เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทีม The COSMOS ได้ขึ้นไปที่เชียงใหม่เพื่อร่วมอีเวนต์ที่น่าสนใจมาก ๆ อันนึงที่จัดขึ้นที่ชั้น 4 ของร้านบุญปั๋น ซารุ-ด้ง ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของคลื่นวิทยุอันเดอร์กราวด์จากเชียงใหม่ Abandon Radio โดยงานนี้พวกเขาและ NON NON NON ปาร์ตี้ออร์กาไนเซอร์จากกรุงเทพ ฯ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันและสนับสนุนดีเจผู้หญิงและ LGBTQ+ จับมือกันเปิดเวิร์กช็อปดีเจสำหรับผู้หญิงและนอนไบนารีที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหลังจากนั้นก็จะชวนพูดคุยเรื่องปาร์ตี้และพื้นที่ปลอดภัยว่ามีความสำคัญกับคอมมิวนิตีนี้ผู้หญิงและเควียร์อย่างไรบ้าง ก่อนจะไปต่อกันที่ปาร์ตี้กันแบบยาว ๆ โดยมีดีเจเจ้าบ้าน Sugar K มาเสริมทัพ ส่วนบรรยากาศงานและเนื้อหาที่พวกเขาพูดถึงในวันงานมีอะไรบ้าง COSMOS Voyage ก็ขอเล่าให้อ่านกันโดยละเอียดข้างล่างนี้เลย
***Trigger Warning: Rape***
11 พฤศจิกายน 2566
เพื่อที่นักเรียนดีเจทุกคนจะได้รับความรู้กันอย่างทั่วถึง เวิร์กช็อปของ NON NON NON x Abandon Radio ครั้งนี้จึงจำกัดคนเข้าร่วมอยู่ที่ 8 คน และแบ่งการสอนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มนึงจะได้เรียนกับ Mae Happyair (NON NON NON, Queer Dance) และอีกกลุ่มจะได้เรียนกับ Cristal No. 5 (Razedbi) ซึ่งทุกคนก็ได้ลองใช้อุปกรณ์จริงเป็นคอนโทรลเลอร์รุ่นต่าง ๆ และได้เรียนรู้เทคนิคการเชื่อมเพลงหรือมิกซ์เพลงกันเป็นระยะเวลาสองชั่วโมงเต็มโดยเริ่มตั้งแต่บ่ายสามโมง จากนั้นพอเวลาห้าโมงเย็น เวิร์กช็อปก็ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับเสวนาในหัวข้อ ‘ปาร์ตี้และพื้นที่ปลอดภัยในคอมมิวนิตีผู้หญิงและเควียร์’ โดยมีสองคนก่อนหน้าเป็นสปีคเกอร์ ร่วมด้วย Oktapuss (REACTOR), MJMA (Betreuters Raven), NONGNUII (Reverberation Area) และ Gres Teh ร่วมพูดคุยในเซสชันนี้และมี iarbuckle เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับสปีคเกอร์ที่มาพูดคุยในวันนี้ล้วนเป็นดีเจ นักเคลื่อนไหว และหรือเป็นส่วนหนึ่งในคอมมิวนิตี LGBTQ+ ซึ่งแต่ละคนต่างหยิบประสบการณ์ส่วนตัวที่ทั้งเกิดขึ้นโดยตรงและทางอ้อมมาเล่าสู่กันฟัง บ่อยครั้งที่พวกเขาต้องพบกับความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง การกีดกันทางโอกาสหรือข้อจำกัดทางศาสนาทำให้พวกเขาไม่สามารถเป็นตัวเองหรือทำสิ่งที่อยากทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องที่สมควรจะเกิดขึ้นไม่ว่ากับใคร การพูดคุยในวันนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อบอกเล่าว่า การมีคอมมิวนิตีต่าง ๆ มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นกระบอกเสียงทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องละเอียดอ่อนต่าง ๆ แล้ว การรวมกลุ่มกันยังสามารถเป็นเครื่องมือต่อสู้และผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดกับกลุ่มของเราในระดับที่กว้างขึ้นได้
เม Mae Happyair มีความเชื่อว่าพฤติกรรมของคนกับปาร์ตี้ช่วงหลังล็อกดาวน์ค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากก่อนหน้านี้แค่การมาปลดปล่อยอย่างสุดเหวี่ยง พอต้องกักตัวห่างจากกันสองปีเต็ม ทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากขึ้น บวกกับความกดดันรอบตัวในเชิงสังคมทำให้พวกเขาเริ่มใช้ปาร์ตี้เป็นที่รวมตัวสำหรับคนที่มีความเชื่อเรื่องเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและไอเดียที่สามารถเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น บางครั้งการมาร่วมปาร์ตี้สามารถนับเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ไปในตัว อย่างเช่นงานของ NON NON NON ก็ชัดเจนในเรื่อง LGBTQ+ คอมมิวนิตีมาโดยตลอด
iarbuckle หรือ อิ๊กเห็นด้วยและเสริมว่าซีนดนตรีในกรุงเทพ ฯ ขยายขึ้นอย่างมีนัยยะจากการชวนกันปากต่อปาก หลังจากที่ล็อกดาวน์มานานผู้คนก็โหยหากิจกรรมรวมกลุ่มทางสังคมมากขึ้น จากที่เธอคลุกคลีกับวงการดนตรีอินดี้จำพวกไลฟ์แบนด์มาระยะหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่เธอเพิ่งจะเริ่มเรฟและอินกับดนตรีอิเล็กทรอนิกจนเริ่มรับงานดีเจบ้าง และเธอสังเกตว่านอกจากเธอก็มีคนมากมายจากซีนดนตรีสดที่เริ่มขยับขยายเข้ามาในซีนปาร์ตี้มากขึ้น เส้นแบ่งว่าใครเป็นคนสายไหนเริ่มจางลงเพราะคนหลาย ๆ กลุ่มถูกดึงดูดเข้าหากันด้วยความชื่นชอบดนตรีคล้าย ๆ กันและอยากมาใช้เวลาร่วมสนุกด้วยกัน ในขณะที่ซีนปาร์ตี้ในเชียงใหม่เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับเธอ ก่อนหน้านี้เธอเคยได้ยินแค่งานจัดในป่าหรือเฟสติวัลในหุบเขาที่รู้กันเองในวงแคบ ๆ แต่การเกิดขึ้นของหลาย ๆ ร้านในตัวเมืองรวมถึง Abandon Radio ก็ทำให้เริ่มเห็นว่าซีนแบบนี้กำลังเกิดขึ้นที่นี่ด้วยเหมือนกัน
Gres Teh หรือเกรส ดีไซเนอร์เฟอร์นิเจอร์ Made by Lert เริ่มเปิดเพลงมาตั้งแต่อายุ 14 จนตอนนี้อายุ 27 และย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้ 2 ปี เขาเล่าว่าช่วงที่ย้ายมาเชียงใหม่แรก ๆ เป็นช่วงที่ล็อกดาวน์โควิดพอดี คลับ บาร์ ร้านเหล้าไม่สามารถเปิดให้บริการได้ แต่เขาสังเกตว่าคนที่อาศัยในเชียงใหม่ ณ ตอนนี้ หลาย ๆ คนมาจากต่างพื้นเพ เดินทางย้ายถิ่นฐานมาอยู่และนำเอาวัฒนธรรมหรือซีนเข้ามาทำให้แพร่หลาย หลังจากช่วงคลายล็อกดาวน์สถานที่อย่าง Abandon Radio, Noise, DEAF SHOP หรือ ReD จึงเกิดขึ้น ขณะที่ผู้คนเองก็มีมนุษยสัมพันธ์ดี สังคมครีเอทิฟค่อนข้างเล็กทำให้แทบทุกคนรู้จักกัน รวมถึงมีมายเซ็ตที่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ทำให้ซีนในเชียงใหม่เริ่มมีดนตรีทางเลือกและความหลากหลายมากขึ้น
ฟังแบบนี้แล้วเราอาจรู้สึกว่าซีนดนตรีเชียงใหม่กำลังไปได้สวย แต่เรื่องค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อก็ยังไม่เกิดขึ้น เราได้ยินเรื่องนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีว่า ที่เชียงใหม่มีนักดนตรี ศิลปินที่มีความสามารถมากมาย แต่ไม่สามารถลืมตาอ้าปากหรือยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพได้เสียทีเดียว วงดนตรีอิสระที่ทำเพลงทางเลือกต้องเดินทางมาเล่นกันที่กรุงเทพ ฯ หรือไปสร้างชื่อที่ต่างประเทศ การจัดอีเวนต์ขายบัตรแทบไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเสียค่าบัตรเพื่อชมดนตรี แต่ยอมเสียเงินให้กับอาหารและเหล้าซึ่งเป็นอะไรที่รู้สึกว่าจับต้องได้กว่าและมองว่าดนตรีมีไว้เพื่อแค่สร้างบรรยากาศ หรือสำหรับบางร้านที่ไม่ได้เก็บค่าเข้าแต่จ้างนักดนตรีกลางคืน ร้านเหล่านี้มีคนแน่นแทบทุกคืนและอาจจำหน่ายเครื่องดื่มได้จำนวนมาก แต่นักดนตรียังได้ค่าตัวเท่าเดิม ที่น่าใจหายกว่าคือคิดเป็นชั่วโมงละ 300-400 บาท และต้องหารกันกับสมาชิกในวงอีกที เลยเป็นเหตุให้ต้องรับงานหลาย ๆ ร้านตลอดทั้งคืนเพื่อให้ได้รายรับที่น่าพอใจ บางคนวิ่งงาน 3-4 ร้านต่อคืนก็มี
แน่นอนว่ามันยังไม่ใช่อาชีพที่ให้ทุกคนลืมตาอ้าปากได้ แต่สำหรับดีเจค่าตอบแทนยังถือว่าสูงกว่านักดนตรีสดเชียงใหม่ ที่เป็นเงินชั่วโมงและ 1000-1500 บาท ในกรุงเทพ ฯ สิ่งนี้เป็นความเข้าใจที่ตรงกันว่าการจัดปาร์ตี้หรือเปิดเพลงครั้งหนึ่ง ๆ ที่ใดก็ตามจะต้องมีการการันตีว่าพวกเขาต้องได้ค่าแรง เมที่เปิดโรงเรียนสอนดีเจมักพูดเสมอกับนักเรียนของเธอว่าถ้าได้ไปเล่นแล้วต้องแน่ใจว่าตัวเองจะได้รับค่าตอบแทนกับความเหนื่อยและความตั้งใจจากการฝึกซ้อมทุกครั้ง เพราะดีเจหลายคนต้องเอาเงินเก็บจากการทำงานอื่นมาลงทุนซื้อเพลงเพื่อที่จะให้ได้เพลงไม่ซ้ำในทุกครั้งที่เล่น แล้วยังต้องใช้เวลาฝึกฝนกว่าจะได้เพอร์ฟอร์แมนซ์ที่จะทำให้แดนซ์ฟลอร์คึกคักได้ตลอดคืน
การรวมกลุ่มหรือสร้างคอมมิวนิตีจึงเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ อย่างเช่นตอนนี้ก็เริ่มมีนักดนตรี โปรโมเตอร์ คนเบื้องหลังในวงการดนตรีในเชียงใหม่มารวมตัวกันในชื่อ Tempo.wav เพื่อพูดคุยหารือถึงทางออกของปัญหาต่าง ๆ อย่างจำนวนงานจ้าง การหาสถานที่เล่นให้วงต่าง ๆ และในอนาคตอาจจะสามารถเรียกร้องค่าจ้างให้นักดนตรีและคนทำงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งเราจะนำเสนอเรื่องราวและแนวคิดของพวกเขาในบทความต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน
สำหรับบาหลีแม้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องค่าจ้าง แต่พวกเขามีอุปสรรคในระดับที่รากลึกลงไปกว่านั้น Oktapuss หรือ Octavian เป็นช่างภาพจากบันดุง อินโดนีเซีย ต่อมาก็ได้กลายมาเป็นดีเจเบสที่บาหลี ส่วน Cristal No.5 หรือ Tristan ออสเตรเลียน-อินโดนีเชียนแฟชันดีไซเนอร์ที่อยู่บาหลีมา 15 ปี และเริ่มดีเจเมื่อสามปีก่อน พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่คล้ายกันทำให้มีโอกาสได้มาพบเจอและร่วมงานกันบ่อย ๆ หลังจากที่รู้สึกว่าเมืองใหญ่อาจจะไม่ใช่ที่ของตัวเองและค้นพบสถานที่ที่เป็น ‘บ้าน’ อยู่ที่บาหลี ในช่วงโควิดพวกเขาจัดปาร์ตี้ฮิปฮอปในเควียร์คอมมิวนิตี ก่อนจะค่อย ๆ ขยับขยายไปในทิศทางของตัวเอง โดยออกตาเวียนตั้งคอลเล็กทิฟที่ชื่อ REACTOR และทริสตันทำปาร์ตี้ชื่อ Razedbi เพื่อหาพื้นที่ให้กลุ่มของพวกเขาเล่น
เรารู้กันดีว่าบาหลีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมและมีบีชคลับมากมาย แต่ก็ไม่เพียงพอต่อศิลปินอันเดอร์กราวด์อยู่ดี แต่ครั้งนึงที่เป็นตัวจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อตอนทริสตันอายุ 20 (ตอนนี้เขาอายุ 36 ปี) เขาและเพื่อน ๆ ไปเที่ยวคลับชื่อ Skyline ซึ่งเป็นคลับยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ณ ขณะนั้น แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาช็อกคือคลับเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าได้ฟรี แต่คนที่เป็นคนท้องถิ่นต้องเสียเงินค่าเข้า จนถึงตอนนี้เขาก็ยังรู้สึกว่าบรรยากาศในซีนไม่เป็นมิตรเอามาก ๆ สังคมอินโดนีเซียเหมือนถูก whitewashed หรือโดนอิทธิพลของคนขาวครอบงำจนไม่เห็นค่าของคนท้องถิ่น บางครั้งการเป็นดีเจคนอินโดก็ไม่ถูกเลือกให้ไปเล่น เห็นได้ชัดว่าโอกาสเดียวที่จะได้ไปเล่นในคลับดัง ๆ คือช่วงล็อกดาวน์ เพราะดีเจต่างชาติไม่สามารถบินมาเล่นได้ พวกเขาเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับวัฒนธรรมผิดที่ผิดทางแบบนี้ สิ่งที่พวกเขาทำจึงเป็นเหมือนการตอบโต้/สู้กลับโดยตรง ด้วยการสร้างคอมมิวนิตีของตัวเอง มีสถานที่ มีผู้คน กับกลยุทธมัน ๆ ที่คิดเงินค่าเข้ากับนักท่องเที่ยวแล้วให้คนบาหลีเข้าฟรี และไม่ยอมรับงานไปเล่นในสถานที่ที่เคยปฏิเสธพวกเขาง่าย ๆ อีกต่อไป
ทำไมพื้นที่ปลอดภัยจึงสำคัญ
นอกจากเรื่องการเลือกปฏิบัติเรื่องเชื้อชาติแล้ว ซีนปาร์ตี้ของบาหลีที่ดูจะเหมือนเปิดรับมาก ๆ ในแง่ความหลากหลาย แต่ LGBTQ+ ก็ยังต้องเจอกับความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงอยู่ดี ทั้งในเชิงกฎหมายและศาสนาที่ผู้คนที่ไม่ได้อ้าแขนต้อนรับพวกเขาขนาดนั้น เช่นเดียวกันกับในกรุงเทพ ฯ แม้สังคมจะให้ความรู้สึกว่าเกย์ ทรานส์ เควียร์เป็นที่ยอมรับ แต่เกรสเล่าว่ายังมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ LGBTQ+ ส่วนหนึ่งอาจเพราะสังคมยังมองว่าพวกเขาต้องมีภาพลักษณ์เป็นคนตลก เสียงดัง เป็นสีสันของกลุ่ม หรือ sidekick ของใครสักคน เพราะภาพของพวกเขาในสื่อบันเทิงต่าง ๆ ยังถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะนั้น ในเชิงเศรษฐกิจอัตลักษณ์ของพวกเขาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด เราอาจจะเคยเห็นหลายแบรนด์ร่วมใจกันเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้งในช่วงเดือนมิถุนายน และดีเจที่อยู่ในคอมมิวนิตีก็จะมีงานชุกเป็นพิเศษ เกรสเล่าทีเล่นทีจริงว่าหลังจากนั้นอีก 11 เดือน พวกเขาก็ไม่มีงานจ้างอีกเลย
เราทราบดีว่าเดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็น Pride Month ซึ่งเป็นเดือนที่เฉลิมฉลองกับความสวยงามของคอมมิวนิตี LGBTQ+ มักจะมีการเดินพาเหรด กิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ และเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมให้พวกเขา แต่ก็ยังมีคนที่ฉวยโอกาสโดยการเอาอัตลักษณ์มาทำเป็นเรื่องเล่น ๆ อย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้มีปาร์ตี้ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเควียร์ด้วยการให้คนในคอมมิวนิตีสามารถเข้างานได้ฟรี แต่มีคนที่เป็นสเตรทสวมชุดที่ทำให้เขาดูเป็นผู้หญิงเข้ามาในงานได้โดยไม่ต้องเสียค่าบัตร เมื่อทำสำเร็จก็เอาไปพูดปากต่อปากในงานว่าเขาสามารถเข้ามาได้ด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่โอเคมาก ๆ ช่วงหลังจึงมีการพูดคุยหรือประกาศกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้นว่าด้วยวิธีการปฏิบัติตัวในปาร์ตี้ว่า อย่างน้อยที่สุด เราควรจะมีความเคารพในความเป็นมนุษย์และให้เกียรติซึ่งกันและกัน และที่สำคัญ ไม่มีใครสมควรถูกนำความเจ็บปวดของพวกเขามาทำเป็นเรื่องตลก
ออคตาเวียนเล่าว่าที่อินโดนีเซีย บางคนไม่สามารถจะเป็นตัวเองได้ในบางปาร์ตี้ในสมัยก่อนเพราะอาจถูกเหยียดหรือทำร้าย แม้ตอนนี้จะน้อยลงแล้วแต่ก็ยังมีไอเดียเหล่านั้นแฝงอยู่ ทริสตันเล่าให้ฟังว่าเขามักจะได้ยินเรื่องราวของเพื่อน ๆ และคนใกล้ตัวประสบกับความเกลียดชังและความรุนแรงอยู่เสมอ ในยุค 90s ที่ซีนปาร์ตี้และดนตรีกำลังเฟื่องฟู ขณะที่เขาอายุ 12 ปี ก็ต้องได้ยินเรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับเพื่อนของแม่ที่ถูกข่มขืนและเกือบถูกฆ่าเพียงเพราะเธอเป็นเลสเบี้ยน เรื่องเหล่านี้ถ้าใครได้ฟังก็ต้องรู้สึกถึงความโหดร้ายและมืดมน แต่เขาก็ยังเชื่อว่าสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และรู้สึกได้ถึงสิ่งสวยงามจากคอมมิวนิตีคอยโอบรับและเกื้อกูลกัน เพราะทุกคนต่างเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะเห็นโลกที่ดีขึ้น ต่างคนช่วยกันคนละไม้ละมือจากกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อสร้างพลังและสร้างความเข้าใจและให้พื้นที่สำหรับพวกเขา—ที่ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน—ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งถ้าทุกคนมีมายเซ็ตของการอยู่ร่วมกันด้วยการให้เกียรติและเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ความรุนแรงและความเกลียดชังจะลดลงได้
สำหรับในกรุงเทพ ฯ เรามีกลุ่มดีเจและคอมมิวนิตีมากมายที่ทุกคนเป็นเพื่อนและคอยให้การสนับสนุนกัน ในทอล์กวันนี้เรามี MJMA หรือเมย์ ที่รวมกลุ่มกับเพื่อนเยอรมันและสวิสได้จัดปาร์ตี้เล็ก ๆ กันเองชื่อว่า Betreuters Raven โดยเป็นคำที่ล้อมาจากศัพท์เยอรมัน ‘betreute’ ที่ประกอบรวมกับอีกคำจะได้เป็นคำว่าบ้านพักคนชรา เหมือนเป็นมุกที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองว่าที่นี่เป็นเหมือนบ้านที่ทุกคนจะดูแลกันและกัน ผูกสัมพันธ์กันด้วยเสียงเพลง เมื่อการรวมกลุ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ภาพของกลุ่มนี้ก็เริ่มชัดขึ้นว่านี่ไม่ใช่การมาแฮงเอาต์ เต้นรำ หรือสังสรรค์กันเฉย ๆ ระหว่างคนที่มีความสนใจในแนวดนตรีใกล้เคียงกัน แต่ทุกคนต่างห่วงใยซึ่งกันและกันจริง ๆ อย่างเรื่องเล็ก ๆ ในปาร์ตี้ว่าทุกคนยังไหวอยู่ไหม เมาเกินไปไหม ต้องการน้ำหรือไหม หรือมีใครมาทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า แต่หากยังเกิดขึ้นอีกเราก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อบังคับใช้ในเชิงกฎหมายที่จะคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้ NONGNUII หรือมาย เชื่อว่าสิ่งที่เราต้องการเห็นอย่างยิ่งคือภาครัฐร่วมมือกันกับภาคประชาชนที่ผลักดันให้เกิดเป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายหรือกฎหมายที่ทำให้พื้นที่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้จริง
แม้เรื่องที่คุยกันในวันนี้จะเป็นประเด็นที่หนักหนาและอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่า แม้นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการพูดคุยกัน แต่ถือว่าเป็นความสำเร็จเพราะคนจากทั้งกรุงเทพ ฯ เชียงใหม่ บาหลี ให้ความสนใจมานั่งฟัง แลกเปลี่ยน และพร้อมจะเปล่งเสียงเล็ก ๆ นี้ออกไปร่วมด้วยเสียงเพลงที่พวกเขารัก ด้วยความหวังที่จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นสำหรับทุกคน
อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ