ซัพพอร์ตศิลปิน ในยุคที่ทุกคนหันมาฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งมากขึ้น แฟนเพลงกลับมามีส่วนที่สำคัญกับศิลปินหรือวงดนตรีมากกว่ายุคไหน ๆ สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Spotify, Apple Music, and Tidal ไม่ได้เปลี่ยนแค่พฤติกรรมในการฟังเพลงของทุกคนเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนแปลงวิธีหารายได้ของศิลปินไปด้วย ก่อนหน้านี้ การซื้อแผ่นเสียงหรือซีดีคือวิธีหลักในการสนับสนุนศิลปินที่เราชื่นชอบ แต่ทุกวันนี้พวกเขาต้องเจอกับระบบที่ซับซ้อนขึ้น เพียงหนึ่งคลิกและอัลกอริทึมอาจกระทบถึงรายได้และชื่อเสียงศิลปินได้ทันที
ในบทความนี้ ทีมคอสมอสอยากชวนทุกคนพูดคุยว่า ในฐานะของแฟนเพลงแล้ว เราจะ ซัพพอร์ตศิลปิน ที่เรารักยังไงดีในยุคนี้ สำรวจเศรษฐศาสตร์ของสตรีมมิ่ง บทบาทสำคัญของโซเชียลมีเดีย และความสำคัญของงานโชว์รวมถึงการซัพพอร์ตศิลปินโดยตรงวิธีอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ทุกคนสนับสนุนศิลปินได้ตรงจุดมากขึ้น และพวกเขาจะได้มีแรงสร้างผลงานให้เราฟังไปนาน ๆ
ความสะดวกสบายที่ไม่สมดุลกับสิ่งที่ได้กลับมา
สตรีมมิงเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราฟังเพลงไปตลอดกาล ด้วยเพลงนับล้านที่สามารถเข้าถึงได้ทันที แต่รายได้ที่ศิลปินได้รับจากการสตรีมนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนการฟัง Pitchfork เคยออกบทความในปี 2018 ชื่อ How to Be a Responsible Music Fan in the Age of Streaming (ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจหลักให้เราเขียนบทความชิ้นนี้ด้วย) เล่าว่าการมีเพลงอยู่บนสตรีมมิ่งอาจเพิ่มการเข้าถึงให้กับศิลปินเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ไม่ได้นำไปสู่การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน สำหรับศิลปินอินดี้หลายคน รายได้จากการฟังบนสตรีมมิ่งอาจต่ำถึงเศษสตางค์ต่อการฟังหนึ่งครั้ง
มันแตกต่างอย่างชัดเจนจากยุคที่แฟน ๆ ยังคงซื้อซีดีอัลบั้มกัน ซึ่งทำให้ศิลปินได้รับรายได้โดยตรง แถมได้ส่วนแบ่งที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดแม้จะถูกค่ายเพลงหรือผู้จัดจำหน่ายหักไปบ้าง
เทียบง่าย ๆ คือศิลปินบน Spotify จะต้องถูกฟังถึง 3,500 ครั้งเพื่อให้ได้เงินประมาณ 1$ (ประมาณ 33.54 บาท ในวันที่ 22 ตุลาคม) อ้างอิงจากบทความของ Business Insider แม้แต่ศิลปินอินดี้ที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้างยังต้องพึ่งพาการสตรีมนับล้านครั้งเพื่อให้มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพนี้ได้
ในฐานะแฟนเพลง สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจความแตกต่างทางเศรษฐกิจนี้ การสตรีมเพลงของศิลปินเพียงอย่างเดียวไม่เคยเพียงพอให้เขาทำงานต่อไปได้ โดยเฉพาะสำหรับศิลปินที่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเป็นศิลปินอิสระ เพื่อสนับสนุนวงดนตรีเหล่านี้จำเป็นต้องทำมากกว่าการสตรีมและหาวิธีอื่นในการสนับสนุนทางการเงินของพวกเขาด้วย
แล้วเงินค่าสตรีมมิ่งของพวกเราหายไปไหน ?
คำถามที่แฟนเพลงหลายคนสงสัย คือค่ารายเดือน Premium ของเรามันไปไหนหมดนะ นี่เป็นประเด็นสำคัญเมื่อพูดถึงการ ซัพพอร์ตศิลปิน มีบทความใน Audiophile Style อธิบายว่า ค่าสมาชิกสตรีมมิ่งของทุกคนจะถูกแจกจ่ายไปทั่วทั้งแพลตฟอร์ม โดยเงินก้อนนี้ส่วนใหญ่จะตกเป็นของค่ายเพลงใหญ่ ๆ และศิลปินชื่อดังที่มียอดสตรีมสูงกว่าศิลปินที่เราชอบ ศิลปินอินดี้มักได้รับส่วนแบ่งที่น้อยกว่าเสมอ
อย่าง Spotify เอง ก็ใช้ระบบ “pro-rata” ค่าสมาชิกรายเดือนของคุณจะถูกรวมกับค่าสมาชิกของผู้ใช้หลายล้านคนและแจกจ่ายตามจำนวนการฟังทั้งหมด หมายความว่าหากเราฟังวงดนตรีอินดี้ที่ไม่ได้มียอดสตรีมเป็นล้าน การจ่ายเงินจากค่าสมาชิกของเราอาจจะไปไม่ถึงศิลปินเหล่านั้นด้วยซ้ำ
สำหรับศิลปินที่มีฐานคนฟังน้อย กลับถูกระบบบีบคั้นให้รู้สึกท้อแท้ เพราะแฟนเพลงของพวกเขาอาจไม่รู้ว่าที่ตั้งใจฟังซ้ำ ๆ กันอยู่นี่ ไม่ได้ช่วยสนับสนุนศิลปินที่พวกเขาชอบจริง ๆ การที่ศิลปินอินดี้จะไปแข่งขันกับป๊อปสตาร์ระดับโลกในระบบแบ่งรายได้แบบนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก
แล้วเราควรซัพพอร์ตศิลปินยังไงดี
- ซื้อเพลงและ Merch ของวงที่เราชอบโดยตรง — หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสนับสนุนวงโปรดของเราในยุคสตรีมมิ่ง ก็ยังเป็นการซื้อสินค้าของวงของศิลปินหรือ Merchandise โดยตรง
การขาย Merchandise ยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับวงดนตรี เสื้อยืด โปสเตอร์ และของที่ระลึกอื่น ๆ มักสร้างรายได้มากกว่าการขายเพลง ทุกการจับจ่ายของเราที่ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ของวง ร้านไวนิลใกล้บ้านหรือในงานโชว์ของพวกเขา อาจช่วยให้วงมีเงินทำเพลงกันต่อไปโดยที่เราก็ยังได้สิ่งของที่จับต้องได้กลับไปด้วย นอกจากนี้ การใส่เสื้อยืดของวงที่เราชอบหรือคอยแชร์รูปโปสเตอร์ของพวกเขาบนโลกออนไลน์ ยังเป็นการช่วยโปรโมตที่ฟรีและเราไม่ต้องเสียอะไรเลย ซึ่งช่วยเพิ่มการมองเห็นและฐานแฟนคลับของพวกเขาได้อีกทางด้วย
มีอีกวิธีที่ทำได้เหมือนกันคือการซื้อเพลงของพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Bandcamp เมื่อเราซื้ออัลบั้มดิจิทัล สั่งซีดี แผ่นเสียงหรือเสื้อผ่าน Bandcamp รายได้จะเข้ากระเป๋าของศิลปินโดยตรงเหมือนกัน
โมเดลของ Bandcamp อนุญาตให้ศิลปินตั้งราคาของตัวเองได้อิสระ และแพลตฟอร์มก็หักค่าธรรมเนียมน้อยมากจากการขายแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นระบบที่ยั่งยืนกว่าสำหรับศิลปินตัวเล็ก ๆ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “Bandcamp Fridays” ที่แพลตฟอร์มจะยกเว้นส่วนแบ่งรายได้ในวันศุกร์บางสัปดาห์ เป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่จะสนับสนุนศิลปินโดยตรง การซื้อของกับพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มนี้อาจชดเชยรายได้ที่ศิลปินสูญเสียจากสตรีมมิ่งได้บ้าง
- แชร์เพลงของพวกเขา — การจะหาเพลงที่ชอบหรือการกดฟังเพลงใหม่ ๆ สามารถทำได้ง่ายมากในยุคนี้ เพราะฉะนั้น การกดแชร์เพลงของศิลปินที่เราชอบก็ทำได้ง่าย ๆ เช่น
โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับศิลปินในการเชื่อมต่อกับแฟน ๆ ของพวกเขา และสำหรับแฟน ๆ ในการโปรโมตศิลปินที่พวกเขารัก Instagram, TikTok และ Twitter เปิดโอกาสให้แฟนเพลงช่วยกระจายข่าวเกี่ยวกับเพลงใหม่ โชว์ที่จะมาถึงได้อย่างง่ายดาย
ในฐานะแฟนเพลง บทบาทของเราในการโปรโมตศิลปินมีมากกว่าแค่การฟังเพลงของพวกเขา การแชร์เพลงของศิลปินในโซเชียลมีเดียสามารถช่วยขยายขอบเขตการเข้าถึงของพวกเขาได้อย่างมีนัยยะ การรีทวีต แชร์ Story Instagram หรือโพสต์ TikTok สามารถช่วยแนะนำเพลงของศิลปินที่เราชอบให้กับกลุ่มคนฟังใหม่ ๆ ได้ทั้งหมด ช่วยให้พวกเขาสร้างฐานแฟนคลับที่กว้างขึ้น
ศิลปินหลายคนก็อาศัยคอมมูของแฟนคลับในการสร้างกระแสให้กับการปล่อยเพลงใหม่ ๆ ถ้าอยากซัพพอร์ตศิลปินที่เรารักจริง ๆ การเข้ากลุ่มโซเชียลไปจนถึงกระทู้พันทิป ก็อาจทำให้เรากลายเป็นทีมมาเก็ตติ้งของวงเลยก็ได้ ศิลปินอินดี้มักไม่มีงบประมาณในการโปรโมตที่ใหญ่โตอะไรมากมาย การเริ่มด้วยการพูดถึงเพลงแบบปากต่อปากหรือการป้ายยากันบนชุมชนออนไลน์จึงเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จของพวกเขาด้วย
- ไปดูโชว์ของพวกเขา — หนึ่งในวิธีที่เห็นผลลัพธ์ได้ชัดที่สุดในการสนับสนุนวงดนตรีที่คุณชอบคือการซื้อตั๋วไปดูโชว์ของพวกเขา เพราะมันคือรายได้หลักของวงเลยทีเดียว
แม้ว่าการสตรีมอาจสร้างรายได้ได้นิดหน่อยให้กับวงที่เราชอบ แต่การเล่นโชว์หรือการทำทัวร์คอนเสิร์ตยังคงเป็นรายได้หลักที่มีมูลค่าสูงที่สุดจของศิลปิน รายได้จากการขายบัตรคอนเสิร์ตและการขาย Merch หน้างานคือวิธีสร้างรายได้ทางตรงให้กับศิลปินมาเสมอ และช่วยให้พวกเขายังสามารถเล่นดนตรีและทำทัวร์ครั้งต่อไปได้
ในโลกหลังโรคระบาด ศิลปินหลายคนก็กระตือรือร้นที่จะกลับมาทำทัวร์คอนเสิร์ตกันอีกครั้ง ในฐานะแฟนเพลง การไปคอนเสิร์ตเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยซัพพอร์ตแค่การเงิน แต่ยังช่วยกันสร้างประสบการณ์ทางดนตรีที่น่าจดจำ ที่ไม่สามารถถูกแทนที่ได้ด้วยแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไหน ๆ พลังของคนไปคอนเสิร์ตยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในการสร้างสรรค์เพลงใหม่ ๆ และทำให้พวกเขามีกำลังใจในการทำงานต่อไปด้วย
เทศกาลดนตรีเองก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการสนับสนุนศิลปินที่เราชอบ โดยเฉพาะศิลปินอินดี้หรือวงที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก การไปถึงก่อนเวลาและดูโชว์ของวงเล็ก ๆ เหล่านี้ พร้อมทั้งถ่ายลงโซเชียลมีเดียซักหน่อย ความพยายามเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเราเนี่ยแหละ ที่จะช่วยให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นและได้รับการยอมรับมากขึ้นในอตุสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้
นอกจากทั้ง 4 วิธีที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้ ยังมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่เราอาจทำได้อีกมากมาย แม้พูดออกมาแล้วมันอาจจะดูไกลตัว แต่ความจริงแล้วเราสามารถทำได้
อย่าง crowdfunding หรือการระดมทุน ที่หลายศิลปินเลือกจะใช้แพลตฟอร์มอย่าง Patreon หรือ Kickstarter ในการรับบริจาคเพื่อทำอัลบั้มใหม่ หรือการทำทัวร์ในฝัน ซึ่งวงก็อาจจะให้ของตอบแทนบางอย่างกับคนที่มาซัพพอร์ต ทั้งการให้เข้าดูโชว์ในทัวร์ฟรี หรือการส่งแผ่นซีดีหรือไวนิลให้เลยสำหรับคนที่บริจาคเยอะหน่อย ก็เป็นอีกทางเลือกที่เราสามารถซัพพอร์ตเงินให้กับศิลปินโดยตรงได้เหมือนกัน
หรือวงต่างประเทศหลายวงก็ใช้ระบบ subscription จ่ายเงินซัพพอร์ตแบบรายเดือนให้กับศิลปิน เหมือนเราสมัครระบบสตรีมมิ่งดูหนังฟังเพลงเลย โดยจะมีผลตอบแทนแต่ต่างกันไปในทุกเดือน บางเดือนศิลปินก็อาจจะทำ Merch เอ็กซ์คลูซีฟส่งมาให้เป็นของตอบแทน หรือให้โอกาสได้เข้าชมโชว์พิเศษฟรี ๆ หรือได้ฟังเพลงใหม่อัลบั้มใหม่ก่อนใคร ซึ่งก็เป็นวิธีซัพพอร์ตอีกวิธีที่น่ารักเหมือนกัน ซึ่งทั้งสองวิธีก็หลีกเลี่ยงข้อจำกัดของสตรีมมิ่ง รวมถึงได้สร้างความสัมพันธ์กับเหล่าแฟนเพลงเดนตายได้จริง ๆ เหมือนเดิม
อีกวิธีที่เราทำได้และมักจะมีปัญหาบ่อย ๆ ในบ้านเราคือ การเช็คให้แน่ใจว่าเราไม่ได้กำลังอุดหนุนการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ใช่มั้ย บางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีการนำเพลงของศิลปินไปทำซ้ำหรือดัดแปลงได้ โดยที่ศิลปินเจ้าของเพลงไม่ได้รับส่วนแบ่งจากสิ่งเหล่านั้นด้วย ซึ่งการฟังเพลงจากช่องทางที่ศิลปินได้เงินจากการฟังของเราจริง ๆ ก็สำคัญเหมือนกัน รวมถึง Merch ปลอมทั้งหลายหรือสินค้ารีเซลราคาแพง ที่ศิลปินเองไม่ได้รับส่วนต่างจากราคาที่เราจ่ายไป ถ้าทำได้ก็ห้ามใจไม่อุดหนุน แล้วรอไปซื้อตรงกับศิลปินตามร้านไวนิลหรือจากมือศิลปินงานโชว์ต่าง ๆ ดีกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ไม่แสวงกำไร หรือการประท้วงเพื่อสิทธิของศิลปินอีกมากมายที่เราอาจเข้าร่วมได้ เช่นแคมเปญ Justice at Spotify ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินค่าสตรีมมิ่งให้ยุติธรรมกับศิลปินตัวเล็กมากขึ้น รวมถึงการเปิดเผยวิธีจ่ายเงินศิลปินทุกคนอย่างโปร่งใส รวมถึงการที่ Spotify ให้สิทธิพิเศษกับศิลปินบางกลุ่มเพื่อให้เพลงของศิลปินเหล่านี้ไปอยู่ในเพลย์ลิสต์ดัง ๆ บนแพลตฟอร์มตัวเอง หรือให้อัลกอริทึมผลักดันเพลงเหล่านี้มากกว่าเพลงคนอื่น
ซึ่งแคมเปญนี้เองก็มีทั้งศิลปินและแฟนเพลงมากมายเข้าร่วมด้วย ในฐานะที่เราเป็นแฟนเพลงคนหนึ่งถ้าศิลปินที่เรารักไม่ได้รับความยุติธรรม ก็ไม่ใช่หน้าที่ของใครแต่เป็นเราเองที่จะยืนเคียงข้างศิลปินที่เรารักนั่นเอง
การเป็นแฟนเพลงที่น่ารักของศิลปินในยุคสตรีมมิ่งอาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องทำมากกว่าแค่การฟังเพลงใหม่ ๆ ของพวกเขา แต่ถ้าพวกเราทำได้ มันไม่ได้ช่วยแค่ศิลปินคนโปรดของเราให้เติบโตและทำอาชีพศิลปินต่อไปได้ แต่ยังมีส่วนช่วยสร้างอุตสาหกรรมดนตรีให้ยั่งยืนและอยู่กับเราไปได้อีกนาน ในฐานะแฟนเพลง เรามีอำนาจมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนตัวบุคคลหรือการร่วมกันเรียกร้องระบบที่ดีกว่าให้กับศิลปิน เพื่อขอบคุณที่ทำให้ชีวิตของเราผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาได้ด้วยดนตรีของพวกเขา
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา