Pleasantry คือวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ-ป๊อปร็อกสัญชาติสิงค์โปร พวกเขาเคยแจ้งเกิดในวงการเพลงอินดี้เมื่อช่วงต้นปี 2010’s จากอีพี ‘Porcelain Lenses’ ตามด้วยอัลบั้มชุดแรก ‘Synapses’ ที่สามารถสร้างฐานแฟนเพลงในประเทศบ้านเกิดได้เป็นจำนวนไม่น้อย ผ่านโวคัลไลน์หญิงชายที่ใช้เนื้อหาคำร้องเรียบง่าย แต่มีความหลากหลายทางโครงสร้างและลูกเล่นที่มอบทั้งอารมณ์นุ่มนวล ซับซ้อน ไม่ธรรมดา
หลังจากนั้น พวกเขาก็ห่างหายจากวงการเพลงไปนานอยู่พอสมควร (หากไม่นับผลงาน Collaboration และ Split EP ที่ทำร่วมกับวง Starry Eyed Cadet ในปี 2015) ก่อนจะได้ฤกษ์กลับมาปล่อยสตูดิโออัลบั้มชุดที่สองในชื่อ Slow Burn โดยตั้งอยู่บนคอนเซ็ปต์ของสมาชิกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการผ่านพ้นของช่วงเวลาจริง ซึ่งกำลังแปรเปลี่ยนจากวัย Teenager สู่ Adulthood ระหว่างรสชาติหวานปนขมที่ไม่ฉาบเคลือบด้วยฟิลเตอร์ฟุ้งฝันนัก ประกอบเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์ ความเปราะบาง และความหวังต่อการได้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน

Track by Track
Currents
เปิดด้วยการเซ็ตมู้ดที่มีกลิ่นกรุ่นคล้ายแสงแดด ซึ่งลูบไล้เราอย่างอบอุ่นผ่านกีตาร์ที่เย้าแหย่ไปมาทั้งสองตัวในช่วงอินโทร ตามด้วยการบิวด์ Tension ทางเมโลดี้ด้วยเบสไลน์และบีทกลอง ก่อนตบเข้าเวิร์สแรกที่ดรอปจังหวะลงมาเล็กน้อย ระหว่างเสียงประสานของหญิงชายที่แทรกคอรัส “วู วูฮู้ว วูฮู้ว วูฮู้ว วู้วววว~” เรียกให้เราขยับปากร้องตามทำนองสนุกสนาน ถือเป็นแทร็กเปิดที่วอร์มอัพเพื่อปลุกพลังได้ตั้งแต่ช่วงต้นของการฟังอัลบั้มนี้
Waxing Gibbous
พวกเขาใช้วิธีดรอปเทมโปลงมาให้อยู่ในจังหวะกลางที่ใส่ท่วงทำนองน่ารัก ซึ่งขับกล่อมพร้อมน้ำเสียงออดอ้อนปนกระซิบกระซาบ และริฟฟ์กีตาร์กรุ๊งกริ๊ง จากนั้นจึงแทรกพาร์ทไวโอลินเข้ามาอย่างแนบเนียนที่ช่วยเสริมมวลอารมณ์ ราวกับไม่อยากให้อีกฝ่ายปล่อยมือบอกลาภายใต้แสงจันทร์พร่างพราวนี้เลย มองดูผิวเผินอาจเป็นเพลงที่ฟังง่ายและเนื้อสัมผัสค่อนไปทาง Cheesy แต่แพทเทิร์นกลองข้างหลังคือเป็นอีกหนึ่งพาร์ทที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
Constellation
กลับมาที่จังหวะชวนกระโดดแบบไม่มีพิธีรีตอง พวกเขาปรุงแต่งความร้อนแรงเบา ๆ ผ่านการสร้างมิติด้วยริฟฟ์ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผสานท่อนสตรัมคอร์ดและกิมมิคการ Bending สลับช่วง Mute เสียงกีตาร์ สู่ท่อนบริดจ์ที่ทุกคนพร้อมใจประสานเสียง “ปั๊ปปา ปั๊ปปา ปั๊ปปา” ควบกลองมาร์ชชิ่งแล้วดรอปลงที่ “โว้ว โอ โว้ว โอ โว้ว!” ก่อนพุ่งขึ้นมาท่อนฮุกอย่างเท่ระเบิด ถูกต้องมาก ๆ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงเลือกเพลงนี้เป็นเพลงเก่ง
Started Dreaming
เราชอบเพลงนี้ที่ภาคดนตรีของพวกเขาจะมีกลิ่นอาย Twee-Pop, Jangle Pop ช่วงยุค 80s – 90s ที่ชวนให้นึกถึงวง Orange Juice จากอัลบั้ม ‘You Can’t Hide Your Love Forever’ (1982) และ Moose จากอัลบั้ม ‘Live a Little Love a Lot’ (1995) ผสมเสียงร้องสไตล์ Ethereal Wave โดยเติมซาวด์คีย์บอร์ดให้คลอเคลียกับไลน์กีตาร์เปี่ยมเสน่ห์ในช่วงกลางถึงท้าย ท่ามกลางจังหวะที่ช้าลงและสัมผัสได้ถึงความเบาบางล่องลอยกว่า

Tucked Away
Interlude คั่นกลางกับซาวด์แอมเบียนต์เพียงไม่กี่นาทีก่อนเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของอัลบั้ม โดยเริ่มจากการบรรเลงด้วยคีย์บอร์ดและ String Section ที่ให้บรรยากาศราวตกอยู่ในมนต์สะกด แต่กลับกัน ในโลกแห่งความเป็นจริงมันก็มีความ Emotional ที่เต็มไปด้วยอารมณ์หม่นหมองอันซุกซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวแสนสวยงาม
Over and Under
นำด้วยกีตาร์โปร่งและเสียงร้องชายช่วงเวิร์สแรก ก่อนพวกเขาจะบิวด์อัพความตึงเครียดขึ้นมาเล็กน้อย ผ่านการโหมเมโลดี้สุดคุกรุ่นในโครงสร้างแบบดนตรีอินดี้ร็อกและแมทร็อกที่น่าจะถูกใจคอเพลงสายมิดเวสต์เช่นกัน แล้วจึงสลับไปที่เสียงร้องหญิงในเวิร์สถึงการประสานเสียงช่วงฮุกสอง คล้ายการเดิมพันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่บางครั้ง เราต้องพยายามก้าวข้ามความหวาดกลัวหรือสิ่งที่ขัดแย้งทั้งภายในใจและเหตุการณ์ตรงหน้าไปให้ได้
A Glimpse
บริงอัพมู้ดด้วยทำนองกระฉับกระเฉงและเสียงกีตาร์ขี้เล่น เหมือนกำลังดู Anime-Opening ที่เน้นการบรรเลงในช่วงอินโทรก่อน แล้วตลบเข้าท่อนเบสไลน์ฉายเดี่ยว เราชอบที่เขาแบ่งพาร์ทให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นแจ้งเกิดกันแบบเท่าเทียม อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เพลงนี้กลมกล่อมยังคือสำเนียงการร้องภาษาอังกฤษของ Samantha Teng และการเรียบเรียงไดนามิกขึ้นลง เปรียบกับความคิดชั่ววูบที่แว้บไปมา ซึ่งตรึงผู้ฟังอย่างเราได้แบบอยู่หมัด
Quiet
เพลงนี้ถ่ายทอดอารมณ์ซึมเซาได้ชัดเจนกว่าเพลงอื่น เป็นความเดียวดายในความยาว 4.51 นาทีที่กำลังกัดกินและเผาไหม้เราอย่างเชื่องช้า อาทิ ซาวด์เอฟเฟกต์สุดพร่ามัวของกีตาร์ ประกอบเสียงเครื่องสาย ไวโอลิน และจังหวะเบสกลองที่คอยสะกิดอยู่เป็นระยะ ก่อนเอาท์โทรจะปะทุพลังอย่างที่ไม่เคยแสดงออกมาก่อน ดั่งคำอธิบายที่ว่า “ความเงียบมักจะเสียงดังที่สุด” ก็ตอนใครหลายคนที่ได้ Sit-in กับความรู้สึกและฟังเสียงในหัวใจตัวเอง
Frequencies
มาถึงเพลงสุดท้ายที่พวกเขาเขียนให้เป็นอะคูสติกโฟล์ก เอเลเมนต์น้อยชิ้นที่ถูกจัดเรียงแบบละเมียดละไม โดยไม่มีอะไรไปมากกว่า กีตาร์โปร่ง เสียงร้องชายหญิง ที่ประสานกันได้อย่างไพเราะและน่าประหลาด จริงอยู่ที่มันค่อนข้างคอนทราสต์กว่าหลายเพลงก่อนหน้า ทว่า นี่อาจเป็นปลายทางของความสงบสุขที่ทุกคนมองหาก็ได้
ในโลกยุคโมเดิร์นที่ทุกสิ่งอย่างดูรวดเร็วเสียไปหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของความสัมพันธ์ที่เดทกันแบบฉาบฉวย อัลบั้ม ‘Slow Burn’ (ที่อาจหยิบยืมมาจากชื่อเรียกความสัมพันธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป) สำหรับเรา ก็เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่า ลองใช้ชีวิตให้ช้าลงอีกสักเล็กน้อย ยอมรับ ปล่อยวาง และฝึกอดทนกับอะไรสักอย่าง ไม่แน่ว่าเราอาจจะมองเห็นอะไรที่ชัดเจนขึ้น โดยไม่ลืมว่าชีวิตมันก็มีขึ้นมีลงแบบนี้แหละ
อ่านต่อ รู้จัก Motifs วง shoegaze สิงคโปร์ ที่รุ่มรวยด้วยซาวด์นุ่ม ๆ ชวนล่องลอย

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist