Music is the universal language of mankind.
ดนตรีคือภาษาสากลของมนุษยชาติ
— Henry Wadsworth Longfellow
ในโลกที่ตอนนี้ไม่มีพรมแดนใดจะขวางกันได้ ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแดนสวรรค์แห่งนี้ ดนตรียังคงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดจะอุดช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม เชิดชูความแตกต่างและทำให้เราส่งต่อความอบอุ่นได้เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น World Music หรือ ดนตรีพื้นเมือง จึงถูกใช้เรียกดนตรีเมือง ดนตรีดั้งเดิม รวมไปถึงดนตรีร่วมสมัยจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้เราเข้าใจการแสดงออกอย่างเป็นมิตรของเหล่าเพื่อนร่วมโลกที่เพิ่งเคยเจอหน้ากัน ดนตรีแนวนี้จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากบนเวทีโลก ในการช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทั้งโลก
ดนตรีก็มีวิธีสื่อสารที่สามารถข้ามพรมแดนของภาษาและเชื่อมโยงกับผู้ฟังในระดับอารมณ์ลึกซึ้งศิลปินดนตรีพื้นเมืองระดับโลกหลายคนใช้เวทีของตนเพื่อพูดถึงปัญหาระดับโลก เช่น ความยากจน สงคราม และความไม่เท่าเทียม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Bob Marley ศิลปินชาวจาเมกาที่ใช้ดนตรีเร็กเก้ของเขาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของข้อความแห่งสันติภาพ ใช้ดนตรีของเขาเพื่อสนับสนุนความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน
ดนตรีพื้นเมืองยังมีอีกหน้าที่ที่สำคัญคือเสมือนเป็นทูตทางวัฒนธรรม ที่นำพาให้ผู้ฟังได้รู้จักกับประเพณีที่พวกเขาอาจไม่คุ้นเคย ดนตรีเหล่านี้มักบอกเล่าบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และศาสนา เช่นจังหวะของการตีกลองแบบแอฟริกัน หรือเสียงประสานเสียงอันซับซ้อนของดนตรีกาวาลีจากเอเชียใต้ ล้วนเป็นการแสดงออกทางดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน สถานที่ และเหตุการณ์ในสังคมนั้น ๆ
ดนตรีพื้นเมืองจึงทำหน้าที่ทำลายกำแพงทางวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ผู้คนกล้าที่จะก้าวข้ามความคุ้นเคย เปิดใจรับประเพณีใหม่ ๆ ช่วยให้ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
รวมถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้จากการครอบงำของสไตล์ดนตรีตะวันตกในสื่อโลก การเล่นดนตรีเป็นเสมือนเครื่องมือที่ปกป้องประเพณีเหล่านี้ไม่ให้สูญหาย เพราะประเพณีเหล่านี้บางอย่างนั้นเคยถูกส่งต่อด้วยวาจามาหลายศตวรรษ การที่ยังมีพื้นที่ให้ได้ร้องเล่น การที่ยังมีคนฟังก็ช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้กับดนตรีเหล่านี้มากขึ้น
โลกนี้เองก็มีเทศกาลดนตรีแนวดนตรีนี้ชื่อดังมากมาย เช่น WOMAD (World of Music, Arts and Dance) และ Rainforest World Music Festival ที่มาเลเซีย ยังเปิดเวทีให้ศิลปินจากหลากหลายภูมิภาคได้แบ่งปันดนตรีของพวกเขากับผู้ชมทั่วโลก งานเหล่านี้เฉลิมฉลองความงดงามของความแตกต่างทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งมอบโอกาสในการอนุรักษ์ดนตรีที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักให้คงอยู่ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ได้
เหมือนกับที่ไต้หวันเองก็มีงาน World Music Festival @ Taiwan (WMFT) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 8 แล้ว สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาภาพยนตร์และอุตสาหกรรมดนตรี กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน และจัดโดยทีม Wind Music ที่ได้รับชื่อเสียงและผลตอบรับที่ดีเสมอมา จากความมุ่งมั่นในการส่งเสริมแนวเพลงที่หลากหลายและสร้างสรรค์การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
แม้ประเทศจะเป็นเกาะแบบนี้ แต่ไต้หวันเองก็มีชนพื้นเมืองอยู่หลายชาติพันธุ์ อย่างชนพื้นเมืองอามิสหรือปังคาห์ และชนพื้นเมืองไท่หย่า ซึ่งพวกเขาเองก็มีวัฒนธรรมการร้องรำทำเพลงเพื่อเฉลิมฉลองในฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งดึงดูดทั้งคนหนุ่มสาวที่ต้องจากบ้านเกิดเข้าไปทำงานในหัวเมืองใหญ่ ๆ หรือนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในวัฒนธรรมมารวมตัวกันที่นี่กันมากมายทุกปี เกิดเป็นเศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดคือดนตรีของพวกเขาที่ชนะใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกพื้นเมืองเองก็มีส่วนในการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยเหมือนกัน เมื่อมีผู้คนสนใจดนตรีแนวนี้มากขึ้น ความต้องการสำหรับคอนเสิร์ต เทศกาลที่นำเสนอประเพณีดนตรีที่หลากหลายก็เพิ่มขึ้น สร้างโอกาสให้กับศิลปินจากชุมชนชายขอบในการสร้างรายได้จากงานศิลปะของพวกเขา แถมยังดึงดูดการท่องเที่ยวและนำประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ชุมชนท้องถิ่น กลายเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมดนตรีเชิงพาณิชย์ได้เหมือนกัน
WMFT ปีที่ 8 เองจึงกลับมาอย่างยิ่งใหญ่เหมือนกัน ภายใต้ธีม “Groove to Your Addiction” ประกอบด้วยการแสดง 28 รายการจากไต้หวัน และ 10 ประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ นับตั้งแต่เปลี่ยนเป็นเทศกาลโชว์เคสในปีที่แล้ว WMFT ได้ช่วยต่อยอดโอกาสให้กับศิลปินท้องถิ่นหลายคนให้ได้ไปเหยียบเวทีต่างประเทศในเทศกาลดนตรีระดับโลกมากมาย เช่น Colours of Ostrava, Tallinn Music Week และ ACC World Music Festival
ในปีนี้เอง ก็จะมีวงโชว์เคส 16 วงที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัคร 169 คน ได้ขึ้นเวทีเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมทั่วโลก จัดกัน 3 วันเต็ม ๆ ตั้งแต่ 11-13 ตุลาคม ที่ Taipei Music Center
เทศกาลนี้ไม่เพียงแต่มอบประสบการณ์ผู้ชมจะลืมไม่ลงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับศิลปินทุกคนอีกด้วย ซึ่งมี delegate หรือตัวแทนผู้คนในอุตสาหกรรมดนตรีจากต่างประเทศ 18 คนรวมถึงผู้จัดเทศกาล ผู้กำกับโปรแกรม และสื่อดนตรีระดับนานาชาติ เข้าร่วมงานสัมนาและการเปิดตัวของ Music Roundtable โดยผู้เชี่ยวชาญทุกคนในอุตสาหกรรมดนตรีของไต้หวันจะร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ เช่น การต่อยอดอาชีพของศิลปินในระดับโลก การสร้างคอนเน็กชั่นที่แข็งแรงระหว่างประเทศ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันมาปรับใช้กับดนตรีพื้นเมือง และการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง
ในส่วนของการแสดงของเทศกาล WMFT เองจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม ไฮไลท์การแสดงของคืนวันศุกร์ คือ “Showcase Band Spotlight” โดยวง Taiwu Ballads Troupe ที่ได้รับการคัดเลือกมา ซึ่งมีเอกลักษณ์จากการร้องเพลงพื้นเมืองของชนเผ่าไพหวันในรูปแบบ Acappella (การร้องเพลงประสานที่ไม่ใช้เครื่องดนตรีเลย) ที่ผสมผสานภาษาของดนตรีสมัยใหม่เข้าไปด้วย จะร่วมงานกันเป็นครั้งแรกกับดีเจรุ่นใหม่ไฟแรง Dungi Sapor ศิลปินดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชนเผ่าอามิส ในการถักทอเสียงดนตรีที่เต็มไปด้วยชั้นเชิง ทั้งเสียงร้องอันไพเราะจากยอดเขาและจังหวะสากล สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมอย่างแท้จริง
ในฐานะคนรุ่นใหม่เอง Dungi Sapor บอกกับเราว่า ดนตรีพื้นเมืองเองได้รับอิทธิพลจากกระแสนิยมตะวันตกน้อยมาก ทำให้ยังมีความเป็นไปได้ทางดนตรีอีกมากมายที่รอให้เราค้นพบ เธอเองในฐานะศิลปินอิเล็กทรอนิกก็รู้สึกว่าการหยิบจับซาวด์ของชนพื้นเมืองมาใช้นั้นน่าสนใจมาก ไต้หวันมีดีเจเก่ง ๆ เยอะแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ และเธออยากลองทำมันให้ดีที่สุด
ไม่ใช่แค่เสียงดนตรีเท่านั้นที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญ ศิลปินทุกคนที่มาในงานนี้เองก็มีฝีมือยอดเยี่ยมไม่แพ้ศิลปินชื่อดังจากทั่วโลก โดยเฉพาะโชว์ที่ทุกคนต่างรอคอยอย่าง “Harmonic Taiwan: Island Rhythms” การคอลแลปส์กันระหว่าง Luantan Ascent เจ้าพ่อแห่งวงการร็อกล้ำสมัยผู้เคยกวาดรางวัลจาก Golden Horse, Golden Melody และ Golden Bell ของไต้หวันมาแล้ว และวง Spectro 7 ที่โดดเด่นในการผสมผสานแนวเพลงอันหลากหลายอย่างท้าทาย ทั้งสองวงจะร่วมกันตีความคำว่า “ดนตรีร็อกไต้หวัน” ในแบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ด้วยท่วงทำนองจากยุคก่อนเพื่อสร้างสรรค์ดนตรีที่เต็มไปด้วยพลังอันพุ่งพล่าน
ด้วยความคิดที่ Spectro 7 อยากทำลายกรอบที่คลุมเครือของคำว่าดนตรีพื้นเมืองทิ้งไป ก้าวข้ามการแปะป้ายของชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติไป แต่หันไปใส่ใจกับการถ่ายทอดประสบการณ์อันร่ำรวยวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ ให้ศิลปินได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกอันบริสุทธิ์ดีกว่า ไม่แปลกใจทำไมพวกเขาถึงกล้าที่จะสร้างดนตรีในแบบของพวกเขา
และอีกการแสดงหนึ่งที่พลาดไม่ได้เลยคือ “Women’s Strength, Diverse Voices” ในวันสุดท้าย โดยเฉพาะโชว์ของวง Outlet Drift กับดนตรี experimental psychedelic rock จากไต้หวัน ดนตรีของพวกเขาเต็มไปด้วยจังหวะที่ชวนสะกด ไลน์เบสที่หนักแน่นราวเคลื่อนไหวไปพร้อมกับเกลียวคลื่นที่ซัดเข้าหาโขดหิน จังหวะกลองที่สลับไปมาตามอารมณ์อันพุ่งพล่าน และเสียงกีตาร์ที่คล้ายเสียงกระซิบก่อนจะคำรามออกมาอย่างทรงพลัง รวมตัวกันเกิดเป็นดนตรีที่สื่อถึงความโกรธเกรี้ยว ดนตรีของพวกเขาเปลี่ยนไปตามการแสดงแต่ละครั้งทำให้มีเอกลักษณ์และกระตุ้นอารมณ์คนฟังได้อย่างดี
นอกจากนี้ ในงานเองยังมีโซนแยกที่เรียกว่า Earth Bazaars ที่รวบรวมดนตรี งานหัตถกรรม และร้านอาหารไว้รองรับคนรักการฟังเพลงจากทั่วโลกด้วย รวมถึงเบียร์คราฟต์พื้นเมืองไต้หวันที่เรียกว่าเป็นความภาคภูมิใจของพวกเขาเลยทีเดียว รวมถึงการรวบรวมสินค้ามากมายจากคนชายขอบให้ทุกคนได้ช็อปปิ้งกันเพื่อสร้างรายได้ให้กับชนพื้นเมืองเหล่านี้ด้วย
ภายใต้ธีมใหญ่ของคำว่า “Groove to Your Addiction” ก็บอกได้ว่าปีนี้พวกเขาเน้นถึงความทุ่มเทของศิลปิน โดยเชิญชวนผู้ชมให้สนุกไปกับจังหวะดนตรีที่ขับเคลื่อนหัวใจอันบริสุทธิ์ของทุกคน ในฐานะหนึ่งในเทศกาลดนตรีที่สำคัญของไต้หวัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการออกมาดื่มด่ำกับดนตรีที่หลากหลาย และจุดประกายความสนใจในการสำรวจวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนเรา
ลองไปไล่ฟังเพลงในเพลย์ลิสต์ Spotify ของงาน WMFT ที่รวบรวมศิลปินน่าสนใจในปีนี้กัน:
อย่างที่เราเกริ่นกันไปก่อนหน้านี้ ว่างาน WMFT เองก็ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมของรัฐบาลไต้หวัน เหมือนกับเทศกาลดนตรีอื่น ๆ ในประเทศด้วย ทำไมรัฐต้องให้พื้นที่กับศิลปินที่ไม่ใช่กระแสหลักของโลกแบบนี้ด้วย
คำตอบอาจจะอยู่ในสิ่งที่ Outlet Drift เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายประเทศก็พัฒนาดนตรีพื้นเมืองเพื่อเผยแพร่และส่งออกดนตรีทางเลือกของพวกเขาไปสู่ระดับโลก เพราะไม่มีสิ่งไหนจะแสดงวิสัยทัศน์และฉายภาพความเป็นชาติได้ดีไปกว่าดนตรีแล้ว รัฐบาลไต้หวันเองก็ลงทุนลงแรงไปเยอะมากกับอุตสาหกรรมดนตรีของพวกเขาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
ไต้หวันไม่ได้ต้องการแค่ส่งเสียงว่าดนตรีของไต้หวันน่าสนใจ แต่พวกเขาต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศของพวกเขาเองก็มีศักยภาพพอ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์โลกด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพวกเขาอีกด้วย
ประเทศไทยเองก็มีศิลปินดนตรีพื้นเมืองที่โดดเด่นเหมือนกัน แม้จะยังไม่ชัดเจนเท่ากับประเทศอื่นที่มีเทศกาลดนตรีของตัวเอง แต่ถ้าพูดถึงตัวแทนของซาวด์แบบ “ไทยไทย” ที่สามารถส่งออกไปถึงระดับโลกได้ก็พอจะนึกออกอยู่บ้างเหมือนกัน
คนแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ The Paradise Bangkok Molam International Band ที่ผสมผสานดนตรีหมอลำเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะอัลบั้มล่าสุด Araya Lam ที่หยิบเทคนิคของดนตรีตะวันตกเข้ามาผสมกับลูกล้อลูกชนสนุกสนานในแบบของไทย จนได้ซาวด์ชั้นครูที่เต็มไปด้วยการออกแบบที่แยบยล และฟังเพลินไปพร้อมกัน ซึ่งพวกเขาเองก็ได้ไปเล่นที่งาน Hear Hear Festival 2023 เมื่อปีที่แล้วด้วยเหมือนกัน
อีกวงที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง FORD TRIO ที่ยกระดับสำเนียงไทย ๆ ในดนตรีฟังก์ได้อย่างลงตัว ทั้งสามคนล้วนเป็นศิลปินที่ฝีมือฉกาจ ออกแบบดนตรีไทยได้แตกต่างและยังทันสมัยด้วย กับการได้คอลแลปส์กับ Mong Tong จากไต้หวันเองก็เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี ว่าพวกเขาเองก็มีฝีมือและแนวคิดทางดนตรีที่น่าสนใจมาก
นอกจากนี้ในไทยยังมีคณะหมอลำหรือที่ไทยเราเรียกว่า “ลูกทุ่ง” อีกเยอะมาก แต่รัฐบาลไทยกลับมองไม่เห็นช่องทางที่จะส่งออกวัฒนธรรมเหล่านี้ให้ไปสู่ระดับโลกได้ สมัยก่อน The Paradise Bangkok Molam International Band ก็ยังไปทั่วยุโรปด้วยตัวเอง อย่างน้อยถ้ารัฐบาลไทยเห็นความสำคัญ และส่งพวกเขาไปงาน WMFT ให้โลกได้รู้ถึงการมีอยู่ของซาวด์แบบไทย ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเหมือนกัน แล้วค่อยดูว่าซาวด์ของไทยจะพาซีนดนตรีในประเทศไปทางไหน งานนี้อาจจะต้องร้อนถึงทีม Creative Economy Agency หรือ CEA เหมือนกันว่าอาจจะต้องพิจารณาตลาดดนตรีทางนี้ด้วย
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมทุกคนควรจะมางาน World Music Festival @ Taiwan ซักครั้งในชีวิต ขอใช้คำเชิญชวนมางานที่น่ารักมากของวง Outlet Drift ดังนี้
“ก่อนอื่น เราต้องขอบคุณทีมผู้จัดงาน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจัดเทศกาลนี้เป็นครั้งที่แปดได้สำเร็จ พวกเขาสมควรได้รับเสียงปรบมือและการซัพพอร์ตอย่างเต็มใจ ไต้หวันจำเป็นต้องค้นพบดนตรีใหม่ ๆ ให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่ทำให้เทศกาลนี้พิเศษกว่างานไหน ๆ คือคุณสามารถฟังดนตรีที่หลากหลายในที่เดียว มันจะเปลี่ยนมุมมองแลแนวคิดที่มีต่อดนตรีให้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในไต้หวันเพียงประเทศเดียวก็มีความหลากหลายทางดนตรีอยู่มากมาย อย่าติดอยู่แค่แนวเพลงแบบเดียว—โลกนี้เต็มไปด้วยจังหวะที่ยังไม่ถูกค้นพบมากมาย ถ้าคุณเป็นนักดนตรี คุณต้องมาสัมผัสมันอย่างน้อยสักครั้ง เทศกาลนี้จะมอบแรงบันดาลใจและมุมมองใหม่ ๆ ให้คุณแน่นอน ดนตรีไม่มีขอบเขต! นักดนตรีควรมางานนี้ พนักงานออฟฟิศควรมางานนี้ คู่รักควรมางานนี้—ทุกคนควรมางานนี้ พาครอบครัวมาด้วยเพื่อสนุกสนานไปด้วยกัน”
อย่างที่เราพูดไปก่อนหน้านี้ว่าดนตรีแนวนี้เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการร่วมมือกันข้ามวัฒนธรรมและนวัตกรรมทางดนตรี เมื่อศิลปินจากวัฒนธรรมต่าง ๆ มาร่วมงานกัน พวกเขามักจะผสมผสานรูปแบบดนตรีของตนเพื่อสร้างสิ่งใหม่ทั้งหมด สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความหลากหลายของดนตรีโลก แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความกลมเกลียวระหว่างวัฒนธรรม มันสำคัญต่อวงการดนตรีและสันติภาพของทุกประเทศบนโลก มันทำให้เราเห็นถึงวิธีที่ศิลปะสามารถรวมทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันได้แทนที่จะแบ่งแยกกัน
สุดท้ายนี้ ขอทิ้งวลีเท่ ๆ ไว้ท้ายบทความเหมือนตอนเขียนคำนำว่า “Make Music, Not War” ทำเพลงกันเถอะ อย่าก่อสงครามอีกเลย
อ่านรายละเอียดและความน่าสนใจของเทศกาลดนตรี World Music Festival @ Taiwan ได้ที่: https://wmftaiwan.com/en/2024en
ซื้อบัตรเลย: HERE
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา