Clairo กับอัลบั้มเพลงป๊อปมากเสน่ห์ร่วมสมัยที่สะกดหัวใจใน ‘Charm’

by Nattha.C
403 views
Clairo-Charm Album Review

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสเพลงป๊อปเมนสตรีมและนอกกระแสในควอเตอร์แรกถึงควอเตอร์สามประจำปี 2024 ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นไม่ต่างจากดนตรีแนวอื่น ๆ ที่ขยันทยอยปล่อยผลงานจนฟังกันแทบไม่ทัน ตั้งแต่ปรากฎการณ์ BRAT ของแม่หญิง Charli XCX จนมาถึง Charm อัลบั้มล่าสุดจาก Clairo ศิลปินสาววัย 25 ปีที่พลิกโฉมสไตล์ดนตรีของตัวเองและเอาจริงเอาจังกับการดีไซน์องค์ประกอบมากขึ้น

Claire Cottrill หรือสเตจเนม Clairo เธอเป็นที่รู้จักจากผลงานสไตล์เบดรูมป๊อป (Bedroom Pop) โดยซิงเกิ้ล Pretty Girl และ Flamin Hot Cheetos คือเพลงที่แต่งขึ้นผ่านเอเลเมนต์เพียงไม่กี่อย่าง ระหว่างที่ฝึกกีตาร์ได้ไม่นานจากการคัฟเวอร์เพลงลงช่องยูทูป แน่นอนว่าความสดใสฉบับวัยรุ่นที่ไม่แสร้งทำ บวกซาวด์นุ่ม ๆ เรียบง่าย ติดหู ส่งให้เธอกลายเป็นที่รักน่าเอ็นดูของผู้คนมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต แม้จะเป็นดาบสองคมของอุตสาหกรรมดนตรีที่ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยความสามารถอันแท้จริงเพื่อลบคำสบประมาทก็ตาม

Claire Cottrill © Clement Pascal on ClashMusic

มันอาจไม่ได้หวือหวานักเมื่อเทียบกับหลากหลายผลงานที่ถูกนำออกมาวางบนเชลฟ์ในตลาดเพลง ทว่า สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจมาก คือรสนิยมทางดนตรีที่รับช่วงต่อจากครอบครัวแล้วสร้างเธอขึ้น การฟังเพลงเก่าแต่ทำงานแนวร่วมสมัยได้อย่างกลมกล่อม คือสิ่งที่จับใจคนฟังซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีไม่น้อย บทเพลงส่วนใหญ่จึงไม่ใช่แค่การชื่นชมหรือทริบิวต์ถึงศิลปินรุ่นก่อนหน้า อาทิ The Beach Boys, Harry Nilsson, Margo Guryan, Joni Mitchell, Carole King, Al Green, Brenton Wood รวมถึงงานคัฟเวอร์จาก Innovations ในเพลง Seabird ต้นฉบับของฝาแฝด Alessi Brothers และซิงเกิ้ล Thank You จาก Mónica Guerrero (Monik)

Clairo ศิลปินสาววัย 25 ปีกับอัลบั้มชุดล่าสุดของเธอ ‘Charm’

หากมันคือการทบทวน ยอมรับ และสัมผัสความอ่อนไหวในอีกรูปแบบ ตั้งแต่แทร็กแรก Nomad ที่เปิดอินโทรผ่านเสียงสไลด์ดิ้งกีตาร์ไฟฟ้ากับดับเบิ้ลเบสโน๊ตทุ้ม ๆ ก่อนผลัดตำแหน่งไปที่ซินธ์และจังหวะกลองเบาบาง ท่อนที่แทรกพาร์ทการเกาอะคูสติกกีตาร์คลอเสียงร้องของเธอนั้นอบอวลด้วยอารมณ์ใคร่ครวญ ถึงการตามหาชิ้นส่วนเดิมในใครบางคน คล้ายการลัดเลาะไปยังสถานที่ใหม่ แล้วหวังว่ามันจะมอบความรู้สึกที่คุ้นเคยอีกครั้ง

ถัดมา Sexy to Someone กับการขยับจังหวะเป็นอัพบีทโทนสว่างที่หยอกล้อกันระหว่างเสียงเปียโน ฟลุ๊ต และซาวด์เมโลตรอนสุดซุกซน ต่อด้วย Second Nature ที่มีกิมมิคกุ๊กกิ๊ก ๆ แถมจักจี้หูเต็มไปหมด ตั้งแต่ท่อนฮัม “Da dum, da da da da dum” พร้อมคอรัสโทนต่ำกับเพอร์คัสชันที่เคาะแซมอยู่ด้านหลังเสียงหัวเราะอันแสนสดใสราวหญิงสาววัยแรกรุ่น ก่อนดรอปทำนองเป็นเพลงบัลลาดแล้วเฟดเอาท์โทรแบบหวานเยิ้ม

Slow Dance โอบล้อมคนฟังด้วยภวังค์ของเสียงเปียโนที่ละมุนแต่กลับให้ความรู้สึกซึมเซาอย่างบอกไม่ถูก ภายใต้แสงเทียนยังมีซาวด์สังเคราะห์และลูกกลองที่ขับมิติให้เครื่องสายกับเอเลเมนต์อื่นในเพลงต้องสะกดขึ้น ก่อนแทร็ก Thank You จะส่งทำนองกรูฟ ๆ และเมโลดี้ชวนขยับ สื่อถึงการขอบคุณใครหลายคนที่แม้เข้ามาในเวลาเพียงชั่วครู่ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่บางครั้งมันไม่อาจคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์

หรือในสามเพลงที่เราชอบอย่าง Terrapin, Juna และ Add Up My Love ก็เธอเลเวลอัพทั้งความเย้ายวนทางบรรยากาศ การออดอ้อนทางน้ำเสียงที่ไม่เมคอะไรมากมาย แต่พอสลัดความเขินอายไร้เดียงสา จนได้เนื้อหาและไดนามิกภาพรวมที่ฟังแล้วสดชื่น เซ็กซี่ ร้อนกรุ่นอยู่ข้างใน กระทั่งรู้สึกเพลิดเพลินไปกับลูกเล่นดนตรียิบย่อย ส่วนตัวเราคิดว่าเป็นเพลงเก่งของเธอถัดจากบรรดาเพลงครึ่งแรกในอัลบั้มนี้เลย

สำหรับสามเพลงปิด อาทิ Echo ซาวด์ออร์แกนและดนตรีกลิ่นอายไซเคเดลิกแห่งวังวนรักที่หาทางออกไม่เจอ Glory of the Snow ทำนองบอสซ่าโนว่าที่มอบความอบอุ่นท่ามกลางไอหนาว Pier 4 กับเสียงอะคูสติกกีตาร์ และไวเบรโฟนกรุ๊งกริ๊งแต่หน่วงหัวใจลึก ๆ ราวกับว่าทุกตอนจบอาจไม่ได้แฮปปี้หรือตราตรึงเสมอไป หากปลายทางสุดท้ายคือการได้กลับมารู้จักตัวเองในอีกเวอร์ชั่น อย่างที่สาวแคลร์ได้พบเจอกับอีกด้านของความเป็นมนุษย์ที่เธอปฏิเสธมาตลอดนั่นเอง

+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันกลับมาทำเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy