House of Protection เกิดขึ้นจากสองศิลปินชื่อดังอย่าง Stephen Harrison (จากวง The Chariot) และ Aric Improta (จากวง Fever 333 และ Night Verses) มาร่วมงานกัน ด้วยความที่ทั้งสองแบกชื่อวงร็อกสุดเท่มาด้วยกัน ความคาดหวังของคนฟังก็ย่อมสูงตามเป็นเรื่องธรรมดา แต่ EP แรกของพวกเขาในชื่อ ‘Galore’ ก็ตอบโจทย์เพลงร็อกหัวแตกแบบที่เหล่า headbanger ต้องการอย่างเต็มที่ ด้วยสไตล์ดนตรีที่ยากจะคาดเดาและทดลองกับเส้นแบ่งของแนวเพลงอย่างกล้าหาญ ทำให้ EP นี้เต็มไปด้วยพลังงานอันพุ่งพล่าน
อีกส่วนผสมสำคัญที่พาพวกเขามาได้ไกลขนาดนี้ คือ Jordan Fish อดีตเมมเบอร์คนสำคัญของ Bring Me The Horizon ที่รังสรรค์ให้ทั้งหกเพลงนี้เป็นการสำรวจดนตรีแนวฮาร์ดคอร์ พังก์ อิเล็กทรอนิกส์ และแนวดนตรีอีกมากมายที่สร้างความโกลาหลและตื่นเต้นเร้าใจไปในเวลาเดียวกัน เปลี่ยนหูเราให้เหมือนสงครามนองเลือดที่คุ้มคลั่ง
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Galore คือวิธีการที่ EP สามารถสร้างความสอดคล้องกันได้แม้จะมีเสียงและสไตล์ที่หลากหลาย แม้ว่าจะมี genre-blending ที่น่าตื่นตาแค่ไหน แต่ทุกเพลงก็ยังคงรู้สึกว่าอยู่ในจักรวาลเดียวกัน ความสอดคล้องนี้มาจากเคมีที่ดีระหว่าง Harrison และ Improtaที่นำประสบการณ์และความสามารถของตนมารวมกัน การตีกลองของ Improta เป็นปลดปล่อยทั้งด้านพลังและฝีมือที่เฉียบแหลม ขณะที่เสียงกีตาร์ของ Harrison นั้นเดือดพล่านจนเป็นกระดูกสันหลังของเพลงที่มั่นคงแม้เพลงที่จะฟังดูทดลองที่สุดใน EP
ตั้งแต่เพลงเปิด EP อย่าง Pulling Teeth ก็บ่งบอกว่า ‘Galore’ พร้อมจะสร้างความประทับใจใส่เราตั้งแต่วินาทีแรก เพลงนี้ผสมผสานดนตรีแนวแร็พ ป็อปพังก์ และเบสไลน์ที่หนักหน่วงเข้าไว้ด้วยกันอย่างระเบิดระเบ้อ รวมถึง Learn To Forget ที่ใส่ความร็อกไว้อย่างดุเดือด ซึ่งลายเซ็นต์ของ Fish ก็ชัดเจนมากด้วยการเรียบเรียงที่เข้มข้น ให้อารมณ์เหมือน Bring Me The Horizon แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์ที่เป็นของ House of Protection อยู่ การดรอปของเพลงและท่อนฮุกที่ติดหูทำให้เพลงนี้เป็นดึงให้พวกเราอยู่กับวงได้ทั้งอัลบั้ม
อีกเพลงที่โดดเด่นคือ It’s Supposed to Hurt ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของวงในการผสานพลังความดุเดือดเข้ากับความไพเราะได้อย่างลงตัว การสลับจังหวะระหว่างเสียงร้องแนวฮาร์ดคอร์กับบีทอิเล็กทรอนิกทำให้เพลงนี้โดนใจสุด ๆ เพลงนี้สะท้อนถึงการผลักดันขีดจำกัดและทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความเข้มข้นของอารมณ์ในดนตรีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะท่อนฮุกที่ติดปากให้ร้องตามได้อย่างก้าวร้าว จนอาจจะเป็น “เพลงชาติ” ของวงได้เลย
แม้ว่า EP จะโดดเด่นด้วยเพลงที่หนักหน่วงดุดัน แต่ Being One ก็ยังฉายถึงความทะเยอทะยานของวงด้วยการหยิบดนตรีอิเล็กทรอนิกใส่เข้ามา พร้อมบีทกลองอันหนักหน่วงตัดกับเสียงเพอร์คัสชั่นและซินธ์ที่งดงาม เพลงนี้มียังมีกลิ่นอายของความเป็น shoegaze ที่ชวนล่องลอย Fuse เองก็ผสมผสานระหว่างอิเล็กทรอนิกและเสียงร้องที่ละเอียดอ่อนก็ทำให้เพลงนี้ยังคงโดดเด่น
ปิดท้ายด้วยเพลง Better Off ซึ่งลดความก้าวร้าวลงหน่อย แม้จะไม่ดุดันเท่าเพลงก่อนๆ แต่การลองใส่เสียงอันคุกคามและ glitch ๆ หน่อย แต่ยังถ่ายทอดอารมณ์ที่หนักหน่วงได้อย่างลงตัว เพลงนี้อาจจะไม่ติดหูเท่ากับเพลงอื่นๆ แต่กลับเป็นเพลงที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกตราตรึง
หาก EP ‘Galore’ จะพิสูจน์อะไร นั่นก็คือการที่ House of Protection ไม่กลัวที่จะเสี่ยงในการผลักดันตัวเองไปถึงขั้นฮาร์ดคอร์ที่ดุดัน หรืออิเล็กทรอนิกที่แพรวพราว โดยยังรักษาเอกลักษณ์ทางดนตรีของตัวเองไว้ได้ เป็นการเปิดตัวที่กล้าหาญโดยไม่สนใจเทรนด์หรือยึดติดกับแนวดนตรีใด ๆ โดยดึงเอาอิทธิพลจากดนตรีหลากหลายแนวและผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างน่าตื่นเต้น
ภาพรวมของเอเนอร์จี้และความคิดสร้างสรรค์ของ ‘Galore’ มันโดดเด่นมาก สำหรับแฟนเพลงแนว nu-metal หรือ post-hardcore หรือดนตรีแนวทดลองที่ไม่ยึดติดกับแนวเพลงใด ๆ EP นี้คุ้มค่าแก่การฟังแน่นอน และเราคาดหวังเหมือนกันว่าวงเองจะมีอะไรให้เราได้สัมผัสอีกในอนาคต
ติดตามข่าวสารของวงได้ที่ Facebook และ Instagram
ชอบไปคอนเสิร์ตเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และยังชอบแนะนำวงดนตรีใหม่ ๆ ผ่านตัวอักษรตลอดเวลา