“Art is long, life is short.” จดหมายเปิดผนึกถึงคนที่ยังไม่ได้รู้จักหรือฟังเพลงของ Ryuichi Sakamoto

by McKee
418 views
ryuichi sakamoto tribute article

ครั้งแรกที่เห็นแถลงอย่างเป็นทางการออกมาเรื่องการจากไปของ Ryuichi Sakamoto มันเรียบง่ายมาก ๆ เหมือนดนตรีของเขา โดยบอกแค่ว่าลุง Sakamoto เสียชีวิตในวันที่ 28 มีนาคมด้วยวัย 71 ปี โดยที่อุทิศชีวิตให้กับดนตรีจนถึงวาระสุดท้าย และงานศพจะเป็นงานแค่คนในครอบครัวเท่านั้น

แม้ปากจะบอกว่าไม่เชื่อยังไงแต่ใจคือรู้อยู่เต็มอก แค่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ หลังจากสำนักข่าวเริ่มทยอยแชร์ข่าวออกมา เราได้เห็นเพื่อนรอบตัว คนในวงการดนตรีหรือนักฟังเพลงแปลกหน้าล้วนพูดถึงการจากไปของเขาเต็มโซเชียล

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกชื่นใจมาก ๆ เพราะเพลงที่ทุกคนชอบและโพสต์เพื่อไว้อาลัยปูชนียบุคคลนี้ ล้วนมาจากหลากหลายอัลบั้ม หลากหลายแนวดนตรี ทำให้เห็นว่า Sakamoto ทิ้งผลงานระดับโลกไว้ให้กับทุกคนในแบบที่ทุกคนจะเข้าถึงได้จริง ๆ เขาคือโปรดิวเซอร์แถวหน้า ที่ทำให้เพลงอิเล็กทรอนิกกลายเป็นที่นิยมและขึ้นไปอยู่บนชาร์ตระดับโลกรวมกับเพลงป๊อปได้

ให้บทความนี้เป็นเหมือนจดหมายเปิดผนึกให้ผมได้รำลึกถึงความสำคัญของการมีเขาบนโลกอีกซักครั้ง เผื่อคนที่ยังไม่รู้จักหรือยังไม่เคยฟังเพลงของเขา จะได้ลองเปิดใจรับเสียงดนตรีของเขาเข้าไปในชีวิตดู

นอกจากเขาจะเป็นไอคอนของแนวดนตรีซินธ์ป๊อปในฐานะสมาชิกวง Yellow Magic Orchestra วงดนตรีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อซีนดนตรีญี่ปุ่น เขายังมีชื่อเสียงในฐานะนักประพันธ์ผู้แต่งทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์และหยิบความเงียบสงบของบรรยากาศอันนุ่มนวลมาถ่ายทอดเป็นเพลง แล้วยังได้ร่วมงานกับศิลปินระดับตำนานอย่าง David Bowie, Iggy Pop

ในฐานะศิลปินเดี่ยว เขาถูกยกย่องให้เป็นบรรพบุรุษของดนตรีอิเล็กทรอนิกป๊อป ซึ่งมีอิทธิพลต่อสไตล์ฮิปฮอปและเทคโนยุคแรก

Sakamoto เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2495 เริ่มเรียนเปียโนเมื่ออายุได้ 6 ขวบ และต่อมาก็เริ่มเขียนเพลงของตัวเอง เมื่อเป็นวัยรุ่น เขาเริ่มหลงใหลในผลงานของ Claude Debussy นักประพันธ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความงดงามทางดนตรีฝั่งเอเชียรวมถึงของญี่ปุ่นด้วย

Sakamoto เคยเล่าไว้ในสัมภาษณ์ช่วงปี 90’ ว่า ดนตรีของเขามีความเป็นตะวันตกมาก ๆ มันมีทั้งจังหวะ มีเมโลดี้ มีทั้งความกลมกล่อมบางอย่างที่มาจากตะวันตก แต่มันมีอะไรบางอย่างในตัวของเขาที่ให้ความรู้สึกของเสียงแบบเอเชียอยู่ประมาณ 25%-30% เหมือนกัน

ชีวิตในมหาลัยของ Sakamoto เข้ามหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาเรื่องการแต่งเพลงเป็นหลัก ก็ทำให้ชีวิตเขาเดินอยู่บนเสียงทางของเสียงดนตรีในหลากหลายบทบาท นอกจากจะศึกษางานทดลองจัด ๆ อันน่าปวดหัวของดนตรีอิเล็กทรอนิกฝั่งยุโรปของ Karlheinz Stockhausen, Gyorgy Ligeti, Iannis Xenakis และ Pierre Boulez เขาก็ยังเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของโอกินาวากับฟรีสไตล์แจ๊ส รวมถึงเปิดท้ายขายแผ่นเสียงของ Kraftwerk ไปด้วย

ไม่นานก็ได้เจอกับ Haruomi Hosono และ Yukihiro Takahashi จึงตั้งวง Yellow Magic Orchestra หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า YMO นั่นเอง ซึ่งพวกเขาได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการส่งคลื่นวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นแต่กระจายไปทั่วโลก ด้วยการใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกอย่างสนุกสนาน โดดเด่นและซับซ้อน โดยใช้เพลง Computer Games ในการเล่นเปิดรายการทีวีอเมริกาชื่อดังในยุคนั้น ดีเจชื่อดังหยิบเพลงของพวกเขาไปใส่ในเพลงฮิปฮอป หรือปี 1993 กลุ่มศิลปินแนว ambient house และ techno ยกย่อง YMO ด้วยการทำอัลบั้ม Hi-Tech/No Crime ซึ่งหยิบเพลงของ YMO มารีมิกซ์โดยโปรดิวเซอร์ชื่อดังมากมาย

Sakamoto ยังทำเพลงแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกเชิงทดลองของตัวเองอีกทั้งอัลบั้ม Thousand Knives และ B-2 Unit ที่มีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นกับซินธ์มินิมอล โดยเพลง Riot in Lagos ในอัลบั้มหลังถูกกล่าวขานว่ามีอิทธิพลต่อแนวเพลงอิเล็กทรอนิกและซีนฮิปฮอปในยุคนั้นอย่างมาก ถึงขนาดถูกศิลปินฮิปฮอปชื่อดังหยิบไปทำแซมเปิ้ล หรือเพลง Energy Flow ของเขายังเคยขึ้นอันดับ 1 ของ Oricon ซึ่งเป็นชาร์ตเพลงของญี่ปุ่น โดยได้รับการบันทึกว่าเป็นเพลงบรรเลงเพลงแรกที่ได้ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งในประวัติศาสต์ของชาร์ตอันนี้ด้วย

แต่ Sakamoto ก็ไม่จำกัดตัวเองอยู่กับอะไรเดิม ๆ เขาเริ่มทำโปรเจกต์ใหม่ ๆ ผ่านแนวเพลงที่แตกต่างตั้งแต่คลาสสิกไปจนถึงเวิร์ลมิวสิก ทั้งดนตรีญี่ปุ่นที่เรียกว่า Okinawan รวมไปถึงดนตรีพื้นเมืองของอินเดียและแอฟริกา เขายังเคยแต่งเพลงให้กับพิธีเปิดโอลิมปิกบาร์เซโลนาในปี 1992 อีกด้วย

อัลบั้มเดี่ยวที่น่าสนใจของเขายังมีอีกมากมายทั้งอัลบั้ม Playing the Piano ที่นำผลงานเก่า ๆ มาทำเป็นอะคูสติกเปียโนตัวเดียว เขาสามารถนำเพลงที่มีความซับซ้อนทั้งด้านมิติและเคลื่อนดนตรีมาย่อยให้เหลือเปียโนเรียบ ๆ ได้งดงามมาก ขุดลงไปในอารมณ์ของเพลงต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น และอัลบั้ม async กลับมาพร้อมเสียงอิเล็กทรอนิกอันลึกลับยากเกินกว่าจะจินตนาการแต่ยังมีความละเมียดละไมอยู่นั้นเสมอ แถมยังเปิดโอกาสให้ศิลปินแถวหน้าจากทั่วโลกมาตีความเพลงในอัลบั้มนี้ใหม่ในสไตล์ของตัวเองผ่านอัลบั้ม async: Remodels ที่ทั้ง FenneszArca และ Cornelius มาร่วมกันสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ด้วย

ในปี 1983 เขาได้แสดงหนังร่วมกับ David Bowie ใน Merry Christmas, Mr. Lawrence ซึ่งครั้งแรกที่เขาได้อ่านบทและพบกับผู้กำกับ เขาขอเป็นคนเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ทันที ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยาวนานและโดดเด่นของ Sakamoto ในฐานะนักประพันธ์

หลังจากนั้นก็ได้ฝากผลงานไว้ในหนังมากมายทั้ง The Last Emperor ที่ทำให้เขาได้ทั้งออสการ์ ลูกโลกทองคำและแกรมมี่อวอร์ด รวมถึงเรื่อง The Sheltering ที่ทำให้เขาได้ลูกโลกทองคำอีกครั้ง และ The Revenant ที่พระเอกตลอดกาลอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ต้องสู้กับหมี

นอกจากเป็นศิลปินระดับโลกแล้ว เขายังมีชีวิตอีกมุมหนึ่งในการเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ออกมาต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์และก่อตั้งกลุ่ม Stop Rokkasho ขึ้นมาเพิ่งแสดงจุดยืนให้รัฐปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฮามาโอกะหลังจากโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในฟุคุชิมะ และได้จัดคอนเสิร์ต No Nuke 2012 ขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความอันตรายของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีศิลปินมากมายทั้งการรวมตัวกันอีกครั้งของ Yellow Magic Orchestra และวงเยอรมันสุดล้ำอย่าง Kraftwerk เขามีแนวคิดว่าเสียงเพลงจะนำมาซึ่งความสงบสุขได้

เขายังได้รวมตัวกับ Avex Group ค่ายเพลงอินดี้ชื่อดังในญี่ปุ่นตั้งกลุ่ม Commmons ขึ้นมา โดยเขายืนยันว่านี่ไม่ใช่ค่ายเพลงแต่เป็นกลุ่มคนที่ส่งต่อแรงบันดาลทางเสียงดนตรีให้แก่กัน หรือให้ศิลปินได้มาร่วมงานกันอย่างเท่าเทียม ขับเคลื่อนวงการเพลงญี่ปุ่นให้พัฒนาต่อไปด้วยกัน โดยตัว m ตัวที่สามที่อยู่ตรงกลางในชื่อกลุ่มก็มาจากคำว่า music นั่นเอง

ไม่มีวันสายเกินไปที่จะได้ชอบเพลงของเขา ใน Netflix ตอนนี้มีสารคดีชื่อ Ryuichi Sakamoto: CODA ซึ่งจัดจำหน่ายโดย Documentary Club ที่ใช้เวลาถ่ายทำถึง 5 ปี รวมถึงปีที่เขาต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างแสนสาหัส แต่ตัวเขาเองก็ไม่หยุดทำงานเพลงเลย หนังจะพาเราไปซึมซับอัจฉริยภาพ ความละเอียดอ่อนในแนวทางดนตรี อารมณ์ขันและความเศร้าของเขาทุกมุม ปล่อยให้คนดูค่อย ๆ รู้จักและตกหลุมรักศิลปินผู้นี้ด้วยตัวเอง

“ผมไม่รู้ว่าผมเหลือเวลาอีกกี่ปี” Sakamoto พูดไว้ในซีนหนึ่งของ Coda “อาจเป็น 20 ปี 10 ปี หรืออาการกำเริบลดลงเหลือเพียงปีเดียว ผมก็คงไม่ถือสาอะไร แค่รู้ว่าตัวเองยังอยากทำเพลงให้มากกว่านี้ เพลงที่ผมจะไม่ละอายใจที่จะฝากฝังไว้ให้คนรุ่นหลังฟัง งานที่มีความหมาย”

แม้มะเร็งจะกลับมารุมเร้าเขา แต่ Sakamoto ก็ยังปล่อยอัลบั้ม 12 ออกมาโดยอัลบั้มนี้สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ในช่วงระยะแรกของการพักฟื้นจากการผ่าตัดมะเร็งครั้งใหญ่ เขาใช้เพลงพูดถึงในแต่ละวันว่าร่างกายเขาเป็นยังไงบ้างผ่านความเปราะบางของชีวิต บางวันดีขึ้น บางวันแย่ลงจนหายใจไม่ออก ซึ่งชื่อเพลงก็คือวันที่เขาใช้บันทึกสภาพร่างกายวันนั้นนั่นเอง โดยการผสมผสานของเสียงรอบข้างของเขาที่มีความเข้มข้นชวนหลอนเข้ากับความงดงามของบทกวีอันงดงาม โดยตัดทอนให้เหลือเพียงองค์ประกอบสำคัญของเมโลดี้ จังหวะ กับความเรียบง่าย แต่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในโสตของเรา ซึ่งทำได้งดงามเหมือนเดิม

แล้วยังมี A Tribute to Ryuichi Sakamoto – To the Moon and Back อัลบั้มรวมตัวจี๊ดในวงการดนตรีที่เปิดโอกาสให้หยิบเพลงที่พวกเขาชอบมาทำใหม่ในสไตล์ตัวเอง มีตั้งแต่หน้าเก่า ๆ อย่าง Conelius และ Fennesz ที่เคยร่วมงานกันไปแล้ว แต่อัลบั้มนี้มี David Sylvian นักประพันธ์ชั้นครูเพื่อนสนิทของ Sakamoto แล้วยังมี Electric Youth และ Thundercat ที่เบียวลุงซากาโมโต้สุด ๆ ก็ได้ร่วมงานในอัลบั้มนี้ด้วย เหมือนเป็นข้อความสุดท้ายว่าทุกคนรักลุงแค่ไหน

ส่วนหนังเรื่องสุดท้ายที่ Sakamoto ทำเพลงประกอบหนังให้ชื่อว่า Monster โดย ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ซึ่งฝากผลงานไว้กับหนังญี่ปุ่นจี๊ดใจมากมายทั้ง Shoplifters และ Like Father, Like Son ตอนนี้เพิ่งเข้าฉายในญี่ปุ่น ก็หวังว่าคนไทยจะได้สัมผัสเสียงเพลงสุดท้ายของเขาด้วย

ท้ายจดหมายแถลงที่ผมพูดถึงตอนต้น มีข้อความสั้น ๆ ที่ตัวแทนอยากแบ่งปันกับแฟนเพลงทุกคน โดยหยิบยกคำพูดที่ Sakamoto ชอบที่สุดมากล่าวว่า:

“Ars longa, vita brevis” ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

สำหรับเราแล้วอาจจะเป็นเรื่องดีที่สุดท้ายเขาจะได้พักซักที หลังจากทรมาณจากการต่อสู้กับโรคร้ายมายาวนาน แต่ในฐานะแฟนเพลงเราจะแชร์เพลงของเขาต่อไปเพื่อให้คนที่ยังไม่รู้จักได้ลองฟังเพลงของเขาไปเรื่อย ๆ นั่นคงเป็นวิธีเดียวที่แฟนเพลงอย่างเราจะทำได้ จึงอยากเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อให้มันติดอยู่ใน SEO ไปตลอดกาล

ถ้ายังไม่เคยฟังเพลงของ Ryuichi Sakamoto ได้โปรดลองฟังเถอะครับ

+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy