This Will Destroy You กับอัลบั้ม Self-Titled (2008) ที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของซีน post-rock

by McKee
79 views
This Will Destroy You Self-Titled 2008

ในช่วงกลางยุค 2000 วงดนตรีจากเท็กซัส This Will Destroy You ได้เริ่มทำอัลบั้ม instrumental ที่สามารถนิยามตัวตนของพวกเขาในซีนดนตรีโพสต์ร็อกได้อย่างชัดเจน หลังจากอัลบั้มแรกของพวกเขาอย่าง Young Mountain ซึ่งเดิมเป็นแค่เดโมที่วงบันทึกเองในปี 2006 ได้รับคำชมอย่างล้นหลามแบบไม่คาดคิด พวกเขาจึงตัดสินใจเดินหน้าทำอัลบั้มเต็มชุดแรกของพวกเขาด้วยความทะเยอทะยาน

มือกีตาร์และฟรอนต์แมนของวง Jeremy Galindo เคยอธิบายว่าอัลบั้ม Young Mountain เป็นแค่การรวมเพลงหลายๆ เพลงเข้าด้วยกันโดยไม่มีธีมหรือทิศทางที่ชัดเจน ขณะที่อัลบั้มเต็มลำดับถัดมาอย่าง This Will Destroy You ที่มีชื่อเดียวกับวงที่ออกมาในปี 2008 นั้น พวกเขากลับมีภาพในหัวที่ชัดเจนกว่าว่าอยากให้มันเป็นแบบไหน

แนวทางดนตรีของพวกเขาในอัลบั้มนี้จึงเน้นไปที่ธีมเมโลดี้ที่แข็งแรง การพัฒนาไดนามิกของเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบต่อมาจากอัลบั้มที่แล้ว ด้วยความเชื่อที่ว่า “โครงสร้างของดนตรีคือหัวใจของแต่ละเพลง” สำหรับอัลบั้มนี้ พวกเขาต้องการผลักดันแนวคิดเหล่านี้ให้ไปไกลยิ่งขึ้น สำรวจโทนเสียงและเนื้อเสียงใหม่ ๆ พร้อมกับรักษาความเข้มข้นทางอารมณ์ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาไว้ให้ได้

This Will Destroy You Self-Titled 2008
This Will Destroy You

กระบวนการเขียนเพลงและการทำงานร่วมกันในอัลบั้มนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สมาชิกทั้งสี่คนของวง ได้แก่ Jeremy Galindo และ Chris King ฟรอนต์แมนร่วมและมือกีตาร์ของวง, Raymond Brown อดีตมือเบส/คีย์บอร์ดที่ทำอัลบั้มด้วยกันในตอนนั้น, และ Andrew Miller มือกลองของวง ต่างก็อาศัยอยู่กันคนละเมืองในรัฐเท็กซัส ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับชั่วโมงเรียนและงานประจำที่หนักหนา จนทำให้การแต่งเพลงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะพวกเขามีโอกาสเจอกันแบบไม่แน่นอนเท่านั้นเพื่อแจมและแต่งเพลง Chris King เล่าว่า บางทีพอเราได้เจอกัน ไอเดียมันก็พุ่งพล่านมาเต็มไปหมด แต่บางครั้งก็แค่ยืนอยู่ตรงนั้น แล้วจ้องหน้ากันเฉย ๆ อยู่อย่างนั้น

แม้จะเจอกับอุปสรรคมากมายในชีวิตส่วนตัว แต่ในช่วงต้นปี 2007 พวกเขาก็สามารถขึ้นเพลงได้ถึง 7 แทร็กที่มีความยาวและหลากหลาย จากนั้นวงก็เข้าไปอัดเสียงกันในสตูดิโอที่เมือง Spicewood ซึ่งน่าสนใจตรงที่เป็นสตูดิโอที่เป็นของ Willie Nelson ตำนานเพลงคันทรี่ โดยได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ John Congleton ซึ่งเคยทำงานให้กับวงดังร่วมชาติอย่าง Explosions in the Sky

บทบาทของ Congleton มีความสำคัญอย่างมากต่อวง สมาชิกทุกคนมีภาพของเสียงในใจที่ชัดเจน และ Galindo ก็เล่าว่าเขาช่วยให้เราสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมาได้อย่างดีมาก พร้อมเสริมอีกว่า การมี Congleton อยู่ด้วยช่วยให้วงขัดเกลาโทนเสียงของทั้งอัลบั้มได้อย่างแท้จริง ด้วยฝีมือของ Congleton ที่ควบคุมภาพรวมของอัลบั้ม จนออกมาด้วยคุณภาพเสียงที่เนียนกริบและเต็มไปด้วยรายละเอียดเสียงที่หลากหลาย ถ่ายทอดทั้งความละมุนและความดุดันแบบเดือดาล ซึ่งเป็นลายเซ็นทางดนตรีของ This Will Destroy You ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ตลอดกระบวนการอัดเสียง วงได้ทดลองเทคนิคและเลือกใช้เครื่องดนตรีใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตในซาวด์ของพวกเขา ถึงแม้แกนหลักของวงยังคงเป็นวง post-rock แบบดั้งเดิม (กีตาร์สองตัว เบส กลอง) แต่พวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะเพิ่มองค์ประกอบใหม่ ๆ เพื่อสร้างดนตรีที่ลึกซึ้งขึ้น

พวกเขาใส่จังหวะอิเล็กทรอนิกเบาๆ และเสียงโดรนแอมเบียนต์เข้าไปในบางเพลง โดยได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากความเป็น glitch ของ 65daysofstatic ซึ่งเคยร่วมทัวร์ด้วย โดยเฉพาะเสียงคลิกและบี๊บในเพลง A Three-Legged Workhorse และ They Move On Tracks Of Never-Ending Light ซึ่งลงตัวกับเสียงกีตาร์ได้อย่างดี นอกจากนี้ วงยังได้เชิญนักเชลโล่ Stephanie McVeigh มาช่วยบรรเลงเครื่องสายในบางเพลงเพื่อเพิ่มมิติและความลึกของเมโลดี้ด้วย

การเลือกใช้เทคนิคเหล่านี้สะท้อนถึงความตั้งใจของวงที่อยากจะก้าวออกจากขอบเขตของ post-rock แบบเดิม ๆ และสำรวจเนื้อเสียงที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น Galindo พูดถึงแนวคิดในช่วงนั้นว่า วงพยายามกันอย่างหนักที่จะสร้างเสียงและสำรวจพื้นที่ทางดนตรีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายของวงมาตลอด แต่วงเองก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของแนว post-rock เอาไว้ นั่นคือไดนามิกแบบ quiet-loud พวกเขาต้องการให้เสียงที่ค่อย ๆ พุ่งขึ้นมานั้นปลดปล่อยพลังให้มากที่สุด และส่วนที่นุ่มนวลก็อ่อนโยนที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

สมดุลระหว่างการทดลองทางดนตรีกับโครงสร้างแบบคลาสสิกนี้เอง ที่กลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของซาวด์ในอัลบั้มนี้

แต่การทำงานในอัลบั้ม This Will Destroy You ก็ไม่ได้ราบรื่นทั้งหมด กลางปี 2007 ขณะที่การอัดเสียงยังคงยืดเยื้อ วงต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเมื่อฟรอนต์แมน Galindo ล้มป่วยอย่างรุนแรงหลังการแสดงสด เขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคโครห์นเกี่ยวกับการอักเสบของลำไส้ ซึ่งทำให้เขาต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน และวงก็ต้องพักกิจกรรมไปถึง 3 เดือนแบบกะทันหัน เหตุการณ์นี้รวมกับปัญหาทางการเงิน ทำให้อนาคตของวงในตอนนั้นดูไม่แน่นอนเท่าไหร่ แต่หลังจากที่ Galindo ฟื้นตัว วงก็ตัดสินใจรวมตัวกันอีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำอัลบั้มนี้ให้เสร็จให้ได้

ในที่สุด เดือนมกราคม 2008 อัลบั้ม Self-Titled ของพวกเขาก็เสร็จสมบูรณ์และถูกปล่อยผ่านค่าย Magic Bullet Records ท่ามกลางการรอคอยจากแฟนเพลง Donovan Jones (มือเบสที่เข้ามาแทน Raymond Brown หลังอัลบั้มนี้) ย้อนกลับไปพูดถึงอัลบั้มนี้ว่า ตอนนั้นวงยังมีวิธีการแต่งเพลงที่เรียบง่ายและเน้นกีตาร์เป็นหลัก แม้อัลบั้มนี้จะมีองค์ประกอบแบบแอมเบียนมากขึ้น พร้อมวิธีพัฒนาเพลงที่หลากหลายกว่า แต่สุดท้ายแล้ว คุณก็ยังได้ยินเสียงกีตาร์ที่ทรงพลังอย่างชัดเจนอยู่ดี

อัลบั้ม This Will Destroy You ถือเป็นผลงานที่ยกระดับสูตรสำเร็จของ post-rock ขึ้นมาได้อย่างทรงพลัง กับการนำโครงสร้างดนตรีที่พาคนฟังไต่ระดับสู่จุดพีคอันเป็นเอกลักษณ์ของวงรุ่นพี่มาใช้ พร้อมเติมเต็มด้วยบรรยากาศอันหนักหน่วงและมิติที่เบาหวิวอ่อนโยน และถูกนำเสนอในฐานะอัลบั้มที่นำเสนอ post-rock ของยุคใหม่ได้อย่างชัดเจน

วิสัยทัศน์และความตั้งใจของวงนั้น ชัดเจนมาก ๆ ในแทร็ก They Move on Tracks of Never-Ending Light ที่อยู่ท้าย ๆ อัลบั้มที่พาเรากลับลงมาอย่างนุ่มนวลงดงาม ไม่แพ้ช่วงที่เข้มข้นที่สุดของอัลบั้มเลย แทร็ก 7 นาทีนี้เป็นเหมือนการสำรวจความหวังอันเลือนราง ตามชื่อเพลงที่สื่อถึงการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดนั้งเพื่อเดินทางไปสู่แสงสว่างที่ปลายทาง

เสียงกีตาร์ที่เคลือบรีเวิร์บโปรยปรายไปตามคอร์ดช้า ๆ ปล่อยให้โน้ตแต่ละตัวค่อย ๆ จางหายไปในความเงียบ ราวกับกำลังย้ำลงไปตามทุ่งหญ้าในยามเช้า สองนาทีแรกที่เพลงยังคงนุ่มนวล ก่อนจะค่อย ๆ ผลิบานอย่างช้าๆ กีตาร์อีกตัวเข้ามาแทรกด้วยเมโลดี้ที่ประสานกันอย่างลงตัว ก่อนจะสัมผัสได้ถึงบีตอิเล็กทรอนิกเบาๆ ที่แฝงอยู่ข้างหลัง บางเบาจนแทบต้องใช้ความรู้สึกมากกว่าที่จะได้ยิน นี่คือหนึ่งในลูกเล่นอิเล็กทรอนิกที่วงแทรกเข้าไปอย่างแนบเนียบ

เมื่อเข้าใกล้นาทีที่สาม จังหวะกลองเริ่มเข้ามาเติม ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไปเหมือนพระอาทิตย์ที่กำลังไต่ขอบฟ้า เสียงกีตาร์ดีเลย์ที่ซ้อนทับกันอย่างประณีตจนกลายเป็นเหมือนวงออร์เคสตรา บรรจุอารมณ์ที่เต็มเปี่ยมโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง เต็มไปด้วยเนื้อเสียงที่ซับซ้อน บ่งบอกถึงฝีมือของวงที่ให้ความสำคัญกับเลเยอร์เสียง แทนที่จะพึ่งพาความดังหรือความดุดันเพียงอย่างเดียว

นักวิจารณ์หลายคนเห็นตรงกันว่า They Move on Tracks of Never-Ending Light คือหนึ่งในเพลงที่ช่วยให้ This Will Destroy You โดดเด่นขึ้นมาจากวง post-rock ร่วมยุค การเลือกใช้บีตอิเล็กทรอนิกและการให้ความสำคัญกับเท็กเจอร์ของเสียง มากกว่าการยึดกับเครื่องดนตรีร็อกแบบเดิม ๆ เพลงนี้อาจยังใช้สูตรสำเร็จของ post-rock อย่างการไล่ระดับเสียง แต่สิ่งที่ทำให้มันพิเศษคือการผสานเสียงแอมเบียนเข้าไปในแบบที่มีเอกลักษณ์ทางอารมณ์อย่างชัดเจน

ในแง่อารมณ์ เพลงนี้คือแสงอาทิตย์ยามเช้าหลังฝนฟ้าคะนอง เป็นข้อความก่อนบทสรุปของอัลบั้มที่กำลังจะบอกเราว่า ยังมีแสงสว่างรออยู่ข้างหน้า และคำว่า “never-ending light” ที่อยู่ในชื่อเพลง ก็ห่อหุ้มคนฟังไว้ในอ้อมกอดของแสงแดดอ่อน ๆ ที่ค่อย ๆ fade out ไปอย่างอ่อนโยน เหมือนว่ายังคงส่องต่อไปหลังจากจบเพลงแล้ว

อัลบั้ม Self-Titled อัลบั้มนี้ของ This Will Destroy You ได้กลายเป็นหนึ่งในผลงานระดับตำนานของแนว post-rock และมักถูกหยิบยกมาพูดถึงในฐานะหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของแนวดนตรีนี้ ด้วยเหตุผลที่มีแค่คนที่ฟังเท่านั้นจะเข้าใจ ถึงวิสัยทัศน์ทางศิลปะเข้ากับโปรดักชั่นที่ประณีตจนกลายเป็นประสบการณ์ที่หาจากอัลบั้มไหนไม่ได้

ด้วยอิทธิพลของอัลบั้มนี้ที่มีต่อเส้นทางดนตรีของวงเองถือว่าพลิกชีวิตไปเลยก็ไม่เกินจริง มันพาพวกเขาไปสู่เวทีที่ใหญ่ขึ้น และถูกนำไปประกอบในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง ขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นหมุดหมายที่ท้าทายให้พวกเขาต้องพัฒนาตัวเองและรีเซ็ตความเป็นวงดนตรีอีกหลายครั้งหลังจากนั้น

สำหรับวงการ post-rock อัลบั้มนี้ยังคงตอกย้ำให้เห็นถึงพลังของการเล่าเรื่องผ่านดนตรีล้วน ๆ โดยไม่ต้องใช้เนื้อร้อง ในช่วงเวลาที่ใครหลายคนเริ่มคิดว่าสไตล์นี้คงหมดไอเดียแล้ว มันพิสูจน์ว่าเสียงเพลงยังสามารถสื่อสารได้ลึกซึ้งและจริงใจไม่แพ้ถ้อยคำ ผลงานชุดนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนภาพรวมของวงการ post-rock ในช่วงปลายยุค 2000 แต่มันยังยกระดับแนวดนตรีนี้ขึ้นไปจนกลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มคลาสสิกตลอดกาล เคียงข้างงานของ Explosions in the Sky, Godspeed You! Black Emperor, Mono, และ Sigur Rós

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเวลามีคนพูดถึงอัลบั้ม post-rock ที่ดีที่สุดตลอดกาล ชื่อของ This Will Destroy You จึงมักโผล่มาเสมอ ในโลกของดนตรีร็อกสายเจ อัลบั้มนี้ยังคงยืนหยัดอย่างสง่างาม ไม่ใช่เพื่อ “ทำลาย” เราตามชื่อ แต่เพื่อย้ำเตือนเราว่าทำไมเราถึงรักดนตรีที่ไม่ต้องมีเนื้อร้อง แต่ยังสามารถสื่อสารกับคนฟังไปถึงหัวใจได้เหมือนกัน

ล่าสุด This Will Destroy You กำลังจะมาไทยด้วย Asia Tour ของพวกเขาพร้อมพาอัลบั้ม Self-Titled ที่เราพูดถึงมาโชว์แบบเต็ม ๆ ให้ทุกคนได้ลองซึมซับความนุ่มนวลนี้ด้วยตัวเอง โดยผู้จัดที่น่ารักคนดีคนเดิมของพวกเรา Seen Scene Space มาเจอกันให้ได้ 19 เมษายนนี้ ซื้อบัตรได้เลยที่ Ticketmelon

This Will Destroy You Self-Titled 2008 Seen Scene Space Live in Bangkok
+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy