Sigur Rós ดอกกุหลาบแห่งชัยชนะ และการถือกำเนิดใหม่ในอัลบั้ม Ágætis Byrjun

by Nattha.C
1K views

Sigur Rós มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Victory Rose หรือ ดอกกุหลาบแห่งชัยชนะ พวกเขาเป็นวงดนตรีโพสต์ร็อกสัญชาติไอซ์แลนด์ ที่ตั้งชื่อตาม Sigurrós Elín น้องสาวคนเล็กของฟรอนต์แมน ผู้ซึ่งลืมตาดูโลกก่อนหน้าที่สมาชิกจะร่วมฟอร์มวงกันในระยะไม่กี่วันถัดมา เนื่องด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคลหรือไม่นั้น หลากหลายผลงานเพลงของพวกเขาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสากลโลกจวบจนปัจจุบัน

และผลงานที่เราหยิบมาพูดถึงในครั้งนี้คือ Ágætis byrjun เพราะนอกเหนือเสียงตอบรับและการถูกยกย่องให้เป็นผลงานขึ้นหิ้ง รวมถึงคำชื่นชมจากสำนักสื่อและศิลปิน อาทิ ทอม ยอร์ก จากเรดิโอเฮด, คริส มาร์ติน จากโคลด์เพลย์, เดวิด โบวี่ และอื่น ๆ อีกมาก หากนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 อะไรที่ทำให้อัลบั้มชุดนี้ควรค่าแก่คำว่า “ไร้กาลเวลา” แม้จะผ่านไปหลักสองทศวรรษแล้วก็ตาม

หน้าปกอัลบั้มที่วาดโดยศิลปิน Gotti Bernhöft ด้วยเทคนิคปากกาลูกลื่น

Ágætis byrjun มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า “A Good Beginning” ซึ่งอธิบายถึงการเริ่มต้นใหม่อย่างตรงตัว กว่าหนึ่งชั่วโมงในการฟังที่คอยปลุกเร้าความทรงจำอันหวานอมขมกลืน กับซาวด์สเคปที่เปรียบดั่งการสิ้นสุดลงของบางสิ่งและการถือกำเนิดขึ้นของบางอย่าง

อัลบั้มนี้ทดแทนความซบเซาทางการตลาดและสุ้มเสียงน่าฉงนของผลงานชุดก่อนที่ขายได้เพียง 300 ก๊อปปี้จนทะยานขึ้นมาหลักหมื่นชุด ด้วยงานกีตาร์และวิธีการเรียบเรียงที่แตกต่างจากมาตรฐานเพลงร็อกในยุคสมัยนั้น เช่น การสีไม้เชลโลบนกีตาร์ไฟฟ้าผสมเอฟเฟกต์รีเวิร์ปของ ‘ยอนซี บิร์กิสซอน’ (Jónsi Birgisson) ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ประกอบสไตล์การร้องที่หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับเสียงดนตรี บนซาวด์ร่วมสมัยอย่างอิเล็กทรอนิกส์แอมเบียนต์ และโครงสร้างดนตรีคลาสสิกอันเสริมเครื่องออร์เคสตรา ที่แผ่ขยายราวศิลปะภาพยนตร์ แถมเปี่ยมด้วยบรรยากาศที่มอบความรู้สึกคล้ายหลุดไปยังมิติหน้าหรืออีกจักรวาลหนึ่ง

Sigur Rós © Hörður Óttarson

โดยมีคำร้องภาษาไอซ์แลนด์สลับภาษาอังกฤษ และภาษาวอนเลนสกา (Vonlenska หรือ Hopelandic) ที่วงคิดค้นศัพท์เฉพาะขึ้นมาจากรากฐานของ “Glossolalia” หมายถึง ลิ้นคำแปลกประหลาดซึ่งจับความไม่ได้แน่ชัด แต่เน้นความลื่นไหลอย่างเป็นอิสระของการเปล่งเสียงและ เช่น เสียงร้องคร่ำครวญถึงสรวงสวรรค์และนรกภูมิของ แคลร์ ทอร์รี (Clare Torry) ในเพลง ‘The Great Gig In The Sky’ จากคณะ Pink Floyd, ความฟุ้งฝันล่องลอยของ เอลิซาเบธ เฟรเซอร์ (Elizabeth Fraser) ในบทเพลงดรีมป๊อปชั่วนิรันดร์จากวง Cocteau Twins และศิลปินสาวหัวก้าวหน้าอย่าง บียอร์ก (Björk) ที่ยกระดับให้ผลงานส่วนตัวของเธอโอ่อ่าเหนือจินตนาการ

และในฐานะมนุษย์เอง เราย่อมถือสลักสำคัญของการตีความหมายและแปรรูปคำเป็นหลัก ทว่าพวกเขาไม่ได้มีเพียงแค่ดนตรีบรรเลงที่ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงท่วงทำนองอันเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติที่ผสานระหว่างพลังของความไม่สมบูรณ์แบบ บนความสงบสุขและโกลาหลที่ก่อเกิดขึ้นภายในหัวใจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้คนต่างพบเจอบทสรุปของตัวเองที่ปราศจากข้อจำกัดทางนัยยะ ภาษา และรูปแบบการสื่อสารที่พอหลับตาฟังก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

ในส่วนของเนื้อหา ซิเกอร์โรสมีการนำเรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน เทพนิยายปรัมปรา มาปรับให้เข้ากับชีวิตจริงตั้งแต่ช่วงเยาว์วัยถึงคราเติบใหญ่ที่ทุกคนล้วนเคยสัมผัสหรือกำลังเผชิญอยู่ อาทิเพลง Svefn-g-englar (แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Angels of Sleep) พวกเขาเลือกใช้คำว่า ‘Tjú’ ในการปลอบประโลมคล้ายเสียงกล่อมเด็ก ขณะที่ชวนผู้ฟังจมดิ่งลึกลงไปใต้น้ำ ในสถานที่ที่ไร้ซึ่งแสงสว่าง มันกลับอธิบายถึงสภาวะกึ่งหลับคล้ายดักแด้หรือทารกที่รอคอยการลืมตาตื่นได้ถึงที่สุด

หรือกระทั่งเมสเสจในสองบทเพลงอย่าง Ný Batterí และ Viðrar vel til loftárása ที่สอดแทรกการเมือง บริบทสังคม ประเด็นรักร่วมเพศ และรอยต่อระหว่างสงครามโคโซโว-เซอร์เบียกับเหตุการณ์ทิ้งเบิดของ NATO ในประเทศยูโกสลาเวีย ก็สามารถถ่ายข้อความแห่งความทุกข์ระทมออกมาได้อย่างกรีดแทงทว่างดงาม โดยมวลรวมของอัลบั้มนี้ล้วนมีทั้งต้นกำเนิดเสียงดนตรีที่ไพเราะ ไปจนถึงความรู้สึกตรอมตรมเจียนสิ้นลมหายใจ

“ในโมงยามที่เราสูญเสีย ร่วงหล่น เงียบงัน กระทั่งไร้คำตอบหรือเสียงเพรียก สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้สรรค์สร้างอย่างสุดความสามารถคือการประทานวันฟ้าใหม่ให้แก่เรา”

ท่ามกลางแรงสั่นไหวของคลื่นถี่ ซิเกอร์โรสแปรเปลี่ยนบรรยากาศเย็นยะเยือกที่หายใจเอาความอบอุ่นปนเศร้าหมองเข้าไป แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นเวทย์มนตร์แห่งเสียงดนตรีสุดผ่อนคลายอันทลายความตึงเครียดได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ผ่านทัศนียภาพของประเทศไอซ์แลนด์ที่ตั้งจุดบรรจบระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและอาร์กติก ซึ่งรายล้อมด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจี ภูเขาไฟลาวา และธารน้ำแข็ง ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบทเพลงเหล่านี้จึงสามารถพาเราออกเดินทางไปไกลแสนไกลได้เพียงฟังเสียงเพรียกจากพวกเขา

ผลงานเพลงของซิเกอร์โรสยังเป็นกรณีศึกษาชิ้นสำคัญว่า สภาพแวดล้อมส่งผลต่อจิตวิญญาณหรือวิธีการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างไรอีกด้วย ถ้าใครสนใจอยากอ่านเพิ่มเติม อย่าลืมติดตามบทความถัดไปจากพวกเราชาวเดอะคอสมอสนะ

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy