ถ้าทุกคนมีโอกาสได้รู้ว่า ตัวคุณเองยังมีชีวืตอีกหลากหลายรูปแบบอยู่ในมิติคู่ขนาน ทั้งจากสิ่งที่คุณตัดสินใจทำและตัดสินใจที่จะไม่ทำ นำคุณไปสู่รูปแบบชีวิตที่เรานึกไม่ถึง กลับมาสู่คำถามว่าชีวิตเราจะมีความสุขมากกว่าชีวิตน่าเบื่อที่เราอยู่ตอนนี้มั้ย ถ้าเราตัดสินใจทำในสิ่งที่อยากทำหรือไม่อยากทำ ครอบครัวหรือคนที่เรารักจะยังอยู่กับเราเหมือนเดิมมั้ย
นี่คือคอนเซปต์ง่าย ๆ ของ ‘Everything Everywhere All At Once’ หนังฟอร์มเล็กแต่ใจใหญ่เกินตัวจากค่าย A24 โดยผู้กำกับรุ่นใหม่ Daniel Kwan และ Daniel Scheinert ที่เข้าชิงออสการ์ปีนี้กว่า 11 สาขา และสร้างประวัติศาสตร์ใหม่บนเวทีแห่งนี้ด้วยการคว้ารางวัลไปถึง 7 สาขา แถมเป็นรางวัลใหญ่ ๆ ตั้งแต่ผู้กำกับยอดเยี่ยม ตัดต่อยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ไปจนถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานด้วย
น่าเสียดายที่หนังได้เข้าชิงสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย แต่รางวัลกลับตกเป็นของหนังเรื่อง ‘All Quiet on the Western Front’ ทาง The COSMOS ก็ขอแสดงความยินดีกับคนเบื้องหลังทั้งหมดด้วย แต่เราจั่วหัวมาขนาดนี้ แน่นอนว่าเราจะขอมาอวยหน่อย ว่าทำไม ‘Everything Everywhere All At Once’ ควรค่ากับรางวัลนี้ด้วยเหมือนกัน
กว่า 5 ทศวรรษที่ไม่มีวงดนตรีเข้าชิงสาขา ‘Best Original Score’ แต่ Son Lux ทรีโอ้สายทดลอง ซึ่งประกอบด้วยนักประพันธ์ดนตรี Ryan Lott มือกลอง Ian Chang และมือกีตาร์ Rafiq Bhatia พวกเขาคือตัวเลือกแรกของผู้กำกับในการชวนมาทำเพลงประกอบให้หนังเรื่องนี้ เพราะเขาไม่อยากให้หนังมันมีความเป็น “ฮอลลีวูด” ขนาดนั้น ซึ่ง Lott เองก็มีประสบการณ์ในการทำเพลงประกอบภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง แต่การทำงานกับหนังเรื่องนี้มันแตกต่างจากเรื่องอื่นมาก ๆ
Lott เล่าถึงการเจอกันครั้งแรกกับผู้กำกับกับ NPR ว่า เขาจำได้ว่ามันยุ่งเยิงมาก พวกเขาเล่าเรื่องย่อให้ฟังแต่พวกเราก็ยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งพวกเขาส่งสคริปมาให้อ่าน ซึ่งเขาอาจจะโง่เองก็ได้ถึงอ่านสคริปหนังไม่รู้เรื่องเลย แต่เพื่อนร่วมวงของเขาอย่าง Bhatia กลับหัวเราะไม่หยุดทุกหน้า อ่านมันรวดเดียวจบแบบวางไม่ลง
ความคิดแว้บแรกของเขาหลังอ่านจนถึงหน้าสุดท้ายคือ หนังเรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ถึงไอเดียมันจะเจ๋งมากแต่ไม่มีใครอยากดูหรอก จนกระทั่งผู้กำกับโทรหาพวกเขาว่าหนังได้ Michelle Yeoh มาแสดงนำ วงจึงตกใจมากว่า เชี่ย พวกเขาจะทำหนังเรื่องนี้กันจริง ๆ ว่ะ!
Lott บอกว่าทั้งสอง Denial ให้อิสระในการทำดนตรีประกอบหนังเต็มที่ ไม่มีขอบเขตใด ๆ โดยเขาโยนโจทย์ไว้กับวงว่า พวกเขาไม่ได้มองว่า Son Lux เป็นวงดนตรี แต่ยังมองถึงความเป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกทั้ง 3 คนอีกด้วย โดยผู้กำกับมองว่าสมาชิกทั้งสามก็คือโลกสามใบที่แตกต่างกัน จึงอยากให้ทุกคนดึงความสร้างสรรค์ในแบบของตัวเองออกมาให้หมด
ซึ่งหนังเรื่องก่อนอย่าง ‘The Disappearance of Eleanor Rigby’ พวกเขาจะเข้าห้องอัดแบบวง 3 ชิ้น แต่สำหรับ ‘Everything Everywhere All At Once’ แล้ว พวกเขาเป็นมากกว่าแค่วงดนตรี โดยไม่ต้องยึดติดตัวเองอยู่กับเครื่องดนตรีใด ๆ เลยในการทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ โดยมีไอเดียเดียวคือคนดูต้องสัมผัสได้โดยที่ไม่ต้องมองแล้วรู้ได้เลยว่า แต่ละโลกคู่ขนานนั้นให้โทนเสียงและบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วงบอกว่าเหมือนทำเพลงประกอบหนังให้กับหนังห้าแนวไว้ในหนังเรื่องเดียว
Son Lux ต้องออกแบบซาวด์มากกว่ากว่าร้อยแบบ ทั้งเมโลดี้สวยงาม ดนตรีพื้นเมืองที่ไม่มีอยู่จริง จังหวะสเกลเพี้ยน ๆ ไปจนถึงซาวด์อวกาศหนวกหู ๆ หรือหยิบเสียงเหล่านี้มาย้อนกลับกระบวนการทั้งหมดอีกที เพื่อรองรับโลกคู่ขนานที่แตกต่างทั้งหมดในหนัง พวกเขาจึงเลือกใช้เครื่องดนตรีแปลก ๆ ทั้ง ฆ้อง กลองจีน ขลุ่ยพื้นเมืองชาวมายัน หรือการหยิบเครื่องดนตรีต่าง ๆ มาปรับใช้ทดลองเพื่อหาซาวด์ประหลาด ๆ ที่ใช้อธิบายมิติอันมืดมนในหนังได้
บางเพลงก็ให้ทั้งสอง Daniel มาจอยด้วย เช่น ดนตรีในจักรวาลมือฮอทดอกกับจักรวาลลิง จะมีเสียงทรัมเป็ตของ Daniel Kwan อยู่ในนั้นด้วย แต่วงบอกว่าเขาเล่นได้โคตรห่วย แต่มันกลับสร้างมิติที่ไม่เหมือนใครขึ้นมาได้ ทำให้ความเจ๋งของแทร็ก ‘Evelyn Everywhere All at Once’ ซีนที่เอเวอลีนเชื่อมต่อกันทุกจักรวาล ซึ่งเล่นกับการตัดสลับไว ๆ ทำให้เห็นความต่างของแต่ละจักรวาลได้ชัดเจนขึ้น
และความยากที่สุดในการทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ คือทำดนตรีในซีนต่อสู้ด้วยการคารวะหนังกังฟูโดยไม่ใช้เครื่องดนตรีจีนเลย ทุกคนในวงการยกย่องให้ดนตรีประกอบหนังใน ‘The Matrix’ ภาคแรกมาก ๆ ว่าคือมาสเตอร์พีชของจริง Lott และเพื่อน ๆ ในทีมก็ใช้ไอเดียนี้ในการค้นหาซาวด์แบบหนังไซไฟในแบบของตัวเอง ซึ่งในเพลง Plug Fight (ซีนที่ใช้ butt plug ที่น่าจดจำนั่นแหละ) ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘The Matrix’ เลย
ทั้ง 49 เพลงนี้ ยังมีแขกรับเชิญพิเศษมาแจมมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะ 2 เพลงหลักที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อโปรหนังอย่างเพลง This is a Life โดยได้ Mitski และ David Byrne นักประพันธ์ระดับแกรมมี่อวอร์ดจนเพลงนี้ได้เข้าชิงราวัล Best Original Score เลยทีเดียว โดย Byrne เป็นคนเขียนดนตรีทั้งหมดขึ้นมาให้เลยเพื่อถ่ายทอดความนุ่มนวลและเบาหวิวของชีวิต จึงถูกหยิบมาใช้ในตอนจบของหนัง
และเพลง Fence ยังได้เสียงสวรรค์ประทานอย่าง Moses Sumney มาขับกล่อม เพราะ Chang เป็นมือกลองให้กับเขา ซึ่งทั้งสองเพลงก็สร้างกระแสให้กับหนังได้ประมาณหนึ่งเลย
เราเชื่อว่าทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ส่วนใหญ่น่าจะเคยดูหนังกันมาแล้ว แต่ช่วงนี้ ‘Everything Everywhere All At Once’ ก็กลับมาเข้าโรงอีกครั้งเพื่อฉลองรางวัลออสการ์ ถ้าได้ดูอีกรอบ ดนตรีในหนังก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่อยากให้ทุกคนสังเกตเก็บเกี่ยวอีกครั้ง ถึงจะไม่ได้รางวัล แต่อัลบั้มนี้จะเป็นหนึ่งในสกอร์หนังที่เราอยากหยิบมาฟังบ่อย ๆ ละกัน
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา