ทำไมซีนดนตรีนอกกระแสถึงไม่ค่อยเติบโตในต่างจังหวัด?

3.2K views

ทำไมงานคอนเสิร์ตไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่มักจะมีแค่ในกรุงเทพ ฯ (และนนทบุรี) เท่านั้น? ทำไมถึง Live in Bangkok แต่ไม่ยักจะมี Live in Chiang Mai, Khon Kaen หรือ Hat Yai บ้างเลย?

เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่คนกรุงเทพ ฯ อาจจะไม่ค่อยสนใจ แต่ในบริบทของคนต่างจังหวัดที่มีโอกาสเข้าถึงคอนเสิร์ตได้ไม่บ่อยเท่ากับคนเมืองกรุงคงจะต้องมีรู้สึกน้อยใจกันบ้างว่าทำไมศิลปิน (ไม่ว่าจะไทยหรือเทศ) ถึงไม่ค่อยมาเยี่ยมบ้านเกิดตัวเองหรือจังหวัดใกล้เคียงเลย วิเคราะห์เล่น ๆ แล้ว คิดว่ามาจากหลาย ๆ ปัจจัย ดังต่อไปนี้

  1. ไม่มีพื้นที่ให้ศิลปิน (นอกกระแส) สามารถแสดงสดผลงานต้นฉบับของตัวเองได้

แน่นอนว่าเรามีร้านเหล้าอยู่แทบจะทุกจังหวัด แต่ส่วนใหญ่การไปร้านที่มีนักดนตรีประจำที่ก็มักจะเล่นเพลงคัฟเวอร์ บางร้านอาจจะมีศักยภาพในการจ้างศิลปินวงดังไปลงร้าน ในยุคปัจจุบันที่ music streaming เป็นที่แพร่หลายเลยทำให้หลาย ๆ สถานที่พอจะรับรู้ความเคลื่อนไหวและเห็นความเป็นไปได้ของการนำเสนอศิลปินรายใหม่ ๆ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่จะให้โอกาสกับศิลปินหน้าใหม่ไปแสดงเพราะอาจจะไม่ใช่ผลดีในแง่ธุรกิจแบบเห็นผลทันตา นอกจากจะไม่สามารถดึงคนดูจนแน่นร้านเท่าศิลปินอื่น ๆ ที่เพลงถูกเปิดตามวิทยุ ลูกค้าประจำ หรือแม้แต่ตัวผู้ประกอบการเองก็อาจจะไม่ได้ชอบฟังเพลงแนวทางเลือกนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าร้านไม่ได้เป็นผู้จัดเอง คนนอกที่จัดงานสามารถนำเสนอภาพกว้างให้เจ้าของสถานที่เข้าใจและมีข้อตกลงร่วมกันได้งานลักษณะนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

  1. คนรุ่นก่อนไม่ได้เติบโตมากับวัฒนธรรมการไปดูโชว์เพื่อลองฟังอะไรใหม่ ๆ

การไปร้านเหล้าก็เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และดนตรีก็เป็นเพียงเสียงประกอบบรรยากาศการสังสรรค์ ดังนั้นคนก็ไม่ได้คุ้นชินหรือรับรู้ถึงการมีอยู่ของ livehouse หรือรู้สึกว่า livehouse เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นต่อชีวิตที่ต้องหาเช้ากินค่ำ แต่ก็ยังมีวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาอีกมากมายที่ได้ค้นพบวงดนตรีใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากที่วิทยุท้องถิ่นหรือร้านเหล้าเปิด แต่ไม่มีโอกาสได้ไปดูวงเหล่านั้นที่ไหน

livehouse คือสถานที่สำหรับศิลปินอิสระหรือผู้เล่นใหม่ ๆ ของวงการได้เอาเพลงของตัวเองมาเล่น ได้บ่มเพาะฝีมือและพบปะคนดู สิ่งนี้ไม่ได้เพียงแต่ส่งเสริมรายได้ของศิลปิน แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการดูคอนเสิร์ตที่คนดูสามารถสนับสนุนศิลปินได้โดยตรงจากการซื้อบัตรเข้าชม การที่ไม่มี livehouse ตามต่างจังหวัดจึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของศิลปินกับคนดู เพื่อที่จะต่อยอดตัวเองไปสู่งานที่สเกลใหญ่ขึ้น รวมทั้งได้สร้างคอมมิวนิตีร่วมกับแฟนเพลงในท้องที่นั้นๆ

  1. คนดูไม่ค่อยนิยมซื้อบัตรไปชมคอนเสิร์ต?

พอไม่มีสถานที่อย่าง livehouse หรืองานดนตรีที่เก็บค่าบัตรเกิดขึ้นบ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นร้านเหล้าและให้เข้าฟรี ซื้ออาหารเครื่องดื่มเอา ความไม่กล้าจ่าย ไม่กล้าตัดสินใจ รอเพื่อน จ่ายแล้วได้อะไร มีโต๊ะให้มั้ย มีเหล้าแถมรึเปล่า เพราะเขาคุ้นชินกับระบบร้านเหล้าในการจัดอีเวนต์ดนตรี  มันเลยยังไม่เกิดวัฒนธรรมการซื้อบัตรไปดูคอนเสิร์ตเพื่อสนับสนุนศิลปินอย่างเดียว และเรื่องนี้มันคงจะหนีไม่พ้นกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในต่างจังหวัดที่อาจจะไม่เยอะเท่ากรุงเทพ ฯ จึงทำให้การใช้จ่ายของคนต่างจังหวัดไม่เพียงพอต่อการหาสิ่งพักผ่อนหย่อนใจให้ตัวเองอย่างการเสพศิลปะหรือดนตรี ลำพังแค่ทำงานงก ๆ เพื่อให้มีกิน ผ่อนค่างวดต่าง ๆ ก็ลำบากมากพอแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปดื่มด่ำกับศิลปะ โดยเฉพาะศิลปินที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ทำไมเราจะต้องเสียเงินไปซื้อบัตรเพื่อไปดูไปฟังเพลงที่เราไม่รู้จักด้วย แต่พอมีคนเริ่มทำเพราะหวังจะมีทางเลือกใหม่ ๆ ให้คนฟัง ก็สู้ค่าเช่าและการขาดทุนต่าง ๆ ไม่ไหว ด้วยปัจจัยที่เล่ามาข้างบน เพราะผู้จัดเองก็คงไม่อยากเจ็บตัวตลอดเวลา ดูเหมือนจะเป็นวงจรที่แก้ไม่ได้ แต่กว่าสิ่งนี้จะจุดติดในกรุงเทพ ฯ ก็ใช้เวลาหลายสิบปีเหมือนกัน

  1. ศิลปินไม่ได้รับโอกาสในบ้านเกิดของตัวเอง

ศิลปินหลาย ๆ คนไม่มีงานโชว์ในบ้านเกิดตัวเองเลย บางคนขึ้นชื่อว่าเป็นวงเชียงใหม่ แต่คนเชียงใหม่ด้วยกันเองคิดว่าเป็นวงกรุงเทพ ฯ เพราะมีงานเล่นในกรุงเทพ ฯ มากกว่าในบ้านเกิดตัวเองซะอีก! เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงจากปากของศิลปินจังหวัดนั้น ๆ ที่มีงาน sold out ในกรุงเทพ ฯ ติดกันหลายวัน แต่ในบ้านเกิดตัวเองแทบจะไม่มีงานจ้างในแต่ละเดือน (“กูขี่รถรอบคูเมืองทุกวัน” said เฟนเดอร์ Solitude is Bliss) ถ้าไม่ต้องทำทัวร์ระเห็ดไปเล่นจังหวัดอื่น ๆ เพื่อจะได้มีงานเล่น ก็ต้องเล่นคัฟเวอร์ทำมาหากินตามร้านเหล้าไปแทน หรือบางทีพอวงจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นมาเล่นกลับมีคนรอจะไปดูกันเพียบ บางทีเราอาจจะมี hidden gem อยู่ในจังหวัดของเราเองก็ได้ ลองหันมา support your local artists กันหน่อย

  1. ไม่มี Local Heroes?

การที่ MILLI หรือ Lisa BLACKPINK เป็นคนไทยที่ไปโด่งดังหรือได้เล่นในเทศกาลระดับโลกอย่าง Coachella มาแล้วถึงจะทำให้หลายคนรู้สึกภูมิใจในความเป็น ‘คนไทย’ ของศิลปินดังกล่าว และรัฐบาลก็ถึงเริ่มจะหันมาสนใจเรื่อง soft power และผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีกันอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งอาจจะสามารถตั้งคำถามว่า เราขาดศิลปินต้นแบบที่เป็นคนจากจังหวัดนั้น ๆ จริงหรือเปล่า ถึงทำให้คนในจังหวัดมองข้ามศิลปินที่มีความสามารถของตัวเองไป หรือจริง ๆ คือมี แต่พวกเขาไม่มีฐานแฟนเพลง ไม่รู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา ต้องรอศิลปินให้ไปดังในกรุงเทพ ฯ และในต่างประเทศถึงจะมีตัวตนขึ้นมา ในอีกแง่นึงคือเรายังขาดศิลปินที่พยายามทำวัฒนธรรมดนตรีท้องถิ่นให้ร่วมสมัยอย่าง Tontrakul, Paradise Bangkok Molam International Band, Rasmi Isan Soul หรืออันที่จริงคือต้องยอมรับว่าศิลปินเหล่านี้ได้รับความสนใจจากต่างชาติมากกว่ากันแน่

  1. ไม่มีสื่อท้องถิ่นที่เป็นกระบอกเสียงหรือสนใจนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขาจริง ๆ

น้อยมากที่สื่อท้องถิ่นของแต่ละที่จะพูดถึงซีนดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรมทางเลือก เราเห็นที่ขอนแก่นมี The Isaan Record ที่เป็นอีกสื่อน่าสนใจที่พูดเรื่องสังคม ชาติพันธุ์ ปากท้องของคนอีสานได้น่าสนใจมาก ๆ เพราะอยากทำลายมายาคติหรือภาพลักษณ์เดิม ๆ ที่คนถิ่นอื่นมองคนอีสานแบบผิด ๆ แต่ก็ยังไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างดนตรีโดยเฉพาะแต่นับว่าเป็นหมุดหมายที่ดี ส่วนที่เชียงใหม่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมก็แน่นอนว่ามีสื่อการท่องเที่ยวกินดื่มรีวิวมากมาย แต่ไม่ยักมีสื่อนำเสนอดนตรีทางเลือก ซึ่ง ‘ชาวดนตรีเชียงใหม่’ เองก็เล็งเห็นปัญหานี้และกำลังผลักดัน/รวบรวมกลุ่มคนทำงานด้านสื่อเพื่อที่จะกระจายข่าวสารท้องที่ของพวกเขาให้ได้มีเสียงที่ดังขึ้นด้วย

  1. ไม่มีพื้นที่สาธารณะเพียงพอช่วงกลางวัน ทุกอย่างไปจบที่ร้านเหล้าและสถานบันเทิงยามค่ำคืน

เป็นปัญหาในหลายพื้นที่ที่สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในช่วงกลางวันอย่างสวนสาธารณะ หรือลานกิจกรรมที่ร่มรื่นที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมีน้อยมากจนน่าใจหาย สถานที่ที่คนจะไปใช้ชีวิตช่วงกลางวันกันในวันหยุดก็เป็นไปได้แค่ที่ห้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินไปเดินจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า บางครั้งสถานที่อย่างสวนสาธารณะหากจะจัดกิจกรรมอะไรก็ต้องมีการขออนุญาตจากองค์การบริหารท้องถิ่น ส่วนการจะไปรับชมรับฟังดนตรีแบบมีกิจลักษณะจริง ๆ ก็มีแต่ร้านเหล้าช่วงกลางคืนเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปีไม่สามารถเข้าไปรับชมบางงานที่จัดขึ้นในสถานบันเทิงได้ ศิลปินบางคนก็อาศัยการเปลี่ยนไปจัดงานที่สถานศึกษา ซึ่งน่าสนใจว่าได้รับการตอบรับจากนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก สิ่งนี้ส่งผลกระทบกับการที่ทำให้คอมมิวนิตีดนตรีเติบโตช้าขึ้นด้วยเพราะไม่มีที่แฮงเอาต์สำหรับคนรุ่นใหม่

  1. สังคมกลุ่มก้อนไม่รับความแปลกแยก (collective consciousness)

เหตุผลนึงที่เราเคยคิดกันว่าคนต่างจังหวัดฟังเพลงนอกกระแสน้อย ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะเรื่องสังคมที่เป็น collectivism (คติรวมหมู่) มากกว่า individualism (ปัจเจกนิยม) หนึ่งในผู้เขียนพบว่า สมัยเด็ก ๆ ตอนที่ตนอยู่ต่างจังหวัดก็รู้สึกได้เองว่าความเป็นกลุ่มก้อนของเพื่อนฝูงจะมีอิทธิพลสูงมาก ๆ หากเรามีความสนใจไม่เหมือนคนอื่นจะถูกมองว่าแปลกและถูกบุลลี่ในที่สุด ซึ่งมายเซ็ตของการฟังเพลงนอกกระแสก็มีความแปลกแยกในตัวของมันเองอยู่แล้ว นั่นก็ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากสภาพสังคมที่ปลูกฝังถึงการนับเอาพรรคพวกมาก่อนคนนอก เราเชื่อว่าส่วนนึงคนไทยเองก็เป็นคนขี้อาย ไม่ใช่ธรรมชาติที่จะไปผูกมิตรกับคนแปลกหน้าก่อน จึงอาจจะเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะแสดงออกว่าชอบสิ่งที่คนอื่นยังเข้าไม่ถึง และเมื่อเราเป็นคนเดียวที่ชอบสิ่งที่ไม่เหมือนใครแล้วยังไม่รู้อีกว่าจะไปหาคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กันที่ไหนจากการไม่มีสื่อ ไม่มีพื้นที่แสดงออก ไม่มีการแลกเปลี่ยน ถ้าไม่มีคนลุกขึ้นมาทำอะไรพร้อมกันก็ไม่สามารถที่จะเปิดประตูไปสู่สิ่งใหม่ได้

  1. ข้อจำกัดทางศาสนา

ทางบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ เราทราบกันดีว่าพวกเขาเป็นพื้นถิ่นที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมมาก แต่เรื่องซีนดนตรีทางเลือกหรือร่วมสมัยแทบไม่ถูกพูดถึง หรือแทบจะไม่มีด้วยซ้ำ อย่างมากก็คือตัวเมืองอย่างหาดใหญ่ หรือสงขลาที่ก็จะมีนักเรียนนักศึกษาที่ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพ ฯ แล้วกลับบ้านไปเอาวัฒนธรรมเมืองมาเผยแพร่ หลาย ๆ วงดนตรีก็มาจากหาดใหญ่อย่าง Vippalaz Technique, Chucky Factory Land แต่ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ประจำอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเอง

เรายังพบอีกว่านักเรียนจากจังหวัดที่มีความเคร่งทางศาสนา ที่ขึ้นมาเรียนกันในสงขลาก็คือมาเรียนจริง ๆ เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ที่การเข้าถึงดนตรีของเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์มีกฎหมายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยกระทบหนึ่ง แต่สำหรับภาคใต้ พวกเขาไม่เที่ยวร้านเหล้าแต่ไปนั่งรวมตัวกันที่ร้านน้ำชา แต่การร้องรำทำเพลงก็เป็นเพลงพื้นถิ่น เพลงโฟล์ก ที่ร้องด้วยภาษายาวี มีลิเกฮูลูที่ตัวดนตรีมีเสน่ห์และเอกลักษณ์น่าสนใจมาก แต่เนื้อหาไม่มีการพูดถึงเรื่องรักใคร่เพราะขัดต่อหลักศาสนา ส่วนมากก็จะพูดเรื่องชีวิต การทำกิน สังคมเสียมากกว่า บางทีก็เลี่ยงไปทำเป็นเพลงบรรเลงเสียเลย ที่ยะลาก็มีอดีตนักศึกษาดนตรีพยายามทำเพลงแจ๊สและชูความเป็น deep south ของตัวเองผ่านผลงานเพลงร่วมสมัย มีค่ายเพลง Studo Vol Records ที่มีวง Anecha Quintet และเร็กเก้ YALA STEADY

เราได้พูดคุยกับผู้ชื่นชอบดนตรีคนหนึ่งที่มีความสนใจในความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของสามจังหวัดก็เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า อันที่จริงแล้วปัตตานีก็เคยมีวงฮาร์ดคอร์หรือพังก์มาก่อน แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการมีครอบครัวหรือเป็นสิ่งที่ครอบครัวคาดหวังไว้ก็ดี พวกเขาก็หันหลังให้กับวงดนตรีและเลือกเข้าสู่ร่มเงาของศาสนาแทน ซึ่งสิ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือการสนับสนุน ฝากซื้อผลงานและเมิร์ชของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ แต่ช่วงที่มีการถือศีลพวกเขาก็ทำตามจารีตอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่สำหรับบางท้องที่ยังมองว่าการมีดนตรีหรือเล่นตลกเป็นกิจกรรมเหล่านี้ผิดบาปเพราะทำให้ห่างไกลจากคำสอนของพระเจ้า

  1. ไม่มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ทุกอย่างมากระจุกอยู่กรุงเทพ ฯ

ส่วนตัวกลุ่มผู้เขียนมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวโบงหลายระดับและหลายประเด็น (ไล่กลับไปได้ตั้งแต่ข้อแรก) นี่คือหนึ่งในรากของปัญหาหลาย ๆ อย่างในประเทศนี้ หากเรามองเข้าไปในซีนดนตรีนอกกระแสของกรุงเทพ ฯ และตั้งคำถามกับมันว่าทำไมซีนนี้ถึงเติบโตและซีนในจังหวัดอื่น ๆ กลับไม่โต ก็ลองสังเกตดูว่าคนในซีนดนตรีนอกกระแสของกรุงเทพ ฯ เป็นใคร ส่วนหนึ่งก็คือคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียน มาทำงาน มาตามหาความฝันที่กรุงเทพ ฯ กันทั้งนั้น การที่โอกาสด้านการศึกษาและเศรษฐกิจกระจุกอยู่ที่นี่ก็ทำให้เกิดภาวะสมองไหลจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพ ฯ ตอนนี้เราต้องการเห็นการกระจายตัวทางวัฒนธรรมทางเลือกไปยังพื้นที่อื่น ๆ บ้าง คิดว่าเชียงใหม่กำลังจะเป็นที่ที่มีความเป็นไปได้เพราะเริ่มมีคนจากถิ่นฐานแบ็กกราวด์ต่าง ๆ ย้ายเข้ามาอยู่กันมากขึ้นพร้อมวัฒนธรรมใหม่ ๆ กับการที่เป็นอีก melting pot ใหม่เลยทำให้มีมายเซ็ตที่เปิดกว้างขึ้นด้วย


นอกเหนือจากความเป็นไปได้ด้านบนว่าทำไมซีนหรือคอมมิวนิตีของดนตรีนอกกระแสในต่างจังหวัดถึงไม่ค่อยเติบโต ก็คงจะเป็นการขาดความต่อเนื่องและจำนวนผู้เล่นในซีน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหลาย ๆ จังหวัดก็มีการพยายามสร้างซีนดนตรีนอกกระแสของตัวเองขึ้นมาอยู่บ้างเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกับกรุงเทพ ฯ หรือเชียงใหม่ตรงที่หลายๆ ที่บุคลากรที่ขับเรื่องพวกนี้อาจจะมีจำนวนไม่มากพอ หลายๆ จังหวัดมีคนรันอยู่แค่คนสองคนก็ยิ่งมีแรงและทรัพยากรที่จำกัดด้วย งานพวกนี้จึงเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก และการมีอยู่ไม่กี่คนก็อาจจะนำเสนอได้เพียงไม่กี่แนวเพลงตามรสนิยมของคน ๆ นั้น

ทางด้านศิลปินท้องถิ่นเองก็มีปัญหาคล้าย ๆ กันคือออกผลงานไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควรเพราะอาจจะด้วยทุนส่วนตัว หรือไม่มีเวลาในการมาสร้างสรรค์เพราะก็ต้องทำงานประจำ หรือเล่นดนตรีประจำเพื่อหารายได้ส่วนนั้นมาทำเพลง ในขณะที่กรุงเทพ ฯ มีจำนวนผู้เล่นที่เยอะกว่า มันจึงเกิดความต่อเนื่อง มีคนจัดงานอยู่เรื่อย ๆ กลายเป็นระบบนิเวศที่แข็งแรง ซึ่งการรวมศูนย์ทางอำนาจและโอกาสทางเศษฐกิจเกี่ยวเต็ม ๆ ถ้าเพิ่มเติมอีกอันนึง เรามองว่าที่คนคิดริเริ่มเรื่องพวกนี้ในต่างจังหวัดมันน้อย ส่วนนึงเป็นเรื่องมายเซ็ตด้านบนที่ทำให้หลาย ๆ คนถอดใจไปก่อนว่า ‘สิ่งนี้มันเกิดขึ้นที่บ้านเราไม่ได้หรอก’

แต่ก็ยังมีเรื่องราวดี ๆ เพราะเราก็ยังมีคนที่มีความเชื่อว่ามันจะดีขึ้นและพยายามสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาให้บ้านเกิดของตัวเอง งานดนตรีนอกกระแส อย่าง Hongian Music Festival ที่ศรีสะเกษที่จัดโดยเล็ก Desktop Error โดยจัดมา 4 ครั้ง ก่อนที่ครั้งที่ 5 จะโดนผลกระทบจากโควิดจึงต้องยกเลิกไป ก็สามารถชี้วัดได้บางอย่างในการพูดถึงซีนดนตรีนอกกระแสกับต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่เล็กมาก ๆ อย่างศรีสะเกษ เขาเริ่มจัดด้วยสเกลงานที่มีคนมา 500-600 คน โดยมีคนพื้นที่ศรีสะเกษ  20-30%  อีสานจังหวัดใกล้เคียง 30%  กทม 40-50%  และนอกจากนั้น 5% ซึ่งส่วนมากการซื้อบัตรก็จะเป็นการซื้อคนเดียวมาจากกรุงเทพ ฯ และหัวเมืองจังหวัดใหญ่ก่อนเสมอ คนในพื้นที่จะมาท้าย ๆ ซื้อเยอะ ๆ เพื่อนชวนมากันถึงจะค่อยมาซื้อ

ล่าสุดเล็กเปิดบาร์ ชื่อ ‘ถั่วงอก’ เป็นสถานที่พักผ่อน ฟังเพลง พูดคุยพบปะ บรรยากาศสบาย ๆ กันเอง และมีเครื่องดื่มหลากหลายและจัดงานดนตรีบ้างตามความถนัด แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ให้กับวงหรือศิลปินที่สนใจอยากมาแสดงงานที่ศรีสะเกษ

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว แต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับซีนดนตรีในจังหวัดของตัวเอง หรือมีข้อมูลอินไซด์อยากมาแบ่งปันกับเรา พิมพ์ไว้ที่คอมเมนต์ได้เลย

อ่านต่อ
‘ชาวดนตรีเชียงใหม่’ กลุ่มคนที่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีที่ยั่งยืน
‘สงขลา’ แม้ความหวังริบหรี่(?)แต่ซีนอินดี้ยังต้องลุยต่อ

+ posts

นานๆทีจะเขียน

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy