‘Cha-La Head Cha-La’ เพลงประกอบ Dragon Ball ที่อธิบายงานของ Toriyama Akira ได้ดีที่สุด

by McKee
1.1K views
Toriyama Akira Dragon Ball Cha-La Head Cha-La

อีกครั้งแล้ว ที่เราได้สูญเสียบุคคลสำคัญผู้สร้างรอยยิ้มให้กับโลกใบนี้ไปอีกหนึ่งคน จดหมายอย่างเป็นทางการประกาศถึงการสูญเสียของนักวาดการ์ตูนระดับตำนานอย่าง Toriyama Akira ผู้เขียนเรื่อง Dragon Ball ทั่วโลกต่างแสดงความอาลัยบนอินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นเทรนด์โลก

ทีม The COSMOS เองก็ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของอาจารย์โทริยามะมา ณ ที่นี้ด้วย เพราะพวกเราเองก็ได้แรงบันดาลใจจากงานสร้างสรรค์หลาย ๆ อย่างจากงานของแกมาเหมือนกัน เราจึงอยากฝากบทความนี้ไว้เพื่อไว้อาลัยอาจารย์ด้วย

พูดถึงงานที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดของอาจารย์ก็ต้องพูดถึง Dragon Ball กับพลง Cha-La Head Cha-La ที่คนไทยร้องได้ทั้งบ้านทั้งเมือง คิดอะไรไม่ออกตะโกนออกไปก่อนเลยว่า “ชรา เฮดชราาา” แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ความหมายของเพลงนี้ ถึงอาจารย์จะไม่ได้มีส่วนร่วมในเพลงนี้ด้วย แต่มันบอกถึงตัวตนและงานของอาจารย์โทริยามะได้ดีที่สุดเลยก็ว่าได้

สำหรับใครยังไม่รู้จัก อาจารย์ Toriyama Akira (โทริยามะ อากิระ) เป็นนักเขียนการ์ตูนและนักออกแบบตัวละครให้กับเกมด้วย ซึ่งเขามีชื่อเสียงจากการ์ตูนซีรีส์ Dr. Slump (ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่) แต่การ์ตูนที่ทำให้คนทั้งโลกยอมรับในผลงานของเขาก็คือ Dragon Ball ส่วนในพาร์ทของวงการเกม เขายังเป็นผู้สร้างร่วมซีรีส์ JRPG อย่าง Dragon Quest ซึ่งเขาออกแบบตัวละครมาทุกภาคด้วย

อาจารย์โทริยามะเป็นเด็กที่โตมากับการ์ตูน Astro Boy (เจ้าหนูปรมาณู) ทำให้เมื่อโตขึ้นเขาก็มีความหลงใหลในความบันเทิงเชิงไซไฟสุด ๆ ซึ่งเป็นแฟนตัวยกของภาพยนต์แนว ‘โทกูซัตสึ’ (Tokusatsu 特撮) เป็นชื่อประเภทหนังหรือละครโทรทัศน์แฟนตาซีไซไฟที่ใช้เทคนิคพิเศษในการถ่ายทำ เรียกว่าเป็นความคัลท์จากยุค 70 โดยเรื่องโปรดของอาจารย์ก็คือ Ultraman และ Gamera

“CHA-LA HEAD-CHA-LA 何が起きても 気分はへのへの河童”
“No matter what happens, I won’t be bothered one bit”
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันจะไม่หวั่นไหวซักนิด”
“CHA-LA HEAD-CHA-LA 胸がパチパチするほど 騒ぐ元気玉”
“As long as my heart beats loud, the Energy Sphere roars”
“ตราบเท่าที่เสียงหัวใจของฉันยังเต้นดัง ก็พร้อมจะโห่ร้องอย่างสุดพลัง”

หลังจากจบมัธยมปลายอาจารย์โทริยามะก็ไม่ต่อมหาลัย แต่ใช้สามารถในการวาดของตัวเองเข้าทำงานกับเอเจนซี่โฆษณาทันที แต่เมื่อเจองานโปสเตอร์ซ้ำซากและโดนติหนิเรื่องการแต่งตัวสบาย ๆ เกินไปหลายครั้ง นานวันเข้าเขาก็ตัดสินใจลาออกแล้วมุ่งเป้าเข้าสู่วงการการ์ตูนทันที เขาวาดการ์ตูน One-Shot (ตอนเดียวจบ) ที่ดัดแปลงจากหนัง Star Wars เข้าประกวดนักเขียนหน้าใหม่กับ ‘โชเน็นจัมป์’ (週刊少年ジャンプ) นิตยสารการ์ตูนวัยรุ่นที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นตั๋วทางด่วนให้เขาได้เป็นนักเขียนการ์ตูนทันที แต่เรื่องของเขาก็โดนปัดตกเพราะไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นใหม่

แต่อาจารย์โทริยามะก็ยังได้กำลังใจจากบรรณาธิการในยุคนั้นที่ชอบลายเส้นของเขาให้ส่งงานออริจินัลมาอีก ซึ่งอาจารย์ก็ส่งงานตามมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นนักเขียนสมใจ งานยุคแรก ๆ ของเขาเต็มไปด้วยงานเกี่ยวกับตลกร้ายนิด ๆ กับการออกแบบตัวละครที่มีความเป็นตัวรองบ่อน (underdog) ที่ต้องทุ่มสุดตัวเพื่อทำเป้าหมายอะไรซักอย่างให้สำเร็จ จนมาถึง Dr. Slump ที่ประสบความสำเร็จเกินคาด แต่ระหว่างนั้นเขาก็ยังเขียนการ์ตูน One-Shot ออกมาเพื่อนำเสนออะไรใหม่ ๆ และลองใจคนอ่านอยู่เรื่อย ๆ และก็ยังสร้างความประทับใจให้คนอ่านทุกคนได้เหมือนเดิม

จนมาถึงเรื่อง Dragon Boy เกี่ยวกับนักกังฟูหนุ่มที่ออกเดินทางไปช่วยเจ้าหญิงกลับมาที่หมู่บ้านของเธออย่างปลอดภัย เรื่องราวอบอุ่นหัวใจนี้ก็ได้ผลตอบรับจากแฟน ๆ อย่างท่วมท้น จนอาจารย์หยิบบางส่วนมาพัฒนาต่อเป็นการ์ตูนระดับตำนานอย่าง Dragon Ball นั่นเอง ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่อยากเขียนเรื่อง Dr. Slump ต่อ ซึ่งตอนแรกบรรณาธิการเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ต้องตามใจ คงไม่มีใครรู้เหมือนกันว่าการ์ตูน Dragon Ball จะยืนยงมาได้นานถึง 11 ปี จำนวน 519 ตอน ออกมาเป็นหนังสือได้ถึง 42 เล่ม พร้อมถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ซีรีส์อีกหลายภาค แถมยังถูกฮอลลีวูดซื้อไปสร้างฉบับคนแสดง

ถ้าพูดถึงเพลง OP (Opening Song) หรือเพลงเปิดเรื่อง ในซีรีส์นี้เองก็มีหลายเพลงที่ตราตรึงคนทั้งโลกไว้ ไม่ว่าจะเป็น Makafushigi Adventure! (魔訶不思議アドベンチャー!) ซึ่งเป็นเพลงเปิดตอนแรกสุดของเรื่อง Dragon Ball เลย ด้วยความเร้าใจของความเป็นเจป๊อปทำให้เพลงนี้น่าจะเข้าปากคนญี่ปุ่นและแฟน ๆ ต่างประเทศมาก ซึ่งเมื่อต้นปีพี่จีนก็เพิ่งมีละครเวที Dragon Ball ไป พร้อมพา Hiroki Takahashi ผู้ขับร้องเพลงนี้มาโชว์ตัวเป็น ๆ ซึ่งผ่านมา 40 ปีแล้วแต่พลังของเขาก็ยังล้นเหลือจริง ๆ

อีกหลายเพลงที่ดังไม่แพ้กัน เช่น Dan Dan Kokoro Hiraketeku (心魅かれてく) จากภาค GT ที่ป๊อปขึ้นมาหน่อย แม้แฟน ๆ จะไม่ค่อยชอบภาคนี้กันเท่าไหร่ แต่เพลงเปิดของภาคนี้ก็เป็นอีกเพลงที่ทุกคนโหวตว่าเป็นอีกเพลงที่ทุกคนชอบมาก หรือ We Gotta Power (ガッタ・パワー) อาจจะไม่เป็นที่จดจำเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่เป็นเพลงเปิดในช่วงต่อสู้กับเซลล์ ทำให้หลายคนหลอนหูและคิดว่าเพลงนี้ก็เท่ไม่หยอกเหมือนกัน

แต่เพลงที่แม้แต่คนที่ไม่ดู Dragon Ball ยังรู้จักและอาจจะร้องกันได้ทั้งบ้านทั้งเมืองก็คือ Cha-La Head Cha-La (チャラ・ヘッチャラ) ซึ่งถูกใช้เป็นเพลงเปิดภาค Dragon Ball Z โดยใช้ยาวมา 200 ตอนเลย ซึ่งร้องโดย Hironobu Kageyama ซึ่งเคยทำวงร็อกมาก่อน แต่ปัจจุบันเขาคือหนึ่งในสมาชิกยุคก่อตั้งวง JAM Project ที่หยิบเพลงอนิเมะฮิต ๆ มาโชว์ แน่นอนว่า เพลงนี้ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ต้องอยู่ในทุกโชว์ของเขาด้วย

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเองก็เคยอ่าน Dragon Ball อยู่บ้าง พอได้รับการชักชวนให้ไปร้องเพลงเปิดให้กับการ์ตูนเรื่องนี้ เขาก็ดีใจมาก ซึ่งเดโมช่วงแรกของเขามีความเป็น ‘american rock’ ซึ่งเป็นกระแสในช่วงนั้น เขาเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงของ Bon Jovi ด้วย แต่เพลงก็ถูกทำให้ progessive rock มากขึ้นในช่วงเรียบเรียง เนื้อเพลงก็ใช้สูตรที่ฮึกเหิมและเข้าถึงง่าย

Cha-La Head Cha-La มาจากการเล่นคำในภาษาญี่ปุ่นคือ Cha-La แรกมาจาก “chara ni suru” (チャラにする) ที่แปลว่า แสร้งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น (to pretend nothing happened) และ Head Cha-La มาจาก “hetchara” (ヘッチャラ) ที่แปลว่า ไม่เป็นไร (It’ OK) โดยเนื้อเพลงเองก็สนุกไม่แพ้กัน อย่างท่อนหนึ่งที่ร้องว่า

“溶けた北極こおりの中に 恐竜が居たら 玉乗り仕込みたいね”
“Within the melted polar ice, If there’s a dinosaur, I want to train it to balance on a ball!”
“ต่อให้ละลายน้ำแข็งขั้วโลก แล้วเจอกับไดโนเสาร์ ฉันก็จะฝึกให้มันบาลานซ์ลูกบอลให้ได้”

เปรียบโลกกว้างเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่ต้องเสาะหาเลาะทางออกไปแม้จะเจอไดโนเสาร์ก็จะหาทางรับมือมันให้ได้ สื่อถึงความมุ่งมั่นที่ไม่ว่าชีวิตจะเจอกับเรื่องที่หนักหนาอะไร แค่ทำหัวให้โล่ง ๆ เข้าไว้แล้วลองลุยกับมันซักตั้ง ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของคนที่ใช้ชีวิตในยุคนั้นเหมือนกันที่ว่าทำอะไรต้องมีแพลนอยู่เสมอ ซึ่งแนวคิดขบถที่ว่าให้ลุยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยสิ่งที่มีก็เป็นไอเดียที่รับมาจากแนวเพลง brit rock ท่อนฮุกที่เข้าปากกับจังหวะที่เร้าใจทำให้ทุกคนร้องเพลงนี้ได้ตั้งแต่ฟังกันครั้งแรก

ถ้าเปรียบกับชีวิตของอาจารย์โทริยามะเองแล้ว แม้เขาจะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งอะไรเป็นพิเศษนอกจากความสามารถในการวาดแล้ว เขาก็พร้อมขัดใจพ่อแม่และเดิมพันทุกอย่างที่มีเพื่อให้ได้เข้ามาอยู่ในวงการการ์ตูนจนทำสำเร็จ และด้วยความที่ไม่ได้เก่งเหมือนใคร ทำให้เขาสร้างการ์ตูนระดับตำนานอย่าง Dragon Ball ขึ้นมาได้อย่างแตกต่าง ด้วยเหล่าตัวละครอันหลากหลายรสชาติที่โอบรับความแตกต่าง มีทั้งตัวละครที่เก่ง และตัวละครที่ไม่เก่ง ซ้อนทับกับคนอ่านทุกคนไว้ได้อย่างสวยงาม และพร้อมสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคน

เหมือนที่ Hironobu Kageyama เคยพูดไว้ว่า “เพลงนี้ (Cha-La Head Cha-La) เป็นหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดในชีวิตการเป็นนักร้องของผม ไม่ว่าจะร้องเพลงนี้ที่ไหน เมื่อไหร่ ทุกคนก็จะมีความสุขที่ได้ฟังเสมอ” ขอบคุณอาจารย์โทริยามะที่ฝากรอยยิ้มและความหวังไว้กับโลกใบนี้มากมายซะเหลือเกิน

Toriyama Akira
+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy