The New Sound อัลบั้มแคนดิเดตประจำปีนี้จาก Geordie Greep ศิลปินหนุ่มที่ใครหลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะนักร้องนำ-มือกีตาร์จาก black midi วงดนตรีสายร็อกทดลองที่สั่นสะเทือนวงการเพลงอินดี้อังกฤษอยู่พักใหญ่ ๆ และการกลับมาใช้เวลาทำโปรเจ็กต์เดี่ยวของเขาก็เหมือนการได้หยิบบรรดาเพลงหรือเอเลเมนต์ที่เคยชอบมานำเสนออย่างสดใหม่อีกครั้ง
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน ประจวบเหมาะกับที่ SALAD พึ่งส่งอัลบั้ม 21st Century in a Nutshell มาให้ทุกคนฟังพอดี เราก็เลยขอชวน ‘จิน’ ฟรอนต์แมนของวงมาร่วมวงถามตอบแบบออกรส ก่อนจอร์ดี้จะปล่อยซิงเกิ้ลพร้อมมิวสิกวิดีโอเพลงอย่าง ‘Holy Holy’ ในสัปดาห์ถัดมา ซึ่งอัลบั้ม The New Sound ก็อาจเป็นผลงานที่ทุกคนน่าจะได้ลองฟังกันไปแล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคม และในบทสนทนานี้ เราจะมาลงลึกถึงดีเทลคร่าว ๆ เผื่อกลับไปฟังอีกทีแล้วน่าจะอร่อยขึ้น
อิทธิพลดนตรีส่วนใหญ่ที่เราได้ยินในอัลบั้มนี้มันมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่โซล ซัลซ่า ไปจนถึงแจ๊สฟังก์ ตอนนี้มีแนวเพลงหรือวัฒนธรรมอะไรที่คุณกำลังให้ความสนใจอยู่หรือเปล่า
สำหรับผม จุดมุ่งหมายหลักของอัลบั้ม ‘The New Sound’ คือการพยายามถ่ายทอดทุกอย่างออกมาให้จริงใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการหยิบดนตรีหลากหลายสไตล์มาสร้างสรรค์เป็นผลงานของตัวเอง ทุกอิทธิพล ทุกเอเลเมนต์มันมาจากบรรดาเพลงที่ผมเคยชอบฟังเมื่อช่วงปีก่อน เพลงที่ผมเติบโตมาพร้อมกับมัน หรือเพลงที่ยังคงมอบแรงบันดาลใจและจุดประกายอะไรบางอย่างในตอนนี้
ผมค้นพบว่ามันค่อนข้างท้าทายในแง่ที่เราจะนำมาผสมผสานยังไงให้น่าสนใจมากกว่า ผมจะไม่ค่อยมีช่วงที่รู้สึกว่า “อา…มันยุ่งยากเกินไป เราทำไม่ได้แน่ ๆ เลยว่ะพวก” หรือถึงผมจะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่เคยทำแนวนี้ วิธีการแบบนี้มาก่อน แต่สุดท้ายก็ “โอเค ช่างแม่ง ลองทำดู” เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าจะออกมาดีหรือพลาด แต่ถึงจะพลาดท่าจริง ๆ มันอาจเป็นความผิดพลาดที่ลงตัวแบบไม่ได้ตั้งใจก็ได้ครับ
ขั้นตอนที่ยากที่สุดในอัลบั้มนี้
ส่วนใหญ่คือเรื่องการวางแผนและโปรดักชั่นภายในอัลบั้มนี้ครับ เพราะผมต้องทำงานกับนักดนตรี (Session Musicians) ที่เข้ามามีส่วนช่วยในการบันทึกเสียงหลายคนมาก ๆ คือมันจะมีความกังวลอยู่ประมาณนึง เช่น พวกเขาจะว่างไหม หรือช่วงเวลาไหนที่สามารถเข้ามาอัดในสตูดิโอได้บ้าง คุณอาจมีเวลาแค่เทคเดียว วันเดียวเท่านั้น ไม่มีครั้งที่สอง ผมเลยต้องทำให้แน่ใจว่าเราเลือกทีมงานที่เชี่ยวชาญในแต่ละส่วนมาถูกคนแล้วจริง ๆ ก่อนจะเมคชัวร์อีกครั้งว่าเพลงจะต้องเสร็จสมบูรณ์หรือทุกอย่างจะออกมาเรียบร้อยดี
จิน: อย่างผมชอบแทร็ค ‘Holy Holy’ มากนะ มันให้ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่บอกไม่ถูกเหมือนกัน ทั้งเนื้อสัมผัส ความตึงเครียดของทางคอร์ดโพรเกรสชั่น และความหลากหลายที่ชวนให้นึกถึงเพลงที่ผมเคยเติบโตกับมันมาอย่างเช่นเพลงญี่ปุ่น เลยอยากรู้ว่าคุณคิดเห็นยังไงตอนทำแทร็คนี้
คือผมพยายามทำเพลงนี้ให้ออกมาสนุกหรือน่าดึงดูดมากที่สุด ซึ่งจริง ๆ พวกเรา [black midi] เคยทำอะไรทำนองนี้มาเยอะพอสมควรครับ อย่างการปรับเปลี่ยนทางคอร์ดและสไตล์เพลง จากบรรยากาศเท่ ๆ ที่สักพักก็วกไปในทางอื่น เสร็จแล้วก็ค่อยกลับมาที่จังหวะบ้าคลั่ง แต่สำหรับเพลงนี้ ผมอยากทำให้มันมีจังหวะเดียวกันตลอดทั้งเพลง รวมถึงทางคอร์ดและการสร้างท่วงทำนองให้น่าสนใจขึ้น สังเกตว่าจังหวะใน ‘Holy Holy’ นั้นเรียบง่ายมาก เหมือนกับเพลง ‘Billie Jean’ ของไมเคิล แจ็กสันที่ฟังแล้ว Simple แต่คล้อยตามได้สนุกน่ะครับ
จิน: แล้วมันก็ค่อนข้างที่จะแตกต่างจากแทร็คอื่นในอัลบั้มด้วย เหมือนเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย เจ๋งมาก
ขอบคุณครับ นั่นคือเพลงที่ผมอยากให้เห็นการเปรียบเทียบระหว่างความแตกต่างของซาวด์ที่ดูลื่นไหลกับเนื้อหาที่ตรงกันข้ามสุด ๆ โดยยังรู้สึกได้ถึงความโง่เง่า น่าเศร้า และผ่อนคลายในขณะที่มีหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นแบบชัดเจน เพราะว่าหลายครั้งที่พวกเรา [black midi] มักชอบทำอะไรที่ซับซ้อนเพื่อให้เพลงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่สำหรับผมคิดว่า ถ้าเราถ่ายทอดให้ตรงไปตรงมามันอาจจะดีกว่าในแง่ของการเล่าเรื่องที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นจริงและความบ้า ๆ บอ ๆ แบบที่พอมองให้น่าตลกขบขันได้บ้าง
จากเท่าที่พวกเราเคยฟังผลงานเพลงในโปรเจกต์ก่อนหน้าของคุณ ยอมรับเลยว่าคุณเป็นคนที่เก่งในด้านการเล่าเรื่อง ไม่ก็สามารถครีเอทเนื้อหาแฟนตาซีหลุกโลกได้ แต่สำหรับอัลบั้มนี้ มันกลับมีคอนเซปต์ที่เรียบง่าย และอยู่บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ แต่มันยังคงสร้างสรรค์อยู่ อยากรู้ว่าคุณมีวิธีการเขียนเพลงอย่างไรบ้าง?
จริง ๆ เนื้อหาส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ ผมมักจะพูดถึงพวกเทรนด์ การบ่นอะไรคนเดียวไปเรื่อย หรืออะไรก็ตามที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ไม่ค่อยมีอะไรที่หยิบมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเกิดขึ้นกับผมโดยตรงซักเท่าไหร่ครับ อย่างเช่น ตอนที่คุณออกไปเที่ยวเตร่ข้างนอก ไม่ว่าจะนั่งสังสรรค์อยู่ที่บาร์หรือคลับ แล้วเผอิญคุณก็ดันได้ไปเจอ ได้ไปทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าเข้า จนบางครั้งผมก็คิดสงสัยปนจินตนาการว่าพวกเขาใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลือไปกับอะไรบ้าง
คือผมค่อนข้างประหลาดใจและคิดว่ามันตลกดี เวลาเห็นคนเมาแอ๋หรือกำลังกรึ่มได้ที่ แล้วพวกเขามักจะเล่าเรื่องต่าง ๆ นา ๆ สาธยายทุกสิ่งอย่างทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจจะเล่าให้คุณฟังเลยก็ตาม พอนึกออกไหมครับ ประมาณว่า “เดี๋ยวก่อนพวก นายชักเล่าให้ฟังเยอะเกินไปแล้วนะ” (หัวเราะ) นั่นแหละครับ
มีหลายแทร็คในอัลบั้มนี้ที่ช่วงเริ่มเพลงดูปกติธรรมดาดี สักพักมันก็ค่อย ๆ เลยเถิดไปไกล ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ผมต้องการจะพยายามถ่ายทอดผ่านเนื้อหาและดนตรีที่ฟังแล้วคาดไม่ถึง โดยเปรียบตัวเองเป็นฝ่ายตรงข้ามที่คอยนั่งฟัง จนเกิดรู้สึกอึดอัด เสียใจ หรือมีอารมณ์ร่วมกับเขาไปด้วย
จิน: แล้วปกติคุณไปแฮงค์เอาท์ที่ไหน
ย่านโซโฮ ไม่ก็เซ็นทรัลลอนดอน พวกร้าน The French House อะไรทำนองนั้น (จิน: อ๋อ The French House) คุณเคยมาหรอ? (จิน: ใช่ ผมเคยใช้เวลาอยู่ที่ลอนดอนช่วงนึง ) จริงหรอเนี่ย แล้วเคยไปคลับชื่อ Trisha’s ไหม? (จิน: ยังเลย) แนะนำเลยครับ เป็นอีกร้านที่โคตรดี
เราเห็นคุณกล่าวถึงประโยคที่ว่าด้วยเรื่องราวของ “พิพัธภัณฑ์แห่งความรวดร้าว” [The Museum of Human Suffering] ในคำอธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มนี้ ช่วยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมหน่อยได้ไหม
ใช่ครับ มันอยู่ในแทร็กที่ชื่อ ‘Terra Terra’ เป็นหนึ่งในเพลงที่ผมเขียนให้อยู่ในรูปแบบของเพลงซัลซ่า (ฮัมเมโลดี้) และเพลงนี้เรายังได้ไปบันทึกเสียงในบราซิลจริง ๆ (ทว่า ต้นกำเนิดของซัลซ่านั้นมาจากประเทศคิวบา ส่วนบราซิลเป็นหนึ่งในประเทศแถบอเมริกาใต้ที่ได้รับอิทธิพลมาอีกที) เอเลเมนต์มันอาจจะฟังดูคล้ายแซมบา แล้วผู้คนมักจะสับสนระหว่างสองแนวเพลงนี้ แต่ทั้งซัลซ่าและแซมบามันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนะครับ (จอร์ดี้พรูฟด้วยการฮัมจังหวะให้เราฟัง) ผมเลยจบที่การหยิบดนตรีบราซิลเลียนและเอเลเมนต์ของซัลซ่ามาผสมกันจนกลายเป็นจังหวะเพลงแปลกประหลาด
สำหรับด้านเนื้อหา ผมอยากแต่งเพลงเกี่ยวกับผู้ชายคนนึงที่ตัดใจจากแฟนสาวคนเก่าของเขาไม่ได้ โดยสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แล้วบรรจุตัวเองลงไปท่ามกลางพิพิธภัณฑ์แห่งนั้น เพื่อพิสูจน์ว่าเขารู้สึกเศร้าเสียใจต่อความสัมพันธ์ที่ต้องเลิกรากันไป จริง ๆ มันเป็นเพลงที่ไม่ค่อยมีแก่นสารสำคัญอะไร ค่อนไปทางเพลงอกหักซะมากกว่าครับ
ในฐานะนักดนตรี สำหรับคุณมองว่าการได้มี “อิสระ” มันคืออะไร แล้วอะไรในชีวิตที่เปลี่ยนให้คุณทลายกรอบเดิม เพื่อเริ่มต้นทำในสิ่งที่ Geordie Greep อยากจะทำ หรือเป็นในสิ่งที่อยากจะเป็น รวมถึงนำพาให้คุณสร้างผลงานที่ชื่อ ‘The New Sound’
ไม่รู้นะ สำหรับผมมันเป็นแค่ความรู้สึกที่ว่า ผมอยากจะเดินหน้าต่อพร้อมกับการได้สำรวจดนตรีประเภทใหม่ ๆ ทดลองทำหลาย ๆ อัลบั้มที่แตกต่างกันออกไป โดยก่อนที่จะปล่อยอัลบั้ม ‘The New Sound’ พวกเราทดลองอะไรกันมาหลายอย่างมาก อย่างเช่นการได้มีโอกาสเดินทางไปทัวร์ยังประเทศอื่น ๆ เพื่อร่วมบันทึกเสียงร่วมกับศิลปินและนักดนตรีท้องถิ่นมากหน้าหลายตา ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังอยากทำสิ่งนี้อยู่นะ แค่จะบอกว่า “เดินหน้าต่อไป พยายามทำสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ต่อไปนะครับ”
จิน: คุณมีแพลนจะมาไทยหรือเปล่า
ผมอยากไปเล่นที่ประเทศไทยนะครับ จริง ๆ พวกเรายังไม่เคยไปสักครั้งเลย (จิน: เกาหลีใต้ล่ะ?) อา…ผมเคยไปเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย บาหลี และก็ญี่ปุ่น แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปประเทศไทยเลย เพื่อนผม [Black Country, New Road] เคยไปเล่นที่ไทยรอบนึง แล้วพวกเขาก็บอกว่าเมืองที่อยู่นี่โคตร Cheeky แปลกดีครับ (หัวเราะ) วงคุณอยู่ที่ไหนนะครับ? (จิน: กรุงเทพฯ ครับ เป็นเมืองที่ดีนะ แล้วก็ค่อนข้างหลากหลาย ติดตรงที่โครตร้อน)
SALAD พึ่งปล่อยอัลบั้มแรกของตัวเองวันนี้เลย
ว้าว จริงหรอ! เป็นยังไงบ้างครับ? (จิน:ดีครับ คือวงผมก็ค่อนข้างใหม่มาก ๆ ในแง่อายุวงที่พึ่งฟอร์มได้ไม่นาน) วงชื่อ SALAD ใช่ไหมครับ? (จิน: ใช่ครับ มีให้ฟังบน Spotify อัลบั้มชื่อ ‘21st Century in a Nutshell’) เจ๋งเลย เดี๋ยวผมลองไปฟังดูนะ
ถัดจากภาพลักษณ์ที่แฟน ๆ เคยมีต่อคุณ เราก็ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็นอีกด้านของ Geordie Greep นะ โดยเฉพาะในแทร็ค ‘If You Are But A Dream’ ที่ค่อนข้างมีความนุ่มนวลและโรแมนติก อยากรู้ว่าคุณบาลานซ์ความสมดุลระหว่างจิตใจและดนตรียังไงภายในโลกที่เต็มไปด้วยความโกลาหลแบบนี้
ผมว่ามันก็เหมือนกับหนังแหละครับ แบบหนังที่ต้องเล่นฉากแอ็คชั่นประมาณ 10 รอบในรวดเดียว (หัวเราะ) อย่างเรื่อง ‘Die Hard’ (1988) พวกเขาก็จะคอยแทรกฉากสนุก ๆ เข้ามาบ้าง คือบางทีชีวิตเราก็ล้วนมีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่นับเป็นเรื่องท้าทายและอยากให้เราลองทำ
หรืออย่างเรื่องดนตรีก็ลองคิดว่า “โอเค เราจะเล่นกีตาร์ไฟฟ้ายังไงให้มันน่าสนใจวะ” ซึ่งทุกอย่างในอัลบั้มนี้ล้วนอิงมาจากบรรดาเพลงที่ผมชอบ แบบชอบจริง ๆ แต่ผมก็จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมถึงชอบล่ะ?”, “ไอสิ่งนั้นมันมีอะไรดีอยู่นะ” คือหลายคนอาจจะมองว่าผมเป็นพวก Rock Guys ชอบฟังแต่เพลงร็อก แต่ไม่ใช่หรอกครับ ดนตรีประเภทอื่นมันก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ แค่เราต้องหาทางเอามามันใส่หรือปรับใช้ให้ออกมาพอดี
อยากฝากอะไรถึงแฟนเพลงชาวไทยที่กำลังรอฟังอัลบั้มชุดใหม่ของคุณไหม?
ผมหวังว่าทุกคนจะเอนจอยนะครับ อย่าฟังมันจนเครียดหรือซีเรียสกับดนตรีมากเกินไป (หัวเราะ) ท้ายที่สุดแล้ว ดนตรีที่ดีคือดนตรีที่ทำให้คุณรู้สึกแฮปปี้ หรือได้ปลดปล่อยความคิด และแน่นอนว่าประเทศไทยน่าจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เหมาะแก่การได้ไปเล่นดนตรีสดด้วย ผมหวังว่าปีหน้าเราทุกคนจะได้เจอกันนะ ขอบคุณครับ
อ่านต่อ CAN วงจากเยอรมนีที่ทำให้เสียงของ Krautrock ดังไปทั่วโลก
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist