Death Of Heather กับซาวด์และภวังค์เสียงชั่วนิรันดร์ใน EP ‘Forever’

by Nattha.C
1.1K views

Death Of Heather คือหนึ่งในวงดนตรีสายอัลเทอร์เนทีฟที่เริ่มทลายกำแพงและสร้างความหลากหลายให้วงการดนตรีนอกกระแส จากการนำซาวด์ที่ชื่นชอบอย่างชูเกสมาครีเอทตามฉบับของตัวเองจนได้เซ็นสัญญากับค่าย Smallroom Bangkok Pop Music Label และเดินทางไปทัวร์รอบเอเชียในหลากหลายประเทศ ล่าสุดวงก็กลับมาฝาก ‘Forever’ ผลงานรูปแบบ extended play ที่เราเชื่อว่าถึงเครื่องมากที่สุดของวง

Death Of Heather

กลุ่มผู้ฟังจำนวนหนึ่งอาจรู้จักพวกเขาผ่าน EP ‘DEMO I’ ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อปี 2018 จากเพลง ‘Drown’ กับท่วงทำนองที่พาเราดำดิ่งลงไปในความมืดมิดอย่างช้า ๆ คล้ายสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นราวตกอยู่ในฝันประหลาด ด้วยดนตรีที่นวดเน้นบนจังหวะกลางก่อนโหมเข้าสู่ซาวด์แตกพร่า ประกอบเสียงคอรัสที่ล่องลอยอย่างตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นั่นก็เพียงพอแล้วที่ทำให้เราอยากติดตามพวกเขานับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน

หรืออัลบั้มเต็มชุดแรกอย่าง ‘Self-Titled’ ที่วงเคยฝากไว้ในปี 2020 ยังเป็นผลงานที่ใครหลายคนหลงรักแถมฟังได้ไม่ยากเกินไปนักสำหรับผู้ที่สนใจในแนวเพลงที่บาลานซ์ระหว่างชูเกสและทัชชิ่งแบบดรีมป๊อป ซึ่งพวกเขาเลือกใช้โทนเสียงที่มีทั้งความหนักเบา และเทกซ์เจอร์เพลงที่ค่อนข้างกลมกล่อม หากผลงานชุดนี้เป็นแค่การ Introducing ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น

หน้าปกที่ออกแบบโดย patty paine

เพราะสิ่งที่เราสัมผัสได้จากการฟัง 6 แทร็กหลักใน EP ‘Forever’ คือพัฒนาการด้านซาวด์ดีไซน์ที่วงสามารถจับแนวทางจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ ด้วยพาร์ทดนตรีแบบซาวด์สเคปที่ชวนรู้สึกถึงความแข็งแกร่งเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น พร้อมคำร้องที่ชัดและเต็มเสียงในลักษณะที่ไม่แตกหักออกจากกันง่าย ๆ แม้จะมีไดนามิกหรือจังหวะเพลงเนิบช้าไว้คั่นอารมณ์บางช่วง กระทั่งการลดทอนความป๊อปในปริมาณเล็กน้อยก็ไม่ทำให้วงเสียตัวตนแต่อย่างใด และเพื่อเป็นการทริบิวต์แก่ My Bloody Valentine พวกเขายังหยิบสไตล์ “Swirling” ซาวด์กีตาร์ที่กวัดแกว่งโดยมีแหล่งกำเนิดเสียงซ้ำ ๆ จากการใช้ whammy bar หรือที่นักดนตรีบางคนเรียกว่า tremelo arm มาผสมเอฟเฟกต์ชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างลูปบรรยากาศประกอบเนื้อหาเปี่ยมอารมณ์สูงที่สะท้อนกลับเหมือนภวังค์อันชั่วนิรันดร์

สำหรับ EP ‘Forever’ ยังเป็นผลงานที่เราอยากให้แฟนเพลงสายชูเกสรุ่นใหม่ในประเทศไทยได้ทดลองฟัง หรือนักฟังสายอัลเทอร์เนทีฟร็อกยุคต้น 2000s ที่ชื่นชอบวงดนตรีอย่าง Goose, Desktop Error รวมถึงบรรดาศิลปินจาก SO::ON Dry Flower และสังกัดค่ายอิสระต่าง ๆ เช่น Brand New Me Records ฯลฯ ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy