No Comply อัลบั้มชุดที่สองจาก Scoutland ที่ว่าด้วยท่วงท่าและสไตล์เพลงแห่งการใช้สำรวจจิตใจ

by Nattha.C
104 views
No Comply - second album by Scoutland

เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมการเล่นสเก็ตบอร์ด ที่พ่วงมาพร้อมการขับเคลื่อน Subculture อย่างแฟชั่นและดนตรี ก่อนจะถูกบรรจุเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่สามารถนำไปแข่งขันโอลิมปิกระดับโลกได้ ใครหลายคนอาจมีภาพจำว่า ในขณะที่พวกเขากำลังสวมใส่เสื้อผ้าแนวสตรีท ไถสเก็ตบอร์ด ในหูฟังก็อาจเปิดเพลงพังค์ร็อก เมทัล ฮิปฮอปไปด้วย แต่เมื่อมองกลับมายุคปัจจุบัน การจะทำกิจกรรมหรือแต่งตัวอะไรมันไม่ได้นิยามใครว่าต้องเป็นยังไงอีกแล้ว

ในสตูดิอัลบั้มชุดที่ 2 พวกเขาหยิบชื่อเรียกทริคหนึ่งจากการเล่นสเก็ตบอร์ดอย่าง ‘No Comply’ ที่ยังแปลได้ว่า “การไม่ปฏิบัติตาม” ธรรมเนียมดั้งเดิม เช่นเดียวกับที่วงใช้โครงสร้างเพลงแจ๊สเป็นรากฐาน แล้วเล่าเรื่องแบบโฟล์กไร้เนื้อร้องที่ใส่กลิ่นอายแอมเบียนต์ผสมโซลฟุ้ง ๆ ระหว่างท่วงท่าและสไตล์เพลง ทั้งสองสิ่งนี้ เริ่มต้นจากความขัดแย้งที่นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ผลงานของพวกเขาจึงมีความ “ขบถ” ในตัวเองประมาณนึง

หากมันเป็นความขบถที่ไม่ได้ต่อต้านแบบหัวชนฝา ซึ่งชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ดนตรีของ Scoutland น่าติดตามต่อผู้ฟังที่อาจไม่ค่อยสันทัดเรื่องเพลงแจ๊สคือ เมโลดี้ที่ชวนให้รู้สึกถึงการเดินเท้าออกสำรวจโลกในมุมมองใหม่ ๆ ผ่านการบรรเลงอย่างมีอิสระ และตรงไปตรงมา แม้บรรยากาศโดยรวมในอัลบั้มนี้อาจไม่ได้กระโดดจากอัลบั้มชุดแรกที่ชื่อ ‘No Gap’ (2020) ไปมากสักเท่าไหร่ กระทั่งต้องลดทอนความซุกซนไปบ้าง ทว่ารสมันยังกลมกล่อมพอดี

เริ่มต้นที่ Interlude กับเอเลเมนต์ดนตรีน้อยชิ้น แต่เชื้อเชิญเราด้วยการหยอกล้อระหว่างกีตาร์และกลอง คลอแพทเทิร์นดับเบิ้ลเบสที่ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น ท่ามกลางซาวด์กรุ๊งกริ๊งของเหล่าเครื่องกระทบ เรียกให้ตื่นตัวแบบนุ่มนวลก่อนไปเจอ Fast เพลงสวิงกึ่งอิมโพรไวส์จังหวะฉับไว ตามด้วย When We Learn To Fly ซิงเกิ้ลแรกที่วงเลือกมาโปรโมท ในจังหวะเนิบช้าผสานทำนองเพลงย้วย ๆ ที่คล้ายการยืดเวลาให้นานขึ้นอีกนิดเพื่อเตรียมตัวก่อนออกบิน

ถัดมาเป็น So-so และ Frontside 180 ที่ได้ เต๊นท์—ศิวนัส บุญศรีพรชัย มาเป่าแซ็กโซโฟนให้ ปกติเราจะเห็นเขาถือกีตาร์จับไมค์ร้องเพลงในวง Summer Dress หรือแลคเชอร์นักศึกษาในมหาวิทยาลัย การได้ยินอาจารย์เต๊นท์เป่าแซ็กก็ดูแปลกหูไปเหมือนกัน หรืออย่างเพลง Strong ที่น่าจะเป็นเพลงป๊อปฟังง่ายที่สุดในอัลบั้ม ตอนนี้ก็ได้กลายเป็นเพลงโปรดของเรา ทั้งด้านเอเลเลเมนต์กับคอมโพสิชั่นที่เรียบเรียงออกมาสวยงามมาก ๆ

และอีกหนึ่งความพิเศษที่เติมแต่งให้อัลบั้มนี้มีเนื้อสัมผัสละมุนขึ้นคือการเข้ามาร่วมแจมแซ็กของพี่ กุ๊ก—ธีรัช เลาห์วีระพานิช หรือที่เรารู้จักเขาในฐานะมือเป่าให้กับคณะ T-Bone (ทีโบน) วงดนตรีแนวเร็กเก้-สกา กลุ่มแรก ๆ ของไทยที่เริ่มแอคทีฟมาตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับสองเพลงสุดท้ายอย่าง Half Track และ No Cowboy พวกเขาก็ดึงเราเข้าสู่ห้วงอารมณ์บนท่วงทำนองอันรื่นรมย์อีกครั้ง จากกลิ่นอายตะวันตกที่คละคลุ้งไปด้วยสายลมพร้อมแสงแดดอ่อน ๆ ประกอบซาวด์ดีไซน์ที่ไม่มีอะไรหวือหวาโลดโผน แต่มันสามารถทำให้เราเคลิบเคลิ้มได้อย่างน่าประหลาด ราวกับว่าลูกเสือสามนายนี้ได้เติบโตขึ้นแล้ว หรือไม่แน่ว่าพวกเขากำลังคงความเป็นวัยรุ่นไว้ในตัวสักแห่งหนหนึ่ง

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy