ช่วงนี้ศิลปินไทยเริ่มไปเปิดประสบการณ์เล่นดนตรีกันในต่างประเทศมากขึ้น และก่อนจะขึ้นเล่นทุกที่เขาก็มีช่วง soundcheck เพื่อตระเตรียมความเรียบร้อยเหมือนกันกับเรานั่นแหละ แต่ที่ไม่เหมือนกันคือซาวด์เอนจิเนียร์และเทคนิเชียนบ้านเขา เรียกศัพท์เทคนิกแต่ละอย่างไม่เหมือนกันเนี่ยสิ ศิลปินและทีมซาวด์ชาวไทยเกาหัวแกรกกันเลยทีนี้ เราเลยชวนเพื่อน ๆ ซาวด์เอนและศิลปินที่เคยไปร่วมสังเวียนเวทีนอกมาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเจอศัพท์แปลก ๆ อะไรกันบ้าง เผื่อในโอกาสอันใกล้ใครได้บินไปเล่นหรือไปทำซาวด์จะได้ไม่งง
Soundcheck
สำหรับคำว่าซาวด์เช็ก แทบทุกที่จะเรียกแบบนี้ แต่พี่ปูม ค่าย Parinam เล่าว่าที่ญี่ปุ่นเขาใช้เป็นคำว่า ‘ซ้อม’ หรือ ‘rehearsal’
Stand by/ Ready
เมื่อพร้อมเล่นแล้ว ไต้หวันเขาทำท่าวาดมือเป็นวงกลมเหมือนเวลาคนญี่ปุ่นทำท่าเพื่อบอกว่าโอเค ถูกต้อง ใช่ หรือตกลง
Midi/ MD/ Data
เข้าเรื่องเลยละกัน Folk9 ที่เพิ่งไปเล่นที่จีนมาหมาด ๆ ได้ให้ข้อมูลกับเราว่า ที่นี่เขาเรียก Midi หรือ MD หรือดาต้า หรือแบ็คกิ้งแทร็คว่า ‘โปรแกรม’ ที่ไต้หวันก็เรียกทั้ง ‘โปรแกรม’ และ ‘ฮาร์ดดิสก์’ ส่วนพีรดิษฐ์ ที่ดูให้ Soft Pine กับ Zweed N’ Roll เคยใช้ว่า ‘Dr PGM’ ในขณะที่ต้น ซาวด์เอนจิเนียร์ประจำ Yonlapa เล่าว่าอินเดียเขาจะเรียกว่า ‘คอมพิวเตอร์’ ส่วนจูเนียร์ อีกซาวด์เอนมือดีทั่วราชอาณาจักรบอกว่า ที่เวียดนามเขาเรียก ‘คอมพิวเตอร์’ เหมือนกัน สิงคโปร์เรียกทั้ง ‘เพลย์แบ็ก’ และ ‘ฮาร์ดดิสก์’ ส่วนญี่ปุ่น เรียก ‘เพลย์แบ็ก’ และใช้วิธีเอานิ้วชี้กับนิ้วโป้งประกบกันสองข้าง ให้ดูเป็นดิสก์ กรอบรูป หรือกล้องถ่ายรูป
Metronome
ตัวกำกับจังหวะหรือเทมโปที่ส่งเสียงก๊อกแก๊กในเวลาเท่า ๆ กันนี้ ที่อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เขาเรียก ‘click track’ กันเกือบหมด ส่วนที่ฝรั่งเศสเรียกกันตรงตัวว่า ‘เมโทรโนม’ หรือ ‘เทมโป’ หรือที่ญี่ปุ่นอาจจะทำท่าชูนิ้วชี้แล้วโบกเหมือนที่ปัดน้ำฝน แบบนี้
Kick
ไม่มีที่ไหนเขาเรียกว่า ‘คิก’ กันเหมือนที่ไทยอีกแล้ว ทุกประเทศจะเรียกว่า ‘bass drum’ ไม่ก็ kick in/out mic หรือ in/out ส่วนสัญลักษณ์มือจะทำท่ากำปั้นทุบฝ่ามือ
Receiver, Ear monitor
อเมริกามาแหวก เมอิ ที่ได้ไปร่วมงานกับทีมเฟสติวัลฮิปฮอป Rolling Loud ได้ศัพท์จากทีมงานมาว่าเขาเรียก ‘belt’ กับ ‘pack’
สำหรับที่ญี่ปุ่นเขาศัพท์เฉพาะตัวเยอะนิดนึง กีตาร์โปร่งหรืออะคูสติกกีตาร์ ที่ญี่ปุ่นจะเรียก หรือเขียนว่า AG, ACC สำหรับ Scene (ซีน) กรณีเตรียมไฟล์สำหรับมิกเซอร์รุ่นนั้น ๆ ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ‘show files’ และ FOH (front of house) Engineer ญี่ปุ่นเขาเรียก PA guy
นี่แค่ส่วนหนึ่งที่เรารวบรวมมาได้จากศิลปินและซาวด์เอนจิเนียร์เพื่อน ๆ ของเรา ถ้าใครเคยได้ยินศัพท์แปลก ๆ อีกมาแชร์กันกับเราได้นะ
อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ