ทุกคนน่าจะได้เห็นข่าว เอ๊ะ จิรากร ที่ถูกคนดูวิ่งขึ้นมาต่อยถึงเวที ซึ่งเราขอประณามการกระทำนี้และอยากให้ค่ายเอาเรื่องให้ถึงที่สุด
แต่เรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะ ปั้บ Potato ก็มาแชร์ว่าเคยไปเล่นดนตรีจนจบ แล้วถูกแฟนเพลงฉุดกระชากจนชุลมุน มีคนตีกันแถมมีเสียงปืนด้วย ภาพวันนั้นยังหลอกหลอนพี่เขาจนถึงทุกวันนี้ และถ้ายังไม่ลืมกัน อาทิตย์ก่อน โจอี้ ภูวศิษฐ์ เองก็เพิ่งโดนปาเงินใส่หน้าด้วย ซึ่งคนพวกนี้ก็มักจะอ้างว่าเมาบ้าง รู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง แล้วศิลปินที่ตั้งใจมาทำงานต้องมาเสียเวลาเสียความรู้สึกแบบนี้ คำขอโทษคงรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่เพียงพอ
หลายคนอาจจะคิดว่าเพราะมีโซเชียลมีเดียเลยมีคนบันทึกภาพเหตุการณ์แบบนี้มาลงมากขึ้น แต่ความจริงแล้วมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ศิลปินเลือกที่จะไม่พูดถึง ทั้งการที่คนดูแหกปากรบกวนโชว์ของศิลปินหรือระหว่างที่กำลังพูดคุยกับคนดูคนอื่น ๆ โดนด่าที่เล่นเพลงของตัวเองในร้านเหล้า โดนสาดน้ำใส่ หรือ Microaggression (การคุกคามโดยรู้ไม่เท่าทัน) ใด ๆ ไปจนถึงการโดนแฟนเพลงฉุดกระชากลากไถ โดนตามถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอในเวลาส่วนตัว แล้วเอาไปอัปโดยศิลปินไม่ยินยอม
เราไม่ได้เจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่ประเทศเดียว แต่ศิลปินทั่วโลกกำลังเผชิญเรื่องคล้าย ๆ กันหลายเคส เช่น Keshi ที่โดนเขวี้ยงกำไลข้อมือใส่บริเวณดวงตาตอนกำลังโชว์ในฮาวาย
หรือใครอีกหลายคนที่โดนแฟนเพลงเอามือถือมาจ่อที่หน้า บางคนหนักถึงขั้นโดนแฟนเพลงล่วงละเมิดทางร่างกายเลยทีเดียว
“สมัยก่อน ในยุค The Beatles แฟนเพลงกรี๊ดกันจนเป็นลมล้มพับ ในยุคของดนตรีพังก์แฟนเพลงก็ถ่มน้ำลายใส่กัน และในยุคของ Tom Jones แฟนเพลงก็ปากางเกงในขึ้นมาให้เลย” Dr. Lucy Bennett อาจารย์มหาวิทยาลัย Cardiff ผู้เชี่ยวชาญในวัฒนธรรมแฟนคลับยกตัวอย่างให้เข้าใจ “เป็นวิธีที่แฟนเพลงใช้สื่อสารและแสดงออกว่าเราผูกพันเป็นส่วนหนึ่งกับวงดนตรีขนาดไหน”
แต่คำถามคือ ทำไมแฟนเพลงเดี๋ยวนี้ดูร้ายกาจและนิสัยแย่ลงจนทำพฤติกรรมแปลก ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับช่วงล็อกดาวน์โควิดเต็ม ๆ
จากการวิเคราะห์ของ Billboard พบว่า กว่าคอนเสิร์ตจะกลับมาก็ใช้เวลาถึง 2-3 ปี ทำให้เมื่อคอนเสิร์ตกลับมา—ไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งโตจนไปคอนเสิร์ตได้—แต่พบว่ามีคนหน้าใหม่ ๆ ที่เริ่มลองไปคอนเสิร์ตกันมากขึ้น เนื่องจากช่วงล็อกดาวน์อาจทำให้คนพวกนี้รู้จักศิลปินมากขึ้น หรืออยากลองออกไปเจอศิลปินที่ชอบสักครั้ง และข้อสันนิษฐานคือ คนพวกนี้อาจจะยังไม่เคยไปคอนเสิร์ตมาก่อนและไม่รู้ว่าการดูคอนเสิร์ตต้องทำยังไง
แน่นอนว่า โลกออนไลน์ที่โตขึ้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งเขาตั้งชื่อให้อาการนี้ว่า ‘Main Character Syndrome’ อาการหลงผิดคิดว่าตัวเองคือตัวเอกในโลกใบนี้
“แฟนเพลงส่วนใหญ่เผชิญกับอาการ Parasocial Relationship (อธิบายง่าย ๆ คืออาการหลงรักข้างเดียว) ยิ่งโซเชียลที่ทำให้เราเข้าถึงศิลปินได้ง่ายขึ้น พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเอง ‘สนิท’ กับศิลปิน ทั้งที่มีแฟนเพลงอีกนับแสนกดติดตามศิลปินคนนี้อยู่เหมือนกัน” ด็อกเตอร์ลูซี่อธิบายเพิ่ม
พวกเขาจึงตั้งใจถ่ายวีดีโอในคอนเสิร์ตให้สวยที่สุดเพื่อสร้างตัวตนขึ้นมาบนโลกออนไลน์ว่าฉันคือแฟนตัวยงของคุณนะ ทำให้คนเหล่านี้หมกมุ่นอยู่กับการทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองเป็นที่จดจำของศิลปินจนลืมซึมซับบรรยากาศของคอนเสิร์ตไป
เมื่อไปคอนเสิร์ตที่ต้องใช้กายเนื้อในการมีส่วนร่วม คนเหล่านี้ก็เลือกที่จะใช้ร่างกายในการทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เช่น การตะโกนสุดเสียงแบบไม่รู้กาลเทศะ ปาข้าวของใส่ หรือเข้าหาศิลปินในแบบที่ไม่คาดคิด และบางครั้งก็เลือกที่จะถ่ายพฤติกรรมเหล่านี้ไว้เพื่อจะได้มีคอนเทนต์ไปอวดบนโลกออนไลน์จนทุกคนต้องอิจฉา
เชื่อว่าศิลปินหลายคนคงไม่ประทับใจพฤติกรรมแบบนี้เท่าไหร่หรอก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากรณรงค์ให้ทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมการชมคอนเสิร์ตเหมือนกัน เริ่มจากเคารพสิทธิของคนอื่นในคอนเสิร์ต ไม่ถ่ายวีดีโอบังคนอื่นหรือเต้นจนกระทบคนรอบข้าง ช่วยกัน call out พฤติกรรมที่ไม่ดีในคอนเสิร์ต พออยู่ในที่สาธารณะแล้วทุกคนจะไม่มั่นใจ แต่ถ้าทุกคนเข้าใจตรงกันและช่วยกันลดพฤติกรรมแบบนี้ได้ก็ดี
อย่าลืมว่าเราคิดถึงการไปคอนเสิร์ตทุกอาทิตย์เพราะอยากไปดูโชว์เพลงที่เราชอบแบบสด ๆ ได้ออกไปซัพพอร์ตศิลปินที่เรารัก การได้อยู่ท่ามกลางเพื่อน ๆ ที่ชอบศิลปินเดียวกัน แล้วสนุกไปด้วยกัน มันจะอยู่ในความทรงจำเราได้นานกว่าสตอรี่แค่ 24 ชั่วโมงนะ
อ้างอิง
https://www.billboard.com/pro/touring-live-concerts-midyear-2021-analysis/
https://www.vice.com/en/article/dy7jdk/why-do-live-music-audiences-suck-right-now
https://www.dazeddigital.com/music/article/57874/1/live-music-audiences-problem-bad-bunny-steve-lacy-azealia-banks-kehlani
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา