Ulay Oh คือบทเพลงจาก How I Became the Bomb วงดนตรีอิเล็กโทรป๊อปสัญชาติอเมริกันที่แต่งขึ้นจากการกลับมาพบหน้าอีกครั้งของ มารินา อบราโมวิช แม่ใหญ่แห่งวงการศิลปะการแสดงสดและอดีตคนรัก อูไลย์ เพลงนี้ยังกลายเป็นหนึ่งในซิงเกิ้ลที่ฮิตมากที่สุดของวง จากลักษณะเนื้อหาที่ถ่ายทอดได้อย่างสะเทือนถึงใจ
ทางนักร้องนำอย่าง Jon Burr เล่าว่า เมื่อเขาได้รับชมวิดิโอของทั้งคู่ที่บรรยากาศในห้องส่งให้ความเงียบเหล่านั้นเต็มไปด้วยอารมณ์เอ่อล้นที่เขาเองก็ไม่เคยรู้สึกมาก่อน และภายในสองสัปดาห์ถัดมา พวกเขาก็ได้ปล่อยเพลงนี้พร้อม EP Adonis นับเป็นผลงานใหม่ในรอบหลายปีของ How I Became the Bomb หลังฝากอัลบั้ม Deadly Art ไว้เมื่อปี 2009 องค์ประกอบดนตรีเรียบง่ายที่แฝงเสียงร้องราวหยุดหายใจ ถูกแต่งแต้มผ่านซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ที่จับกับจังหวะเนิบช้าอย่างทรงพลัง หากได้ฟังแล้วน้ำตาคลอแน่นอน
มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) เป็นศิลปินหญิงสายเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตชาวเซอร์เบียน ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มารินาเป็นที่รู้จักจากศิลปะการแสดงสดที่มักเกี่ยวข้องกับการทดสอบขีดจำกัดทางร่างกายและจิตใจ ประเด็นทางเพศ ความรุนแรง โดยเฉพาะการตั้งคำถามถึงระบอบเผด็จการ ความขัดแย้งของสงครามระหว่างประเทศ อันนำมาซึ่งความแร้นแค้นและความตาย หลากหลายผลงานอันเหนื่อยยากและเสี่ยงชีวิตของเธอยังทำให้เราได้ตระหนักถึงการมีตัวตนอยู่จริง
อูไลย์ (Ulay) หรือ แฟรงค์ อูเวย์ ไลซีเพน (Frank Uwe Laysiepen) ยังเป็นศิลปินช่างภาพชาวเยอรมันผู้เบื่อหน่ายขนบธรรมเนียมเดิม แถมเป็นอีกหนึ่งศิลปินสายเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยมาตั้งแต่ยุค 1970s ทั้งคู่พบกันครั้งแรกเมื่อปี 1976 ภายหลังการเดินทางไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนหนึ่งปีถัดมา เธอจะย้ายออกจากบ้านเพื่อไปอาศัยอยู่ในรถแวน ตระเวนท่องโลกกว้าง ใช้ชีวิตและทำงานด้วยกันในฐานะศิลปินคู่ ที่พวกเขาฝากผลงานร่วมไว้ทั้งหมด 14 ชิ้น
ไม่ว่าจะเป็น Imponderabilia, Breathing In / Breathing Out ไปจนถึง Relation in Time (1977) ที่พวกเขาได้ผูกเปียมัดไว้ด้วยกันเป็นเวลา 16 ชั่วโมง โดยต้องการสื่อถึงความสัมพันธ์อันเป็นพิษ หากคนรักทั้งสองต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา จนต่างคนต่างไม่มีระยะห่างหรือพื้นที่ของตัวเอง ท้ายที่สุดก็อาจกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ทำร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในไม่ช้า เช่นเดียวกับผลงานขึ้นชื่ออย่าง Rest Energy (1980) ที่ใครหลายคนอาจเคยเห็นผ่านตาบนโลกอินเทอร์เน็ต ในขณะที่เขากำลังเหนี่ยวลูกธนู มือของเธอก็รั้งคันธนูไว้ ก่อนทั้งคู่จะค่อย ๆ ทิ้งน้ำหนักตัวออกอย่างช้า ๆ หากเขาเผลอปล่อยลูกธนูเมื่อไหร่ มันก็สามารถพุ่งเข้าเสียบหัวใจของเธอได้ในทันที
ทว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากความคิดทัศนคติที่ขัดแย้งกัน รวมถึงเรื่องราวของคู่รักที่แม้ไม่ได้เปิดเผยแก่สาธารณชนแต่เราก็สามารถรับรู้ได้ไม่ยาก พวกเขาจึงตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ลงในปี 1988 ด้วยผลงานศิลปะชิ้นสุดท้าย The Lovers: The Great Wall Walk ที่มารินาและอูไลย์เริ่มต้นเดินทางจากปลายกำแพงเมืองจีนเป็นระยะทาง 2,500 กิโลเมตร กว่าสามเดือนที่ทั้งคู่เดินเท้าเพื่อมาพบกันตรงกลาง มองหน้า โอบกอด กล่าวคำอำลา และแยกจากกันไปตามเส้นทางของตัวเอง
และเหตุการณ์การเลิกราในครั้งนั้นย่อมทำให้ชายหนุ่มและหญิงสาวหัวใจแตกสลาย หากน้ำตาที่ไหลรินออกมาได้วาดระบายลงบนชิ้นงานอันทรงคุณค่าที่ล้วนต้องใช้ความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณประกอบร่างขึ้น โดยทั้งสองคนได้สร้างสรรค์ผลงานในฐานะศิลปินเดี่ยวอย่างโดดเด่นมากมาย จนกระทั่งในปี 2010 พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้งในนิทรรศการชื่อ The Artist Is Present ของมารินา อบราโมวิช ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้ามานั่งชื่นชมใบหน้าและสบแววตาของเธอดังกระจกสะท้อน
โดยอูไลย์เข้ามาปรากฎตัวเป็นหนึ่งในผู้ชมนับพันคน เขาขยับเก้าอี้แล้วนั่งลงเพื่อจ้องมองเธออย่างเงียบ ๆ ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะลืมตาขึ้นมาพบเห็นใบหน้าของอดีตคนรัก ซึ่งมีเพียงความเงียบงัน แต่ความเงียบนั้นมักเสียงดังเสมอ กลายเป็นชั่วขณะหนึ่งที่สร้างความประทับใจแก่ผู้คนที่ได้พบเห็น และพลันสงสัยว่ามารินาจะแสดงท่าทีอย่างไร โดยโมเมนต์ซึ้ง ๆ ที่ซ่อนเร้นความขื่นขมนี้ ก็ได้มอบแรงบันดาลใจให้ นาธาน ฮาลเปิร์น (Nathan Halpern) สร้างผลงาน Marina Abramović: The Artist Is Present (Original Motion Picture Score) เฉกเช่นวงดนตรี How I Became the Bomb ที่แต่งเพลงนี้ขึ้นจากเรื่องราวของทั้งสอง
There they were like the picture
ที่นี่ที่ทั้งคู่ เป็นเหมือนดังรูปภาพ
There they were, they were just the same
ที่นี่ที่ทั้งคู่ ไม่เคยแปรเปลี่ยนไป
There they were, but he walked away and her eyes could only say “Ulay, Ulay Oh”
ที่นี่ที่ทั้งคู่เคยร่วมประสบ และเมื่อเขาเดินจากไป มีเพียงดวงตาของเธอที่ยังคงร้องเรียกชื่อเขา
แต่หลังจากนั้นไม่นาน อูไลย์ก็เข้าฟ้องร้องเธอ ซึ่งมารินาได้แย้งกลับในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานศิลปะที่ทั้งคู่เคยทำสัญญาไว้ ก่อนกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในภายหลัง (คาดว่าคงเหนื่อยความไม้เบื่อไม้เมา) และอูไลย์ก็จากไปแบบไม่มีวันย้อนกลับเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเธอได้โพสต์ข้อความส่วนตัวผ่านอินสตาแกรมของสถาบันมารินาอบราโมวิชไว้ว่า “เขาเป็นทั้งเพื่อน ศิลปิน และมนุษย์ผู้แสนพิเศษ ฉันจะคิดถึงเขาอย่างสุดซึ้ง และสิ่งที่จะช่วยปลอบประโลมในการสูญเสียครั้งนี้ได้คือ การรับรู้ว่าศิลปะและสิ่งที่เขาสร้างไว้จะคงอยู่ไปตลอดกาล”
คิดย้อนกลับไปถึงเรื่องราวความหลังครั้งสุดท้ายของพวกเขา บนผนังกำแพงเมืองจีนที่เธอและเขาได้หันหลังจากกันมา แน่นอนว่าบทเพลงนี้ก็ยังสื่อถึงความรู้สึกแห่งการคร่ำครวญได้แบบลึกซึ้งดังความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่เคยมีร่วมกันมา จวบจนร่างกายอันโรยราจะพรากจากกันไป
อ่านต่อ Ryuichi Sakamoto | Opus นมัสการสุดท้ายขอมอบให้ทุกคนที่ยังรักในเสียงดนตรี
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist