Moshing และสารพัดสิ่งที่ควรรู้ก่อนโดนปะทะ

by Montipa Virojpan
2.1K views

เมื่อวานนี้ ONE OK ROCK วงร็อกแถวหน้าจากญี่ปุ่นที่เราชาวไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีได้กลับมาเยือนอีกครั้ง และก็ยังขนเพลงฮิตทั้งเก่าและใหม่มาแสดงแบบไม่ยั้งอย่างเช่นเคย แต่เรื่องที่พ่วงมานอกเหนือจากที่สร้างความประทับให้กับแฟนเพลงอย่างล้นหลาม ก็น่าจะเป็นดราม่าใน X (ทวิตเตอร์) เมื่อยูเซอร์ท่านหนึ่งได้ทวิตพร้อมข้อความว่า ‘สนุกอยู่3คน แต่น่ารำคาญคนเป็นร้อย ลืมเอามารยาทมาจากบ้านปะไอ้สัด #ONEOKROCKINBKK #OORBKK2023’ พร้อมอัปโหลดคลิปชายหนุ่มวิ่งวนกันอย่างสนุกสนานอ่อนโยนไร้การปะทะ (ใครได้เห็นคลิปน่าจะพูดเหมือนกับเรา) ส่วนคอมเมนต์ก็ยังพิมพ์ต่ออีกว่า ‘จะมอช ไปมอชกับพ่อมึงนุ่นสัด กูเสียตังมาดูคอน ไม่ได้มาดูพวกมึงสนุก xวยยยย’

อ่า… COSMOS Theory รอบนี้เลยจะมาแนะนำ ‘วัฒนธรรม’ ที่ไม่ใหม่ของชาวร็อกที่เรียกกันว่า ‘Moshing’ หรือ มอช และการเต้นอื่น ๆ ที่ใช้ร่างกายปะทะกัน พบเห็นได้ตามคอนเสิร์ตร็อก ฮาร์ดคอร์ พังก์ ที่มีมาอย่างช้านาน จนล่าสุดฮิปฮอป ดั๊บสเต็ปและแนวเพลงอื่น ๆ เขาก็มีมอชแล้วด้วยเหมือนกัน ใครที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการเต้นแบบนี้อาจจะคิดว่า ‘พวกเxี้ยนี่จะวิ่งชนกันให้เจ็บตัวทำไม’ ให้ได้อ่านประดับความรู้กันจ้า

การปะทะเพื่อปลดปล่อยและเอ็นจอยไปกับดนตรี

การเต้นรำในกิจกรรมดนตรีนับเป็นของคู่กัน คลื่นเสียงไม่ได้เพียงสั่นสะเทือนกับเยื่อแก้วหูและทำให้เราได้ยินเสียงเพลงนั้น ๆ แต่ในคอนเสิร์ต ร่างกายของเรายังสามารถรับรู้ได้ถึงย่านเบสหรือเสียงอื่น ๆ จากลำโพงที่อาจทำให้ตัวเราสั่นสะเทือนไปด้วย จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง บางคนตบเท้าเบา ๆ ตามจังหวะ บางคนตบมือ บางคนโยกหัว โยกย้ายส่ายเอว และบางคนกระโดดโลดเต้นหนักเบาไปตามจังหวะและความเข้มข้นของดนตรี ดนตรีเองที่มีหลายแบบหลายแนว ท่าเต้นหรือวัฒนธรรมประกอบจังหวะก็ย่อมมีมากมายตามไปด้วย

สำหรับชาวฮาร์ดคอร์ เมทัล พังก์ กรันจ์ เขาก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Rage Culture’ หรือแปลตรงตัวก็ ‘วัฒนธรรมอันเดือดดาล’ มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปลายยุค 70 นู่นแล้วที่อเมริกา ซึ่งมันมีที่มาจาก ‘Pogo Dance’ หรือการโดดขึ้นลงไปรอบ ๆ ตามจังหวะเพลง เป็นการเรียกเลียนมูฟเมนต์ของไม้กระโดดติดสปริงขาเดียว ก่อนจะเริ่มมี variation ต่าง ๆ มากมายและแผ่ขยายความสนุกกันมาทั่วโลกนับหลายสิบปีจนทุกวันนี้ มารู้จักบรรดา Rage Culture บางส่วนกันดีกว่า

Pogo Stick

Head Banging

ไม่มีอะไรมากแค่คุณโยกหัวหน้าหลังไปกับจังหวะดนตรี สิ่งนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ดนตรีอิสลามอายุกว่า 600 ปี แต่ถ้านับในโลกของร็อก Led Zeppelin น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการเฮดแบงนี้เมื่อปลายยุค 60 ภายหลังพบเห็นได้บ่อยกับชาวร็อกผมยาว แฮร์แบนด์ ให้ผมเราพลิ้วไสวกลางอากาศแบบนี้มันสะใจจริงนะ แต่อาจแลกมาด้วยอาการปวดคอในวันรุ่งขึ้นได้

Circle Pit

คือการวิ่งวนกันเป็นวงกลมบริเวณหนึ่ง ๆ ในคอนเสิร์ตร็อก อาจจะมีเพียงหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งวงก็ได้ ผู้ชมจะสนุกไปกับกิจกรรมกลุ่มอันนี้ก่อนที่จะเขยิบเข้าไปในสเต็ปอื่น ๆ ที่จะกล่าวต่อไป

Moshing

สิ่งนี้อาจเรียกว่าเป็น ‘Slamming’ หรือ ‘Slam Dancing’ ตามการเคลื่อนไหวที่คนดูจะพุ่งตัวเข้าหากัน กระแทกกัน ในซีนฮาร์ดคอร์เขามีท่าแบบ ‘Windmilling’ เหวี่ยงแขนเป็นวงกลมเหมือนเป็นใบพัดกังหัน ‘Two Stepping’ แบบกระโดดเหวี่ยงแขนขาไปข้างหน้าสลับข้างกันตามจังหวะ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นใน ‘Most Pit’ หรือ ‘Pit’ หรือ วงมอช โดยสามารถยกระดับความเร็วและแรงขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ตามความเดือดของเพลงและอารมณ์ร่วมของผู้ชม

Wall of Death

หลาย ๆ เพลงที่มีท่อนดรอปหรือบริดจ์ ฟรอนต์แมนก็จะส่งสัญญาณให้คนดูเว้นบริเวณตรงกลางของพื้นที่การแสดงด้านหน้าเวที โดยแบ่งคนดูเป็นสองฝั่งคล้ายทะเลแหวก และเมื่อจังหวะมันได้ (ส่วนใหญ่ก็คือเข้าท่อนฮุกสุดท้าย) ศิลปินก็จะบอกให้คนดูวิ่งเข้าหากันด้วยลักษณะที่เหมือนทหารกรูเข้าบุกประจัญกันในสนามรบนั่นแหละ พอชนกันแล้วตรงกลางก็จะดูเหมือนกำแพงมนุษย์อัดกัน เขาเลยเรียกมันว่ากำแพงแห่งความตาย บางคนก็อาจจะมอชกันต่อในจุดนี้

Crowd Surfing

แปลได้ว่าเซิร์ฟไปบนชาวบ้านเขานะล่ะ แทนที่จะโต้คลื่นก็มาโต้คน สิ่งนี้มักจะเริ่มต้นด้วยการที่ใครสักคนจะปีนขึ้นไปบนเวที (เรียกว่า Stage Diving) แอมป์ หรือสิ่งกีดขวางใด ๆ บริเวณนั้น แล้วโดดลงมาบนฝูงชน ซึ่งเขาก็จะช่วยกันแบกเราและส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ แต่ไม่การันตีว่าแกจะอยู่บนนั้นได้ตลอดเพราะเขาก็มีหมดแรงเหมือนกัน ถ้าร่วงลงมาก็ต้องหาทางตะกายกลับขึ้นไปอีกรอบ แต่หลาย ๆ ครั้งศิลปินที่เล่นอยู่บนเวทีก็กระโจนลงมายังคนดูเหมือนกัน

Rowing

แปลตามตัวว่าพายเรือแหละ แค่ไม่ได้พายในน้ำ เราจะมาพายกันบนบก อันนี้เป็นซับคัลเจอร์ หรือจะเรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดจากลูกหลานไวกิ้งก็ได้ การพายเรือบกนี้มักจะพบได้ตามคอนเสิร์ตเดธเมทัลของชาวสวีดิช (จุดเริ่มต้นสันนิษฐานว่ามาจากวง Amon Amarth) วิธีการก็ไม่มีอะไรมากแค่ลงไปนั่งกับพื้นต่อกันไปเรื่อย ๆ แล้วทำท่าแจวไปในจังหวะ Chug ที่พร้อมเพรียงกัน

แม้ภาพที่มองเข้ามาอาจจะดูเต็มไปด้วยความรุนแรง ส่วนหนึ่งเพราะตัวดนตรีที่ดุดันและเนื้อหาของเพลงเองในบางครั้งจะพูดด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราด ก่นด่าสังคม ระบบ ผู้มีอำนาจ แต่ท่าเต้นต่าง ๆ หรือการพุ่งชนเข้าหากันของคนดูไม่ได้แฝงไว้ด้วยความรู้สึกโกรธหรือเกลียดชังกันแต่อย่างใด หากแต่เหล่านี้คือการสะท้อนซาวด์และจังหวะเหล่านั้นออกมาผ่านกายภาพอีกที เพราะนี่คือวิธีที่คนดูคอนเสิร์ตแสดงออกถึงความสนุกที่พวกเขามีกับเพลง เป็นพื้นที่อิสระที่จะได้ปลดปล่อยความอัดอั้น บางครั้งทำให้เราลืมโลกความจริงไปชั่วขณะและได้โฟกัสอยู่กับปัจจุบันร่วมไปกับคนในมอชพิต

และด้วยความที่มันคือ ‘การกระทบกระทั่งกันทางร่างกายโดยเต็มใจกันทุกฝ่าย’ เราก็มี ‘วิธีการอยู่ร่วมกันวงมอช’ ที่ทุกคนจะได้รับทั้งความสนุกและปลอดภัยมาแบ่งปันกัน

ข้อพึงระวังในการมอช

  • ทุกการมอชย่อมมีการเจ็บตัว ดังนั้นคนที่จะเข้าไปอยู่ในพิตก็จะพึงทราบถึงความเสี่ยงที่จะเจ็บตัวกันอยู่แล้ว นอกจากจะเตรียมใจแล้วก็ต้องเตรียมตัวด้วยส่วนหนึ่ง เลือกใส่รองเท้าที่เคลื่อนไหวสะดวกและมั่นใจได้ว่าสามารถปกป้องนิ้วและเล็บเท้า อย่าใส่ต่างหูห่วงเพราะอาจเสี่ยงถูกเกี่ยวหลุดหายและบาดเจ็บได้
  • อย่าสุ่มสี่สุ่มห้าคราวด์เซิร์ฟ บางทีจำนวนคนดูเบาบาง และไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่พร้อมเหล่านี้แทนที่จะได้ลอยตัวกลางฝูงชน อาจเป็นการที่เราโดดลงมาแล้วได้จูบพื้นแทน
  • พร้อมฉุดทุกคนที่ล้มลงขึ้นมา คอยดูว่าถ้ามีใครถูกชนจนร่วงลงไป แทนที่จะมุ่งหน้าปะทะกันต่ออย่างไม่ลืมหูลืมตาให้ช่วยกันดึงคนนั้นขึ้นมา หรือถ้ามีใครที่ดูไม่ไหวจริง ๆ เหมือนจะเป็นลม ก็ให้ช่วยกันพาเขาออกมา
  • ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ FYI ไว้เฉย ๆ การกางแขนขาที่มากจนเกินไปไม่ได้ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บเพียงอย่างเดียว แต่ตัวเองอาจจะบาดเจ็บจากการซ้น ฟกช้ำ หรือชิ้นส่วนร่างกายอย่างฟัน นิ้วมือ เปราะหักได้ ทางที่เจ็บตัวน้อยที่สุดคือเอาตัวเราชนคนอื่นในแนวระนาบ ไม่ต้องเหยียดอวัยวะส่วนอื่นออกมา ส่วนที่บอบบางอย่างคอและใบหน้าถ้าเลี่ยงการปะทะไว้ได้ก็ดี
  • ผู้หญิงในวงมอช จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน เราแค่อยากจะสนุกกับดนตรีในรูปแบบนี้ ไม่ใช่ว่าที่เราเข้าไปคืออยากโดนถูกเนื้อต้องตัวโดยไม่เต็มใจ ถือเป็นเรื่องดีที่ชาวร็อกไทยส่วนใหญ่จิตใจดี มีน้ำใจ ผู้ชายจะเลี่ยงการปะทะตรง ๆ หรือไม่ได้ชนในความแรงเท่า ๆ กับผู้ชายด้วยกัน หรือบางคนก็มาช่วยยืนกันคนตัวจิ๋ว ๆ รอบนอกให้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะออมมือ สาว ๆ คนไหนอยากมอชก็เตรียมใจตรงนี้ไว้ เลือกจุดยืน หาทางหนีทีไล่ออกจากพิตไว้ด้วยถ้าไม่ไหว
  • ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะมอช คนที่ยืนอยู่รอบนอกเขาอาจแค่อยากดูวง หรืออยากชมการมอชเฉย ๆ อย่าหาทำไปดึงเขาเข้ามา หรือผลักเข้าไปในวงแบบที่เขาไม่ได้เต็มใจหรือไม่ได้เตรียมใจ อันนั้นอันตรายมากกับเขาที่อาจจะบาดเจ็บ และอาจจะกับคุณเองที่จะโดนเขาทุบเอา
  • ทางผู้จัดงานอาจช่วยสอดส่องดูแลความเรียบร้อย มีหน่วยปฐมพยาบาลและหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยพร้อมให้ความช่วยเหลือ ผู้ชมเองก็ต้องมีสติและระมัดระวัง สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว คอยฟังประกาศจากศิลปินและทีมงานเพราะอาจมีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้

การปฏิบัติตัวในวงมอชเหล่านี้ไม่ได้มีกฎตายตัวที่ไหน การทำความเข้าใจที่ง่ายที่สุดของกิจกรรมนี้คือการดูแลซึ่งกันและกัน เพราะมันเกิดมาจากคนที่รักดนตรีเหมือน ๆ กันมาใช้เวลาร่วมกัน บนพื้นฐานความเข้าใจวัฒนธรรมที่เท่า ๆ กันและยังให้เกียรติซึ่งกันและกัน นี่เป็นอีกสิ่งมหัศจรรย์ของเสียงเพลงที่แม้ว่าจะดูหนักหน่วงรุนแรง แต่ทุกครั้งที่วงมอชสลายลงเราจะได้เห็นคนโผกอดกันด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพอยู่เสมอ ย้ำอีกครั้ง มอชเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างมีขอบเขต ทุกคนสมควรได้รับความสนุก และที่สำคัญ ควรได้รับความปลอดภัยจากการร่วมกิจกรรมนี้

แล้วถ้าคุณเป็นชาวร็อกแต่ไม่ชอบมอชล่ะ?

ก็ไม่มีใครว่าอะไรจ้า คุณสามารถยืนโยกและสนุกไปกับเพลงได้ในแบบของคุณ ในกรณีของยูเซอร์ทวิตเตอร์ที่ถ่ายวิดิโอคนกำลังเอ็นจอยในเซอร์เคิลพิตแล้วไปทวีตแขวนแบบนั้น นอกจากจะโดนชาวเน็ตมองว่าเด๋อแล้ว ยังเสี่ยงโดน PDPA ด้วย (ได้ข่าวว่าในงานห้ามถ่ายวิดิโอและภาพนิ่งด้วยนะ แหะ)

อ้างอิง

https://www.metrotimes.com/arts/the-etiquette-of-the-mosh-pit-explained-2201657https://www.arnolditkin.com/blog/concert-injuries/what-is-rage-culture-the-rules-of-mosh-pits/

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy