Desktop Error และ Cloud Behind กับโชว์ที่ชวนฝ่าหมอกควันพร้อมระเบิดน้ำตาที่ Blueprint Livehouse

by Nattha.C
2.3K views
Desktop Error และ Cloud Behind กับโชว์ที่ชวนฝ่าหมอกควันพร้อมระเบิดน้ำตาที่ Blueprint Livehouse

Desktop Error และ Cloud Behind น่าจะเป็นไลน์อัพที่หาดูไม่ได้ง่าย ๆ ทั้งสองวงเป็นศิลปินสายอัลเทอร์เนทีฟซึ่งมีความหม่นหมองคนละรูปแบบ และคิดว่าผู้อ่านก็คงรู้สึกเหมือนกัน หากไม่รีบจับจองบัตรคอนเสิร์ตตอนนี้ก็คงเป็นการยากแน่

เวลาสองทุ่มตรง Cloud Behind สี่หนุ่มสวมชุดขาวก็ขึ้นแสดง งานยุคหลังอย่างอัลบั้ม ‘Star Tracks’ ของวงจะมีความเป็นนอยซ์ผสมพาวเวอร์ป๊อป ทั้งตัวเมโลดี้และริทึ่มสไตล์สนุกสนาน ฟังง่ายโยกได้ ตั้งแต่เพลง เสพเวลา คั่นด้วย ฝันจำลอง จากผลงานชุดแรกในชื่อเดียวกัน และต่อที่ คิดถึง โดยถัดมาจะเป็นเพลงที่วงมักถูกแฟนคลับรีเควสบ่อย ๆ แต่ไม่ค่อยได้หยิบมาเล่น เพียงเสียงกีตาร์แผ่วเบาและท่อนร้องเหงา ๆ ของตวนขึ้นมาพร้อมคอรัสจากฝั่งตาปีก็ทำเอาคนดูเตรียมหลุดลอยไปกับเพลง ภวังค์ หนึ่งในเพลงของวงที่เราชอบมากที่สุด ก่อนพักเบรคด้วยการแจกเสื้อตัวสุดท้ายของสต็อกให้กับผู้ชมอายุ 14 ปีหรือน้องเล็กสุดของงาน

วงยังไม่สลัดความซึมเซาและดนตรีหน่วง ๆ คล้ายมวลบรรยากาศของเมฆฝนอึมครึมอย่าง เทา ที่ดีไซน์ทรานสิชันเชื่อมเข้าสู่ โลกส่วนตัว ได้อย่างเนียนกริบ ตามด้วยเพลงอัพบีทสไตล์วัยรุ่นขึ้นมาอีกนิด ซึ่งตวนบอกว่า “วงกำลังอยู่ในขั้นตอนการปั้นอัลบั้มใหม่ และเพลงนี้อาจจะกลายเป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวอัลบั้มชุดที่สามครับ” แล้ววงก็กลับมาปรับอารมณ์หม่อนหมองให้คงที่ผ่าน ในอวกาศสีดำ ทว่าในสามเพลงสุดท้ายก่อนอังกอร์ (Encore) ซาวด์ดนตรีที่เสริมแนวอินดี้ร็อกก็สะพัดใส่เราอย่างพลุ่งพล่าน

Desktop Error และ Cloud Behind

พวกเขาเปิดที่การเดินเครื่องซิ่ง ๆ ใน ใจ ต่อด้วย Ghost Town และ Heart Space (11.59 PM) กับท่วงทำนองน่ารักอบอุ่น แล้ววงก็เอาใจแฟนคลับผู้ร้องขอ “เอาอีก เอาอีก!” อันเซอร์ไพร์สด้วยเพลงปิดอย่าง ลาฝัน ทั้งจังหวะบิวด์กลอง เบสไลน์ ริฟฟ์กีตาร์ และเสียงประสานที่คุ้นเคยยิ่งทำให้เรารู้สึก nostalgia แบบบอกไม่ถูก โดยเฉพาะท่อนร้อง ”ลาฝัน…ยินดีต้อนรับสู่ความสุขครั้งใหม่, ลาฝัน…ยินดีต้อนรับสู่ความจริงของโลกใบเก่า” คืออมยิ้มทั้งน้ำตาได้เลย

ส่วนตัวเรารู้สึกว่าโชว์รอบนี้ของ Cloud Behind มีพัฒนาการและเข้าขากันมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาต้องปรับเปลี่ยนสมาชิกวงใหม่ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่เดือน ซึ่งตอนนี้ได้ ชัช ตีกลอง และ วรินทร์ เล่นเบส รวมถึงเอเลเมนต์ดนตรีจากที่เคยมีซินธิไซเซอร์ก็แปลงเป็นงานกีตาร์แบนด์ที่ทดลองใส่ริฟฟ์ โซโล่ หรือกระทั่งซาวด์เอฟเฟกต์แปลก ๆ คล้ายติดจรวด ลอยอยู่ในจักรวาล จนเกิดเป็นมิติที่เสริมให้ไดนามิกเพลงน่าสนใจไปอีกแบบ อาจมีแค่ส่วนริทึ่มที่อาจต้องหนักแน่นและกลมกล่อมขึ้น แต่ภาพรวมก็ไม่ได้ดรอปออกจากกันมากนัก

Desktop Error และ Cloud Behind
Photo Credit: Patchanon Dodsamer (Non-Death of Heather)

มาถึงช่วงเวลาประมาณ 21.15 กับวงดนตรีอัลเทอร์เนทิฟร็อกรุ่นพี่ที่ใครหลายคนต่างรอคอย ทันทีที่ Desktop Error ตระเตรียมมือไม้และเข้าประจำจุดยืนของตัวเอง พวกเขาก็เริ่มบรรเลงซาวด์ที่ใจเพรียกหาและยังเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชม โดยพาเราตีตั๋วออกเดินทางสู่ Ticket to Home ถ้าใครได้ติดตามผลงานหรือเป็นแฟนคลับยุคแรกของวง อาจพอทราบกันดีว่ามีการใส่เครื่องดนตรีพื้นบ้านเข้ามาทำให้ได้บรรยากาศแบบโฟล์คร็อก ต่อด้วยเพลง กุญแจผี ที่มีจังหวะกลองและเสียงร้องกระซิบคล้ายย่ำเข้าป่า ประกอบกับเมโลดี้ชวนหลอนและพิศวง แล้วทุกคนก็พร้อมใจกันร้อง “ปิดตัวเอง…อย่างแน่นหนา, บางเวลา…ไม่ไว้ใจ, ล็อคประตู…หวาดผวา, เธอเป็นใคร…เปิดเข้ามา” วนรอบไป ก่อนวงจะส่ง พาฝัน และ อย่างน้อย ปิดจบช่วงแรก

ต่อด้วยเพลงเร้าอารมณ์จากอัลบั้ม ‘Indilible Stain’ ผลงานล่าสุดเมื่อสองปีก่อน อาทิ โลกรอบตัว กับเดี่ยวกีตาร์เท่ ๆ และโซโล่ที่ปลุกปั่นอารมณ์คนดูไปอีกขั้น ภาพกลุ่มคนข้างหน้าก็เริ่มกระโดดโยกแบบปล่อยตัวปล่อยใจเรียบร้อย ก่อนเรามาผงกหัวเบา ๆ ใน เสียงที่เคยได้ยิน ต่อด้วย เธอร้าย (but don’t lie) กับ ฝากลม ผลงานที่น่าจะอธิบายความสุขุมในน้ำเสียงและช่วงเปลี่ยนผ่านดนตรีมาเป็นสไตล์สุดลุ่มลึกของวงได้อย่างดี แอบเสียดายตรงจุดที่เรายืนอยู่ (ซึ่งอยู่หลังสุด) ไม่สามารถรับรายละเอียดหรือท่อนไม้ตายของเพลงได้ครบถ้วนเท่าที่ควร แต่สำหรับคนที่ยืนอยู่โซนหน้าเวทีจนถึงกลางไลฟ์เฮ้าส์คงอิ่มเอมกันไม่น้อยเลย (แอบไปดูคลิปมาละ ฟินจริง)

Photo Credit: Patchanon Dodsamer (Non-Death of Heather)

และเซ็ตลิตส์ในช่วงครึ่งหลังของโชว์ ก็ตามมาด้วยสองเพลงทำนองคุ้นหูอย่าง ต่างด้าว และ ปัจจุบันนา ผลงานในอัลบั้ม ‘Keep looking at the window’ กำแพงเสียงที่กระหน่ำซัดคู่กับริฟฟ์กีตาร์พุ่ง ๆ ผสมซาวด์เวิ้งว้าง เปี่ยมพลังอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา พาผู้คนร้องโอดครวญลั่นห้องไม่ต่างจากเพลง น้ำค้าง โดยเฉพาะตอนท้ายที่เหลือไว้เพียงเสียงดนตรีคอยนวดขยี้ไปเรื่อย ๆ นึกถึงคำพูดที่พี่ก๊อปปี้ไรท์เตอร์หญิงคนนึงเคยกล่าวไว้ในหนังสือ 108 วงดนตรีที่ควรดูก่อนตายว่า “(เป็น)บทเพลงที่ทำให้หลับตาทั้งตื่น ปลุกให้ตื่นทั้งหลับใหล…ที่จะช้อนพาตัวเราไปวางในทุกที่ ที่ความจริงเดินทางไปไม่ถึง” ตอนนั้นเราพยายามรับบรรยากาศโดยรอบให้ได้มากที่สุด รู้สึกตัวอีกทีก็น้ำตาร่วงซะแล้ว…งดงามมาก ๆ คือภาพตรงหน้าค่อนข้างมหัศจรรย์เลยทีเดียว

Photo Credit: Patchanon Dodsamer (Non-Death of Heather)

ไม่นานหลังจากนั้น เดสก์ทอปเออเร่อร์ก็ไม่ปล่อยให้แฟนเพลงรอช้า Encore ก็จัดเพลง Cigar ผ่านน้ำหนักกลองจากพี่เม้งและริทึ่มเบสของพี่ตุ๊ยที่โคตรกระแทกกระทั้น ชวนระเบิดหัวใจ เสริมกับซาวด์วูบวาบแถมต่อยหนักของกีตาร์สามตัว ที่ปล่อยให้เรามึนงงจากความอื้ออึงของสรรพเสียง เห็นขรึม ๆ แบบนี้ วงก็มีมุมพูดติดตลกเหมือนกัน “ขอจูนสายก่อนนะครับ พอดีลืมไปว่าถ้าเล่นเพลงนี้ต้องมีเพลงเล่นต่อ แล้วดันจูนกันคนละแบบเลย”

ก่อนที่พี่เล็ก พี่อ๊อฟ และพี่เบิร์ดจะหยอกคนดูด้วยการดีดลองเชิงคนละหนึ่งที “ปกติเราตั้งสายแบบนี้ แต่ไม่ได้จะเล่นเพลงนี้นะครับ” แล้วจึงจบค่ำคืนที่ทำเอาลอยอยู่เหนือกาลเวลาด้วย พบ พา ลา จาก ที่ได้ยินกี่ครั้งก็ยังคงรู้สึกอบอุ่นอย่างแปลกประหลาด คล้ายว่าเนื้อหาของเพลงนี้กำลังบอกให้เรายอมรับความจริงและศิโรราบต่อความรู้สึกนั้นแต่โดยดี

Desktop Error และ Cloud Behind

สุดท้ายนี้เราอยากขอบคุณ Desktop Error และ Cloud Behind ที่ยังคงทำเพลงดี ๆ ออกมาให้ทุกคนฟัง และขออนุญาตยืมคำพูดจากพี่เล็ก นักร้องและมือกีตาร์หนุ่มที่ทิ้งท้ายไว้ว่า “หากยังมีคนฟังอยู่ พวกเราก็อยากทำผลงานเพลงกันต่อไปครับ” เพราะฉะนั้น รักใคร ชอบใคร เราก็อยากให้ทุกคนออกไปสนับสนุนศิลปิน ไม่ว่าจะจากการฟังเพลง ซื้อบัตรดูคอนเสิร์ต หรือสนับสนุนเมิร์ชต่าง ๆ เพราะมันเป็นกำลังใจให้วงดนตรีมีแรงสู้ต่อไป และหวังว่าจะได้ยินผลงานใหม่จากทั้งสองวงอีกเรื่อย ๆ จนไม่มีแรงยืนเศร้ากันไปข้าง

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy