NEW ARTIST 102 : ปล่อยเพลงก็แล้ว ทำยังไงศิลปินหน้าใหม่ถึงจะมีงานเล่น?

by Widthawat Intrasungkha
1.8K views
ศิลปินหน้าใหม่

จากบทความ NEW ARTIST 101: การเป็นศิลปินหน้าใหม่ ทำยังไงถึงจะอยู่รอดในยุคปัจจุบัน เชื่อว่า ศิลปินหน้าใหม่ ทุกคนทำเพลงทำวงกันมาก็ต้องอยากเล่นสดให้คนอื่นฟัง แต่จะเริ่มยังไงดี มาลองดูว่าเกณฑ์การคัดเลือกของผู้จัดแต่ละเจ้าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ปล่อยเพลงมา 1 เพลงแล้วอยากจะมีโชว์เลย อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ผิดสำหรับ ศิลปินหน้าใหม่ สิ่งที่ผู้จัดอาจจะกังวลคือ วงจะสามารถโชว์ได้ถึงตามเวลาที่เขากำหนดไว้ได้หรือเปล่า? บางงานต้องการ 30 นาที ก็อาจจะโชคดีหน่อย มีเพลงตัวเองสัก 3-4 เพลงแล้ว cover สัก 1 เพลง ก็อาจจะเพียงพอสำหรับโชว์นั้นแล้ว แต่ถ้าบางงานต้องการ 45 นาที ก็อาจจะลำบากหน่อย เล่นเพลง cover เยอะเกินก็อาจจะกลายเป็นวง cover ไปซะงั้น คนจำเพลงของเราไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่อาจจะต้องระมัดระวัง

ศิลปินหน้าใหม่ ควรจะมีเพลงใน stock เอาไว้เล่นสดด้วย อย่างน้อยก็ทำเพลงไว้สัก 4-5 เพลง ที่พร้อมจะปล่อย เพื่อให้ผู้จัดเขามีความมั่นใจว่าเราสามารถจะ fill time gap ที่เขาวางไว้ได้ แต่ไม่ควรเล่นเพลง cover เยอะเกิน เพราะอาจจะทำให้คนจำภาพวงเราเป็นวง cover ซะยังงั้น

Noise House Lat Phrao (Photo Credit: Jirapat Taweewat)

ในช่วงแรกอาจจะเริ่มต้นด้วยการจัดกันเอง ชวนเพื่อนศิลปินมากันเล่น สมัยก่อนก็เป็นสิ่งที่ทำกันประจำโดยเพื่อนศิลปิน หาที่เล่นกันเอง เตรียมสถานที่กันเอง โปรโมตกันเอง ปัจจุบันแม้จะไม่ค่อยเห็นสิ่งนี้เท่าไหร่ แต่ก็เป็นหนทางที่ดีสำหรับ ศิลปินหน้าใหม่ ที่พึ่งเริ่มต้น อาจจะลองพูดคุยกับวงที่สนิทๆแล้วชวนกันไปเล่นตามสถานที่ต่างๆที่มีพื้นที่ให้เล่นดนตรี อย่างเช่น JAM Cafe, Speakerbox, Fatty’s Bar & Diner, Noise House Lat Phrao, WHITE NOISE BAR, DECOMMUNE, CD COSMOS ฯลฯ แต่ไม่อยากให้คิดกังวลเรื่องรายได้เกินไป ในจุดเริ่มต้นอย่าลืมว่า เราทำเพลงเพราะอะไร เพราะว่าอยากเล่นดนตรีใช่มั้ย? ฉะนั้นในช่วงแรกมันจะเป็นช่วงสำคัญที่เราต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และลงทุนกับการสร้างแฟนเพลงโดยการเล่นไปเรื่อยๆจนกว่าจะเข้าตาใครสักคน และพัฒนาฝีมือจนถึงวันที่เราจะมีรายได้จากสิ่งนี้ เป็นกำลังใจให้ศิลปินทุกคนนะ

ล่าสุด Noise Hous Lat Phrao ได้ประกาศเปิดรับงาน DIY เพื่อสร้างซีนดนตรีสำหรับศิลปินหน้าใหม่ด้วยนะ ถ้าคุณกำลังหาที่เล่น ลองรวบรวมเพื่อนๆแล้วไปเล่นด้วยกันได้นะ สามารถทักไปพูดคุยกับพวกเขาได้เลย คลิกที่นี่เพื่ออ่านต่อ

ในมุมมองของ streaming platform การปล่อยเพลงเป็น single อาจจะง่ายต่อการ pitch เพลงเข้า playlist ต่างๆมากกว่า ข้อดีจากจุดนี้ก็คือ การโฟกัสผู้ฟังให้กระหน่ำ single นั้นใส่หูเพื่อกระตุ้นยอด streaming ของให้พุ่งขึ้น

แต่การปล่อยทั้ง EP/Album ทีเดียว อาจจะง่ายต่อการทำให้ผู้จัดชวนไปเล่นมากกว่า เพราะจะได้รู้ว่าแนวทางเพลงเป็นยังไง เหมาะกับงานของเขาไหม ถ้าโดนเส้นผู้จัดก็ยิ่งเพิ่มโอกาสมากขึ้นไปอีก ตอนปล่อยเพลงก็อย่าลืมส่งไปให้สื่อต่างๆด้วยนะ เผื่อเขาจะช่วยกระจายข่าวให้เราอีกทาง

การตั้งค่าตัวก็ขึ้นอยู่กับรายจ่ายของวง เราอาจจะมี backup musician หรือ ต้องจ้าง sound engineer หรือ technician มาทำงาน ทั้งหมดนี้ก็จะเป็น fixed cost ที่เราต้องแบกรับ ซึ่งก็ต้องคำนวนค่าตัวตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เข้าเนื้อตัวเอง และอย่าลืมที่จะคำนวนรายจ่ายของตัวเองด้วย อย่างค่ารถ ค่าซ้อม ค่าสายกีต้าต่างๆ ก็เป็นค่าใช้จ่ายของเราเองเช่นกัน

แต่สำหรับวงหน้าใหม่ที่พึ่งตั้งไข่ ในมุมหนึ่งก็อาจจะเป็นความเสี่ยงว่า เราตั้งค่าตัวสูงเกินไปไหมและจะมีคนจ้างไปเล่นไหม? ในเมื่อเรตค่าตัวที่เราเรียกไปอาจจะเท่ากับหรือมากกว่าวงบางวงที่ performance ดีมากๆ ดึงคนมางานได้มากกว่าเรา กลายเป็นคำถามว่าค่าตัวของเราจะคุ้มค่าที่จะลงทุนจ้างมาเล่นไหมนะ? ซึ่งจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นมาหากเราต้องมีค่าตัวแบบ fixed rate คุณอาจจะต้องคุยกันเองให้ดีว่า ช่วงแรกๆเราจะตั้งค่าตัวเท่าไหร่ที่จะสมเหตุสมผลกับตัวเองและผู้ว่าจ้าง หรือคุณจะซีเรียสเรื่องการได้เงินจากการงานเล่นไหม เพราะบางทีการมีค่าตัวที่ไม่สมเหตุสมผลก็อาจจะตัดโอกาสในการมีงานเล่นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะจากงาน gig เล็กๆ ที่อาจไม่ได้เน้นกำไรกันอยู่แล้ว แต่เน้นเล่นเอาสนุก เน้นสร้าง content ก็จะมีจุดประสงค์อีกแบบนึง

คำแนะนำคือ วางแผนวงของตัวเองให้ดีว่า ช่วงปีแรกอาจจะเน้นงานเล่น ไม่เน้นเอาตัง เพื่อให้วงมี content บ่อยๆ จะได้สร้าง branding และ build ฐานแฟนเพลง จนเราสามารถให้ความมั่นใจกับผู้จัดว่าเราสามารถดึงคนมางานคุณได้นะ ถึงจะเริ่มมีค่าตัวแบบ fixed rate กันมากขึ้น แต่อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า อย่าลืมว่าจุดประสงค์ของการเล่นดนตรีของเราคืออะไร ถ้ามันเพื่อความสนุก ก็อาจจะลองเอาความสนุกเป็นที่ตั้งก่อนรายได้ เพื่อให้ความเครียดเบาบางลง แต่ถ้าหากหวังพึ่งรายได้ตั้งแต่แรก ก็ควรจะต้องมีการวางแผนที่รัดกุมและหนักแน่น เพื่อให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างลุล่วง

Speakerbox (Photo Credit: Palesights)

เมื่อคุณเริ่มจัดงานกันเองก็แล้ว อยากอัพเลเวลไปเล่นงานที่คนอื่นจัดบ้าง ก็ต้องเตรียมข้อมูลของตัวเองให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็น Electronic Press Kit (EPK) หรือ profile วง ลองส่งไปแนะนำตัวตามช่องทางการติดต่อต่างๆของผู้จัด หลังจากส่งเมลหรือติดต่อไปให้แล้วทำใจให้ร่มๆ รอลุ้นว่าเขาจะติดต่อกลับมาไหม อยากให้ ศิลปินหน้าใหม่ ทุกคนเข้าใจว่า บางทีผู้จัดเขาจะได้รับข้อความอะไรแบบนี้ค่อนข้างเยอะ อาจจะตอบหรือไม่ตอบเราก็ได้ อันนั้นเป็นสิทธิของเขา เราเพียงแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและหวังว่าสักวันนึงเพลงของเราจะไปเข้าหูเข้าตาของผู้จัด และอาจจะโชคดีได้รับโอกาสที่เราเฝ้ารอ

การไปหางานเล่นโดยฝากฝังตัวเองกับ promoter ก็ต้องเลือกว่าผู้จัดเจ้าไหนที่ดูสไตล์เข้ากับเรา เพราะแต่ละเจ้าจะมี character ไม่เหมือนกัน เราจึงลองสรุปตามที่เข้าใจ ดังต่อไปนี้

  • Seen Scene Space รายนี้จะมีงานที่ค่อนข้างหลากหลายแนว เน้นไปทางฝั่งเอเชียและเป็นวงอินดี้ซะส่วนใหญ่ สำหรับงานไทย ผู้จัดเจ้านี้จะมีงานชื่อว่า POW FEST ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยจะมีศิลปินอินดี้หลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็น dream pop, shoegaze, indie pop ไปจนถึง indie rock โดยมักจะมีวงอินดี้รุ่นใหญ่เป็น magnet มาดึงคนดู อย่างรอบที่แล้วก็มี The Jukks และ Youth Brush และยังมีทีเด็ดวงจากระแวกเอเชีย อย่าง Tricot จากญี่ปุ่น และ Hathaw9y จากเกาหลี ในปี 2023 ตอนปี 2019 ก็เคยมี Motorama จากรัสเซีย และ Bearwear จากญี่ปุ่นมาด้วย ถือว่าเป็นงานนึงที่เปิดให้ศิลปินหน้าใหม่ได้มาปล่อยของกัน

  • Wildest Youth เจ้านี้จะเน้นไปทางสาย rock เสื้อดำ มีงานหลากหลายเลยนะ 3-4 ปีก่อนหน้านี้เคยจัดงาน Girls หลายซีรี่ส์ โดยเน้นวงดนตรีที่มีนักร้องนำหรือสมาชิกหญิงอยู่ในวงเพื่อสร้างความหลากหลายในวงการดนตรี นอกจากนั้นที่ผ่านมาก็ขยันเอาวงนอกสายร็อคเข้ามาไทย อย่างเช่น Softcult, Anxious, Soul Blind และล่าสุดก็มี Narrow Heads โดยมักจะเลือกวงไทยไปเล่นเปิดตามแนวทางที่เหมาะสม อย่าง Death of Heather, KUNST, Fanfold Paper, และ SOY ที่ได้เล่นเปิด Softcult ในปี 2023 ถ้าคุณทำเพลงแนว alternative rock / emo / punk ก็ลองติดต่อทำความรู้กันกับพวกเขากัน!

  • Loudly Prefer หากคุณคือ ชาวเมทัลตัวจริง เจ้านี้มาแรง ขนวงเมทัลให้กลับเข้าสู่ตลาดหลัก ด้วยการ import วงต่างประเทศและดีลวงไทยไปเปิด อย่างงาน END Live in Bangkok 2023 ก็เป็นตัวอย่างการผลักดันวงเมทัลนอกกระแสอย่าง Fortamaya, Ugoslabier, Whispers มาเล่นเปิดเป็นเจ้าบ้าน หรือ Coldrain จากญี่ปุ่น ก็ได้เจ้าบ้านรุ่นใหญ่อย่าง Annalynn มาเล่นเปิดให้ ถือได้ว่าเป็นความหวังของชาว metal ทั้งหลาย ซึ่งอาจจะรู้สึกซบเซาตั้งแต่ myspace ล้มสลาย แต่ก็กลับมาคึกคักกันได้จากความขยันจัดงานของ Loudly Prefer และความร่วมมือจากพรรคพวก ไม่ว่าจะเป็น Slamman Booking Asia, Witchhunter Productions, และ Holding On Records

  • Holding On Records ผู้จัดสาย hardcore ที่กำลังมาแรงหลังจากพักไปตอนปี 2015 ความพิเศษของดนตรีแขนงนี้ก็คือเครือข่ายผู้จัดระหว่างภูมิภาคที่แชร์ไลฟ์สไตล์เดียวกัน (เนื่องด้วยดนตรีฮาร์ดคอร์นั้นก็เป็นไลฟ์สไตล์ที่ชัดมาก ๆ อีกด้วย) เพราะฉะนั้นการดีลงานต่าง ๆ ก็เลยไปในทางเดียวกันเพราะผู้จัดมายด์เซ็ตเดียวกัน ยิ่งในช่วงหลังโควิดที่ผ่านก็ได้ขนศิลปินสายนี้มาเล่นไม่พักเลย เรียกได้ว่าวงไหนมาเอเชียก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มาลงที่ไทย อย่างงาน SPEED Live in Bangkok 2023 ที่ประสบความสำเร็จ และงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าว โดยวงเปิดในแต่ละงานจะรวมวงรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ไว้ด้วยกัน อย่าง Depressed, The Shredder, A-ZERO, FORDECISON ฉะนั้นใครชอบดนตรีแขนงนี้ คุณมีสเปซที่พร้อมระดับภูมิภาคเลย

  • The Year Shoegaze Broke แหล่งรวมตัวชาว Shoegaze / Dreampop ไทยที่ชัดเจนที่สุดแล้วล่ะ โดยมีโปรเจค Thai Shoegaze Compilation ที่รวบรวมวงชูเกสและแนวทางเฉพาะไว้เพียบ อย่างเช่น GAZEKATE, La Nuit, Flowers for Daryl, The Biirthday Party, KUNST, Svalblue, Telever, Outside the Window และอีกมากมาย เรียกกันได้ว่าคึกคักสุดๆ เพราะหลายๆวงก็ไม่เคยปล่อยเพลงมาก่อน ต่อด้วยการจัดงานสำหรับโปรเจคนี้ด้วยการรวบรวมวงในแคมเปญและเชิญวงที่น่าสนใจมารวมพลังระเบิดตู้กีต้าด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีงาน shoegaze night ที่ cover พ่อๆแม่ๆ MBV, Ride, Slowdive ให้แก้ขัดใจที่ไม่ยอมมาทัวร์ไทยสักทีด้วยนะ ถ้าคุณเป็นวงสายจ้องเกือกก็อย่าลืมติดตามเผื่อจะได้เข้าร่วมบ้าง!

  • Asia Sound Space สาย instrumental post rock เขาจัดให้ แต่ก้ยังมีแนวทางอื่นๆด้วยนะ ทางนี้เขาจะเน้นเพลงเอเชียสายลึกเหมือนกัน อย่าง DIZANG และ Solid Liqui จากจีนที่มาทัวร์ไทย เล่นร่วมกับไซคีไทยอย่าง Lepyutin นอกจากนั้นก็มีงาน hurbis. Live in Bangkok ที่เปิดด้วยเจ้าบ้าน Hope the Flowers และ Ziriphon Fireking จากเชียงใหม่ เป็นงาน post rock ชั้นดีที่รวมระเบิดพลังไว้ให้ชาวไทยได้ซึมซับ โดยผู้จัดเจ้านี้ก็ยังมีพรรคพวกสาย instrumental อยู่ด้วยกัน อย่าง Math Rock Appreciation ที่เคยนำ Cotoba จากเกาหลีมาเล่นที่ไทย พร้อมวงเปิด math rock หน้าใหม่อย่าง Individualist และ Numan เรียกได้ว่าเจ้านี้ยังคงเป็นความหวังหลักของสาย post rock ในบ้านเราที่เคยรุ่งเรือง

  • Near Sound ทีมจัดหน้าใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีเพลงเป็นของตัวเองให้ได้มา showcase กัน โดยมีไอเดียการจัดเป็น Market On Ground ซึ่งมีพื้นที่ให้ศิลปินได้ขาย merch และแลกเปลี่ยนกันในงาน NEAR/SOUND Free Concert & Market ที่ When Life Gives You Lemon แถว MRT บางอ้อ ซึ่งมีศิลปินเข้าร่วม อย่างเช่น SEKI, Take Away, Palm Hassaphon, Petit Desk, Mek Sippanun เป็นต้น จุดขายของงานนี้ คือ ไม่จำหน่ายแอลกอฮอล์ เพื่อที่จะได้ให้ผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ร่วมเข้าชมด้วย จะได้ปลูกฝังนิสัยการค้นหาเพลงฟังไปในตัว สำหรับศิลปินที่เพลงเป็นของตัวเองและอยากเข้าร่วมกับแก๊งนี้ สามารถติดตามเพจได้เลยนะ เห็นแว่วๆว่าเริ่มออกไปจัดงานที่ Noise House ด้วยนะ ฉะนั้นลองไปทำความรู้จักกันดู

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างออกมาเป็นเพียงแค่ผู้จัดส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีผู้จัดอีกมากมายที่เราไม่ได้กล่าวถึง แต่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าไหนก็ตาม สิ่งที่ต้องทำการบ้านคือแนวทางของเขากับแนวทางของวงไปด้วยกันได้ไหม ถ้าได้ก็ลุยเลย

Near Sound (Photo credit: 0211snap)

ก็ต้องยอมรับว่า จริงๆ connection ก็มีส่วนสำคัญมากๆในการทำให้เรามีงานเล่นดีๆเลยแหละ ศิลปินหน้าใหม่ทุกคนควรทำความรู้จักกับผู้จัดหรือศิลปินในแวดวงเดียวกันเพื่อสร้าง connection ของตัวเอง หาเวลาหลังจากจบโชว์อาจจะลองชวนเพื่อนศิลปินอื่นๆไปร้านลาบจกข้าวเหนียวด้วยกัน สร้างความสัมพันธ์ เพราะวงการดนตรีโดยเฉพาะอินดี้มันแคบกว่าที่คิด ทุกคนแทบจะรู้จักกันหมด ไม่ว่าจะในระดับ personal level หรือ mutual benefit ก็ตาม การสร้าง connection เป็นสิ่งนึงที่ช่วยให้เราต่อยอดความสัมพันธ์และงานเล่นของเราไปได้เรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและไม่เอาเปรียบ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และการรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ไม่ว่าคุณจะเก่งจะดังจากไหนแต่ถ้าคุณทำตัวเหี้ยก็อย่าคิดว่าคนอื่นจะไม่จำ เขาอาจจะรอวันเช็คบิลในวันที่คุณล้มอยู่ก็ได้ ฉะนั้นรักษาความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานของคุณไว้ดีๆ ถนอมน้ำจิตน้ำใจกันด้วย เพื่อให้วงการมันเดินหน้าไปพร้อมกันและเติบโตไปพร้อมกันได้

CD COSMOS Store (Photo credit: The COSMOS)

ถ้างานที่มาชวนดูไม่ใช่แนวทางของตัวเอง อาจจะต้องคิดดูว่าสิ่งที่จะได้กลับมามันคุ้มกับการลงทุนของเราไหม อย่าลืมว่าเราไม่ได้ลงทุนแค่เงินอย่างเดียว มันยังมีเวลาที่ต้องเสียไปและแรงกายที่ต้อง invest ด้วยนะ ฉะนั้นต้องดูว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการไปร่วมงานเหล่านี้มันคืออะไร บางทีอาจจะไม่ใช่ในรูปแบบของรายได้ แต่เป็น connection ที่จะได้สร้าง หรือแม้กระทั้ง content ที่จะได้กลับมา ก็เป็น food for thought สำหรับทุกๆคนนะ

งานบางงาน อาจจะไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับเราเลย ก็ไม่ต้องเสียดายที่จะต้องปฏิเสธเขาไป เพราะการรักษา branding ของวงตัวเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ถ้า branding มันเสียไปแล้ว มันอาจจะคืนกลับมาได้ยาก ก็ต้องระวังไว้ด้วยเช่นกันนะ

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การโปรโมตงานที่กำลังจะเล่น คือ post pr หลังจบงาน ควรจะมีรูปถ่ายจากการเล่นสด หรือ คลิปวิดีโอสั้นๆเก็บไว้ลงเป็น reel เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างตัววงกับคนดูและผู้จัดเจ้าอื่นๆได้อีกด้วย การที่เรา active อยู่บน social media platform ของตัวเองเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการสร้างฐานแฟนเพลง และเมื่อเรามีฐานแฟนเพลงที่แข็งแรงและติดตามเราอยู่เรื่อยๆก็จะช่วยให้ผู้จัดรู้สึกมั่นใจได้มากขึ้นว่าวงเราจะสามารถดึงดูดให้คนมาซื้อบัตรดูงานที่เขากำลังจะชวนเราไปเล่น ฉะนั้น อย่าลืมที่จะมี content ไว้ลงหลังจบงานด้วยนะ

+ posts

นานๆทีจะเขียน

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy