ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2024 กันเรียบร้อยแล้ว โดยปีนี้ก็มีผลงานจากศิลปินทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าปล่อยออกมาให้ฟังแบบไม่หวาดไม่ไหวเช่นเคย นอกจากกระแสเพลงป๊อปที่ถูกจุดติดขึ้นอีกครั้ง กระทั่งการรียูเนี่ยนของวงดนตรีที่เราก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสกลับมา และอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการ Rising ของนักร้อง-นักแต่งเพลงหญิงที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการดนตรีไม่แพ้กัน เราเลยขออนุญาตรวบรวม 6 อัลบั้มจากศิลปินหญิงต่างประเทศที่น่าสนใจในปีนี้ มาให้ทุกคนลองฟัง เผื่อจะมีสักอัลบั้มที่ชอบแล้วไปกันต่อได้ยาว ๆ
Fabiana Palladino – Fabiana Palladino
จากบรรดาศิลปินทั้งหมดที่ทำผลงานเพลงแนวโซฟิสติป๊อปออกมาให้ทุกคนฟังในปีนี้ ฟาเบียน่า พอลลาดิโน่ (Fabiana Palladino) คือศิลปินหญิงอีกหนึ่งคนที่เราคิดว่าคงน่าเสียดายไม่น้อย หากตกโพลหรือพลาดผ่านไป ผลงานของเธอมีความเป็นดนตรีอาร์แอนด์บีร่วมสมัย เรียบง่าย ทว่าน่าหลงใหล งานโปรดักชันก็เข้าขั้นไม่เลว เมื่อเราได้ทดลองฟังครบ 10 เพลงเต็มแล้ว มันคือการอัดแน่นไปด้วยคุณภาพที่ไม่ต้องหวือหวาเวิ่นเว้อเลย
แม้การอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Pino Palladino ศิลปิน-โปรดิวเซอร์ ผู้เป็นพ่อที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคนนึงในประวัติกาลและเส้นทางของตัวเอง ทั้งการเป็นมือเบสรับจ้างให้ Gary Numan, Tears for Fears, Nine Inch Nails ฯลฯ ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าความคาดหวังและแรงกดดันจากอุตสาหกรรมเพลงย่อมถาโถมเข้ามาเป็นธรรมดา กระทั่งการโดนแปะป้ายว่าการเป็นลูกนักดนตรีมีฐานะคงจะเก่งกาจหรือโด่งดังได้ไม่ยากนัก
แต่กว่าเธอจะมาถึงจุดนี้ได้ โดยตัดเรื่องคอนเน็คชั่นหรือสิ่งที่มีอยู่ในมือไป เธอก็ไม่ต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ ที่ต้องพิสูจน์ความสามารถ ซึ่งต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ จวบจนการก้าวข้ามความไม่มั่นใจ เพื่อทำให้เราเห็นว่าหญิงสาวที่ชื่อ ฟาเบียน่า พอลลาดิโน่ ก็สามารถเปล่งประกายได้ด้วยตัวเอง นี่จึงเป็นสิ่งที่เราชื่นชมเธอ อัลบั้มนี้ไม่เพียงซึมซับอิทธิพลเพลงยุค 80s -90s มาใช้ได้อย่างชาญฉลาด มันยังมีจังหวะชวนคล้อยที่เย้ายวนใจสุด ๆ
เพลงที่แนะนำ: I Care (with Jai Paul), Stay With Me Through The Night, Deeper
Raveena – Where the Butterflies Go in the Rain
นักร้อง-นักแต่งเพลงหญิงเชื้อสายอินเดียที่น้ำเสียงอันนุ่มนวลและดนตรีสไตล์อาร์แอนด์บีสุดพร่างพราวของเธอ เริ่มเป็นที่รู้จักผ่านเดบิวต์อัลบั้ม Lucid (2019) และ Asha’s Awakening (2022) โดยการกลับมาพร้อมอัลบั้มชุดใหม่ในปีนี้ เธอก็ได้ยกระดับโปรดักชันด้านซาวด์ที่โอบอุ้มเราด้วยแนวเพลงแจ๊ส โซล โฟล์ค รวมถึงการหยิบเครื่องดนตรีพื้นเมืองและอิทธิพลจากรากเหง้าดั้งเดิมของชาวอินเดียตะวันออก มานำเสนออย่างสวยงาม
เพราะในช่วงชีวิตหนึ่งของราวีนา เธอเคยเปรียบตัวเองดั่งผีเสื้อ ซึ่งเจ้าผีเสื้อมักมีลักษณะทางกายภายที่ค่อนข้างบอบบาง มันจึงต้องคอยหลบซ่อนอยู่ใต้ใบไม้หรือดอกไม้ เพื่อหลบฝนใหญ่และพายุโหมกระหน่ำ เหมือนพวกเราทุกคนที่ต้องการช่วงเวลาพักผ่อน หยุดนิ่ง ไม่เผชิญความเลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้นด้วยตัวคนเดียว เพื่อลดแรงกระแทกหรือความบาดเจ็บ เนื้อหาในหลายเพลงของเธอถึงตอบแทนใจและเยียวยาเราได้ดั่งเวทย์มนตร์ไม่มีผิด
ท่ามกลางเสียงไพเราะรื่นหู สิ่งที่เติมเสน่ห์ให้ผลงานชุดนี้น่าฟัง หนึ่งคือการได้ศิลปินอย่าง JPEGMAFIA และ Arima Ederra มาร่วมงาน สองก็คงจะเป็นความขี้เล่น ที่สังเกตได้จากกิมมิคดนตรีหรือการใช้คำเย้าแหย่ อีกนัยหนึ่งมันคือความกล้าหาญที่ถึงแม้เธอจะมีสายเลือดของความเคร่งครัดในเรื่องเพศและต่างสีต่างภาษา ราวีนาก็ไม่เขอะเขินที่จะบอกเราว่านี่คือเรื่องปกติของมนุษย์ เช่นเดียวกับความรู้สึกต่าง ๆ ที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติ
เพลงที่แนะนำ: Baby Mama, Lose My Focus, Water
The Last Dinner Party – Prelude to Ecstasy
ศิลปินกลุ่มอินดี้ร็อกที่แค่เปิดตัวด้วยซิงเกิ้ล Nothing Matters ก็ตกได้ทั้งผู้ฟังทุกเพศทุกวัย ส่วนชื่อวงแปลตรงตัวได้ว่า “อาหารงานสังสรรค์มื้อสุดท้าย” ที่เราไม่แน่ใจว่าพวกเธอตั้งใจเล่นล้อกับผลงาน “The Last Supper” ภาพวาดยุคเรเนซองส์ของ ลีโอนาโด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) หรือเปล่า หากสไตล์ดนตรีที่หยิบกลิ่นอายและเอเลเมนต์ของ Baroque Pop, Orchestral Rock มาผสมผสานก็ทำให้หายเคลือบแคลงได้
อัลบั้มนี้ยังได้โปรดิวเซอร์ฝีมือดีอย่าง เจมส์ ฟอร์ด (James Ford) หนึ่งในสมาชิก The Last Shadow Puppets ที่ผู้ฟังอาจเคยเห็นลายเซ็นต์ด้านโปรดักชันในผลงานของหลาย ๆ วงดนตรี อาทิ Arctic Monkeys, Foals, Florence and the Machine, Gorillaz ฯลฯ ซึ่งถูกถ่ายทอดความโอ่อ่าผ่าน Strings & Brass Section ร่วมด้วยบรรยากาศที่พวกเธอทั้ง 5 คนต้องการสื่อสารห้วงอารมณ์อันสุดขั้วของมนุษย์ ตั้งแต่สุขสมยันทุกข์ระทม
ถ้าจะมองว่าเป็นผลงานเพื่อนหญิงพลังหญิงก็คงไม่เชิง สำหรับเรา Prelude to Ecstasy คืออัลบั้มที่ฉายภาพการผจญภัยของชีวิตที่ไม่ว่าจะเต็มไปด้วยขวากนามหรือกลีบกุหลาบ หรือจะมีสิ่งที่เราภาคภูมิใจหรือไม่นั้น สุดท้าย อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้และหวนคืนสู่อิสระ ที่พร้อมมอบพลังจนทุกคนยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง เฉกเช่นตอนจบอัลบั้มที่เลือกปิดด้วยเพลง Mirror ลึกลับ ลุกโชน ดั่งเปลวเพลิงที่สะท้อนออกมาในจิตใจส่วนลึก
เพลงที่แนะนำ: The Feminine Urge, My Lady of Mercy, Portrait of a Dead Girl
Hana Vu – Romanticism
ฮานา หวู่ (Hana Vu) หนึ่งในศิลปินหญิงรุ่นเยาว์เพียงไม่กี่คนที่เป็น Secret Admire ของเรามาโดยตลอด ตั้งแต่ที่ได้ยินเพลง Crying on the Subway จากผลงานชุด How Many Times Have You Driven By (2018) ก็รู้เลยว่าเธอคนนี้ต้องมีของแน่ ด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นวัยรุ่นและอารมณ์ที่กักเก็บความหนักหนาของช่วงชีวิตเอาไว้ อัลบั้ม Romanticism จึงอาจเป็นงานที่กล่าวได้ว่าสุกงอมที่สุดของเธอ
เธอเชื่อมโยงความเยาว์วัย (Youthful) เข้ากับการยกให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งสวยงามเกินความเป็นจริง (Romanticize) ได้อย่างเฉียบคมในฐานะหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังก้าวข้ามผ่านวัย แม้ปลายปากกาอาจไม่ได้มีคารมเหมือนศิลปินหญิงรุ่นพี่หลายคน กลับกัน ทุกเนื้อหาความเรียงมันก็ชวนให้เราหยุดคิดได้สักครู่ เผลอ ๆ บางครั้งเราอาจจะหลงลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า ทุกคนเคยเป็นวัยรุ่นที่ชีวิตและความรักไม่ได้สวยหรูเหมือนหนังรอมคอมไฮสคูล
สำหรับภาคดนตรีในอัลบั้มนี้ นอกเหนือสไตล์อินดี้ร็อกและด้านโปรดักชันที่ฮานาหวู่พยายามสเต็ปอัพขึ้นมา เธอยังเจือความพร่ามัว ทว่ากระแทกกระทั้นในรูปแบบของนอยซ์กึ่งการาจ สลับโฟล์คป๊อปประปราย หอมหวนแต่ไม่หวานนุ่ม ขมขื่นแต่กลืนคล่อง เป็นมวลความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความเปราะบางและแข็งแกร่งในเวลาเดียวกัน แถมเหมาะอย่างยิ่งแก่คนที่มองหาผลงานที่ฟังแล้วเข้าถึงไม่ยาก แต่สามารถกรีดแทงหัวใจได้แบบไร้รอยเฉือน
เพลงที่แนะนำ: Alone, How It Goes, Dreams
Laura Marling – Patterns in Repeat
ผลงานอะคูสติกโฟล์คจากนักร้อง-นักแต่งเพลงสาวรุ่นที่ปล่อยออกมาในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ไม่มีการปรุงแต่งให้เยอะเกินความจำเป็นไปนัก ถึงเธอจะเสริมเครื่องดนตรีเมโลตรอน เปียโน หรือบรรดาเครื่องสายออเคสตร้าเข้ามาในบางจังหวะ ทว่าความมินิมอลกลับมัดใจเราได้นุ่มนวลแถมผ่อนคลายอย่างน่าเหลือเชื่อเลยทีเดียว เป็นอัลบั้มที่เหมาะแก่การเปิดฟังในวันโปร่ง ๆ ที่ต้องการเสียงร้องของใครสักคนมาขับกล่อมดั่งเธอมอบให้ลูกเล็ก
ความมหัศจรรย์ในวิธีการสร้างสรรค์เสียงเพลงของมาร์ลิ่งอยู่ในระดับ “ลึกซึ้ง” ที่ไม่เพียงแต่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ในเส้นทางสายดนตรี ตั้งแต่อัลบั้มแรกในปี 2008 จวบจนการคลอดอัลบั้มชุดที่ 8 เมื่อตุลาคมปีนี้ แต่มันยังเปี่ยมไปด้วยพลังของความเป็นแม่และ Womanhood ผู้ซึ่งเข้าอกเข้าใจมนุษย์ได้ดิบดี ก่อนเธอจะถักทอมันอย่างเถรตรง งดงาม และปลอบประโลมหัวใจไปพร้อมการโอบกอดเศษเสี้ยวที่สำคัญในการก้าวเดินต่อ
เพลงที่แนะนำ: Patterns, The Shadow, Looking Back
Nilüfer Yanya – My Method Actor
อีกหนึ่งศิลปินสาวที่เราคิดว่าน่าจับตามองที่สุดในช่วงสองปีนี้ เพลงของเธอเท่ มีการใช้ทางคอร์ดโพรเกรสชั่นที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดยพาเราดำดิ่งลงไปในท่วงทำนองและเอเลเมนต์ดนตรี อาทิเช่น ป๊อปร็อก อาร์แอนด์บีที่พยายามนำเครื่องสาย อิเล็กทรอนิกส์บีท หรือซาวด์เอฟเฟกต์เพื่อสร้างบรรยากาศต่าง ๆ ไม่ถึงกับเป็นแบนด์ที่ซัดตึงเราด้วยความยิ่งใหญ่ทางสุ้มเสียง เธอเลือกที่จะเล่าเรื่องอย่างละเอียดทีละบทตอนมากกว่า
คอนเซ็ปต์อัลบั้มนี้อธิบายวิธีการสร้างตัวตนใดตัวตนหนึ่ง ไปจนถึงการค้นหาความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นมาปรับเปลี่ยนคาแรกเตอร์เพื่อใช้ในแต่ละสถานการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน คล้ายนักแสดง “สวมบทบาท” หรือแนวคิดที่หากเราอยากเป็นใคร ก็ต้องดึงพลังงานเหล่านั้นมาใช้ราวกับว่าเราเป็นบุคคลนั้น ซึ่งไม่ลืมที่จะลงมือทำ หรือละเลยการกลับมาสำรวจความรู้สึก เพราะมันอาจกระทบปัจจุบันจนสูญเสียตัวตนที่แท้จริงไป
แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางพาร์ทในเพลงบางเพลงมันเกือบจำเจหรือน่าเบื่อไปบ้าง แต่สิ่งที่พอทำให้เรามองข้ามมันและเห็นได้ชัดคือพัฒนาการจากเดบิวต์อัลบั้มอย่าง PAINLESS สู่ My Method Actor ผลงานที่เธอกล้าจะทดลองใส่กิมมิคแปลกใหม่ แบบที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนในผลงานก่อนหน้า การเรียบเรียงไดนามิกที่ค่อย ๆ คลี่คลาย ก่อนสะกดเราผ่านท่อนร้อง พร้อมกีตาร์หลากชนิดที่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของอัลบั้มชุดนี้เลย
เพลงที่แนะนำ: Like I Say (I runaway), Ready for Sun (touch), Just A Western
อ่านต่อ: Clairo กับอัลบั้มเพลงป๊อปมากเสน่ห์ร่วมสมัยที่สะกดหัวใจใน ‘Charm’
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist