ทำไมศิลปินไทยยังไปไม่ถึงเวทีโลก T-WAVE ชวนล้อมวงสนทนาและแลกเปลี่ยนกับคนในวงการเพลงที่ TDCD กรุงเทพฯ

by Nattha.C
1.7K views
ONErpm Annalynn Parinam Music SeenSceneSpace Maho Rasop Festival NewEchoes Rats Records T-Wave Grobal Voyage TCDC Bangkok

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน และวันเสาร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา Rockademy Thailand จับมือกับ Thailand Creative & Design Center (TCDC) กรุงเทพฯ ได้จัดงาน T-WAVE: Global Voyage เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรในอุตสาหกรรมดนตรีที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ แชร์อุปสรรคในการทำงานต่าง ๆ โดยเปิดให้ลงทะเบียนฟรีทั้งออนไลน์และออนไซต์ตลอด 2 วัน

นอกจากงานเสวนาแล้วยังมีเวิร์คช็อป PITCH YOUR MUSIC ที่เชิญชวนให้ศิลปินหน้าใหม่ ส่งผลงานของตัวเองเพื่อทำการคัดเลือกและเตรียมตัวนำมาเสนอให้ Artists and Repertoire (A&R) ของค่ายเพลงระดับสากลฟัง เพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนศิลปินคนอื่น ๆ ในกิจกรรม สำหรับ COSMOS Voyage ตอนนี้ เราขอย้อนเวลากลับไปฟังพีธีกรและสปีกเกอร์อีก 5 ท่านอีกครั้งในหัวข้อ T-Wave Global Voyage : WORLD TOUR (Exporting Music) ที่จัดขึ้นบริเวณ Creative Space ชั้น 5 (อาคารส่วนหน้า) เพื่อทำการสรุปมาให้ทุกคนอ่านกัน

และความทรงจำครั้งล่าสุดที่เรามาเตร็ดเตร่แถวนี้ น่าจะเป็นงาน Bangkok Design Week และงาน Bangkok Music City เมื่อช่วงปี 2019 ขออนุญาตใช้คำว่าเตร็ดเตร่ เพราะโซนเจริญกรุงมีซอกซอยให้เลือกเดินเยอะมาก ระหว่างทางอาจจะเจอร้านอาหารโลคอล หรือบางทีก็เดินหลง ๆ ไปเจออาร์ตแกลลอรี่ ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะแก่สายงานครีเอทีฟอย่าง TDCD กรุงเทพฯ แม้ต้องใช้เวลาเดินทางอยู่สักพักใหญ่ ๆ แต่ก็คุ้มค่าสำหรับสเปซที่พวกเขาสร้างขึ้นมาในแต่ละชั้น

เวลา 14.00 น. ขณะที่ทีมงานกำลังกดบันทึกเสียงและถ่ายทอดสด ท่ามกลางเสียงผู้คนเคล้ากลิ่นกาแฟบดอยู่เป็นระยะ เราก็ได้ยินเสียงของ ‘แพท-สิระ บุญสินสุข’ กล่าวเปิดทอล์กโชว์และทักทายสปีกเกอร์รวมถึงผู้ชมที่นั่งในห้องหับที่แบ่งโซนไว้อย่างชัดเจน ใครหลายคนอาจจะคุ้นหน้าเขาจากรายการ Everything Eargasm รวมถึงบทความสนุกสนานแถมมีสาระในเพจชื่อเดียวกัน

ก่อนเขาจะแนะนำให้เรารู้จักกับ ‘เต้—กฤตยา เทพไพฑูรย์’ ตัวแทนหรือดิสทริบิวเตอร์จาก ONErpm ถัดมาเป็น ‘บอส—สุพัชยะ สมพงษ์’ มือกีตาร์วงดนตรีเมทัลคอร์ Annalynn และสามหนุ่ม ‘ปูม—ปิยสุ โกมารทัต’ นายห้างแห่ง Parinam Music และ SeenSceneSpace หนึ่งในสามโปรโมเตอร์จาก Maho Rasop Festival ที่นั่งติดกับ ‘เหลิม—เฉลิมพล สูงศักดิ์’ Co-Founder จากค่ายเพลง NewEchoes และ ‘อ๊อฟ—อนุชา โอเจริญ’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Rats Records

ในยุคที่สตรีมมิงแพลตฟอร์มหรือสื่อโซเชียลมีเดียบนโลกอินเทอร์เน็ตยังไม่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย อะไรคือสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างศิลปินและแฟนเพลงเข้าด้วยกัน? โดยเฉพาะชาวต่างชาติและการได้มีโอกาสไปเล่นถึงต่างประเทศ สิ่งที่อาจตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างแน่ชัดคือ “ความสม่ำเสมอในการปล่อยผลงานเพลง” และ “การเป็นตัวของตัวเอง”

”สิ่งหนึ่งที่ค่ายเราและศิลปินปักหมุดมาด้วยกันตลอดคือการตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า เราจะทำเพลงให้คนทั้งโลกฟัง โดยไม่จำกัดแค่เฉพาะคนในประเทศไทย อย่าง Gym & Swim ผมคิดว่าพวกเขาคือวงแรกในค่ายปาริณามที่ทำผลงานเพลงทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษและได้ออกเดินทางไปเล่นต่างประเทศ” ปูมอธิบาย เช่นเดียวกับวง Part Time Musicians ที่ชาวญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจและชักชวนพวกเขาไปเล่นในงาน Earth Garden Festival ที่จัดขึ้น ณ 代々木公園 Yoyogi Park ในปี 2016

”แน่นอนว่าความยากในตอนนั้นคือมันยังไม่มีสื่อออนไลน์ หรือมีก็ไม่แข็งแรงมากพอที่จะใช้ในการสื่อสาร สิ่งที่ค่ายและผมพยายามโฟกัสคือการทำมาร์เก็ตติ้งแบบออฟไลน์ เช่น ติดต่อร้านแผ่นเสียงหรือ Tower Records ในแต่ละสาขาแต่ละเมืองที่เราไปเพื่อวางขายซีดีและโปรโมทงานต่าง ๆ” เฉลิมกล่าว ซึ่งความตื่นเต้นในช่วงแรกอาจเป็นประสบการณ์โหด มัน ฮาที่ศิลปินหรือวงดนตรีหลาย ๆ วงต้องเคยเผชิญ เพราะในทัวร์แต่ละครั้ง บางทัวร์พอลงเครื่องปุ๊ป ต้องเดินทางไปซาวด์เช็คและเล่นภายในวันนั้นเลย

ถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายวงดนตรีในประเทศไทยที่อาจจะไม่มีโอกาสเหล่านั้น กระทั่งศิลปินตัวเล็ก ๆ ที่พวกเขาก็จำใจยอมรับว่าต้องเก็บเงินลงทุนเพื่อแลกกับประสบการณ์และโอกาสด้วยตัวเอง ในฐานะตัวแทนทีม Digital Music Distributor อย่างคุณเต้ก็ได้เสริมมุมมองว่า ตราบใดที่ศิลปินมีฐานแฟนเพลงไม่ว่าจะหลักพันหรือหลักร้อยนิด เป็นศิลปินเมนสตรีมหรือไม่ ทุกคนก็มีโอกาสเติบโตและได้บินไปเพอร์ฟอร์มที่ต่างประเทศเท่ากัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสตรีมมิงแพลตฟอร์มในยุคนี้ได้สร้างความสะดวกสบายให้แก่ศิลปิน ค่ายเพลง และเหล่าผู้ฟัง โดยเชื่อมต่อพวกเขาให้ใกล้ชิดมากขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ บนโลกดิจิทัล เฉกเช่น Distributor ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างการให้บริการด้านการจัดจำหน่าย เผยแพร่ผลงาน และดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เพลง แม้เซอร์วิสที่มีจะสามารถทำงานได้คล้ายกับค่ายเพลง แต่ท้ายที่สุด พวกเขาก็ไม่สามารถเทียบเคียงในลักษณะการทำงานตามแบบฉบับของค่ายเพลงได้ เพราะไม่มีใครต่างเป็นคู่แข่งต่อกัน

”ผมคิดว่าเราเป็นพาร์ทเนอร์ที่ทำงานไปด้วยกันมากกว่า” อ๊อฟเสริม ในฐานะที่เขาเป็นทั้งมิวสิคโปรดิวเซอร์และผู้บริหารค่ายเพลงร่วมกับปูมและเฉลิม พวกเขามองว่าการอยู่กับค่ายเพลงก็เหมือนเป็นการตกลงให้บุคลากรในค่ายซัพพอร์ตในสิ่งที่ศิลปินขาด เช่น ไอเดียในการทำงาน โปรดักชั่นด้านซาวด์และมิวสิควิดีโอเพลง อาร์ตเวิร์ก รวมไปถึงการวางแผนโปรโมทและช่วยเชปทิศทางวงดนตรีให้ตรงกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย ในขณะเดียวกัน ค่ายเพลงก็ต้องเคารพผลงานของศิลปิน และศิลปินก็ต้องเคารพการตัดสินใจของค่ายเพลง ขึ้นอยู่กับว่าผลงานของพวกเขาจะแมทช์กับค่ายไหนมากกว่า

นอกเหนือการฝึกซ้อมและเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดี การสร้างคอนเน็คชั่นก็ถือเป็นสเต็ปถัดไปที่สำคัญอย่างการที่ศิลปินได้พบปะกับศิลปินด้วยกันเอง “ส่วนตัวผมอยากให้ศิลปินทุกคนคิดเสมอว่า เราไปทำงานและต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพราะเราไม่ทราบเลยว่าช่วงเวลาที่เหลือจากการเล่นดนตรี จะมีใครเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนหรือมอบโอกาสให้เราบ้าง ไม่ใช่แค่ในเชิงธุรกิจแต่รวมไปถึงการเมคเฟรนด์ใหม่ ๆ ด้วย” เฉลิมกล่าว

กระทั่งวงเมทัลคอร์ของบอสอย่าง Annalynn ที่พึ่งเซ็นสัญญากับ Greyscale Records ค่ายเพลงสัญชาติออสเตรเลียไปเมื่อไม่นาน ก็ทำให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมดนตรีในต่างแดนนั้นค่อนข้างเปิดรับความหลากหลายทางแนวเพลง โดยบอสก็บอกต่อประสบการณ์ที่น่าประทับใจระหว่างเขา ค่ายเพลง และศิลปินเบอร์ใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงได้ร่วมงานกับทีมต่างประเทศแบบไม่กั๊ก

อีกหนึ่งสิ่งที่บางครั้งอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยก็อาจจะมองข้ามไปคือการ Respect และการสร้างความเชื่อมั่นในคนทำงานด้วยกัน ตั้งแต่อาชีพ Sound Engineer, Technician, ทีมงาน Back Stage รวมไปถึงคนขับรถตู้ คนเก็บตั๋วคอนเสิร์ต กระทั่งคนแจกจ่ายอาหารเครื่องดื่ม ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้โชว์ของศิลปินออกมาดี เพราะทุกคนต่างมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานของตัวเองอย่างมืออาชีพ ยิ่งถ้าเราให้เกียรติคนทำงานอย่างเท่าเทียมและแสดงความเคารพต่อกัน ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าอยากเต็มที่กับศิลปินคนนี้

ซึ่งภาพลักษณ์ของวงการนอกกระแสไทยในสายตาของผู้ใหญ่และบุคคลทั่วไปในสังคม พวกเขายังมองว่าเยาวชนรุ่นใหม่และนักดนตรีส่วนใหญ่เป็นเพียงศิลปินที่ทำเพลงเล่น ๆ โดยไม่เล็งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คืออาชีพที่สามารถเลี้ยงดูปากท้องได้คล้ายกับอาชีพอื่น ๆ หรืออาจเป็นเพราะสังคมไทยไม่เคยพูดถึงอาชีพเหล่านี้อย่างเปิดกว้างมาก่อน เช่น วงการดนตรีประกอบไปด้วยบุคลากรแบบไหนบ้าง? พวกเขาต้องการให้รัฐบาลหรือประชาชนที่สนใจซัพพอร์ตอะไรบ้าง? โดยพ้อยท์หลักที่สปีกเกอร์ทั้ง 5 คนเห็นพ้องต้องกันคือการสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้คนในสังคมก่อนว่า พอสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว มีคนพูดถึงอย่างไร และมันจะเติบโตไปในทิศทางไหน

”อย่างการที่เราไปคอนเสิร์ตในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานโชว์เคสหรือมิวสิคเฟสติวัลใหญ่ ๆ เราจะสังเกตเห็นว่าเขามักจะจัดในพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และถูกจัดสรรให้เป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะมันคือกิจกรรมของทุกเพศทุกวัยที่ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งมึนเมาเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอไป และเขามองว่าจุดนี้สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศได้อย่างไรต่อปี”เฉลิมกับปูมยังเสริมว่า ไต้หวันและเกาหลีก็เป็นประเทศที่มีโมเดลน่าสนใจในแง่ของการสอดแทรกวัฒนธรรมดั้งเดิมให้อยู่รอดไปพร้อมกับการสนับสนุนศิลปินและดนตรีร่วมสมัย เช่นวงอัลเทอร์ร็อกสุดจี๊ดอย่าง SE SO NEON ก็ได้รับเงินทุนจำนวนหนึ่งจากประเทศบ้านเกิดเพื่อออกทัวร์รอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หรือในอีกฟากฝั่งที่ไลฟ์เฮ้าส์ผุดเป็นดอกเห็ดอย่างประเทศญี่ปุ่นก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของการคมนาคม รวมถึงการมีพื้นที่ที่หลากหลายและรองรับศิลปินในแต่ละจุดได้อย่างเพียงพอ เมื่อเดินทางง่าย ผู้คนก็จะมีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น เลิกงานปุ๊ป พวกเขาสามารถเดินทางไปไลฟ์เฮ้าส์ได้ทันท่วงที โดยปราศจากอาการกังวล “หากประเทศไทยหันมามอบโอกาสให้กับศิลปินหรือมีพื้นที่ที่คนในวงการดนตรีได้แสดงออกมากกว่านี้ จากการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน ผมเชื่อว่าทุกอย่างมันจะไปต่อได้เอง ไม่ว่าเป็นแนวดนตรีอะไรก็ตาม” ก่อนบอสจะพูดด้วยน้ำเสียงชวนขบขันว่า วงดนตรีเมทัล-ฮาร์ดคอร์ ไม่ได้ต้องการรถพยาบาลเป็นสิบคัน หรือประกันอุบัติเหตุครอบคลุมทุกงานอีเวนต์ เพียงอยากให้ทุกคนเปิดใจและสนุกไปกับดนตรีของพวกเขา

”ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ดีขึ้นคือคุณภาพของคนทำงานเพลง เรามีวงดนตรีที่หลากหลายและเก่งกาจขึ้น แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไป วงการเพลงมันไม่ได้เติบโตหรือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แตกต่างจากสิบปีที่แล้ว” ในช่วงเวลาสิบนาทีสุดท้าย เฉลิมเอ่ยอย่างตรงไปตรงมาว่าเขารู้สึกเสียดาย หากเราจะต้องสูญเสียบุคลากรและวงดนตรีดี ๆ ไปมากกว่านี้ เพราะยังมีบุคลากรจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเหมาะสม ด้วยข้อจำกัด กฎหมาย และเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ประชาชนยังต้องหาทางเอาตัวรอดในเส้นทางสายนี้ แม้จะฟังดูเศร้า แต่พวกเขาก็พูดด้วยสีหน้าเจือความหวังว่า ประเทศไทยจะสามารถกลายเป็น Hub แห่งดนตรีภายในอนาคตข้างหน้านี้ได้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณผู้จัด Rockademy Thailand ร่วมกับ TCDC Bangkok และทีมงานหลังบ้านสำหรับรูปภาพและกิจกรรมดี ๆ ประจำเดือนกันยายน หากใครพลาดงานในครั้งนี้ สามารถรับชมย้อนหลังและติดตามอีเวนต์น่าสนใจครั้งถัดไปได้ที่เพจ Thailand Creative and Design Center

อ่านต่อ การเป็นศิลปินหน้าใหม่ ทำยังไงถึงจะอยู่รอดในยุคปัจจุบัน

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy