พาย้อนบรรยากาศ AXEAN Festival 2023 โชว์เคสประจำ South East Asia ที่นอกจากจะมีวงเด็ด ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแล้ว ยังมีศิลปินจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และตัวแทนจากประเทศไทยอย่าง Zweed N Roll, KIKI, H 3 F และ Flower.far ไปปล่อยของกันให้ชาวสิงคโปร์รู้ไปเลยว่าพวกเขาน่ะเจ๋งจริง
Showcase Festival อาจจะไม่ใช่ศัพท์ใหม่ของอุตสาหกรรมดนตรีนอกกระแสของไทยอีกต่อไป เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ศิลปินไทยเริ่มออกเดินทางไปแสดงในต่างประเทศกันมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังล็อกดาวน์ก็มีบินไปที่นั่นที่นี่กันเป็นว่าเล่น ซึ่งนอกจากเฟสติวัลหรือคลับโชว์ที่โปรโมเตอร์ต่างชาติเขาติดต่อเข้ามาเพื่อพาไปเล่นตามเมืองต่าง ๆ ยังมี ‘โชว์เคส’ ที่กำลังเป็นที่สนใจของศิลปินหน้าใหม่ แต่ความต่างกันกับงานจ้างคือถ้าผู้จัดไม่ได้เชิญ ศิลปินก็สามารถยื่นใบสมัครให้เขาคัดเลือกได้เองเช่นเดียวกัน
แล้วโชว์เคสเฟสติวัลคืออะไร? เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คงจะเหมือนงานแสดงสินค้าประเภทนึง ที่เปลี่ยนจากของกินของใช้ รถยนต์ แพคเกจท่องเที่ยว มาเป็นดนตรี โดยงานรูปแบบนี้เปิดโอกาสให้ศิลปินมาจับจองพื้นที่เพื่อแสดงฝีมือด้วยการเล่นดนตรีกันสด ๆ โดยหวังว่าจะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น หรือได้รับโอกาสในการร่วมงานกับค่ายเพลง เฟสติวัล หรือโปรโมเตอร์ ที่ทางผู้จัดจะเชิญมามารับชมโชว์อีกทีโดยเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า deligates (เดลิเกต) เพียงแต่ว่าศิลปินหรือค่ายของศิลปินนั้น ๆ จะต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือค่าที่พักเองเกือบทั้งหมดแล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละงาน ดังนั้นงานรูปแบบนี้ก็อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับศิลปินทุกคน เพราะคุณอาจจะไม่ได้ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินเลย
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการซัพพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่การที่ศิลปินได้มาปล่อยของในงานแบบนี้—ทั้งในบ้านตัวเองหรือต่างประเทศ—พวกเขาอาจจะได้อะไรกลับมาที่เป็นประโยชน์แบบอ้อม ๆ อย่างเช่นการได้แฟนเพลงเพิ่มขึ้น โชว์เคสส่วนใหญ่จะเป็นงานเปิดให้เข้าชมฟรีแบบไม่จำกัดอายุ เราก็จะพบกับคนหลายกลุ่ม ทั้งวัยรุ่น ผู้ใหญ่ พ่อแม่ เด็ก และผู้สูงอายุในงานเดียวกัน ที่น่าสนใจอีกอย่างคือในงานแบบนี้มักจะมีกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่นงานเสวนา เวิร์กช็อป หรือแม้แต่ speed meeting สำหรับศิลปินและเดลิเกตที่จะได้พูดคุยแนะนำตัวเพื่อสานต่อโอกาสที่จะได้ร่วมงานกันในอนาคต เพราะเดลิเกตที่รับเชิญมาอาจจะไม่ได้มีแค่คนในอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศนั้น ๆ และพวกเขาเองก็กำลังมองหาศิลปินที่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของตัวเองแบบที่ศิลปินในประเทศอาจจะยังไม่ตรงรสนิยมเท่าไหร่นักก็เป็นได้
แล้วงานไหนบ้างที่ถือเป็นโชว์เคสเฟสติวัล? ในหลาย ๆ ประเทศมีงานโชว์เคสเกิดขึ้นมานานแล้วทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ (เป็นที่นิยมมากในช่วงโควิด) ก่อนหน้านี้เราน่าจะคุ้น ๆ กับชื่อของโชว์เคสเฟสติวัลอย่าง SXSW (เซาธ์บายเซาธ์เวส) ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา โดยในปี 2019 ก็มี Yellow Fang, Chanudom, DCNXTR และ my life as ali thomas หรือของปี 2023 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ก็มี MILLI, ASIA 7 ไปร่วมแสดง ส่วนของในเอเชียก็มี Music Lane Festival ที่โอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น Two Pills After Meal, DOOR PLANT, Soft Pine เคยไปเล่น ไม่นานมานี้เราก็ได้ไปเยือน Ear Up Showcase ที่ฮ่องกง มี KIKI กับ H 3 F เป็นตัวแทนหมู่บ้าน LUC Fest ที่ไต้หวัน ซึ่งมี Numcha, Wadfah, LEPYUTIN และ Phum Viphurit ก็ได้ไปแสดงที่งานนี้เป็นที่แรก ๆ ก่อนจะดังเปรี้ยงเช่นกัน และทีม The COSMOS จะเก็บภาพและบทความมาให้ได้ติดตามบรรยากาศกันโดยละเอียด ในบ้านเราก็น่าจะเคยได้ยิน Bangkok Music City ที่หลากวงอินดี้ไทยได้แจ้งเกิดกันไปในงานนี้ และก็น่าดีใจที่เริ่มมีงานชื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย
เข้าเรื่องเลยแล้วกัน เราและทีม The COSMOS เองก็เพิ่งกลับมาจากอีกงานนึงที่เพิ่งจบไปสด ๆ ร้อน ๆ ที่สิงคโปร์อย่าง AXEAN Festival 2023 ซึ่งเขารีแบรนด์มาจากชื่อเดิมคือ ASEAN Music Showcase นั่นเอง แน่นอนว่าในปีนี้ยังสนุกเข้มข้นกับวงดนตรีและเดลิเกตจากนานาชาติที่มารวมตัวกันอย่างคับคั่งตลอดวันที่ 28-29 ตุลาคม ที่ Goodman Arts Center และแน่นอน งานนี้ยังเปิดให้เข้าชมฟรีเหมือนเคย แต่ผู้ชมก็สามารถสนับสนุนผู้จัดงานด้วยการจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ในแคมเปญ ‘Pay What You Want’ ของเขาด้วย ผู้จัดงานนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ก็คือคุณพาย—ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี จาก Fungjai ที่จับมือกับ David Siow มือเบสแห่งวง Club Mild (fka M1LDL1FE) จากสิงคโปร์นั่นเอง
Goodman Arts Center อยู่ไม่ไกลนักจากที่พักของเราย่านเกลัง (เดินทางง่ายมาก ๆ นั่งรถเมล์สาย 158 จากหน้าบ้านไป 10 นาทีก็ถึงเลย หรือถ้าใครมา MRT ก็ให้ลงสถานี Mountbatten) ที่นี่เป็นเหมือนอาคารและพื้นที่กลางแจ้งที่เปิดให้ทำกิจกรรมดนตรีศิลปะการแสดงได้ตามใจ ซึ่ง AXEAN Festival ก็ได้ takeover พื้นที่ทั้งโครงการมาเพื่อจัดงานนี้ โดยใช้ห้องต่าง ๆ และโซนต่าง ๆ เป็นเวทีแยกตามสไตล์เพลง อย่างเร็กเก้ โฟล์กร็อก หรือกีตาร์แบนด์ จะได้ที่บริเวณสนามหญ้า Grass Stage ส่วนเพลงอิเล็กทรอนิกหรือคลับมิวสิกจะได้ที่ภายในอาคารอย่าง Club Art Ground และ Tunecore Stage เพื่อให้ประสบการณ์คลับครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีโซนอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอีกไฮไลต์ของงาน เพราะเขามี Beer Village ยกคราฟต์เบียร์โลคัลมาเปิดบูธทำให้กลายเป็นเบียร์เฟสติวัลย่อม ๆ ที่ Village Stage ที่มีวงขึ้นแสดงด้วย แต่ที่ชอบมากคือการที่แต่ละเวทีมีอาคารกั้นเป็นโซน ๆ เป็นการจัดการที่ดีมาก ๆ เพราะนอกจากจะเป็นสัดเป็นส่วนแล้วยังเป็น soundproof กันเสียงรบกวนระหว่างเวทีได้ด้วย
สำหรับวงที่มาแสดงที่งานนี้และเราได้มีโอกาสดูพวกเขาเล่นกันแบบสด ๆ จนโดนตกและต้องพูดถึง ขอไล่จากวันแรกไปทีละเวทีแล้วกัน สำหรับ Beer VIllage ตัวพีควันแรกก็ต้องยกให้ Flower.far สาวใต้เสียงทรงพลังจาก YUPP! ที่หลังจากเธอแผดเสียงหวานไต่ออกเตฟกันไปในหลายเพลงฮิตเรียกเสียงกรี๊ดได้ทั้ง ‘ตัดไปให้พอ’ หรือ ‘Like a Fool’ ไปแล้ว พอลงจากเวทีก็มีเดลิเกตวิ่งเข้าชาร์จตัวทันที ส่วนเวที Grass Stage ก็มี Murphy and The Lawyers จากฮ่องกงที่เอาดนตรีจาไมกัน ทั้งเร็กเก้ แดนซ์ฮอล มาเล่นแบบสนุกสุด ๆ ผู้ชมก็เต้นโยกไปกับจังหวะจนสนามหญ้าเขาร้อนระอุ เลยต้องผ่อนคลายกันที่ Bayangan อินดี้โฟล์ก/โฟล์กร็อกจากมาเลเซียที่เพลงช้าเขาก็แสนจะงดงาม ส่วนเพลงร็อกขึ้นมาหน่อยก็มีการเรียบเรียงเมโลดี้ได้น่าสนใจหาตัวจับยาก ด้านสิงคโปร์เองก็มีวงชูเกซดรีมป๊อปมาแรง Motifs ที่พวกเขาก็เคยมาแสดงที่บ้านเรา ณ Blueprint Livehouse เมื่อเดือนก่อน ส่วน Oh, Flamingo! จากฟิลิปปินส์ก็ทำเอาเราโดดเด้งไปกับดนตรีสนุก ๆ แล้วมากรูฟต่อกับ H 3 F จาก NewEchoes บ้านเรา ต้องบอกเลยว่าริฟฟ์กีตาร์พริ้ว ๆ หรือดนตรีอินสไปร์จากบลูส์นี่ตกชาวเดลิเกตไปได้เป็นแถบ ๆ ไม่แพ้งานที่ฮ่องกง ส่วน Ena Mori จากฟิลิปปินส์เอง สายรายงานว่าก็ไม่ธรรมดา แต่ตอนนั้นเราน่าจะวิ่งอยู่ที่อีกเวทีนึง ปิดท้ายด้วย BULGOGIDISCO จากเกาหลีใต้ที่พลังงานพี่แกกะทำเอาคนดูไม่ต้องหยุดเต้นกันเลย คือชื่อเหมือนจะเล่นแต่ดิสโก้ ฟังก์ อะไรเทือก ๆ นั้น แต่อันที่จริงแล้วพี่แกมีเมทัล ร็อก ลูกล่อลูกชนสร้างความสนุกได้ตลอดโชว์จนหมดเวลาแล้วก็มีคนอังกอร์ให้เล่นต่อ ทางฝั่งเวที Club Art Ground ก็มี LONER จากฟิลิปปินส์ที่เพลงได้อิทธิพลจากฝั่งอังกฤษมาเยอะมาก breakbeat UK garage แล้วก็ R&B มาเต็ม ส่วน Shielhiel จากมาเลเซีย คนนี้ตัวจี๊ด โชว์เขาเควียร์มาก ลุคหรืออาร์ตไดเร็กชันก็ตอบโจทย์สุนทรียะ Y2K สุด ๆ เพลงมีหลายแนว ร้องทั้งอังกฤษ มาเลย์ จีน ผสมอิเล็กโทรป๊อป เทคโน อะไรเข้าด้วยกันหมด แล้วระหว่างโชว์เขาโดดลงมาเต้นกับคนดู เรียกว่า turnt มากสำหรับโชว์นี้ ส่วนเวที Tunecore ที่มีศิลปินในสังกัดก็มีตัวเท่อย่าง DVY สองสาวอัลเทอร์เนทิฟร็อกจากอินโดนีเซียที่เพลงโดนเส้นมาก และ Deer MX ศิลปินในสังกัด Jafar Records ที่ดนตรีเป็นอิเล็กทรอนิกร็อกไฟลุกเสียงทรงพลัง ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกเขาเป็นเม็กซิกันแต่ไปอยู่ฮ่องกงกันเป็นสิบปีเลยนับตัวเองเป็นวงฮ่องกง บอกเลยว่า โชว์มันแบบต้องโดด ยืนดูเฉย ๆ ไม่ได้จริง
วันที่สองก็ตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน โดยเวที Beer Village ก็มีชาว KIKI จาก Parinam Music ที่ตอนฮ่องกงเราสนุกเป็นบ้าเป็นหลังไปแล้ว รอบนี้เขาเอาเพลง ‘Cold Night’ มาเล่น จากคนดูที่นั่งอยู่เฉย ๆ ก็คือลุกขึ้นมาแจวกันหนักหน่วงมากกลายเป็นคลับย่อม ๆ หน้าเวที เล่นเสร็จคือเดลิเกตและแฟนเพลงวิ่งกรูมาแบบไม่ต้องให้วงได้พัก ส่วน Helsinki Lambda Club จากญี่ปุ่น ก็ยังสนุกสดใสและกวนโอ๊ย ตกชาวสโปร์ได้ไม่ต่างจากชาวฮ่องกง และ Robot Swing + LEO37 + Star Wu จากไต้หวัน ก็คือเอนเตอร์เทนเก่งมาก แม้ฝนตกเขาก็ไม่หวั่นกัน คนดูใจสู้เต้นกันทั้งเปียก ๆ แบบนั้นเลย ด้าน Grass Stage ก็มีสาย R&B Neo Soul อย่าง Leaism จากมาเลเซียสะกดคนดูได้อยู่หมัด ไหนจะ HOME ที่แซวกันว่าเป็นฮยอกโอจากโอกินาว่า ญี่ปุ่น ก็ม่วนมาก คือมีดนตรีหลายแนวจัด อินดี้ป๊อปฟังง่ายก็มี ดรัมแอนเบสต์ชวนเต้นแตกแตนก็มา แต่ที่เด็ดคือลีลาดีเจ มือกีตาร์ แล้วก็นักร้องเขานี่แหละ ดูยังไงก็สนุกอะวงนี้ ส่วน Shye เจ้าบ้านต้องเรียกว่า เป็นขวัญใจมหาชน แฟนคลับเยอะมากกกก เด็ก ๆ พร้อมใจกรูกันมาอยู่ตรงนี้ น้องมีความเหมือนลิซ่า BLACKPINK ผสม นานะ โคมัตสึ ส่วนแนวเพลงเป็นดรีมป๊อป อัลเทอร์เนทิฟฟีล BEABADOOBEE แล้วก็มีอีกวงที่อยากดูแต่ติดภารกิจไปสัมภาษณ์นั่นคือ Reality Club จากอินโดนีเซีย รวมถึง Zweed N Roll จาก Wayfer Records ที่น่าเสียดายมาก ถ้าฝนไม่ตกจะมีคนดูเยอะกว่านี้ แต่จากสตอรี่ของวงก็คือมีแฟนเพลงใจสู้ยืนดูกันไม่หวั่นเปียกปอนจำนวนนึงเหมือนกัน ส่วนที่ Tunecore มีของเด็ดอยู่ที่ Cicada จากไต้หวันที่เป็นวงคอนเทมโพรารีเครื่องสายอิเล็กทรอนิกที่เราก็พลาด แต่เคยเห็นคลิปการแสดงสดของพวกเขาคือน่าสนใจมากจริง ๆ
สิ่งนึงที่ต้องพูดถึงเกี่ยวกับโชว์เคสเฟสติวัลคือ หลายคนรู้สึกว่าไม่อยากมางานประเภทนี้เพราะไม่มีวงไหนที่รู้จักมาก่อนเลย แม้จะเป็นงานที่ให้เข้าได้แบบฟรี ๆ แต่งานลักษณะนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่ประสบความสำเร็จในบางพื้นที่วัฒนธรรม ที่ผู้คนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นที่จะต้องเปิดโลกทัศน์ทางดนตรีขนาดนั้น (ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ ฝ่ารถติดออกมาจากบ้านก็ต้องเสียค่ารถ ค่าข้าว ขากลับรถติดอีก ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย แล้วนึกย้อนไปว่าเงินเดือนที่มีอยู่พอจะจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้องไหม แค่คิดก็เหนื่อยละ ไม่ไปดีกว่า)
แต่หลังจากที่เราลงไปทำสกู๊ปและสัมภาษณ์คนสิงคโปร์จำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่คนที่มารู้อยู่แล้วว่า ใช่ ไม่มีวงไหนที่พวกเขารู้จักเลย แต่ก็ยังอยากมา และอยากรู้ว่ามีวงไหนที่เพลงโดนเส้นพวกเขาไหม (อะ บ้านเขาการคมนาคมมันสะดวกมาก แล้วงานยังฟรีอีก) คือเขามีความเข้าใจว่างานพวกนี้มันคือ ‘showcase’ การเอา ‘the unknown’ ที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาเสนอแล้วบอกว่ามาดูมาฟังกันสิ ผู้จัดเลือกให้แล้ว แล้วชื่อของผู้จัดเองก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่คนฟังรู้สึกเชื่อถือและตัดสินใจลองมาเปิดใจ อันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องเวิร์กกันต่อไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเชิง infrastructure และค่านิยมของสังคมนั้น ๆ
กับอีกกรณีนึง คือวงอย่าง Shye ที่แฟนคลับเหนียวแน่นและแห่กันมา แต่น้อง ๆ แฟนคลับเหล่านี้เด็กมากและยังไม่รู้ว่าโชว์เคสเฟสติวัลคืออะไร ซึ่งนั่นถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีมาก ๆ ที่ โอเค เรามีศิลปินแม่เหล็กที่ดึงคนให้มางานนี้ได้แล้ว ยังเป็นโอกาสที่แฟนเพลงของศิลปินแม่เหล็กคนนั้นจะได้รู้จักกับวงอื่น ๆ และอาจจะได้วงโปรดที่ชอบวงใหม่เพิ่มอีกสักวงสองวง ได้รู้จักแนวเพลงใหม่ ๆ และจะได้เข้าใจถึงการมีอยู่ของโชว์เคสเฟสติวัลว่าฟังก์ชันของมันเป็นประโยชน์กับศิลปินที่พวกเขารัก ว่าอาจจะมีเดลิเกตมาชวนเขาหรือเธอไปร่วมงานที่สเกลใหญ่ขึ้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีปัจจัยต่อกันเป็นวัฏจักร ที่ถ้าบ้านเมืองสังคมดีขึ้นมันจะทำให้อะไร ๆ ง่ายกว่านี้มาก แต่ในช่วงที่วงการเพลงใน ASEAN และหลาย ๆ ที่กำลังค่อย ๆ เติบโต เราก็อยากจะเชิญชวนให้ทุกคน—ถ้าไม่ลำบากค่าใช้จ่ายหรือเวลาพักผ่อนนัก—ลองมาร่วมกิจกรรมสังคม หรืองานดนตรีที่จัดให้เข้าชมฟรีแบบนี้ดู ไม่แน่เราอาจจะได้ค้นพบอะไรแบบที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน และอาจทำให้มุมมองในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปเลยก็ยังได้