ออกสำรวจซาวด์ที่โคจรรอบกาแล็กซีอิเล็กทรอนิกไปกับ Django Django ใน ‘Off Planet’

by Montipa Virojpan
639 views

ตกสำรวจไปซะสนิท ไม่อย่างนั้น ‘Off Planet’ อัลบั้มชุดที่ 5 ของวงอาร์ตร็อก/อิเล็กโทรไซเคเดเลียสุดกวนจากลอนดอน Django Django คงได้ติดโผในสุดยอดอัลบั้มประจำปี 2023 ของ The COSMOS อย่างแน่นอน เพราะพวกเขาพาเราไปพบกับเสน่ห์อิเล็กทรอนิกหลากหลายสไตล์ แน่นอนว่าได้แรงบันดาลใจจากคลับมิวสิกยุคเก่าจาก UK แล้วยังผสมเอาลวดลายดนตรีแนวอื่น ๆ เข้ามาได้อย่างกลมกล่อม ใครสายนี้ฟังแล้วมีใจเต้นหลุดขอบจักรวาลกันแน่ ๆ เพราะมันเพลินมาก

Django Django – Off Planet

งานนี้เดิมทีแล้วจะออกมาเป็น EP งานทดลอง 4 ชุด ให้ดูเหมือนว่าแต่ละเพลงมาจากคนละ ‘ดาวเคราะห์’ กันแต่ไป ๆ มา ๆ ก็ถูกรวมเป็นอัลบั้มความยาว 21 แทร็คฟังกันให้หูฉ่ำ มาอ่านรีวิวแบบจัดเต็มและฟังไปพร้อม ๆ กันได้ในรีวิวจัดเต็มชิ้นนี้

PART 1

Wishbone

เริ่มอัลบั้มมาด้วยอิเล็กโทรป๊อปเท่กับเสียงไซโลโฟนชวนฉงน ชวนให้เราตั้งใจฟังอย่างจดจ่ออย่างดีเมื่อในท่อนต่อไปพวกเขาแทรกซินธ์เบสและบีตนัว ๆ เข้ามา ชอบความสดใสของคีย์บอร์ดในแทร็คนี้ที่เป็นตัวเกริ่นนำก่อนส่งเข้าบีตเทคโนย่ำ ๆ นำเสนอกลิ่นอายของสิ่งที่เราจะพบต่อไปในอัลบั้มชุดนี้ได้ครบถ้วน เรียกได้ว่าเปิดได้สวย

Complete Me (feat. Self Esteem)

ฉ่ำหูกับซินธ์สว่าง และเสียงร้องจาก Self Esteem ทำให้เบรกบีต 90 ผสมกลิ่นอายแอซิดเฮาส์สนุก ๆ เพลงนี้มีเสน่ห์และดึงความสนใจจากเราได้ทันที นอกจากท่อนสวย ๆ ในเพลงที่เป็นเมโลดี้หลักแล้ว ยังมีพาร์ตบริดจ์ที่เป็นคีย์บอร์ดที่เล่นไล่คีย์ได้อย่างน่าหยิกน่าชัง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงเลือกเพลงนี้เป็นเพลงโปรโมต และในความยาวเกือบ 5 นาทีนี้ก็ถูกแบ่งไดนามิกไล่อารมณ์ไปเป็นช่วง ๆ สามารถเอาไปเปิดในคลับได้สบาย ๆ

Osaka

แทร็คบรรเลงนี้ขึ้นเพลงมาในบรรยากาศลึกลับแบบดีปเทค ก่อนจะหวดเบสดรัมและลูปสแนร์ดุ ๆ แบบเบรก ทว่าประสานมาด้วยเสียงแซ็กโซโฟนอบอุ่นและเสียงปรบมือ ตามมาด้วยเปียโนเบา ๆ ช่วยลิฟต์อัพให้อารมณ์หม่น ๆ สดใสขึ้นทันใด 

Hands High (feat. Refound*)

อิเล็กทรอนิก้าสุดเพี้ยนที่ชูให้เสียงแร็ปหลักเด่น แต่อัดแน่นไปด้วยดีเทลของเพอร์คัสชันและซินธิไซเซอร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงแอมเบียนต์อิเล็กทรอนิกยุค 60 จำพวก Mort Garcon, Joe Meek

Lunar Vibrations (feat. Isabelle Woodhouse)

ลูปย้ำ ๆ กับเบสชวนสะกดจิตยังคงดำเนินไป น่าสนใจมากที่พวกเขาเลือกใช้เสียงซินธ์ที่คล้ายซาวด์เครื่องเป่าไม้ไผ่เป็นตัวเดินทำนองหลัก เสียงร้องอบอุ่นของ Isabelle Woodhouse ทำให้เพลงดูลึกลำเย้ายวน คอนทราสต์กับเสียงซินธ์สว่าง ๆ 

PART 2

Don’t Touch This Dial (feat. Yukon Sings)

เท่ไม่ไหวในดีปเทคเพลงนี้กับเสียงร้องที่เป็นภาษาญี่ปุ่น กับซินธ์เสียงก้องที่แวบไปแวบมาเป็นพัก ๆ เพอร์คัสชันและซินธ์เบสทำให้เราต้องย่ำเท้าโดยไม่รู้ตัว 

Back 2 Back (feat. Patience)

เสียงกรุ๊งกริ๊งคลอไปพร้อมกับบีตหนักแน่น อิเล็กโทรป๊อปและเสียงร้องของ Patience ให้ความรู้สึกเหมือนเพลงป๊อปดีว่าต้น 90 ทำนองล่องลอยนี้ทำให้โยกหัวตามและติดหูในเวลาอันสั้น ดูท่าพวกเขาจะกำลังอินเสียงพวกเครื่อง wood wind จริง ๆ 

Squid Inc. 

อันนี้ชอบชื่อเพลงเป็นการส่วนตัว เหมือนเล่นกับคำว่า ink ที่แปลว่าหมึกน่ะ ส่วนเพลงเหมือนเป็นแทร็คบรรเลงคั่น กรูฟจังหวะนวด ๆ ให้เราได้พักหู แต่จากเบสและเมโลดี้หลักนี่มันน่าย่อโยกให้ปวดเข่าปวดข้อกันไม่น้อยทีเดียว ส่วนเสียงฟลุตในเพลงก็แสนสวยงาม ไล่โน้ตขึ้นลงชวนหัว ให้ฟีลแบบทะเลหาดทรายสายลมสองเรามาก ๆ 

Come Down

ถือเป็นเพลงอิเล็กโทรป๊อปย่อยง่ายอันนึงของพวกเขา ฟังโยก ๆ นวด ๆ ไป

Golden Cross

อีกหนึ่งเพลงโปรดของชุดนี้ที่กลิ่นอายไซเคเดเลียมาเต็ม ทั้งเบสไลน์ และเมโลดี้ร้อง แต่ที่เท่แซงมาเลยก็คือซินธ์เบสกับกลองในเพลงนี้แหละ ยิ่งได้แทมบูรินเสริมเข้ามาหลังนาทีแรกก็คืออร่อยหู ฉ่ำ ๆ กันไปเลยเพลงนี้

PART 3

No Time (feat. Jack Peñate

เปียโนเทคเฮาส์สุดเริ่ดทำเอาใจแตกเต้นแตกแตนได้ตั้งแต่ต้นเพลง กับคีย์บอร์ดและซินธ์เปียก ๆ นวด ๆ ยังไม่รวมทรัมเป็ตมีชีวิตชีวาในท้ายเพลงช่วงไคลแมกซ์ เข้าขนบต้นตำรับแบบหยุดดิ้นไม่ได้

A New Way Through 

ลดความสุดทางในแทร็คก่อนหน้ามาใส่ความป๊อปให้มากขึ้นในเพลงนี้ เทคเฮาส์สวย ๆ ได้ฟีลโอเรียนทัลจากซินธ์ที่เป็นตัวชูโรงของเพลงนี้ 

Galaxy Mood (feat. Toya Delazy)

เหมือนช่วงที่ 3 ของอัลบั้มจะเป็นตัวซินธ์แบบเฮาส์ที่โดดเด่น แต่ในเพลงนี้เขามีพาร์ตเบสป่วน ๆ อยู่ ผสมผสานไปกับแอโฟรบีต ได้มู้ดทรอปิคัลชวนส่ายเอวสุด ๆ 

The Oh Zone

ตามมาแบบติด ๆ เนียนกริบไร้รอยต่อ กับ interlude ซินธ์เสียงใส high pitch เล่นลูปวิบวับ พร้อมเสียง voice over ก่อนจะเข้าพาร์ตคีย์บอร์ดเล่นวนและเบสผ่อนคลายคอยนวดอยู่เบื้องหลัง

Dead Machine (feat. Stealing Sheep)

เท่ ๆ กับไลน์เปียโนที่เล่นย้ำ ๆ ได้ฟีลโอลสคูลฮิปฮอป กับเสียงร้องเพราะ ๆ สไตล์ r&b รวมถึงซินธ์สุดยียวนสร้างความน่าสนใจให้กับเพลงหม่น ๆ ได้มีมู้ดเซ็กซี่จาง ๆ แล้วช่วงท้ายเพลงพวกเขาก็หวดเราด้วยเบสไลน์หนัก ๆ ทำเอาอื้อไปเลย

Dumdrum

กลับมาในเทคโนย้อนยุคอัพบีตที่ไดรฟ์ให้เราได้รู้สึกกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น ทั้งซินธ์เบสและเพอร์คัสชันในเพลงนี้ชวนให้เกเรมาก 

PART 4 

Fluxus

เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของ ‘Off Planet’ กันแล้ว เพลงนี้ก็พากันทะยานสุดชั้นบรรยากาศไปเลยกับซินธ์เบสเสียงแตก หนักหน่วงเร้า ๆ ชวนโยกกันให้เมื่อยคอ

Slipstream

เสียงซิมบัลกับซินธ์ยุกยิกและไลน์เบสพุ่งร่วมด้วยลูปซินธ์ใน hypnotic electro เพลงนี้คือเท่ไม่ไหว 

Who Know You (feat. Bernado)

ฉีกจากทุกแทร็คจากอัลบั้มด้วยซาวด์แบบอินดี้ อัลเทอร์เนทิฟร็อก

Black Cadillac

ต่อกันแบบไม่หนีกันมากในเพลงหม่น ๆ กับดั๊บนวด ๆ โยก ๆ ในเพลงเบสอ่วมเพลงนี้ แต่ส่วนตัวเรามองว่าลูกเล่นแพรวพราวกว่ามากในช่วงโซโล่ที่ทั้งเครื่องเคาะและเครื่องเป่าทองเหลืองที่ไล่สเกลแบบอาราบิก 

Gazelle

ปิดท้ายอัลบั้มด้วยเพลงคลับไวบ์ดิสโก้สดใส ๆ ไฟเปิด แต่ก็มีกลิ่นอายโฟล์กคันทรีจาง ๆ เข้ามาในซาวด์ไวโอลินและทางคอร์ด ซึ่งเราก็ไม่คิดเหมือนกันว่าพวกเขาจะปูให้เพลงสุดท้ายมาลงทางนี้

และนั่นคือ ‘Off Planet’ อัลบั้มสุดวาไรตี้ของ Django Django ที่พรีเซนต์คลับมิวสิกออกมาในของสไตล์พวกเขาได้น่าสนใจ รวมถึงมีการร่วมงานกับศิลปินของยุคทั้งเมนสตรีมและอันเดอร์กราวด์มากหน้าหลายตา แอบผิดหวังนิดนึงเพราะเหมือนจัดเต็มมาแล้วหลายเพลงในช่วงต้น ทำให้ช่วงท้ายของอัลบั้มดูจาง ๆ เหมือนหมดมุขสู้พาร์ตก่อนหน้าไม่ได้ แต่โดยรวมนับว่าฟังได้เพลิน ๆ เวลาชั่วโมงกว่า ๆ รวมถึงบางช่วงบางตอนของแต่ละเพลงก็สามารถหยิบเอาไปเปิดในปาร์ตี้ได้เช่นกัน ยังไงซะพวกเขาก็มีงานรีมิกซ์ออกมาอีก 3-4 แทร็คกับโปรดิวเซอร์ท่านอื่น ๆ อย่างให้ไปลองฟังกันด้วย 

อ่านต่อ
The COSMOS’ Editor’s Pick
23 Thai Albums of the Year

+ posts

อิ๊ก นักเขียนสายดนตรีที่เกือบจะต้องวางมือ แต่คงหนีไม่พ้นเพราะยังอยากพูดถึงวงและเพลงดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy