LUCfest หนึ่งในงาน Music Showcase ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่จัดขึ้นในเมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน โดยตั้งชื่องานก็เพื่ออวยพรให้กับเหล่านักฟังเพลงจากทั่วโลกที่มารวมตัวกันที่ประเทศนี้
นอกจากงานนี้จะเป็นงาน Showcase สำหรับศิลปินที่มีความสามารถจากไต้หวันแล้ว ยังเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินเจ๋ง ๆ จากทุกชาติเข้ามาแสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ โดยงานจะคัดเลือก Delegates หรือคนในอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วโลกมาเจอกับพวกเขาด้วย เพื่อต่อยอดความเป็นไปได้ในวงการดนตรีอีกมากมายเกินกว่าที่เราจะคาดหวังได้
กล้าพูดได้เลยว่า งานนี้ได้ส่งออกศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ออกไปสู่วงการดนตรีทั่วโลกหลายวงแล้ว ซึ่ง Phum Viphurit ของพวกเราเองก็เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาจากงานนี้เหมือนกัน
และปีนี้เองทีม The COSMOS ได้รับเชิญจากทีม Taiwan Beats ให้ไปร่วมงาน LUCfest 2023 ในฐานะสื่อดนตรีจากประเทศไทย ซึ่งพอได้ไปงานนี้ด้วยตัวเองแล้ว ทำให้เราเข้าใจเลยว่า ทำไมงาน Music Showcase ถึงสำคัญกับวงการดนตรี และสำคัญกับศิลปินไทยทุกคนด้วยเหมือนกัน
เพราะเหล่า Delegates ที่มาในงานนี้ ล้วนเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีของประเทศตัวเอง และมีประสบการณ์ในวงการดนตรีที่เข้มข้น หลายคนเป็นเจ้าของเฟสติวัลระดับประเทศ อีกหลายคนก็เป็น booking agency หรือ Curator ที่มองหาวงดนตรีน่าสนใจไปเล่นที่ประเทศต่าง ๆ หลายคนมีไลฟ์เฮ้าส์หรือมีเวนิวของตัวเองที่รอให้ศิลปินใหม่ ๆ เข้าไปเติมเต็มความมัน และบางคนก็เป็นตัวแทนจากค่ายเพลงที่อยากมาเซ็นสัญญากับเฮดไลเนอร์คนต่อไปของโลกให้ได้
ตลอดเวลาที่อยู่ในงาน จะมีอีเว้นต์ที่จัดขึ้นเพื่อให้ศิลปินมีโอกาสได้เจอ Delegates เหล่านี้ทุกวัน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นของศิลปินทุกคนแล้วว่าจะพาตัวไปเจอโอกาสได้มากแค่ไหน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากมายที่เกิดขึ้นที่นี่ และอยากให้ศิลปินไทยทุกคนได้ลองเข้ามาสัมผัสสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองซักครั้ง
ในมุมมองของเรา ไถหนานมีความคล้าย ๆ กับเมืองเชียงใหม่บ้านเราประมาณหนึ่ง แม้ภายนอกจะดูเงียบสงบ แต่เต็มไปด้วยงานศิลปะ เหล่าร้านรวงและเวนิวต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกับบ้านเราคือ เมืองนี้ก็ได้รับการซัพพอร์ตจากรัฐอย่างดีเหมือนกับเมืองอื่น ๆ ในไต้หวัน
ก่อนอื่นเลย เวทีที่ใช้จัดคอนเสิร์ตในงานนี้ก็น่าประทับใจสุด ๆ สำหรับคนไทย เพราะครึ่งนึงคือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ดูแลโดยภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Tainan Art Musuem มิวเซียมที่ปรับปรุงจากพื้นที่ทางประวัติศาตร์ Eternal Golden Castle จากป้อมปราการในสมัยก่อนกลายเป็นสวนสาธารณะ รวมถึง National Museum of Taiwan Literature Lecture Hall และ Wan Sha Performing Arts Center
นอกจากนี้ LUCfest ยังเลือกเวนิวที่น่าสนใจเพื่อซัพพอร์ตผู้ประกอบการในเมืองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Chuang Mei Theater (全美戲院) โรงหนังเก่าที่อยู่คู่เมืองมาอย่างยาวนาน หรืออย่าง Red Bird Night Club, B.B. Art และ Hó Thiann Performing Arts ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานเกี่ยวกับดนตรีเพื่อคนไถหนานโดยเฉพาะ ยังเป็นสถานที่ที่ทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักเกี่ยวกับเมืองนี้มากขึ้นอีกด้วย
อย่างที่บอกว่าศิลปินและ Delegates มีหน้าที่ที่ต้องทำมากมาย ทั้งมีตติ้ง ทั้งงานสัมมนาหรือภารกิจต่าง ๆ ที่เป็นการเป็นงานสุด ๆ สื่ออย่างเราเลยมีอิสระที่จะได้ไปชมเมืองในแบบของเรา ฝากติดตามบทความท่องเที่ยวเชิงดนตรีของ The COSMOS อีกคอนเทนต์ด้วยนะ ใครไปไถหนานรอบหน้ารับรองสนุกแน่นอน
ต่อจากนี้ก็ชวนทุกคนไปติดตามความสนุกของ LUCfest ทั้ง 3 วันใน COSMOS Voyage ของเราได้เลย
Day 0 (3 Nov)
ในวันแรกที่มาถึงเมืองไถหนาน LUCfest ก็มีงานเลี้ยงเล็ก ๆ รับรองเหล่า Delegates ที่เพิ่งมาถึงให้ผ่อนคลายจากการเดินทาง และยังมีทัวร์พาชมเมืองผ่านเวนิวต่าง ๆ ในงานนี้ โดยไฮไลต์ของวันคือเวทีกลางที่รวบรวมศิลปินในเอเชียที่น่าสนใจเอาไว้ ในโปรแกรมแรกใช้ชื่อว่า ‘Focus Indonesia’ ที่ส่ง Jevin Julian ศิลปินและโปรดิวเซอร์สายอิเล็กทรอนิกเจ้าของรางวัลระดับประเทศที่บีบนวดเราด้วยบีทมัน ๆ เรียกว่าเป็นม้ามืดของสายนี้เลย และ Hindia โปรเจกต์เดี่ยวของ Baskara Putra นักร้องนำ .Feast วงร็อกชื่อดัง ซึ่งเหมือนเป็นกระจกสะท้อนความสามารถที่เหลือล้นของเขา ด้วยดนตรีป็อปสนุก ๆ ไปจนถึง synthpop ที่ดุดัน
โปรแกรมที่สองก็ใช้ชื่อว่า ‘NewEchoes’ ค่ายตัวตึงจากไทยเรานี่เอง พวกเขาก็ส่ง LEPYUTIN และ NUMCHA มา บอกเลยว่าโชว์ของพวกเขาก็สร้างความประทับใจให้เหล่า Delegates จนต้องตะลึง ตามอ่านโชว์บนเวทีเต็ม ๆ ของเขาอีกทีช่วงต่อไป ส่วนโปรแกรมสุดท้ายคือ ‘LUCKY 7’ ที่ส่ง さらさ (ซาระซะ) จากญี่ปุ่นมาให้ทุกคนเชยชม เสียงร้องของเธอที่ทั้งอ่อนโยนและเต็มไปด้วยความเศร้านั้น สะกดใจทุกคนไว้อย่างอยู่หมัด ซึ่งแน่นอนว่าเราจะพูดถึงโชว์เต็ม ๆ ของเธอด้วย
และช่วงเย็นเองก็มีปาร์ตี้ต้อนรับอย่างเป็นทางการ พร้อมเวที Showcase พิเศษโดยศิลปินไต้หวันที่น่าจับตามองทั้ง Wendy Wander วงป็อปสุดนุ่มที่กำลังจะมาไทย, Iruka Porisu วงร็อกที่ครบเครื่องความมันสุด ๆ, Jerry Li รุ่นใหญ่ของวงการกับดนตรีสไตล์อังกฤษ และ 250 โปรดิวเซอร์ชื่อดังจากเกาหลีที่เป็นคนทำเพลง Ditto ให้ NewJeans ที่มาแบบ DJ Set ซึ่งทุกคนเราจะพูดถึงโชว์เต็ม ๆ ของพวกเขาแน่นอน
แค่คืนแรกก็ตื่นตาตื่นใจสุด ๆ เพราะเต็มไปด้วยวงเจ๋ง ๆ ทั้งนั้น หลังจากหาอะไรรองท้องเราจึงรีบกลับโรงแรมพักผ่อนทันที เพราะวันเสาร์บอกเลยว่าตารางแน่นสุด ๆ
Day 1 (4 NOV)
เช้าวันเสาร์ พวกเรากินข้าวอะไรกันเสร็จก็รีบเดินทางไปประจำที่เวนิวต่าง ๆ เพื่อรอเข้างานกันตั้งแต่วงแรก โดยเรามีนักเขียนสองคนคอยแยกกันไปเก็บให้เยอะที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
มาเริ่มกันที่โรงหนัง Chuang Mei Theater เพราะหนึ่งเป้าหมายหลักของเราในงานนี้คือ Kirinji ศิลปินญี่ปุ่นระดับเฮดไนเนอร์เลย ระหว่างที่กำลังรอเข้าโรงหนัง ก็ได้เห็นคนไต้หวันจูงลูกเด็กเล็กแดงออกมาต่อคิวรอดูศิลปินที่ไม่รู้จักกัน ก็อดชื่นใจไม่ได้กับความเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ของคนไต้หวัน ซึ่งคนก็มากันแน่นโรงตั้งแต่วงแรกเลยทีเดียว
เมื่อเข้ามานั่งกันเต็มฮอลแล้ว วงแรกของเวทีนี้อย่าง Famous Japanese (JP) ก็ขึ้นมาบรรเลงความสนุกทันที วงดนตรีพื้นบ้านจากญี่ปุ่นที่มีกลิ่นของ world music แต่ผสมเข้ากับเครื่องดนตรีหลากหลายประเทศชวนตื่นตาตื่นใจ นอกจากเครื่องดนตรีพื้นฐานอย่างเบส ซินธ์และกลองชุด วงก็ยังมีไวโอลิน ปี่ไทย แซ็กโซโฟน เครื่องเคาะเพอร์คัสชั่นทั้งหลาย ซิต้า ไปจนถึงกลองยาว
ด้วยดนตรีที่รื่นเริงเกินบรรยายกับคอสตูมที่ฉูดฉาดละลานตา ยิ่งส่งให้การร้องประสานเสียงของนักร้องนำชายหญิงแบบเฉพาะถิ่น ที่ดูครึกครื้นไปกับวงด้วย กลายเป็นวงเปิดเวทีที่กระตุ้นอะดีนารีนคนดูได้ดีมาก เพลงของพวกเขามีตั้งแต่การร้องรำทำเพลงที่สนุกสนานในเพลง OSHAKASAMA ราวกับการละเล่นเฉพาะตัวของพวกเขา หรือการหยิบสไตล์ดนตรีของเพื่อนมาผสมกับเทคนิคสลับจังหวะดนตรีไปมาเพลง ARAB’S KING ก็รื่นเริงสุด ๆ ไปถึงโชว์บรรเลงดนตรีที่น่าตื่นตาตื่นใจจากเครื่องดนตรีหลากหลายชิ้นที่ให้เสียงในเพลง SUNTONKYO ก็ยืนยันศักยภาพทางการแสดงของพวกเขาได้อย่างดี
Andr (TW) ศิลปินสาวแนวอัลเทอร์เนทีฟ-อาร์แอนด์บีวัยกำลังแก่น คนนี้เราแอบไปฟังเพลงมานิดหน่อย ก็ค้นพบว่าเรนจ์เสียงของเธอน่าหลงใหลไม่เบา แถมมีช่วงแร็ปสลับร้องภาษาอังกฤษกับจีนแมนดารินที่กลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างประหลาด ซึ่งรอบนี้เธอมาแบบฟูลแบนด์บนดนตรีที่กลมกล่อมครบเครื่องทั้งดรัมแอนด์เบสสุดหนึบหนับ ควบซาวด์สังเคราะห์และอิเล็กทรอนิกบีทที่ติดหู เช่นเพลงที่แนบมาในเซ็ตลิสต์อย่าง i don’t lose sleep anymore, Night Lotion, 釋迦Shakya และอื่น ๆ บางท่อนก็แอบหยอดริฟฟ์กีตาร์ฟังก์กี้ ๆ ให้ไม่น่าเบื่อเกินไป จังหวะเล่นเพลงร็อกก็มันส์สะท้านไปเลยล่ะ
หลังจากนั่งพักไม่นาน Kirinji (JP) ก็ขึ้นมาเซ็ตเตรียมโชว์ต่อไป ก็ต้องแปลกใจเพราะครั้งนี้เขามาพร้อมกีตาร์ตัวเดียว โดยที่ไม่ได้เอาวงมาด้วยเลย แต่เห็นแบบนี้เราก็มั่นใจได้เลยว่าลุงจะต้องออกแบบโชว์มาอย่างดีแน่นอน แต่เมื่อลุงเริ่มโชว์ก็สามารถสะกดทุกคนในฮอลล์ให้อยู่ในความเงียบ และตั้งใจฟังเขาได้ตั้งแต่คอร์ดแรก เปลี่ยนทุกเพลงให้เป็นโฟล์กน่ารัก ๆ กับน้ำเสียงที่อบอุ่นอย่างประหลาด พร้อมตื่นตาตื่นใจไปกับลูกเล่นของกีตาร์ที่น่าฟัง ตอบความคาดหวังของทุกคนได้อย่างน่าประทับใจ
โดยเฉพาะเพลงฮิตตลอดกาลของเขาอย่าง 時間がない ที่เสียงกีตาร์ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศอบอุ่น และทำให้เสียงนุ่ม ๆ ของลุงดูสนุกขึ้นมา ซึ่งลุงก็เก็บได้ทุกเมโลดี้ในเพลง แต่เปลี่ยนให้กลายเป็นเสียงนุ่ม ๆ ทั้งเพลง แต่ยังหยิบเพลงจากอัลบั้มล่าสุดมาทั้ง Rainy Runway และ Running’s High มาเรียบเรียงใหม่ ใส่ความแจ๊สลงไป ขยี้จังหวะให้สนุกขึ้นไปอีก พร้อมโชว์เสียงร้องอันทรงพลังของลุง เป็นเวอร์ชั่นพิเศษที่อยากให้บันทึกเก็บไว้เลย
และเป็นอย่างที่วงบอกไว้จริง ๆ ว่าโชว์เต็มของพวกเขาจะสุดขึ้นไปอีกขั้น LEPYUTIN (TH) กลับมาที่สเตจ Nanmei Village Community Center เพื่อเขย่าโสตประสาทตั้งแต่เพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย เพราะนอกเหนือดนตรีฟังสบายอย่างเพลง Lies and Shine และ Bora Bora ตลอดทั้งเซ็ตก็เต็มไปด้วยบรรดาเพลงจากอัลบั้มชุดใหม่ในสไตล์ ไซเคเดลิกร็อก โพรเกรสซิฟ กับแจ๊สฟิวชั่นที่ได้ไลน์แซ็กโซโฟนช่วยขยี้ทุกช่วงจนเวทีสั่น อาทิ The Second Son, Habitual Ceremony, Lep Zepplin ประกบคู่ Hot Box และ Lost In Translation ในบรรยากาศครื้นเครงที่เรียกให้คนดูมาร่วมสนุกบนท่อนเบรค ด้วยจังหวะเซิ้งที่เกรงว่าผู้ชมจะไม่เพลิน “So…this is our style” ไม่นานวงก็เริ่มแนะนำรูปแบบการเต้นยกมือฟ้อนแบบไทยแดนซ์ไปหนึ่งสเต็ป ก่อนส่งเข้าเอาท์โทรเดือด ๆ ที่เล่นเอากองเชียร์ชาวไต้หวันซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแก๊งเดียวกับเพื่อนศิลปินคนไทย ผลัดกันตะโกน “ม่วนมาก!” “ม่วนโคตร!” กลายเป็นภาพที่ชวนเฮฮาดีเหมือนกัน แถมคนมารอชมเยอะมาก ๆ
เรายังอยู่กันต่อที่ Chuang Mei Theater เพราะ Lily Chou-Chou Lied (TW) เล่นเป็นวงต่อไป ทรีโอ้อิเล็กทรอนิกที่เหมือนเป็นคลื่นลูกใหม่ของซีนดนตรีไต้หวัน แค่เห็นการติดไฟเลเซอร์เต็มเวทีก็รู้เลยว่าวงนี้เอาจริง พอได้ดูวงของพวกเขาแล้วเรารู้สึกอิจฉามาก เพราะในไทยไม่มีวงอิเล็กทรอนิกที่ทำเพลงได้สนุกขนาดนี้มานานมากแล้ว พวกเขาโดดเด่นด้วยกลองชุดตรงกลางที่ใช้ดรัมแพดท์ผสมสแนร์และคิกดรัม และการมีซินธ์สองตัวกับเบสเนี่ย ยิ่งทำให้วงน่าสนใจเข้าไปอีก พวกเขายังมีจุดเด่นที่การร้องประสานชายหญิงที่ทั้งเยือกเย็นและอิมแพคต่อเพลงสุด ๆ
ถ้าทุกคนได้ดูโชว์เพลง The Foreteller ของพวกเขาสด ๆ จะยิ่งทึ่งในการเรียบเรียงเพลงของพวกเขา ที่บาลานซ์จังหวะชวนเต้นกับซาวด์สังเคราะห์ที่คึกครื้นสุด ๆ ไดนามิกของเพลงที่ทั้งถ่ายทอดอารมณ์ที่พรั้งพรูอยู่ข้างในตัวเรา กับความสนุกของเพลงก็ทำได้ดีมาก โชว์ของพวกเขาเลยยิ่งสนุกสุด ๆ และ As Usual ที่โบยตีเราด้วยซินธ์หวาน ๆ ดรัมบีทที่ดุดันลงตัวกับการร้องประสานเสียงที่นุ่มนวล แล้วซัดเราด้วยแดนซ์มิวสิคที่แพรสพราวจนเราไม่ขยับตัวตามไม่ได้ การสลับจังหวะไปมาทำให้อินกับเพลงขึ้นไปอีก
Yokkorio (TW) ขนผลงานเพลงจากอัลบั้มชุด Moirai Kiss ที่พึ่งปล่อยไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อมาโชว์ศักยภาพอันเต็มเปี่ยมด้วยบรรยากาศที่แตกต่างจากในออดิโอแทร็กผ่านกีตาร์โปร่งและน้ำหนักมือที่ค่อย ๆ วาดลงบนเครื่องสายเพียงหนึ่งเดียว เพราะไม่กี่นาทีที่เธอเริ่มขับกล่อมและบรรเลงมันในฉบับ Acoustic Session เราก็ตกอยู่ในภวังค์ฝันของเธอเรียบร้อย ตั้งแต่ Dive into the blue, Now ไปจนถึง Lover บวกการคัฟเวอร์เพลง Let It Be ของคณะสี่เต่าทอง The Beatles และสองเพลงที่เราชอบเป็นพิเศษอย่าง Wake Up Apart กับ Feather ที่มีเมโลดี้หวานละมุนชวนเคลิ้ม ทว่าท่อนเศร้าก็ทำเอาเหงาจับใจ ท่ามกลางแสงไฟสีส้มสลัวและผู้คนที่นั่งชมอย่างเป็นระเบียบภายในเวนิวขนาดกะทัดรัด ณ Hó Thiann Performing Arts เธอปิดโชว์ด้วย Fire เพลงจังหวะอัพบีทที่ปรับช่วงโซโล่กีตาร์ในแทร็กจริงมาเป็นท่อน “ดาดี้ดา…ดาดี้ดา” ที่แฟนคลับช่วยกันร้องประสานอย่างพร้อมเพรียง ยิ่งทำให้บรรยากาศตรงหน้านั้นน่าจดจำขึ้นไปอีก
รีบวิ่งมาหา さらさ (JP) (ซาระซะ) ที่ National Museum of Taiwan Literature Lecture Hall แต่กว่าจะหาทางเข้าเจอต้องเดินวนหนึ่งรอบ กว่าจะเดินเข้ามาในฮอลล์ได้เล่นเอาหอบนิด ๆ เหมือนกัน พอมาถึงที่นั่งเธอก็กำลังร้องเพลง 朝 อยู่ แม้โชว์เซ็ตนี้เธอจะมาแค่คนเดียว แถมเปิดแบ็กกิ้งแทร็กด้วย แต่ก็ไม่ได้ฉุดรั้งพลังเสียงของเธอให้ดูดรอปลงเลย ก่อนจะหยิบกีตาร์ขึ้นมาโชว์เพลง ネイルの島 ที่ตีคอร์ดตามเมโลดี้ร้องได้อย่างสวยงาม พร้อมท่อนโซโล่ที่เธอก็ปล่อยของอย่างเต็มที่ รวมถึงยังหยิบเพลง Ondo มาโชว์พลังเสียงสไตล์ R&B ให้เราทึ่งอีกด้วย
MindBodySoul (TW) คืออีกหนึ่งไฮไลต์ (ประจำใจ) ที่เราต้องรีบดิ่งมาดู พวกเขาเป็นวงดนตรี 5 ชิ้นที่มีลูกเล่นแพรวพราวด้วยส่วนประกอบของอัลเทอร์เนทีฟร็อก อาร์แอนด์บี และไซเคเดลิกแจ๊ส แค่เริ่มคีย์แรกก็สะกดเราไว้แบบอยู่หมัดผ่านผลงานหลัก ๆ อย่าง People in My Mind, I Don’t Feel It ที่ขับเอกลักษณ์จากกีตาร์โซโล่และเบสไลน์กรูฟกลองสุดร้ายกาจ หรืออย่างในเพลง Don’t You Know ก็มีเสียงคีย์บอร์ดและคอรัสประสานอันออดอ้อนระหว่างชายหญิงกับไดนามิกที่ขึ้นลงอย่างเนียนกริบจนนึกไม่ถึงว่าแทร็กที่หยิบมาเล่นจะเป็นเพียงเวอร์ชั่นเดโม่เท่านั้น แต่พวกเขาต้องผ่านการอะเรนจ์เมนท์โชว์และการฝึกซ้อมมาประมาณหนึ่ง ช่วงเพลงอย่าง Yellow Funeral และ 偶然 (Cover) ก็สอดสำเนียงนุ่มลึกคู่ความรู้สึกที่ชวนปลดปล่อยอย่างลื่นไหลจนไม่อยากพลาดสักโน๊ตเดียว
ที่เวที National Museum of Taiwan Literature Lecture Hall เอง ก็ปิดเวทีในค่ำคืนนี้ด้วย Cicada (TW) วง Quartet ที่ประกอบด้วยกีตาร์ ดับเบิ้ลเบส ไวโอลิน และเปียโน ที่ย่อยดนตรีคลาสสิคให้ป๊อปเข้าถึงง่าย ชวนปล่อยตัวปล่อยใจไปกับการเล่าเรื่องธรรมชาติ สายลม แสงแดด ผ่านเมโลดี้อันงดงาม พวกเขาถูกนิยามว่า neo-classical จนไปถึงเป็น post-rock อีกแขนงนึงเลยทีเดียว
โดยมีเปียโนเป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง คอยระบายสีสันต่าง ๆ ลงไปในห้องเพลง ดับเบิ้ลเบสและกีตาร์ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศให้เราล่องลอยไปกับดนตรีของพวกเขา โดยมีไวโอลินที่คอยขยี้อารมณ์ของเพลงให้ถึงจุดพีค ขุดมาทุกเทคนิก ทั้งการขยี้สาย การดีดสาย หรือการแตะเพื่อให้เกิดจังหวะสนุก ๆ แต่ในบางเพลงก็มีกีตาร์หรือไวโอลินเข้ามาผลัดกันลีดดนตรีบ้าง ทำให้มีไดนามิกที่เพลิดเพลินไปตลอดทั้งโชว์
ถ้านึกภาพไม่ออกว่าโชว์นี้งดงามแค่ไหนลองไปฟังอัลบั้มล่าสุดของพวกเขาอย่าง Seeking the Sources of Steams เลย คิดว่ายังไงก็คงบรรยายความประทับใจต่อโชว์นี้ออกมาเป็นตัวอักษรไม่ได้ แต่บอกได้แค่ว่าหลังจบทุกเพลง ทุกคนก็ปรบมือกันอย่างยาวนานมาก โดยเฉพาะจบโชว์ที่เสียงปรบมือคือเกรียวกราวจนเหมือนไม่มีวันหยุด
มาต่อกันที่สเตจ Red bird night club น่าจะเป็นอีกหนึ่งเวทีกับสองไลน์อัพที่แตกแตนสุด ๆ เริ่มที่ FTK (TW) ดีเจสายเทคโน-เรฟมิวสิคที่ทักทายเราด้วยการแนะนำตัวเล็กน้อย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าปกติจะจัดให้ชุดใหญ่ไฟกระพริบ พอเขาต้องร่นเวลาเหลือเซ็ตละ 40 นาที ก็ค่อนข้างตื่นเต้นว่าจะมัดใจผู้ชมยังไงดี แต่พอเริ่มครึ่งเซ็ตแรกเท่านั้นแหละ แม่เจ้า ถูกจริตสุด ๆ ทำนองแปลกประหลาดที่ชวนร่างกายขยับเขยื้อนตลอดเวลา สำหรับคนที่ไม่ค่อยชินกับบีทแน่น ๆ แบบเรา อาจจะสับสนนิดหน่อยว่า เอ๊ะ…ย่ำเท้าช่วงไหนดีนะ แต่ผ่านไปสักพักก็จับจังหวะมันได้ไม่ยาก ด้วยหลากหลายแนวเพลงที่เขาใส่มาทั้งซาวด์ดั้งเดิมแบบเอเชียตะวันออกไปจนถึงเบรกบีตจังเกิล ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเขาตั้งใจ breakthrough เพื่อคนดูจริง ๆ
ถัดมาเป็น 250 (KR) หรือ Lee Ho-hyeong โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงฮอตฮิตของสาว ๆ NewJeans และเคป๊อปกรุ๊ปชื่อดังจำนวนนับไม่ถ้วน รอบนี้พี่เขากลับมาคืนตำแหน่งในฐานะดีเจสายอิเล็กทรอนิกกับการหยิบ Trot Music และ PPONG-JAK มารีมิกซ์โดยอาศัยจังหวะผสมผสานฮิปฮอปบีทและท่วงทำนองที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เล่นเอาไนท์คลับในช่วงภาคค่ำแน่นขนัดไปทุกมุม ทั้งเซ็ตประกอบด้วยริทึ่มซิมเปิล ๆ แต่โคตรเด้งแบบไม่มีการหยุดพักใด ๆ ยอมรับเลยว่าฝีมือการทรานสิชั่นระหว่างเพลงคือดีมาก ฝั่งขาแดนซ์ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มองไปทางไหนก็เห็นคนโยกเอาโยกเอา ถือว่าปิดค่ำคืนวันแรกได้อย่างมีชีวิตชีวาและมีอารมณ์ขันบนเอฟเฟกต์ซิ่ง ๆ คล้ายงานรื่นเริงบ้านเราไม่มีผิด
จบไปแล้วกับวันแรก บอกเลยว่าแอบเหนื่อยเหมือนกัน แต่มีความสุขสุด ๆ ไม่ใช่เพราะโอกาสสำคัญที่ได้ดูโชว์ของศิลปินทั้งไต้หวันและต่างชาติมากมายที่เราเคยได้แต่เขียนถึงเท่านั้น แต่คนไต้หวันที่อยู่กับเราในฮอลล์ด้วย ล้วนตั้งใจฟังและตั้งใจดูโชว์ของศิลปินทุกคนจริง ๆ เชื่อว่าพวกเขาเองก็อาจจะไม่ได้รู้จักศิลปินไทยหรือศิลปินประเทศอื่น ๆ ก็ได้ แต่บอกตรง ๆ ว่าอิจฉาที่ได้เห็นพวกเขายังมาดูโชว์ของหลาย ๆ วงเยอะขนาดนี้
เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนไต้หวันเข้าใจงาน Music Showcase แค่ไหน แต่การได้เห็นรัฐบาลสนับสนุนซีนดนตรีขนาดนี้ พร้อมยังเปิดโอกาสให้ศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาได้ขนาดนี้ ก็คิดว่าอีกไม่กี่ปี ที่นี่อาจจะมีชื่อเสียงไม่ต่างกับ SXSW ก็ได้ อยากให้ศิลปินไทยมาคว้าโอกาสกันที่นี้ให้ได้
ส่วน LUCfest วันที่ 2 จะมีวงเจ๋ง ๆ วงไหนน่าสนใจอีก ฝากติดตามบทความต่อไปของพวกเราด้วยน้า
ติดตามข้อมูลของงานได้ที่ LUCfest