“เพลงฮิต” สมัยนี้ค่อย ๆ แย่ลงทุกวัน และเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

by McKee
476 views
เพลงฮิต AI

วงการดนตรีได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากมายทั้งวิธีการทำเพลง การเข้าถึงคนฟัง รวมถึงวิธีฟังเพลงและมุมมองที่ทุกคนบนโลกมีต่อดนตรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้ใครก็สามารถทำดนตรีได้ และทุกคนมีโอกาสที่จะโด่งดังไปทั่วโลกได้เท่าเทียมกับร็อกสตาร์ยุคก่อน ๆ แต่สิ่งที่ตามมาคือการถกเถียงอย่างดุเดือดเกี่ยวกับคุณภาพและความเป็น “ดนตรี” ของ “เพลงฮิต” ในปัจจุบัน นักวิชาการสายดนตรีหลายคนบอกว่าดนตรี “แย่ลง” โดยหยิบยกเรื่องการลดลงของความคิดสร้างสรรค์ในดนตรี ความลึกซึ้งในการสื่อสารอารมณ์ของดนตรี และความจริงใจของเพลงเหล่านั้น

Rick Beato ยูทูบเบอร์สายดนตรีเชื้อสายอเมริกันที่หยิบเรื่องทฤษฎีดนตรีเล่าให้เข้าใจง่าย รวมถึงคอนเทนต์เกี่ยวกับดนตรีมากมาย ไม่ว่าจะวิจารณ์เพลงต่าง ๆ ว่าทำไมเพลงนี้ถึงฮิต แถมแกยังเขียนหนังสือชื่อว่า ‘The Beato Book’ ที่เรียบเรียงทฤษฎีดนตรีใหม่ให้เข้าใจง่ายมากและสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่ง Rick ปล่อยวีดีโอออกมาตัวหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก ว่า “The Real Reason Why Music Is Getting Worse” เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมเพลงสมัยนี้ถึงแย่ลงทุกวัน โดยเขาจะพาทุกคนไปรู้จักกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการทำเพลง การเพิ่มขึ้นของเพลงที่สร้างโดย AI และการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคดนตรีที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมดนตรีทั้งหมดที่เราเคยผ่านมา

ทีมคอสมอสเลยอยากหยิบประเด็นนี้มาเล่าให้ทุกคนฟัง เพราะเชื่อว่าหลายคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าตัวเราเองก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพลงสมัยนี้แย่ลงด้วยเหมือนกัน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังฆ่าเสียงดนตรีอย่างช้า ๆ

ในช่วงศตวรรษที่ 20 การบันทึกเสียงเป็นกระบวนการที่เข้มงวดและต้องใช้ทักษะขั้นสูงเท่านั้น ศิลปินอย่าง Frank Sinatra จะต้องแสดงสดต่อหน้าวงออร์เคสตราโดยใช้เพียงไมโครโฟนตัวเดียวในการบันทึกเสียง เสียงที่เราได้ยินจากไวนิลจะไพเราะขนาดไหนขึ้นอยู่กับการแสดงที่ไร้ที่ติของนักดนตรีและความเชี่ยวชาญของซาวด์เอนจิเนียร์ ในยุคนั้นเรียกว่าไม่มีที่ว่างให้สำหรับความผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว โน้ตทุกตัว ทุกสำเนียงร้องต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายและอุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงนั้นมีราคาสูงมาก ความเข้าใจต่อหน้าที่ของตัวเองและการประสานงานใช้ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างนักดนตรีและซาวด์เอนนั้นจึงสำคัญที่สุด เพื่อให้ได้ผลลัพต์ที่ดีที่สุดสำหรับคนฟัง

การบันทึกเสียงแบบนี้ทำให้ได้ซาวด์ที่สั่นสะท้านไปถึงจิตวิญญาณจากความไม่สมบูรณ์แบบของการแสดงสด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มเอกลักษณ์บางอย่างที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ ข้อจำกัดของเทคโนโลยีการบันทึกเสียงในยุคนั้นกลับทำให้ได้ผลลัพธ์ทางดนตรีที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติและการแสดงสดที่จริงใจ

จนมาถึงช่วงปี 1960 ซึ่งมีการนำระบบการบันทึกเสียงแบบ multitrack มาใช้ ทำให้คนทำเพลงสามารถบันทึกเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องแยกกันได้ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นเพลงเดียวกันในภายหลังได้ วิธีนี้ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นกับการทำเพลงในสตูดิโอ ศิลปินสามารถทดลองกับเสียงต่าง ๆ ได้อย่างอิสระมากขึ้น ทั้งการซ้อนหลาย ๆ เสียงหรือการใช้เอฟเฟกต์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการบันทึกเสียงทั้งหมด

เพลงฮิต AI

แม้ว่าการบันทึกเสียงแบบ multitrack จะช่วยทลายกรอบของความคิดสร้างสรรค์ แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนไปสู่การ “ประดิษฐ์” เสียงดนตรีขึ้นมา และความเป็นธรรมชาติของมันกลับหายไป ความผิดพลาดสามารถถูกแก้ไขได้ การแสดงถูกประกอบขึ้นจากหลาย ๆ เทคเข้าด้วยกัน การบันทึกเสียงในยุคใหม่อาจจะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่มันค่อย ๆ ลดทอนความสำคัญของความเชี่ยวชาญในการแสดงสดลงไป การเปลี่ยนแปลงนี้อาจดูเล็กน้อยในตอนแรก แต่กลับวางรากฐานบางอย่างให้กับแนวคิดในการทำเพลงในยุคต่อ ๆ ไปอย่างมหาศาล

การปฏิวัติดิจิทัลในวงการทำเพลงช่วงปลาย 1990 การมาถึงของโปรแกรม DAWs ในวงการดนตรี และซอฟต์แวร์ออโต้จูนอย่าง Pro Tools ทำให้คนทำเพลงสามารถจัดการเสียงดนตรีได้ตามต้องการ ทั้งตัดต่อและจัดเรียงเสียงได้อย่างละเอียด ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีออโต้จูนสามารถแก้ไขเสียงร้องได้ทันทีหลังจากบันทึกเสียงเสร็จ เพลง Believe ของ Cher ในปี 1998 ทำให้ออโต้จูนเป็นที่นิยมในตลาดเพลงป็อปไปอีกสองทศวรรษต่อมา

ปัญหาที่ตามมาคือ เครื่องมือดิจิทัลพวกนี้ทำให้ “เสียง” ที่มีในตลาดเพลงป็อปมีความเหมือนกันหมด ออโต้จูนถูกวิจารณ์ว่าเป็นการลบล้างลักษณะเฉพาะตัวในเสียงร้องของตัวศิลปิน ทั้งฟังดูไม่เป็นธรรมชาติและขาดความรู้สึกที่ต้องการสื่อสารในเพลง เมื่อทุกโน้ตเป็นไปตามคีย์ที่ถูกต้อง ดนตรีก็สูญเสียอารมณ์บางอย่างที่มาจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ การพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้มากเกินไป ทำให้เกิดการวิจารณ์ว่าดนตรีร่วมสมัยฟังดูเรียบง่ายเกินไปและขาดความลึกซึ้งที่เป็นลักษณะเฉพาะของการบันทึกเสียงแบบในอดีต

ปัจจุบัน Beat Detective และ Quantize กลายเป็นมาตรฐานในสตูดิโอไปแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้คนทำเพลงปรับเสียงดนตรีให้ตรงกับเส้น grid ได้อย่างสมบูรณ์แบบ บีททุกบีท โน้ตทุกโน๊ต รวมถึงจังหวะดนตรีที่แม่นยำ ซึ่งเป็นดาบสองคมในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้แก้ไขเพลงได้ตามต้องการ แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันทำให้เกิดดนตรีที่ฟังดูเป็นหุ่นยนต์ ความแปรผันตามเวลาและจังหวะที่เกิดขึ้นในการแสดงสดหรือความไม่สมบูรณ์ที่ทำให้ดนตรีดูมีชีวิตชีวามันจะสูญหายและตกหล่นไปตลอดทาง

เพลงฮิต AI

AI ที่เข้ามามีผลกระทบกับดนตรีโดยตรง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา AI เริ่มมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ดนตรี แม้กระทั่งการแสดงดนตรีด้วย บางครั้งแทบไม่ต้องพึ่งพาข้อมูลหรือการป้อนจากมนุษย์เลย ถึงเทคโนโลยีนี้จะช่วยนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการทำเพลง ทำให้ศิลปินสามารถสำรวจเสียงและการเขียนเพลงใหม่ ๆ ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ก็ยังมีคำถามทางจริยธรรมและกฎหมายเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และความ original ในดนตรีอยู่

ดนตรีที่สร้างโดย AI มักอาศัยการวิเคราะห์และการทำซ้ำของงานที่มี การใช้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้จากชุดข้อมูลมหาศาลในประวัติศาสตร์ดนตรีที่มีอยู่แล้ว ทำให้ AI สามารถสร้างเพลงที่เลียนแบบสไตล์และโครงสร้างของแนวเพลงหรือศิลปินเฉพาะเจาะจงได้ กระบวนการนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างแรงบันดาลใจและการเลียนแบบเบลอหายไป คำถามที่ว่าอะไรคือความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริง นักวิจารณ์มักพูดว่าดนตรีที่สร้างโดยอัลกอริธึมแทนที่จะเป็นศิลปินนั้น ไม่สามารถทดแทนกันได้จริง ๆ

การใช้ AI ในการผลิตดนตรียังทำให้เกิดการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยืดเยื้อระหว่างค่ายเพลงใหญ่อย่าง Universal Music Group, Sony Music, และ Warner Music ได้ยื่นฟ้องต่อผู้พัฒนา AI โดยอ้างว่าโมเดลของพวกเขาใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์อย่างผิดกฎหมายเพื่อสร้างเนื้อหาใหม่ กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงกฎหมายในอุตสาหกรรมดนตรีสมัยใหม่ที่ยังตามหลังเทคโนโลยีอยู่

ข้อพิพาททางกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามต่อคุณค่าความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในยุคนี้ ที่เครื่องจักรสามารถเลียนแบบการแสดงออกทางศิลปะได้ หาก AI สามารถสร้างดนตรีที่ไม่แตกต่างจากมนุษย์ ศิลปินจะมีบทบาทอะไรในอนาคต ? หรือ AI จะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในชุดเครื่องมือสร้างสรรค์ของศิลปิน ? นี่เป็นคำถามที่อุตสาหกรรมดนตรีจะต้องเผชิญเมื่อเทคโนโลยี AI พัฒนาก้าวหน้าไปอีกขั้น

เพลงฮิต AI

การบริโภคดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคสมัยนี้

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมดนตรีในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนจากการที่คนฟังได้เป็นเจ้าของเพลงที่ตัวเองชอบไปสู่การเข้าถึงในฐานะผู้เช่าฟังเท่านั้น ในอดีต การฟังดนตรีต้องใช้เวลาและเงินพอสมควร ผู้ฟังในยุคก่อนต้องเก็บเงินเพื่อซื้อแผ่นเสียงหรือซีดีซักแผ่น โดยอาจจะไม่ได้มีโอกาสฟังก่อนด้วยซ้ำว่าจะชอบอัลบั้มนี้หรือไม่ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันที่บ่งบอกเอกลักษณ์ส่วนบุคคลของพวกเขา การเป็นเจ้าของอัลบั้มดี ๆ เป็นการแสดงออกที่จับต้องได้ถึงรสนิยมและความชอบของแต่ละคน

แต่การมาถึงของบริการสตรีมมิ่งได้เปลี่ยนแปลงวิธีการบริโภคดนตรีของทุกคนไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยค่าบริการรายเดือนที่ค่อนข้างต่ำ คนฟังสามารถเข้าถึงเพลงนับล้านได้เพียงปลายนิ้ว การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การค้นพบเพลงใหม่ง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่มันกลับเปลี่ยนวิธีที่ผู้คนให้คุณค่าแก่เสียงดนตรีด้วย เมื่อทุกเพลงพร้อมให้ฟังแค่คลิก มันก็ไม่ใช่เรื่องของความไพเราะโดนใจแค่ไหนของเพลง ไม่เกี่ยวกับศิลปินคนนี้มีผลงานน่าสนใจยังไง หรือปกอัลบั้มนี้สะดุดตาน่าหยิบมาลองฟังอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของความสะดวกในการเข้าถึงเพลงเหล่านั้นมากกว่า

ความสะดวกในการเข้าถึงที่บริการสตรีมมิ่งนำเสนอเรามาหลายปี ทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าในตัวเพลง ทุกวันนี้เพลงถูกใช้งานเป็นเสียงแบ็กกราวมากกว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องตั้งใจฟังอย่างจริงจัง คนหันมาฟังเพลงแค่ตอนเดินทางบนรถสาธารณะ หรือทำอย่างอื่นไปด้วย เจอเพลงไหนไม่โดนใจก็สามารถกดข้ามได้ทันที คนฟังในยุคนี้หลายคนเลิกลงทุนเวลาและความพยายามไปกับการค้นหาและชื่นชมศิลปินใหม่ ๆ ทุกอย่างถูกคัดสรรให้ถึงนิ้วโดยอัลกอริธึมที่เน้นเพลงยอดนิยมมากกว่าผลงานที่แตกต่าง การฟังเพลงไม่ถูกนับว่าเป็นกิจกรรมอีกต่อไป

ความสะดวกสบายของระบบสตรีมมิ่งเองก็มาในรูปแบบของเพลย์ลิสต์ที่คัดมาให้แล้ว การคัดเลือกเพลงที่เหมือน ๆ กันหมดยิ่งทำให้คนฟังใช้เวลากับสตรีมมิ่งมากขึ้น จึงมีนวัตกรรมมากมายที่ถูกหยิบมาใช้ อย่างเช่นเพลย์ลิสต์บางเพลย์ลิสต์อาจมีเพลงที่คล้ายกับเพลงที่ฮิต ๆ ในตอนนั้นเต็มไปหมด แต่ในเพล์ลิสต์นี้อาจมีศิลปินจริง ๆ ไม่ถึง 20% ที่เหลือคือศิลปินผีที่แพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่งใช้ AI สร้างเพลงที่ใกล้เคียงกันออกมาแทนเพื่อดึงให้คนยังฟังต่อ และรับเงินโฆษณาในอีกทางหนึ่งด้วย

ศิลปินป็อปเองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ตัวเองยังสามารถครองใจคงฟังได้ต่อไป ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสร้างเทรนด์ดนตรีของตัวเองขึ้นมาได้ ทำได้แค่ทำเพลงให้คล้ายกับ “เพลงฮิต” ในตลาดตอนนี้ต่อไป

ความคิดเห็นที่ว่าดนตรี “แย่ลง” นั้นมีรากฐานมาจากหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้ทุกคนเข้าถึงดนตรีง่ายขึ้น แต่มันได้พรากประสบการณ์การฟังเพลงที่เคยรุ่มรวยไปจากเรา ซึ่งคนฟังเพลงสมัยนี้อาจจะจิตนาการวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ออกแล้ว

แต่สุดท้ายแล้ว กระแสเหล่านี้ไม่ได้มีแต่ด้านลบ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับความสร้างสรรค์และการทำโชว์ ทำให้ศิลปินสามารถทดลองกับเสียงและสไตล์ในทางที่ไม่เคยเป็นไปได้ การเพิ่มขึ้นของ AI ในการสร้างดนตรีอาจนำไปสู่แนวเพลงและรูปแบบการแสดงสดใหม่ ๆ ที่ท้าทายความคิดเกี่ยวกับดนตรีในรูปแบบเดิม ๆ เช่นเดียวกัน

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy