Wall of Eyes คือสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สองจาก The Smile วงซูเปอร์กรุ๊ปที่ประกอบไปด้วย ทอม ยอร์ก (Thom Yorke), จอนนี กรีนวูด (Jonny Greenwood) สองในห้ามันสมองจาก Radiohead กับอีกหนึ่งตัวตั้งตัวตีอย่าง ทอม สกินเนอร์ (Tom Skinner) อดีตมือกลองอาวองการ์ด-แจ๊สแบนด์ Sons Of Kemet ที่ต่างคนต่างอดทนรออย่างใจจดใจจ่อครั้นที่พวกเขาปล่อยซิงเกิลแรกออกมา
สำหรับอัลบั้มชุดนี้ ส่วนตัวเรามองว่ามันเปรียบเสมือน “ดวงตาแห่งการเฝ้าสังเกต” ที่เสาะแสวงถึงความเป็นไปได้ทางเสียงดนตรีของสามสมาชิก ผ่านมุมมองจากอีกฟากหนึ่งของกำแพงที่เป็นขั้วตรงข้ามกับผลงานเปิดตัวเมื่อช่วงสองปีก่อนอย่าง A Light for Attracting Attention ไม่ว่าจะด้วยผลลัพธ์จากงานประพันธ์เพลงที่มีความซิเนมาติกตามวิถีการทำงานแบบคอมโพสเซอร์ หรือในฐานะศิลปินจอมทดลองมากโปรเจกต์ พวกเขาก็ยังนำเสนอคาแรกเตอร์ฉบับวงดนตรีร่วมสมัยได้ค่อนข้างดี อาจมีบางวัตถุดิบที่ดูซ้ำหูแต่ไม่นับเป็นปัญหานัก
ตั้งแต่มิวสิกโปรดักชันที่เปลี่ยนมือจาก Nigel Godrich มาเป็น Sam Petts-Davies โปรดิวเซอร์ที่เคยร่วมงานกับยอร์กในด้านเอนจิเนียร์ริงประจำอัลบั้ม ‘A Moon Shaped Pool’ (2016) รวมถึงผลงานเดี่ยวของเจ้าตัว และการทำสกอร์ให้กับหนังเรื่อง ‘Suspiria’ (2018) ภาพยนตร์สยองขวัญเหนือธรรมชาติที่ดัดแปลงมาจากผลงานออริจินอลของผู้กำกับชาวอิตาเลียน Dario Argento
เช่นเดียวกับขั้นตอนการบันทึกเสียงที่พวกเขาใช้วิธีโยกสลับระหว่างโฮมสตูดิโอและห้องอัดในเมืองที่ได้ The London Contemporary Orchestra มาเสริมในฝั่งของ String Section และโซนเครื่องเป่า อาทิ คลาริเน็ต, แซ็กโซโฟนจาก Robert Stillman กับเสียงฟลุ๊ตจาก Pete Wareham เว้นไว้เพียงอาร์ตเวิร์กที่ยังคงเป็นฝีแปรงของ Stanley Donwood ศิลปินคู่บุญคนเดิม
โดยภาคดนตรีส่วนใหญ่ วงจะเน้นไปที่ฮาร์โมนีหรือการสอดประสานของชั้นเสียง มากกว่าเมโลดี้และริทึ่มสไตล์กีตาร์แบนด์ ทว่ารายละเอียดที่ถูกซุกซ่อนในแต่ละแทร็กกลับขับเค้นบรรยากาศได้อย่างน่าทึ่ง แม้ท่วงทำนองและจังหวะกลางถึงช้าที่เรียบเรียงคล้ายบทบรรเลง อาจทำให้คนฟังถอดใจไปบ้าง ถ้าเทียบกับซาวด์เด้ง ๆ จากอัลบั้มแรกที่ดึงดูดผ่านริฟฟ์ไลน์และลูกกรูฟไว้สมชื่อ
การฟังศิลปะภาพรวมของอัลบั้มนี้จึงมีความสำคัญต่อห้วงอารมณ์พอสมควร ในขณะที่เราต้องฝ่าสรรพเสียงเพื่อออกสำรวจทีละเล็กน้อย ไปพร้อมกับเอเลเมนต์ดนตรีและซาวด์ดีไซน์ที่พวกเขาค่อย ๆ บิวด์ขึ้นมาอย่างอิสระ บนเนื้อสัมผัสที่เบาบางพลิ้วไหว แต่ลึกลงไปมันก็อัดแน่นด้วยเลเยอร์อันซับซ้อนช่างคิด ซึ่งสิ่งที่วงดนตรีพยายามทำคือการบาลานซ์กันระหว่างแทร็กต่อแทร็ก แน่นอนว่าในทุก ๆ ผลงานที่น่าจะเข้าถึงยากก็ยังมีเพลงฟังง่ายอยู่
Wall of Eyes เปิดด้วยการสตรัมอะคูสติกกีตาร์ขึ้นลงในสัดส่วน 5/4 กับทางคอร์ดโพรเกรสชันที่เล่นซ้ำพร้อมเสียงร้องของยอร์กที่กระซิบข้างหูนับหนึ่งถึงห้า วัน…ทู…ทรี…โฟร…ไฟท์…แอนด์วัน เวียนวนไปอย่างนุ่มนวลตลอดครึ่งเพลงหลัง ก่อนแทรกเครื่องสายโทนดรามาติกมาแบบเนียน ๆ และเอฟเฟกต์กีตาร์กรุ๊งกริ๊งชวนจักจี้
Teleharmonic บทเพลงที่บรรยายความเป็นช่องว่างระหว่างซาวด์สเคปของอัลบั้ม ทั้งเสียงซินธิไซเซอร์ลากยาวในช่วงเริ่มต้น ไปจนถึงพาร์ทที่เราชอบที่สุดคือสไตล์การเคาะกลองและจังหวะเพอร์คัสชันเฉพาะตัวของสกินเนอร์อันเพลิดเพลิน ที่คล้องด้วยเบสไลน์ และเสียงเป่าฟลุ๊ตอย่างละเมียดละไม
Read The Room ดึงเอากลิ่นอายจากแนวเพลงโพรเกรสซิฟเท่ ๆ และ Krautrock โยกสนุกมาคั่นอารมณ์ โดยอัพจากจังหวะกลางเป็นเร็วตั้งแต่นาทีที่ 3.12 เป็นต้นไป ให้ดุดันแถมกระชับผ่านริฟฟ์กีตาร์ติดหู และริทึ่มที่หนึบหนับพอจะสะกดคนฟังหรือแฟนคลับจากผลงานก่อนในแง่ที่ช่วยให้ต่อกันติดมากขึ้น
Under Our Pillows แม้อินโทรเพลงและริฟฟ์กีตาร์จะมีความคล้ายคลึง ‘Thin Thing’ ไปบ้าง แต่พวกเขาก็นำวัตถุดิบเสียงไปจนถึงการใช้เอฟเฟกต์ดีเลย์อันเป็นเอกลักษณ์ของกรีนวูดมาปรับคีย์ ประกอบกับเบสไลน์ เพอร์คัสชันแบบ motorik beat และเสียงแอมเบียนต์แปลกประหลาดกว่าหนึ่งนาทีในช่วงเอาท์โทรที่ทิ้งไว้ให้ฉงน ซึ่งสร้างความรู้สึกใหม่ ๆ ได้อย่างไร้ข้อกังขา
Friend of a Friend ทลายข้อจำกัดทางโครงสร้างดนตรีที่มีเพียงเสียงคลอบรรเลงจากเปียโน เบส และกลอง ด้วยการเสริมเข้ามาของเครื่องสายวงออสเคสตราและแบ็คกิ้งแทร็กเข้ามาแบบเล็กน้อย เพื่อไม่ให้มู้ดแอนด์โทนของภาพรวมในอัลบั้มหลุดออกจากกันจนเกินไป
I Quit เป็นเพลงที่หากลองฟังแบบผิวเผินอาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรหวือหวาหรือลุ้นระทึกมาก ยกเว้นความลื่นไหลระหว่างเอฟเฟกต์ที่ทับซ้อนคู่คอรัส เบสไลน์ และดรัมบีท ที่แอบหยอดเครื่องสายพร้อมซินธ์ในรูปแบบของงานทดลองก็เติมแต่งมิติให้กับแทร็กนี้ได้อย่างสวยงามเรียบง่ายไม่แพ้เพลงอื่น
Bending Hectic แทร็กความยาว 8 นาทีที่ขออนุญาตใช้คำว่าทรงพลังก็คงจะไม่เกินจริง ทั้งเสียงร้องกึ่งใคร่ครวญของยอร์กซึ่งหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเครื่องดนตรี กระทั่งการอะเรนจ์เพลงตั้งแต่เริ่มจนจบที่เราเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าในช่วงครึ่งหลังจะเต็มไปด้วยอารมณ์อันเปี่ยมล้น ยิ่งพอพวกเขานับถอยหลังระเบิดซาวด์ออกมา มันได้มอบความรู้สึกที่เหนือจินตนาการมาก ก่อน You Know Me! จะส่งฉากจบอัลบั้มผ่านเสียงเปียโนหนึ่งตัวที่เหมือนบทเพลง Lullaby ขับกล่อมเพื่อบอกลาเรา ด้วยสัมผัสแสนเยือกเย็นแต่ก็อบอุ่นใจ
และสุดท้ายต้องขอขอบคุณทาง Beggers Asia – Thailand ที่เชิญชวนชาวคอสมอสไปร่วมงานพรีเมียร์เมื่อวันที่ 24 มกราคม ณ มูลนิธิซิเนม่าโอเอซิส (Cinema Oasis) โดยถือเป็นความตั้งใจหลักของวงที่ต้องการจับมือกับโรงหนังอิสระทั่วโลก เพราะนอกเหนือการได้นั่งฟัง 8 เพลงเต็มด้วยระบบเสียงรอบทิศแล้ว แฟนคลับยังมีโอกาสได้รับชมหลากหลายโปรแกรม ทั้งฟุตเทจการทำงานในห้องอัดระดับตำนานอย่าง Abbey Road Studios, ภาพยนตร์ความยาว 15 นาทีเรื่อง ‘Anima’, สองมิวสิกวิดีโอเพลงจากอัลบั้ม ไปจนถึง Live Performance ‘The Numbers’ และ ‘Present Tense’ ก่อนปิดด้วยเอ็มวี ‘Daydreaming’ ที่ล้วนเป็นงานกำกับภาพของ Paul Thomas Anderson ทั้งหมด
อ่านต่อ Sigur Rós ดอกกุหลาบแห่งชัยชนะ และการถือกำเนิดใหม่ในอัลบั้ม Ágætis Byrjun
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist