Demon State รวมเรื่องผีในร่างมนุษย์ที่ ROYSENBERG นำมาตีความใหม่ผ่านดนตรีร็อก

by Nattha.C
144 views
Demon State Album by ROYSENBERG

หรือทุกคนจะมองว่าอัลบั้มนี้เป็นภาคต่อของ EP ‘Speedy Granny’ ก็ย่อมได้ เพราะหลาย ๆ เพลงที่พวกเขาเคยปล่อยออกมาเรียกน้ำย่อยเมื่อปีก่อน ก็ถูกนำมาบรรจุเป็นหนังม้วนเต็มถึง 11 แทร็กที่มีลักษณะการเรื่องเล่าไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่ตำนานคุณยายสปีดที่จริง ๆ ทุกไดอะล็อกมันคือเรื่องแต่ง (โธ่…โดนหลอกตั้งนาน) สู่การเผชิญหน้าปีศาจหรือความดำมืดของตัวเอง และความผิดแปลกในสังคมที่พอลองมองหรือไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ทุกอย่างล้วนไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวสักเท่าไหร่ เผลอ ๆ มนุษย์เรานี่น่ากลัวกว่าผีตุ้งแช่เสียอีก

ROYSENBERG 2024

เพียงแต่วิธีการนำเสนอของ รอยเซนเบิร์ก ที่ค่อนข้างเฉพาะตัวในแง่จังหวะจะโคนทางคำร้องที่เชื่อมกับดนตรีประเภทซิ่งสะบัดอย่างการาจร็อก โพสต์พังค์ริไววัล ผสมความรู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ เหมือนเอาเล็บไปจิกตุ่มเล่นเป็นกากบาทที่โคตร Guilty Pleasure มันยังมีความย่อยง่าย โดยผู้ฟังอาจไม่ต้องใช้เวลามากเพื่อทำความเข้าใจหรือลงลึกทุกเนื้อหาจนซีเรียสเกิน ‘Demon State’ จึงเป็นผลงานที่ฟังดนตรีเอามันส์อย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าให้ดี นอกจากดนตรี ทุกไอเดียเขาก็คิดหน้าคิดหลังมาแล้ว ต่างแค่ไม่ได้พร่ำบ่นจากเลนส์ใดเลนส์เดียว

เช่นเดียวกับแนวเพลงโพสต์พังค์ริไววัลที่เทมโปไม่ต้องซัดยับหรือวิ่งพรวดเสมอ แม้พวกเขาจะเลื่องชื่อด้านการเป็นวงดนตรีที่พลังงานล้นเหลือตามประสาวัยรุ่น ทว่า เพลงบางเพลงในอัลบั้มนี้ วงได้ดรอปจังหวะลงแล้วเสริมทำนองอันสุขุมราวพึ่งผ่านพ้นช่วงปีแห่งการเติบโตมา ยกเว้นข้อจำกัดในพาร์ทของโปรดักชั่นและคุณภาพเสียงที่ส่วนใหญ่ รอย (รอย เอี่ยมเรไร — นักร้อง, มือกีตาร์) มิกซ์กับปั้นซาวด์ทั้งหมดด้วยตัวเอง บทความรีวิวครั้งนี้ เราเลยถือโอกาสชวนเขามาเล่าถึงคอนเซ็ปต์อัลบั้มและเบื้องหลังของแต่ละเพลง ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านกันเลยค่ะ

คอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม

หลังจากวงเราได้มีโอกาสแสดงสดครั้งแรกในงาน Normalexotic ที่บราวสโตนเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2022 เราก็แพลนทันทีว่าจะทำ LP Album ต่อจากอีพีที่เคยทำไปแล้วสองชุด จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มหรืออีพี มันขึ้นอยู่กับจำนวนโครงดนตรีที่เราขึ้นแล้วมีกลิ่นอายบางอย่างไปในทางเดียวกัน โดยไม่นับเรื่องของเนื้อหาหรือเนื้อเพลง เพราะส่วนใหญ่เรามักจะเอาไปใส่ทีหลัง

ปกติแล้วเราจะทำเก็บไว้ประมาณ 40-50 โครงแล้วมาคัดอีกที อันไหนเข้าข่าย อันไหนโยนทิ้ง อันไหนควรเก็บไว้สำหรับงานชุดถัดไป แต่พอมีความตั้งใจว่าจะทำอัลบั้มเต็ม ตอนนั้นเราก็เลยมีร้อยกว่าโครง คัดมาเรื่อย ๆ โดยอิงจาก Speedy Granny จนรู้สึกว่าได้เพลงที่กลิ่นอายไปในทางเดียวกันทั้งหมด 13 เพลง การวางธีมก็จะไม่ค่อยยากแล้วครับ แล้วยายสปีดมันมีเนื้อหาออกแนวผี ๆ หน่อย เราก็เลยโอเค อัลบั้มนี้เป็นรวมเรื่องผีดีมั้ย อะไรประมาณนี้

ใช้เวลาคิดชื่ออัลบั้มอยู่สักพักนึง จนได้ตัวเลือกเป็น ‘Devil May Smile’, ‘100% Demon’, ‘Ghost Audio’ (เท่าที่จำได้) แต่ก็ยอมให้กับชื่อ Demon State เพราะว่าตอนนั้นเรานึกถึงคำว่า “Demonstrate” ขึ้นมาในหัวแบบ “อ้าว มีคำว่าเดม่อนนี่นา” เลยเอามาเล่นให้ออกเสียงคล้ายกัน และมันก็มีความหมายว่า รัฐปีศาจ แต่เราก็รู้สึกโชคดีมากที่เลือกชื่อนี้มา ตรงที่เราได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ ทั้ง การเรียบเรียงดนตรี คอนเทนต์ หรือแม้กระทั่งซาวด์

พอเราคิดเนื้อเพลงไปเรื่อย ๆ มันเริ่มจะไม่ใช่ผีตุ้งแช่แบบยายสปีดละ มันกลายเป็นเรื่องของพฤติกรรมคน อาการ ความเชื่อ เราเลยตีความว่า “เออเนี่ย ผีหรือปีศาจมันก็มีหลายแบบนะ และมันก็อยู่รอบตัวเลย” ลองนึกภาพแบบ Upside Down ในขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่ อีกด้านนึงก็คงมีปีศาจดำรงอยู่เช่นกัน เลยกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์แน่น ๆ ของอัลบั้มนี้ครับ

ขั้นตอนการทำเพลง

ก่อนหน้านี้เราให้ แทน หรือ บิลลี่ ( _lilb) จากวง _less มาเป็น mixing & mastering engineer ให้ในอีพี ‘Childlikeness Lens’ เพราะอยากยกระดับโปรดักชั่นการทำเพลงของเรา เนื่องจากอีพีชุดแรกอย่าง ‘Fatherland’ เราทำใน Garageband ซึ่งมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง แต่บิลลี่จะใช้พวก Logic Pro ที่ทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าทั้ง plug-in ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและมีให้เลือกเยอะกว่าด้วย

เนื่องจากเป็นเพื่อนกันมานาน เราก็ได้บิลลี่มาทำงานด้วยราคามิตรภาพ หลังจากเสร็จสิ้นโปรเจกต์ Childlikeness Lens และต้องการทำอัลบั้มนี้ต่อ เราคิดแล้วว่าไม่ควรจ้างบิลลี่ในราคาแค่นั้น แล้วยิ่งมาเป็นอัลบั้มเต็มด้วย เราเลยลองหาทางอื่นที่จะคลอดเพลงออกมา หนึ่งในทางนั้นก็คือการกลับไปใช้การาจแบนด์

แต่คราวนี้ต้องมีเรฟเพื่อไกด์ไลน์ทิศทางการปั้นซาวด์สักหน่อย เราก็อิงซาวด์จากอัลบั้ม ‘Favourite Worse Nightmare’ (2007) ของ Arctic Monkeys วงพ่อเราเอง เพราะกลิ่นอายดนตรีเราก็ได้มาจาก Side EP และอัลบั้มช่วงนี้ด้วย บวกกับความที่เราชอบฟังเพลงแนวเซิร์ฟร็อก การาจร็อก การาจพังค์ เลยอยากทำให้ซาวด์มีความเก่า ๆ หน่อย แต่เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ เพราะสุดท้ายเราก็ปั้นเสียงกีตาร์ เบส กลอง รวมไปถึงเสียงร้อง ถึงจะไม่ได้เหมือนกับเรฟที่เราตั้งไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นซาวด์ที่เรารู้สึกว่าลงตัว ถูกใจแล้ว สรุปก็คือ ทุกเพลงทำจาก Garageband ล้วนเลย (หัวเราะ)

_less (อันเดอร์สกอร์เลส) ดูโอ้อิเล็กทรอนิกส์ป๊อป สังกัด Sony Music Thailand

Track by Track

Welcome to Mercury
เนื้อหาของเพลงนี้เราจินตนาการว่า ถ้าเราตายไปแล้ว ดวงวิญญาณของเราจะเดินทางไปที่ดาวพุธ แต่เราไม่มีเหตุผลมารองรับขนาดนั้นนะ อาจเพราะเรารู้สึกว่าดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด แล้วเหมือนกับดวงอาทิตย์เป็นพระเจ้า การที่ไปอยู่บนดาวพุธคงเหมือนรอคำพิพากษาจากพระเจ้า ตัวดนตรีเราก็พยายามสื่อว่ากำลังอยู่ในยานอวกาศที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปดาวพุธ

Mr.Deceiver
เราพูดถึงอาการผีอำที่ใส่เอเนอจี้เข้าไปราวกับว่าเรากำลังต่อสู้กับอาการนี้อยู่ ก็จะมีท่อนที่เหมือนกับแรงเราดรอปแบบ “พอแล้ว ไม่ตื่นแล้ว แต่ก็เอาเฮือกสุดท้ายไล่ฟัดกับผีอำจนเราตื่นจนได้” (หัวเราะ) หลังจากแต่งเสร็จ เริ่มแอบกลัวว่าดนตรีจะหลุดธีมไหม พอให้คนในวงฟังดันกลายเป็นกลัวว่าพี่มือกลองจะเมื่อยมือไหมมากกว่า

Yapara (ยาพารา)
เพลงนี้เราแต่งไว้เพื่อเตรียมโชว์ ๆ หนึ่งในช่วงต้นปี 2021 แต่งานก็ต้องยกเลิกไปเพราะโควิดระลอกใหม่ จริง ๆ เป็นเพลงแรกของอัลบั้มที่เราแต่งเลย แต่เราเปลี่ยนเนื้อร้องบ่อยมาก แต่แก่นของมันก็จะประมาณว่า “กูปวดหัว พากูไปนอนที ก่อนที่จะวีนแตกเป็นผีบ้า” ส่วนพาร์ทดนตรี เราอยากทดลองใส่กลิ่นหมอลำเข้าไป ก็หาที่ใส่จนได้ มันจะเป็นท่อนก่อนสุดท้ายที่เราพยายามระเบิดซาวด์ อารมณ์แบบ มึงพากูไปนอนไม่ทันแล้ว กูวีนแตกไปเรียบร้อยแล้ว

The Funniest Room
ส่วนตัวเราชอบเพลงนี้มากที่สุดในอัลบั้ม ทั้งดนตรีและเนื้อหาด้วย เพราะมันเกี่ยวกับการไปปาร์ตี้ห้องเพื่อนแล้วเราเลยป้าย ตรงกับชีวิตสุด ๆ (หัวเราะ) ส่วนตัวดนตรี เราใส่อัตราจังหวะ ¾ ผสมเข้าไปด้วย แล้วก็ริฟฟ์ที่รู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามสูตรการแต่งของเราก่อนหน้านี้ แต่ดันรู้สึกว่าเข้ากันดี ท่อนสุดท้ายก็ระเบิดซาวด์ตามระเบียบ เป็นจังหวะที่เราปาร์ตี้อยู่แล้วสติเข้าแกนวาร์ปแล้ว เพลงนี้เราได้ลูกเล่นมาค่อนข้างเยอะจากเพลง ‘Hot Motion’ และ ‘Shelter Song’ ของวง Temples

Target Disappeared
เพลงนี้เป็นภาคต่อจาก ‘The Funniest Room’ เป็นอาการที่เมาแล้วน็อคหลับหลังจากปาร์ตี้ เวลามีเล่นคอนเสิร์ตเราก็มักจะเอาไปเมดเลย์ให้มันต่อกัน ด้านดนตรีเราพยายามสื่อให้เหมือนว่ากำลังตกอยู่ในภวังค์ตอนเมาหลับ เพื่อนปลุกก็ไม่ตื่น แต่ไอตัวดวงวิญญาณเราที่มันอยู่ในภวังค์มันคงอยากตื่นแต่ปีนกลับเข้าร่างไม่ได้ เพลงนี้เราลองเลียนแบบการร้องของ Chet Baker ในท่อนเวิร์ส เพราะเรารู้สึกว่ามันนุ่มลึก สุขุม ถ้าเอามาเข้ากับดนตรีคงจะได้ฟีลเหมือนอยู่ในภวังค์มากที่สุด แต่เราจะร้องได้เหมือนเขาไหมอันนั้นอีกเรื่องนึง

Relic Base
ผ่อนคลายลงมากับเพลงช้า ๆ เพลงนี้พูดถึงความฝันดี๊ฝันดีของเรา ไม่อยากจะตื่นเลย แต่ก็ยังมีโลกแห่งความจริงที่พยายามดึงเราให้ออกไปจากตรงนี้ เพลงนี้นับเป็นเพลงที่ 2 ที่แต่งเสร็จสมบูรณ์ และเอาไปเล่นที่งาน Shouter Night ของแก๊งค์ The Year Shoegaze Broke เมื่อช่วงปลายปี 2022 เราพยายามประคองไวปส์เพลงให้ยังมีความดิบเถื่อนอยู่ด้วยซาวด์ เพราะการเรียบเรียงมันฟังดูน่ารักไปหน่อย

Partisan
เนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ก่อตัวจากความเชื่องมงายบางอย่าง แล้วแพร่กระจายไปสู่คนอื่นจนรวมตัวกันแทบจะเป็นฝูงซอมบี้ ตอนนี้มันเดินทางมาถึงตาเรา และก็คงหนีไปไม่พ้นหรอก เราเล่นล้อกับเรื่องแกะดำในสังคมที่ต้องจำยอมไปกับจารีตที่ตนเองไม่เห็นด้วย เพลงนี้อยู่บนอัตราจังหวะ 6/8 พยายามคิดริฟฟ์ที่ฟังดูไซคีเลิก แล้วก็ได้ลองใส่ลูกเล่นพวกเสียง Octave ไปในริฟฟ์ด้วย (ฟิน)

My Friend is a Satanic Dude
เพลงนี้ได้ไอเดียเนื้อหาเกี่ยวกับเพื่อนที่ดูการ์ตูนมากไป ดันไปโดนไหนมาไม่รู้แล้วหลอนบูชาปีศาจซะงั้น เพื่อนก็อยากจะโชว์เหลือเกินว่าสามารถซัมม่อนปีศาจได้ เราเลยก็ทำให้ดนตรีเร้า ๆ ตั้งแต่ช่วงแรกเลย ก่อนดรอปมาเป็นดนตรีกลิ่นลูกทุ่ง ซึ่งพ่อเราเป็นคนบอกว่า ฟังแล้วนึกถึงเพลงสมัยสุรพล สมบัติเจริญ แต่ท่อนนั้นเราแค่ตั้งใจให้ดนตรีมันต๊ะต่อนยอนลงเฉย ๆ สื่อถึงตอนที่พบว่าที่เพื่อนเราโม้เป็นตุเป็นตะ ไหนจะซัมม่อนปีศาจอะไรนั่น อ๋อ มันแค่เมานี่เอง

Watchtower
เนื้อหาเพลงนี้พูดถึงพวกรูปเคารพที่เราไม่รู้ที่มาที่ไป แต่เรารู้ว่ามันไม่ดีแน่ ๆ เพราะมีคนเคยไปลองดีมาแล้วจบไม่สวย เลยพยายามเตือนคนที่อยากจะไปลองดีคนต่อไป ดนตรีเพลงนี้ก็ energetic พอสมควร (กลัวมือกลองเมื่อยอีกแล้ว) เราพยายามทำให้เหมือนวิ่งหนีผีนิดนึง แต่ความซับซ้อนของเพลงนี้ก็ไม่ได้มีมาก เพราะทั้งเนื้อเพลงทั้งดนตรีเราแต่งวันเดียว แล้วก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องเพิ่มหรือแก้แล้ว

Speedy Granny
“ยายสปีด” คือตัวชูโรงของเพลงชุดนี้เลย และเป็นเพลงแรกที่แต่งเสร็จสมบูรณ์จนเอาไปเล่นที่งานได้ เนื้อหาเกี่ยวกับยายสปีดที่ตอนแรกเราก็ไม่ได้รู้ตำนานเรื่องนี้สักเท่าไร เคยได้ยินแต่ชื่อ พอมารู้ทีหลังเราก็เลยปรับเป็นยายสปีดอีกจักรวาลนึง ก็เลยเป็นยายสปีดบนฟุตบาทวิ่งไล่ตามคนกลับบ้านดึกในความมืด (แต่ไม่แน่ใจเรียกวิ่งได้ไหม เพราะยายแกใช้มือ)

ไอเดียเนื้อหามาจากตอนแรกเราอยากทำเพลงผี ๆ หลอน ๆ แล้ว หมี มือกีตาร์ก็เสนอชื่อนี้มา เราก็เอาเลย ส่วนพาร์ทดนตรี เราพยายามใส่กลิ่นเซิร์ฟร็อกเข้าไป และเล่นกับเทมโปที่เปลี่ยนไปในแต่ละท่อนด้วย แน่นอนว่าไม่ลืมที่จะระเบิดซาวด์ท่อนสุดท้ายสำหรับสับตีนแตกหนียาย

Demon State
เพลงนี้เป็นบทสรุปส่งท้ายด้วยเนื้อหา “ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร เมื่อไร ปีศาจอยู่รอบตัวคุณเสมอ ทั้งที่สัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้” ตามคอนเซปต์อัลบั้มเลยครับ และในพาร์ทของดนตรี เราอยากสื่อว่าตอนนี้เรากำลังทัศนศึกษาดินแดนของปีศาจอยู่ เราทำให้ริฟฟ์กีตาร์มี Dissonance (ความไม่สอดคล้องกัน) เพื่อเพิ่มความหลอนขึ้นมา และทำซาวด์กลองให้มีความชนเผ่าบูชาอะไรสักอย่างอยู่

จริง ๆ เอเลเมนต์ดนตรีในเพลงนี้ได้อิทธิพลจาก ‘Sandtrap’ ของ Arctic Monkeys มาเต็ม ๆ (เหมือนว่าพี่แกจะไม่ได้มีแทร็ก master เสียดายเหมือนกัน แต่มีคลิปเล่นสดสมัย 2007 อยู่นะ ไปลองหาฟังกันได้ครับ)

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy