ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2024 หลังจากได้ดูคอนเสิร์ตใหญ่ของวง Sorry Youth ในชื่อ “Noise Apartment” ที่ Taipei Music Center ภาพที่ยังตราตรึงในความทรงจำของเราคือแสงและเงาที่สะท้อนอารมณ์อันหลากหลาย—บางช่วงเต็มไปด้วยความคิดถึง ก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่เส้นแสงของภาพขาวดำที่เรียบง่าย ราวกับการไล่ล่าบนถนนด้วยความเร็ว เป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความซิเนมาติก ท่ามกลางความตื่นเต้นของภาพเหล่านั้น คุณอดถามตัวเองไม่ได้ว่า “ก่อนหน้านี้ทำไมเราไม่เคยตระหนักเลยว่า แสงมีผลต่อการเล่าเรื่องของเพลงได้มากขนาดนี้?”
ANH Design ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นปี 2021 โดยได้ชื่อมาจากคำพ้องเสียงในภาษาจีนที่หมายถึง “พันธมิตร” (partnership) ซึ่งสะท้อนปรัชญาหลักของทีมที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นหลัก ไม่เพียงแค่การออกแบบแสงสีสำหรับคอนเสิร์ตของ Sorry Youth เท่านั้น แต่ ANH ยังเป็นสตูดิโอแถวหน้าในการออกแบบไลท์ติ้งสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ในไต้หวัน โดยได้ร่วมงานกับศิลปินชั้นนำมากมาย เช่น Yoga Lin, Enno Cheng, Accusefive, FRAN, Anpu, Nick Chou, 9m88, YELLOW, และ ØZI รวมถึงงานสำคัญของกระทรวงวัฒนธรรมอย่าง Golden Indie Music Awards เมื่อไม่นานมานี้ ANH ได้ขยายกิจการไปสู่การให้ความรู้ ด้วยการเปิดตัวคอร์สสอนออนไลน์ด้านการออกแบบไลท์ติ้ง รวมถึงซีรีส์ LIGHT ON 360° เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดแสงให้เข้าถึงในวงกว้างยิ่งขึ้น
หากคอนเสิร์ตเปรียบเสมือนหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางของดนตรี วงดนตรีต่างดำดิ่งสู่โลกแห่งจินตนาแห่งการสร้างสรรค์ตั้งแต่ก่อนที่เพลงจะถูกปล่อยออกมา และเมื่อเพลงถูกนำเสนอสู่ผู้ฟัง แสงสีบนเวทีเนี่ยแหละที่จะช่วยเติมเต็มชีวิตชีวาให้กับโชว์ เพิ่มมิติและความลึกซึ้งให้กับทุกจังหวะ แต่สำหรับวงดนตรีบรรเลงที่เน้นการถ่ายทอดอารมณ์และเนื้อสัมผัสผ่านเสียงดนตรีแทนเนื้อร้อง ซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อนและการเล่าเรื่องที่ท้าทาย—ทีมออกแบบแสงจะต้องทำงานอย่างไรดี?
ต่อจากตรงนี้ คือส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ระหว่าง Miles มือกีตาร์ของวง Major in Body Bear และนักออกไลท์ติ้ง Jianfeng Sun เรื่องราวของพวกเขาย้อนกลับไปในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ ANH Design จะก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ:
ผลงานแต่ละชุดของ Major in Body Bear มักหมุนรอบธีมเฉพาะตัว ตั้งแต่ Confession และ Relationships ไปจนถึง Moments และ Time โดยอัลบั้มเต็มล่าสุดของพวกเขา Topic 5: Calling ยังคงเดินตามแนวความคิดสร้างสรรค์นี้อย่างต่อเนื่อง ปกติแล้ว Miles จะเริ่มด้วยเมโลดี้กีตาร์หรือโครงสร้างคอร์ดพื้นฐาน จากนั้น Anxi มือคีย์บอร์ดจะนำมาถอดประกอบและสร้างขึ้นใหม่ กระบวนการนี้ช่วยสร้างลายเซ็นที่เป็นเอกลักษณ์ของวงขึ้นมา ด้วยเมโลดี้คู่ที่ซับซ้อนเสริมด้วยความลึกจากเสียงเบสของ Seadog และจังหวะของกลองจาก Andy
แม้ว่าวงดนตรีบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้องไม่ได้มีเยอะมาก แต่สิ่งนี้กลับทำให้ Major in Body Bear มีโอกาสเจาะลึกเข้าไปถึงบทสนทนาผ่านเสียงดนตรี ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านการประพันธ์ที่เรียบง่ายแต่งดงาม งานเพลงที่หลากหลายและโชว์ของพวกเขาทำให้วงโดดเด่นในซีนอินดี้ของไต้หวัน แต่งานโชว์เองก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักดนตรีเพียงอย่างเดียว—ประสบการณ์ที่น่าจดจำบนเวทีอาจต้องพึ่งพาองค์ประกอบเบื้องหลังอีกมากมาย เช่น การออกแบบไลท์ติ้งแบบมืออาชีพ
“เมื่อการออกแบบไลท์ติ้งมีผลต่อการเล่นของนักดนตรีหรือการเคลื่อนไหวของโชว์บนเวที เราต้องเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการออกแบบนั้น” Miles แชร์มุมมองของเขา “ในฐานะวงดนตรี ผมมองว่าการออกแบบแสงสีคือความเชี่ยวชาญของพวกเขา หากเอฟเฟกต์ของแสงบางครั้งทำให้การเล่นของพวกผมยากขึ้น แต่ถ้ามันช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีของผู้ชมได้ ผมก็พร้อมจะให้ความสำคัญกับผลลัพต์ของมันและพยายามปรับตัวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้มากกว่า”
ในฐานะนักดนตรีมากประสบการณ์ Miles ย้อนความทรงจำถึงการคอลแลปส์ครั้งแรกของเขากับ Jianfeng Sun และ ANH Design ในปี 2017 ที่คอนเสิร์ตของ Vast & Hazy แต่เขาไม่ได้คิดถึงความสำคัญของการออกแบบไลท์ติ้งเท่าที่ควร จนกระทั่งได้เห็นภาพถ่ายจากการแสดงครั้งนั้น
“พอผมได้เห็นภาพถ่ายจากงานนั้น ผมถึงเข้าใจ ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะดูแย่แบบนี้บนเวที” Miles เล่า นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระหว่างวงและ Jianfeng Sun หลังจากนั้น วงได้ชวน Jianfeng มาช่วยออกแบบไลท์ติ้งสำหรับคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกของพวกเขาที่ Legacy ในเมืองหัวซานปี 2018 ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีที่ Jianfeng เคยทำไลท์ติ้งประจำที่ Legacy มาก่อน ทำให้โชว์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
คอนเสิร์ตครั้งนี้ถือเป็นการก้าวเข้าสู่บทใหม่สำหรับ Major in Body Bear ความท้าทายของการออกแบบไลท์ติ้งที่ยิ่งชัดเจนขึ้น เนื่องจากวงไม่มีเนื้อเพลงที่ช่วยเล่าเรื่อง ทุกอย่างต้องอาศัยดนตรีและวิชวลในการสื่อสาร คอนเสิร์ตนี้ยังมีศิลปินรับเชิญอย่าง Rin และศิลปินอื่น ๆ มาร่วมแสดงด้วย กลายเป็นความประทับใจที่ยากจะลืมลงด้วยการผสมผสานของวิดีโอและแสงสีที่ทรงพลัง มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของวงว่ามีความเข้าใจในงานออกแบบไลท์ติ้งมากแค่ไหน ถึงจะช่วยพัฒนาการสื่อสารบนเวทีกับการออกแบบไลท์ติ้งในโชว์ต่าง ๆ ในอนาคตได้
เมื่อไม่มีเนื้อเพลงในการถ่ายทอดความรู้สึกโดยตรง ชื่อเพลงและวิชวลกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างวงและ Jianfeng ตั้งแต่คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกของพวกเขา ไปจนถึงการแสดงที่ได้รับการยกย่องจากทุกคนที่ Clapper Studio ใน Syntrend Creative Park ทีม ANH ได้เพิ่มมิติใหม่ให้กับดนตรีของ Major in Body Bear ผ่านการออกแบบไลท์ติ้งที่สร้างสรรค์แตกต่าง กระบวนการทำงานของ Jianfeng เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ดนตรีอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการศึกษาบทสัมภาษณ์และงานเขียนของวง เพื่อสร้างภาพหรือแสงสีที่สะท้อนถึงเนื้อหาในดนตรีวงได้ดีที่สุด
“เวลาที่เราทำเพลง ผมมักจะนึกถึงคำเพียงคำเดียวที่กลายเป็นแก่นของเพลงนั้นให้ได้” Miles เล่า พร้อมเสริมว่า “สมาชิกคนอื่นในวงอาจจะไม่รู้ชื่อเพลงเลยจนกระทั่งอัลบั้มใกล้จะเสร็จ” เขาหัวเราะ “มันตลกดี เพราะคำคำนั้นมักสะท้อนบรรยากาศภายในวงหรือความท้าทายที่เรากำลังเผชิญในตอนนั้น”
Jianfeng เล่าย้อนถึงการออกแบบแสงสำหรับอัลบั้ม Topic 3: Moment ที่ The Wall โดยเขาได้นำเสนอการจัดไฟที่ทะเยอทะยานที่สุด ด้วยอุปกรณ์ที่ดีที่สุดในตอนนั้น วงได้ร่วมงานกับเขาหลายครั้งแล้ว จึงเชื่อใจให้เขาเสนอความคิดได้อย่างเต็มที่ การแสดงครั้งนี้เหมือนเป็นการเปิดตัว “Matrix Lighting” ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญในโชว์ของวง Jianfeng เขาเลือกใช้ภาพแบบจุดหรือภาพแบบเวกเตอร์เพื่อเน้นเทคนิคทางดนตรีของวง โทนสีและแสงได้รับแรงบันดาลใจจากลูกโป่งหลากสีที่ปรากฏบนปกอัลบั้ม Moment
เมื่อถูกถามว่าเพลงไหนที่ท้าทายที่สุดในการออกแบบไลท์ติ้ง ทั้ง Jianfeng และ Miles ตอบพร้อมกันทันทีว่า Smashing the Wall of an Endless Maze หรือที่พวกเขาเรียกอย่างเอ็นดูว่า “Maze” ด้วยจังหวะที่ซับซ้อนและการสลับจังหวะในช่วงกลางเพลง ทำให้ต้องมีการซิงโครไนซ์วิชวลอย่างพิถีพิถัน จนทำให้วงรู้สึกประทับใจมาก ๆ “มันรู้สึกดีมากที่ได้รู้ว่ามีคนเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำ” Miles กล่าว
ด้วยอิทธิพลจากวง math rock ชั้นนำของญี่ปุ่น อย่าง toe และ Mouse on the Keys วง Major in Body Bear ตัดสินใจออกแบบเวทีสี่ด้านสำหรับการแสดงในปี 2022 กับ EP Topic 4: Time ที่ Clapper Studio ซึ่งสะท้อนถึงการแสดงช่วงแรก ๆ ของพวกเขาที่ APA Mini
EP Time ซึ่งวงทำขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ ถ่ายทอดอารมณ์ที่หนักแน่นที่สุดของวงในขณะนี้ Miles อธิบายว่า “เวลา (time) คือสิ่งที่ไม่เที่ยงและห้อมล้อมตัวเราไว้ตลอดเวลา เราหวังว่าผู้ฟังจะสะท้อนประสบการณ์หรืออารมณ์ส่วนตัวลงในเพลงเหล่านี้ได้ เวลานำพาเศษเสี้ยวเหล่านี้เดินหน้าไปพร้อมกับคนฟัง ผ่านทุกบทของชีวิตจนถึงจุดสิ้นสุด—ไม่ว่าจะเป็นตัวชีวิตของมันเองหรือหมุดหมายสำคัญใด ๆ ก็ตาม”
ในการแสดงครั้งนี้ Jianfeng ได้เพิ่มองค์ประกอบไลท์ติ้งใหม่ ๆ โดยเฉพาะหลอดไฟเคลื่อนที่ที่โดดเด่น ซึ่งช่วยเพิ่มความมหัศจรรย์ให้กับโชว์ได้อย่างดี หลอดไฟเหล่านี้ถูกแขวนไว้เหนือเวทีทั้งสี่ด้านและปรับเปลี่ยนตามจังหวะและอารมณ์ของเพลง สร้างประสบการณ์ที่ชวนดื่มด่ำจากทุกมุมมองของเหล่าคนดู
นอกจากหลอดไฟเคลื่อนที่ Jianfeng ยังซิงโครไนซ์แฟลชกับเพลงไตเติ้ลของ EP Time อย่างพิถีพิถัน ผสานเอฟเฟกต์ไฟเข้ากับจังหวะดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศที่ทรงพลัง นอกจากนี้ เขายังออกแบบไฟให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของนักดนตรีแต่ละคน โดยเฉพาะในช่วงโซโล่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เน้นอารมณ์และความเข้มข้นของดนตรี
สำหรับการแสดงครั้งนี้ Jianfeng เลือกใช้ชุดอุปกรณ์ที่เรียบง่าย โดยใช้เพียงไฟสปอตไลต์ 4 ดวง และไฟอัตโนมัติเพียงไม่กี่ตัว วิธีนี้ช่วยจำกัดการโฟกัสบนเวทีให้กับคนดูพร้อมมิติที่น่าสนใจอีกหลายชั้น ขับเน้นความซับซ้อนของดนตรีของวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การออกแบบไลท์ติ้งของ Jianfeng สามารถจับแก่นแท้และความเข้มข้นของดนตรีในแต่ละโชว์ได้อย่างน่าทึ่ง ถ้าอยากรู้จักกับ ANH Design ให้มากขึ้น สามารถเข้าไปดูงานของเขาได้ที่ https://lighton360.com เร็ว ๆ นี้ พวกเขากำลังจะมีหน้าเว็บภาษาอังกฤษและโปรแกรมออนไลน์พร้อมให้บริการ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวงการดนตรีไต้หวันที่
พาเที่ยว Taipei Music Expo: หนึ่งในโปรเจกต์ 2024 TRENDY TAIPEI ยกระดับวงการดนตรีไต้หวัน ที่ไทยทำได้แค่ฝัน!
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา