จบกันไปแล้วกับสุดสัปดาห์สุดมันของงาน FEVER Tours 2024 in Bangkok กระชับสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น โดยมีตัวตั้งตัวตีคือ FEVER ไลฟ์เฮ้าส์ชื่อดังย่านชินไดตะที่ยังคงยืนหยัดเป็นพื้นที่ให้ศิลปินมากมายในญี่ปุ่นได้มาแสดงฝีมือกันถึง 15 ปี ซึ่งก็มีวงไทยแวะเวียนไปเล่นที่นี่บ่อย ๆ เหมือนกัน ซึ่งจริง ๆ งานนี้เองก็จัดมาแล้วหลายครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่กลับมาหลังโรคระบาด (อ่านบทสัมภาษณ์ของเจ้าของ FEVER ได้ที่ นิชิมูระซัง ผู้ก่อตั้ง FEVER ที่สร้าง Live House ด้วยความเคารพต่อศิลปินและคนดูหมดหัวใจ)
ในวาระครบรอบ 15 ปี เขาจึงอยากพาวงไทยและวงญี่ปุ่นมาเจอกันอีกครั้งที่กรุงเทพ ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนพ้องในวงการดนตรีญี่ปุ่นอย่าง Parabolica Records และเพื่อนพ้องทีมไทยอย่าง dessin the world, Seen Scene Space และ Blueprint Livehouse ก็สร้างสะพาน ทำให้เขาสร้างไลน์อัพที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในงานเดียว
ทีมคอสมอสจึงเก็บความประทับใจในวันนั้นมาให้ทุกคนอ่านอีกครั้ง ว่าพลาดอะไรไปบ้างใน FEVER Tour ครั้งนี้
6-7 กรกฎาคม 2564
ประเดิมวันแรกกันที่ VVAS ด้วยความที่พวกเขาต้องเล่นเป็นวงแรกของงาน รวมถึงตัวโซ่เองก็แอบกระซิบบอกคนดูอย่างจริงใจว่าเขาพึ่งไปผ่าฟันคุดมา (เอ็นดู) อาจทำให้ระหว่างโชว์ร้องคอรัสได้ไม่เต็มที่นัก บวกกับทุกคนมีอาการตื่นเต้นกันเล็กน้อยเลยพลาดจังหวะไปหรือไม่ค่อยสมูธตอนทรานสิชันเข้าเพลงใหม่ แต่โชว์โดยรวมออกมาค่อนข้างดีตามคุณภาพและข้อจำกัดต่าง ๆ ณ ตอนนั้น ประกอบด้านเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่เริ่มหันมาส่งซิกให้คนดูปรบมือคลอบ้างประปราย
ตั้งแต่ The Discussion, Adolescence, Shadow Explorer, Precious จนมาถึง Panic Attack, Detestation และ Brutalism จากความนิ่งเรียบที่แทรกซาวด์แตกพร่าซึ่งคอยขับท่วงทำนองไปข้างหน้า แบบไม่ถึงกับวิ่งพล่าน สู่เมโลดี้ที่ดีไซน์ออกมาผสมกับเทมโปที่ให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉงไม่น่าเบื่อ ถือเป็นความตั้งใจดี ๆ ที่ทั้งสี่คนพยายามนำเสนอโชว์ที่ส่วนตัวเรารู้สึกว่าค่อย ๆ เข้าขากันมากขึ้นหลังเปลี่ยนสไตล์
พาร์ทดนตรีของ VVAS นอกเหนือแนวโพสต์พังค์ที่ปรับใช้จนกลายเป็นทิศทางหลักในอัลบั้ม ‘Eyesore’ วงยังมีไลน์เบส-กีตาร์กลิ่นอายอินดี้ร็อกโจ๊ะ ๆ แซมสำเนียงป๊อปสนุกสนานติดหู ชวนออกจังหวะย่ำเท้าที่สับพร้อมลูกกลองในช่วงครึ่งหลัง อาทิ Third Impact, Jogging, XXXXX สามเพลงที่เราชื่นชอบเมื่อนำมาเล่นต่อกัน ก่อนจบโชว์พวกเขาก็ส่งคลื่นซาวด์เอฟเฟกต์ที่เตรียมมาเป็นกิมมิคเพื่อบอกลาผู้ชมอย่างขยี้กันจนสุดลูกบิด
วงไทยฟังก์ที่เราดูกี่ครั้งก็ยังประทับใจเสมอ สำหรับสามหนุ่มบวกกับอีกหนึ่งมือกีตาร์ตัวตึง FORD TRIO น้องโจ (น้องชายของเจมส์มือกลอง) ผู้เปลี่ยนเวทีบลูส์ปริ้นท์ในค่ำคืนนี้ให้กลายเป็นงานระเบียบวาทศิลป์ขนาดย่อม ด้วยลูกล่อลูกชนที่หยอกล้อตลอดทั้งเซ็ต ไล่เรียงจาก Ghost Story, Silence, WARNYA ซึ่งปล่อยจังหวะให้เบสไลน์และกลองเฉิดฉาย ก่อนแทรกริฟฟ์อย่างแนบเนียนแล้วสไลด์เข้า R.I.P และ เปล่าเลย ที่เริ่มเพิ่มดีกรีความร้อนแรง
ตึงกันมาเยอะ สักพักฝอดและหมออยากให้คนดูได้พักสักนิดใน U DO กับช่วงเอาท์โทรที่ดรอปเทมโปและเปลี่ยนเป็นทำนองสโลว์แดนซ์กึ่งบัลลาดเคลิบเคลิ้ม ซึ่งค่อย ๆ ไต่อารมณ์ไปสู่เพลง RADUB, ใครฟัง, ทิ้งเบอร์ไว้เลย ปิดที่ 1-100 ดนตรีฟังก์กี้ผสมริทึ่มแบบสามช่าสุดม่วนจอยจนต้องส่งแรงเชียร์ เอ้ย! เอ้ย! ให้ดังระดับเดียวกับความบ้าพลังในเสียงร้อง “ตะแนแน่ว ตะแนแน่ว…ตะแหน่แตแน่วแต้แน้วแน่ว” พอสิ้นประโยคและซาวด์กีตาร์ช่วงท้าย วงก็ได้รับเสียงปรบมือจากทั้งชาวไทยชาวญี่ปุ่นกันจ้าละหวั่น ไม่อยากให้โชว์นี้จบลงเลยจริง ๆ
สำหรับเราคิดว่าสิ่งที่ส่งให้ Ford Trio แข็งแรงในแง่ของการเป็นแบนด์คือ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับคนดู และการดีไซน์โชว์ที่ไม่รู้สึกติดขัด หรือเบรคอารมณ์จนขาดแล้วฟื้นกลับขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งวงกำลังพัฒนารูปแบบความบันเทิงอันไม่คาดคิดไปอีกเรื่อย ๆ ในขณะที่เราก็ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน คงมีเพียงอยากให้รักษามาตรฐานและความเป็นตัวเองต่อไป เพราะไม่รู้จะอวดยศยังไงแล้วเหมือนกัน (หัวเราะ)
ถัดมาเป็นวง Hypnagogic Pop อย่างชาวคณะ Soft Pine ที่มาเติมสีสันพร้อมส่งบรรยากาศอุ่น ๆ แต่พอได้ยินเมโลดี้หรือลูกเล่นน่ารักกุ๊กกิ๊กก็อย่าเผลอใจเชียว เพราะเจ้าต้นสนเปิดช่วงแรกของโชว์ด้วย Another Half, I Thought I Could Be Alone, Baby Gotta Go ก่อนจะแนะนำตัวเอาใจคนญี่ปุ่นแล้วต่อที่ Like a Freak จากอัลบั้ม ‘Brainwreck’ โดยพวกเขาปรับเทมโปให้เร็วขึ้นอีกสเต็ปเพื่อเชื่อมเข้า My Sweet Egg กับ Only You Know จากผลงานแรก
ขณะที่เพลง Afternoon Shroom และ Higher State of Mind กำลังมอบความผ่อนคลายเหมือนได้ยืดเส้นผ่านเสียงเบส เครื่องเพอร์คัสชัน ริทึ่มกลองที่มีความบอสซ่าโนวาผสมกลิ่นอายแจ๊สนิด ๆ ชวนให้เลื้อยตัวตามทำนองเบาสบาย Soft Pine ก็ปลุกให้เราตื่นใน Skinky, XTC of Yesterday ประหนึ่งอย่าหยุด! ไปกันต่อ แบบต้องเด้งตัวคลอจังหวะ หรือเพลงปิดอย่าง Another Coast Ride เอ็กซ์กับไวกิ้งก็สาดนอยซ์แตกยับแทบหลุดไปอีกโลก
จริง ๆ ความน่าสนใจของซอฟต์ไพน์ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากผลงานยุคก่อนสู่ยุคใหม่คือ การบาลานซ์ระหว่างซาวด์ยวบยายหนึบหนับเหมือนเคี้ยวหมากฝรั่ง และจังหวะอัพบีทให้จัดจ้านคล้ายลูกอมรสเปรี้ยวจี๊ดได้อย่างกลมกล่อม มันเลยทำให้โชว์ช่วงหลังที่เราพอมีโอกาสได้ดูพวกเขานั้นซาบซ่ากว่าเคย เช่นเดียวกับเซ็ตนี้ที่อิ่มหูแบบพอเหมาะ แม้เสียงฟัซจะเล่นเอาเหวอ จนสมฉายาที่เพื่อนฝูงชอบแซวว่า “ซอฟต์พังค์” ไปแล้วเรียบร้อย
เปิดเวทีวันที่ 2 ด้วยวง Faustus แวน มือเบสของวงก็ทักทายทุกคนที่มาเจอกันวันนี้ ก่อนจะวอร์มอัพคนดูด้วยจังหวะกลองที่ฟาดอย่างหนักหน่วงไม่เกรงใจหูใครทั้งนั้น ทั้งสามคนก็ช่วยกันบรรเลงจังหวะอันบ้าคลั่งทันที การสอดประสานของกลองและเบสที่รู้ใจ พร้อมด้วยกีตาร์ที่ระบายความเข้มลงไป มันได้ดนตรีทีดุเดือดมากจนเราเผลอโยกหัวตาม
พร้อมจัดเพลง Rhino จังหวะกะเดื่องคือโคตคซิ่งกับเสียงฟาดกลอฃที่ค่อย ๆ ดังจนเกินพิกัด แล้วทุกดนตรีก็ขับเคี่ยวกันเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง ก่อนจะสลับไปบอสซ่าเหมือนล้อเลียนแนวดนตรีตัวเองซักหน่อย แล้วกระชากกลับเข้ามาได้บ้าเหมือนเดิม รัวจังหวะสลับไปมาอย่างกับเล่นกล ต่อด้วยเสียงกีตาร์นุ่ม ๆ ของ 21G. ละเมียดอย่างอ่อนโยนแต่ติดด้วยรีเวิร์บโหยหวย ก่อนจะฟาดเข้ามาด้วยความหนักหน่วง แต่เจือด้วยความเศร้าบางอย่าง จนทำให้เห็นเป็นสีฟ้าหม่น ๆ แล้ววงก็ส่ง 519 มาต่อแบบไม่ให้พัก เสียงเคาะนับจังหวะอย่างซับซ้อนขึ้นมา โดยมีเบสกระแทกกระทั้นตาม พร้อมด้วยเสียงกีตาร์เท่ ๆ สาดไปมา จังหวะหัวกลองแล้วเบสแน่น ๆ คอยเลี้ยงอารมณ์คือเท่ระเบิด จังหวะเลี้ยงแอมเบียนให้เราตายใจ แล้วฟาดเข้ามาด้วยพลังคือได้ใจไปเต็ม ๆ
หลังจบเพลง พี่แวนก็ใช้โอกาสนี้ขอบคุณทุกคนที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะทีมงานหรือคนดู พร้อมชื่นชม นิชิมุระซัง เจ้าของไลฟ์เฮ้าส์ FEVER พ่องานในวันนี้ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าเขาทำเพราะรักในดนตรีจริง ๆ แล้วซัดด้วย Fabrica ที่วงบอกว่าไม่ค่อยได้เล่นเพลงนี้เท่าไหร่ เสียงกีตาร์ก็ล่อลวงทุกคนไว้ในมนต์สะกด ท่อนดรอปที่เหมือนความสงบก่อนพายุ ก็ถูกซัดด้วยกลองกับเสียงกีตาร์อันแสบทรวงทันที
และต่อด้วยสองเพลงล่าสุดของวงอย่าง Daily Queen กลองก็ยังคงหนักหน่วงเหมือนเดิม กับการเร่งจังหวะราวกับควบม้าในหนังคาวบอย ดนตรีคือซิ่งเกินเรื่องมาก เสียงกีตาร์ที่ให่ความทะเลทรายก็มา จังหวะรัวกระเดื่องคือบ้าไปเลย เรียกเสียงกรี๊ดได้ทันที และ Lacrimosa เสียงกีตาร์ลั่นขึ้นมา ก่อนจะเป็นเสียงนับจังหวะอย่างดุเดือด แล้วกีตาร์ก็สาดทุกอย่างเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง ท่อนหลังที่เติมความมันเข้าไปอีกจังหวะก็คือทะลุปรอท ก่อนจะระบายด้วยเสียงออแกนเศร้า ๆ ในตอนท้าย เสียงกีตาร์นุ่ม ๆ จะโอบกอดเราไว้ ก่อนจะกระหน่ำไม่ยังใส่เราอีกครั้ง
ก่อนจะไปเจอเพลงสุดท้าย แวน ก็ขอบคุณทุกคนอีกครั้ง พร้อมชวนให้อยู่ดูตำนานแห่งวง Ropes ต่อ แล้วทิังท้ายโชว์ด้วย Enoch ที่เดือนที่สุด ทุกอย่างคือถูกซัดเข้ามาตั้งแต่ intro ก่อนกลางเพลงจะดรอปด้วยกีตาร์เหงา ๆ จังหวะกลองค่อย ๆ ประกอบตัวเองขึ้นมา ก่อนจะสาดความคลั่งไปทุกห้องจังหวะ วงก็ส่งพลังความมันออกมาจนล้นฮอลล์
ต่อด้วย Achico จากวง Ropes ขออนุญาตเรียกโอก้าซังเพราะคุณน้าน่ารักมาก ตอนที่เธอขึ้นเวทีก็คือนั่งเล่นทำให้มองไม่ค่อยเห็น ฮือ อะจิโกะทักทายทุกคนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเริ่มบรรเลงเพลง Baby ทันที เสียงเปียโนเพียงชิ้นเดียวทำให้เพลงถูกลดรูปลงไป แต่ก็ยังคงความนุ่มนวลไว้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะน้ำเสียงสะกดคนดูของโอก้าซังคือไม่เกินจริง บรรยากาศคล้าย ๆ กับ Ichigo Aoba แต่ยังมีความป็อปอยู่บ้าง ซึ่งอะจิโกะโซโล่พร้อมคีย์บอร์ดได้อย่างนุ่มนวลมาก
โอก้าซังก็บรรเลงอีก 2 เพลงที่ทุกคนชื่นชอบอย่าง Dialogue และ Drive ที่เร่งจังหวะขึ้นมาหน่อย แต่ยังคงอ่อนโยนเป็นมิตรกับใจเหมือนเดิม คีย์เสียงเบิกบานอบอุ่นกับเสียงแอดลิบที่ใส่รีเวิร์บชวนทำให้มันสว่างสงบขึ้นด้วย แล้วอะจิโกะก็เซอร์ไพรส์คนดูด้วยการคัฟเวอร์ Keep Cold ของ Numcha ด้วย ซึ่งโอก้าซังเองก็ยังเล่นในสไตล์ของตัวเองเหมือนเดิม เป็น Keep Cold ที่เศร้ากว่า 10 เท่าแล้วดูไม่มีความหวังใด ๆ เรียกเสียงปรบมือเป็นกำลังใจได้ล้นหลาม ซึ่งโอก้าซังเองก็ขอบคุณทุกคนที่มาเจอกัน พร้อมโชว์เพลงสุดท้ายอย่าง Rhythm ของ envy ซึ่งโอก้าซังไปฝากเสียงร้องไว้ เสียงเปียโนที่ค่อย ๆ กรีดกรายตัวเองออกมา พร้อมโชว์พลังเสียงอันไพเราะสะกดใจอีกครั้ง บีบเค้นอารมณ์สุด ๆ ด้วยการร้องและดนตรีที่เศร้าจับใจ โอก้าซังมาแป๊ปเดียวแต่แอบขโมยซีนอยู่เหมือนกัน
THE NOVEMBERS กับวันที่สอง อาจจะเพราะว่าวันนี้เขาไม่ใช่วงปิด setlist วันนี้เลยไม่ค่อยเฮี้ยนเท่าเมื่อวาน แต่หลังจากเจอเพลง Hallelujah และ Seaside เข้าไปซึ่งสนุกมาก ๆ ทั้งสองเพลงและยังทรงพลังเหมือนเดิมก็ทำให้เราเริ่มเครื่องติดเลย BOY กับดาต้าอันเร้าร้อนที่มาช่วยเติมลูกเล่นให้กับดนตรี ก่อนนักร้องนำจะระเบิดพลังเสียงตั้งแต่ท่อนแรก รวมถึงฮุกที่โคตรมัน ต่อด้วยเสียงรัวกลองใน intro ของเพลง Morning Sun กับเสียงร้องนุ่ม ๆ มันลงตัวมาก ท่อนที่ส่งพลังก็คือมันเอ่อท่วมฮอลล์ไปหมด
วงก็ไม่รอช้าใส่ต่อด้วย New York เปิดด้วยเสียงคำรามอันทรงพลัง ก่อนจะบรรจงจังหวัดร็อกลงไปได้เท่ระเบิด ท่อนกรี๊ดก็คือบาดใจสุด ๆ ท่อนฮุกก็คือใส่สุดพลัง ท่อน ท่อน bridge ทุกคนก็ปรบมือตามจังหวะกันอย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะท่อนกรี๊ดก่อนเข้าโซโล่คือตายไปเลย Ghost Rider เอง intro ก็คือเอาตายเหมือนกัน ใส่กันสุดพลัง นักร้องก็คือไม่มีดรอปเลย ท่อนโซโล่ที่ขยี้กีตาร์สองตัวแบบกะให้ตาย ต่อด้วยเพลงโปรดของเราอย่าง BAD DREAM เสียงซินธ์ก็เบียดตัวเองขึ้นมา ท่ามกลางจังหวะร็อกเข้ม ๆ เสียงนักร้องก็ยังทรงพลังเหมือนเดิม ซัดด้วยท่อนฮุกที่เพิ่มจังหวะ และยังมี outro เดือด ๆ อีกรอบ ทิ้งท้ายด้วย Rainbow เสียงดาต้าหน่วง ๆ ขึ้นมา พวกเขาก็ล้อไปกับจังหวะของมันได้อย่างหนักหน่วง ท่อนดรอปก็ทำได้โคตรเท่ ก่อนจะเร่งจังหวะขึ้นไปเพื่อเข้าฮุกที่มันเกินพิกัด
วงไทยอีกหนึ่งวงที่เป็นขาประจำของ FEVER Tour กับ INSPIRATIVE ที่มาเติมความนุ่มให้กับงานนี้ เริ่มจากนวดเราเบา ๆ ด้วย Follow the GPS กระแทกเราด้วยเสียงกลองและเสียงซินธ์อบอุ่น ๆ ก่อนจะถาโถมเราด้วยซาวด์กีตาร์รีเวิร์บอันหนักหน่วงรวดร้าว สิ่งที่เหลือไว้ กับเสียงร้องช่วง intro ที่ชวนหลงใหลกับไลน์กีตาร์นุ่ม ๆ ก่อนจะซัดจังหวะดุ ๆ เข้ามาในครึ่งหลัง พร้อมเร่งจังหวะให้มันเดือดขึ้นเรื่อย ๆ Under the Mountain ซินธ์และกลองที่ล้อไปด้วยกัน ก่อนกีตาร์จะเข้ามาระบาย เกิดเป็นจังหวะกระด้างม่ปลอดภัย ก่อนจะใส่ความร็อกตามเข้าไปได้อย่างหนักหน่วง ค่อย ๆ สลับจังหวะไปมา กระแทกกระทั้นถึงใจ เข้มข้นขึ้นไปเรื่อย ๆ สาดซินธ์อย่างท่วมท้น
Behind the Horizon กีตาร์เย็นยะเยือก ค่อย ๆ ก่อจังหวะอันน่าพิศวงขึ้นมา โดยมีกลองอันรุนแรงคอยเลี้ยงจังหวะ เสียงกีตาร์ที่กรีดร้องออกมาเสียดแทงอารมณ์เหลือเกิน ก่อนจะจบด้วย 2 เพลงที่ทุกคนชอบอย่าง พื้นที่ว่าง และ Why กีตาร์ที่อัด distortion ท่วมท้นฟาดเข้ามาอย่างรุนแรง การเร่งจังหวะอันเร้าร้อน ก่อนจะขอบคุณที่มาเจอกันวันนี้ เพราะการที่วงญี่ปุ่นจะมาเจอกับแฟน ๆ ชาวไทยเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
LOSTAGE วงอินดี้ร็อกจากจังหวัดนารา ประเทศญี่ปุ่น พวกเขาเริ่มแอคทีฟตั้งแต่ปี 2001 สิริรวมกว่า 20 ปีในเส้นทางสายดนตรี หลังปรับเปลี่ยนสมาชิกให้เหลือเพียงสามคน ได้แก่ Takahisa Gomi (ร้องนำ, มือเบส) Takuto Gomi (กีตาร์) Tomokazu Iwaki (มือกลอง) ความทรงพลังที่ถูกถ่ายทอดออกมายังคงเปี่ยมด้วยเมโลดี้อันมีชีวิตชีวา บวกทำนองกับเสียงร้องแบบอีโมนิด ๆ ประกอบเสียงกลองของอิวากิซังก็ดังกระหึ่มจนกระแทกใจไปหลายคน
พวกเขาหยิบงานเพลงอย่าง 瞬きをする間に, NAGISA, ポケットの中で, BLUE และอีกหลากหลายอารมณ์มาโชว์ ที่ไม่ว่าเราจะเคยติดตามผลงานช่วงแรกหรือพึ่งเคยได้ยินกันในงานนี้ เราเชื่อว่าสามหนุ่มใหญ๋สามารถครองพื้นที่หัวใจทั้งรุ่นเยาว์รุ่นใหญ่ได้อย่างแน่นอน เพราะนอกจากเซ็ตลิสต์ที่ไม่เหมือนกันทั้งสองวันแล้ว เอเนอจี้ระหว่างวันแรกที่เล่นคั่นกลาง ส่วนวันที่สองก็เล่นปิดงานให้เราดู ซาวด์โดยรวมก็แตกต่างกันไปด้วย
ซึ่งวันที่สองนี้ก็เต็มไปด้วยเพลงฮิต ๆ ที่พวกเรารอคอย こぼれ落ちたもの ที่จังหวะกลองเร้าอารมณ์ กับไลน์กีตาร์มัน ๆ ที่เติมพลังวัยรุ่นให้คุกรุ่น ท่อนโซโล่ที่ปลอบประโลมจิตใจเราได้อย่างประหลาด 手紙 เสียงกีตาร์ก็สาดรีเวิร์บอย่างบ้าคลั่ง ก่อนจะกระชากเข้ามาด้วยสไตล์ร็อกมัน ๆ แทน ท่อน bringe นี่รุนแรงมาก ๆ อินเท้นด้วยทุกชิ้น รวมถึงเสียงร้องกระอารมณ์ จนถึงขั้นแหกปากออกมาด้วยความรู้สึกทั้งหมด มันถูกส่งออกมาผ่านดนตรีหมดเลย
หรือการเซอร์ไพรส์คนดูด้วยการชวน Achico มาแจมด้วยกันในเพลง 楽園 ตอนอังกอร์ ในอารมณ์ซึ้งกินใจมาก ๆ และจบด้วยเพลงซึ้ง ๆ อย่าง 瞬きをする間に ที่เราชอบที่สุด ซึ่งจังใช้กีตาร์รีเวิร์บที่นุ่มนวลกล่อมเกลาจิตใจเรา ก่อนจะซัดด้วยสไตล์ดนตรีเท่ ๆ
ก่อนจบโชว์ LOSTAGE มีการทักทายคนดูเป็นระยะ ส่วนใหญ่จะพูดผ่านภาษาญี่ปุ่นสลับอังกฤษ ถ้าชีวิตจริงมีซับไตเติลก็คงดีนะ แต่ไม่เป็นไร ไว้ชาวคอสมอสแอบฝึกพูดฝึกเขียนรองาน FEVER TOURS ครั้งถัดไป ถึงทางวงเคยมาเล่นที่ประเทศไทยหลายงานแล้วอย่างโชว์ที่เพลย์ยาร์ด แคทเอ็กซ์โป 3 และฟีเวอร์ทัวร์เมื่อปี 2018 เราก็อยากให้พวกเขากลับมาเล่นอีก มาแสดงให้ทุกคนเห็นว่าวงที่ยืนระยะมาได้ยาวนานขนาดนี้จะสุดยอดขนาดไหน