Soundtrack to a Coup d’Etat (2024) ภาพยนตร์สารคดีความยาว 2 ชั่วโมง 30 นาที เป็นผลงานล่าสุดของ โยฮัน กรีมอนเปรซ (Johan Grimonprez) ผู้กำกับชาวเบลเยียมที่ได้ฉายหนังในเทศกาล Sundance Film Festival โดยคว้า Special Jury Award สาขา Cinematic Innovation และ กำกับยอดเยี่ยม, เขียนบทยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
หนังว่าด้วย ดนตรีแจ๊ส การต่อสู้ และสงครามเย็นระหว่างประเทศอาณานิคมกับประเทศมหาอำนาจ ในยุคสมัยที่ ปาตริช ลูมุมบา
(Patrice Lumumba) ได้ขึ้นเป็นผู้นำของประเทศคองโก โดยเขาร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง Mouvement National Congolais เพื่อเรียกร้องเอกราชจากเบลเยียม โดยมีเลดี้ แอนดรี บโลน (Andrée Blouin) สนับสนุนเขา รวมถึงช่วยเขียนคำกล่าวสุนทรพจน์ ไปพร้อมการเรียกร้องสิทธิสตรี ซึ่งคาบเกี่ยวตอนที่กลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกัน (Afro-Asian Group) จับมือกันเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยุติระบอบอาณานิคม ในระหว่างที่สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตกำลังช่วงชิงอำนาจกัน ก่อนที่ ลูมุมบา จะถูกลอบสังหารในภายหลัง ต่อมาประเทศคองโกก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองรัฐประหารนานหลายปี แล้วจึงล่มสลายในปีค.ศ. 1997
กรีมอนเปรซ พาเราย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่เขาค่อย ๆ เปิดโปงประวัติศาสตร์ ผ่านชุดข้อมูล ภาพ เสียง วิดิโอฟุตเทจจำนวนนับไม่ถ้วน ตัวเขาและทีมงานใช้เวลาร่วม 4 ปี รีเสิร์ช เก็บเกี่ยว เพื่อนำมาตัดต่อ และเล่ามันอย่างมีท่วงท่า ด้วยการผูกโยงหลากหลายเส้นเรื่องที่คนดูอาจต้องใช้สมาธิมากโข แต่ไม่ถึงกับจับจุดยากจนเกินไป อนึ่ง เพราะบรรดาเพลงแจ๊สอันเพลิดเพลินที่เสริมอารมณ์หนังได้ดี
และใครว่า “ดนตรี” ไม่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง”
เมื่อเสียงดนตรีเหล่านั้นใน ถูกใช้เป็นเครื่องมือความเป็นชาติประชาธิปไตย และซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเสรีอย่างปลอมเปลือก ภายใต้โครงการ “ทูตแจ๊ส” ที่สหรัฐฯ ส่งศิลปิน-นักดนตรีออกเดินทางไปแสดงต่างประเทศ ทัวร์ยุโรป เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้มีใครสนใจที่พวกเขากำลังเข้าไปแทรกแซงการเมืองประเทศอื่น ๆ ซึ่งภายในเรื่อง “บทเพลงบรรเลงรัฐประหาร” (ชื่อไทยของ Soundtrack to a Coup d’Etat) เราจะได้ทั้งเห็นใบหน้าและได้ยินงานเพลงของ หลุยส์ อาร์มสตรอง, ดุค เอลลิงตัน, แมกซ์ โรช, แอ็บบีย์ ลินคอล์น, ดิซซี กิลเลสพี, นิน่า ซิโมน ฯลฯ
ท่ามกลางความรื่นรมย์ที่แลกมาด้วยความขื่นขม บทบรรเลงต่าง ๆ ที่ กรีมอนเปรซ หยิบมาใช้ในหนัง ตัดสลับกับซีนการประท้วงต่อความหวังที่พวกเขาต่างเฝ้าฝันถึง ก็เผยให้เห็นว่า นอกเหนือระบอบอาณานิคม และความหน้าเลือดของเจ้าอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ทศวรรษ การเหยียดสีผิว ชนชาติ เพศ ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นผลพลอยร้าย ๆ ที่ส่งต่อมาถึงยุคสมัยปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่เช่นกัน
ถึงแม้ผมจะบริสุทธิ์จากภายใน แต่นั่นก็ไม่ช่วยอะไรมากนัก
เมื่อชีวิตได้ประทานสิ่งที่ไม่อาจซุกซ่อนได้ผ่านใบหน้าใบนี้
โดยเฉพาะตราบาปเดียวที่ติดตัวผมคือเนื้อหนังและสีผิว
ผมได้กระทำอะไรไป ถึงได้หม่นหมองและชอกช้ำเพียงนี้
– เนื้อหาส่วนหนึ่งจากเพลง ‘Black and Blue’ ขับร้องโดยหลุยส์ อาร์มสตรอง
เราชอบที่องค์ประกอบของสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงความตึงเครียด และตลกร้ายที่ผู้ชมอาจจะขำหรือขำไม่ออก แต่คือไดนามิกการเล่าเรื่องที่ใส่ความเป็นมนุษย์ในหลากหลายมิติ ทั้งร้อนเร่าดั่งกลองจังหวะสวิง บ้างอ่อนไหว เปี่ยมพลัง ดั่งเสียงเครื่องเป่าและเปียโน ซึ่งมีคำร้องที่ระทมทุกข์ไม่ก็ปีติยินดี เช่นเดียวกับฟอร์มของหนังประเภทสารคดีที่มักจะเสนอผ่านการบันทึกสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง
Soundtrack to a Coup d’Etat ไม่ได้มี pacing การดำเนินหนังในแบบที่เราเคยเห็นในสารคดีเรื่อง Buena Vista Social Club (1999) ผลงานของผู้กำกับ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) ที่เราเขียนรีวิวไว้เมื่อปีก่อน สไตล์ของเวนเดอร์สยุคหลัง ๆ ค่อนข้าง สามัญ เนิบช้า ผสมอุ่นไออันเบิกบานใจกว่ามาก กลับกัน ฝีมือการตัดต่อของ ริค เชาท์เบธ (Rik Chaubet) ที่เข้ามารับบทจาก กรีมอนเปรซ ถือว่า สดใหม่ บ้าคลั่ง แต่ทะเยอทะยานพอจะทำให้เรานั่งติดเก้าอี้ไปตลอดการรับชมได้แบบไม่รู้สึกเหนื่อย
หากจุดร่วมเดียวกันระหว่างสองเรื่องนี้คือ ผลกระทบที่ยังคงทิ้งซากปรักหักพังไว้แก่คนรุ่นหลัง เจือความพร่าเลือนทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมบางอย่างที่อาจสูญหายไปพร้อมบุคคลเหล่านี้ หรือถูกฝังกลบโดยผู้มีอำนาจ รวมถึงบทเพลงต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถฟังมันได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยเนื้อหาและซาวด์ดนตรีเบื้องลึกที่ออกมาจากก้นบึ้งหัวใจของศิลปินตัวแทนผู้เรียกร้องทั้งหลาย
น่าเสียดายที่หนังยังสามารถคิกอินหรือทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนโดนทุบ-อกได้มากกว่านี้ แต่นี่ก็เป็นการตอกหน้าอย่างมีชั้นเชิง พาร้องเหวอ และชวนซี๊ดปากอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ถ้าอยากให้คนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ก็ต้องฉะ ต้องมันส์กันเบอร์นี้แหละ หนังไม่ได้ใช้ความดราม่าอย่างเวิ่นเว้อ ทว่า มันคือความเจ็บปวด คับแค้น ที่ฝังลึกลงไปในจิตใจของชาวคองโก แอฟริกัน-อเมริกัน และพันธมิตรประเทศอื่น ๆ ซึ่งในฐานะคนเบลเยียมอย่าง โยฮัน กรีมอนเปรซ เขาจึงขอโอกาสแสดงคำขอโทษ ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้
และเราขออำลาบทความชุดนี้ไปด้วยคำขอบคุณถึงทีมงาน Documentary Club ที่นำเรื่องนี้เข้ามาฉายในโรงหนัง House Samyan ที่แม้มันควรจะได้ฉายในโรงหนังไมโครซินิม่าอย่าง Doc Club & Pub. ก็ตาม ซึ่งสารคดีชุด Buena Vista Social Club ทางเราเองก็ได้มีโอกาสได้ไปดูที่ด็อคคลับเมื่อปีที่แล้วเช่นกัน ในฐานะคนรักภาพยนตร์ และหนังสารคดีตัวกระจ้อยคนนี้ หวังว่าผู้ชมทุกคน และโรงหนังขนาดย่อมจะกลับมามีพลังภายใต้กำลังที่จะสร้างแรงกระเพื่อมร่วมกันอีกครั้งค่ะ (ตอนนี้หนังยังมีรอบฉายอยู่ สามารถจับจองรอบและที่นั่งได้บนเว็บไซต์)
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist