ความสำเร็จของโครงการ Music Exchange โดย CEA และเหตุผลที่เราควรผลักดันศิลปินไทยให้เป็นสินค้าโลก

by McKee
201 views
CEA Creative Economy Agency สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Music Exchange

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ทีมคอสมอสได้มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าวความสำเร็จของโครงการ Music Exchange รันโดยทีม
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมดนตรีไทย ยกระดับศิลปินและวงการดนตรีไทยพร้อมส่งออกไปเป็น Soft Power บนเวทีระดับโลก

โดยไฮท์ไลท์ของวันนี้มีสองเซซชั่นที่น่าสนใจสำหรับเรา คือ CEA กำลังทำอะไรอยู่นอกจากโครงการ Music Exchange และการร่วมพูดคุยกันของค่ายเพลงแถวหน้าในหัวข้อ Music Exchange: Thai Music Wave To The World ซึ่งรวม 4 หัวหอกของวงการดนตรีไว้ แถมด้วย Mini Concert ของ Gabe Watkins และ Pretzelle ที่ได้ทุนของ CEA ในโครงการนี้ออกไปเฉิดฉายขึ้นเวทีระดับโลก

แม้ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิกหลาย ๆ อย่างทำให้ทุน Music Exchange ของปีนี้นั้น มีข้อจำกัดทั้งเรื่องของเวลาก็ดีเรื่องงบประมาณก็ดี แต่สุดท้ายก็ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของทีม CEA ที่สามารถส่งออกศิลปินออกไปเวทีระดับโลกได้ถึง 5 เวฟด้วยกัน ซึ่งแต่ละวงก็เป็นวงที่มีคุณภาพคับประเทศมาก ๆ ในมุมมองของเรา เลยอยากแชร์เรื่องที่ได้รู้ในงานนี้ให้ทุกคนอ่าน ว่ามันสำคัญกับศิลปินหรือคนฟังเพลงทุกคนยังไง

credit: Creative Economy Agency

งานแถลงข่าวจัดขึ้นที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (กรมประชาสัมพันธ์) งานออกจะราชการสุด ๆ แบบไม่ค่อยชินเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ก็มีคนมาร่วมงานกันทั้งทีม Soft Power ดนตรี ศิลปินและสื่อต่าง ๆ นานา

เปิดเวทีด้วย สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือที่ทุกคนเรียกติดปากกันว่า หมอเลี้ยบ ก็เป็นตัวแทนของรัฐบาลออกมาอธิบายความสำคัญของ soft power ไทย ซึ่งเขามองว่ามันคือเคลื่อนมือหนึ่งที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโต และยังสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพซึ่งส่งออกไประดับโลกด้วยเหมือนกัน Music Exchange ก็คือก้าวแรกของสิ่งนี้ในภาคอุตสาหกรรมดนตรีเลย พร้อมผลักดันคำว่า “Thai Music Wave” ให้ติดปากคนต่างชาติให้ได้

โดยท่านก็แอบแง้มว่าภาครัฐกำลังวางแผนขั้นถัดไป หนึ่งในนั้นคือการจัดเทศกาลดนตรีระดับโลกในประเทศให้ได้ด้วย ยืนยันว่าในปีหน้าจะมีแน่นอน และอยากให้มีงานประกาศรางวัลดนตรีระดับชาติให้ได้ อยากเห็นงานสุพรรณหงษ์ในซีนดนตรี โดยเขาพูดถึง THACCA ที่กำลังจะมีสภาดนตรี หวังว่าทุกคนที่มีความฝันจะหลุดพ้นจากความยากจนได้ สาธุ

ในส่วนของ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ CEA ก็ออกมากล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ CEA คือการยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดนตรีไทย ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และยอมรับในระดับสากล รวมถึงแชร์ตัวเลขที่น่าสนใจ อุตสาหกรรมดนตรีของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2566 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อนหน้า

CEA Creative Economy Agency สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Music Exchange

ก่อนจะปิดท้ายด้วย ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการของ CEA ซึ่งออกมากล่าวเสริมถึงเป้าหมายสนับสนุนศิลปินไทยในการสร้างปรากฏการณ์ Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ผ่านกิจกรรมหลัก 2 ส่วน หนึ่งคือกิจกรรม “Push” ซึ่งส่งออกศิลปินผ่านโครงการ Music Exchange ไปแสดงในเทศกาลระดับนานาชาติได้ทั้งหมด 48 ศิลปิน/วง 46 เทศกาล นอกจากการ Open Call หรือแบบเปิดรับสมัครแล้ว ยังมีศิลปินส่วนหนึ่งที่ไปด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ได้ไปโชว์ในงาน Thai Festival ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน

ส่วนที่สองคือกิจกรรม “Pull” มุ่งเน้นการเชื่อมสัมพันธ์ สร้างคอนเนกชั่นและ Business Matching กับกลุ่มของผู้จัด Promoter เอเจนซี่ของเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ รวมถึงบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีโลกที่มีผลต่อการส่งออกศิลปินกว่า 75 คน เพื่อให้ผู้จัดเทศกาลดนตรีนานาชาติและผู้ที่มีบทบาทในการคัดเลือกศิลปินไทยไปแสดงผลงานในต่างประเทศ

credit: Creative Economy Agency

CEA ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2568 จะสามารถส่งศิลปินไทยเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติได้มากกว่า 100 โชว์ ครอบคลุมทั้งเอเชีย ตั้งแต่จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมทั้งยุโรป และอเมริกาด้วย ซึ่ง CEA ก็มี Framework คร่าว ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีให้ดูด้วย ว่าพวกเขากำลังโฟกัสกับอะไรเพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ท่าน ผอ ยังมีสไลด์มาแชร์กับทุกคนด้วย ตัวเลขหลายอันก็น่าสนใจมาก ๆ เช่น ไทยติดอันดับท็อป 5 ของประเทศที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมเพลงมากที่สุดในเอเชีย และเป็นนอันดับ 1 ของภูมิภาค SEA แอบสงสัยว่าเราโตกว่าไต้หวัน อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เลยหรอเนี่ย รวมถึงตัวเลขรวม ๆ ของรายได้ศิลปินที่มาจากสตรีมมิ่งก็ตีตื้นมาพอ ๆ กับงานโชว์แล้ว แต่ยังไงเมิร์ชก็ยังทำเงินให้ศิลปินได้ดีที่สุดเหมือนเดิม

CEA Creative Economy Agency สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Music Exchange
credit: Creative Economy Agency

มาถึงอีกไฮไลท์ของงานกับสัมมนาชวนพูดคุยกันในหัวข้อ Music Exchange: Thai Music Wave To The World โดย 4 บุคลากรแถวหน้าในวงการดนตรีตอนนี้ ได้แก่ นิค—วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ทรงคุณวุฒิ Genie Records, อ๊อฟ—อนุชา โอเจริญ เจ้าของค่ายเพลง Rats Records, จ๋อง—พงศ์นรินทร์ อุลิศ หัวเรือใหญ่ Cat Radio และ เฉลิม—เฉลิมพล สูงศักดิ์ Co-Founder ค่ายเพลง NewEchoes ทั้งสี่คนจะมาแชร์ความเห็นของวงการดนตรีและการทำงานของ CEA กัน โดยพิธีกรก็ยิงคำถามแรกเลยว่า “ถอยหลังไปสิบปีจนถึงปัจจุบัน มุมมองของศิลปินไทยเปลี่ยนไปยังไง”

พี่จ๋องบอกว่า ค่ายเพลงก็คงไม่ได้ต่างจากสิบปีก่อนยังไง แต่ศิลปินเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนคนมาเป็นศิลปินคือคนที่อยากทำศิลปะ แต่วงสมัยนี้คือคนเรียนดนตรีมา ทำให้มีคุณภาพมาก คุณภาพศิลปินดีไม่แพ้ศิลปินนอกแน่นอน เราได้เจอวงเยอะมาก แต่ศิลปินรุ่นนี่คือคนเก่ง ๆ ที่น่าเป็นห่วง เพราะอีก 5 ปีก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะทำสิ่งนี้เป็นอาชีพได้จริงรึเปล่า

พี่เฉลิม เสริมว่า NewEchoes เปิดมา 3 ปี ซึ่งศิลปินทุกคนก็มีไดเรกชั่นเดียวกันคืออยากไปตลาดต่างประเทศ ศิลปินในค่ายจะมีแค่สองตัวเลือกคือทำอัลบั้มกับ EP จะได้มีแพลนการทำงานที่ชัดเจน ไม่ได้ทำเป็นซิงเกิล อยากให้ศิลปินมั่นใจในสิ่งที่ศิลปินชอบด้วย โดยศิลปินในค่ายที่ได้รับซัพพอร์ตจาก CEA ก็มี H3F, FORD TRIO, Salad, Chucky Factory Land, LEPYUTIN และ NUMCHA ก่อนหน้านี้หลายงานต้องจ่ายด้วยตัวเอง แต่ปีนี้ได้ CEA ซัพพอร์ตก็สบายใจมาก การไปต่างประเทศไม่ใช่แค่การไปเปิดตลาดใหม่เท่านั้น แต่ได้รับมายเซ็ตใหม่ ๆ ฟีดแบ็กโชว์ เป็นต้น สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องทำเพลงภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่เพลงไทยก็ไปต่างประเทศได้

พี่อ็อฟ พูดถึง Phum Viphurit ที่ทดลองทำยังไงให้นักดนตรีไม่ต้องเล่นในบ้านเราอย่างเดียว ซึ่งเริ่มเห็นลู่ทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ต่างชาติก็เริ่มสนใจในศิลปินเรา ตอนแรกไม่มีเงินสนับสนุนค่ายก็ต้องทำเอง ขาดทุนบ้างในปีแรก ๆ จนปีที่ 3-4 ก็เริ่มทำสิ่งนี้เป็นอาชีพได้

ก่อนจะจบด้วยคำถามเกี่ยวกับโครงการ Music Exchange ว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง พี่จ๋องตอบเป็นคนแรกว่า ศิลปินหลายคนก็คงอยากไปเล่นเมืองนอก แต่ไปแล้วมันจะไปต่อยังไงเพราะไปเล่นอย่างเดียวคงไม่พอ และไปกันเองขาดทุนแน่นอน เหมือนเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกแล้วแหละ THACCA กับ CEA จะต้องทำต่อคือทำให้เกิดการสื่อสารที่นั่น วงต่างประเทศที่มาก็มองหาสื่อมีเดียของเราเพื่อปรากฎตัวต่าง ๆ ทำให้เกิดการพูดถึงต่อไป ต่อให้เราเล่นดีแต่ไม่มีใครพูดถึงก็คงไม่ช่วยอะไร มันต้องมีงบมีเดียในการทำมาร์เก็ตติ้งและโปรโมชั่นด้วย ถ้ามีคนไปช่วยกระพือตีต่อมันยิ่งสำคัญ ตลาดไทยยังโตได้อีกเยอะเลย

ถ้าเราไม่ได้ชื่นชมศิลปินไทยตอนนี้แต่รอวันที่ไปดังเมืองนอกมันแย่มากเลย มีศิลปินที่ทำเพลงแล้วเลิกทำไปเยอะมาก ต้องทำให้เขาเลี้ยงตัวเองได้ด้วย

พี่เฉลิมเสริมต่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการผลักดันต่อหลังจากที่วงไปต่างประเทศแล้ว ไม่ใช่แค่ไปเล่นแล้วจบ แต่พอมันกลับมาที่ประเทศเราจะทำยังไงต่อกับวงมากกว่า ในฐานะที่เป็นศิลปินด้วย อยากเสนอให้ทีม CEA ทำให้คนเข้าใจว่าเพลงมันมีความสำคัญกับชีวิตคนยังไง ใช้เวลาซัก 1 ชั่วโมงทุกวันเพื่อหาเพลงใหม่ ๆ ฟัง ซีรีส์ต่างประเทศใหม่ ๆ ที่ออกมาก็ซับซ้อนและสนุกขึ้น เพลงเองมันก็มีการพัฒนาทุกวัน มีความซับซ้อนและดีขึ้นตลอดเวลาเหมือนกัน

การซัพพอร์ตวงดนตรีมันง่ายมากคือการกดฟัง ยุคสตรีมมิ่งมันมีข้อดีกว่ายุคของพี่เฉลิมมาก ถ้าชอบวงนึงต้องรอฟังจากวิทยุหรือรายการเพลง เด็กรุ่นใหม่มีสตรีมมิ่งของตัวเองหาฟังได้เลยง่าย ๆ นอกจากทุนของรัฐแล้ว คนทั่วไปก็สามารถซัพพอร์ตวงดนตรีได้เลยเหมือนกัน

เสียดายที่เวลาน้อยมากกกกเพราะว่าพี่ ๆ ทุกคนก็ตอบคำถามกันได้หลายแง่มุมมาก ระหว่างที่น้อง ๆ Pretzelle กำลังวาดลวดลายกันบนเวที เราก็พยายามตกผลึกทุกอย่างที่ได้ยินวันนี้ไป

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราใจชื้นมาก ๆ คือ CEA เองก็พยายามอย่างหนักที่จะออกแบบโครงการให้ตอบโจทย์กับศิลปินทุกระดับ แม้ในยุคนี้เส้นแบ่งของคำว่าอินดี้กับป็อปมันจะเลื่อนลางไปมากแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าศิลปินมันมีหลายฟังชั่นมาก บางคนขายภาพลักษณ์ บางคนขายความเอนเตอร์เทรน บางคนขายฝีมือและแนวดนตรี โจทย์ของ CEA คือการรองรับตลาดของศิลปินทุกรูปแบบ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา และความเห็นหรือ feedback ของศิลปินที่ได้ร่วมโครงการก็สำคัญมากเหมือนกันเพื่อให้ทีมนำกลับปรับปรุงให้แต่ละโครงการตอบโจทย์ศิลปินมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เราคิดในหัวตลอดเวลาคือ เฟสติวัลระดับประเทศหรืองานประกาศรางวัลในไทยเองก็มีหลายรายการอยู่ การที่รัฐบาลอยากทำงานของตัวเองก็ไม่ติดอะไร แต่อยากให้แน่ใจว่าในทุกกระบวนการจะมีคนในอุตสาหกรรมที่ทำงานจริง ๆ อยู่ด้วย และต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์พอจะเข้าใจอุตสาหกรรมตัวเองจริง ๆ ด้วย เพื่อผลักดันทุกคนให้ไปไกลที่สุด รวมถึงการวัดผลด้วยว่าสิ่งที่ทำไปมันได้ผลแค่ไหน ก็คิดว่าเป็นอีกโจทย์ที่หินมาก ๆ สำหรับ CEA เหมือนกัน

ในฐานะสื่อดนตรีเราก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐเพื่อพาศิลปินไปให้ถึงจุดหมายที่พวกเขาอยากไปไม่ว่าจะไกลแค่ไหนเหมือนกัน สำคัญแค่คนในประเทศหรือคนฟังทุกคนก็ต้องช่วยกันซัพพอร์ตทั้งศิลปิน สื่อ และภาครัฐด้วยเหมือนกัน ถ้าใครยังมองภาพไกลไม่ออกว่าสุดท้ายทุกสิ่งที่พวกเราทำมันจะไปสู่อะไรก็ไม่เป็นไร ขอแค่ติดตามข่าวสารและตามฟังเพลงของศิลปินที่เรารักต่อไปก็พอ การที่จะทำให้ศิลปินไทยเป็นสินค้าระดับโลกไม่ใช่หน้าที่ใครคนเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกันจริง ๆ

CEA Creative Economy Agency สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Music Exchange
+ posts

ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy