NEW ARTIST 101: การเป็นศิลปินหน้าใหม่ ทำยังไงถึงจะอยู่รอดในยุคปัจจุบัน

by Widthawat Intrasungkha
3.2K views
ศิลปินหน้าใหม่ ทำยังไงถึงจะอยู่รอดในยุคปัจจุบัน article

การเริ่มต้นสำหรับศิลปินหน้าใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ว่าจะในประเทศไหนก็ตาม ไม่ใช่ทุกวงที่จะสามารถจะดังเปรี้ยงปร้างจากการปล่อยเพลงเพียงแค่ซิงเกิลเดียว แต่มันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะต้องสอดคล้องกันในความสำเร็จนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเพลงเองที่ทำงานได้ดีบน streaming platform ต่างๆ หรือตัวศิลปินเองที่มีเสียงที่ดังมากพอในการส่งต่อบทเพลงไปให้ถึงกลุ่มผู้ฟัง การมียอดวิวของเพลงที่สูงก็ไม่อาจจะรับประกันได้เช่นกันว่าคุณจะมีงานจ้างไปเล่นเยอะตามยอดวิว แต่มันจะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะพาคุณไปถึงจุด ๆ นั้นได้

วันนี้มีคำแนะนำสำหรับศิลปินหน้าใหม่ทุกคนว่าควรทำอย่างไรเมื่อคุณอยากจะมีเส้นทางอาชีพในอุตสหกรรมดนตรีในประเทศนี้ จากคำแนะนำส่วนตัวของเราละกัน

ศิลปินหน้าใหม่
credit: unsplash

ตัวเพลง

แน่นอนว่าเพลงของศิลปินคือสินค้าหลักที่คุณจะนำเสนอให้กับผู้ฟังที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าของคุณ ตัวบทเพลงคือ identity ของศิลปินที่สื่อสารโดยตรงกับกลุ่มผู้ฟังของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ทำนอง คำร้อง และ ดนตรี ซึ่งเพลงแต่ละ genre ก็จะมีกลุ่มผู้ฟังที่แตกต่างกันไป สิ่งแรกที่อาจจะต้องลองคิดคือ “คุณทำเพลงไปเพื่อใคร” เพื่อตัวเอง หรือ เพื่อผู้ฟัง การทำเพลงเพื่อผู้ฟังโดยเฉพาะ เป็นการเขียนเพลงที่เราคำนึงถึงกลุ่มผู้ฟังเป็นหลักว่าเขาอยากจะได้ยินเพลงเนื้อหาแบบไหนก็อาจจะเป็นวิธีนึงที่ทำให้เราสามารถกวาดกลุ่มผู้ฟังได้ดี หรืออาจจะทำเพลงตามแนวเพลงที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้นเพื่อเกาะกระแสตามไป แม้ตัวตนของเราอาจจะไม่เด่นมาก แต่ตัวเพลงจะทำงานได้ดีกับตลาดเพลงที่กำลังฮิตอยู่ ณ ขณะนั้น ๆ แต่มันก็อาจจะยากที่จะโดดเด่นขึ้นมาในหมู่ศิลปินทั้งหลายที่ทำเพลงในลักษณะคล้าย ๆ กัน

อีกวิธีการนึงก็คือการทำเพลงเพื่อตัวเองคงจะเป็นหนทางที่ดึงตัวตนของศิลปินออกมาได้มากที่สุด และจริงใจที่จะสามารถ present ตัวตนของเราได้เต็มที่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ฟังทุกคนจะเข้าใจความเป็นตัวตนของเรา บางทีตัวตนของศิลปินอาจจะ niche เกินไปสำหรับตลาดปัจจุบันที่มีอยู่ หรือมาเร็วเกินไปก่อนกาลเวลาอันสมควร อาจจะมีคนรู้สึกว่าเพลงเราอาจจะเท่เกินไปจนผู้ฟังบางคนยังตามไม่ทัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราเลือก เมื่อเราเลือกอะไรก็ตามก็อยากให้ไปให้สุด เพราะมันไม่ได้มีวิธีที่ตายตัว และก็บอกไม่ได้ว่าวิธีแบบไหนดีกว่ากัน ตัวศิลปินเองต้องชั่งน้ำหนักและเลือกเส้นทางที่เราอยากจะเดินไป โดยคำนึงถึงความต้องการของเราว่า อยากจะให้ผลงานเราเองเป็นแบบไหนในสายตาของกลุ่มผู้ฟัง

การปล่อยเพลง

จริง ๆ ก่อนจะทำเพลงเสร็จ ก็ควรจะต้องวางแผนกันก่อนว่าเราจะปล่อยเป็น Single, EP, หรือ Album โดยการปล่อยเพลงแต่ละครั้ง จะปล่อยเป็น MV เลย หรือปล่อยบน streaming platform หรือ physical release (CD/Vinyl/Tape) ก่อน และจะมี teaser ก่อนไหม เป็นคำถามที่ศิลปินหน้าใหม่จะต้องตั้งกับตัวเองและหาคำตอบ แม้เรื่องเหล่านี้ดูเป็นสิ่งที่ basic มาก แต่ถ้าหากมันได้ผ่านกระบวนการคิดวางแผนมาก่อน มันจะยิ่งทำให้เรามี content เลี้ยงเพื่อสร้างความ active ให้บน social media ของเรา และมีกรอบชัดเจนว่าการทำงานของวงจะต้องเตรียมอะไรบ้าง เช่น:

– ในกรณีที่เราอาจจะมีงบจำกัด ก็สามารถปล่อยเพลงบน streaming platform แต่อยากจะแนะนำให้ค่อยๆปล่อยทีละเพลงแทนที่จะปล่อยทั้ง EP หรือ Album เพื่อที่เพลงของเราจะได้มีโอกาาสถูก pitch เข้า playlist ต่างๆ บน streaming platform มากขึ้น

– หากเราวางแผนที่จะปล่อย MV ตั้งแต่แรก การเตรียม teaser สั้นๆ (ทั้งในรูปแบบของ Artwork และ video 30 วิ) เพื่อบอกวันที่การปล่อย MV ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่ม awareness และสร้าง traffic ให้ตัว Music Video หลังนั้นก็สามารถที่จะปล่อย content บอกช่องทางการรับฟังเพลงบน streaming platform อื่นๆ เป็นการยืดอายุให้เพลงเรามีพื้นที่บนสื่อได้นานยิ่งขึ้น

– หากมีแผนที่จะทำ physical release ก็ควรจะต้องวางแผนก่อนว่าจะปล่อยบน streaming platform ก่อนจะวางขาย หรือ จะวางขายก่อนแล้วค่อยปล่อยบน streaming platform ทั้งสองทางเป็นสิ่งที่ทำได้ ขึ้นอยู่กับ tactic ของแต่ละคน มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การปล่อย physical release ก่อน อาจจะทำให้คนรีบซื้อเพราะอยากฟังเพลงใหม่ๆก่อนใคร แต่หากเราปล่อยบน streaming platform ก่อน ก็อาจจะทำให้คนได้มีโอกาสฟังเรามากขึ้นและเข้าถึงคนได้มากกว่า แต่เหตุผลของการซื้อแผ่นเพลงอาจจะเปลี่ยนไปเป็นการเก็บสะสมแผ่นแทน

การวางแผนปล่อยเพลงมันควรจะอิงกับ budget และความพร้อมของตัวศิลปินเองด้วย ถ้าหากงบน้อยอาจจะเลือกปล่อยบน streaming ก่อน แล้วค่อยทำ MV ทีหลังก็ได้ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นสูตรตายตัว เพียงแต่เราควรจะรู้ตัวเองก่อนว่าเรากำลังจะทำอะไร และ next step ของเราคืออะไร หลังจากการปล่อยเพลง ก็จะมีเรื่องการหารายได้จาก streaming platform ซึ่งก็เป็นรายได้ที่ศิลปินจะได้รับจากค่า royalty ส่วนแบ่งจากยอดการฟัง/ยอด view ต่างๆ เราควรเลือกปล่อยเพลงกับ music distributor ที่เราไว้ใจให้ดูแล account ของเรา เพื่อให้เขาจัดการเรื่องรายได้และลิขสิทธิ์เพลงของเรา ถึงแม้ในช่วงแรกอาจจะยังไม่ค่อยเห็นผลกำไรจากสิ่งนี้ แต่ในวันนึงที่ยอด streaming ของคุณโตจนสามารถ monetize ได้ ก็อาจจะเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงพวกคุณได้ นอกจากเงินที่ได้จาก streaming platform ก็ยังมีการขายแผ่น CD ที่แม้อาจจะไม่ได้มีเหตุการณ์ขายได้เป็นแสนเป็นล้านแผ่นแบบเมื่อก่อน แต่ก็ยังนับว่าเป็นรายได้ที่ดีสำหรับศิลปินแม้ต้นทุนการผลิตจะค่อนข้างสูง สินค้าอย่าง CD และ Vinyl ยังคงมีเสน่ห์สำหรับแฟนเพลงและสามารถจับต้อง โดยเป็นการแสดงออกถึงการ support ศิลปินที่เขาชอบอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังคงมีหลายๆพื้นที่ให้เราสามารถนำสินค้าไปฝากขายได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านต่างๆ เช่น CD COSMOS, น้องท่าพระจันทร์, อมรมูฟวี่แอนด์มิวสิค เป็นต้น

ถ้าหากต้องการฝากขายแผ่นที่ CD COSMOS สามารถติดต่อได้ที่ลิงค์นี้

ศิลปินหน้าใหม่
credit: unsplash

การหางานเล่น

ในยุคที่เทปและ CD ไม่ได้ยอดขายถล่มแบบในอดีต การเล่นสดหรืองาน concert จึงเป็นหนทางหลักที่จะสร้างรายได้ให้กับพวกเขา ศิลปินบางคนต้องดูสดและจะชอบมากกว่าใน audio เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง การแสดงดนตรีสามารถสร้างความประทับใจให้กับคนดูได้มากกว่า เพราะคนดูสามารถได้รับการสื่ออารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาจากตัวศิลปินเจ้าของบทเพลงได้โดยตรงและยังมีอีกหลายโมเม้นท์ระหว่างโชว์ที่ยังสร้างความทรงจำจากการดูคอนเสิร์ตได้อีก บรรยากาศจากการแสดงดนตรีสดยังคงเป็นประสบการณ์ที่ยังไม่มีอะไรทดแทนได้ เป็นสิ่งนึงที่อยากให้แฟนเพลงของวงนั้น ๆ ได้ไปดูศิลปินของตัวเองเล่นสดสักรอบจะเข้าใจความหมายที่เราสื่อถึง

แต่ก่อนที่จะได้แสดงดนตรีนั้น ศิลปินหน้าใหม่จะต้องทำอะไรบ้าง ? แน่นอนว่าการหางานเล่นเป็นเรื่องสำคัญแต่สำหรับศิลปินหน้าใหม่ก็อาจเป็นเรื่องที่ยากในช่วงแรก ๆ การหางานในช่วงแรกก็ต้องไปขอร้านที่เปิดรับแนวทางของเรา แลกกับรายได้จากการเล่นที่เหมือนแทบจะไม่ได้อะไรแต่ก็ต้องทำอยู่ดี อยากให้ศิลปินคิดไว้ว่าในช่วงแรกมันคือการลงทุนเพื่อสร้าง profile และ ฐานแฟนเพลงของเราเอง สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการเล่นงานเล็ก ๆ อาจจะไม่ใช่เงินค่าที่เลี้ยงชีพเราได้ แต่มาในรูปแบบของแฟนเพลง เพื่อนศิลปิน และ connection ในแวดวงที่จะต่อ ยอดให้ career ของศิลปินไปต่อได้ ในช่วงแรก อาจจะต้องพยายามทำให้ชื่อศิลปินของเราเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นก่อน เริ่มจากเล่นที่เล็ก ๆ ที่ยินดีต้อนรับศิลปินหน้าใหม่ ควรจะทำความรู้จักกับเจ้าของร้าน/สถานที่และทีมงานของเขาไว้ ฝึกฝนฝีมือในงานเล็ก ๆ ไปเรื่อยๆ ทำความรู้จักกับศิลปินในไลน์อัพที่เล่นด้วยกันไว้ด้วยนะ เพราะคุณคือเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กัน วันนึงอาจจะได้ร่วมงานกันในทางใดทางหนึ่งได้ และเป็น portolio ให้เราได้ด้วยว่าเคยเล่นกับวงอะไรไปบ้าง พยายามสร้าง community รอบ ๆ ตัว แลกเปลี่ยน connection และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยากให้วงหน้าใหม่พยายาม support กันไว้ เพราะวงการมันก็แคบนิดเดียว และคงจะดีถ้าคนในซีนก็ช่วยผลักดันกันเอง

สำหรับการเล่นดนตรีในแต่ละสถานที่ก็มี requirement ที่แตกต่างกัน บางร้านเราอาจจะสามารถ plug and play ได้เลย แต่ในบางสถานที่ก็จำเป็นต้องมี sound engineer และ technician ของวงเพื่อให้การทำงานราบรื่นมากที่สุด ทางที่ดีศิลปินเองควรจะสอบถามสถานที่ที่จะไปเล่นว่าต้อง เตรียมตัวอะไรบ้าง หากยังไม่มี sound engineer ประจำวงก็สามารถแจ้งขอใช้ซาวด์กลางของร้านได้ การสร้างทีมงานของศิลปินเองก็เป็นเรื่องที่ควรคิดไว้เพราะจะช่วยให้การทำงานของศิลปินง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการ, AR ดูแลศิลปิน, ทีมตากล้องภาพนิ่งและวีดีโอ, และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทีมงานที่ช่วยดูแลระบบเสียงของวงอย่าง sound engineer และ technician ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ budget และความต้องการของคุณ ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างช่างภาพที่คอยเก็บรูปตอนที่เราเล่นสดนั้นก็จะช่วยให้เรามี content ไว้โปรโมตตัวเองหลังจบงานและก็สร้างภาพลักษณ์ของวงให้ผู้คนได้รับรู้ถึง branding ของเรามากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายการจัดการอย่าง ผู้จัดการวง หรือ AR ก็จะช่วยจัดการภาระต่างๆให้ศิลปินสามารถโฟกัสกับการแสดงสดได้อย่างมีสมาธิมากที่สุดโดยไม่ต้องกังวลกับรายละเอียดยุบยิบต่าง ๆ ที่ต้องเตรียมก่อนวันงานและหลังจบโชว์

สถานที่ที่ศิลปินหน้าใหม่สามารถไปเล่นได้ในตอนนี้อาจจะยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับร้านเหล้าที่มีแต่จะพอ ๆ กับร้านลาบในไทย แต่พื้นที่ศิลปินหน้าใหม่มักจะไปขอเล่นได้จะเรียกว่า Livehouse ที่ยังเป็นเรื่องใหม่ในไทยแต่มีมานานแล้วที่ญี่ปุ่น ซึ่งโมเดลของ Livehouse มักจะมาในรูปแบบของการแบ่งค่าบัตรตามเปอร์เซ็นที่ขายได้ ยิ่งขายได้มาก ศิลปินก็จะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น ในวันที่ตัวศิลปินยังไม่สามารถเรียกค่าตัวเป็น flat rate ได้ สถานที่แบบนี้จึงเป็นความหวังในการแสดงดนตรีของพวกเขา ในกรุงเทพเองก็พอจะมีสถานที่ที่เปิดรับศิลปินหน้าใหม่อยู่บ้าง อย่างเช่น Speakerbox, JAM, Blueprint Livehouse ก็เป็นพื้นที่ศิลปินทุกคนสามารถลองติดต่อไปเพื่อขอเล่นได้

ศิลปินหน้าใหม่
credit: unsplash

การโปรโมตตัวเอง

เมื่อศิลปินหน้าใหม่เริ่มมีงานเล่นสดหลังจากปล่อยเพลงกันไปแล้ว สิ่งที่ควรใส่ใจก็คือการทำให้ตัวศิลปินเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะผ่านช่องทางของตัวเองหรือสื่อดนตรี ขั้นตอนนี้คือการ PR ตัวเองให้คนได้รู้จักและได้ฟังเพลงของศิลปิน สื่อดนตรีแต่ละที่ก็จะมี target audience ไม่เหมือนกัน ทางที่ดีควรจะทำการบ้านว่าสื่อไหนคือสื่อที่น่าจะมีกลุ่มคนฟังของเราอยู่และพยายาม present ตัวเองเพื่อให้เราได้พื้นที่ในสื่อนั้น ๆ การที่มีคนรู้จักและเป็นแฟนเพลงของเรามากขึ้นมันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงานหรือการได้งานเล่นมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านการจ้างงานผ่าน promoter หรือชวนกันไปเล่นด้วยกันของศิลปินที่มีแนวทางเดียวกันกับเรา

สิ่งนึงที่ promoter มักจะสนใจเกี่ยวกับศิลปินคือตัวตนของศิลปินว่า เพลงเป็นยังไง ยอดฟังเยอะไหม ตัวศิลปินมี branding ยังไง และตรงกับแนวทางที่งานของ promoter นั้น ๆ กำลังทำอยู่หรือไม่ อีกอย่างนึงที่ผู้ว่าจ้างมักจะคิดเสมอคือ เรื่องความสามารถในการดึงคนมาซื้อบัตร หากวงของเราเป็นวงที่สามารถ draw traffic ให้คนมาซื้อบัตรได้เยอะก็จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวศิลปินมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากหน้าที่ในการเล่นโชว์ของศิลปินก็คือการดึงดูดให้คนมาร่วมงาน ถ้าผู้จัดงานเขารอด ศิลปินก็จะรอดไปด้วยกัน ฉะนั้นการช่วย promoter ทำการโปรโมตงานของเขาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ตัวศิลปินเองไม่ควรที่จะรอโพสแค่เพียง poster ของงานที่ตัวเองกำลังจะเล่น แต่ควรจะถือโอกาสนั้นในการสร้าง content เพื่อโปรโมตงานและตัวเองไปด้วยกัน ประโยชน์ที่จะได้มันจะส่งผลดีกับทั้งตัวคุณเองและก็ตัวผู้จัดงานด้วยกัน

ข้อมูลที่ต้องส่งให้ผู้จัด

ถ้าหากคุณยังไม่ค่อยมีงานจ้างหรือมีใครชวนไปเล่นเท่าไหร่ สิ่งที่อยากจะแนะนำให้ทำก็คือ Electronic Press Kit หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “EPK” ที่จะเป็นเหมือน portfolio และ profile ของวงที่บอกให้คนที่ได้รับรู้ว่า ตัวศิลปินมีเพลงอะไรบ้าง แนวเพลงอะไร เคยไปเล่นงานไหนมาบ้าง ซึ่งไม่แตกต่างจากการทำ Portfolio ส่งสมัครงานที่จะต้องขายว่าตัวเราทำอะไรมาบ้าง มีผลงานอะไรบ้าง สิ่ง ๆ นี้มีความสำคัญตรงที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับ EPK รู้จักตัวตนของศิลปินมากขึ้น

ถ้าเราสามารถทำให้เขาประทับใจได้ตั้งแต่เห็น EPK ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการจ้างงานได้มากขึ้นไปอีก หรือแม้กระทั้งการส่ง EPK ไปสื่อต่าง ๆ ก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาสที่เราจะได้ออกไปโปรโมตตัวเองหรือได้ content จากสื่อนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับสื่อต่างประเทศที่อาจจะไม่รู้จักซีนดนตรีในไทยเลย

Electronic Press Kit Google Link sample ศิลปินหน้าใหม่
ตัวอย่างของ EPK (Electronic Press Kit)

คุณสามารถส่ง EPK เป็นลิงค์ google drive โดยสิ่งที่ควรอยู่ใน link นั้น จะประกอบไปด้วย

– logo ศิลปิน (ควรเป็น transparent png)
– รูปศิลปิน (รูปที่ใช้สำหรับการ PR)
– press release (ข้อมูลประวัติคร่าว ๆ ของวง)
– artist presentation (แนะนำศิลปิน ประกอบไปด้วย bio, เพลงที่ปล่อย, งานที่เคยไปเล่น ฯลฯ ตกแต่งให้สวยงามจะทำให้น่าสนใจขึ้น)
– contact person สำหรับการติดต่อต่างๆ เช่น ผู้จัดการ, AR, Sound engineer, ฯลฯ
– technical rider

สิ่งนึงที่สำคัญที่สุดในก็คือ technical rider ซึ่งจำเป็นสำหรับการไปเล่นในงานหรือสถานที่ที่มีความจริงจังกับเรื่องเสียงบนเวที เป็นเหมือนตำราที่จะทำให้อีกฝ่ายที่ทำงานร่วมกับวงของคุณสามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนเป็น manual(คู่มือ)การใช้งานศิลปินที่อีกฝ่ายอ่านแล้วจะเข้าใจได้เลยว่าจะต้องเตรียมการอะไรให้ศิลปินบ้าง โดยปกติแล้ว rider มักจะประกอบไปด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวงของคุณว่ามีใครเล่นตำแหน่งอะไรบ้าง ตัววงจะเตรียมอุปกรณ์อะไรมาเองและต้องการให้ทางผู้จัด/สถานที่เตรียมอะไรอุปกรณ์อะไรให้บ้างเพื่อที่จะทำให้วงของคุณสามารถทำการโชว์ได้อย่างเต็มที่มากที่สุด ซึ่งในบาง rider อาจจะมี request จากศิลปินเช่น ขอเทียนหอม ขอดินดอสีไว้วาดรูป ไปจนถึงขั้นขอโต๊ะปิงปอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางผู้จัดว่าเขาจำเป็นที่จะหาสิ่งเหล่านี้ให้เราหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับการพูดคุย

Band Rider Simple ศิลปินหน้าใหม่
ตัวอย่าง Band Rider

ตัว rider ที่ดีควรจะบอกถึงขั้น input/output channel ที่วงต้องการใช้ รวมถึง stage plot ที่วงต้องการให้ทางทีมงานเตรียมเวทีไว้ให้ ถ้าหากวงเขียน rider เองไม่เป็น แนะนำให้ลองปรึกษาเพื่อนที่เป็น sound engineer จะดีที่สุด เพราะ basic ของ rider ที่ดีจะลดความปวดหัวในการ set เวที และทำให้การเตรียมตัวก่อนขึ้นเวทีของคุณราบรื่นก่อนโชว์ได้มากยิ่งขึ้น

การขายสินค้า

การเป็นศิลปินมีต้นทุนที่ค่อนข้างแพง ค่าใช้จ่ายจากการเช่า session ห้องอัดและต้นทุนการผลิตแผ่น CD นั้นต้องใช้เงินก้อนจำนวนหนึ่งเลย ซึ่งวิธีการผลิตสินค้ามาขาย หรือ การขาย merchandise (เรียกสั้น ๆ ว่า merch) จึงเป็นหนทางนึงที่จะช่วยหล่อเลี่ยงเส้นทางอาชีพนี้ได้

โชคดีที่กระแสเสื้อวงในบ้านเราค่อนข้างเป็นที่นิยม การผลิตสินค้ามาขายตามงาน festival หรืองานโชว์ต่าง ๆ จึงเป็นหนทางในการสะสมทุนทรัพย์ได้ ข้อดีของเสื้อวงนอกจากกำไรแล้วยังสามารถช่วยโปรโมตวงเราด้วยเวลาที่แฟนเพลงใส่ไปก็เหมือนเป็นการโฆษณาให้ศิลปินไปในตัว อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องระวังในเรื่องของการผลิตสินค้ามามากเกินแล้วขายไม่หมด วิธีการเปิด pre-order และผลิตตามจำนวนอย่างจำกัดจึงเป็นหนทางที่ช่วย save ต้นทุนของเราได้

นอกจากนั้น การไป collab กับ designer ที่ผลิตสินค้าอยู่แล้วก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยทำให้สินค้าของเราขายได้ดียิ่งขึ้นด้วย ไม่ว่าจะผ่าน Kengmakleon, Joy 2, หรือ paper tee ก็เป็นทางเลือกนึงเช่นกัน แต่ละเจ้าอาจจะมีแนวทางความชอบไม่เหมือนกัน ก็ต้องศึกษาให้ดีด้วยว่าเราเหมาะกับแบบไหน ซึ่งเราก็ควรก็ต้องคุยรายละเอียดส่วนแบ่งให้เคลียร์เพื่อป้องกันการเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน

ข้อดีของการผลิต merch มาขาย คือทำให้เราสามารถมีรายได้เพิ่มเติมจากการไปเล่นโชว์ในช่วงแรกซึ่งอาจจะยังไม่ได้มีค่าตัวให้เป็นกอบเป็นกำ ข้อเสียก็เป็นภาระเพิ่มเติมที่เราต้องแบกของไปขายตามงาน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เรากลับมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่ศิลปินเองจะได้ engage กับแฟนเพลงของตัวเองผ่านสินค้าของวง

เป้าหมายต่อไป

เป้าหมายในการเป็นศิลปินของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนอยากเข้าค่าย บางคนแค่อยากทำเพลง บางคนแค่อยากเล่นดนตรี ไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะเป็นอย่างไร การพยายามวิ่งไปหาเป้าหมายนั้น ๆ ขึ้นอยู่กับวิธีการของปัจเจกบุคคล แต่ที่แน่ ๆ คือต้องผ่านการทำงานที่หนักและจริงจังกับมัน

การทำงานของศิลปินหน้าใหม่ส่วนใหญ่ล้วนเป็น pattern loop แต่งเพลง > เข้าห้องอัด > ปล่อยเพลง > หางานเล่น > ขายสินค้า แล้วอะไรคือ next step ของสิ่งนี้ ? ศิลปินควรจะวางแผนต่อไปว่า เราจะ step up ขึ้นมาเป็นศิลปินเบอร์ที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างไร เริ่มต้นจากการวาง milestone เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปก่อน แล้วค่อย ๆ พยายาม hit goal นั้นไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้า อาจจะต้องมีแวะข้างทางบ้าง ถอยหลังบ้าง แต่อยากให้มองเสมอว่าเราอยู่บนเส้นทางที่เราเลือกไว้อยู่หรือเปล่า ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะได้ be on the right track ของตัวเอง ใคร ๆ ก็เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินได้ แต่การเป็นศิลปินที่อยู่รอดได้ในวงการเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้สำเร็จ อาจจะพบเจอกับความท้อแท้ ต้องฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะรายได้ การหางานเล่น ปัญหาภายในวง การจัดการกับสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวเองศิลปิน บางเรื่องอาจจะใช้กำลังกายแก้ไขได้ แต่บางอย่างก็จำเป็นต้องใช้กำลังใจจากคนรอบข้างด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทุกอุปสรรคที่ตัวศิลปินพบเจอจะเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่จะหล่อหลอมให้ตัวคุณเข้มแข็งขึ้นและก้าวข้ามปัญหาที่อาจจะติดพันอยู่ มองไปข้างหน้าแล้วเดินต่อไปบนเส้นทางที่เราเลือก

The COSMOS ขอเป็นกำลังใจให้ศิลปินหน้าใหม่ทุกคนด้วยนะ

+ posts

นานๆทีจะเขียน

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy