Oxford Service คือผลงานเดบิวต์จำนวน 10 บทเพลงของ Secret Police หรือสองหนุ่มดูโอ้จากค่าย Citadel Sound ประกอบด้วย แบงค์—ภัทร เทียมถนอม และ อัฑฒ์—อัฑฒ์ สุระมรรคา พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็นวงดนตรี Cosmic Pop อันทักทายคนฟังด้วยเสน่ห์ที่แสนน่าค้นหาของสไตล์ดนตรีระหว่าง Jazz, Lo-fi และ Synth-pop
โดยอัลบั้มยังนี้สอดแทรกทั้งเรื่องราวของความรัก การสูญเสีย และชีวิตที่ระหกระเหินไปอย่างเร้นลับ ไร้คำตอบ ก่อนจะคลี่คลายในภายหลัง ราวกับว่าเราต้องคอยปะติดปะต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในแต่ละ sequence ผ่านหลากหลายอารมณ์ทั้งทุกข์ สุข กระทั่งจับความรู้สึกไม่ได้ แต่สิ่งที่แน่ชัดคือมันเคยเกิดขึ้นจริง
งานเพลงของ ‘Secret Police’ ยังมีกลิ่นอายอัลเทอร์เนทีฟแบบเกาะอังกฤษเบา ๆ ซึ่งซุกซ่อนแนวฟังก์กี้ ดิสโก้ และโพรเกรสซิฟที่คอยไต่ระดับความสนุก ท่ามกลางความหม่นเศร้าอันเปรียบเหมือนกาแฟคั่วเข้มสุดหอมกรุ่นที่ต้องกินตัดกับขนมปังหรือโดนัทหน้า sugar-glazed ทุกคนสามารถอ่านรีวิวแทร็คต่อแทร็คไปพร้อมกับเราได้ที่บทความนี้เลย
เริ่มกันที่แทร็กเปิดอย่าง Loveless Entertainment ด้วยบรรยากาศน่าพิศวงที่ชวนตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ วงได้แทรกเอเลเมนต์ดนตรีไว้อย่างกลมกล่อม ตั้งแต่ ดรัมแพด กลองชุด ซินธ์ เบสไลน์และท่อนโซโล่ช่วงท้าย ถือเป็นเฟิร์สอิมเพรสชันที่ดีสำหรับใครที่ยังไม่รู้จักแต่จะได้คุ้นเคยกับซาวด์ของพวกเขามากขึ้น นอกเหนือมิวสิกวิดีโอและริทึ่ม สิ่งที่เราชอบในเพลงนี้มาก ๆ คือไลน์กีตาร์ที่จัดเต็มไม่ยอมใคร
ต่อที่ Summertime กับเมโลดี้สดใสที่เปิดผ่านเสียงซินธ์ระยิบระยับ และจังหวะอัพบีตประกอบการสับกีตาร์เร่ง ๆ ขึ้นมาอีกนิด พวกเขาหวังว่าลมร้อนที่พัดมาจะพอช่วยคลายเหงาไปได้บ้าง ตามด้วย Daydream ที่เพิ่มความดราม่าติกจากเครื่องสายและเนื้อหาซึมเซา “มีเพียงเธอที่คอยปลุกฉันจากฝันกลางวัน” หากไม่เป็นการร้องขอที่มากนักก็อยากให้เธอกลับมาหาอีกครั้ง ซึ่งครึ่งหลังพวกเขาก็คอยขยี้อารมณ์บนริฟฟ์และเฟดออกไปแบบเท่ ๆ
For you, Who’s never… จับเอฟเฟกต์เสียงวิบวับเหมือนส่งสัญญาณจากนอกอวกาศมาใส่เป็นลูกเล่นมันส์ ๆ โดยแอบยิงคู่กับริทึ่มกลองและไลน์เบสหนึบหนับเป็นระยะ จังหวะกดเสียงคีย์บอร์ดและช่วงสตรัมกีตาร์ซ้ำ ก่อนสลับกันร้องคือชอบเลย ไม่คิดว่าแทร็คนี้จะน่ารักขนาดนี้ ส่วนเพลง I Just Quit ก็ตอบแทนอารมณ์เหนื่อยหน่ายของฝ่ายรอไว้หมดแล้ว ทั้งทำนองป๊อปหน่วง ๆ เสียงร้องปนน้อยใจ และดนตรีกึ่งประชดประชัน
ถัดมาเป็น Crystalball ที่มาพร้อมท่วงทำนองชวนเราจับมือเต้นรำในห้องโถงอย่างเนิบช้า โดยมีการเพิ่มไวโอลินและกีตาร์โซโล่เข้ามา ส่วนพาร์ทดนตรีก็จะอยู่กึ่งกลางระหว่างกลิ่นอาย Lounge Pop, Orchestral Rock ก่อนตบเข้างานซินธ์และคอรัสเหงาหงอยที่คอยลูบไล้ เคลือบหูคนฟังไปพลางใน Wanderer พ่วงด้วย Pretender และในแทร็คปิดท้ายอย่าง Mercury กับ Ride the Lightning ก็ส่งห้วงอารมณ์สไตล์ป๊อปร็อกได้อย่างสนุกสนาน และน่าจะเป็นอีกสองเพลงที่พวกเขาได้โชว์เทคนิคกันแบบเต็มที่ ทำให้ไวป์โดยรวมของอัลบั้ม ‘Oxford Service’ ที่ไม่ว่าเราจะกดฟังเพลงไหน สำเนียงเสียงของพวกเขาก็ชวนหลงใหลไปหมด เป็นดูโอ้หน้าใหม่ที่มีฝีมือน่าติดตามเลยล่ะ
PLASUI PLASUI พาทุกคนก้าวผ่านช่วงเวลาเศร้า ๆ ไปด้วยกันใน EP ‘Pristis zijsron’
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist