2024 TRENDY TAIPEI โปรเจกต์ระดับประเทศที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลเมืองไทเป มุ่งเน้นการผสมผสานดนตรีเข้ากับศิลปะ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นการร่วมมือกันโดยภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับเมืองไทเปไปสู่เวทีโลก มีศูนย์กลางคือ Taipei Music Center ตั้งเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมดนตรีของไต้หวันผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศรวมถึงเชื่อมต่อทางธุรกิจไปทั่วโลก พร้อมทั้งแสดงถึงศักยภาพของศิลปินไต้หวันในเวทีระดับโลก งานนี้มีคอนเซปต์เก๋ ๆ ว่า “recharging” (การเติมพลัง) และ “discharging” (การปลดปล่อย) ความสร้างสรรค์ให้กับคนไต้หวัน
Taipei Music Center (TMC) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปของไต้หวันตั้งแต่ปี 2020 กับการเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้ปล่อยของ ผลักดันอุตสาหกรรม บ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ และคอยเชื่อมต่อกับซีนดนตรีโลก พวกเขาจึงจัดงาน Taipei Music Expo (TMEX) ขึ้นมาในวันที่ 7-8 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานเทศกาลสองวันที่มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมดนตรี ตั้งแต่ศิลปิน คนทำงานเบื้องหลัง ค่ายเพลง ผู้จัดไปจนถึงเจ้าของเทศกาลดนตรี มาแลกเปลี่ยนทางธุรกิจเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมดนตรีให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ด้วย ‘International Panel Session‘ ซึ่งจัดขึ้นโดยทีม NPCC Curating Co. และงาน Music Showcase ในชื่อ JAM JAM ASIA
ทีมคอสมอสได้รับเชิญให้บินไปร่วมงานด้วย และบอกตรง ๆ เลยว่าในฐานะคนไทย เราอิจฉาไต้หวันมาก พวกเขามีภาครัฐที่สนับสนุนซีนดนตรีอย่างจริงจัง ทั้งในระดับธุรกิจที่ผลักดันให้ซีนดนตรีเติบโตอย่างเป็นระบบ หรือให้ทุนกับศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับการเสพดนตรี แถมยังเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมดนตรีโลกไปพร้อมกัน และที่น่าอิจฉาที่สุดคือ เขาบ่มเพาะคนในประเทศให้เป็นคนฟังเพลงที่พร้อมจะสนับสนุนศิลปินในประเทศทุกคนไปด้วย
เราจะพาทุกคนไปทัวร์งานนี้กันเต็ม ๆ ว่าการจัดงานแบบนี้มันสำคัญยังไงกับประเทศ และทำไมเราถึงต้องมีงานแบบนี้บ้างในประเทศของเรา
Taipei Music Center (TMC) ศูนย์กลางดนตรีไต้หวันที่รองรับการเติบโตเพื่อไประดับโลก
ก่อนอื่นเราจะขอพูดถึงสถานที่จัดงานนี้ก่อน เพราะเป็นหนึ่งรากฐานที่สำคัญของโปรเจกต์ 2024 TRENDY TAIPEI โดย TMC สร้างอยู่ในเขตหนานกั่ง เมืองไทเป เป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานดนตรีและไลฟ์สไตล์ ด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และพื้นที่การแสดงกลางแจ้ง TMC ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีของไต้หวัน ผ่านการจัดงานต่าง ๆ ทั้งส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ และอนุรักษ์มรดกทางดนตรีไต้หวัน อีกทั้งยังผลักดันเพลงของไต้หวันไปสู่สายตาชาวโลก พร้อมเปิดรับนวัตกรรมและความร่วมมือจากทั่วโลก
ตัวอาคารหลักเป็นจะฟังก์ชั่นเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยมีนิทรรศการถาวรชื่อว่า “Music Island Stories: Pop Music in Taiwan” ซึ่งจัดแสดงประวัติศาสตร์ดนตรีป๊อปของไต้หวันผ่าน 12 โซน โดยมีสิ่งของจัดแสดง 1,326 ชิ้นและเพลงคลาสสิกกว่า 111 เพลง ครอบคลุมพื้นที่สามชั้น นิทรรศการนำเสนอเรื่องราวผ่านเพลงป๊อปเพื่อกระตุ้นความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันและเชื่อมโยงดนตรีจากรุ่นสูารุ่น ที่ล้อไปกับประวัติศาสตร์ของประเทศไต้หวันด้วย ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับการเดินทางทางดนตรีที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมดนตรีของไต้หวันที่บ่มเพาะมาหลายร้อยปี
หนึ่งในโซนที่เราประทับใจที่สุดในนิทรรศการนี้ คือ “Live Music and Festival” ที่วงนอกกระแสของไต้หวันช่วงยุค 90’ ปลี่ยนจากการคัฟเวอร์เพลงต่างประเทศมาเป็นการสร้างสรรค์เพลงต้นฉบับในแบบตัวเอง ศิลปินเหล่านี้แหละคือกลุ่มคนที่วางรากฐานสำหรับวงการดนตรีอิสระของไต้หวัน และสร้างวัฒนธรรมไลฟ์เฮ้าส์ขึ้นมา ดึงดูดคนหนุ่มสาวนับพันให้หันกลับมาชมคอนเสิร์ตมากขึ้น ปัจจุบันดนตรีอินดี้กลายเป็นกระแสหลักสำหรับคนรุ่นใหม่
สิ่งที่ชอบในโซนนี้คือเขารวบรวมงานดีไซน์ของงานที่ดัง ๆ ทั้งพวกสเก็ตเวที สเก็ตโปสเตอร์เทศกาลดนตรี รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งริชแบนด์ Merch ไปจนถึงตั๋วคอนเสิร์ต ใครที่อยากจัดงานของตัวเองบ้างก็สามารถมาดูตัวอย่างในโซนนี้แล้วนำไปปรับใช้ได้เลย เรียกว่าบันดาลใจกันเต็มที่
รอบ ๆ ตัวตึกของ TMC เองก็ยังมีฮอลล์คอนเสิร์ตที่จุคนได้ครึ่งหมื่นและไลฟ์เฮ้าส์อีกสามแห่งที่ดูแลโดยหน่วยงานรัฐและคนในซีนดนตรี ซึ่งเราจะขอลงรายละเอียดอีกทีในส่วนต่อไป แล้วยังมีโซน Plaza ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างไลฟ์เฮ้าส์ทั้งหมด ซึ่งรวบรวมทุกสิ่งเกี่ยวกับดนตรีไว้หมดแล้ว ตั้งแต่ห้องซ้อม ร้านขายเครื่องดนตรี ร้านขายไวนิลซีดี ร้านอาหาร ร้านเหล้า ซึ่งรองรับคนได้ถึง 3,000 คน
แถมยังมีพื้นที่กว้างใช้สำหรับจัดงานดนตรีกลางแจ้งได้อีกด้วยในโซนเดียวกัน เรียกว่าออกแบบมาสำหรับงานดนตรีโดยเฉพาะ บอกเลยว่าโคตรอิจฉา คิดว่าถ้าไทยจะทำตามได้ก็คงใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 ปี แต่ไต้หวันเขาคิดมาก่อนเราแล้วเป็นสิบปี
Taipei Music Expo (TMEX) เชื่อมต่ออุตสาหกรรมดนตรีไต้หวันเข้ากับโลก
กลับมาที่งานของเรา TMEX รวบรวมธุรกิจดนตรีกว่า 40 แห่งจากไต้หวันและต่างประเทศ รวมถึงเทศกาลดนตรี ค่ายเพลง และบริษัทจัดการศิลปิน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจในอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปของไต้หวัน นอกจากนี้ TMC ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี 25 คนจาก 12 ประเทศ เพื่อช่วยขยายตลาดดนตรีให้เติบโตไปพร้อมกันทั้งโซนเอเชีย
โดยในงานนี้ก็ประกอบด้วยอีเว้นต์มากมาย ได้แก่ ‘Exhibition Trade Show’ ที่ให้เทศกาลดนตรีในไต้หวัน 20 แห่ง รวมถึงบริษัทแผ่นเสียง สื่อ ค่ายเพลง ผู้จัดคอนเสิร์ต ฯลฯ มารวมตัวกันออกบูธเพื่อขายของ ซึ่งพ่วง ‘Roadshow’ ที่เปิดเวทีให้ทุกคนที่มาออกบูธได้แชร์นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือแผนสำหรับอุตสาหกรรมดนตรีและแนวทางส่งเสริมวัฒนธรรมในประเทศ รับฟังข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบนิเวศของซีนดนตรีและความก้าวหน้าล่าสุดในธุรกิจดนตรีของไต้หวัน
แต่อีเว้นต์ที่เราอยากโฟกัสที่สุดในงานนี้ คือส่วนของ ‘International Panel Session’ หรืองานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยทีม NPCC Curating Co. ไต้หวัน ซึ่งเชิญคนในอุตสาหกรรมดนตรีเอเชียมาแลกเปลี่ยนและถกเถียงกันในประเด็นต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมดนตรี บอกเลยว่าแต่ละหัวข้อน่าสนใจ และการพูดคุยกันก็สนุกมาก ทีมคอสมอสเลยพยายามรวบรวมและสรุปมาให้ทุกคนได้อ่านกันในแต่ละหัวข้อเลย
Tuning into the Future of Sound: How AI is redefining Music Creation, Production, and Consumption
สำรวจเสียงจากอนาคต: AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการดนตรียังไงบ้าง
ประเดิมกันด้วยหัวข้อแรก ที่ตอบรับกระแสที่มาแรงของ AI ที่ตอนนี้เข้ามามีบทบาทในวงการดนตรีมากขึ้น จากการใช้ AI ในการเขียนเพลง ซึ่งช่วยตอบโจทย์อารมณ์ของคนฟังได้เกือบทุกความต้องการ โดยไม่ต้องลงทุนไปกับขั้นตอนโปรดักชั่นที่มีราคาแพง Stable Audio คือหนึ่งในโมเดลที่ได้รับความนิยมมาก ๆ เพราะเราแค่เขียนคำสั่ง (prompt) เข้าไป AI ก็จะช่วยเนรมิตตามที่เราเขียนออกมาได้เลย แต่ตอนนี้มันอาจจะยังสร้างสรรค์ผลงานที่ลึกซึ้งเท่ากับมนุษย์ไม่ได้เท่านั้น
ในหัวข้อนี้เราอยู่กับ Mike Constantino จากทีม Sonik Philippines งาน Music Showcase ชื่อดัง และ David Siow co-founder ของ Axean Festival งาน music showcase ที่ยิ่งใหญ่ในเอเชีย พวกเขาเสนอความคิดเห็นว่าทุกคนอาจจะเครียดกับการมาถึงของ AI ในอุตสาหกรรมดนตรีมากไป เขาเห็น AI มากมายที่เปิดให้ใช้ได้จริง และมีคนที่สนใจที่จะเริ่มแต่งเพลงของตัวเองมากมาย และ AI ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมาย จากการทำเพลงสั้น ๆ เหล่านี้โดยไม่ต้องเสียเงินเลยซักบาท พวกเขาแค่อยากนำเพลงเหล่านี้ไปใช้ในโปรเจกต์เล็ก ๆ ของตัวเอง และ AI ยังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ หรือความสร้างสรรค์ที่เราคาดไม่ถึง
อีกส่วนหนึ่งของสัมมนานี้ ก็มีการเปิดวีดีโอเพื่อสอนใช้ AI แบบเข้าใจง่าย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและลองนำไปใช้ด้วยตัวเองได้ที่บ้านเลย ซึ่งมีตั้งแต่การสอน prompt การใช้ Spit Tools เพื่อนำเสียงบางส่วนไปใช้ต่อ หรือการออโต้จูนเสียงร้องได้โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านซาวด์เอนจิเนียร์ก็ตาม
Mike บอกว่าศิลปินหลายคนใช้ AI เพื่อก้าวข้ามกำแพงความสร้างสรรค์ Creative Block ของตัวเอง หรือใช้เพื่อทดลองเทคนิกใหม่ ๆ แต่ยังไง AI เป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้พวกเราทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าเราจะมีวัตถุดิบที่ดีแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วมันก็ยังต้องพึ่งความสร้างสรรค์ของศิลปินในการจบงานอยู่ดี
และมาถึงประเด็นที่หลายคนถกเถียงกันถึงลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย ซึ่งกฎหมายในหลายประเทศเองก็แตกต่างและตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ทันเหมือนกัน สปีกเกอร์ในหัวข้อนี้ต่างก็เป็นคนที่สนับสนุน AI อยู่แล้วจึงเสริมว่า ถ้าเจ้าของเพลงยินดีที่จะให้ AI เรียนรู้จากเพลงของเขาเท่านั้นก็จบ เขาจึงยกตัวอย่างร้านอาหารที่ใช้ AI สร้างเพลงของร้านขึ้นมา โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เพลงให้กับค่ายเพลง
ในอนาคต AI จะเข้ามาปฏิวัติวงการเพลงได้แน่นอน ในแง่ของการทำงานของศิลปินและเชิงการตลาด แต่ผู้ใช้เองก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายและศีลธรรมในการนำ AI ไปใช้ด้วยเหมือนกัน
The Ultimate Roadmap: Inside the World of International Music Festival
เปิดสูตรสำเร็จ: เทศกาลดนตรีระดับโลกกำลังทำอะไรกันอยู่
ปีที่ผ่านมา เทศกาลดนตรีในประเทศอังกฤษนั้นต้องเจอกับปัญหายอดขายบัตรที่ลดลงถึง 4% พูดแบบนี้ตัวเลขอาจจะดูน้อย แต่ความจริงแล้วมันคือเม้ดเงินมหาศาลที่ทำให้หลายเฟสติวัลต้องยกเลิกหรือโปรโมเตอร์บางคนต้องวางมือจากอุตสาหกรรมนี้เลย ปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญคือเด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อบัตรไหว และผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ด้วยข้อจำกัดของอายุและสภาพร่างกาย ทำให้หลายเฟสติวัลต้องปรับตัวด้วยการโฟกัสกับตลาดทางเลือก (niche) มากขึ้น แทนการจัดงานสเกลใหญ่ ๆ หรืองานแมส ๆ
ในหัวข้อนี้ก็พาเราทุกคนไปสำรวจเทศกาลดนตรีระดับโลกทั้ง 3 ประเทศ ผ่านผู้จัดหรือคิวเรเตอร์ของงาน ได้แก่ Bagas Indyatmono จากอินโดนีเซีย, Lubna Shaheen จากอินเดีย และ Matthew MacPhee เวียดนาม ที่มีคอนเซปต์เฉพาะตัวแตกต่างกันตามแต่ละวัฒนธรรม ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเจอ รวมถึงวิธีแก้ปัญหาทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงสังคมเพื่อทำให้งานของตัวเองยั่งยืน ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับทั้งสามเฟสติวัลก่อน
– Jazz Gunung Festival: งานแจ๊สเฟสติวัลที่จัดขึ้นกลางหุบเขาด้วยวิวเวทีที่หน้าตื่นตาในอินโดนีเซีย พร้อมอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองได้อย่างลงตัว ซึ่งงานมีจุดแข็งที่ราคาบัตรย่อมเยา พร้อมการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างแข็งแรงจากการสร้างเศรษฐกิจให้คนพื้นเมือง รวมถึงใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับโลกเกือบ 90% ของงานทำให้สร้างบรรยากาศของธรรมชาติที่หาไม่ได้ในงานไหน ๆ ด้วย
– Ziro Festival: จัดในเขต Ziro Valley ทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ให้กับเสียงดนรีของศิลปินท้องถิ่น รวมถึงการพาศิลปินต่างประเทศมาร่วมสนุกด้วยกัน ซึ่งงานนี้ก็ยังทำงานกับคนพื้นถิ่นด้วยการใช้ทรัพยากรในเขตนั้นทั้งหมด จุดเด่นอีกอย่างของงานนี้คือการที่งานเฟรนลี่กับคนทุกวัย สามารถพาทั้งครอบครัวมาเที่ยวงานนี้ได้เลย
– Outlandish Festival: โดดเด่นในเรื่องไลน์อัพที่หลากหลายและฉีกจากกรอบเดิม ๆ พวกเขากลายเป็น Trendsetter ของฝั่งดนตรีไปเลย แล้วยังเป็นเฟสติวัลที่เชิดชูทั้งดนตรีและศิลปะไปพร้อมกัน ด้วยการคอลแลปส์กับศิลปินท้องถิ่นพร้อมจัดงานเล็ก ๆ โปรโมตเฟสติวัลไปด้วย สร้างคอมมูนิตี้ของคนฟังเพลงให้รู้สึกเอ็กคูลซีฟและเป็นแฟนของเฟสติวัลนี้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งงานนี้เองก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
มาถึงประเด็นสำคัญอย่างความท้าทายที่แต่ละงานต้องเผชิญ ซึ่ง Bagas เล่าว่าปัญหาหลักของ Jazz Gunung Festival ของเขาคือการเดินทาง แต่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนพื้นที่ทำให้ชุมชนเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งการใช้การขนส่งของท้อนถิ่น หรือการให้คนในชุมชนช่วยเปิดโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเฟสติวัลของเขา นอกจากจะทำให้จำนวนคนที่มาร่วมงานเพิ่มขึ้น ยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการมาเฟสติวัลนี้ลดลงเยอะมากด้วย แถมยังสร้างงานสร้างอาชีพมากมายให้กับคนในพื้นที่
ส่วน Ziro Festival เอง Lubna บอกว่าเธอโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่เริ่มทำ ทำให้เธอไม่ต้องกังวลกับเงินจากค่าบัตร และนำเงินส่วนหนึ่งไปซัพพอร์คนในพื้นที่แทน และให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในเฟสติวัลจากการจัดเวิร์คช็อปหรือแสดงงานสร้างสรรค์ในเฟสติวัล เพิ่มความกว้างของช่วงอายุคนที่จะมางานเฟสติวัลของเธอ
ส่วน Matthew เองก็แชร์ให้พวกเราฟังว่า เทศกาลดนตรีในเวียดนามนั้นมักจะมีไลน์อัพซ้ำ ๆ และไม่หลากหลายเพราะผู้จัดแต่ละคนไม่ร่วมมือกัน Outlandish Festival จึงพยายามนำเสนอศิลปินที่แตกต่าง พร้อมกับบาลานซ์ค่าใช้จ่ายกับค่าบัตรไปพร้อมกัน ซึ่งเขาได้มีโอกาสเจอกับคนทำงานในพื้นที่พร้อมสร้างถนนสำหรับมาที่เฟสติวัลพร้อมทั้งร่วมงานกับระบบขนส่งท้องถิ่น ทำให้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่มางานลดลงไปด้วย และในงานนี้ยังมีบัตรสำหรับนักเรียนที่ราคาถูกเพื่อให้เขาเข้าถึงเฟสติวัลได้ง่ายขึ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่
สังเกตว่าสิ่งที่ทำให้ทุกเทศกาลดนตรีที่พูดถึงแตกต่างจากงานอื่น ๆ คือการลงไปคลุกคลีและะทำงานกับคนพื้นที่อย่างจริงจัง ทั้งสามงานต่างให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน รวมถึงการที่คำนึงคนมางานเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ซึ่งทำให้เกิดกระแสบอกต่อที่ทำให้คนสนใจเฟสติวัลเองโดยไม่ต้องพึ่งการโฆษณาใหญ่โตอะไรเลย
The Survival Guide for Live Houses: Obstacles and Solutions
คู่มือคู่ไลฟ์เฮ้าส์: ทุกอุปสรรคมีทางออก
ไลฟ์เฮ้าส์และเวนิวทั่วโลกต้องเจอกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการเติบโตทางอุตสาหกรรมดนตรีที่ชะลอตัว และโดยเฉพาะช่วงหลัง pandemic ที่หลายแห่งต้องเจอกับความยากลำบากในการกลับมาเป็นพื้นที่ทางดนตรีอีกครั้ง ในหัวข้อนี้เราอยู่กับเจ้าของหรือคนดูแลไลฟ์เฮ้าส์ 4 แห่งจากทั่วเอเชีย ซึ่งพวกเขาปรับตัวเพื่อยังคงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ต่อไปได้ โดยบาลานซ์เสียงดนตรีและธุรกิจให้ไลฟ์เฮ้าส์ของพวกเขายังเดินหน้าต่อไปได้
– Live Fact Studio เป็นไลฟ์เฮ้าส์ขนาดเล็กตั้งอยู่ในเมืองโคตา มาเลเซีย บริหารโดย Mak Wai Hoo เขาเลือกที่จะลดต้นทุนของการบริหารไลฟ์เฮ้าส์ของเขาให้ต่ำที่สุด นอกจากจัดคอนเสิร์ตแล้ว เขายังเปิดพื้นที่ให้ศิลปินมาเช่าใช้เป็นห้องซ้อม ถ่ายโฆษณา หรือทำอีเว้นต์ต่าง ๆ ในสายศิลปะและทำตลาดด้วย
– Phoenix Central Park เป็นเวนิวขนาดกะทัดรัด 140 คนที่เคยได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรมอันสวยงามในออสเตรเลีย Josh Milch โปรดิวเซอร์ของที่นี่เล่าให้ฟังว่า พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่จนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และสามารถทุ่มเทให้กับดนตรีและศิลปินได้เต็มที่ อย่างการจัดงานคอนเสิร์ตให้ศิลปินหน้าใหม่ได้ทุกอาทิตย์โดยทุกคนเข้าชมฟรี แถมยังมีงาน perfomance art มากมายมาจัดที่นี่ด้วย
– KT&G Sangsang Madang เป็นเวนิวที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ทำให้ Jeong Joo Ran มีต้นทุนในการผลักดันโปรเจกต์เกี่ยวกับดนตรีมากมาย เช่น ‘My First Concert’ ที่คิวเรตศิลปินอินดี้ที่น่าจับตามอง หรือรายการประกวดดนตรีอย่าง Band Discovery และความที่บริษัทแม่มีสื่อด้วย ทำให้การได้มาเล่นที่นี่จะช่วยโปรโมตให้วงเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ด้วย
– duo Music Exchange ไลฟ์เฮ้าส์ใจกลางชิบุยะที่มีงานทุกวัน ซึ่งทุกวงที่คัดมาคือศิลปินที่มีฝีมือและน่าจับตามองในช่วงนั้น Ryota Nishimura เล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครของสถานที่นี่ ทั้งเวทีที่ต่ำเพื่อลดระยะห่างระหว่างแฟนเพลงและศิลปิน
ซึ่งแต่ละประเทศเองก็เจอปัญหาที่ไม่เหมือนกันตามแต่ละวัฒนธรรมในการเสพดนตรีของแต่ละที่ คุณ Ryota แชร์ให้พวกเราฟังว่าเด็กรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นเริ่มไม่เข้าไลฟ์เฮ้าส์กันแล้วเพราะหันเหความสนใจไปที่การ์ตูนและเกมมากกว่า ซึ่งทำให้เขาต้องควบคุมราคาบัตรให้ยังจับต้องได้ พร้อมบริหารความคาดหวังของผู้ชมที่อยากดูโชว์ดี ๆ ไปด้วย
คุณ Mak เองก็บอกว่าที่มาเลเซีย คนฟังเพลงมักจะไปเฟสติวัลกันมากกว่าจะมาไลฟ์เฮ้าส์ จึงต้องงัดความครีเอทีฟทุกอย่างมาใช้ อย่างการดึงศิลปินชื่อดังมาเพื่อสร้างกระแสให้ทุกคนหันกลับมาดูโชว์เล็ก ๆ แบบนี้บ้าง ส่วนคุณ Joo Ran เองก็เล่าให้ฟังว่ารัฐบาลของเธอมีงบให้กับตลาดเพลงนอกกระแสไม่เคยพอ และทุ่มงบให้กับดนตรีพื้นบ้านเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้การต้องพยายามกันมากขึ้น
อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในธุรกิจนี้คือช่วงหลังจาก pandemic ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ดูแลไลฟ์เฮ้าส์ทั้ง 4 แห่งต่างก็ใช้ Live Streaming ในการเชื่อมต่อกับแฟน ๆ และซัพพอร์ตศิลปินต่อไป คุณ Mak เล่าว่าในช่วงแรกที่ต้องยกเลิกการแสดงทั้งหมดทำให้เขาขาดรายได้ แต่โชคดีที่ผู้ให้เช่ายอมผ่อนผันค่าเช่าให้สามเดือน ซึ่งเมื่อคุณ Mak เปิดรับบริจาค ใช้เวลาไม่กี่วันก็สามารถจ่ายค่าเช่าสามเดือนนั้นได้เลย
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอิจฉามาก ๆ คือทั้ง 4 ประเทศนั้นได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในช่วง pandemic ทุกที่ แม้บางประเทศอาจจะไม่ได้มากมายอะไรแต่ก็สามารถอยู่รอดมาจนพ้นช่วง pandemic ได้ และการกลับมาของคอนเสิร์ตก็ทำให้บัตรขายได้อย่างถล่มทลายทุกประเทศ เพราะผู้คนอัดอั้นจากช่วงกักตัวกันสุด ๆ
ซึ่งหลังจากผ่านช่วงนั้นมาได้ ไลฟ์เฮ้าส์ทุกแห่งต่างก็เริ่มปรับตัวและเอาตัวเองออกจากกรอบของคอนเสิร์ตไปเลย ซึ่งหลายแห่งปรับตัวให้สามารถเป็นห้องซ้อมหรือสตูดิโออัดเสียงได้ด้วย รวมไปถึงการจัดอีเว้นต์ต่าง ๆ หรืออย่าง duo Music Exchange เองก็มีโซนสำหรับให้ศิลปินมาทำอีเว้นต์แฟนมีตของศิลปินได้เลย โจทย์สำคัญสำหรับไลฟ์เฮ้าส์ยุคนี้คือการดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเสพดนตรีสดให้ได้ รวมถึงสร้างคอมมูนิตี้กับศิลปินให้แข็งแรงเพราะต้องพึ่งพากันต่อไป
Being TRENDY: Starting from the Museum of Pop Culture (MoPOP)
อยากตามเทรนด์โลกให้ทัน: เริ่มที่ Museum of Pop Culture (MoPOP)
สำรวจเบื้องหลังความสำเร็จและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับ The Museum of Pop Culture (MoPOP) โดยซีอีโออย่างคุณ Michele Y. Smith ที่มาไขความลับว่าทำไม MoPOP ถึงเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับป็อปคัลเจอร์ที่ดีที่สุดในโลก
MoPOP ตั้งอยู่ในซีแอตเทิล, วอชิงตัน เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับทุกสิ่งที่กำลังเป็นกระแสบนโลกอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ดนตรี ภาพยนตร์ นิยายวิทยาศาสตร์ เกม ไปจนถึงแฟชั่น ทั้งการออกแบบที่น่าตื่นตาและการใช้เทคโนโลยีล้ำยุคที่สุด เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เป็นส่วนหนึ่งในโลกจำลองนี้อย่างไร้ที่ติ
นิทรรศการที่เป็นตัวชูโรงของที่คือ คือการรวบรวมอัตชีวประวัติและผลงานของสองศิลปินระดับที่เกิดในเมืองแห่งนี้ ได้แก่ Jimi Hendrix และ Nirvana พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมชิ้นงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทั้งสองคนไว้มากมาย ตั้งแต่กีตาร์ที่ใช้ ไปจนถึงเนื้อเพลงที่เป็นลายมือของทั้งสองศิลปิน ผู้ชมจะได้สัมผัสช่วงชีวิตของพวกเขาในฐานะไอคอนของ rock and roll ผ่านระบบอินเทอร์แอคทีฟที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาของแนวดนตรีของพวกเขา หรือได้ลองเล่นดนตรีไปกับพวกเขา รับแรงบันดาลใจจากคนที่ช่วยกำหนดทิศทางของแนวดนตรีให้กับอุตสาหกรรม
นอกจากสองศิลปินนี้แล้ว ยังมีนิทรรศการเจ๋ง ๆ อีกมากมาย ทั้ง ‘Contact High’ ที่รวบรวมหน้าประวัติศาสตร์ของดนตรีฮิปฮอปในเชิงการเมือง วัฒนธรรมผิวสี แฟชั่นของอเมริกาจากยุค 80 ทั้ง 4 ยุคไว้ ผ่านภาพถ่ายจริงที่มิวเซียมนี้รวบรวมไว้ได้ หรืออีเว้นต์อีกมากมายที่ได้ร่วมงานกับป็อปไอคอลของวงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็น Blackpink หรือ Taylor Swift ก็ล้วนถูกออกแบบมาอย่างใส่ใจเพื่อให้แฟนเดนตายทุกคนได้สัมผัสอีกด้านหนึ่งของศิลปินเหล่านี้ด้วย
อย่างที่กล่าวไปก่อนน้านี้ พวกเขายังมีนิทรรศการอื่น ๆ ที่จะทำให้คนรักป็อปคัลเจอร์ต้องตกหลุมรัก โดยปีนี้พวกเขาก็จัดนิทรรศการสำหรับคนรัก Dragon Ball อีกด้วย ถูกใจเด็กวัยรุ่นตอนปลายกันสุด ๆ ถ้าได้มีโอกาสแวะไปซีแอตเทิลต้องไม่พลาดที่จะไปมิวเซียมแห่งนี้
The Evolution of Fan Clubs: Obstacles and Solutions
พัฒนาการของลัทธิแฟนคลับ: อุปสรรคและโอกาส
หัวข้อนี้เรามาพูดถึงอีกเรื่องที่น่าสนใจมาก แม้แต่วัฒนธรรม “แฟนคลับ” เองก็พัฒนาตามอุตสาหกรรมดนตรีไปด้วยเหมือนกัน สมัยก่อน เราอาจจะชอบเพลงเพลงหนึ่งโดยที่ไม่ต้องเป็นแฟนคลับวงก็ได้ แต่สมัยนี้ การเป็นแฟนมีความหมายมากมายสำหรับทั้งตัวศิลปินและคนฟังเพลง หัวข้อสนทนานี้พาเราเข้าไปสำรวจโลกของแฟนคลับและการบริหารความรักนี้ให้ศิลปินเติบโตขึ้น มีผู้บรรยายสามคน ได้แก่ Kate Chang ซีอีโอจาก Fantimate, Rueifeng Yang ซีอีโอจาก Funfull Entertainment ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นบริษัทที่ดูแลส่วนการตลาดของศิลปิน และ 陳冠亭 นักข่าวสายดนตรีจาก Blow
ในยุคนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับแฟนคลับนั้น ไม่ใช่แค่หลงใหลในเสียงดนตรีของพวกเขา แต่มันหมายถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของศิลปิน เส้นระหว่างความจริงและความแฟนตาซีเริ่มไม่ชัดเจนขึ้นเรื่อง ๆ แฟนคลับบางคนถึงกลับพูดได้เต็มปากว่า ถึงจะรู้ว่าถูกหลอกแต่ก็เต็มใจให้หลอก
ยิ่งแฟนคลับได้ใช้เวลาไปกับการฟังเพลง ดูคอนเสิร์ตของศิลปิน หรือติดตามเขาในโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพิสูจน์ถึงความเป็นแฟนพันธุ์แท้เท่านั้น เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีของศิลปินด้วย
คนฟังเพลงหลายคนใช้วัฒนธรรมแฟนคลับในการหนีออกจากโลกความจริง การได้เป็นแฟนคลับใครซักคนไม่ใช่แค่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับเขาเท่านั้น แต่หมายถึงได้เป็นส่วนหนึ่งคอมมูนิตี้ที่มีคนคล้าย ๆ กัน แม้จะต้องจ่ายตังเพื่อได้เป็นส่วนหนึ่งก็ตาม ซึ่งแฟนคลับเหล่านี้ก็จะเป็นกระจกสะท้อนภาพของศิลปินที่ไม่ซ้อนทับกับสิ่งที่ค่ายโปรโมตเลย ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ศิลปินปฎิบัติกับแฟนคลับเท่านั้น
ก่อน pandemic แฟนคลับคาดหวังถึงความใกล้ชิดกับศิลปิน ใกล้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงทำให้งานคอนเสิร์ตหรืองานแฟนมีตได้รับผลตอบรับดีมาก แต่หลัง pandemic พวกเขาหันไปโฟกัสกับตัวตนบนโลกออนไลน์ของศิลปินแทน
และแฟนคลับเดนตายจะไม่ได้จ่ายแค่เงินเพื่อครอบครอง merchandise ทุกอย่างที่วงมี แต่แฟนคลับเหล่านี้จะช่วยศิลปินทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ด้วย เช่น การตีความเนื้อเพลง MV ทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าฝ่ายการตลาดของวงพยายามควบคุมประสบการณ์ที่แฟนเพลงจะได้รับมากเกินไป นอกจากความสัมพันธ์ที่ลึกซึ่งระหว่างวงกับแฟนคลับจริง ๆ
แต่ในซีนนอกกระแสนั้น ศิลปินกลับโฟกัสแต่กับเพลงของตัวเองเท่านั้น จนละเลยการสร้างความสัมพันธ์กับแฟนคลับ แต่ในซีน k-pop และ j-pop พวกเขาจะนึกถึงการเข้าหาแฟนคลับเป็นอันดับหนึ่งเสมอ เพื่อให้ศิลปินลงทุนและลงแรงไปกับการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางศิลปินของพวกเขา ถึงขนาดใช้ความหลากหลายของตัวศิลปินในวงเพื่อที่จะได้เชื่อมต่อกับแฟนเพลงได้ทุกรูปแบบ
เราปฎิเสธไม่ได้ว่าแฟนคลับมีส่วนสำคัญมาก ๆ ในความสำเร็จของศิลปิน ศิลปินต้องเข้าใจฐานแฟนของตัวเองและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างปฎิสัมพันธ์กับแฟนคลับ และความสำเร็จจากการบาลานซ์ความรู้สึกแฟน ๆ ได้ดี สิ่งที่ตามมาคือโอกาสและต้นทุนมากมายให้ศิลปินได้ต่อยอดในอนาคต
JAM JAM ASIA เทศกาลที่อวดความหลากหลายทางดนตรีและวิสัยทัศน์ต่ออุตสาหกรรมดนตรีของไต้หวัน
ในวันเดียวกันกับ Taipei Music Expo เองก็ยังมีงานเทศกาลดนตรี JAM JAM ASIA ล้อไปพร้อมกัน พวกเขาเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินกว่า 50 ชีวิตจากไต้หวันและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย มาปล่อยของกันบนเวที 5 แห่ง รอบ ๆ Taipei Music Center เพื่อเฉลิมฉลองความรุ่มรวยของดนตรีป็อปในโซนเอเชีย เป็นอีกส่วนหนึ่งของ 2024 TRENDY TAIPEI ที่สำคัญมาก
เวทีทั้ง 5 แห่งเองก็น่าตื่นตาสุด ๆ สำหรับเราเหมือนกัน เพราะมันมีทั้งฮอลล์คอนเสิร์ตความจุ 5,000 คน โดยในงานชื่อว่าเวที Big Wave ที่พาศิลปินระดับท็อปของแต่ละประเทศมาสนุกกับทุกคน อีกสามเวทีก็มีชื่อว่า Groove, Vibe และ Flow ก็ฟังก์ชั่นตัวเองเป็นไลฟ์เฮ้าส์ที่มีไซส์เหมาะกับศิลปินทุกระดับ ตั้งแต่ 200 คนจนถึง 1,600 คน มอบประสบการณ์ดนตรีที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีเวที Echo สำหรับโชว์กลางแจ้งด้วย
ซึ่งแต่ละฮอลล์แต่ละไลฟ์เฮ้าส์นั้นก็ออกแบบอะคูสติกมาอย่างดี และลงระบบเสียงแสงสีไว้อย่างจัดเต็ม รองรับวงดนตรีทุกรูปแบบไว้พร้อมมาก แต่ละเวทีก็จัดไลน์อัพศิลปินไว้ไม่แน่นมาก สามารถฮ็อปหรือย้ายเวทีไปมาได้ ซึ่งในงานเองก็ชวนศิลปินเจ๋ง ๆ จากทัวร์เอเชียมาหมด ไม่ว่าจะเป็น ASMRZ ดูโอ้อารมณ์ดีจากเกาหลีเจ้าของเพลง goodnight ojosama สุดโด่งดังบนติ๊กต็อก, แถมยังมี SIRUP, Cody・Lee(李) และ Hakubi จากญี่ปุ่น รวมถึงและเจ้าบ้านอย่าง 溫蒂漫步 Wendy Wander ที่มาสร้างความสนุกให้ทุกคนด้วย
นอกจากงาน JAM JAM ASIA จะผลักดันความหลากหลายของแนวดนตรีและสร้างเทรนด์ดนตรีใหม่ ๆ ให้กับคนฟังในไต้หวันแล้ว มันยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องการวางแผนให้ดนตรีเป็นอีกหนึ่งการท่องเที่ยวหรือธุรกิจเชิงวัฒนธรรมที่จะช่วยผลักดันให้ไต้หวันขึ้นไปยืนแถวหน้าของประเทศในโลกด้วย
โดยในงานนี้เอง ก็มีศิลปินไทยถึง 4 วงที่ได้มาเจอกับแฟน ๆ ไต้หวัน ได้แก่ Polycat, Television Off, Slapkiss และ Only Monday ถ้าใครได้ติดตาม Story IG ของทีมคอสมอสช่วงวันงาน ก็จะเห็นว่าวีดีโอที่เราถ่ายลงก็มีบรรยากาศที่สนุกมาก ๆ ทั้งสี่วงได้รับการต้อนรับจากคนฟังเพลงไต้หวันอย่างดี
และที่น่าดีใจอีกอย่างคือ Polycat และ Television Off เองก็ได้มางานนี้ด้วยทุนของ Creative Economy Agency (CEA) ในชื่อโปรเจกต์ Music Exchange ที่รัฐบาลส่งออกศิลปินไทยออกไปสู่งานระดับโลกทั่วโลกให้เห็นศักยภาพของศิลปินไทยในบ้านเราด้วย
เราได้มีโอกาสคุยกับ Television Off หลังจากจบงาน ซึ่งพวกเขาก็ยังประทับใจทุกครั้งที่ได้มาเจอแฟนเพลงชาวไต้หวัน เพราะทุกโชว์จะได้รับพลังที่ส่งกลับมาจากคนดูมากมาย พร้อมทั้งขอบคุณ CEA ที่ให้ทุนพวกเขามายืนบนเวทีนี้ได้ เขาให้เหตุผลว่าการที่ศิลปินจะแบกชื่อประเทศไทยมาเล่นในเวทีโลก จะต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาลโดยเฉพาะศิลปินที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาสดี ๆ แบบนี้ไปเลย ก่อนจะทิ้งท้ายถึงรัฐบาลไทยว่า อยากให้การเป็นศิลปินเป็นอาชีพจริง ๆ ได้ซักที โดยมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานหรือสวัสดิการบางอย่างเหมือนอาชีพอื่น ๆ ด้วย
หลังจากหาข้อมูลมากมายเพื่อเขียนบทความนี้มาจนถึงช่วงสุดท้ายแล้ว ไทเปเองก็ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจมาก เช่น Chiang Wan-an นายกเทศมนตรีของเมืองไทเป ผู้ผ่านโปรเจกต์ TRENDY TAIPEI ก็มีอายุแค่ 45 ปีเท่านั้น ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงมีวิสัยทัศน์พอที่จะผลักดันนโยบายที่โดดเด่นได้ขนาดนี้ พร้อมแท็กไลน์ว่า “Create Together, Perform Together, Inspire Together” ร่วมสร้าง ร่วมลงมือทำ บันดาลใจไปด้วยกัน ซึ่งคำนึงถึงคนในอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา
และไม่ใช่แค่ซีนดนตรีเท่านั้น ไม่ว่าจะภาพยนต์ งานเขียน เกม ฯลฯ ล้วนมีนโยบายส่งเสริมออกไปนอกประเทศหมด เพื่อโชว์ให้เห็นว่าประเทศไต้หวันก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำในตลาดวัฒนธรรมเหมือนกัน
ย้อนกลับมาดูบ้านเรา จะหาคนในรัฐบาลที่อายุน้อยแล้วมีวิสัยทัศน์แบบนี้คงยาก แม้จะผลักดันคำว่า soft power ขนาดไหนแต่ก็ยังไม่เห็นนโยบายอะไรเป็นรูปธรรมซักที แต่อย่างน้อยก็ยังมีความหวังกับหน่วยงาน Creative Economy Agency (CEA) ที่ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีนโยบายให้ทุนกับศิลปินไทยอยู่ แม้จะเพิ่งเริ่มปีนี้ แต่ก็เชื่อว่าคนในหน่วยงานต่างพยายามกันเต็มที่เพื่อส่งออกศิลปินไทยในฐานะทูตทางวัฒนธรรมออกไปสู่เวทีโลกเหมือนกัน
ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะให้ความสนใจกับตลาดวัฒนธรรมหรือการท่องเที่ยวเชิงดนตรีมากกว่านี้ บอกเลยว่าไปดู Taipei Music Center ของจริงแล้วจะได้แต่มองตาปริบ ๆ เพราะเขามีประชาชนหรือคนทำงานอยู่ในสมการของเขาจริง ๆ ก็หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่แค่ฝันสำหรับศิลปินไทยหรือคนไทยด้วยเหมือนกัน
สุดท้ายนี้ ทีมคอสมอสขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณทีม TRENDY TAIPEI ที่ชวนเราไปร่วมงาน และทีม NPCC Curating Co. ที่ดูแลเราตลอดทั้งทริป ถ้าใครได้มีโอกาสไปเที่ยวไทเป อยากแนะนำให้ลองแวะไป Taipei Music Center ซักวัน และอยากให้ทุกคนมีความหวังว่าซีนดนตรีไทยจะมาถึงในวันนี้ได้ซักวัน
ติดตามข่าวสาร และงานเฟสติวัลของ TRENDY TAIPEI ได้ที่ Website, Facebook และ Instagram
อ่านต่อ
LUCfest 2023 วันแรก ลุยไถหนาน เก็บวงเจ๋ง ๆ พร้อมไปเชียร์ LEPYUTIN ติดขอบเวที
LUCfest 2023 วันที่สอง กับกองทัพศิลปินไทยที่ไปเฉิดฉายที่ไต้หวัน
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา