุณมาก ๆ ครับ พวกเขาเป็นนักดนตรีที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ ภายในเพลงนี้มีการผสมผสานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไหนก็สามารถสนุกไปกับมันได้ครับ

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก Helsinki Lambda Club มีเพลงไหนที่ทำให้สามารถพูดว่า ‘นี่แหละ Helsinki!’ ได้บ้าง

คาโอรุ: สำหรับคนไทยก็คงอยากให้ฟังเพลง ‘A Cold Break’ ครับ แต่โดยรวมแล้วคิดว่าเพลง ‘Chandler Bing’ เป็นเพลงที่มีความเป็น Helsinki มาก ๆ และส่วนตัวค่อนข้างจะชอบครับ แต่ถ้าเป็นเพลงของเมื่อก่อนคิดว่า ‘Nontoka Shinakucha’ เป็นเพลงที่มีกลิ่นอายของอเมริกันอินดี้ที่พวกเราได้รับอิทธิพลมาผสมผสานกับความเป็นญี่ปุ่น ออกมาเป็นเพลงที่มีความเป็นพวกเราอยู่ครับ

เคยได้ยินมาว่าคนญี่ปุ่นมักจะฟังเพลงจากซีดีกันเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันที่คนส่วนมากเริ่มหันมาฟังเพลงผ่านช่องทางสตรีมมิงมากขึ้น แนวโน้มการขายซีดีก็ลดลงไปด้วย ในสถานการณ์แบบนี้ในฐานะวงดนตรีได้รับผลกระทบยังไงบ้าง รู้สึกยังไงบ้างกับการเปลี่ยนแปลงของวงการเพลงในญี่ปุ่น

คาโอรุ: สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติพวกเราก็ยอมรับและปรับตามอยู่ครับ ไม่ว่าจะด้วยการซื้อแผ่นฟัง การฟังจาก subscription หรือการปล่อยเพลง ผมคิดว่าหากนั่นเป็นวิธีการที่ทั้งตัวศิลปินและผู้ฟังคิดว่าดีก็พอแล้วครับ เพราะไม่ว่าแบบไหนก็มีข้อดีของมัน สิ่งที่สำคัญคือการหาวิธีที่จะสื่อถึงความบริสุทธิ์ของดนตรีได้มากที่สุด และผู้ฟังสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้ และต่างฝ่ายต่างผลักดันกัน ผมคิดว่าจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ครับ

ดนตรีไม่ใช่เพียงแค่ศิลปะที่มองไม่เห็นด้วยตา ความรู้สึกที่พิจารณาคุณค่าของวัฒนธรรมด้วยการจ่ายเงินก็เริ่มจางลงไปเรื่อย ๆ ถ้าในมุมผู้ฟังเห็นถึงมุมมองนั้นขึ้นมาบ้างผมก็รู้สึกดีใจ จริง ๆ แล้ววงการดนตรีของญี่ปุ่นยังมีส่วนที่ค่อนข้างจะช้ากว่ากระแสของโลกด้วย ถึงจะเป็นแค่พลังเล็ก ๆ แต่พวกผมก็อยากช่วยทำให้วงการดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ผมอยากเปลี่ยนแปลงกลไกที่เกาะติดกับประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในอดีต และเอาแต่แสวงหาผลกำไรที่จะได้ในทันทีด้วยครับ 

ในฐานะนักดนตรี คิดว่าการแสดงสดในอุดมคติคือแบบไหน

คาโอรุ: มีหลายครั้งที่มักจะถูกชมว่าดูการแสดงสดดีกว่าฟังเพลง ทำให้รู้สึกว่านั่นก็อาจจะเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่ดีก็ได้ครับ นอกจากนั้นเวลาที่มองไปรอบ ๆ แล้วเห็นคนหลากหลายที่อยู่ร่วมกัน กำลังสนุกกับวิธีการเอนจอยดนตรีในแบบของตัวเองแล้ว ในใจก็รู้สึกเร่าร้อนขึ้นมาครับ

ในอนาคตอันใกล้นี้มีโอกาสจะได้เห็นไลฟ์ของ Helsinki ในกรุงเทพ ฯ ไหม

คาโอรุ: ปีหน้าคิดว่ายังไงก็อยากไปให้ได้ครับ! และจากนั้นก็อยากไปแสดงที่ไทยอีกเยอะ ๆ เลยครับ

ฝากอะไรถึงแฟน ๆ ชาวไทยหน่อย

คาโอรุ: ผมชอบประเทศไทย แล้วก็ได้รับแรงบันดาลใจจากความใจดีของคนไทยที่ทำให้มีผลกับชีวิตผมเล็กน้อยด้วย ถ้าคนไทยรู้สึกชอบพวกเราก็จะดีใจมาก ๆ เลยครับ ในประเทศไทยมีศิลปินที่ยอดเยี่ยมมากมาย ตอนที่ไปดูไลฟ์ที่ไทยก็รู้สึกทั้งสนุก มีชีวิตชีวา และเร่าร้อน ในไลฟ์ของพวกเราเองก็อยากสัมผัสถึงความรู้สึกพวกนั้นด้วยเหมือนกัน ที่ที่อยากไปก็มีเยอะ อยากเป็นที่รู้จักในไทยและมีโอกาสได้ไปอีกหลาย ๆ ที่นอกจากกรุงเทพ ฯ ด้วยครับ ช่วยเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ!

Helsinki Lambda Club

ขอขอบคุณ Ginn Sentaro หรือจินซังที่ช่วยแปลภาษาไทย-ญี่ปุ่นในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยค่ะ

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Japanese-Thai translation by Ginn Sentaro

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy