Soft Pine, FORD TRIO, Max Jenmana ตะลุย BiKN โชว์เคสใหม่ใจกลางชิบุย่า

by Bom Suwatin
672 views

ปี 2023 นี้เป็นปีที่คึกคักของ Showcase Festival ในเอเชียจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่เพิ่งผ่านไปอย่าง AXEAN Festival ที่สิงคโปร์เมื่อปลายตุลาคม หรือโชว์เคสที่ทำให้ศิลปินแจ้งเกิดมานักต่อนักอย่าง LUCfest ที่ไต้หวัน ซึ่งปีนี้ก็จัดขึ้นติด ๆ กันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และในเวลาเดียวกันนั้นก็มีอีกงานน้องใหม่น่าสนใจจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นอย่าง BiKN เรียกได้ว่าแทบทำเอาศิลปินและบรรดา curator อยากจะท่องคาถานินจาแยกร่างกันเลยทีเดียว 

BiKN

BiKN มาจากคำว่า beacon หมายถึง ประภาคารหรือสัญญาณไฟนำทาง ซึ่งเป็นโชว์เคสที่จัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน ใจกลางย่านที่ซีนดนตรีมีสีสันที่สุดแห่งนึงของเอเชียอย่าง ชิบุย่า โตเกียว โดยมีศิลปินจากทั่วเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ขึ้นโชว์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะจัดขึ้นเป็นปีแรกแต่ไลน์อัพศิลปินที่มาก็ถือว่าดีมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น Sunset Rollercoaster, Cody・Lee(李), Say Sue Me, DYGL และอีกหลาย ๆ ศิลปินที่เคยไปขึ้นเวทีระดับอินเตอร์กันมาแล้วทั้งนั้น ส่วนทางฝั่งไทยก็มีตัวแทนที่ได้ขึ้นแสดงในงานนี้ 3 ศิลปิน ได้แก่ Max Jenmana, Soft Pine และ FORD TRIO

ตัวงานอาจมีรูปแบบการจัดที่แตกต่างจากโชว์เคสในที่อื่น ๆ (แต่เป็นเรื่องปกติของญี่ปุ่น) คือการที่ไม่ได้จัดในสถานที่ใหญ่ ๆ ที่เดียวแล้วซอยเป็นเวทีย่อย ๆ  แต่ทางงานเลือกใช้ลักษณะทางกายภาพของเขตชิบุย่าที่มีซีนไลฟ์เฮาส์เยอะอยู่แล้ว เมื่อเราโผล่เข้ามาที่จัดงาน จะมีเวนิวน้อยใหญ่รายล้อม ซึ่งประกอบไปด้วยเวนิวสุดฮิตอย่างตระกูล Shibuya O (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Spotify O) ไม่ว่าจะเป็น O-EAST, O-WEST, O-nest (ขาดเพียงแค่ O-Crest) และเวนิวดังอื่น ๆ อย่าง duo MUSIC EXCHANGE, CLUB asia และ 7thFLOOR ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีในการที่มางานเดียวก็สามารถสัมผัสบรรยากาศได้ทุก ๆ เวนิว ข้อดีคือสถานที่อยู่ใจกลางเมือง ไปมาสะดวก แต่ละเวนิวทำหน้าที่เป็นแต่ละสเตจไปในตัว ที่สำคัญมาก ๆ คือไม่ต้องเดินไกล และแต่ละเวทีเสียงไม่ตีกันแน่นอน (บางที่อยู่คูหาติดกัน) อีกจุดแข็งคือ ไม่ต้องกังวลเรื่องระบบเสียงและประสบการณ์ในการรับชม เพราะแต่ละเวทีได้ผ่านมือศิลปินมานับพัน ๆ งานแล้ว และผู้คนไม่แออัด พอออกมาจากเวนิวเราไม่รู้สึกถึงความวุ่นวายของบรรดาผู้ชม เราไม่เห็นความโกลาหลของระบบ loading เครื่องดนตรี แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีทีมงานคอยประกาศขอความร่วมมือผู้ชมไม่ให้เผลอยืนกีดขวางการจราจร และผู้เดินทางไปมาตลอดวัน เพื่อให้ตัวงานไม่รบกวนผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันแถวนั้น นอกจากนี้ทุก ๆ เวทีมีระบบการจัดการบาร์เครื่องดื่มและห้องน้ำห้องท่าของตัวเอง มีการปิดลานจอดรถเพียงแค่ 2 จุด สำหรับรับ wristband และ food truck ซึ่งถ้าไม่เพียงพอ ร้านอาหารรอบ ๆ นั้นก็จะเป็นทางออกให้เองโดยอัตโนมัติ ถือว่าเป็นการใช้จุดแข็งของเมืองได้ค่อนข้างดี 

ส่วนตัวผู้เขียนเคยไปดูมิวสิกเฟสติวัลลักษณะนี้มาก่อนในเขตที่มีซีนดนตรีเข้มแข็งอย่างย่านคิชิโจจิ และชิโมกิตาซาว่า ซึ่งก็เคยแอบคิดว่าที่เมืองไทยมีบริเวณไหนที่มีศักยภาพสามารถทำเทศกาลแบบนี้ได้บ้างก็คงจะดี (ที่ใกล้เคียงที่สุดที่พอนึกออกน่าจะเป็นงาน Bangkok Music City ปีก่อนโควิด) 

มาถึงบรรยากาศงานบ้าง ด้วยความที่มีศิลปินน่าสนใจมากมายเกินกว่าที่จะดูได้ครบทุกวงในวันเดียว ผู้เขียนจึงตัดสินใจว่า อย่างน้อยขอเก็บศิลปินไทยให้หมดก่อน จึงเริ่มต้นที่ Max Jenmana ที่เวที O-WEST ในตอนแรกค่อนข้างกังวลแทนศิลปินพอสมควรที่ต้องขึ้นแสดงตั้งแต่เวลาเที่ยงครึ่งซึ่งค่อนข้างเร็ว เกือบจะเร็วที่สุดในงานเลยก็ว่าได้ แถมศิลปินเองเพิ่งไปเล่นโชว์เรียกน้ำย่อยมาก่อนที่ LIVE HOUSE FEVER ชินไดตะเมื่อคืน จะทำให้ผู้ชมบางส่วนตื่นมาดูโชว์ไม่ทันมั้ย แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็น “เพราะการขึ้นเล่นในโชว์เคสอาจไม่ใช่จำนวนผู้ชมที่มาดู แต่ขึ้นอยู่กับว่าศิลปินได้โชว์ศักยภาพให้ผู้ชมที่เป็น curator เห็นหรือไม่ หากถูกที่ถูกเวลา ขอเพียงผู้ชมที่ใช่เพียงคนเดียวก็มากพอแล้ว เช่นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ John Mayer, Coldplay, HAIM หรือ Phum Viphurit มาแล้ว” นั่นคือประโยคที่ผมกะว่าจะเตรียมพูดกับแม็กซ์ แต่เมื่อเดินเข้าไปถึงสถานที่แสดงก็ผิดคาด เพราะมีคนดูมายืนรอจำนวนไม่น้อยแล้ว ในด้านการแสดง หากใครที่เคยติดตามแม็กซ์จากสองช่วงใหญ่ ๆ อย่างช่วงที่เขาเริ่มเป็นที่รู้จักจาก The Voice และอีกครั้งกับกระแสเพลง ‘วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า’ ล่ะก็ หลังจากได้ดูโชว์ของเขาขณะที่ร้องเพลงอย่าง ‘ไวน์’, ‘Demon’ และเพลงจาก EP ชุดล่าสุดที่ feat. กับศิลปินญี่ปุ่นอย่าง Kai (Lucky Tapes) และ AAAMYYY เรารู้สึกได้ว่าในวันนี้แม็กซ์ เจนมานะ ก้าวข้ามเงาทั้งสองของเขาไปไกลแล้ว 

Max Jenmana

จบโชว์ของแม็กซ์ เหลือเวลาก่อนศิลปินไทยวงถัดไป เราก็รีบวิ่งไปดูทันท้าย ๆ โชว์ของวง DYGL, Lucie, Too, Cody・Lee(李), YeYe แล้วก็ลองไปดูวงอิเล็กทรอนิกลูกผสมญี่ปุ่น/ฟิลิปปินส์ ena mori ตามคำแนะนำของพี่เหลิม (Gym and Swim) ว่าวงนี้ของเขาดีจริง ซึ่งต้องขอเขียนถึงซักหน่อย ว่าเป็นวง 3 ชิ้นที่มีการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจที่สุดวงนึงในงานนี้ หากพวกเขาได้มีโอกาสมาแสดงที่ไทย ขอแนะนำว่าไม่ควรพลาด จากนั้นก็ได้ไปดูวงอย่าง cinnamons เจ้าของเพลงสุดไวรัลอย่าง ‘Kimi No Toriko (Summertime)’ (หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในนามเพลง ‘คิมิโนโต๊ะ’ นั่นแหละ) จากนั้นก็แวะไปดู The fin. วงที่มีแฟน ๆ ชาวไทยไม่น้อย แค่เดินไปด้านหน้าได้ยินพวกเขาซาวด์เช็กเพลง ‘Night Time’ ก็ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังจะไปเจอเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย จากนั้นก็แวะไปดู Hana Hope ศิลปินสาวลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ผู้เขียนเคยได้ยินจากการร่วม feat. กับศิลปินอย่าง ROTH BART BARON, Towa Tei มาก่อน รวมถึงร้องเพลงประกอบอนิเมะ เกม และโฆษณาทีวี ปัจจุบันเธอก็มีผลงานในฐานะศิลปินเดี่ยวเต็มตัวเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นอีกศิลปินที่น่าจะกำลังเติบโต 

Hana Hope

แต่ดู Hana อยู่ซักพัก ก็ต้องรีบวิ่งไปดู Soft Pine ศิลปินของไทยที่เคยมาเล่นที่ญี่ปุ่นหลายโชว์แล้ว รอบนี้พวกเขาเล่นที่ CLUB asia ผู้เขียนไปถึงเลตนิดหน่อยไม่ทันเพลงแรก แต่เมื่อเข้าไปในฮอล ก็ถึงกับตะลึง เพราะผู้ชมเต็มความจุ แน่นฮอล แน่นคือแน่นจริง ๆ แบบที่ได้แต่ดูอยู่ด้านหลังไกล ๆ เป็นความรู้สึกปลื้มมากที่คนดูญี่ปุ่นให้การต้อนรับดีมาก ๆ ไม่ใช่แค่จำนวนคนดูมากเท่านั้น แต่การตอบรับ และเอ็นจอยไปกับศิลปินก็ดีมาก ๆ ผู้เขียนคิดในใจทุกครั้งที่เสียงปรบมือของคนดูดังขึ้นหลังเพลงจบว่า “เชี่ยยยยย ดังแล้ว Soft Pine ดังแล้วที่ญี่ปุ่นจริง ๆ” นับจากที่ได้ฟังเพลงพวกเขาในชุดแรก ๆ ที่เป็น lofi-pop หน้าใหม่ ปัจจุบันพวกเขามีผลงานเป็นอัลบั้มที่ 4 มีแนวทางที่จัดจ้านขึ้นเรื่อย ๆ พี่คนไทยท่านหนึ่งที่ทำงานเพลงอยู่ที่ญี่ปุ่นหลายปี บอกว่าได้ดูโชว์ของพวกเขาครั้งแรก ประทับใจเกินคาดมาก ๆ พวกเราแซวกันเองว่า ถ้าบอกว่าเพลงญี่ปุ่นทางคอร์ดตื่นตาตื่นใจก็อยากให้มาเจอวงนี้ ทางคอร์ดแปลกกว่าวงญี่ปุ่นอีก  

Soft Pine

จากนั้นก็มาถึงวงไทยวงสุดท้ายในวันนี้อย่าง FORD TRIO วงฟังก์แบบไทย ๆ สุดเผ็ดร้อน ผู้เขียนเองได้เห็นพวกเขาแสดงสดครั้งแรก ๆ ก็รู้สึกว่า นี่คือสินค้าส่งออกชั้นดีของไทย พวกเขาครบเครื่องทั้งฝีมือ การแสดงสด และเอกลักษณ์ที่มีความเป็นไทยกลิ่นอายอีสานนิด ๆ จนอยากเห็นปฏิกริยาว่าคนฟังต่างประเทศว่าจะตอบสนองยังไง จะโยกคอเป็นไก่มั้ย เมื่อได้เห็นการแสดงพวกเขา นี่เป็นอีกวงดนตรีที่เหมาะกับงานโชว์เคสมาก ๆ เพราะ “ถ้าคุณยังไม่รู้จักพวกเขา ไม่เป็นไร ขอแค่ให้ได้ดู เดี๋ยวรู้เลย” และก็เป็นไปตามคาด ถึงแม้มือกีตาร์และร้องนำอย่างฟอร์ดจะรับบทสองจ๊อบ ทั้งเล่นแบ็กอัปให้ Max Jenmana มา 2 โชว์ แล้วต้องมาต่อด้วยวง FORD TRIO ในเวลาห่างกันไม่กี่ชั่วโมง แต่ตลอด 40 นาทีพวกเขาเอาคนดูอยู่หมัด ลูกล่อลูกชนที่ทำให้คนสนุกตลอดโชว์ ไฮไลต์นอกจากการร่วมแจมจากแขกรับเชิญอย่างคาโอรุแห่งวง Helsinki Lambda Club ในเพลง ‘เปล่าเลย’ แล้ว ก็ยังมีการชวนคนดูตะโกนในเพลง ‘เห้ยจารย์’ ซึ่งแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ‘Oii Sensei’ ผสมกันกลายเป็นคำว่า ‘โอ้ยจารย์’ ทำให้เป็นโชว์ที่มันมาก ๆ แบบที่กะว่าไม่ให้คนดูเหลือแรงไปดูเวทีอื่นเลย

FORD TRIO

หลังจากนั้นผู้เขียนก็รวบรวมพลัง (ที่เหลืออยู่น้อยนิด) เฮือกสุดท้าย ไปดู Sunset Rollercoaster วงสุดฮิตจากไต้หวัน ที่ O-EAST ซึ่งเปรียบเสมือน main stage ของงานนี้ เนื่องจากเวทีอื่นทยอยจบโชว์กันหมดแล้ว ฝูงชนจึงหลั่งไหลเข้าสู่เวทีนี้อย่างพร้อมเพรียง จนเจ้าหน้าที่หน้างานต้องคอยบอกให้คนที่เข้าไปต้องเลี้ยวไปเติมทางไหนที่ยังพอมีที่ว่างให้ยืนดูโชว์ได้บ้าง วงขึ้นแสดงพร้อมวิชวลที่สวยงามไม่แพ้ดนตรีเช่นเคย ถือเป็นการปิดงาน BiKN ที่น่าประทับใจเกินคาดสำหรับการจัดงานครั้งแรก 

ความรู้สึกหลังจากจบงาน การไปดูคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีปกตินั้นเราจะแบกความประทับใจและความสนุกกลับไป แต่กับงานโชว์เคส เราก็จะจินตนาการต่อไปว่า จะมีวงไหนเติบโตขึ้นไปอีกหลังจากงานนี้ มีใครที่เราเอาใจช่วย และอยากเห็นศิลปินคนไหนได้มีโอกาสมาเล่นในงานแบบนี้อีก ถือเป็นความรู้สึกร่วมที่แตกต่างออกไปจริง ๆ 

Bom Suwatin
+ posts

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy