No Party For Cao Dong ถูกขนานนามในฐานะอินดี้แบนด์ฝั่งไต้หวันที่ดุดันด้านโทนเสียงและพลิ้วไหวด้านอารมณ์ ประกอบภาพลักษณ์ชายหญิงชุดดำพ่วงการแสดงสดที่เกินคาด พวกเขาผสมความนุ่มนวลของเมโลดี้ บาลานซ์เข้ากับจังหวะสนุก ๆ ระหว่างไลน์ร้องประสานที่ขับเค้นโดยดนตรีสไตล์เอเชียนร็อกชวนฝันจากซาวด์หลากหลายแนว ตั้งแต่กรันจ์ ดิสโก้ พังค์ แถมพวกเขาเคยมาวาดลวดลายในงาน Maho Rasop Festival เมื่อปี 2019 ณ มโหฬารสเตจที่ทำเอาคนดูโยกหัวกันจ้าละหวั่น
ซึ่งการจับท่วงทำนองแฝงความโศกเศร้าผ่านบทกวีที่ห่อหุ้มด้วยภาษาอันเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ส่งให้พวกเขาทั้งสี่จากทางตอนเหนือของเมืองไทเป คว้ารางวัลวงดนตรียอดเยี่ยมและเดินทางไกลถึงเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง SXSW, Glastonbury บวกโซลเอาท์โชว์ในอีกนานาประเทศ แม้ภายหลังการสูญเสียเพื่อนร่วมวงในปี 2021 จะเป็นข่าวที่สะเทือนใจแฟนเพลง ครอบครัว รวมถึงสมาชิกที่เหลือไม่น้อย
และเพื่อเป็นการอุทิศแด่ Tsai Yi-Fan มือกลองผู้เป็นที่รัก No Party For Cao Dong ก็กลับมาพร้อมอัลบั้ม The Clod (瓦合) ที่เว้นห่างจากผลงานชุดแรกอย่าง The Servile (醜奴兒) ถึง 7 ปีเต็ม อัลบั้มนี้จึงเปรียบเสมือนการเปิดผนึกจดหมายที่ส่งต่อความรู้สึกทั้งหมดไปยังดินแดนลับตาที่เธออาศัยอยู่ ดั่งกลอนหรือกวีนิพนธ์ของ William Blake ที่ถ่ายทอดมุมมองความรักที่อาจมอบความสงบสุขราวสรวงสวรรค์หรืออาจเจ็บปวดทนทุกข์คล้ายตกนรก ปรัชญาของเบลคยังสอดแทรกเรื่องราวคู่ขนานทางจิตวิญญาณและแก่นแท้ทางธรรมชาติในทุกสรรพสิ่ง เฉกเช่นดนตรีของวงที่มีความคอนทราสกันแต่กลับลงตัวแบบไม่มีอะไรด้อยหรือเด่นกว่าใคร
พวกเขาเปิดด้วย Intro ที่บรรเลงซาวด์กีตาร์แผ่กังวานไปทั่วทุกอณู พร้อมจังหวะกลองคลอเบสซินธ์ที่ลัดเลาะไปตามท้องถนนที่ว่างเปล่า แล้วกระชากเราผ่านริฟฟ์น่ายำเกรงอีกที ก่อนเพลง Pool และ Space จะเริ่มสับกีตาร์สไตล์แมนโดป๊อป เสริมกรูฟเพอร์คัสชั่นหล่อ ๆ ดำเนินพร้อมเบสกลิ่นอายแดนซ์พังค์ชวนกระโดด ชนิดปล่อยหมัดยับ ซัดรัวจนวินาทีสุดท้าย
The Human, the Hole and the Mountain สลับไดนามิกหนักเบาด้วยไทม์ซิกเนเจอร์ 3/4 ประกอบการนวดกลองตัดจังหวะตีเน้น ในขณะที่ Interlude และ Daydream ก็เรียกหยดน้ำตาแรกผ่านบีทอิเล็กทรอนิกสุดเปลี่ยวเหงา โดยเฉพาะท่อนที่กระแทกด้วยลีดกีตาร์บวกโซโล่จากน้ำเสียงที่ซุกซ่อนความรวดร้าว สะกดคู่เมโลดี้สวย ๆ ที่ใกล้พังทลายลง สามแทร็กนี้จึงกลายเป็นเพลงโปรดเราไปโดยปริยาย
ระหว่างที่เพลง Lie และ Shoot เรียบเรียงออกมาอย่างไพเราะจากโครงสร้างกีตาร์อะคูสติกที่ละเอียดอ่อน ทันใดนั้นเสียงคอรัสก็กรีดตะโกนพร้อมเครื่องสายที่อาละวาดอย่างดุเดือดเลือดพล่านแถมเท่มาก ๆ ในเพลง B ที่หยอกล้อผ่านเนื้อหาตลกร้าย ดึงเชิงกันเป็นระยะ พวกเขาไม่รอช้าที่จะระเบิดอารมณ์อีกครั้ง กับการใส่พาวเวอร์คอร์ดผสานลีลา tapping ชวนขยับตัวในเพลง Chang ก่อนส่งเพลง Damn ที่รวบรวมเอาฟุตเทจ เก็บเสียงหัวเราะปนกลั้นน้ำตา มาฉายภาพความทรงจำและกล่าวคำบอกลาว่า “หว่ออ้ายหนี่” ถึงฟานฟานจากใจจริง
ฟังจบก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพวกเขาถึงเป็นที่รักใคร่เอ็นดูในหมู่วัยรุ่นชาวไต้หวัน เพราะในหลาย ๆ บทเพลงก็สามารถปลอมประโลมยามสิ้นแรงหมดหวังได้อย่างไร้ข้อกังขา และแม้โลกแห่งความเป็นจริงจะโหดร้ายหรือถูกบดบังด้วยเมฆฝนแค่ไหน พวกเขาก็ขอเดินเคียงข้างเพื่อเผชิญหน้าสู้คืนวันอันยากลำบากไปพร้อมกับเรา ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตและลมหายใจ
แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist