พาเที่ยว Taipei Music Expo: หนึ่งในโปรเจกต์ 2024 TRENDY TAIPEI ยกระดับวงการดนตรีไต้หวัน ที่ไทยทำได้แค่ฝัน!

by McKee
103 views
2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

2024 TRENDY TAIPEI โปรเจกต์ระดับประเทศที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลเมืองไทเป มุ่งเน้นการผสมผสานดนตรีเข้ากับศิลปะ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นการร่วมมือกันโดยภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับเมืองไทเปไปสู่เวทีโลก มีศูนย์กลางคือ Taipei Music Center ตั้งเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมดนตรีของไต้หวันผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศรวมถึงเชื่อมต่อทางธุรกิจไปทั่วโลก พร้อมทั้งแสดงถึงศักยภาพของศิลปินไต้หวันในเวทีระดับโลก งานนี้มีคอนเซปต์เก๋ ๆ ว่า “recharging” (การเติมพลัง) และ “discharging” (การปลดปล่อย) ความสร้างสรรค์ให้กับคนไต้หวัน

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

Taipei Music Center (TMC) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปของไต้หวันตั้งแต่ปี 2020 กับการเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้ปล่อยของ ผลักดันอุตสาหกรรม บ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ และคอยเชื่อมต่อกับซีนดนตรีโลก พวกเขาจึงจัดงาน Taipei Music Expo (TMEX) ขึ้นมาในวันที่ 7-8 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานเทศกาลสองวันที่มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมดนตรี ตั้งแต่ศิลปิน คนทำงานเบื้องหลัง ค่ายเพลง ผู้จัดไปจนถึงเจ้าของเทศกาลดนตรี มาแลกเปลี่ยนทางธุรกิจเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมดนตรีให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ด้วย ‘International Panel Session‘ ซึ่งจัดขึ้นโดยทีม NPCC Curating Co. และงาน Music Showcase ในชื่อ JAM JAM ASIA

ทีมคอสมอสได้รับเชิญให้บินไปร่วมงานด้วย และบอกตรง ๆ เลยว่าในฐานะคนไทย เราอิจฉาไต้หวันมาก พวกเขามีภาครัฐที่สนับสนุนซีนดนตรีอย่างจริงจัง ทั้งในระดับธุรกิจที่ผลักดันให้ซีนดนตรีเติบโตอย่างเป็นระบบ หรือให้ทุนกับศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับการเสพดนตรี แถมยังเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมดนตรีโลกไปพร้อมกัน และที่น่าอิจฉาที่สุดคือ เขาบ่มเพาะคนในประเทศให้เป็นคนฟังเพลงที่พร้อมจะสนับสนุนศิลปินในประเทศทุกคนไปด้วย

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

เราจะพาทุกคนไปทัวร์งานนี้กันเต็ม ๆ ว่าการจัดงานแบบนี้มันสำคัญยังไงกับประเทศ และทำไมเราถึงต้องมีงานแบบนี้บ้างในประเทศของเรา

Taipei Music Center (TMC) ศูนย์กลางดนตรีไต้หวันที่รองรับการเติบโตเพื่อไประดับโลก

ก่อนอื่นเราจะขอพูดถึงสถานที่จัดงานนี้ก่อน เพราะเป็นหนึ่งรากฐานที่สำคัญของโปรเจกต์ 2024 TRENDY TAIPEI โดย TMC สร้างอยู่ในเขตหนานกั่ง เมืองไทเป เป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานดนตรีและไลฟ์สไตล์ ด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และพื้นที่การแสดงกลางแจ้ง TMC ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีของไต้หวัน ผ่านการจัดงานต่าง ๆ ทั้งส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ และอนุรักษ์มรดกทางดนตรีไต้หวัน อีกทั้งยังผลักดันเพลงของไต้หวันไปสู่สายตาชาวโลก พร้อมเปิดรับนวัตกรรมและความร่วมมือจากทั่วโลก

ตัวอาคารหลักเป็นจะฟังก์ชั่นเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยมีนิทรรศการถาวรชื่อว่า “Music Island Stories: Pop Music in Taiwan” ซึ่งจัดแสดงประวัติศาสตร์ดนตรีป๊อปของไต้หวันผ่าน 12 โซน โดยมีสิ่งของจัดแสดง 1,326 ชิ้นและเพลงคลาสสิกกว่า 111 เพลง ครอบคลุมพื้นที่สามชั้น นิทรรศการนำเสนอเรื่องราวผ่านเพลงป๊อปเพื่อกระตุ้นความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันและเชื่อมโยงดนตรีจากรุ่นสูารุ่น ที่ล้อไปกับประวัติศาสตร์ของประเทศไต้หวันด้วย ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับการเดินทางทางดนตรีที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมดนตรีของไต้หวันที่บ่มเพาะมาหลายร้อยปี

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

หนึ่งในโซนที่เราประทับใจที่สุดในนิทรรศการนี้ คือ “Live Music and Festival” ที่วงนอกกระแสของไต้หวันช่วงยุค 90’ ปลี่ยนจากการคัฟเวอร์เพลงต่างประเทศมาเป็นการสร้างสรรค์เพลงต้นฉบับในแบบตัวเอง ศิลปินเหล่านี้แหละคือกลุ่มคนที่วางรากฐานสำหรับวงการดนตรีอิสระของไต้หวัน และสร้างวัฒนธรรมไลฟ์เฮ้าส์ขึ้นมา ดึงดูดคนหนุ่มสาวนับพันให้หันกลับมาชมคอนเสิร์ตมากขึ้น ปัจจุบันดนตรีอินดี้กลายเป็นกระแสหลักสำหรับคนรุ่นใหม่ 

สิ่งที่ชอบในโซนนี้คือเขารวบรวมงานดีไซน์ของงานที่ดัง ๆ ทั้งพวกสเก็ตเวที สเก็ตโปสเตอร์เทศกาลดนตรี รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งริชแบนด์ Merch ไปจนถึงตั๋วคอนเสิร์ต ใครที่อยากจัดงานของตัวเองบ้างก็สามารถมาดูตัวอย่างในโซนนี้แล้วนำไปปรับใช้ได้เลย เรียกว่าบันดาลใจกันเต็มที่

รอบ ๆ ตัวตึกของ TMC เองก็ยังมีฮอลล์คอนเสิร์ตที่จุคนได้ครึ่งหมื่นและไลฟ์เฮ้าส์อีกสามแห่งที่ดูแลโดยหน่วยงานรัฐและคนในซีนดนตรี ซึ่งเราจะขอลงรายละเอียดอีกทีในส่วนต่อไป แล้วยังมีโซน Plaza ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างไลฟ์เฮ้าส์ทั้งหมด ซึ่งรวบรวมทุกสิ่งเกี่ยวกับดนตรีไว้หมดแล้ว ตั้งแต่ห้องซ้อม ร้านขายเครื่องดนตรี ร้านขายไวนิลซีดี ร้านอาหาร ร้านเหล้า ซึ่งรองรับคนได้ถึง 3,000 คน 

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

แถมยังมีพื้นที่กว้างใช้สำหรับจัดงานดนตรีกลางแจ้งได้อีกด้วยในโซนเดียวกัน เรียกว่าออกแบบมาสำหรับงานดนตรีโดยเฉพาะ บอกเลยว่าโคตรอิจฉา คิดว่าถ้าไทยจะทำตามได้ก็คงใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 ปี แต่ไต้หวันเขาคิดมาก่อนเราแล้วเป็นสิบปี

Taipei Music Expo (TMEX) เชื่อมต่ออุตสาหกรรมดนตรีไต้หวันเข้ากับโลก

กลับมาที่งานของเรา TMEX รวบรวมธุรกิจดนตรีกว่า 40 แห่งจากไต้หวันและต่างประเทศ รวมถึงเทศกาลดนตรี ค่ายเพลง และบริษัทจัดการศิลปิน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจในอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปของไต้หวัน นอกจากนี้ TMC ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี 25 คนจาก 12 ประเทศ เพื่อช่วยขยายตลาดดนตรีให้เติบโตไปพร้อมกันทั้งโซนเอเชีย

โดยในงานนี้ก็ประกอบด้วยอีเว้นต์มากมาย ได้แก่ ‘Exhibition Trade Show’ ที่ให้เทศกาลดนตรีในไต้หวัน 20 แห่ง รวมถึงบริษัทแผ่นเสียง สื่อ ค่ายเพลง ผู้จัดคอนเสิร์ต ฯลฯ มารวมตัวกันออกบูธเพื่อขายของ ซึ่งพ่วง ‘Roadshow’ ที่เปิดเวทีให้ทุกคนที่มาออกบูธได้แชร์นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือแผนสำหรับอุตสาหกรรมดนตรีและแนวทางส่งเสริมวัฒนธรรมในประเทศ รับฟังข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบนิเวศของซีนดนตรีและความก้าวหน้าล่าสุดในธุรกิจดนตรีของไต้หวัน

แต่อีเว้นต์ที่เราอยากโฟกัสที่สุดในงานนี้ คือส่วนของ ‘International Panel Session’ หรืองานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยทีม NPCC Curating Co. ไต้หวัน ซึ่งเชิญคนในอุตสาหกรรมดนตรีเอเชียมาแลกเปลี่ยนและถกเถียงกันในประเด็นต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมดนตรี บอกเลยว่าแต่ละหัวข้อน่าสนใจ และการพูดคุยกันก็สนุกมาก ทีมคอสมอสเลยพยายามรวบรวมและสรุปมาให้ทุกคนได้อ่านกันในแต่ละหัวข้อเลย

Tuning into the Future of Sound: How AI is redefining Music Creation, Production, and Consumption
สำรวจเสียงจากอนาคต: AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการดนตรียังไงบ้าง

ประเดิมกันด้วยหัวข้อแรก ที่ตอบรับกระแสที่มาแรงของ AI ที่ตอนนี้เข้ามามีบทบาทในวงการดนตรีมากขึ้น จากการใช้ AI ในการเขียนเพลง ซึ่งช่วยตอบโจทย์อารมณ์ของคนฟังได้เกือบทุกความต้องการ โดยไม่ต้องลงทุนไปกับขั้นตอนโปรดักชั่นที่มีราคาแพง Stable Audio คือหนึ่งในโมเดลที่ได้รับความนิยมมาก ๆ เพราะเราแค่เขียนคำสั่ง (prompt) เข้าไป AI ก็จะช่วยเนรมิตตามที่เราเขียนออกมาได้เลย แต่ตอนนี้มันอาจจะยังสร้างสรรค์ผลงานที่ลึกซึ้งเท่ากับมนุษย์ไม่ได้เท่านั้น

ในหัวข้อนี้เราอยู่กับ Mike Constantino จากทีม Sonik Philippines งาน Music Showcase ชื่อดัง และ David Siow co-founder ของ Axean Festival งาน music showcase ที่ยิ่งใหญ่ในเอเชีย พวกเขาเสนอความคิดเห็นว่าทุกคนอาจจะเครียดกับการมาถึงของ AI ในอุตสาหกรรมดนตรีมากไป เขาเห็น AI มากมายที่เปิดให้ใช้ได้จริง และมีคนที่สนใจที่จะเริ่มแต่งเพลงของตัวเองมากมาย และ AI ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมาย จากการทำเพลงสั้น ๆ เหล่านี้โดยไม่ต้องเสียเงินเลยซักบาท พวกเขาแค่อยากนำเพลงเหล่านี้ไปใช้ในโปรเจกต์เล็ก ๆ ของตัวเอง และ AI ยังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ หรือความสร้างสรรค์ที่เราคาดไม่ถึง

อีกส่วนหนึ่งของสัมมนานี้ ก็มีการเปิดวีดีโอเพื่อสอนใช้ AI แบบเข้าใจง่าย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและลองนำไปใช้ด้วยตัวเองได้ที่บ้านเลย ซึ่งมีตั้งแต่การสอน prompt การใช้ Spit Tools เพื่อนำเสียงบางส่วนไปใช้ต่อ หรือการออโต้จูนเสียงร้องได้โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านซาวด์เอนจิเนียร์ก็ตาม

Mike บอกว่าศิลปินหลายคนใช้ AI เพื่อก้าวข้ามกำแพงความสร้างสรรค์ Creative Block ของตัวเอง หรือใช้เพื่อทดลองเทคนิกใหม่ ๆ แต่ยังไง AI เป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้พวกเราทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าเราจะมีวัตถุดิบที่ดีแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วมันก็ยังต้องพึ่งความสร้างสรรค์ของศิลปินในการจบงานอยู่ดี

และมาถึงประเด็นที่หลายคนถกเถียงกันถึงลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย ซึ่งกฎหมายในหลายประเทศเองก็แตกต่างและตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ทันเหมือนกัน สปีกเกอร์ในหัวข้อนี้ต่างก็เป็นคนที่สนับสนุน AI อยู่แล้วจึงเสริมว่า ถ้าเจ้าของเพลงยินดีที่จะให้ AI เรียนรู้จากเพลงของเขาเท่านั้นก็จบ เขาจึงยกตัวอย่างร้านอาหารที่ใช้ AI สร้างเพลงของร้านขึ้นมา โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เพลงให้กับค่ายเพลง

ในอนาคต AI จะเข้ามาปฏิวัติวงการเพลงได้แน่นอน ในแง่ของการทำงานของศิลปินและเชิงการตลาด แต่ผู้ใช้เองก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายและศีลธรรมในการนำ AI ไปใช้ด้วยเหมือนกัน

The Ultimate Roadmap: Inside the World of International Music Festival
เปิดสูตรสำเร็จ: เทศกาลดนตรีระดับโลกกำลังทำอะไรกันอยู่

ปีที่ผ่านมา เทศกาลดนตรีในประเทศอังกฤษนั้นต้องเจอกับปัญหายอดขายบัตรที่ลดลงถึง 4% พูดแบบนี้ตัวเลขอาจจะดูน้อย แต่ความจริงแล้วมันคือเม้ดเงินมหาศาลที่ทำให้หลายเฟสติวัลต้องยกเลิกหรือโปรโมเตอร์บางคนต้องวางมือจากอุตสาหกรรมนี้เลย ปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญคือเด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อบัตรไหว และผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ด้วยข้อจำกัดของอายุและสภาพร่างกาย ทำให้หลายเฟสติวัลต้องปรับตัวด้วยการโฟกัสกับตลาดทางเลือก (niche) มากขึ้น แทนการจัดงานสเกลใหญ่ ๆ หรืองานแมส ๆ

ในหัวข้อนี้ก็พาเราทุกคนไปสำรวจเทศกาลดนตรีระดับโลกทั้ง 3 ประเทศ ผ่านผู้จัดหรือคิวเรเตอร์ของงาน ได้แก่ Bagas Indyatmono จากอินโดนีเซีย, Lubna Shaheen จากอินเดีย และ Matthew MacPhee เวียดนาม ที่มีคอนเซปต์เฉพาะตัวแตกต่างกันตามแต่ละวัฒนธรรม ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเจอ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงสังคมเพื่อทำให้งานของตัวเองยั่งยืน ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับทั้งสามเฟสติวัลก่อน

Jazz Gunung Festival: งานแจ๊สเฟสติวัลที่จัดขึ้นกลางหุบเขาด้วยวิวเวทีที่หน้าตื่นตาในอินโดนีเซีย พร้อมอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองได้อย่างลงตัว ซึ่งงานมีจุดแข็งที่ราคาบัตรย่อมเยา พร้อมการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างแข็งแรงจากการสร้างเศรษฐกิจให้คนพื้นเมือง รวมถึงใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับโลกเกือบ 90% ของงานทำให้สร้างบรรยากาศของธรรมชาติที่หาไม่ได้ในงานไหน ๆ ด้วย

Ziro Festival: จัดในเขต Ziro Valley ทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ให้กับเสียงดนรีของศิลปินท้องถิ่น รวมถึงการพาศิลปินต่างประเทศมาร่วมสนุกด้วยกัน ซึ่งงานนี้ก็ยังทำงานกับคนพื้นถิ่นด้วยการใช้ทรัพยากรในเขตนั้นทั้งหมด จุดเด่นอีกอย่างของงานนี้คือการที่งานเฟรนลี่กับคนทุกวัย สามารถพาทั้งครอบครัวมาเที่ยวงานนี้ได้เลย

Outlandish Festival: โดดเด่นในเรื่องไลน์อัพที่หลากหลายและฉีกจากกรอบเดิม ๆ พวกเขากลายเป็น Trendsetter ของฝั่งดนตรีไปเลย แล้วยังเป็นเฟสติวัลที่เชิดชูทั้งดนตรีและศิลปะไปพร้อมกัน ด้วยการคอลแลปส์กับศิลปินท้องถิ่นพร้อมจัดงานเล็ก ๆ โปรโมตเฟสติวัลไปด้วย สร้างคอมมูนิตี้ของคนฟังเพลงให้รู้สึกเอ็กคูลซีฟและเป็นแฟนของเฟสติวัลนี้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งงานนี้เองก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

มาถึงประเด็นสำคัญอย่างความท้าทายที่แต่ละงานต้องเผชิญ ซึ่ง Bagas เล่าว่าปัญหาหลักของ Jazz Gunung Festival ของเขาคือการเดินทาง แต่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนพื้นที่ทำให้ชุมชนเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งการใช้การขนส่งของท้อนถิ่น หรือการให้คนในชุมชนช่วยเปิดโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเฟสติวัลของเขา นอกจากจะทำให้จำนวนคนที่มาร่วมงานเพิ่มขึ้น ยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการมาเฟสติวัลนี้ลดลงเยอะมากด้วย แถมยังสร้างงานสร้างอาชีพมากมายให้กับคนในพื้นที่

ส่วน Ziro Festival เอง Lubna บอกว่าเธอโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่เริ่มทำ ทำให้เธอไม่ต้องกังวลกับเงินจากค่าบัตร และนำเงินส่วนหนึ่งไปซัพพอร์คนในพื้นที่แทน และให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในเฟสติวัลจากการจัดเวิร์คช็อปหรือแสดงงานสร้างสรรค์ในเฟสติวัล เพิ่มความกว้างของช่วงอายุคนที่จะมางานเฟสติวัลของเธอ

ส่วน Matthew เองก็แชร์ให้พวกเราฟังว่า เทศกาลดนตรีในเวียดนามนั้นมักจะมีไลน์อัพซ้ำ ๆ และไม่หลากหลายเพราะผู้จัดแต่ละคนไม่ร่วมมือกัน Outlandish Festival จึงพยายามนำเสนอศิลปินที่แตกต่าง พร้อมกับบาลานซ์ค่าใช้จ่ายกับค่าบัตรไปพร้อมกัน ซึ่งเขาได้มีโอกาสเจอกับคนทำงานในพื้นที่พร้อมสร้างถนนสำหรับมาที่เฟสติวัลพร้อมทั้งร่วมงานกับระบบขนส่งท้องถิ่น ทำให้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่มางานลดลงไปด้วย และในงานนี้ยังมีบัตรสำหรับนักเรียนที่ราคาถูกเพื่อให้เขาเข้าถึงเฟสติวัลได้ง่ายขึ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่

สังเกตว่าสิ่งที่ทำให้ทุกเทศกาลดนตรีที่พูดถึงแตกต่างจากงานอื่น ๆ คือการลงไปคลุกคลีและะทำงานกับคนพื้นที่อย่างจริงจัง ทั้งสามงานต่างให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน รวมถึงการที่คำนึงคนมางานเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ซึ่งทำให้เกิดกระแสบอกต่อที่ทำให้คนสนใจเฟสติวัลเองโดยไม่ต้องพึ่งการโฆษณาใหญ่โตอะไรเลย

The Survival Guide for Live Houses: Obstacles and Solutions
คู่มือคู่ไลฟ์เฮ้าส์: ทุกอุปสรรคมีทางออก

ไลฟ์เฮ้าส์และเวนิวทั่วโลกต้องเจอกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการเติบโตทางอุตสาหกรรมดนตรีที่ชะลอตัว และโดยเฉพาะช่วงหลัง pandemic ที่หลายแห่งต้องเจอกับความยากลำบากในการกลับมาเป็นพื้นที่ทางดนตรีอีกครั้ง ในหัวข้อนี้เราอยู่กับเจ้าของหรือคนดูแลไลฟ์เฮ้าส์ 4 แห่งจากทั่วเอเชีย ซึ่งพวกเขาปรับตัวเพื่อยังคงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ต่อไปได้ โดยบาลานซ์เสียงดนตรีและธุรกิจให้ไลฟ์เฮ้าส์ของพวกเขายังเดินหน้าต่อไปได้

Live Fact Studio เป็นไลฟ์เฮ้าส์ขนาดเล็กตั้งอยู่ในเมืองโคตา มาเลเซีย บริหารโดย Mak Wai Hoo เขาเลือกที่จะลดต้นทุนของการบริหารไลฟ์เฮ้าส์ของเขาให้ต่ำที่สุด นอกจากจัดคอนเสิร์ตแล้ว เขายังเปิดพื้นที่ให้ศิลปินมาเช่าใช้เป็นห้องซ้อม ถ่ายโฆษณา หรือทำอีเว้นต์ต่าง ๆ ในสายศิลปะและทำตลาดด้วย

Phoenix Central Park เป็นเวนิวขนาดกะทัดรัด 140 คนที่เคยได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรมอันสวยงามในออสเตรเลีย Josh Milch โปรดิวเซอร์ของที่นี่เล่าให้ฟังว่า พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่จนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และสามารถทุ่มเทให้กับดนตรีและศิลปินได้เต็มที่ อย่างการจัดงานคอนเสิร์ตให้ศิลปินหน้าใหม่ได้ทุกอาทิตย์โดยทุกคนเข้าชมฟรี แถมยังมีงาน perfomance art มากมายมาจัดที่นี่ด้วย

KT&G Sangsang Madang เป็นเวนิวที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ทำให้ Jeong Joo Ran มีต้นทุนในการผลักดันโปรเจกต์เกี่ยวกับดนตรีมากมาย เช่น ‘My First Concert’ ที่คิวเรตศิลปินอินดี้ที่น่าจับตามอง หรือรายการประกวดดนตรีอย่าง Band Discovery และความที่บริษัทแม่มีสื่อด้วย ทำให้การได้มาเล่นที่นี่จะช่วยโปรโมตให้วงเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ด้วย

duo Music Exchange ไลฟ์เฮ้าส์ใจกลางชิบุยะที่มีงานทุกวัน ซึ่งทุกวงที่คัดมาคือศิลปินที่มีฝีมือและน่าจับตามองในช่วงนั้น Ryota Nishimura เล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครของสถานที่นี่ ทั้งเวทีที่ต่ำเพื่อลดระยะห่างระหว่างแฟนเพลงและศิลปิน

ซึ่งแต่ละประเทศเองก็เจอปัญหาที่ไม่เหมือนกันตามแต่ละวัฒนธรรมในการเสพดนตรีของแต่ละที่ คุณ Ryota แชร์ให้พวกเราฟังว่าเด็กรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นเริ่มไม่เข้าไลฟ์เฮ้าส์กันแล้วเพราะหันเหความสนใจไปที่การ์ตูนและเกมมากกว่า ซึ่งทำให้เขาต้องควบคุมราคาบัตรให้ยังจับต้องได้ พร้อมบริหารความคาดหวังของผู้ชมที่อยากดูโชว์ดี ๆ ไปด้วย

คุณ Mak เองก็บอกว่าที่มาเลเซีย คนฟังเพลงมักจะไปเฟสติวัลกันมากกว่าจะมาไลฟ์เฮ้าส์ จึงต้องงัดความครีเอทีฟทุกอย่างมาใช้ อย่างการดึงศิลปินชื่อดังมาเพื่อสร้างกระแสให้ทุกคนหันกลับมาดูโชว์เล็ก ๆ แบบนี้บ้าง ส่วนคุณ Joo Ran เองก็เล่าให้ฟังว่ารัฐบาลของเธอมีงบให้กับตลาดเพลงนอกกระแสไม่เคยพอ และทุ่มงบให้กับดนตรีพื้นบ้านเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้การต้องพยายามกันมากขึ้น

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในธุรกิจนี้คือช่วงหลังจาก pandemic ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ดูแลไลฟ์เฮ้าส์ทั้ง 4 แห่งต่างก็ใช้ Live Streaming ในการเชื่อมต่อกับแฟน ๆ และซัพพอร์ตศิลปินต่อไป คุณ Mak เล่าว่าในช่วงแรกที่ต้องยกเลิกการแสดงทั้งหมดทำให้เขาขาดรายได้ แต่โชคดีที่ผู้ให้เช่ายอมผ่อนผันค่าเช่าให้สามเดือน ซึ่งเมื่อคุณ Mak เปิดรับบริจาค ใช้เวลาไม่กี่วันก็สามารถจ่ายค่าเช่าสามเดือนนั้นได้เลย

และสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอิจฉามาก ๆ คือทั้ง 4 ประเทศนั้นได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในช่วง pandemic ทุกที่ แม้บางประเทศอาจจะไม่ได้มากมายอะไรแต่ก็สามารถอยู่รอดมาจนพ้นช่วง pandemic ได้ และการกลับมาของคอนเสิร์ตก็ทำให้บัตรขายได้อย่างถล่มทลายทุกประเทศ เพราะผู้คนอัดอั้นจากช่วงกักตัวกันสุด ๆ

ซึ่งหลังจากผ่านช่วงนั้นมาได้ ไลฟ์เฮ้าส์ทุกแห่งต่างก็เริ่มปรับตัวและเอาตัวเองออกจากกรอบของคอนเสิร์ตไปเลย ซึ่งหลายแห่งปรับตัวให้สามารถเป็นห้องซ้อมหรือสตูดิโออัดเสียงได้ด้วย รวมไปถึงการจัดอีเว้นต์ต่าง ๆ หรืออย่าง duo Music Exchange เองก็มีโซนสำหรับให้ศิลปินมาทำอีเว้นต์แฟนมีตของศิลปินได้เลย โจทย์สำคัญสำหรับไลฟ์เฮ้าส์ยุคนี้คือการดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเสพดนตรีสดให้ได้ รวมถึงสร้างคอมมูนิตี้กับศิลปินให้แข็งแรงเพราะต้องพึ่งพากันต่อไป

Being TRENDY: Starting from the Museum of Pop Culture (MoPOP)
อยากตามเทรนด์โลกให้ทัน: เริ่มที่ Museum of Pop Culture (MoPOP)

สำรวจเบื้องหลังความสำเร็จและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับ The Museum of Pop Culture (MoPOP) โดยซีอีโออย่างคุณ Michele Y. Smith ที่มาไขความลับว่าทำไม MoPOP ถึงเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับป็อปคัลเจอร์ที่ดีที่สุดในโลก

MoPOP ตั้งอยู่ในซีแอตเทิล, วอชิงตัน เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับทุกสิ่งที่กำลังเป็นกระแสบนโลกอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ดนตรี ภาพยนตร์ นิยายวิทยาศาสตร์ เกม ไปจนถึงแฟชั่น ทั้งการออกแบบที่น่าตื่นตาและการใช้เทคโนโลยีล้ำยุคที่สุด เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เป็นส่วนหนึ่งในโลกจำลองนี้อย่างไร้ที่ติ

นิทรรศการที่เป็นตัวชูโรงของที่คือ คือการรวบรวมอัตชีวประวัติและผลงานของสองศิลปินระดับที่เกิดในเมืองแห่งนี้ ได้แก่ Jimi Hendrix และ Nirvana พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมชิ้นงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทั้งสองคนไว้มากมาย ตั้งแต่กีตาร์ที่ใช้ ไปจนถึงเนื้อเพลงที่เป็นลายมือของทั้งสองศิลปิน ผู้ชมจะได้สัมผัสช่วงชีวิตของพวกเขาในฐานะไอคอนของ rock and roll ผ่านระบบอินเทอร์แอคทีฟที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาของแนวดนตรีของพวกเขา หรือได้ลองเล่นดนตรีไปกับพวกเขา รับแรงบันดาลใจจากคนที่ช่วยกำหนดทิศทางของแนวดนตรีให้กับอุตสาหกรรม

นอกจากสองศิลปินนี้แล้ว ยังมีนิทรรศการเจ๋ง ๆ อีกมากมาย ทั้ง ‘Contact High’ ที่รวบรวมหน้าประวัติศาสตร์ของดนตรีฮิปฮอปในเชิงการเมือง วัฒนธรรมผิวสี แฟชั่นของอเมริกาจากยุค 80 ทั้ง 4 ยุคไว้ ผ่านภาพถ่ายจริงที่มิวเซียมนี้รวบรวมไว้ได้ หรืออีเว้นต์อีกมากมายที่ได้ร่วมงานกับป็อปไอคอลของวงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็น Blackpink หรือ Taylor Swift ก็ล้วนถูกออกแบบมาอย่างใส่ใจเพื่อให้แฟนเดนตายทุกคนได้สัมผัสอีกด้านหนึ่งของศิลปินเหล่านี้ด้วย

อย่างที่กล่าวไปก่อนน้านี้ พวกเขายังมีนิทรรศการอื่น ๆ ที่จะทำให้คนรักป็อปคัลเจอร์ต้องตกหลุมรัก โดยปีนี้พวกเขาก็จัดนิทรรศการสำหรับคนรัก Dragon Ball อีกด้วย ถูกใจเด็กวัยรุ่นตอนปลายกันสุด ๆ ถ้าได้มีโอกาสแวะไปซีแอตเทิลต้องไม่พลาดที่จะไปมิวเซียมแห่งนี้

The Evolution of Fan Clubs: Obstacles and Solutions
พัฒนาการของลัทธิแฟนคลับ: อุปสรรคและโอกาส

หัวข้อนี้เรามาพูดถึงอีกเรื่องที่น่าสนใจมาก แม้แต่วัฒนธรรม “แฟนคลับ” เองก็พัฒนาตามอุตสาหกรรมดนตรีไปด้วยเหมือนกัน สมัยก่อน เราอาจจะชอบเพลงเพลงหนึ่งโดยที่ไม่ต้องเป็นแฟนคลับวงก็ได้ แต่สมัยนี้ การเป็นแฟนมีความหมายมากมายสำหรับทั้งตัวศิลปินและคนฟังเพลง หัวข้อสนทนานี้พาเราเข้าไปสำรวจโลกของแฟนคลับและการบริหารความรักนี้ให้ศิลปินเติบโตขึ้น มีผู้บรรยายสามคน ได้แก่ Kate Chang ซีอีโอจาก Fantimate, Rueifeng Yang ซีอีโอจาก Funfull Entertainment ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นบริษัทที่ดูแลส่วนการตลาดของศิลปิน และ 陳冠亭 นักข่าวสายดนตรีจาก Blow

ในยุคนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับแฟนคลับนั้น ไม่ใช่แค่หลงใหลในเสียงดนตรีของพวกเขา แต่มันหมายถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของศิลปิน เส้นระหว่างความจริงและความแฟนตาซีเริ่มไม่ชัดเจนขึ้นเรื่อง ๆ แฟนคลับบางคนถึงกลับพูดได้เต็มปากว่า ถึงจะรู้ว่าถูกหลอกแต่ก็เต็มใจให้หลอก

ยิ่งแฟนคลับได้ใช้เวลาไปกับการฟังเพลง ดูคอนเสิร์ตของศิลปิน หรือติดตามเขาในโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพิสูจน์ถึงความเป็นแฟนพันธุ์แท้เท่านั้น เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีของศิลปินด้วย

คนฟังเพลงหลายคนใช้วัฒนธรรมแฟนคลับในการหนีออกจากโลกความจริง การได้เป็นแฟนคลับใครซักคนไม่ใช่แค่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับเขาเท่านั้น แต่หมายถึงได้เป็นส่วนหนึ่งคอมมูนิตี้ที่มีคนคล้าย ๆ กัน แม้จะต้องจ่ายตังเพื่อได้เป็นส่วนหนึ่งก็ตาม ซึ่งแฟนคลับเหล่านี้ก็จะเป็นกระจกสะท้อนภาพของศิลปินที่ไม่ซ้อนทับกับสิ่งที่ค่ายโปรโมตเลย ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ศิลปินปฎิบัติกับแฟนคลับเท่านั้น

ก่อน pandemic แฟนคลับคาดหวังถึงความใกล้ชิดกับศิลปิน ใกล้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงทำให้งานคอนเสิร์ตหรืองานแฟนมีตได้รับผลตอบรับดีมาก แต่หลัง pandemic พวกเขาหันไปโฟกัสกับตัวตนบนโลกออนไลน์ของศิลปินแทน

และแฟนคลับเดนตายจะไม่ได้จ่ายแค่เงินเพื่อครอบครอง merchandise ทุกอย่างที่วงมี แต่แฟนคลับเหล่านี้จะช่วยศิลปินทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ด้วย เช่น การตีความเนื้อเพลง MV ทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าฝ่ายการตลาดของวงพยายามควบคุมประสบการณ์ที่แฟนเพลงจะได้รับมากเกินไป นอกจากความสัมพันธ์ที่ลึกซึ่งระหว่างวงกับแฟนคลับจริง ๆ

แต่ในซีนนอกกระแสนั้น ศิลปินกลับโฟกัสแต่กับเพลงของตัวเองเท่านั้น จนละเลยการสร้างความสัมพันธ์กับแฟนคลับ แต่ในซีน k-pop และ j-pop พวกเขาจะนึกถึงการเข้าหาแฟนคลับเป็นอันดับหนึ่งเสมอ เพื่อให้ศิลปินลงทุนและลงแรงไปกับการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางศิลปินของพวกเขา ถึงขนาดใช้ความหลากหลายของตัวศิลปินในวงเพื่อที่จะได้เชื่อมต่อกับแฟนเพลงได้ทุกรูปแบบ

เราปฎิเสธไม่ได้ว่าแฟนคลับมีส่วนสำคัญมาก ๆ ในความสำเร็จของศิลปิน ศิลปินต้องเข้าใจฐานแฟนของตัวเองและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างปฎิสัมพันธ์กับแฟนคลับ และความสำเร็จจากการบาลานซ์ความรู้สึกแฟน ๆ ได้ดี สิ่งที่ตามมาคือโอกาสและต้นทุนมากมายให้ศิลปินได้ต่อยอดในอนาคต

JAM JAM ASIA เทศกาลที่อวดความหลากหลายทางดนตรีและวิสัยทัศน์ต่ออุตสาหกรรมดนตรีของไต้หวัน

ในวันเดียวกันกับ Taipei Music Expo เองก็ยังมีงานเทศกาลดนตรี JAM JAM ASIA ล้อไปพร้อมกัน พวกเขาเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินกว่า 50 ชีวิตจากไต้หวันและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย มาปล่อยของกันบนเวที 5 แห่ง รอบ ๆ Taipei Music Center เพื่อเฉลิมฉลองความรุ่มรวยของดนตรีป็อปในโซนเอเชีย เป็นอีกส่วนหนึ่งของ 2024 TRENDY TAIPEI ที่สำคัญมาก

เวทีทั้ง 5 แห่งเองก็น่าตื่นตาสุด ๆ สำหรับเราเหมือนกัน เพราะมันมีทั้งฮอลล์คอนเสิร์ตความจุ 5,000 คน โดยในงานชื่อว่าเวที Big Wave ที่พาศิลปินระดับท็อปของแต่ละประเทศมาสนุกกับทุกคน อีกสามเวทีก็มีชื่อว่า Groove, Vibe และ Flow ก็ฟังก์ชั่นตัวเองเป็นไลฟ์เฮ้าส์ที่มีไซส์เหมาะกับศิลปินทุกระดับ ตั้งแต่ 200 คนจนถึง 1,600 คน มอบประสบการณ์ดนตรีที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีเวที Echo สำหรับโชว์กลางแจ้งด้วย

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

ซึ่งแต่ละฮอลล์แต่ละไลฟ์เฮ้าส์นั้นก็ออกแบบอะคูสติกมาอย่างดี และลงระบบเสียงแสงสีไว้อย่างจัดเต็ม รองรับวงดนตรีทุกรูปแบบไว้พร้อมมาก แต่ละเวทีก็จัดไลน์อัพศิลปินไว้ไม่แน่นมาก สามารถฮ็อปหรือย้ายเวทีไปมาได้ ซึ่งในงานเองก็ชวนศิลปินเจ๋ง ๆ จากทัวร์เอเชียมาหมด ไม่ว่าจะเป็น ASMRZ ดูโอ้อารมณ์ดีจากเกาหลีเจ้าของเพลง goodnight ojosama สุดโด่งดังบนติ๊กต็อก, แถมยังมี SIRUP, Cody・Lee(李) และ Hakubi จากญี่ปุ่น รวมถึงและเจ้าบ้านอย่าง 溫蒂漫步 Wendy Wander ที่มาสร้างความสนุกให้ทุกคนด้วย

นอกจากงาน JAM JAM ASIA จะผลักดันความหลากหลายของแนวดนตรีและสร้างเทรนด์ดนตรีใหม่ ๆ ให้กับคนฟังในไต้หวันแล้ว มันยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องการวางแผนให้ดนตรีเป็นอีกหนึ่งการท่องเที่ยวหรือธุรกิจเชิงวัฒนธรรมที่จะช่วยผลักดันให้ไต้หวันขึ้นไปยืนแถวหน้าของประเทศในโลกด้วย

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

โดยในงานนี้เอง ก็มีศิลปินไทยถึง 4 วงที่ได้มาเจอกับแฟน ๆ ไต้หวัน ได้แก่ Polycat, Television Off, Slapkiss และ Only Monday ถ้าใครได้ติดตาม Story IG ของทีมคอสมอสช่วงวันงาน ก็จะเห็นว่าวีดีโอที่เราถ่ายลงก็มีบรรยากาศที่สนุกมาก ๆ ทั้งสี่วงได้รับการต้อนรับจากคนฟังเพลงไต้หวันอย่างดี

และที่น่าดีใจอีกอย่างคือ Polycat และ Television Off เองก็ได้มางานนี้ด้วยทุนของ Creative Economy Agency (CEA) ในชื่อโปรเจกต์ Music Exchange ที่รัฐบาลส่งออกศิลปินไทยออกไปสู่งานระดับโลกทั่วโลกให้เห็นศักยภาพของศิลปินไทยในบ้านเราด้วย

เราได้มีโอกาสคุยกับ Television Off หลังจากจบงาน ซึ่งพวกเขาก็ยังประทับใจทุกครั้งที่ได้มาเจอแฟนเพลงชาวไต้หวัน เพราะทุกโชว์จะได้รับพลังที่ส่งกลับมาจากคนดูมากมาย พร้อมทั้งขอบคุณ CEA ที่ให้ทุนพวกเขามายืนบนเวทีนี้ได้ เขาให้เหตุผลว่าการที่ศิลปินจะแบกชื่อประเทศไทยมาเล่นในเวทีโลก จะต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาลโดยเฉพาะศิลปินที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาสดี ๆ แบบนี้ไปเลย ก่อนจะทิ้งท้ายถึงรัฐบาลไทยว่า อยากให้การเป็นศิลปินเป็นอาชีพจริง ๆ ได้ซักที โดยมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานหรือสวัสดิการบางอย่างเหมือนอาชีพอื่น ๆ ด้วย

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

หลังจากหาข้อมูลมากมายเพื่อเขียนบทความนี้มาจนถึงช่วงสุดท้ายแล้ว ไทเปเองก็ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจมาก เช่น Chiang Wan-an นายกเทศมนตรีของเมืองไทเป ผู้ผ่านโปรเจกต์ TRENDY TAIPEI ก็มีอายุแค่ 45 ปีเท่านั้น ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงมีวิสัยทัศน์พอที่จะผลักดันนโยบายที่โดดเด่นได้ขนาดนี้ พร้อมแท็กไลน์ว่า “Create Together, Perform Together, Inspire Together” ร่วมสร้าง ร่วมลงมือทำ บันดาลใจไปด้วยกัน ซึ่งคำนึงถึงคนในอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา

และไม่ใช่แค่ซีนดนตรีเท่านั้น ไม่ว่าจะภาพยนต์ งานเขียน เกม ฯลฯ ล้วนมีนโยบายส่งเสริมออกไปนอกประเทศหมด เพื่อโชว์ให้เห็นว่าประเทศไต้หวันก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำในตลาดวัฒนธรรมเหมือนกัน

ย้อนกลับมาดูบ้านเรา จะหาคนในรัฐบาลที่อายุน้อยแล้วมีวิสัยทัศน์แบบนี้คงยาก แม้จะผลักดันคำว่า soft power ขนาดไหนแต่ก็ยังไม่เห็นนโยบายอะไรเป็นรูปธรรมซักที แต่อย่างน้อยก็ยังมีความหวังกับหน่วยงาน Creative Economy Agency (CEA) ที่ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีนโยบายให้ทุนกับศิลปินไทยอยู่ แม้จะเพิ่งเริ่มปีนี้ แต่ก็เชื่อว่าคนในหน่วยงานต่างพยายามกันเต็มที่เพื่อส่งออกศิลปินไทยในฐานะทูตทางวัฒนธรรมออกไปสู่เวทีโลกเหมือนกัน

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan

ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะให้ความสนใจกับตลาดวัฒนธรรมหรือการท่องเที่ยวเชิงดนตรีมากกว่านี้ บอกเลยว่าไปดู Taipei Music Center ของจริงแล้วจะได้แต่มองตาปริบ ๆ เพราะเขามีประชาชนหรือคนทำงานอยู่ในสมการของเขาจริง ๆ ก็หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่แค่ฝันสำหรับศิลปินไทยหรือคนไทยด้วยเหมือนกัน

สุดท้ายนี้ ทีมคอสมอสขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณทีม TRENDY TAIPEI ที่ชวนเราไปร่วมงาน และทีม NPCC Curating Co. ที่ดูแลเราตลอดทั้งทริป ถ้าใครได้มีโอกาสไปเที่ยวไทเป อยากแนะนำให้ลองแวะไป Taipei Music Center ซักวัน และอยากให้ทุกคนมีความหวังว่าซีนดนตรีไทยจะมาถึงในวันนี้ได้ซักวัน

ติดตามข่าวสาร และงานเฟสติวัลของ TRENDY TAIPEI ได้ที่ Website, Facebook และ Instagram

อ่านต่อ
LUCfest 2023 วันแรก ลุยไถหนาน เก็บวงเจ๋ง ๆ พร้อมไปเชียร์ LEPYUTIN ติดขอบเวที
LUCfest 2023 วันที่สอง กับกองทัพศิลปินไทยที่ไปเฉิดฉายที่ไต้หวัน

2024 TRENDY TAIPEI Taipei Music Center Taipei Music Expo JAM JAM ASIA Nangang Taipei Taiwan
+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy